เป็นหนึ่งในชุมชนที่เด่นในด้านหัตถกรรม ตั้งแต่การแต่งกาย เครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงเครื่องมือเครื่องใช้ ประกอบกับการทำเกษตรที่มีวิถีและความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เหมือนใคร
พญาขาก่านให้ชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านเฒ่าฟ้า” เพื่อเป็นเกียรติแก่สองตายาย เมื่อเวลาผ่านไป ชื่อหมู่บ้านได้เปลี่ยนไปเป็นท่าฟ้าดังที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้
เป็นหนึ่งในชุมชนที่เด่นในด้านหัตถกรรม ตั้งแต่การแต่งกาย เครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงเครื่องมือเครื่องใช้ ประกอบกับการทำเกษตรที่มีวิถีและความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เหมือนใคร
ปรากฏเรื่องราวที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า มีผู้เฒ่าสองสามีภรรยาได้อพยพรอนแรมมาจากเชียงรายและเห็นว่าพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำยมแถบนี้อุดมสมบูรณ์ จึงได้เข้าหักร้างถางพงเพื่อทำไร่ ต่อมามีโขลงช้างเข้ามากินผลไม้ในไร่เสียหาย สองตายายจึงขับไล่โขลงช้างออกไปซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับเทวดาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากโขลงช้างเหล่านั้นเป็นของเทวดา จึงบันดาลให้ฟ้าผ่าสองตายายตาย หลังจากนั้นไม่นานก็มีชาวไทลื้อกลุ่มอื่น นำโดยพญาขาก่าน (ขาลายเพราะการสัก) พาพวกพ้องอพยพมาถึงที่นี่ ด้วยการมอบหมายให้ นายแสน อิฐทิ เป็นผู้นำตั้งบ้านเรือนขึ้นมาและกลายเป็นหมู่บ้าน จนถึงทุกวันนี้
ขนาดพื้นที่ชุมชน ทั้งชุมชนมีพื้นที่ทั้งสิ้น 8,301 ไร่ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นพื้นที่นา 2,200 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 6,101 ไร่ เป็นพื้นที่ใช้ปลูกไร่ ที่ตั้งบ้านเรือนและอื่น ๆ
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ มีลักษณะทางภูมิศาสตร์อยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำยมซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของจังหวัด ที่ราบลุ่มลำน้ำยมอยู่ในระดับความสูง 300 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีทั้งที่ราบลุ่มริมน้ำและที่เนินสูงสลับกับภูเขา แม่น้ำยมซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากสายน้ำลำธารหลายสายในเขตอำเภอปงได้ไหลผ่านพื้นที่ชุมชนในลักษณะที่คดเคี้ยวไปมาตามลักษณะภูมิประเทศที่มีภูเขาล้อมรอบ ในถดูฝน กระแสน้ำจะไหลเชี่ยว ทำให้เกิดการกัดเซาะและการพังทลายของพื้นที่ริมฝั่งน้ำอย่างรุนแรง สภาพเช่นนี้ทำให้ลำน้ำยมเกิดการตื้นเขิน ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งอยู่เสมอ
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอปง จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอบ้านมาง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเชียงม่วน จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา
สาธารณูปโภค การประกอบการเกษตรกรรมเป็นแหล่งที่มาของอาหารจานหลักคือข้าวเหนียว ส่วนการหาของจากป่าและล่าจับสัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็ช่วยให้ได้สิ่งที่จำเป็นในชีวิตประการต่าง ๆ นอกจากจะได้สัตว์ป่าประเภท เก้ง กวาง นก และกุ้งหอย ปู ปลา มาเป็นอาหารแล้ว ป่าเขายังเป็นที่มาของบ้านเรือน ยุ้งฉาง เครื่องใช้ประเภทที่ทำจากไม้ เช่น เกวียน ไถ คราด กระบุง ตะกร้า และอุปกรณ์ผ้าทอทุกชิ้น ยามป่วยไข้ก็อาศัยยาสมุนไพรจากป่าค้ำจุนชีวิตให้รอดพ้นจากภาวพวิกฤตด้วยดีเสมอมา
ปัจจุบันชาวบ้านจะเก็บผลผลิตข้าวเหนียวไว้บริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก การแปรรูปข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารจะใช้บริการจากโรงสีซึ่งมีในชุมชนอยู่ 4 แห่ง การทำนาที่นี่อาศัยน้ำฝนจึงทำนาได้เพียงปีละครั้ง ครัวเรือนหนึ่ง ๆ มีที่นาโดยเฉลี่ย 7 ไร่ ใช้วิธีทำนาดำเพื่อให้ได้ผลผลิตเต็มที่ บางครอบครัวไม่มีพื้นที่นาในที่ราบลุ่มก็จะปรับพื้นที่เนินตามไหล่เขาเพื่อปลูกข้าว ถ้าปีใดฝนน้อยผลผลิตก็จะน้อยซึ่งอาจไม่คุ้มกับทุนที่ลงไป หลายคนเลือกปลูกพืชไร่อย่างอื่นแทนข้าวและนำผลผลิตพืชไร่ไปขายเพื่อซื้อข้าวสารมาบริโภค
เมื่อเกี่ยวข้าวไปแล้ว ชาวบ้านจะใช้ที่นาเดียวกันปลูกพืชไร่ล้มลุกตามความต้องการของตลาด สมัยก่อนทุกครัวเรือนจะปลูกฝ้ายไว้อย่างน้อยครอบครัวละ 1 ไร่ เพื่อนำปุยฝ้ายมาแปรรูปเป็นเครื่องนุ่งห่ม แต่ระยะหลังเมื่อหันไปปลูกพืชไร่อย่างอื่นเพื่อส่งตลาด จำนวนพื้นที่ปลูกฝ้ายในท้องถิ่นก็ลดลงไปมาก ผู้ที่ยังคงปลูกฝ้ายอาจแบ่งเป็นกลุ่ม คือ การปลูกเพื่อใช้ทอผ้าพื้นเมือง และอีกส่วนคือการปลูกเพื่อขายปุยฝ้ายให้โรงงาน
นอกจากนี้ พืชที่ปลูกในพื้นที่ไร่ตามเนินเขาซึ่งยังคงเป็นที่นิยมของชาวบ้านตลอดมาก็คือ ข้าวโพด ปกติจะเริ่มลงมือก่อนการทำนาประมาณ 1 เดือน ข้าวโพดจะให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน ผลผลิตข้าวโพดจะขายให้กับพ่อค้าคนกลางหรือผู้ประกอบการค้าพืชผลทางการเกษตรจากตัวเมืองที่จะออกมารับซื้อผลผลิตโดยตรง ชาวไร่บางรายกู้ยืมมาจากเถ้าแก่พืชไร่ พอเก็บผลผลิตข้าวโพดได้ เถ้าแก่ก็จะมาหักหนี้สินจากผลผลิตข้าวโพด
ลักษณะอากาศ
- ฤดูร้อน - เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมอากาศจะร้อนอบอ้าว อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 8-40 องศาเซลเซียส แต่อากาศจะเย็นลงในตอนกลางคืน
- ฤดูฝน - เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม มีฝนตกชุกและหนาแน่นที่สุดในเดือนสิงหาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,711 มิลลิเมตร
- ฤดูหนาว - เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ โดยเฉพาะเดือนมกราคมมักเป็นระยะที่หนาวที่สุด อุณหภูมิจะลดลงที่ 8-9 องศาเซลเซียสในปีปกติ บางปีอุณภูมิก็ลดลงถึงระดับติดลบ
การคมนาคม หมู่บ้านท่าฟ้าใต้อยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข 1091 เส้นทางนี้เชื่อมจังหวัดน่านกับอำเภอเชียงม่วนผ่านหมู่บ้านท่าฟ้าใต้ เพื่อจะต่อไปยังอำเภอปงและอำเภออื่น ๆ หมู่บ้านท่าฟ้าใต้อยู่ห่างจากตัวอำเภอเชียงม่วน 17 กิโลเมตร มีรถโดยสารจากหลายบริษัทวิ่งระหว่างเชียงใหม่และน่านผ่านชุมชน จากอำเภอเชียงม่วนถึงท่าฟ้าใต้ นอกจากนี้ยังมีรถโดยสารขนาดเล็กจากจังหวัดแพร่ไปจังหวัดพะเยาผ่านหมู่บ้านท่าฟ้าใต้เช่นกัน
สถานที่สำคัญ ประกอบด้วย วัด 1 แห่ง คือ วัดท่าฟ้าใต้ โรงเรียนระดับประถม 1 แห่ง คือ โรงเรียนท่าฟ้าใต้ นอกจากนี้ยังมีสถานีอนามัย สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า สถานีบ่มใบยา ที่ทำการเกษตร และอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง
ปัจจุบันบ้านท่าฟ้าใต้ ประกอบด้วยบ้านเรือน 279 หลังคาเรือน มีประชากรเป็นชาย 312 คน หญิง 364 คน รวมทั้งหมด 676 คน
ไทลื้อทางราชการได้จัดให้ท้องถิ่นนี้เป็นหมู่บ้าน อพป. (อาสาพัฒนาและป้องกันตัวเอง) ด้วยการจัดแบ่งหมู่บ้านออกเป็น “คุ้ม” ทั้งหมด 21 คุ้ม แต่ละคุ้มมีชื่อกำกับ ในคุ้ม ๆ หนึ่งมีหัวหน้าที่เป็นตัวแทนเมื่อเวลามีการประชุมเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม
การเป็นหมู่บ้าน อพป. จะต้องมีคณะกรรมการกลางตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ประธาน รองประธาน ผู้ชวย กรรมการสภาตำบล ประธานฝ่ายปกครอง ประธานฝ่ายศึกษาและวัฒนธรรม ฯลฯ ชาวบ้านผู้ชายเป็นผู้อยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ เหล่านั้นตามที่ได้รับเลือกกันมา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่าง ๆ ทั้ง ปลัดอำเภอ เกษตรตำบล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และนักพัฒนาชุมชนเป็นที่ปรึกษา
อาชีพ ในชุมชนมีบุคคลที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ คือ ช่างเหล็ก ช่างเงิน-ทอง ช่างตัดกระดาษ หมอยา และอาจารย์ผู้นำประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ผู้ที่จะทำอาชีพเหล่านี้ได้อย่างคล่องแคล่วจะต้องได้รับการฝึกฝนจากผู้รู้ซึ่งมีความชำนาญมากกว่าคนอื่น ๆ ในกลุ่มอาชีพและมักได้รับการยกย่องให้เป็นครู
การรวมกลุ่มประกอบอาชีพ ครัวเรือนมีบทบาทสำคัญในฐานะทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เนื่องจากการทำไร่ทำนาจะอาศัยแรงงานจากสมาชิกในครัวเรือนเป็นหลัก นอกจากแรงงานของสมาชิกในครัวเรือนแล้วในชุมชนยังเคยมีการแลกเปลี่ยนแรงงานในรูปของการขอแรงและเอาแรงกับญาติพีน้องและเพื่อน ๆ อีกด้วย การแลกเปลี่ยนแรงงานแต่ละอย่างก็ใช้กับการงานที่แตกต่างกันไป กล่าวคือการขอแรงมักปรากฏในการงานที่ไม่เกี่ยวกับการทำนาทำไร่หรือเป็นการขอให้คนอื่นมาช่วยทำงานนอกไร่นา เช่น ปลูกบ้าน ขนย้ายสิ่งของ ไปหาฟืนถ่านมาใช้เตรียมแต่งงาน ทั้งนี้ การขอแรงไม่ถือว่าเป็นข้อผูกมัดแต่เป็นการแสดงมิตรไมตรีมากกว่า ส่วนการเอาแรงหรืออย่างที่เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “เอามื้อ” เป็นเรื่องของการทำนาไร่โดยตรง ส่วนมากจะเอาแรงกันตอนดำนา เกี่ยวข้าว ปลูกข้าวโพด ดายหญ้าให้ต้นข้าวโพด และเก็บฝักข้าวโพดแก่ เอาแรงใครทำงานไว้กี่วันก็จะต้องไปใช้หนี้แรงให้กับเขาผู้นั้นในจำนวนวันเท่า ๆ กัน
ไทลื้อบ้านท่าฟ้าใต้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้านและเชื่อในผีสางเทวดามาตั้งแต่บรรพบุรุษ วัดท่าฟ้าใต้คือจุดศูนย์กลางของการประกอบกิจกรรมตามเทศกาลงานบุญต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ประเพณีพิธีกรรมบ้านท่าฟ้าใต้
- เดือนเกี๋ยง (ตุลาคม) = ออกพรรษา
- เดือนยี่ = ทอดกฐิน
- เดือนสาม = บุญข้าวใหม่
- เดือนสี่ = ปอยหลวง (เทศน์หาชาติ)
- เดือนห้า = ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- เดือนหก = ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- เดือนเจ็ด = สงกรานต์ เลี้ยงผีเรือน
- เดือนแปด = เลี้ยงผีพ่อปู่
- เดือนเก้า = เข้าพรรษา
- เดือนสิบ = ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- เดือนสิบเอ็ด = ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
- เดือนสิบสอง = ทานก๋วยสลาก
ประเพณีสงกรานต์ตานตุง
ชุมชนไทลื้อท่าฟ้า จัดงานประเพณีสงกรานต์ตานตุงไตลื้อทุกวันที่ 13 เมษยน ของทุกปี โดยมีกิจกรรมทั้งวัน เช่น การตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง สรงน้ำพระสิบสองปันนามหาลาภซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่นำมาจากสิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน การรดน้ำดำหัว นอกจากนี้ยังมีการตานตุงหรือการถวายตุง ใช้วิธีการเชิญตุงยาว 20 วา ขึ้นสู่ยอดเสาไม้บริเวณหน้าวิหารเป็นพุทธบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิต ทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปได้เกาะชายตุงขึ้นสวรรค์
1.นายวิษณุวัฒน์ วัฒนาภากุล ผู้ใหญ่บ้าน
ทุนทางวัฒนธรรม
การทอผ้า การทำลวดลายที่บ้านท่าฟ้าใต้มีการทอด้วยด้ายฝ้ายที่มีสีสันตัดกันไปมาและเกิดลวดลายต่าง ๆ และยังนิยมการทอจกดอกเพื่อให้ได้ลายวิจิตบรรจง เครื่องนุ่งห่มแต่ละแบบจะมีลวดลายเฉพาะอย่าง กล่าวคือ ผ้าห่มทอด้วยลายแปด ลายเก้า และลายงูรอย ส่วนผ้าปูที่นอนที่นิยมใช้ลายกูดเดีย ดอกมะเลียม ดอกขอ ดอกคู่ไขว้ งูรอย งูรอยใหญ่ ดอกจันทร์ แลวพิษ ดอกแก้วน้อย กูดตั้ง กูดเคอ ดอกจอ รูปม้า และลายเกล็ดเต่า สำหรับผ้าซิ่นจะจกยกดอกด้วยลายเกาะและลายมุก ส่วนสีของผ้ายังคงใช้สีจากธรรมชาติในการย้อมเส้นใย สีแดงได้มาจากตัวครั่ง สีเหลืองได้มาจากขมิ้น สีครามเป็นสีที่ใช้มากที่สุดในเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของชาวไทลื้อ ได้มาจากเนื้อคราม
การแต่งกายแบบพื้นเมือง
- ผู้ชาย - ใส่เสื้อปั๊ดแขนยาวหรือแขนสั้น ผ้าห้อยบ่าสีขาว นุ่งกางเกงสามดูกที่มีเป้ายาวเหมือนกางเกงของชาวเขาเผ่าม้ง
- ผู้หญิง - นุ่งซิ่นพื้นเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง สวมเสื้อปั๊ดแขนยาวห้อยผ้าสไบเฉียง มีผ้าโพกสีขาวผืนยาวพันรอบศีรษะ สะพายย่ามสีแดง จะแต่งกายครบชุดเช่นนี้เมื่อไปทำบุญหรือออกไปติดต่อกับชุมชนอื่น
เครื่องมือเครื่องใช้ ชาวบ้านมีการผลิตสิ่งจำเป็นในชีวิตเนื่องจากเมื่อก่อนชุมชนนั้นอยู่ไกลจากชุมชนเมืองและใช้เวลาในการเดินทางนาน จึงมีการปลูกฝังต่อ ๆ กันมา โดยลูก ๆ รุ่นหนุ่มอาจเริ่มฝึกทำเครื่องจักสานประเภท กระด้ง แอ็บข้าว (กระติ๊บข้าว) โม้ง (ข้องใส่ปลา) และกระบุงสำหรับใส่เปลือกข้าวสาร
ทุนทางกายภาพ
ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่อำเภอเชียงม่วนรวมทั้งสภาพแวดล้อมของบ้านท่าฟ้าใต้นับว่าเป็นป่าที่ยังคงสภาพเดิมได้มากกว่าอำเภอใด ๆ ในจังหวัดพะเยา ป่าที่พบในบริเวณนี้ส่วนใหญ่ ได้แก่ ป่าไม้เต็งรัง นอกจากนี้ยังมีไม้มะค่า ไม้สัก ไม้เหียง และไม้พวง สัตว์ป่าที่อยู่ในท้องถิ่นคือ เก้ง กวาง เสือ หมาป่า เม่น ลิ่น (ลักษณะคล้ายตะกวด หรือ แย้) นกแก้ว นกขุนทอง และนกชนิดต่าง ๆ
ชุนชนชาติพันธ์ุไทลื้อ
ภาษาพูด : ภาษาถิ่นลื้อท่าฟ้าใต้
ภาษาเขียน : ภาษาเขียนของชาวไทลื้อใช้อักขระแบบเดียวกับภาษาของล้านนา
การมีทางหลวงจังหวัดหลายเลข 1091 ตัดผ่าน ทำให้ไม่นานในหมู่บ้านก็มีไฟฟ้าใช้ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมนี้ได้นำบ้านท่าฟ้าใต้ออกไปสู่โลกภายนอกอย่างชนิดที่แทบจะไม่มีขอบเขตจำกัด โดยเฉพาะวิทยุและโทรทัศน์ดูจะเป็นสื่อที่นำรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่มาเสนอให้ชาวท่าฟ้าใต้สามารถรับเลียนแบบวัฒนธรรมต่างถิ่น การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ การปลูกพืชไร่เศรษฐกิจทั้งข้าวโพด มะเขือเทศ ผักกาดเขียวปลี ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักที่เป็นเงินของแต่ละครัวเรือน อีกทั้งปัจจุบันจะพบเครื่องอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ แพร่หลายอยู่ในหมู่บ้าน รถไถนาชนิดเดินตาม เครื่องสูบน้ำ รถจักรยานยนต์ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เตาแก๊ส และเครื่องเสียงได้กลายเป็นเครื่องวัดฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมในหมู่ชาวบ้านด้วยกัน
ในขณะเดียวกัน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังส่งผลให้ทุกวันนี้การขอแรงและการเอาแรงไม่ค่อยมีมากนัก การทำไร่นาทุกขั้นตอนก็ต้องว่าจ้างแรงงานเช่นเดียวกันกับการปลูกพืชไร่เศรษฐกิจ ค่าจ้างดำนาวันละ 50-60 บาท ช่วงที่มีความต้องการแรงงานมาก ๆ โดยเฉพาะในฤดูเก็บเกี่ยว อัตราค่าจ้างจะเพิ่มสูงกว่าปกติ
ระยะหลังที่รัฐได้หยิบยื่นการพัฒนารูปแบบต่าง ๆ ให้กับชนบทนั้นปรากฏว่าผู้คนในท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยนิยมเข้าไปหางานทำตามเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ ผู้ที่อพยพออกนอกชุมชนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาย ในระยะแรกก็อาจจะเข้าเมืองหางานรับจ้างทำเฉพาะช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา แต่ต่อมาเมื่อเห็นว่าการขายแรงงานในเมืองจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าผลผลิตที่ได้จากนาไร่ ท้ายที่สุดจึงละทิ้งถิ่นฐานเป็นการถาวร บางครอบครัวจึงขาดแรงงานชายไป ผู้หญิงจึงต้องไปทำหน้าที่การงานหลาย ๆ อย่างของผู้ชาย ปัจจุบันจำนวนผู้ทอผ้าในหมู่บ้านอาจจะลดลงไปบ้างส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้หญิงได้แบ่งปันเวลาที่เคยถักทอเสื้อผ้าไปให้กับการงานต่าง ๆ ในหน้าที่ของผู้ชาย
การจัดหมู่บ้านให้เป็นแบบแผนตามนโยบายของทางราชการ มีผลไปถึงวัฒนธรรมพื้นบ้าน กล่าวคือ ในระยะหลังมีการเปลี่ยนแปลงด้านการแต่งกายไปตามสมัยนิยมโดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาวไม่ค่อยมีใครนุ่งห่มแบบพื้นเมือง ผู้ใหญ่บ้านประสงค์ให้การทำบุญที่วัดดูมีระเบียบจึงได้กำหนดให้ทุกคนทั้งชายและหญิงใส่เสื้อสีขาว
โดยภาพรวมแล้วก็จะเห็นว่าชาวบ้านได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนไปตามอิทธิพลของการติดต่อกับภายนอก แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยว่า เมื่อทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งดินในนาไร่ถูกใช้ประโยชน์เพื่อผลิตพืชผลส่งขายโดยไม่ได้ปรับปรุงบำรุงดิน อันจะส่งผลผลิตตกต่ำหรือไม่อาจเพาะปลูกสิ่งใดได้ ถึงวันนั้นชาวท่าฟ้าใต้อาจจะต้องหาทางเลือกใหม่เพื่อความอยู่รอดของตนต่อไป
กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. (ม.ป.ป.). กลุ่มชาติพันธุ์ : ไทลื้อ. ค้นคืนเมื่อ 18 เมษายน 2566, จาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/143
ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 18 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/research-item-search.php?ob_id=12
เพจ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านท่าฟ้าใต้ เชียงม่วน พะเยา. (ม.ป.ป.). ค้นคืนเมื่อ 18 เมษายน 2566, จาก https://www.facebook.com/
องค์การบริหารส่วนตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ. ค้นคืนเมื่อ 18 เมษายน 2566, จาก http://www.sralocal.go.th/s/
MUSEUM THAILAND. (2563). สงกรานต์ตานตุงไทลื้อท่าฟ้า อ.เชียงม่วน จ.พะเยา. ค้นคืนเมื่อ 18 เมษายน 2566, จาก https://www.museumthailand.com/th/320/webboard/topic/
MUSEUM THAILAND. (ม.ป.ป.). วัดท่าฟ้าใต้. ค้นคืนเมื่อ 18 เมษายน 2566, จาก https://www.museumthailand.com/th/1768/storytelling/
Thailand Tourism Diectory. (ม.ป.ป.). วัดบ้านท่าฟ้าใต้. ค้นคืนเมื่อ 18 เมษายน 2566, จาก https://www.thailandtourismdirectory.go.th/