ชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ลาน-แม่กาง ถูกจัดตั้งเป็นหมู่บ้านอาสาสมัครและป้องกันตนเอง (อพป.) เมื่อปี พ.ศ. 2528 และได้รับการสนับสนุนส่งเสริมรายได้ด้วยการรวมกลุ่มทอผ้า
ชุมชนแม่จองไฟ ส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย บริเวณชุมชนมีลำห้วยที่เป็นแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงใช้เป็นที่อาศัยหุงอาหาร โดยใช้หินทำเป็นก้อนเส้า (ก้อนหินสามก้อน เพื่อวางหม้อ สำหรับหุงข้าวและต้มแกง) ซึ่งภาษาถิ่นจะเรียกว่า “จองไฟ” ต่อมาได้เรียกเป็นชื่อของลำห้วยแห่งนั้นว่า ห้วยแม่จองไฟ และชาวบ้านได้นำ มาเป็นชื่อหมู่บ้าน จึงได้ตั้ง ชื่อว่า บ้านแม่จองไฟ
ชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ลาน-แม่กาง ถูกจัดตั้งเป็นหมู่บ้านอาสาสมัครและป้องกันตนเอง (อพป.) เมื่อปี พ.ศ. 2528 และได้รับการสนับสนุนส่งเสริมรายได้ด้วยการรวมกลุ่มทอผ้า
เมื่อประมาณ 200 กว่าปี ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในประเทศพม่าหลายกลุ่ม ถูกพม่าโจมตี เนื่องมาจากสาเหตุปัญหาการปกครอง ต้องอพยพหลบหนีเข้ามาอยู่ในเขตประเทศไทย โดยตั้งรกรากอยู่บริเวณพื้นที่ภูเขาในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงหลายกลุ่มได้อพยพหนีพม่ามาตามเส้นทางเดินเขา ผ่านจังหวัดลำปาง ผ่านแม่ทะ เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณห้วยแม่มอญ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ต่อมาได้แตกกลุ่มกันอีกครั้งด้วยเรื่องผิดประเพณี (ผิดผี) ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านแม่จองไฟ จึงแยกออกมาตั้งบ้านเรือนที่ห้วยแม่จองไฟ ซึ่งเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา หลังจากนั้นก็ย้ายขึ้นมาอยู่เชิงเขาบ้านแม่จองไฟในปัจจุบัน เพราะสถานที่เดิมได้เป็นที่เพาะปลูก ทำไร่ ทำนา ต่อมาปี พ.ศ. 2528 บ้านแม่จองไฟได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านอาสาสมัครและป้องกันตนเอง (อพป.)
ลักษณะพื้นที่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและพื้นที่ป่าเบญจพรรณ มีไม้เศรษฐกิจคือ ไม้สัก ไม้มะค่า โมง ประดู่ ประสมไม้ไผ่ และของป่า เช่น หวาย ชัน มีสัตว์ป่า เช่น งู กระรอก หมูป่า นกชนิดต่าง ๆ ป่ามีความสมบูรณ์ 100% (จำนวน 2,000 ไร่) มีพื้นที่ราบ เพียง 30% ของพื้นที่ทั้งหมด ราษฎรปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา เป็นส่วนใหญ่
ลักษณะที่ตั้ง บ้านแม่จองไฟ หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ พื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาน-แม่กาง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอลองเป็นระยะทาง 16 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดแพร่ ประมาณ 56 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 8,875 ไร่ ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านอาสาสมัครและป้องกันตนเอง (อพป.) มีอาณาเขต ติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่เกี่ยม ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านเค็ม ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านนาแก ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
จากข้อมูลสถิติจำนวนประชากร 2565 ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ระบุว่า บ้านหนองบาง ประกอบด้วย 135 หลังคาเรือน โดยมีจำนวนประชากรรวม 575 คน แบ่งเป็นเพศชาย 305 คน เพศหญิง 270 คน
ปกาเกอะญอการปกครองส่วนท้องถิ่น/ภาวะผู้นำ (ที่เป็นธรรมชาติ/ไม่เป็นธรรมชาติ) การปกครองส่วนท้องถิ่นของหมู่บ้านแม่จองไฟ ขึ้นอยู่กับเทศบาลตำบลแม่ลานนา อำเภอลอง จังหวัดแพร่ การปกครองในรูปแบบของการปกครองในหมู่บ้านมีการตั้งกรรมการหมู่บ้านแบ่งหน้าที่ในการบริหารการทำงานในหมู่บ้าน โดยมีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในการบริหารจัดการดูแลความสงบเรียบร้อยในการอยู่ร่วมกันของคนในหมู่บ้าน ปัจจุบันมี นายศรักษ์ ชุมภู (ผู้ใหญ่เมา) เป็นผู้ใหญ่บ้าน
ขณะเดียวกันการปกครองภายในหมู่บ้านแม่จองไฟได้แบ่งการปกครองออกเป็นคุ้ม โดยมีหัวหน้าคุ้ม ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลสมาชิกของคุ้มในเรื่องความเป็นอยู่ของสมาชิกในคุ้ม ซึ่งแต่ละคุ้มประกอบด้วยหลายครัวเรือน และแบ่งออกเป็น 5 คุ้ม คือ
- คุ้มอนุรักษ์
- คุ้มถิ่นไท
- คุ้มราษฎรพัฒนา
- คุ้มพนารักษ์
- คุ้มประชาร่วมใจ
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาสาสมัครพัฒนาหมู่บ้าน (อสม.) ประกอบด้วย คณะกรรมการ 9 คน มีหน้าที่ดูแลด้านสาธารณสุข สำรวจประชากรในหมู่บ้าน และดูแลสภาพแวดล้อมในหมู่บ้าน
ในส่วนของการเป็นผู้นำหมู่บ้านแบบไม่เป็นทางการ นั้น ชาวบ้านยึดถือตามความมีอาวุโส และมีการนับถือเชื่อฟังในส่วนของการเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมตามวัฒนธรรมความเชื่อของชนเผ่า ซึ่งเรียกว่า เก๊าผี เป็นผู้นำที่ชาวบ้านนับถือและให้ความเคารพ คือ นายคำ เกี๋ยงดู
ระเบียบ ข้อปฏิบัติ กฎเกณฑ์ของคนในชุมชน ในการจัดระเบียบ ข้อปฏิบัติของคนในชุมชนที่มีการตั้งขึ้นมาเพื่อใช้กับคนในหมู่บ้าน คนนอกหมู่บ้าน เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง การร่วมมือกันปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ จะมีการประชุมก่อนจะมีการตัดสินใจดำเนินการใด ๆ ตามข้อตกลงนั้น ๆ ซึ่งต้องยึดถือข้อบังคับ ข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยการดำเนินงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน เช่น การทำลายป่า การหาปลา การชกต่อยกัน การยิงปืนในหมู่บ้าน เป็นต้น
อาชีพ การประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นการทำการเกษตร การทำนา เลี้ยงสัตว์ การประกอบอาชีพนอกเหนือจากการเกษตรจะเป็นการรับจ้างทั่วไป และการออกไปทำงานต่างถิ่น ต่างจังหวัด และมีการประกอบอาชีพส่วนตัว เช่น การค้าขาย การรับราชการ การเป็นลูกจ้างหน่วยงานราชการ เป็นต้น
การจัดการผลผลิตนั้น จะมีการจัดการกันเองในหมู่บ้าน เป็นการแลกเปลี่ยนผลิตผลกันระหว่างคนในชุมชน เป็นการช่วยกัน เรียกว่า การเอาแรง การลงแขก การเอามื้อกัน และจะมีการใช้แรงงานคืนตามระยะเวลา จำนวนวันที่ได้ช่วยกัน หรือได้แลกเปลี่ยนกัน เช่น การปลูกข้าว การเก็บเกี่ยวข้าว เป็นต้น มีเป็นบางครั้งจะมีการเข้ามาจัดการผลผลิตของคนนอกหมู่บ้าน ในกรณีที่ผลผลิตตรงตามต้องการและมีจำนวนมาก หรือการผลิตนั้นเป็นการรับสั่งทำ เช่น การทอผ้า การทำการจักสาน เป็นต้น
ประเพณีกำบ้าน จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง
ในวันประกอบพิธีกรรมชาวบ้านจะทำการปิดหมู่บ้านไม่ให้คนนอกเข้า โดยใช้เลือดหมูและเลือดไก่ ติดที่ตะแหล๋ว แล้วนำไปติดไว้บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน เป็นสัญลักษณ์ว่า ห้ามคนนอกเข้าในหมู่บ้าน ขณะทำพิธีหากมีคนนอกเข้ามาจะทำให้ผิดผี จะต้องทำพิธีใหม่ให้หมด คนที่เข้ามาจะต้องรับผิดชอบ ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีใหม่ทั้งหมด พิธีกรรมจะเริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 - 22.00 น.
ขั้นตอนการประกอบพิธี
- ปิดหมู่บ้านไม่ให้คนนอกเข้าไปในหมู่บ้าน โดยปิดตั้งแต่ เวลา 08.00 น. ถึงเช้าวันถัดไป
- ทั้งหมู่บ้านจะนำหมู 1 ตัว และทุกหลังคาเรือนจะต้องนำไก่ 1 ตัว และเหล้าขาว 1 ขวด มารวมกันที่สถานประกอบพิธี (โรงผี)
- บุคคลที่จะเข้าในพิธีจะต้องเป็นผู้ชายสวมผ้าของชนเผ่ากะเหรี่ยง (ผ้าต้อยเต็บ)
- นำหมูและไก่ที่นำมารวมกันทั้งหมดต้มให้สุกแล้วนำขึ้นถวายศาลเจ้า (ผีชาวบ้าน)
- นำเหล้าไปขอพรจากเก๊าผี (ประธานการประกอบพิธี) ซึ่งมีทั้งหมด 3 คน
- หลังจากนั้นนำเหล้ามาแจกกันดื่มจนเหล้าหมด
- เอาไก่และหมูใส่กระด้งแล้วยกขึ้นเหนือศีรษะเพื่อขอพรจากศาลเจ้า
- แล้วยกลงให้เก๊าผีกินก่อนแล้วแบ่งให้ลูกบ้านที่มาร่วมพิธีกินเป็นอันเสร็จพิธี
- นำหมูและไก่ที่ยำไว้มากินที่บ้าน
ประเพณีปีใหม่ (อังปี้มัย) จะจัดขึ้นปีละ 3 ครั้ง ในเดือนมิถุนายน ใช้เวลาในการประกอบพิธีทั้งหมด 3 วัน คือ
วันที่ 1 วันดา (วันเตรียม) ทุกหลังคาเรือนจะต้องเตรียมไก่ 2 ตัว เหล้าขาว 2 ขวด ทำขนมห่อใบตองก๋ง เพื่อนำไปประกอบพิธีผูกข้อมือในวันปีใหม่
วันที่ 2 วันปีใหม่
- แต่ละหลังคาเรือนจะนำไก่ไปที่ประตูบ้านของตนและทำพิธีเรียกขวัญ สมาชิกในครอบครัว เมื่อทำพิธีเรียกขวัญเสร็จก็ฆ่าไก่ที่ประตูบ้านที่ทำพิธีแล้วนำไก่เข้ามาในบ้าน
- นำไก่ไปต้มให้สุก แล้วนำมาใส่กระด้งไม้ (กั๊วข้าว) ซึ่งภายในประกอบไปด้วยข้าวเหนียว 1 ปั้น ขนมใบตองกง 3 หัว เหล้าขาว 1 ขวด ด้ายสำหรับใช้ผูกข้อมือ กล้วย 1 ลูก น้ำ 1 แก้ว
- เชิญผู้อาวุโสในหมู่บ้านมาทำพิธีผูกข้อมือและกวาดน้ำ (ใช้เหล้าแทนน้ำ) เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เจ้าที่และบรรพบุรุษที่ล่วงลับ
- เมื่อเสร็จพิธีนำไก่มาปรุงและรับประทานร่วมกันเจ้าของบ้านนำเหล้ามาคารวะผู้นำร่วมพิธี
- ทุกครัวเรือนจะเตรียมน้ำอบน้ำหอมไปที่บ้านเก๊าผี เพื่อทำพิธีรดน้ำดำหัวให้กับกลองมโหระทึก (ฆ้องกบ) ผู้นำพิธีกรรม ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน จากนั้นมีการสังสรรค์ตลอดวัน
วันที่ 3 ทำพิธีกรรมบ้าน ปิดหมู่บ้านไม่ให้คนนอกเข้า
พิธีสงเคราะห์บ้าน จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ในเดือน 5 เหนือ (กุมภาพันธ์)
ขั้นตอนการประกอบพิธี
- ทุกครัวเรือนจะเตรียมเก็บใบผลไม้ที่ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ใบมะม่วง ใบมะขาม ใบมะนาว นำมาหั่นเป็นฝอย แล้วนำมาคลุกกับพริก เกลือ หอม ปลาร้า เรียกว่า แกงส้มแกงหวาน นำของที่เตรียมไว้ไปยังสถานที่ประกอบพิธี
- สถานที่ประกอบพิธีชาวบ้าน เตรียมไก่และเหล้า ขัดแตะ 4 อัน (ไม้ไผ่สานคล้ายกระด้ง) นำแกงส้มแกงหวานของแต่ละบ้านมารวมกันในขัดแตะที่วางบนไม้ไผ่คล้ายที่ดักปลา
- ผู้อาวุโสของหมู่บ้านนำไก่มาเชือดและต้มให้สุก เพื่อประกอบพิธี มีการยิงปืนเพื่อไล่เสนียดจัญไร จากนั้นผู้นำหมู่บ้านจะนำขัดแตะทั้ง 4 อันไปเก็บขี้เถ้าแต่ละหลังคาเรือน (เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข) เมื่อเก็บขี้เถ้าทุกหลังคาเรือนแล้วจะนำขัดแตะทั้ง 4 อันไปทิ้งตามทิศต่าง ๆ รองหมู่บ้านแล้วยิงปืน
- ผู้อาวุโสทำพิธีเซ่นไหว้ผีและให้หญิงหม้ายในพิธี 2 คนให้พรเป็นอันเสร็จพิธี
- นำไก่มาปรุงให้ผู้เข้าร่วมพิธีรับประทานร่วมกัน
ศาสนา/ความเชื่อและการเคารพนับถือ ชาวบ้านแม่จองไฟนับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อในผีและจิตวิญญาณของบรรพบุรุษ ซึ่งการแสดงออกถึงการนับถือผีนั้น คือ การรักษาบำบัดการเจ็บไข้ จะมีการบนบานและมีการเลี้ยงผี ถ้าอาการเจ็บป่วยหายและมีการทำบุญตักบาตร การถือศีล ตามคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งการไปวัดหรือการทำบุญ จะไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน เพราะที่บ้านแม่จองไฟนี้ไม่มีวัด
ใช้ภาษากะเหรี่ยงสื่อสารกันในหมู่บ้าน และสามารถพูดภาษาคำเมืองและเข้าใจภาษากลางได้เป็นอย่างดี
บ้านแม่จองไฟ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เช่น ป่าไม้ ป่าชุมชน โดยมีการจัดให้มีการอนุรักษ์ พิทักษ์ป่าโดยชาวบ้านช่วยกันดูแลและหวงแหนไม่เกิดการทำลาย มีการบริหารโดยส่วนบริหารจัดการพื้นที่ป่าที่ 13 สวนป่าแม่ลาน-แม่กาง กำกับดูแล และการจัดระบบกรรมสิทธิ์ในการถือครองนั้น ยังไม่มีการจัดระบบแต่ชาวบ้านก็เกิดการสมัครใจในการดูแลและอนุรักษ์ป่าของพื้นที่หมู่บ้านเป็นอย่างดี
ป่าแม่ลาน-แม่กาง
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอลอง จังหวัดแพร่. (2559). ประวัติบ้านแม่จองไฟ. ค้นจาก http://banmaechongfai.longnfe.go.th/
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2566). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/
เทศบาลตำบลแม่ลานนา. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 2566 - 2570. ค้นจาก https://www.maelanna.go.th/
Icemedia Channel (2561, 14 พฤศจิกายน). บ้านแม่จองไฟ หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จังหวัดแพร่ [วิดีโอ]. ยูทูบ. https://www.youtube.com/