Advance search

“สัมผัสอากาศเย็น เด่นในตํานานเหมืองแร่” บ้านอีต่อง หมู่บ้านที่เงียบสงบกลางหุบเขาสุดเขตแดนตะวันตก พรหมแดนไทย-เมียนมา จากอดีตเหมืองแร่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สู่การแปรสภาพเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่พลาดไม่ได้เมื่อมาเยือนทองผาภูมิ
หมู่ที่ 1
บ้านอีต่อง
ปิล๊อก
ทองผาภูมิ
กาญจนบุรี
วิไลวรรณ เดชดอนบม
6 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
8 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 ม.ค. 2024
บ้านอีต่อง

เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งตระหง่านอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี เมื่อมองมาจากฝั่งเมียนมาซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดต่ำกว่า จะมองเห็นหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บนเขาสูงระฟ้า มีหมอกปกคลุมคล้ายกับสวรรค์ หมู่บ้านนี้จึงถูกเรียกว่า “บ้านณัตเอ็งต่อง” แปลว่า บ้านเทพเจ้าแห่งขุนเขา ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนไปเป็น “บ้านอีต่อง”


“สัมผัสอากาศเย็น เด่นในตํานานเหมืองแร่” บ้านอีต่อง หมู่บ้านที่เงียบสงบกลางหุบเขาสุดเขตแดนตะวันตก พรหมแดนไทย-เมียนมา จากอดีตเหมืองแร่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สู่การแปรสภาพเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่พลาดไม่ได้เมื่อมาเยือนทองผาภูมิ
บ้านอีต่อง
หมู่ที่ 1
ปิล๊อก
ทองผาภูมิ
กาญจนบุรี
71180
14.679103
98.36997404
องค์การบริหารส่วนตำบลปิล๊อก

บ้านอีต่องถือกําเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2482 ระหว่างที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กําลังเริ่มขึ้น กรมโลหกิจรับบทบาทเป็นผู้ซื้อแร่ดีบุกและวุลแฟรมให้กับประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้สําหรับสร้างยุทโธปกรณ์รับมือกับสงคราม ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่ได้มีการลักลอบขุดแร่วุลแฟรมและแร่ดีบุกโดยฝีมือของชาวเมียนมา (บางข้อมูลบอกว่าเป็นชาติพันธุ์กระเหรี่ยง ทวาย และเนปาล) บริเวณพื้นที่บ้านอีต่อง ตําบลปิล๊อก อําเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเพียงพื้นที่ป่ารกร้าง เพื่อนําไปขายต่อให้กับประเทศอังกฤษที่เข้ามายึดครองเมียนมาสำหรับใช้ในการผลิตยุทโธปกรณ์สําหรับสงครามช่นกัน

ระหว่าง พ.ศ. 2367-2491 เมียนมา (พม่า) ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ทําให้พื้นที่หลายส่วนของเมียนมา เช่น ยะไข่ ตะนาวศรี ถูกผนวกเข้ากับการปกครองอังกฤษ ขณะเดียวกัน เทือกเขาตะนาวศรีที่กั้นพรมแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเป็นแหล่งของแร่ดีบุกและวุลแฟรม จึงเปรียบเสมือนแหล่งเศรษฐทรัพย์ของประเทศไทย ประขวบเหมาะกับหนึ่งเหตุผลการเข้ายึดครองเมียนมาของอังกฤษ คือ ต้องการทรัพยากรแร่ อังกฤษจึงได้นำคนงานซึ่งเป็นเชลยชาวเนปาล กะเหรี่ยง และทวาย มาเป็นแรงงานขุดหาแร่ในเขตตะนาวศรี จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า ผู้ที่เข้ามาในพื้นที่บ้านอีต่องพวกแรกเพื่อกิจกรรมทางทรัพยากรธรณี คือ อังกฤษ โดยมีชาวเนปาล กระเหรี่ยง และทวาย ติดตามเข้ามาในฐานะแรงงานเชลยศึก เนื่องจากตะนาวศรีมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่บ้านอีต่องในจังหวัดกาญจนบุรี หากมองจากบ้านอีต่องไปยังฝั่งเมียนมา แล้วจะเห็นว่าลักษณะภูมิประเทศจากบ้านอีต่องตั้งอยู่บนภูเขาสูง มีทางลาดยาวลงไป จนถึงแผ่นดินเมียนมา ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม ง่ายและสะดวกต่อการขนหาบแร่ข้ามฝั่ง

ต่อมา หมู่บ้านอีต่องถูกค้นพบโดยพรานกะเหรี่ยง 2 นายที่ออกมาล่าสัตว์บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา พวกเขาพบร่องรอยการทำเหมืองแร่ของคนต่างชาติ จึงเก็บตัวอย่างแร่กลับมาแล้วเล่าให้ผู้ใหญ่บ้านฟัง ผู้ใหญ่บ้านจึงรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อกรมโลหกิจทราบข่าว จึงนําคณะนายช่างเข้ามาตรวจสอบพื้นที่บ้านอีต่องแล้วพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีแหล่งแร่ดีบุกและแร่วุลแฟรมอยู่เป็นจํานวนมาก รวมถึงมีแร่ทังสเตนและสายแร่ทองคําปะปนอยู่ด้วย จึงได้เกิดนโยบายของรัฐบาล จัดตั้งองค์การเหมืองแร่สังกัดกรมโลหกิจใน พ.ศ. 2482 (ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ขึ้นมาเพื่อรับซื้อแร่เหล่านั้นแทนการลักลอบขุดไปขายในเมียนมา โดยเปิดเหมืองแร่บ้านอีต่อง ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ขึ้นเป็นที่แรก หลังจากนั้นไม่นานรัฐก็เปิดให้สัมปทานแก่นักลงทุนเอกชน ส่งผลให้บ้านอีต่อง เกิดเหมืองแร่ผุดขึ้นเป็นจํานวนมากทั้งขององค์การและเอกชนเปิดขึ้นมาหลายพันเหมืองนับไม่ถ้วน โดยชาวเหมืองจะเรียกรวม ๆ กันว่า “เหมืองปิล๊อก” ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรแร่นี้เอง ที่ได้ดึงดูดและเชิญชวนเหล่านักแสวงโชคและนักลงทุนให้เข้ามารวมตัวตั้งถิ่นฐานแสวงหาความมั่งคั่ง ณ ที่แห่งนี้ จนเกิดเป็นชุมชนขึ้นในฐานะบ้านพักของคนงานเหมือง มีผู้คนเข้ามาทํางานเหมืองจากทั่วทุกสารทิศ ประกอบกับเมื่อมองมาจากฝั่งเมียนมา ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดต่ำกว่าแล้ว จะมองเห็นหมู่บ้านอีต่องแห่งนี้ตั้งอยู่บนเขาสูงระฟ้า มีหมอกปกคลุมคล้ายกับสวรรค์ หมู่บ้านนี้จึงถูกเรียกว่า “บ้านณัตเอ็งต่อง” แปลว่า บ้านเทพเจ้าแห่งขุนเขา ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนไปจนเป็น “บ้านอีต่อง” อย่างในปัจจุบัน

เหมืองแร่ปิล๊อกรุ่งเรืองมาเป็นเวลาราว 45 ปี จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงประมาณ พ.ศ. 2528 ประเทศจีนได้ปล่อยแร่ดีบุกราคาถูกออกสู่ตลาดอุตสาหกรรมเป็นจํานวนมาก ทําให้อุตสาหกรรมแร่ดีบุกเข้าสู่ภาวะวิกฤต ราคาแร่ดีบุกลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว กอปรกับมีการเข้ามาของวัสดุทดแทนอย่างอุตสาหกรรมพลาสติก การใช้ดีบุกจึงลดลง ขณะเดียวกันนั้นปริมาณแร่ในเหมืองต่าง ๆ เริ่มหมด และสัมปทานสิ้นสุด เหมืองแร่ต่าง ๆ จึงทยอยปิดตัวไป กระทั่งปัจจุบัน บ้านอีต่องไม่มีเหมืองแร่หลงเหลืออยู่เลยแม้เพียงแห่งเดียว จากเดิมที่เคยมีอยู่นับพันแห่ง คนงานเริ่มอพยพออกจากพื้นที่เพื่อหาลู่ทางการประกอบอาชีพอื่น แต่ก็ยังคงมีคนงานเหมืองบางกลุ่มที่ยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านอีต่องแห่งนี้ โดยไม่ได้โยกย้ายไปที่ใด และเนื่องด้วยบ้านอีต่องตั้งอยู่ติดกับเขตชายแดนไทย-เมียนมา โดยมีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นแนวเขตแบ่งแดน พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเป็นป่าเขาสูงสลับซับซ้อน มีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปี บ้านอีต่องจึงถูกแปรสภาพจากหมู่บ้านแห่งการทําอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกและวุลแฟรม ไปสู่หมู่บ้านท่องเที่ยว โดยปัจจุบันคนในชุมชนเริ่มหันมาจับธุรกิจทางด้านที่พัก รีสอร์ท และโฮมสเตย์กันมากขึ้น

บ้านอีต่อง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ในจํานวน 4 หมู่บ้านของตําบลปิล๊อก อําเภอทองผาภูมิ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดกาญจนบุรี ขนาดพื้นที่ 75 ไร่ มีลักษณะเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก แยกตัวจากหมู่บ้านอื่น ๆ ในตําบลปิล๊อก โดยตั้งอยู่บนภูเขาติดฝั่งชายแดนไทย-เมียนมา ในขณะที่อีกสามหมู่บ้านอย่างบ้านโบอ่อง หมู่ที่ 2 บ้านใหม่ไร่ป้า หมู่ที่ 3 และบ้านปิล๊อกคี่ หมู่ที่ 4 ตั้งอยู่ริมขอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 800 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากอําเภอทองผาภูมิ 75 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดกาญจนบุรี 210 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลท่าขุน อำเภอทองผาภูมิ และตำบลปรังผล อำเภอสังขละบุรี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลห้วยเขย่ง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลท่าขนุน และตำบลห้วยเขย่ง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ประเทศเมียนมา

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านอีต่องมีพื้นที่ติดชายแดนระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา มีเทือกเขาตะนาวศรีกั้นยาวเป็นแนวแบ่งเขตดินแดน พื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณ 95% เป็นป่าและภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีพื้นที่ราบเชิงเขาซึ่งเป็นพื้นที่ทําการเกษตรประมาณ 5% ของพื้นที่ทั้งหมด

สภาพภูมิอากาศ

บ้านอีต่อง ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน โดยพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีส่วนใหญ่มีทิวเขากั้นเขตแดนเป็นแนวยาว ทําให้มีอุณหภูมิค่อนข้างสูง ร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน ส่วนฤดูหนาวจะหนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 27 องศาเซลเซียส

  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดพาเอาความชื้นจากทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย ทําให้เกิดฝนตกชุก มีความชื้นสูงมากในช่วงเช้า
  • ฤดูหนาว เริ่มประมาณปลายเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ตะวันออกเฉียงเหนือ และความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมทั่วพื้นที่ อากาศจึงมีความหนาวเย็นและแห้ง
  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นลมร้อน พัดพามาจากทะเลจีนใต้ ส่งผลให้อากาศร้อนชื้นและร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายน

สถิติประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลปิล๊อกแบบแยกรายหมู่บ้านจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านอีต่อง ทั้งสิ้น 2,431 คน แยกเป็นประชากรชาย 1,296 คน ประชากรหญิง 2431 คน และจำนวนครัวเรือน 1,567 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) อย่างไรก็ตามแม้ว่าจำนวนประชากรที่ปรากฏราชื่อในสำนักทะเบียนบ้านของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ของบ้านอีต่องจะมีมากกว่า 2,000 คน ทว่า ประชากรที่อาศัยอยู่จริงในหมู่บ้านมีราว 800 คนเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่ตั้งของหมู่บ้านอีต่องตั้งอยู่ในเขตควบคุมของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ทําให้ประชาชนในพื้นที่ไม่มีอํานาจในการครอบครองเอกสารสิทธิ์ประเภท น.ส.3 (หนังสือรับรองจากเจ้าหน้าที่ว่า ได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว แต่มีเพียงสิทธิ์ครอบครองไม่มีกรรมสิทธิ์ โดยหนังสือเป็นแบบธรรมดามีการรังวัด และจัดทำแผนที่ของที่ดิน) มีเพียงชื่อในทะเบียนบ้านเท่านั้นที่สามารถยืนยันได้ว่าตนอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว คนเก่าแก่ที่ย้ายถิ่นหรือเสียชีวิต จากหรือหายไปอย่างถาวรโดยไม่ได้มาย้ายชื่อตนออกจากทะเบียนบ้านแต่อย่างใด ทําให้ยังคงมีชื่อในทะเบียนมากเกินความเป็นจริง โดยประชากรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอีต่อง ร้อยละ 80 เป็นชาวเมียนมา (กะเหรี่ยง ทวาย) และลูกครึ่งไทย-เมียนมา อีกร้อยละ 20 เป็นชาวไทย โดยในปัจจุบัน บ้านอีต่องได้แบ่งกลุ่มหรือคุ้มของชุมชนออกเป็น 9 คุ้ม ดังนี้

  • คุ้มที่ 1 คุ้มทังสะเตน (บริเวณอีปู่)
  • คุ้มที่ 2 คุ้มตํารวจตระเวนชายแดนวิจิตรวิทยาคาร (บริเวณอีปู่)
  • คุ้มที่ 3 คุ้มอนามัย (โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตําบลปิล๊อก)
  • คุ้มที่ 4 คุ้มโซนตลาด
  • คุ้มที่ 5 คุ้มห้องแถวบน
  • คุ้มที่ 6 คุ้มห้องแถวล่าง
  • คุ้มที่ 7 คุ้มโรงเรียนเพียงหลวง
  • คุ้มที่ 8 คุ้มบ้านหินกอง
  • คุ้มที่ 9 คุ้มบ้านใหม่

ชาวบ้านอีต่องมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันโดยแบ่งได้เป็น

1.เครือญาติโดยสายเลือด ที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน มีสถานะเป็นพี่น้อง รวมถึงลูกพี่ลูกน้องร่วมสายโลหิต มีความใกล้ชิดสนิทสนมมาก และจะตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง มีการไปมาหาสู่กันตลอดเวลา ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านเศรษฐกิจและการดํารงชีพ

2.เครือญาติโดยการแต่งงาน เป็นกลุ่มเครือญาติที่เกิดจากการแต่งงานกันระหว่างคนจากสองครัวเรือน โดยสมาชิกทั้งสองครัวเรือนถือว่าเป็นเครือญาติกัน รวมถึงญาติสนิทหรือญาติร่วมสายโลหิตของทั้งสองฝ่ายด้วย

3.เครือญาติร่วมชุมชนเดียวกัน คือกลุ่มที่มีความรู้สึกนับถือและสํานึกในความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน อยู่หมู่บ้านเดียวกัน จึงปฏิบัติต่อกันเสมือนเป็นญาติพี่น้อง

ความสัมพันธ์ของระบบเครือญาติ เป็นที่มาของแรงงานที่ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในสังคมบ้านอีต่อง แม้ว่าสังคมบ้านอีต่องจะไม่ใช่สังคมเกษตรกรรม แต่เวลาจําเป็นต้องใช้แรงงานช่วยเหลือด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว งานก่อสร้าง กิจการร้านค้า ก็จะบอกกล่าวและขอแรงงานจากญาติพี่น้องของตนเพื่อไปประกอบกิจกรรมดังกล่าว คนที่มาขอความช่วยเหลือก็จะทําอาหารไปตอบแทนญาติที่มาช่วย ซึ่งถ้าหากญาติต้องการความช่วยเหลือบ้าง ผู้ขอความช่วยเหลือก็จะไปช่วยเหลือเป็นการตอบแทน

ในหมู่บ้านอีต่องแห่งนี้มีครัวเรือนที่ประกอบอาชีพมากกว่า 1 อาชีพ และแม้ว่าบ้านอีต่องจะตั้งอยู่ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูณ์ แต่บ้านอีต่องไม่ใช่สังคมเกษตรกรรม เหตุเพราะมีลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบเขาสูงสลับซับซ้อน สภาพหน้าดินไม่เอื้ออํานวยต่อระบบการเกษตรขนาดใหญ่ และที่สําคัญคือไม่มีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ทําให้ไม่สามารถขยับขยายพื้นที่เพื่อทําเกษตรได้ การประกอบอาชีพของชาวบ้านอีต่อง จึงมักจะเป็นการประกอบธุรกิจและงานรับจ้าง

ในส่วนของงานรับจ้างนั้นพบว่ามีคนในชุมชนประกอบอาชีพรับจ้างที่หลากหลาย ทั้งรับจ้างในพื้นที่หมู่บ้าน รวมถึงไปรับงานนอกหมู่บ้าน นอกตําบล หรือต่างจังหวัด อยู่หลายครัวเรือน โดยการรับจ้างภายในหมู่บ้าน เช่น รับจ้างดูแลโฮมสเตย์ รับจ้างทํางานก่อสร้าง รับจ้างปลูกป่าให้กับบริษัท ปตท. กล่าวคือบ้านอีต่องเป็นจุดที่มีการวางแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติต่อตรงจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อนําเข้ามาใช้ในประเทศไทย ทางปตท. จึงได้มีมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้เทคนิคทางวิศวกรรม รวมถึงการปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการกัดเซาะของดิน และเร่งการฟื้นฟูให้กับสภาพแวดล้อมตามแนวท่อส่งก๊าซ เนื่องจากสภาพแวดล้อมของบ้านอีต่องนั้นเต็มไปด้วยธรรมชาติทางป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนงานรับจ้างนอกหมู่บ้าน (ภายในตําบลปิล๊อก) เช่น รับจ้างทำการเกษตร ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา กล้วยน้ำว้า รับจ้างเลี้ยงสัตว์ แต่ในปัจจุบัน เยาวชนในชุมชนบ้านอีต่อง เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นหรือวัยทํางานมักจะออกไปหางานทํานอกหมู่บ้าน โดยส่วนใหญ่พบว่ามักเข้าไปทํางานในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร หรืออําเภอเมืองกาญจนบุรี เช่น รับจ้างในร้านอาหาร และโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ

ปัจจุบัน บ้านอีต่องได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เนื่องจากพื้นที่ของหมู่บ้านอยู่ติดริมน้ำ มีบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกสดชื่นผ่อนคลาย จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ชุมชนบ้านอีต่องมีที่พักแบบโฮมสเตย์ และสามารถขับรถต่อไปชมอุโมงค์เหมืองแร่เก่าที่อยู่บนเนินเขาได้ มีกิจกรรมการท่องเที่ยวของหมู่บ้าน คือ การผูกป้ายบริเวณสะพานของนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นความทรงจำที่ดีว่า ครั้งหนึ่งได้เคยเดินทางมาเยือนบ้านอีต่องแล้ว นอกจากนี้ ยังมีตลาดบ้านอีต่อง ซึ่งเป็นแหล่งกระจายรายได้สู่ชุมชน มีร้านค้าชุมชน ร้านขายสินค้าที่ระลึก และร้านอาหารหลายแห่ง ส่งผลให้ธุรกิจร้านค้ามากมายเกิดขึ้นภายในชุมชน ทั้งนี้ ก็เพื่อรองรับการเข้ามาเยือนของนักท่องเที่ยวอันเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชาวบ้านที่ยังอาศัยอยู่ในชุมชน ลักษณะการประกอบธุรกิจของคนในชุมชนส่วนใหญ่จึงเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยพบว่าในชุมชนมีการประกอบธุรกิจหลายประเภททั้งที่พักโฮมสเตย์ ร้านอาหารขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ซึ่งจะมีจำนวนมากเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลและฤดูหนาวที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ร้านกาแฟ ร้านของฝาก ร้านขายของที่ระลึก ร้านเสื้อผ้า ร้านขายของชำ ร้านขายสมุนไพร ผัก ผลไม้ ปั๊มน้ำมัน ร้านขายพันธุ์ไม้ และร้านให้เช่ารถจักรยานยนต์ เป็นต้น

จุดเช็กอินในหมู่บ้าน เช่น ป้ายไม้ทางเข้าหมู่บ้าน สะพานป้ายไม้ สะพานเหมืองแร่ เหมืองปิล๊อกเก่า วัดพระธาตุเหมืองปิล๊อก สระน้ำกลางหมู่บ้าน ศาลเจ้าพ่อสะด่อง น้ำตกจ๊อกกระดิ่น เนินช้างศึก และถนนคนเดินหรือตัวตลาดบ้านอีต่อง

ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม

ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ในบ้านอีต่องนับถือศาสนาพุทธ มีการทําบุญตักบาตรและฟังเทศน์ในวันสําคัญทางศาสนา นอกจากนี้ยังมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ โดยภายในหมู่บ้านมีวัด 2 แห่ง คือ วัดเหมืองปิล๊อก ตั้งอยู่บริเวณโซนหมู่บ้าน และวัดเหมืองอีปู่ ตั้งอยู่บริเวณโซนอีปู่ นอกจากนี้ ชาวบ้านอีต่องยังมีการนับถือเทพ นับถือผี ซึ่งในหมู่บ้านจะมีศาลตั้งอยู่สามแห่ง คือ ศาลเจ้าพ่อสะด่อง ศาลของเทพเจ้าโพหม่องซิ่น และศาลเจ้าพ่อปุยนุ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ติดตัวมาของชาวทวายที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้าน

ความเชื่อในเรื่องอํานาจเหนือธรรมชาติ การนับถือเทวดา และภูตผีต่าง ๆ ยังคงมีอิทธิพลอยู่เหนือจิตใจของชาวบ้านอีต่องอยู่บ้าง ในแต่ละกลุ่มเชื้อชาติก็จะมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเทวดาและภูตผีที่แตกต่างกัน กล่าวคือ บริเวณหมู่บ้านอีต่องในปัจจุบันได้มีกลุ่มคนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ ทั้งชาวไทยและชาวเมียนมา (ทวาย กระเหรี่ยง) ทําให้อิทธิพลทางความเชื่อมีต้นกําเนิดมาจากคนสองกลุ่มเป็นหลัก ซึ่งแต่ละกลุ่มนั้นมีความเชื่อดั้งเดิมติดตัวมาก่อนจะย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกรากใหม่ บางครัวเรือนมีการแขวนเข่ง แขวนมะพร้าว ผูกผ้าแดงอยู่หน้าบ้าน ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวเมียนมาเกี่ยวกับผีประจําตัว หรือผีประจําบ้าน คนเฒ่าคนแก่บางส่วนมีความเชื่อเรื่องปอบ ผีจำพวกหนึ่งในตำนานความเชื่อพื้นบ้านของไทย นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับภูตผีทั่วไปที่สถิตอยู่ตามป่าตามเขา มีความเชื่อว่าหากนําห่อข้าว อาหาร หรือขนม ไปนั่งรับประทานนอกบ้านบริเวณป่า ไม่ว่าจะเป็นเชิงเขา ใต้ต้นไม้ หรือลานกว้าง จะต้องแบ่งอาหารครึ่งหนึ่งโดยวางลงบนภาชนะหรือใบไม้ แล้วนําไปวางไว้ใต้ต้นไม้ ใกล้กับที่รับประทานอาหาร เพื่อเป็นการเซ่นไหว้แก่ภูตผี หากไม่แบ่งจะทําให้ภูตผีโกรธ จนอาจทําให้คนผู้นั้นดวงตก เจ็บป่วย หรืออาจเสียชีวิตได้

นอกจากภูตผีที่เป็นความเชื่อส่วนบุคคลแล้ว บ้านอีต่องยังมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ร่วมกัน คือ เจ้าพ่อสะด่อง เจ้าพ่อเปรียบเสมือนเป็นเทพประจําหมู่บ้าน อยู่มาตั้งแต่ครั้งหมู่บ้านยังไม่เจริญ แรกเริ่มเดิมทีศาลของเจ้าพ่อสะด่องมีลักษณะเป็นบ้านไม้หลังเล็ก ๆ ภายในมีรูปของเจ้าพ่อตั้งอยู่ ตัวศาลตั้งอยู่บริเวณตีนเขา ซึ่งเป็นทางผ่านที่ชาวบ้านใช้ในการเดินขึ้นไปทําเหมืองบนภูเขา ชาวบ้านอีต่องให้ความเคารพและศรัทธาในตัวเจ้าพ่ออย่างมาก คนในชุมชนจะเข้า-ออกหมู่บ้าน ขับรถผ่านต้องยกมือไหว้ หรือบีบแตรทําความเคารพ เพื่อเป็นการบอกกล่าวและขอพร ในช่วงที่มีงานบุญต่าง ๆ คนในชุมชนแทบทุกครัวเรือนก็จะมาทําการกราบและเซ่นไหว้เจ้าพ่อด้วย

สําหรับชาวบ้านที่มีเชื้อสายเมียนมา จะมีพิธีกรรมทางความเชื่อเกี่ยวกับเทพ คือ การไหว้พระจันทร์ เชื่อว่าการไหว้พระจันทร์จะช่วยเสริมความโชคดี ช่วยในการค้าขาย และปกป้องไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ โดยจะจัดงานไหว้ในวันที่ 15 เมษายนของทุกปี

ปัจจุบันความเชื่อเกี่ยวกับผีปอบและภูตผีต่าง ๆ นั้นได้เจือจางลง กฎเกณฑ์ในการเซ่นไหว้ต่าง ๆ ถูกลดความเคร่งครัดลง พร้อมกับหมอผีที่ได้จางหายไปจากหมู่บ้านด้วย เด็ก ๆ และคนรุ่นใหม่ แทบจะไม่มีความเชื่อในเรื่องนี้เลย แต่อย่างไรก็ตาม ประเพณีการเซ่นไหว้เทพ เซ่นไหว้เจ้าพ่อ ยังคงกระทํากันเป็นประจําทุกปีจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย

ลักษณะบ้านเรือนของชาวบ้านอีต่องในอดีตมีลักษณะเป็นตึกแถวติดกันหลายหลัง มีสองชั้น สร้างจากไม้ มุงด้วยหลังคาสังกะสี ชั้นล่างปลูกเป็นห้องโถง สําหรับประกอบกิจกรรมพักผ่อน รับประทานอาหาร ส่วนชั้นบนไว้สําหรับนอนหลับ

บ้านของชาวบ้านที่มีเชื้อสายไทย กับบ้านของชาวบ้านที่มีเชื้อสายทวายหรือเมียนมา จะมีลักษณะแตกต่างกันอยู่บางจุด คือ บ้านของชาวทวายจะสร้างชานเล็ก ๆ ยื่นออกมาจากตัวบ้านสำหรับเป็นที่ตั้งของหิ้งพระ เนื่องจากชาวทวายมีความเชื่อว่าคนกับพระพุทธรูป หรือเทพ จะไม่อยู่รวมหลังคาเดียวกัน เนื่องจากพระพุทธรูปหรือเทพมีความศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งกว่า ในขณะที่ชาวไทยจะวางหิ้งพระไว้ในตัวบ้านหลังคาเดียวกัน

ปัจจุบัน คุ้มโซนห้องแถวบน-ล่าง ยังคงปรากฏให้เห็นร่องรอยของห้องแถวไม้ หลังคามุงสังกะสีแบบดั้งเดิมอยู่ แต่คุ้มอื่น ๆ ได้ทําการปรับปรุงลักษณะบ้านเป็นปูนซีเมนต์ หลังคามุงกระเบื้อง ชั้นล่างเปลี่ยนจากประตูบานพับไม้เป็นประตูกระจกบานเลื่อน บางบ้านปรับปรุงต่อเติมบ้านของตนให้เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ ทาสีสันสวยงาม ปรับโครงสร้างเป็นตึกปูนทันสมัย มีห้องพักหลายห้องในแต่ละชั้น ขณะเดียวกัน ด้วยปัจจัยจากการท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชน ส่งผลให้ที่ดินในพื้นที่บ้านอีต่องมีราคาสูงขึ้น ชาวบ้านเริ่มทยอยขายบ้านและที่ดินที่มีมูลค่าสูงหรือบางรายก็ปล่อยเช่า แม้ว่าในพื้นที่นั้นจะไม่มี น.ส.3 ก็ตาม แล้วไปซื้อบ้านอยู่ในตัวเมืองอำเภอทองผาภูมิ ปัจจุบันทางคณะผู้ปกครองของหมู่บ้านจึงได้ทําการรณรงค์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และไม่ให้มีการซื้อขายที่อยู่อาศัยกัน เพื่อป้องกันการเข้ามาของนายทุนจากภายนอกที่อาจจะนําการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่มาสู่ชุมชน จนอาจไม่เหลือเค้าโครงเดิมหลงเหลืออยู่ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ

บ้านอีต่อง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดกับชายแดนไทย-เมียนมา ทางฝั่งจังหวัดกาญจนบุรี เป็นหมู่บ้านโบราณที่มีการทำเหมืองแร่มาแต่สมัยโบราณ แต่ปัจจุบัน เหมืองแร่ได้ปิดตัวลงไป หลงเหลือไว้เพียงร่องรอยที่ทิ้งไว้ ซุกซ่อนอยู่หลังม่านหมอกของจังหวัดกาญจนบุรี หลังฝนพรำจะถูกโอบล้อมไปด้วยไอหมอกราวกับดินแดนในฝัน ต้นทุนความงดงามและอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติของบ้านอีต่อง จึงเป็นจุดกำเนิดที่นำพาการพัฒนาบ้านอีต่องสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยวภายหลังเหมืองแร่ปิดตัวลง

ภายหลังเหมืองแร่ปิดตัวลง อาชีพหลักอย่างการทําเหมืองและการค้าขายของชาวบ้านอีต่องถูกลดบทบาทลง ทําให้หมู่บ้านซบเซาและเงียบเหงามาตลอดหลายปี จนภาครัฐ คือ องค์การบริหารส่วนตําบลปิล๊อก เห็นว่าเศรษฐกิจของหมู่บ้านหยุดชะงักมาเป็นเวลานาน อีกทั้งบ้านอีต่องไม่ใช่เป็นสังคมเกษตรกรรม ผู้คนไม่สามารถหาเลี้ยงชีพด้วยการทําไร่ ทํานา หรือทําปศุสัตว์ได้ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและหน้าดินไม่เอื้ออํานวย เพราะขาดแร่ธาตุความอุดมสมบูรณ์จากการขุดเจาะเหมืองแร่และชะล้างหน้าดิน แต่สิ่งหนึ่งที่บ้านอีต่องมี คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทัศนียภาพที่งดงามจากภูมิประเทศที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูงตระหง่าน อากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี มีทะเลหมอกที่มักจะลงมาปกคลุมภายในหมู่บ้าน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีร่องรอยและวัฒนธรรมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่หลงเหลืออยู่ เหมาะสําหรับให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้ ภาครัฐจึงรณรงค์ให้คนในหมู่บ้านหันมาทําธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยเริ่มต้นจากให้ชาวบ้านทําโฮมสเตย์ โดยมี “อีต่องโฮมสเตย์” เปิดขึ้นเป็นเจ้าแรก

ธุรกิจเกี่ยวกับที่พักในบ้านอีต่องเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และนิยมทํากันในรูปแบบของโฮมสเตย์เป็น ส่วนมาก ซึ่งโฮมสเตย์เป็นลักษณะหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ให้นักท่องเที่ยวได้พักแรมที่บ้านของชาวบ้าน เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่น แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ศึกษาวัฒนธรรม โดยเจ้าของบ้านมีรายได้จากการบริการที่พัก อาหาร หรือการนำนักท่องเที่ยวเที่ยวชมสถานที่หรือกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การให้นักท่องเที่ยวเหมารถจี๊ป ขับพานําเที่ยวตามสถานที่ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของหมู่บ้าน เช่น นำาตกจ๊อกกระดิ่น หรือพาเข้าไปในสถานที่ที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถขับรถเข้าไปเองได้

ชาวบ้านที่บัดนี้ได้กลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจโฮมสเตย์ ทําการปรับปรุงและเพิ่มจํานวนห้องพักจากหนึ่งตึก เป็นสองตึก สามห้อง ขยายเป็นหกห้อง หากแต่การขยับขยายไม่สามารถทําได้มากนัก เนื่องจากที่ดินของบ้านอีต่องที่ชาวบ้านถือครองเป็นที่อยู่อาศัยและทําธุรกิจอยู่นั้นไม่มีโฉนดที่ดิน แต่เป็นเพียงทะเบียนบ้านที่ระบุว่า ใครอยู่บ้านหลังไหน พื้นที่ตรงไหนเท่านั้น

ในช่วงวัดหยุดเทศกาลหรือฤดูท่องเที่ยว โดยเฉพาะฤดูหนาวและฤดูฝน ถือเป็นช่วงที่มีเงินสะพัดในหมู่บ้านหลายล้านบาท เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาจนถึงขนาดต้องกางเต็นท์นอนกันริมถนน ทั้งหมดนี้เพื่อต้องการที่จะใช้เวลากับญาติสนิทมิตรสหายในการสัมผัสอากาศหนาวเย็น ชื่นชมทะเลหมอก พระอาทิตย์ยามเช้าและยามเย็น และเข้าชมชุมชนคนงานเหมืองแร่ ร่องรอยของอดีตและวัฒนธรรมของชาวบ้านอีต่องในยุคสมัยที่เหมืองแร่ยังรุ่งเรือง ดังสโลแกนที่ปรากฏอยู่บนป้ายทางเข้าหมู่บ้าน “สัมผัส อากาศเย็น เด่นในตํานานเหมืองแร่” 

ภาษาพูด : ภาษาทวาย ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาพม่า ภาษาไทย


ไฟฟ้า ในช่วง พ.ศ. 2482 หมู่บ้านมีไฟฟ้าใช้จากเครื่องปั่นไฟของเหมืององค์การ (องค์การเหมืองแร่) ซึ่งมีเวลาจ่ายไฟตั้งแต่ 18:00-24:00 นาฬิกา โดยไฟฟ้าดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับเครื่องปั่นไฟของเหมืองเอกชนอื่น ๆ ที่มีเครื่องปั่นไฟเป็นของตนเอง ต่อมาใน พ.ศ. 2530 เหมืองต่าง ๆ ได้ปิดตัวลง ทําให้หมู่บ้านเผชิญวิกฤตขาดไฟฟ้าใช้อยู่ช่วงหนึ่ง ผู้นําหมู่บ้านจึงได้รวมตัวกันก่อตั้งกรรมการหมู่บ้าน จัดซื้อเครื่องปั่นไฟพลังน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้า กระทั่ง พ.ศ. 2540 ปตท. ได้เข้ามาวางแนวท่อก๊าซ โดยใช้พื้นที่บริเวณบ้านอีต่อง และได้ทําสัญญาจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่หมู่บ้านได้ใช้เป็นระยะเวลา 30 ปีตั้งแต่นั้นมา ทําให้ปัจจุบันบ้านอีต่องมีไฟฟ้าใช้ในปริมาณที่เพียงพอ และโฮมสเตย์ต่าง ๆ สามารถใช้ในการองรับนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย

น้ำประปา ช่วง พ.ศ.2482 การบริโภคอุปโภคน้ำของหมู่บ้านค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลําบาก เพราะต้องจ้างคนแบกน้ำจากบ่อหน้าหมู่บ้าน ราคาถังละ 10 บาท กระทั่ง พ.ศ. 2530 ได้มีการค้นพบตาน้ำจากภูเขา จึงได้มีการทําฝายแม้วตรงหางกั้นน้ำไหล แล้วต่อท่อลงมายังถังกักเก็บน้ำของหมู่บ้านซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการหมู่บ้าน แล้วจึงกระจายต่อท่อส่งไปใช้ตามครัวเรือนต่าง ๆ กําหนดให้ถังสูงมีหน้าที่ในการส่งน้ำให้กับคุ้มด้านบน คือ คุ้มบ้านใหม่ คุ้มบ้านหินกอง และคุ้มโรงเรียนเพียงหลวง เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ต้องอาศัยถังขนาดสูงส่งน้ำขึ้นไป และกําหนดให้ถังขนาดเตี้ยกระจายน้ําให้กับคุ้มอื่น ๆ ที่เหลือ

ถนน เป็นเส้นทางหมู่บ้านอีต่องไปยังอําเภอทองผาภูมิ ช่วง พ.ศ. 2482 มีลักษณะเป็นทางขึ้นเขา มีป่ารกร้าง สภาพเป็นดินธรรมดา ผู้คนต้องสัญจรด้วยการเดินเท้าหรือขี่ช้าง ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 วัน พ.ศ. 2512 มีการถางทางโดยรถแทรกเตอร์และใช้รถตักมาขุดถนน แต่เมื่อเข้าหน้าฝนถนนจะเละเป็นกองโคลนสูงและเฉอะแฉะ ทําให้ใช้เวลาเดินทางหลายวันกว่าจะลงไปถึงอําเภอทองผาภูมิ จน พ.ศ. 2535 ได้เริ่มตัดถนนลาดยางขึ้นมาเฉพาะบริเวณที่เป็นเนินชัน และเริ่มลาดยางถนนทั้งหมดใน พ.ศ. 2540 แต่เนื่องจากพื้นที่ถนนเป็นทางตัดผ่านภูเขาสูงหลายลูก ทําให้เวลาเข้าหน้าฝน ถนนจะถูกน้ำฝนที่ไหลลงมาจากเชิงเขากัดเซาะ รัฐต้องเข้ามาทําการซ่อมแซมอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งบ้านอีต่องเริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจํานวนมาก ถนนที่ทรุดโทรมอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการเดินทางได้ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2560 จึงได้มีการสร้างทางรองรับน้ำไหลจากเชิงเขาและปรับปรุงถนนแล้วเสร็จเมื่อปลายปี พ.ศ. 2561


ทองผาภูมิ
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ไชยยุทธ ปิ่นประดับ. (2551). ประวัติศาสตร์การทำเหมืองแร่. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

พักเที่ยว : Phaktiew. (2567). ไปพิชิต 399 โค้งกันเถอะ l• บ้านอีต่อง-ปิล๊อก •l อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://web.facebook.com/

พิริยดิศ ดิศกุล. (2546). เรื่องเหมืองแร่เก่า ๆ นำมาเล่าใหม่. ใน ข่าวสารการธรณีฉบับพิเศษ 100 ปี, (น. 175-218). อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ.

สุพิชญา ปิ่นทอง. (2560). การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชนชาวเหมืองแร่ปิล๊อก บ้านอีต่อง จังหวัดกาญจนบุรี. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

หนอนใบตอง. (2566). บางครั้งสายหมอก ก็ทำให้เรารู้สึกอบอุ่น 'อีต่อง-ปิล๊อก'. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://www.facebook.com/

Amazing Thailand. (ม.ป.ป.). บ้านอีต่อง เหมืองปิล๊อก. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://thai.tourismthailand.org/

Visitors เธอผู้มาเยือน. (2567). มาถึงทองผาภูมิ นอนบ้านอีต่อง ท่องปิล็อกต้องมาเช็คอิน????12 จุด ฟิน กิน เที่ยว กับหมู่บ้านเล็กๆ. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://web.facebook.com/