Advance search

แหล่งวิสาหกิจชุมชนคนรักมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองร้อยล้าน ชิมกล้วยหอมทองหวานอร่อยคำโต ขี่ควายแสนรู้จากกลุ่มอนุรักษ์กระบือไทย

กุดหมากไฟ
กุดหมากไฟ
หนองวัวซอ
อุดรธานี
วิไลวรรณ เดชดอนบม
6 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
8 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 ม.ค. 2024
บ้านกุดหมากไฟ

หมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณลำห้วยสุดที่แยกสาขามาจากลำห้วยหลวง ซึ่งในอดีตเคยมีต้นมะไฟ (หมากไฟ) ขึ้นอยู่มาก โดยคำว่า สุด ในภาษาอีสาน แปลว่า กุด เมื่อก่อตั้งหมู่บ้าน จึงตั้งชื่อตามลักษณะภูมิประเทศว่า กุดหมากไฟ


แหล่งวิสาหกิจชุมชนคนรักมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองร้อยล้าน ชิมกล้วยหอมทองหวานอร่อยคำโต ขี่ควายแสนรู้จากกลุ่มอนุรักษ์กระบือไทย

กุดหมากไฟ
กุดหมากไฟ
หนองวัวซอ
อุดรธานี
41220
17.08417243
102.6103668
เทศบาลตำบลกุดหมากไฟ

เมื่อประมาณ พ.ศ. 2480 มีพรานป่าชื่อว่า เชียงลี พร้อมด้วยพวกพ้องมาตั้งทับบริเวณต้นน้ำห้วยหลวงเพื่อทํากระบองไปขายหรือแลกข้าว เพราะบริเวณนี้มีต้นยางจำนวนมาก ต้นน้ำแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า ห้วยเชียงลี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมาก็มีผู้คนพยายามย้ายเข้ามาอยู่ แต่ก็ต้องย้ายออกไปเนื่องจากเกิดไข้ป่ามาลาเรียเสียชีวิตมาก โดยคนสมัยนั้นเชื่อว่าเกิดจากภูต ผี ปีศาจ ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2482 กลุ่มของนายพิมพา สุทธิแสน นายชวน และเพื่อน ๆ อีกประมาณ 7 พร้อมด้วยกลุ่มของนายดื่ม สุทธิแสน และอีกหลายครอบครัวที่อพยพตามมาในภายหลัง ได้เดินทางย้ายจากบริเวณห้วยหลวงมาอยู่บริเวณห้วยสุด (ห้วยตัน) ครั้งนั้นหลวงปู่ทองมา เกจิอาจารย์จากจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่คํา มหานาโธ ได้เล่าให้หลวงปู่คำฟังว่า พื้นที่แห่งนี้เหมาะแก่การก่อตั้งหมู่บ้าน หลวงปู่คำจึงได้ไปกะเกณฑ์ผู้คนมาสร้างบ้าน สร้างวัด ตั้งหลักบ้าน โดยให้สร้างวัดทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านติดกับลำห้วยสุดที่มีต้นมะไฟขึ้นมาก แล้วตั้งชื่อว่า วัดกุดหมากไฟ การตั้งชื่อวัดและหมู่บ้าน จึงมีที่มาจากสภาพพื้นที่ก่อตั้งหมู่บ้านในคราแรกมีลำห้วยสุดที่แยกสาขามาจากลำห้วยหลวง คำว่า กุด เป็นภาษาอีสาน หมายถึง สุด ในภาษาไทยกลาง ประกอบกับบริเวณโดยรอบลำห้วยมีต้นมะไฟขึ้นมาก จึงตั้งชื่อตามลักษณะภูมิประเทศว่า บ้านกุดหมากไฟ

บ้านกุดหมากไฟ ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง เพราะมีลำห้วยไหลผ่านถึง 4 สาย คือ ห้วยป่าหวาย ห้วยเชียงลี ห้วยค่าย และห้วยไห ทำให้นาข้าว ปู ปลา อุดมสมบูรณ์มาก ด้วยเหตุนี้ชื่อเสียงของบ้านกุดหมากไฟจึงโด่งดังจนเกิดการอพยพครั้งใหญ่จากผู้คนหลายจังหวัดในภาคอีสาน เช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หลอมรวมเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากต่างถิ่นที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวในชุมชนบ้านกุดหมากไฟ 

บ้านกุดหมากไฟ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลกุดหมากไฟ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชันเชิงซ้อน และพื้นที่ราบลุ่มอยู่บริเวณทิศตะวันตกของตำบล มีห้วยหลวงและลำน้ำสาขา เช่น ห้วยไห ห้วยเชียงลี  ห้วยคล้าย ห้วยหินแตก ห้วยลึก ห้วยคำก้านเหลือง ห้วยอ่าง ห้วยวังปลา ห้วยตาลเหี้ยน ห้วยป่าหวาย เป็นระบบทางน้ำหลัก โดยทิศทางการลาดเทของพื้นที่จากทางด้านทิศตะวันออกไปทางด้านทิศตะวันตกของตำบล 

ลักษณะภูมิอากาศ จัดอยู่ในภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน (Tropical monsoon climate) ซึ่งแบ่งได้  3  ฤดู คือ ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นลมที่พัดมาจากประเทศจีน จะพัดเอาความหนาวเย็นและความแห้งแล้งมา ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน จะมีอากาศร้อนและอบอ้าว ส่วนฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม โดยฝนที่ตกได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้แต่ไม่มากนัก ปริมาณฝนที่ตกในบริเวณนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดจากพายุดีเปรสชัน มีลักษณะเป็นลมพายุหมุน มีทิศทางไม่แน่นอน ส่วนใหญ่จะเคลื่อนตัวมาจากทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปถึงทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าปีใดมีพายุดีเปรสชันมาถึงน้อย ก็จะพบกับความแห้งแล้งกระทบต่อการเกษตร แต่ถ้าปีใดมีพายุดีเปรสชันเข้ามาติดต่อกัน ก็จะทำให้ฝนตกต่อเนื่องหลายวันซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วม โดยพายุดีเปรสชันจะมีอิทธิพลเด่นขึ้นในเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน

สถิติประชากรบ้านกุดหมากไฟ หมู่ที่ 1 ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี จากเทศบาลตำบลกุดหมากไฟ ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2565 รายงานสถิติประชากรบ้านกุดหมากไฟทั้งสิ้น 1,004 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 506 คน ประชากรหญิง 498 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 266 คน

กุดหมากไฟ เป็นหมู่บ้านที่อุดมไปด้วยสวนมะม่วง ชาวบ้านส่วนใหญ่จะปลูกมะม่วงซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจของหมู่บ้าน และยังเป็นมะม่วงที่ขึ้นชื่อของภาคอีสานก็ว่าได้ ในอดีตพืชเศรษฐกิจของบ้านกุดหมากไฟ คือ ข้าว แต่ภายหลังคุณพ่อที ภาโนมัย ได้ริเริ่มปลูกมะม่วงนอกฤดูและประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้มากกว่าการทำนาข้าว ชาวบ้านในชุมชนจึงได้หันมาปลูกมะม่วงนอกฤดูตามแบบอย่างคุณพ่อที ภาโนมัย โดยมะม่วงที่ปลูกในชุมชน คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

ตามปกติแล้วฤดูกาลของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน และหลังจากนั้นเป็นการทำมะม่วงนอกฤดูซึ่งจะได้ราคาที่ดีกว่าในช่วงที่เป็นฤดูกาล ซึ่งมะม่วงเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวแล้วสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายปี ไม่ต้องปลูกใหม่ทุกปีราคาที่ตกต่ำที่สุดอย่างน้อย ๆ กิโลกรัมละ 5 บาท ชาวสวนก็ยังสามารถทำใจรับราคานี้ได้

การเก็บเกี่ยวผลผลิตอายุมะม่วงอยู่ที่ 90-110 วัน หากจะเก็บเกี่ยวมะม่วงนับจากวันที่ห่อถุงไว้ในระยะ 45 วัน หลังจากนั้นนับไปอีกระหว่างวันที่ 45-90 วัน จะเป็นช่วงเวลาที่มะม่วงแก่จัด ถุงที่นำมาห่อเป็น “ถุงคาร์บอน”เพื่อป้องกันโรคและแมลง พร้อมเพิ่มสีผิวให้มีสีที่สวยงาม โดยมะม่วงที่จะทำการเก็บเกี่ยวนั้นจะเลือกมะม่วงที่สุกแล้วประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ โดยแบ่งตามขนาดได้ 3 รุ่น เล็ก กลาง ใหญ่ ชาวสวนมะม่วงนิยมลงสวนเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเช้า เนื่องจากในช่วงที่ผลผลิตออกนั้นเป็นช่วงฤดูร้อน หากเลี่ยงเวลามากไปแสงแดดจะเป็นอุปสรรคในการเก็บเกี่ยว หากไม่ต้องการเก็บจำนวนมากก็จะเป็นแรงงานภายในครอบครัว นำรถจักรยานยนต์พ่วงข้างพร้อมด้วยลังใส่มะม่วงก็สามารถลงมือเก็บตามใจชอบได้ทันที แต่หากต้องเก็บผลผลิตจำนวนมากกว่า 10 ตัน หรือ 10,000 กิโลกรัม ก็ต้องว่าจ่างชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันมารับจ้างเก็บผลผลิตวันละ 300-350 บาทต่อวัน โดยมะม่วงที่เก็บเกี่ยวมาจากสวนนอกจากจะขายแบบผลสด ส่งออกจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศแล้ว บางส่วนยังถูกนำมาแปรรูป เช่น แยมมะม่วง มะม่วงกวน เค้กมะม่วง มะม่วงแช่อิ่ม มะม่วงดอง ฯลฯ สำหรับจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวและส่งออกจำหน่ายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภาคอีสาน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบ้านกุดหมากไฟจะปลูกมะม่วงเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ทว่า ภายในพื้นที่สวนหาได้มีเพียงแต่มะม่วงเท่านั้น แต่ชาวบ้านได้ปลูกพืชอื่น ๆ หลากหลายชนิด เช่น กล้วยหอม ซึ่งมีชื่อเสียงไม่แพ้มะม่วง มีสะเดาเป็นไม้หัวไร่ปลายนา และมีการปลูกพืชหมุนเวียนโดยการปลูกข้าวในฤดูข้าว เมื่อหมดฤดูข้าว ชาวบ้านจะปลูกถั่วลิสง ฟักทอง ปลูกพืชสวนอื่น ๆ และอีกจำนวนมากสับเปลี่ยนกันไป เพื่อให้ซากพืชสามารถปรับเปลี่ยนเป็นปุ๋ยสำหรับทำนาต่อไปด้วย

นอกจากผลผลิตทางการเกษตรแล้ว บ้านกุดหมากไฟยังมีผลิตภัณฑ์สินค้าจากภูมิปัญญาของชาวบ้านในชุมชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานหัตถกรรมจักสานเครื่องมือเครื่องใช้ ผ้าทอมือ ผ้าทอลายกุดหมากไฟ รวมถึงธุรกิจโฮมสเตย์ที่เริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเรียนรู้ เที่ยวชม และสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้าน รวมถึงกิจกรรมอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่นมากมาย เช่น กิจกรรมขี่ควายแสนรู้จากกลุ่มอนุรักษ์กระบือไทย ฯลฯ 

ชาวบ้านกุดหมากไฟ มีประเพณีและวัฒนธรรมมากมายที่สืบทอดปฏิบัติมาอย่างยาวนาน มีการผสมผสานของวัฒนธรรมอีสานจากหลายแห่ง เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านมีการอพยพย้ายมาจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภาคอีสาน ทั้งนี้ ยังคงมีประเพณี วัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติร่วมกันอย่างร่วมใจ คือ ประเพณีที่เรียกว่า ฮีตสิบสอง โดยฮีตสิบสองนี้ หมายถึง ประเพณี 12 เดือนที่เกี่ยวเนื่องกับหลักทางพุทธศาสนา ความเชื่อ และการดํารงชีวิตทางเกษตรกรรม ซึ่งชาวอีสานยึดถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ มีแนวปฏิบัติแตกต่างกันไปในแต่ละเดือนเพื่อให้เกิดสิริมงคลในการดําเนินชีวิต เรียกอย่างท้องถิ่นว่า งานบุญ  คําว่า ฮีตสิบสองมาจากคําว่า ฮีต อันหมายถึงจารีต การปฏิบัติที่สืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณี สิบสอง คือประเพณีที่ปฏิบัติตามเดือนทางจันทรคติทั้งสิบสองเดือน ดังนี้

เดือนอ้าย บุญเข้ากรรม งานบุญเดือนอ้ายหรือเดือนเจียง พระสงฆ์จะทําพิธีเข้ากรรมหรือที่เรียกว่า เข้าปริวาสกรรม เพื่อทําการชําระมลทินที่ได้ล่วงละเมิดพระวินัย ใช้เวลา 6-9 วัน ในระหว่างนี้ ชาวบ้านจะเตรียมอาหารหวานคาวนําไปถวายพระภิกษุทั้งเช้าและเพล ชาวบ้านที่นําอาหารไปถวายพระภิกษุในระหว่างอยู่กรรมนี้เชื่อว่าจะทําให้ได้บุญกุศลมาก

เดือนยี่ บุญคูนลาน หรือบุญคูนข้าว เป็นพิธีกรรมฉลองภายหลังจากเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านรู้สึกยินดีที่ได้ผลผลิตมาก จึงต้องการทําบุญ โดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ในลานข้าว และในบางแห่งจะมีการสู่ขวัญข้าวเพื่อฉลองความอุดมสมบูรณ์ กล่าวขอบคุณแม่โพสพและขอโทษที่ได้เหยียบย่ำพื้นแผ่นดินในระหว่างการทํานา เพื่อความเป็นสิริมงคลและให้ผลผลิตเป็นทวีคูณในปีต่อไป

เดือนสาม บุญข้าวจี่ เป็นประเพณีที่เกิดจากความสมัครสมานของชุมชน ชาวบ้านจะนัดหมายกันมาทําบุญร่วมกันโดยช่วยกันปลูกผามหรือปะรําเตรียมไว้ในตอนบ่าย ครั้นเมื่อถึงรุ่งเช้าในวันต่อมาชาวบ้านจะช่วยกันจี่ข้าวหรือปิ้งข้าว และตักบาตรข้าวจี่ร่วมกัน หลังจากนั้นจะให้มีการเทศน์นิทานชาดกเรื่อง นางปุณณทาสี เป็นเสร็จพิธี

เดือนสี่ บุญผะเหวด หรือบุญพระเวส หรือพระเวสสันดร เป็นประเพณีตามคติความเชื่อของชาวอีสานที่ว่า หากผู้ใดได้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรทั้ง 13 กัณฑ์จบภายในวันเดียว จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตย บุญผะเหวดนี้จะทําติดต่อกันสามวัน วันแรกจัดเตรียมสถานที่ วันที่สองเป็นวันเฉลิมฉลองพระเวสสันดร มีการจัดขบวนแห่เครื่องไทยทานฟังเทศน์และแห่พระเวส โดยการแห่ผ้าผะเหวด (ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดร) เมื่อถึงเวลาค่ำจะมีเทศน์เรื่องพระมาลัย ส่วนวันที่สามเป็นงานบุญพิธี ชาวบ้านจะร่วมกันตักบาตรข้าวพันก้อน พิธีจะมีไปจนค่ำ ชาวบ้านจะแห่แหน ฟ้อนรําตั้งขบวนเรียงรายตั้งกัณฑ์มาถวายอานิสงฆ์อีกกัณฑ์หนึ่ง จึงเสร็จพิธี

เดือนห้า บุญสรงน้ำ หรือบุญฮดสรง หรือบุญสงกรานต์ จัดให้มีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้า ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาตั้งแต่โบราณ ในวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ ในวันนี้พระสงฆ์จะนําพระพุทธรูปออกจากโบสถ์มาไว้ที่หอสรง ให้ญาติโยมได้นำน้ำอบ น้ำหอม มาสรงองค์พระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคล ระหว่างนี้ชาวบ้านจะพากันเล่นแคน ฉิ่ง ฉาบ เพื่อความสนุกสนาน รดน้ำดําหัวญาติผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำกัน

เดือนหก บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีที่เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับแถน เมื่อถึงเดือนหกเริ่มต้นการทํานาชาวบ้านจะจุดบั้งไฟเป็นการบูชาขอให้พญาแถนบันดาลฝนให้ตกลงมา มีการเซิ้งฟ้อนกันอย่างสนุกสนาน และจะมี การเซิ้งปลัดขิกร่วมอยู่ในขบวนด้วยเสมอ โดยมีความเชื่อว่าเป็นการไล่ผีให้พ้นออกไปจากหมู่บ้านอและเร่งให้แถนส่งฝนลงมาเร็ว ๆ

เดือนเจ็ด บุญซําฮะ หรือชําระ เกิดตามความเชื่อที่ว่าเมื่อถึงเดือนเจ็ดต้องทําบุญชําระจิตใจให้สะอาดและเพื่อปัดเป่ารังควาญสิ่งไม่เป็นมงคลออกจากหมู่บ้าน บางท้องถิ่นเรียกประเพณีนี้ว่า บุญเบิกบ้าน ซึ่งมีพิธีกรรมทั้งทางศาสนาพุทธและไสยศาสตร์ ในวันงานชาวบ้านจะพากันนําภัตตาหารมาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และร่วมกันฟังเทศน์ ฟังธรรม รวมทั้งมีการเซ่นไหว้ศาลหลักบ้าน เพื่อขอความคุ้มครองให้พ้นจากภัยพิบัติและช่วยขับไล่สิ่งไม่ดีไม่งามออกไปจากหมู่บ้าน ให้บ้านเกิดความเป็นสิริมงคล

เดือนแปด บุญเข้าพรรษา มีการทําบุญตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน สบง จีวร และเทียนพรรษาซึ่งตกแต่ง สลักเสลาเป็นลวดลายเรื่องราวทางพุทธศาสนาอย่างสวยงาม เมื่อแห่เทียนมาถึงวัดชาวบ้านจะรับศีล รับพร ฟังธรรม ตอนค่ำจะเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ

เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน จัดขึ้นช่วงปลายเดือนเก้า เป็นการทําบุญให้ญาติผู้ล่วงลับ โดยการนําข้าวปลาอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรี่อย่างละเล็กละน้อยห่อด้วยใบตองเป็นสองห่อกลัดติดกันเตรียมไว้ตั้งแต่หัวค่ำ ครั้นถึงเวลาตีสาม-ตีสี่ของวันรุ่งขึ้น จะนําห่ออาหารและหมากพลูไปวางไว้ตามโคนต้นไม้รอบ ๆ วัด เพื่อให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ รวมทั้งผีไร้ญาติอื่น ๆ ซึ่งเชื่อว่าจะมาเยี่ยมญาติพี่น้องในเวลานี้มารับไปเพื่อจะได้ไม่อดอยากหิวโหย ซึ่งนอกจากจะเป็นการทําบุญและทําทานแล้วยังแสดงถึงความกตัญญูอีกส่วนด้วย

เดือนสิบ บุญข้าวสาก เป็นประเพณีในวันขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านจะจัดเตรียมสํารับอาหารซึ่งบรรจุข้าวเหนียว อาหารแห้งสําหรับอุทิศให้ญาติผู้ล่วงลับและนําไปทําบุญที่วัด โดยจะเขียนชื่อเจ้าของ สํารับอาหาร และเครื่องไทยทานใส่ไว้ในบาตร เพื่อให้พระในวัดจับสลาก หากภิกษุรูปใดจับสลากได้ชื่อผู้ใด ก็จะได้สํารับอาหารพร้อมเครื่องไทยทานของเจ้าภาพนั้น ๆ

เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา นอกจากจะเป็นโอกาสที่พระภิกษุสงฆ์จะแสดงอาบัติและว่ากล่าวตักเตือนกันแล้ว ชาวบ้านยังมีกิจกรรมกันอีกหลายอย่าง เช่น ประเพณีตักบาตรเทโว และการจุดประทีปโคมไฟประดับประดาตามต้นไม้

เดือนสิบสอง บุญกฐิน กําหนดให้ทําได้เฉพาะในช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุก ปี จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า บุญเดือน 12 ชาวอีสานเชื่อว่าผู้ใดได้ทําบุญกฐินจะไม่ตกนรกและจะได้รับผลบุญที่ทําในชาตินี้ไว้เก็บกินในชาติหน้า งานบุญกฐินจึงจัดเป็นงานบุญสําคัญประจำปีงานหนึ่งที่ชาวบ้านกุดหมากไฟจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี 

1.คุณพ่อที ภาโนมัย ผู้ริเริ่มปลูกมะม่วงนอกฤดูเป็นรายแรกของหมู่บ้าน ท่านได้ลองผิดลองถูกจนประสบความสำเร็จ ชาวบ้านจึงได้เอาเป็นแบบอย่าง ทำให้ผลผลิตมะม่วงนอกฤดูของชุมชนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ จนกลายเป็นรายได้หลักของชาวกุดหมากไฟจนปัจจุบัน  

“ลายผ้ากุดหมากไฟ” สัญลักษณ์ความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชุมชน

ชาวกุดหมากไฟได้คิดค้นลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ บนผืนผ้ามีลวดลายมะม่วง 2 ผล กับมะไฟ 11 ผล เนื่องจากมะม่วงเป็นตัวแทนของผลไม้ที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้ชุมชน และมะไฟบ่งบอกถึงความร่วมมือของ 11 หมู่บ้านในตำบลกุดหมากไฟ จึงเรียกว่า “ลายผ้ากุดหมากไฟ” ทั้งนี้ ลายผ้าดังกล่าวเกิดเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน นำมาซึ่งสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจเดียวกัน ก่อเกิดความสามัคคีที่สำคัญในการร่วมแรงร่วมใจในการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนของชุมชนในตำบลกุดหมากไฟ และเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ของคนคนในชุมชนด้วย

ภาษาพูด : ภาษาอีสาน ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


ในสมัยสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกาได้ขอตั้งฐานทัพในไทย มีที่ตั้งในจังหวัดอุดรธานี เรียกว่า ค่ายรามสูร ระหว่าง พ.ศ. 2510-2515 โดยสัมปทานผืนป่าหมากหญ้าชุมชนกุดหมากไฟ 7,500 ไร่ เป็นพื้นที่ปลดระเบิดของเครื่องบินรบอเมริกันภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจโจมตีเวียดนามและก่อนบินกลับฐานที่ค่ายรามสูร ส่งผลให้ป่าทรัพยากรธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์เสียหายเป็นจำนวนนับพันไร่ นอกจากนี้ เกิดปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามาแสวงหารายได้โดยการตระเวนเก็บเศษเหล็ก เศษระเบิด หรือระเบิดด้านที่ยังไม่ทำงาน นำไปขายสร้างรายได้หาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งได้ผลตอบแทนดีกว่าการทำไร่ทำนาหลายเท่าตัว จนขนาดที่ว่ามีจุดนัดรับซื้อ/ขายเรียกว่า “ลานตลาดนกกระทา”

ในสภาพของป่าเสื่อมโทรมเดิมจากการทิ้งระเบิดสมัยสงครามเวียดนามและการบุกรุกพื้นที่ มาสู่การลุกขึ้นอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้โดยความร่วมมือของชุมชนจนกระทั่งความอุดมสมบูรณ์ฟื้นคืน ความชุ่มชื้นดีขึ้น มีวิธีการบริหารจัดการน้ำที่ดี โดยใช้ระบบวางเส้นทางน้ำเชื่อมโยงแปลงนาทุกแปลงในชุมชน เปิด ปิด ปล่อย และแบ่งปันน้ำไปตามระดับพื้นที่สูงต่ำตามธรรมชาติ มีการจัดการป่าร่วมกันเป็นลักษณะเครือข่ายป่าชุมชนกระจายรอบป่าอุทยานแห่งชาติภูเก้าภูพานคำ เทือกเขาภูพานน้อย เพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน เช่น ด้านอาหาร ยา สมุนไพร การเก็บหาของป่า และมีแผนในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชุมชนให้ดีขึ้น นำไปสู่การรวมกลุ่มอาชีพระดับตำบล 15 กลุ่ม ที่เห็นเด่นชัด คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนรักมะม่วง ส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้งหมดนั้นจะมีกองทุนรวมไว้ใช้บริหารจัดการอย่างพอเพียง อีกทั้งยังมีการคิดค้น “ลายผ้ากุดหมากไฟ” ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะและกลายเป็นศูนย์รวมแห่งความภูมิใจของชุมชน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จะไปป่ะล่ะ : Ja pai pa la. (2563). บุกแดนอีสานสุดฟิน ถิ่นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง กับชุมชนบ้านกุดหมากไฟ จ.อุดรธานี. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://th.readme.me/

จักรพันธ์ ปัญญา. (2565). อยู่ดีมีแฮง : มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี. อยู่ดีมีแฮง : มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://thecitizen.plus/

ชุมชนต้องเที่ยว. (2566). ชุมชนต้องเที่ยว ชุมชนบ้านกุดหมากไฟ จังหวัดอุดรธานี. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://www.chumchontongtiew.com/

เทศบาลตำบลกุดหมากไฟ. (2566). ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ตำบลกุดหมากไฟ. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://web.facebook.com/

เทศบาลตำบลกุดหมากไฟ. (ม.ป.ป.). ข้อมูลทั่วไป. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก http://kudmakfai.go.th/

ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด. (2565). “กุดหมากไฟ” ชุมชนต้นแบบการเรียนรู้ ผู้อนุรักษ์น้ำ ป่า ธรรมชาติ. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://www.thaipost.net/

ฐานข้อมูลฮีต 12  คอง 14. (ม.ป.ป.). ฮีตสิบสอง. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://cac.kku.ac.th/

สถาบันลูกโลกสีเขียว. (2566). ชุมชนกุดหมากไฟ จังหวัดอุดรธานี. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://www.greenglobeinstitute.com/

สุวิทย์ ศรีด้วง และคณะ. (2556). โครงการศึกษาทางเลือกการผลิตมะม่วงปลอดภัย กรณีลุ่มผู้ปลูกมะม่วง ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี : รายงานการวิจัย. (ม.ป.ท.).

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://earth.google.com/