
ชุมชนชาวผู้ไทที่มีวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่นในเรื่องการทอผ้าไหมแพรวา โดยเริ่มตั้งแต่ปลูกหม่อนที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต จนกลายเป็นผ้าแพรวาที่มีความงดงาม จึงได้ชื่อว่าเป็น “ต้นน้ำแพรวา ราชินีแห่งไหม”
คนกลุ่มแรกที่เดินทางอพยมาก่อตั้งหมู่บ้านมีพาหนะ คือ ช้าง อยู่มาวันหนึ่ง ช้างพาหนะตัวนั้นได้ตายลง จึงตั้งชื่อว่า “บ้านหนองช้างตาย” ต่อมาตัดคำว่า “ตาย” ออก เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นคง เหลือเพียง “บ้านหนองช้าง” มาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนชาวผู้ไทที่มีวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่นในเรื่องการทอผ้าไหมแพรวา โดยเริ่มตั้งแต่ปลูกหม่อนที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต จนกลายเป็นผ้าแพรวาที่มีความงดงาม จึงได้ชื่อว่าเป็น “ต้นน้ำแพรวา ราชินีแห่งไหม”
บ้านหนองช้าง เป็นชุมชนชาติพันธุ์ผู้ไท สันนิษฐานว่าก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากที่กองทัพสยามมีชัยเหนือเหนือเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ตามคําบอกเล่าที่เล่าต่อ ๆ กันมาของชาวบ้านหนองช้าง พอสรุปได้ว่าเมื่อราว พ.ศ. 2387 มีคนกลุ่มหนึ่งประกอบด้วย นายวัน สุปัญบุตร นายโพธิ์ สุปัญบุตร นายท้าว ศิริกําเลิศ นายคูณ ศิลาพจน์ และ นายทา ปัญจิตร เดินทางมาพร้อมกับชาวผู้ไทที่อพยพมาจากเมืองบกและเมืองวัง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศลาว จํานวน 3,443 คน ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกุดสิม โดยตั้งขึ้นเป็นเมือง “กุฉินารายณ์” ใน พ.ศ. 2388 ขึ้นตรงต่อเมืองกาฬสินธุ์ (ปัจจุบันคือตําบลกุดสิม ในอําเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์) หลังจากนั้นกลุ่มของนายวัน สุปัญบุตร และนายคูณ ศิลาพจน์ พร้อมพรรคพวก ได้เดินทางต่อมาเรื่อย ๆ โดยมีช้างเป็นพาหนะ จนมาถึงแหล่งน้ำแห่งหนึ่งจึงได้หยุดพักผ่อน ประกอบกับเสบียงที่ได้เตรียมมาเหลือน้อยลงทุกที นายวัน สุปัญบุตร และนายคูณ ศิลาพจน์ พร้อมพรรคพวกจึงได้ตกลงกันตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ เนื่องจากเห็นว่าในบริเวณที่หยุดพักนี้เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ เหมาะแก่การดํารงชีพ จึงได้ตั้งชื่อว่า “บ้านหนองจอก” เพราะในหนองน้ำมีจอกขึ้นอยู่เป็นจํานวนมาก จากนั้นไม่นาน นายคูณ ศิลาพจน์ และพรรคพวกกลุ่มหนึ่งก็ได้อพยพต่อไปตั้งรกรากใหม่อีกครั้งในพื้นที่ที่อยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งไม่ห่างจากบ้านหนองจอกมากนัก เพราะในบริเวณดังกล่าวนั้นมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตร และมีพื้นที่บางส่วนเป็นที่ดอนซึ่งเหมาะสําหรับการสร้างที่อยู่อาศัย
พ.ศ. 2407 ช้างของนายคูณ ศิลาพจน์ ซึ่งเป็นพาหนะในการเดินทางทุกครั้งที่มีการอพยพ มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น คือ เซื่องซึม ไม่กินอาหาร นายคูณ ศิลาพจน์ และพรรคพวกได้เฝ้าดูอาการของช้างและรักษาตามวิธีการพื้นบ้านโดยใช้สมุนไพรที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่อาการของช้างก็ยังไม่ดีขึ้น อยู่มาวันหนึ่งขณะที่นายคูณ ศิลาพจน์ และพรรคพวกกําลังเฝ้าดูอาการของช้างอยู่นั้น ช้างได้พยายามยกเท้าหน้าขึ้นเหนือหัวของมัน หลังจากนั้นไม่นานมันก็ได้ทรุดตัวลงกับพื้นและเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา ทําให้นายคูณ ศิลาพจน์ และพรรคพวกเสียใจเป็นอย่างมาก ด้วยสํานึกในคุณประโยชน์ของช้างเชือกนี้ นายคูณ ศิลาพจน์ และพรรคพวกจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านหนองช้างตาย” ต่อมาใน พ.ศ. 2420 ชาวบ้านได้ตกลงร่วมกันให้ตัดคําว่า “ตาย” ออก เนื่องจากเห็นว่าเป็นคําที่ไม่เป็นมงคล จึงเหลือแต่คําว่า “บ้านหนองช้าง” และเป็นชื่อของหมู่บ้านจนมาถึงทุกวันนี้ เมื่อเวลาผ่านไปอีกระยะหนึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งในบ้านหนองช้างได้แยกตัวออกไปตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านหนองช้าง ปัจจุบันคือ “บ้านหนองแก่นทราย” สองหมู่บ้านนี้จึงมีความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องอย่างใกล้ชิด
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหนองแก่นทราย อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เทศบาลตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านจาน อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านค้อ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์
ลักษณะทางกายภาพ
ชุมชนบ้านหนองช้างมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมถึงพื้นที่ทางการเกษตรบางส่วนในฤดูทํานา พื้นที่ส่วนมากเหมาะแก่การทําไร่ สภาพดินเป็นดินปนกรวด ไม่อุ้มน้ำ และเป็นดินจืด มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทําให้มีน้ำไม่เพียงพอในการทําการเกษตรนอกฤดูกาล หมู่บ้านตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสามชัยประมาณ 5 กิโลเมตร ติดกับถนนสายกาฬสินธุ์-อำเภอวังสามหมอ ทางทิศเหนือของตัวเมืองกาฬสินธุ์ และอยู่ห่างจากตัวเมืองกาฬสินธุ์ประมาณ 75 กิโลเมตร
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศในพื้นที่ของบ้านหนองช้างนั้นมีฤดู 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม มีอุณหภูมิเฉลี่ย 34 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน 66 มิลลิเมตร ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม มีอุณหภูมิเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 101.89 มิลลิเมตร ส่วนฤดูหนาว อยู่ในช่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ มีอุณหภูมิเฉลี่ย 22 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 53 มิลลิเมตร
แหล่งน้ำ
ชุมชนบ้านหนองช้างมีปัญหาในเรื่องการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรมีคุณภาพไม่ดีและมีปริมาณไม่แน่นอน โดยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ หนอง ลําห้วย บ่อน้ำ น้ำบาดาล ส่วนน้ำที่ใช้ในการบริโภคปัจจุบันชุมชนมีการผลิตน้ำดื่มเอง โดยใช้ชื่อตราน้ำดื่มว่า “น้ำดื่มบ้านหนองช้าง” ดําเนินการผลิตโดยกลุ่มน้ำดื่มของชุมชน ด้วยการนําน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่สําคัญของชุมชน คือ หนองช้าง มาทําการผลิตผ่านกระบวนการผลิตน้ำดื่มสะอาดที่ได้มาตรฐาน เพื่อจําหน่ายให้คนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง
ข้อมูลประชากรตำบลหนองช้างจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านหนองช้าง มีประชากรทั้งสิ้น 751 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 384 คน ประชากรหญิง 367 คน และจำนวนครัวเรือน 204 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชน คือ ชาวผู้ไท ที่อพยพย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานราวสมัยรัชกาลที่ 3 ภายหลังสิ้นสุดสงครามเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์
ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนมีลักษณะเป็นแบบเครือญาติ โดยมีตระกูลใหญ่ ๆ อยู่ 5 ตระกูล ทั้งนี้ในสมัยก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่จะนิยมแต่งงานกันเฉพาะในหมู่ชาวผู้ไทด้วยกัน ไม่นิยมแต่งงานกับคนต่างชาติพันธุ์ ทําให้มีส่วนสําคัญในการรักษาความเชื่อ ขนบ ประเพณีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคมของคนในชุมชนให้คงอยู่ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังให้ความเคารพเชื่อฟังผู้เฒ่าผู้แก่และผู้นําชุมชน มีความรักสามัคคี และเอื้ออาทรต่อกัน
ผู้ไทปัจจุบันคนในชุมชนบ้านหนองช้างส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก โดยเฉพาะการทํานา ส่วนอาชีพเสริมที่นิยมทํา คือ การทอผ้าผู้ไทและผ้าไหมแพรวา จักสาน และเลี้ยงสัตว์ มีบ้างเป็นส่วนน้อยที่ทําการค้าขายและทําอาชีพอิสระ เช่น เปิดร้านซ่อมเครื่องยนต์ ร้านขายของชําทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีคนในชุมชนส่วนหนึ่งได้ปรับตัวไปประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น รับราชการ ทํางานบริษัท แต่ก็ยังมีความสามารถในการรักษาวิถีชีวิตและแนวทางการดํารงชีพแบบดั้งเดิมได้ดี การที่ชุมชนยังรักษาวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจการพึ่งตนเองและไม่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยมากนัก อันสอดคล้องกับบริบทของ เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ทําให้ใน พ.ศ. 2549 บ้านหนองช้างได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในระดับ “อยู่ เย็น เป็นสุข” ซึ่งถือว่าเป็นหมู่บ้านที่มีการสร้างสรรค์จนพัฒนาเป็นหมู่บ้านแห่งการเรียนรู้ (Smart Village) ระดับจังหวัด โดยได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยาม บรมราชกุมารี ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2550
นอกจากนี้ ในปัจจุบันคนในชุมชนยังได้มีการรวมกลุ่มทอผ้าไหมแพรวา กลุ่มจักสาน และมีการส่งเสริมการเก็บออมควบคู่กัน อีกทั้งยังมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารข้าว และกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ประจําหมู่บ้าน อันเป็นการพัฒนาศักยภาพของคนในหมู่บ้านให้สามารถดํารงชีวิตตามวิถีพอเพียงอย่างมีพลวัต โดยมีการปรับตัวที่เน้นประโยชน์ต่อครัวเรือนและชุมชนอย่างเกื้อกูลกัน ผ่านกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ทําร่วมกัน เช่น มีการส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ที่เลี้ยงภายในหมู่บ้าน และปุ๋ยชีวภาพซึ่งสามารถผลิตขึ้นได้เอง เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิตและเป็นการป้องกันการเสื่อมสภาพของดิน ซึ่งเป็นแนวทางที่ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่ยั่งยืน ความขยันและความนิยมในการทําอาชีพที่หลากหลายนี้ส่งผลต่อรายได้ของคนในชุมชนให้มีฐานทางเศรษฐกิจที่จัดว่าไม่ยากจน ทั้งนี้ จะเห็นได้จากรายงานข้อมูลความจําเป็นพื้นฐานตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2554 ประชากรของบ้านหนองช้างมีรายได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 3 ปีย้อนหลัง คือ พ.ศ. 2551-2553 โดยมีรายได้เฉลี่ยผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 25,000 บาท/คน/ปี และใน พ.ศ. 2554 มีรายได้เฉลี่ย/คน/ปี สูงถึง 71,950 บาท
เมื่อชุมชนมีผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อปประจำชุมชนที่มีชื่อเสียงอย่างผ้าไหมแพรวา และเครื่องจักสาน ผลที่ตามมานอกจากรายได้จากการขายสินค้าแล้ว ยังนำพามาซึ่งชื่อเสียงของชุมชน ชาวบ้านในชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐจึงได้ร่วมกันพัฒนา ปรับปรุงหมู่บ้านหนองช้างให้ก้าวเข้าสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ถ่ายทอดภูมปัญญา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมผู้ไทให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเที่ยวชม ศึกษา และเรียนรู้ มีการก่อตั้งโฮมสเตย์ชุมชน จัดโปรแกรมการท่องเที่ยวหลากหลายโปรแกรมให้เหล่านักท่องเที่ยวได้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของวัฒนธรรมผู้ไท เรียนรู้การทำเครื่องจักสาน เรียนรู้กระบวนการทอและแปรรูปผ้าทอผู้ไทและผ้าไหมแพรวา การทำสวนเมล่อนระบบโรงเรือน ชมสวนพุทรา รับประทานอาหารท้องถิ่น ซึ่งนอกจากชาวบ้านจะมีรายได้จากการเก็บค่าบริการนำเที่ยว ค่าที่พักแล้ว ยังทำให้สามารถขายผลิตภัณฑ์สินค้าและผลิตทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น สร้างมูลค่าเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชนอย่างมหาศาล ชาวบ้านทุกครัวเรือนมีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
สินค้าเด่นประจำชุมชน : เครื่องจักสานไม้ไผ่ ผ้าทอผู้ไท ผ้าไหมแพรวา ถุงสะพายย่ามหนองช้าง พุทราบ้านทุ่ง ผ้าไหมแพรวาหนองช้าง ข้าวต้มมัดใบเตยหอม เมล่อนปั่น ยำหนอนดักแด้
บ้านหนองช้างเป็นชุมชนเก่าแก่ที่พยายามรักษาวิถีการดําเนินชีวิตแบบดั้งเดิมให้คงอยู่ ครอบครัวส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเป็นครอบครัวใหญ่ โดยมี พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลูก หลาน อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยทํางานและอาศัยอยู่ในชุมชนมักมีอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม ซึ่งเป็นการผลิตที่เน้นเพื่อบริโภค ที่เหลือจากการบริโภคจึงนำไปจําหน่าย รายได้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับผลผลิตทางการเกษตร ส่วนเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียนมักจะเรียนหนังสือในชุมชน หรือตามสถาบันการศึกษาที่สอบเข้าได้ เมื่อจบการศึกษาแล้วมักจะทํางานตามสายงานที่ตนเรียนมา แต่ก็จะกลับมาเยี่ยมครอบครัวในช่วงเทศกาลต่าง ๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวจึงยังคงเป็นไปอย่างใกล้ชิด
ปัจจุบัน แม้ว่าสังคมจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายอย่างไร ทว่า การดําเนินชีวิตของชาวผู้ไทบ้านหนองช้าง ยังคงไม่ละทิ้งจารีตประเพณี “ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ชาวบ้านได้รับการปลูกฝังกันมาจากรุ่นสู่ร่น แม้ในเรื่องของคลองสิบสี่บางอย่างจะจางหายไปบ้าง ปฏิบัติไม่ครบ เช่น การกราบสามีก่อนนอน บางคนก็ไม่ทํากันแล้ว แต่ฮีตสิบสองหรือบุญสิบสองเดือนยังคงปฏิบัติกันอยู่ครบ เช่น บุญบั้งไฟ บุญข้าวสาก บุญข้าวประดับดิน บุญกฐิน ฯลฯ โดยเฉพาะบุญกฐินจะถือเป็นบุญที่ประณีตและยิ่งใหญ่มากสําหรับชาวบ้านหนองช้าง โดยหลังจากที่ทํานาเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จเรียบร้อย ซึ่งตรงกับออกพรรษาพอดี ชาวบ้านก็จะปลักสลาก (ปักธงทําเครื่องหมายว่ามีเจ้าภาพจองกฐินแล้ว) ปวารณาต่อสงฆ์ว่าจะนําผ้ากฐินมาทอดถวาย ให้พระสงฆ์ผู้อยู่จําพรรษาครบไตรมาสสามเดือน หลังจากนั้นจะเริ่มตั้งหอกฐิน คนเฒ่าคนแก่ก็จะช่วยจัดเตรียมข้าวของต่าง ๆ คนหนุ่มสาวอาสาไปซื้อเครื่องกฐิน ทําเป็นเก้าชั้น มีการคบงัน (การจัดงานกินเลี้ยง) กันตามประเพณี ทําด้วยความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ วันที่จะนํากฐินลงถวายที่วัดก็จะจัดขบวนแห่รอบหมู่บ้าน แล้วก็นําลงถวาย สําหรับบุญประเพณีในช่วงบุญข้าวสาก บุญข้าวประดับดิน ลูกหลานของชุมชนที่ไปทํางานในที่ต่าง ๆ ก็จะพากันกลับบ้าน มาจัดเตรียมข้าวปลาอาหารมาถวายพระสงฆ์ โดยมีความเชื่อว่าถ้าครอบครัวไหนไม่มีใครนําข้าวปลาอาหารมาถวายพระสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พ่อ แม่ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว อันเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบุพพการีผู้มีพระคุณ ดวงวิญญาณของพ่อ แม่ ญาติพี่น้องที่ล่วงรับไปแล้วก็จะไม่ได้รับประทานอาหาร คล้ายคลึงกับในช่วงของบุญประเพณีเดือนสี่ หรือช่วงสงกรานต์ ที่ลูกหลานไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตามมักจะกลับบ้านทําบุญสรงน้ำอัฐิของบรรพบุรุษ และร่วม บุญประเพณีของชุมชน อันแสดงออกถึงความรักความผูกพันในถิ่นบ้านเกิดที่ได้สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษไม่ให้หายไปจากชุมชน
ในส่วนค่านิยม ความเชื่อเก่าแก่ ปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ยังมีอยู่บ้าง ไม่ได้หายไปจากชุมชน เพียงแต่มิได้เข้มข้นเช่นในอดีต ความเชื่อเรื่องผี การใช้ไสยศาสตร์ในการรักษาคนป่วยด้วยหมอธรรมก็ยังมีอยู่ เช่น ในอดีตมีการเลี้ยงผีฟ้าในชุมชน ทําพิธีรักษาคนป่วยด้วยการเหยา (การเหยาเป็นความเชื่อและพิธีกรรมหนึ่งในการรักษาสุขภาพของชาวผู้ไท เช่น เหยาเพื่อเลี้ยงผี เลี้ยงขอบคุณผีบรรพบุรุษ และเป็นการให้ขวัญกําลังใจแก่ผู้ป่วย) แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครสืบต่อ ความเชื่อดังกล่าวนี้จคงค่อย ๆ จางหายไปจากชุมชน มีเพียงคนเฒ่าคนแก่บางคนเท่านั้นที่ยังรักษาด้วยวิธีนี้อยู่
ความเชื่อเรื่องการสู่ขวัญ เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่มีบทบาทอย่างมากต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านหนองช้าง จะทํากันเมื่อมีทั้งเหตุดีและเหตุไม่ดีเกิดขึ้น กรณีของเหตุดี เช่น เมื่อได้รับโชค เลื่อนยศ สําเร็จการศึกษา ไปต่างถิ่นแล้วกลับมาค้าขายร่ำรวย หรือมีลูกเกิดใหม่ในครอบครัว ส่วนเหตุไม่ดีที่เกิดขึ้น เช่น สู่ขวัญคนป่วยที่หายจากไข้ ผ่านเคราะห์ ผ่านอันตรายกลับมา นอกจากนี้ยังมีการสู่ขวัญเครื่องใช้ สิ่งของที่มีความสำคัญต่อชีวิต ไม่ว่าจะเป็นบ้าน เครื่องใช้ที่ทำจากไม้ ผลผลิตทางการกษตร หรือสัตว์มีคุณ เช่น สู่ขวัญเกวียน สู่ขวัญข้าวขึ้นเล้า สู่ขวัญควาย ฯลฯ
1.พ่อสูนย์ สารกรณ์ : หมอสูตรขวัญ
2.พ่อหมุน บุญราศรี : หมอเป่ากระดูก ทำการรักษาด้วยวิธีการแบบโบราณ
3.พ่อโคก ติกาพันธ์ : หมอเป่าถอนพิษงูและสัตว์มีพิษทุกชนิด นอกจากนี้ยังรักษาโรคเบาหวานด้วยวิธีการเป่าและยาสมุนไพร
4.พ่อแพง ติกาพันธ์ : รักษาโรคไข้หมากไม้ หรือไทรอยด์
5.แม่จอมศรี สุปัญบุตร : การทอผ้า เช่น ผ้าหลายลาย ผ้าแพรวา ผ้าถุง ผ้าโสร่ง
6.นายคำภา พรชะตา : การจักสานแบบโบราณ เช่น การทำกระติ๊บข้าวโบราณ ฐานสูง ทำด้วยไม้ตอก เคียนด้วยหวาย และทำพากระโตก (ขันโตก) สำหรับใส่อาหาร
7.พ่อสงค์ สุปัญบุตร : หมอธรรม
8.พ่อหัตถา สุปัญบุตร : นักพูดผญา หรือที่ชาวผู้ไทเรียกว่า “นักจ่ายผญา” ในเทศกาลงานบุญต่าง ๆ ของชุมชน
9.พ่อรอด บุญราศรี : พ่อล่าม พ่อจ้ำ หมอสูตรขวัญพิธีกรรมผู้ไท
10.พ่อฤทธิ์ ปัญจิตร : อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ้บ้าน และกำนันตำบลหนองช้าง เจ้าของรางวัลกำนัลแหนบทองคำ
ชุมชนบ้านหนองช้างมีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนที่หลากหลาย ที่เห็นได้ชัด คือ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับหัตถกรรม ซึ่งเป็นการรักษาองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดออกมาผ่านงานฝีมืออันทรงคุณค่า ที่เป็นประสบการณ์ซึ่งสั่งสมมาจากบรรพบุรุษ มีการถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง เพื่อผลประโยชน์ของคนในชุมชนและนําความสําเร็จที่มีมูลค่าเป็นวัตถุและทรัพย์สินหรือเงินทองมาสู่ชุมชน ที่เห็นได้ชัดคือ ภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวผู้ไท และการจักสานเครื่องมือ เครื่องใช้ อันเป็นการเริ่มต้นของการขับเคลื่อนภูมิปัญญาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับคนในชุมชนในระยะยาว
ภูมิปัญญาการทอผ้า
ชุมชนบ้านหนองช้างมีการทอผ้าอันเป็นหัตถศิลป์ที่แสดงถึงภูมิปัญญาที่เฉลียวฉลาด มีลวดลายสีสันงดงามสะดุดตา เป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษส่งต่อมายังลูกหลานหลายชั่วอายุคน เป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ผ่านครอบครัวเป็นหลัก ส่วนใหญ่มักจะทอเป็นเสื้อผ้า ผ้านุ่ง และผ้าห่ม ไว้ใช้กันในครัวเรือน และในพิธีกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การเกิด การบวช การ แต่งงาน จนกระทั่งตาย
ลักษณะเด่นของผลิตภัณฑ์ผ้าทออันแสดงถึงภูมิปัญญาด้านการทอผ้าของชุมชน คือ เป็นผ้าแพรวาที่ทอจากเส้นไหม เป็นผ้าไหมทอมือที่มีความประณีต มีกระบวนการทอที่แตกต่างจากผ้าทอมือประเภทอื่น ๆ มีลวดลายวิจิตรงดงาม ผ้าหนึ่งผืนมักจะมีหลากหลายลวดลาย มีสีสันสลับลวดลายสวยงามอันเป็นศิลปะที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ปัจจุบันการทอผ้าของชาวผู้ไทในชุมชนนี้มีการพัฒนารูปแบบให้มีความร่วมสมัยโดยไม่ทิ้งของเก่า และเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นชาวผู้ไท ผ้าที่มีอยู่ในชุมชนสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะของการใช้งาน
1) ผ้าที่ใช้ในชีวิตประจําวัน เป็นผ้าที่ทําด้วยผ้าฝ้ายไม่มีลวดลายอะไร ทอง่าย เหมาะแก่การใช้สอย เช่น ผ้าซิน ผ้าสไบแพรวา เสื้อมะฮ่อม ผ้าโสร่ง ผ้าขิด ผ้าเข็ญ
2) ผ้าที่ใช้ในพิธีกรรมและงานประเพณี เช่น ผ้าซิ่นมัดหมี่ เสื้อไหมขิดโบราณ ผ้าสไบแพรวาเล็ก ผ้าคลุมหัวแพรวาขนาดเล็ก เสื้อมะฮ่อม ผ้าสไบแพรวาขนาดเล็กมัดเอว
3) ผ้าเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เป็นผ้าที่ใช้สอยทั่วไป ส่วนใหญ่คนในชุมชนจะทําไว้ใช้สอยและไว้สําหรับขาย ผ้าบางอย่างเป็นผ้าที่ทํายาก ผู้ต้องการจึงต้องสั่งทําก่อนล่วงหน้า ชาวบ้านจึงจะทำตามคำสั่งซื้อ เพราะมีราคาแพงและขายลําบาก เช่น ผ้าหลายลาย ฯลฯ ที่สามารถนําไปใช้ประโยชน์สําหรับตัดชุด หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระเป๋า ฯลฯ
ภูมิปัญญาการจักสาน
คนในชุมชนบ้านหนองช้างนิยมทําเครื่องจักสานจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต โดยหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือว่างเว้นจากกิจกรรมทางการเกษตรเสร็จแล้ว ผู้ชายก็จะทํางานจักสานเป็นงานเสริม ซึ่งได้เรียนรู้สืบต่อมาแต่บรรพบุรุษ เครื่องจักสานส่วนใหญ่ทําด้วยไม้ไผ่หรือหวาย เป็นภูมิปัญญาที่แสดงออกถึงผีมือ ความคิด และวิถีชีวิต เพราะส่วนมากเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน หรือเกี่ยวข้องกับอาชีพของคนในชุมชน เช่น ไซดักปลาขนาดใหญ่ กระติบข้าว ข้อง ซึ่งในปัจจุบันได้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของสังคม เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่สนใจและชื่นชอบในผลงานหัตถกรรมจักสาน
ปัจจุบัน ชาวบ้านหนองช้างยังนิยมใช้ภาษาผู้ไทในการสื่อสารกันในชุมชน โดยสําเนียงการพูดภาษาผู้ไทเสียงจะดัง ฟังชัด ดูคล้ายการตะโกน แต่เป็นการพูดออกมาจากใจ ไม่มีความอับอายในการพูดภาษาผู้ไทกับคนต่างถิ่น ซึ่งแสดงถึงความภูมิใจและความพยายามรักษาอัตลักษณ์ทางภาษาของชาวผู้ไทได้เป็นอย่างดี ความสามารถทางภาษาของคนในชุมชนที่โดดเด่น คือ พูดได้ 3 สําเนียง ได้แก่ ภาษาผู้ไท ภาษาอีสาน และภาษาไทยกลาง กล่าวคือ เมื่ออยู่ในกลุ่มชนชาวผู้ไทด้วยกันจะใช้ภาษาผู้ไทในการสื่อสาร และเมื่อต้องพบปะกับบุคคลภายนอกก็จะพูดภาษาอีสาน หรือใช้ภาษาไทยกลางตามผู้สนทนา เพราะเกรงว่าหากพูดภาษาผู้ไทกับกลุ่มคนดังกล่าวจะสื่อสารกันไม่เข้าใจ และการที่ชาวบ้านในชุมชนยังคงใช้ภาษาผู้ไทสื่อสารกันในชีวิตประจําวัน ทุกเพศ ทุกวัย แสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์ทางภาษาอีกอย่างหนึ่งที่ชาวผู้ไทพยายามอนุรักษ์อยู่เสมอมา
กระทรวงมหาดไทย, กรมพัฒนาชุมชน. (ม.ป.ป.). บ้านหนองช้าง จ.กาฬสินธุ์. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://www.otoptravel.net/
กระทรวงวัฒนธรรม, ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์. (2564). ผ้าไหมแพรวาหนองช้าง. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก http://m-culture.in.th/
ของดีบ้านฉัน บ้านหนองช้าง อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์. (2561). สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://web.facebook.com/
ชุมชนบ้านหนองช้าง OTOP นวัตวิถี จ.กาฬสินธุ์. (2564). สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://web.facebook.com/
ที่นี่บ้านหนองช้าง ชุมชนคน"ภูไท". (2566). สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://web.facebook.com/
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท (งันลาโสม). (2558). มิติทางวัฒนธรรมของการพัฒนาสู่ความเข้มแข็งของชุมชน : กรณีศึกษาชุมชนบ้านหนองช้าง ตำบลหนองช้าง อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์. [วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์].
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2567, จาก https://earth.google.com/