ผืนป่าชุมชนมีสภาพเป็นป่าดิบชื้นอุดมสมบูรณ์ ป่าต้นน้ำเป็นพื้นที่อนุรักษ์ใช้ประโยชน์ดูดซับน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคและเกษตร ชุมชนนิยมปลูกข้าวพันธุ์ บือพะโด๊ะ บือโพ ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กะหล่ำปลี ซูคีนี่ ถั่วลิสง ถั่วพูและพืชพื้นถิ่นอื่น ๆ ตามปลายไร่นา
ชุมชนบ้านขุนแตะมาจากคำในภาษาถิ่นว่า แมะแตะคี สันนิฐานว่าที่มา “แมะหรือโหม่” คำคล้องเสียงคือ แม่ “แตะ” เป็นคำพูด “คี” คือ ต้นน้ำ กล่าวว่า แมะแตะคี เมื่อมารวมกันแปลว่า แม่เป็นต้นน้ำ/ผืนดินแห่งชีวิต
ผืนป่าชุมชนมีสภาพเป็นป่าดิบชื้นอุดมสมบูรณ์ ป่าต้นน้ำเป็นพื้นที่อนุรักษ์ใช้ประโยชน์ดูดซับน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคและเกษตร ชุมชนนิยมปลูกข้าวพันธุ์ บือพะโด๊ะ บือโพ ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กะหล่ำปลี ซูคีนี่ ถั่วลิสง ถั่วพูและพืชพื้นถิ่นอื่น ๆ ตามปลายไร่นา
ตำบลดอยแก้ว เดิมมีฐานะเป็นสภาตำบลดอยแก้ว ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะสภาตำบลดอยแก้ว ขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลดอยแก้ว เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2540 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีหมู่บ้านในพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 9 หมู่บ้าน
- หมู่ที่ 1 บ้านแม่กลางป่าปู
- หมู่ที่ 2 บ้านดอยแก้ว
- หมู่ที่ 3 บ้านแม่เตี๊ยะ
- หมู่ที่ 4 บ้านห้วยส้มป่อย
- หมู่ที่ 5 บ้านขุนแตะ
- หมู่ที่ 6 บ้านใหม่แม่เตี๊ยะ
- หมู่ที่ 7 บ้านแม่เตี๊ยะใต้
- หมู่ที่ 8 บ้านห้วยส้มป่อยใหม่
- หมู่ที่ 9 บ้านห้วยขนุน
และได้ยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบลดอยแก้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาลตำบล พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาลตำบล เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552
ความเป็นมาของชุมชน แบ่งเป็นยุคดังนี้
ยุคบุกเบิก การตั้งถิ่นฐานของชุมชนแมะแตะคีหลักฐานจากจดหมายเหตุหริภุญชัยอาณาจักรมอญโบราณและลัวะรอบ ๆ เมืองเชียงใหม่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 (ประมาณ 1,200 ปี) โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางทางด้านตะวันตก ชุมชนตั้งถิ่นฐานนานกว่า 200 ปีจากคำบอกเล่าและการปะติปะต่อทางประวัติศาสตร์เชียงใหม่กว่า 700 ปี สันนิษฐานว่าลุ่มน้ำแม่แตะเคยเป็นที่ตั้งของชนกลุ่มลเวือะ (ลัวะ) มาก่อน (เก่อวาโล) พบเครื่องใช้โบราณในบริเวณแดลอโหน่ลอซิ (ห้วยหนองแห้ง) ในลุ่มน้ำแม่ยะระยะหนึ่งย้ายมาแดลอพะโดะเป็นพื้นที่กว้างเหมาะสม (ปัจจุบันอยู่แถบบริเวรบ้านป่าเกี๊ยะนอกหรือต่าเบาะถ่า) เกิดโรคฝีดาษระบาดอย่างหนัก สมัยนั้นมีนายปู่ก๊ะ (ปอชิโพ) ได้ไปขออนุญาตเจ้าเมืองเชียงใหม่ (เจ้าชีวิต) สำหรับจัดตั้งชุมชนและส่งส่วยเจ้าเมืองเชียงใหม่ระยะหนึ่ง ต่อมาปี พ.ศ. 2477 ชาวบ้านนับถือผี (โหม่ลึป่าหล่า) ที่ศรัทธาครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนาเชื้อสายกะเหรี่ยง (เพ็ญสุภา สุขคตะ, 2560) เดินทางเท้าไปกราบไหว้และร่วมบุญสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ปกาเกอะญอลำพูนและขุนแตะมีความเชื่อมโยงทางชาติพันธุ์ แม้จะอยู่ป่าห่างไกลการเดินทางเท้านับแรมเดือน เป็นกลุ่มเรียบง่าย พึ่งพาป่าธรรมชาติ ปรากฏในวัฒนธรรมประเพณีและพิธีกรรม เช่น ป่าสะดือ ป่าเดหมื่อบอ ทำไร่หมุนเวียน (ประเสริฐ ตระการศุภกรและคณะ,2552) มีเสี่ยวคบค้าสมาคมระหว่างกัน การตั้งถิ่นฐานของชุมชนเป็นป่าต้นน้ำ หมายถึง ป่าธรรมชาติที่ปรากฏอยู่บริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยทั่วไปอยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไปหรือเป็นพื้นที่ลาดชันมากกว่า 35% ชนิดของป่าไม้ที่มักจะปรากฏให้เห็นในพื้นที่ต้นน้ำ ได้แก่ ป่าดิบเขา ป่าดิบ (มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, ออนไลน์) ต่อมาหน่วยงานราชการส่งเสริมและห้ามปรามฝิ่น ปีพ.ศ. 2482-2488 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดความอดอยากชาวบ้านต้องแอบซ่อนข้าวเปลือกไปไว้ที่ดอยพอคาโจ๊ะ (ยุ้งฉางเก่า) กลัวทหารญี่ปุ่นทำร้ายและทำลายข้าวของ บางรายแลกข้าวกับทหาร เช่น หม้อ ปืน มีด เป็นต้น ต่อมา พ.ศ. 2507 ประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2484 เป็นต้นมาหน่วยงานของรัฐจัดตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ และสัมปทานป่าแก่นายทุน การทำมาหากินพึ่งพาธรรมชาติตามวิถีคนป่าภายใต้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทำไร่ทำนา ปลูกผักพื้นบ้าน หาของป่า เลี้ยงสัตว์ มีช้าง ม้า วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ สุนัขเลี้ยงไว้เพื่อล่าสัตว์และเป็นเพื่อน ยังไม่ได้ติดต่อกับสังคมภายนอกนักเนื่องจากเป็นพื้นที่สูงทุรกันดาร
ยุคพัฒนาสู่ชุมชน ปี พ.ศ. 2520-2529 หน่วยงานและองค์กรภายนอกเข้ามาส่งเสริมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตชุมชนให้ทันสมัย ภาครัฐเข้ามาปราบปรามยาเสพติดและสงเคราะห์ชาวเขา พ.ศ. 2515 เผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก คณะบาทหลวงซาเกนอส จากบ้านแม่ปอน อำเภอจอมทอง (โบสถ์ไม้ในบ้านขุนแตะเหนือได้รื้อย้ายมาตั้งอยู่ในขุนแตะใต้เป็นอาคารตึกปูนสองชั้น)“โบสถ์พระคริสต์พระแม่มารีย์นิรมล” จัดศาสนพิธีสำคัญทางศาสนาโดยสมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520-2524 องค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Program: UNDP) มาดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่สูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ลดละเลิกปลูกฝิ่น พ.ศ. 2525- 2530 โครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศนอเวย์ “โครงการพัฒนาที่สูงไทย-นอเวย์” (Thai-Norway) มาส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ พลับ บ๊วย และอื่น ๆ พ.ศ. 2530-2532 กรมทหารพรานที่ 36 มาดำเนินการเพื่อจำกัดการปลูกและเลิกปลูกฝิ่น พ.ศ. 2530 ก่อตั้งโรงเรียนบ้านขุนแตะ (โรงเรียนขยายโอกาสในเขตพื้นที่สูง) สังกัดสำนักงานเขตการศึกษาที่ 5 จังหวัดเชียงใหม่ และ พ.ศ. 2534 จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลดอยแก้ว กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ยุครัฐและการช่วงชิงทรัพยากร ปี พ.ศ. 2530-2539 เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนต้นน้ำกับปลายน้ำจากวาทกรรมที่รัฐสร้างขึ้น “ไร่เลื่อนลอย ชาวเขาทำลายป่า” ก่อให้เกิดอคติทางชาติพันธุ์ในสังคมไทย ต่อมานักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาเกษตรศาสตร์เสนอข้อมูลวิจัยไร่หมุนเวียนและวิถีชีวิตชุมชนพื้นที่สูง พ.ศ. 2537 สมาคมศูนย์การศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาแห่งประเทศไทย (IMPECT) ส่งเสริมและเป็นที่ปรึกษาแก่องค์กรชาวบ้านด้านการจัดการวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีชาวไทยภูเขา ไร่หมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม
สถานการณ์การจัดการทรัพยากรในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ โดยให้สัมปทานป่าแก่นายทุน ไม่สนใจกลุ่มชายขอบทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตและโอกาสเข้าถึงกฎหมายสิทธิชุมชน นโยบายสัมปทานดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญของป่าถูกทำลายและเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว รัฐจัดการป่าแบบตะวันตก “ป่าต้องปลอดคน” ชาวเขาเป็นผู้ทำลายป่าเพราะตั้งชุมชนอยู่ในเขตป่าพื้นที่สูงแบบเหมารวม จนกลายเป็นจำเลยสังคมสร้างความเกลียดชังไปทั่ว พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีสมัยชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติให้ย้ายชาวเขาที่อาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตป่าสงวนลงมา แต่เมื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมไม่ได้ ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้และชาวบ้านต่างก็อ้างเหตุผล ชาวปกาเกอะญอต้องนำเสนออัตลักษณ์เพื่อตอกย้ำคนรักษ์ป่า (นครินทร์ เข็มทอง.2550)
ยุคแม่สร้างพัฒนา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ (ในรัชกาลที่ 9) ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ได้พระราชทานให้จัดตั้งฟาร์มตัวอย่างฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมในลักษณะฟาร์มแห่งแรกของประเทศในนามโครงการ “ฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” เป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกพืช ฟื้นฟูสภาพป่า พ.ศ. 2546 ก่อตั้งสำนักสงฆ์บ้านขุนแตะ (อาศรมพระธรรมจาริก) สังกัดโครงการพระธรรมจาริกมูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาเพื่อยกระดับคุณธรรมและเผยแพร่หลักธรรมคำสอน ปี พ.ศ. 2547 สร้างโบสถ์คริสตจักรของพระคริสต์ นิกายโปรเตสแตนท์ (Protestantism) พ.ศ. 2550 สถานีอนามัยบ้านขุนแตะเป็นศูนย์สุขภาพชุมชนและต่อมาปี พ.ศ. 2552 เปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอยแก้ว
พ.ศ. 2553 มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงชี้ว่าไร่หมุนเวียนกับวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอมีระบบการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำที่น่าสนใจ พ.ศ. 2562 ประกาศพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 การเปลี่ยนแปลงของชุมชนในช่วงเวลาดังกล่าวพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงห่วงใยราษฎรชุมชนพื้นที่สูงสร้างอาชีพชุมชน เศรษฐกิจ รายได้ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้ พระองค์เป็นร่มให้ชุมชนได้พึ่งพระโพธิสมภารสามารถดำรงวิถีดั้งเดิม อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่มีความยั่งยืนตลอดไป
ชุมชนบ้านขุนแตะหมู่ที่ 5 ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่เป็นชุมชนชนบทตั้งอยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 1,229 เมตร ระยะทางห่างจากเมืองเชียงใหม่ 90 กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอจอมทอง 28 กิโลเมตร เป็นชุมชนปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) การดำรงวิถีชีวิตเกษตรกรรมพึ่งพาธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรป่าไม้ และภูเขาล้อมรอบชุมชน อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี
ทรัพยากรธรรมชาติ
แหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำสร้างขึ้น แหล่งน้ำธรรมชาติสายเล็ก ๆ ได้แก่ แม่น้ำแม่แตะโกล๊ะ แม่น้ำพอเกอตีโกล๊ะ แม่น้ำต่าเจ๊โกล๊ะ แม่น้ำแน๊ะโกล๊ะ เบาะเดโกล๊ะ แหล่งน้ำสร้างขึ้นเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กสร้างโดยกรมชลประทาน 3 แห่ง อ่างเก็บน้ำแม่แตะ (ปัจจุบันใช้สำหรับสำนักสงฆ์ฯ) อ่างเก็บน้ำเบาะเดใช้ในกิจกรรมฟาร์มตัวอย่างฯ และอ่างเก็บน้ำแม่แตะขนาดเล็กเก็บน้ำใช้สำหรับประปาชุมชน
พื้นที่ป่าหรือป่าชุมชน ผืนป่าชุมชนมีสภาพเป็นป่าดิบชื้นอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากชุมชนอนุรักษ์ไว้โดยพื้นที่ป่า เช่น ป่าต้นน้ำเป็นพื้นที่อนุรักษ์ใช้ประโยชน์เป็นป่าต้นน้ำดูดซับน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคและเกษตร จำนวน 3,460 ไร่ ห้ามล่าสัตว์ ชุมชนได้ทำพิธีสาปแช่งตามความเชื่อและอนุรักษ์ไว้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นมรดกลูกหลาน เรียกว่า ป่าดูต่าเออ ป่าเดะหม่ือเบอ บริเวณป่าดังกล่าวมีลักษณะเป็นเนินหลังเต่ามีสายน้ำล้อมรอบเชื่อว่า มีผีป่าอยู่ และป่านาอุ๊หรู่ จำนวน 70 ไร่ ส่วนพื้นที่ป่าพิธีกรรม ใช้ประโยชน์เป็นป่าช้า ป่าเดปอถู่ ป่าบวช จำนวน 300 ไร่ พื้นที่ป่าอนุรักษ์อีกแห่งหนึ่ง จำนวน 1,400 ไร่ เป็นป่าอนุรักษ์เพื่อมรดกคงความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่ป่าใช้สอยใช้ประโยชน์เป็นป่าไม้้ใช้สอยสำหรับสร้างคอกสัตว์ ทำรั้วไร่นา และเป็นป่าสมุนไพร จำนวน 7,200 ไร่ และพื้นที่ปลูกป่าทางราชการ ใช้ประโยชน์สำหรับโครงการปลูกป่าของหน่วยงานราชการ จำนวน 250 ไร่
พื้นที่ชุมชน ตั้งอยู่ในเขตป่าประเภทป่าดิบเขา (เก่อเนอพา) มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 16,855 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ที่ตั้งหน่วยงานราชการ เขตพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย พื้นที่ป่าพิธีกรรมความเชื่อ กล่าวคือ
- พื้นที่ทำกินใช้ประโยชน์เป็นที่ทำกิน ทำนา ทำไร่ สวน ไร่ จำนวน 3,870 ไร่
- พื้นที่ของสิ่งปลูกสร้างใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย บ้านเรือน อาคาร ราชการ โรงเรียน วัด โบสถ์ จำนวน 375 ไร่
การปกครองชุมชนบ้านขุนแตะ หมู่ที่ 5 มีประชากรจำนวน 821 คน ครอบครัว 245 ครัวเรือน การปกครอง 3 หย่อนบ้าน คือ ขุนแตะเหนือ ขุนแตะใต้ และต่าเบาะถา
กฎระเบียบชุมชน
กฎระเบียบทั่วไป
- ทุกครัวเรือนต้องร่วมทำกิจกรรม ทำแนวกันไฟทุกปีภายในเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน
- เมื่อเกิดไฟป่าทุกครั้งคนในชุมชนต้องช่วยกันดับไฟ เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกครัวเรือน
- ห้ามทำไม้ขายแก่บุคคลภายนอก ผู้ใดฝ่าฝืนปรับ 2 เท่าตามราคา และยึดไม้ไว้เป็นของกลาง
- ต้องกำหนดพื้นที่ป่าให้ชัดเจน พร้อมติดป้ายเป็นพื้นที่จัดการของชุมชน
- ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้านที่ตั้งไว้
- หากมีผู้ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าโดยเจตนาปรับ 1000-1500 บาทขึ้นไปพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย
- ถ้ากรณีเผาไร่ต้องให้คนในหมู่บ้านไปร่วม 10 คนขึ้นไป ต้องทำแนวกันไฟกว้าง 3 เมตรขึ้นไป กรณีเผาไร่ถ้าไฟลุกลามเข้าในเขตป่าครั้งที่ 1 มีการตัดเตือน ครั้งที่ 2 ปรับ 250 บาท ครั้งที่ 3 ปรับ 500 บาทและส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
- ห้ามนําเลื่อยโซ่ยนต์เข้าไปตัดหรือแปรรูปไม้ในเขตป่าโดยเด็ดขาด ผู้ฝ่าฝืนจะยึดเป็นของกลาง ปรับและดำเนินคดีตามกฎหมาย
กฎระเบียบเขตป่าอนุรักษ์
- ห้ามตัดไม้เผาป่า และทำการเกษตรใด ๆ ในเขตป่าอนุรักษ์ ผู้ใดฝ่าฝืนปรับ 5,000 บาทขึ้นไปและดำเนินคดีตามกฎหมาย
- อนุญาตให้เก็บหาสมุนไพร เก็บใบตอง เก็บไม้ผล เก็บปลีกล้วยได้ในปริมาณที่เหมาะสม ห้ามเก็บนำไปจำหน่ายข้างนอก
- ห้ามล่าสัตว์ป่าทุกชนิด ผู้ใดฝ่าฝืนปรับ 500 บาทขึ้นไป
- ห้ามจับสัตว์ในเขตป่าอนุรักษ์ รวมทั้งสัตว์น้ำ ผู้ใดฝ่าฝืนปรับ 500 บาทขึ้นไป
กฎระเบียบป่าใช้สอย
- ห้ามทำการเกษตรใดๆ ในพื้นที่ป่าใช้สอยเด็ดขาด
- ผู้ที่ต้องการตัดไม้เพื่อทำการก่อสร้างบ้าน ต้องบันทึกขอใช้ประโยชน์จากคณะกรรมการป่าชุมชนก่อน
กฎระเบียบพื้นที่ทำกิน
- จำนวนพื้นที่แต่ละครัวเรือน จะต้องแสดงจำนวนการใช้ที่ดินต่อสาธารณะ
- ผู้ใดมีความประสงค์ต้องการขยายพื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบ ผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกยึดคืนเป็นป่าทันที
- ห้ามขายหรือให้นายทุนมาเช่าพื้นที่หรือทำด้วยตนเองแต่รับทุนจากนายทุน ผู้ใดฝ่าฝืนปรับ 500 บาท และยึดพื้นที่คืนเพื่อเป็นเขตป่าต่อไป
- คณะกรรมการจะรับรองที่ดินได้ตามที่มีการสำรวจเรียบร้อยแล้วโดยคณะกรรมการป่าชุมชนเท่านั้น
เดือน (ลา) | กิจกรรม/ประเพณี/บุญ |
ลาเต่อเล | สำรวจพื้นที่เพาะปลูกหรือทำไร่ “ดูหละ” “บือโข่” |
ลาทีแพะ | แผ้วถางไร่สวน (แพะคึ) ทำนา (มาฉิ) เหม่โตแกละ (ทำแนวกันไฟ) |
ลาทีคุ | ทำแนวกันไฟ เผาไร่ และล้อมรั้ว |
ลาเซอ | ทำบุญ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ แข่งกีฬาพื้นบ้านระหว่างศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันโรงเรียนบ้านขุนแตะ พิธีบวชป่า พิธีเดปอ |
ลาเด่ญา | เริ่มฤดูทำนา (มาลอฉี่) หยอดเมล็ดข้าว (โท่คึ) พิธีเลี้ยงผีไฟ เลี้ยงผีฝาย |
ลานวี | ถอนวัชพืช เริ่มเก็บผักในไร่สวน |
ลาเคอ | ถอนวัชพืช เก็บผักในไร่สวน |
ลาคุ | เต่อะเหมาะชิ กี่จื้อ ต่าแซะคี ต่าคะแก๊ะ หรือเลี้ยงผีไร่ |
ลาชิหมื่อ | เก็บผักในไร่สวน |
ลาชิชา | เก็บผักในไร่สวน |
ลานอ | เกี่ยวข้าว ผูกข้อมือครอบครัว แซะคลี |
ลาบลือ | พิธีขอบคุณโถ่พือค่าร์ เออะบือโข่ |
ภาษาไทย และภาษาปกาเกอะญอ
กุลวดี เจริญศรี และคณะ. (2559). มรดกภูมิปัญญาปกาเกอะญอ. ค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2563 จาก https://zhort.link/fJv
ขวัญชีวัน บัวแดง. (2541). การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยง: กรณีศึกษา หมู่บ้านในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่: รายงานการวิจัย. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
จรัสพร ธงสินธุศักดิ์. (2560). กระบวนการผลิตของ “กลุ่มอนุรักษ์” กับการสร้างการยอมรับในอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยง: กรณีศึกษาบ้านกุยเลอตอ จังหวัดตาก. ประกาศนียบัตรบัณฑิต ปทุมธานี: บัณฑิตอาสาสมัคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2563 สืบค้นจาก shorturl.asia/xp0g9
ฉลาดชาย รมิตานนท์ และวิระดา สมสวัสดิ์. (2530). ยุทธวิธีในการดำรงชีวิตของปกาเกอะญอภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาภูเขา: ความสัมพันธ์ทางการผลิต ระหว่างเพศ. เชียงใหม่: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ไชยนารายณ์. (2563). ครูบาเจ้าศรีวิชัยท่านเป็นกระเหรี่ยงยางแดง บันทึกแห่งล้านนา:ตอนครูบาเจ้าศรีวิชัยท่านเป็นกระเหรี่ยงยางแดง. ค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2563 สืบค้นจาก https://zhort.link/fJA
นครินทร์ เข็มทอง. (2550). การต่อสู้กับปัญหาการผลิตพืชเชิงพาณิชย์ของกลุ่มอนุรักษ์ชาวปกาเกอะญอ: กรณีศึกษาบ้านห้วยส้มป่อย ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทองจังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต. เชียงใหม่:บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
เนตรดาว ยั่งยุบล. (2544). คนชายขอบกับกระบวนการสร้างเวทีการต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต เชียงใหม่: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ประเสริฐ ตระการศุภกร และคณะ. (2552). ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน: องค์ความรู้และปฏิบัติการของกลุ่มปกาเกอะญอในภาคเหนือของประเทศไทย. เชียงใหม่ : เครือข่ายภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองบนที่สูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.
ปรัชญา ปิ่นขันธยงค์. (2553). การแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งจากการใช้ที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์โดยการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ร่วมกับการกำหนดแนวเขตการใช้ที่ดินแบบมีส่วนร่วม กรณีศึกษาบ้านห้วยส้มป่อย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต. เชียงใหม่: บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พระญาณพล กิตติปญโญ.(ไพรอมรรัตน์). (2559). ศึกษาวิเคราะห์พิธีกรรมการผูกข้อมือ กะเหรี่ยงสะกอร์ตามแนวพุทธจริยศาสตร์. วารสารพุทธศาสตร์ศึกษา. 8(1), 26-38.ค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2563 สืบค้นจาก https://so02.tci-thaijo.org/
เพ็ญสุภา สุขคะ, (2560, 17 สิงหาคม). เพ็ญสุภา สุขคตะ: ปริศนาเรื่องชาติพันธุ์“ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นยางแดงจริงหรือ”?. มติชนออนไลน์. ค้นเมื่อ 2สิงหาคม 2563 สืบค้นจาก https://www.matichonweekly.com/
ภูวดล แซ่จ๋าว. (2554). การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ของชนเผ่ากะเหรี่ยงสกอร์ บ้านขุนตื่นน้อย หมู่ 6 ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ กับชนเผ่าลีซูบ้านปางสาหมู่ 17 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย. ปทุมธานี: สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. (2546). อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้. ค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2020 สืบค้นจาก http://ich.culture.go.th/images/stories/ich-pdf/
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ. (2558). ไร่หมุนเวียน:ประเด็นท้าทายและความหมายของมรดกโลกทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : บลูมมิ่งครีเอชั่น.
วนิดา นาคีสังข์. (2559). จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนปวาเก่อญอบ้านแม่กองคาสู่การเป็นสินค้าชุมชน. ประกาศนียบัตรบัณฑิต. ปทุมธานี: วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ค้นเมื่อ 6 มิถุนายน 2563 สืบค้นจาก http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/
วินัย บุญลือ. (2545). ทุนทางวัฒนธรรมและการช่วงชิงอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของชุมชนชาว ปกาเกอะญอ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. เชียงใหม่: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
วีรวัธน์ ธีรประสาธน์ และคณะ. (2548). การเมืองเรื่องป่าไม้ยุคหลังสัมปทาน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2556). ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ). ค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2563 สืบค้นจาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2556). “การขับเคลื่อนนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงของกระทรวง วัฒนธรรมตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553” ค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2563 สืบค้นจาก https://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/