Advance search

เกาะยอ

เกาะขนาดเล็กอันเงียบสงบกลางทะเลสาบสงขลา แหล่งถ่ายทอดวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวประมง มีโฮมสเตย์ของชาวบ้านให้ได้พักผ่อน มีกระชังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยปลาเรียงรายกลางทะเลสาบ แหล่งผ้าทองามแห่งเมืองสงขลา

เกาะยอ
เมืองสงขลา
สงขลา
วิไลวรรณ เดชดอนบม
7 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
8 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 ม.ค. 2024
เกาะยอ


เกาะขนาดเล็กอันเงียบสงบกลางทะเลสาบสงขลา แหล่งถ่ายทอดวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวประมง มีโฮมสเตย์ของชาวบ้านให้ได้พักผ่อน มีกระชังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยปลาเรียงรายกลางทะเลสาบ แหล่งผ้าทองามแห่งเมืองสงขลา

เกาะยอ
เมืองสงขลา
สงขลา
90100
7.176345183
100.5410627
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ

เกาะยอเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในทะเลสาบสงขลา ขึ้นอยู่กับอําเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เกาะยอในยุคแรกเริ่มมีสภาพเป็นป่าเขา ยังไม่มีผู้คนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐาน แต่เนื่องจากเป็นเกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทําให้มีผู้คนอพยพตั้งถิ่นฐานเมื่อหลายร้อยปี จนเกิดชุมชนขยายตัวไปรอบ ๆ เกาะยอ โดยกลุ่มชนพวกแรกที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะยอ สันนิษฐานว่าอย่างน้อยเริ่มเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีกลุ่มคนจีนอพยพจากเมืองจีน และชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มที่เข้ามาทําเครื่องปั้นดินเผาประเภทอิฐ กระเบื้อง หม้อ ไห โอ่ง อ่าง เพราะบริเวณเกาะยอมีดินดีเหมาะแก่การทําเครื่องปั้นดินเผา นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนไทยที่นับถือพุทธศาสนาจากท้องถิ่นเมืองสงขลาได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานส่วนหนึ่งด้วย ดังได้พบหลักฐานเจดีย์บรรจุอัฐิสมเด็จเจ้าเกาะยอบนยอดเขากุฎิที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ที่ตั้งและอาณาเขต

เกาะยอเป็นเกาะที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบสงขลาตอนล่าง มีฐานะเป็นตําบลหนึ่งในอําเภอเมืองสงขลาจังหวัดสงขลา ระยะห่างจากที่ว่าการอําเภอเมืองสงขลาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้โดยทางบกประมาณ 20กิโลเมตร และโดยทางน้ำหรือทางทะเลประมาณ 6 กิโลเมตร

เกาะยอมีเนื้อที่รวมทั้งพื้นน้ำ 17.95 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 11,220 ไร่ และมีเนื้อที่เฉพาะพื้นดินเพียง 15 ตารางกิโลเมตร หรือ 9,375 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ในการเกษตร คือ ปลูกสวนผลไม้ประมาณ 3,800 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 33.89 ของพื้นที่รวม ปลูกยางพาราประมาณ 3,200 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 28.52 ของพื้นที่รวมและพื้นที่การเกษตรอื่น ๆ 2,275 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 16.62 ของพื้นที่รวม และพื้นที่ป่าช้าสาธารณประโยชน์ 77 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.69 ของพื้นที่รวม มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ทะเลสาบสงขลา เขตเทศบาลเมืองสิงหนคร อําเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ทะเลสาบสงขลา เขตองค์การบริหารส่วนตําบลพะวง อําเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลสาบสงขลา เขตองค์การบริหารส่วนตําบลพะวง อําเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
  • ทิศตะวันตก จดทะเลสาบสงขลา เขตองค์การบริหารส่วนตําบลน้ําน้อย อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ลักษณะภูมิประเทศ ในอดีต พื้นที่บริเวณเกาะยอมีสภาพเป็นเกาะร้างเต็มไปด้วยป่าเขา ยังไม่มีผู้คนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐาน แต่ในปัจจุบันเกาะยอมีสภาพทางกายภาพเป็นเกาะ มีน้ำล้อมรอบกลางทะเลสาบสงขลา ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา เนินเขา และที่ราบ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. ภูเขาและเนินเขา พื้นที่เกาะยอส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเนินเขาและภูเขาสูง มีเขากุฎิเป็นภูเขาสูงสุดประมาณ 151 เมตร ซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขาหินและเนินเขาดินลูกรัง ตั้งเรียงรายในแนวเหนือ-ใต้ ตอนทิศเหนือสุดของเกาะเป็นเขาบ่อหรือเขาแคะ หรือเขาแค่ก็เรียก และมีภูเขาหรือเนินเขาเล็กติดกับโรงเรียนวัดเขาบ่อ เรียกว่า “หัวเขาแดง” ทางทิศใต้สุดเป็นเขาหัวหรัง เขาเกาะแกง นอกจากนี้ ยังมีภูเขาและเนินเขาเล็ก ๆ อีกจํานวนหนึ่ง เช่น เขาบ่อนก เขาบ่อหิน เขาเพหารหรือเขาวิหาร ภูเขาและเนินเขาเหล่านี้ปกคลุมด้วยป่าไม้ของชาวบ้านและบางส่วนเป็นที่ปลูกสร้างบ้านเรือน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นบ้านของคนนอกเกาะ

2. ที่ราบ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเนินเขา จึงทําให้พื้นที่ที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้อยมาก ดังนั้นพื้นที่ราบที่พบส่วนใหญ่จึงเป็นที่ราบระหว่างเนินเขาและริมฝั่งที่ราบลุ่มที่พบส่วนใหญ่พบทางด้านใต้และทางทิศตะวันออกของเกาะ นอกจากนี้ ยังมีที่ราบตามเนินเขาที่มีความลาดชันประมาณ 45 องศา ซึ่งพบทั่วไปในด้านตะวันตกและทิศเหนือของเกาะ พื้นที่บริเวณเป็นที่ราบนี้ใช้เป็นที่ตั้งบ้านเรือน ทํานา ทําสวนผลไม้ สวนผัก ส่วนสวนยางพารา ซึ่งนิยมปลูกไว้บนภูเขาหรือเนิน

3. อ่าว เนื่องจากเกาะยอเป็นเกาะที่มีน้ำล้อมรอบ จึงทําให้พื้นที่ส่วนหนึ่งเว้าแหว่ง หรือเรียกว่าอ่าวที่เกิดขึ้นจากการกระทําของธรรมชาติซึ่งมีประโยชน์ในการหลบคลื่นลม ในอดีตใช้เป็นที่จอดเรือหรือท่าเรือ

4. แหล่งน้ำ เกาะยอมีแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยมาก เนื่องจากพื้นที่เป็นที่สูง มีน้ำทะเลล้อมรอบ แหล่งน้ำที่พบส่วนใหญ่จึงเป็นบ่อน้ำที่ประชาชนขุดขึ้นเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค

นอกจากนี้ บริเวณเกาะยอจะมีน้ำใต้ดินในปริมาณสูงในฤดูมรสุม จะมีตาน้ำไหลลงจากภูเขา หรือเนินเขาสูงกลายเป็นทางน้ำ หรือธารน้ำ หรือคูน้ำ ชาวเกาะยอนิยมเรียกว่า “เตราะ” หรือ “ทางเตราะ” ซึ่งพบอยู่ทั่วไปในบริเวณภูเขา

ลักษณะภูมิอากาศ เกาะยอมีสภาพภูมิอากาศไม่ร้อนหรือหนาวจัดจนเกินไป มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี กลางคืนจะเย็นกว่ากลางวันเล็กน้อย ภูมิอากาศบนเกาะยอมีสภาพไม่ต่างไปจากพื้นที่อื่น ๆ ของภาคใต้ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ คือ มี 2 ฤดู ได้แก่

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงหลังของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศจะเริ่มร้อน และร้อนสุดในเดือนเมษายน ช่วงนี้จะมีแดดแรงตลอดวันแต่ก็ไม่ร้อนมากนัก
  • ฤดูฝนมี 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ฝนตกไม่มากนัก ฝนจะตกในช่วงบ่ายถึงค่ำ ฝนที่ตกส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นฟ้าคะนอง จะมีลมกรรโชกแรงเป็นครั้งคราวในขณะฝนตก ส่วนช่วงที่ 2 เป็นช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม เป็นช่วงที่ฝนตกมากกว่าช่วงแรก และจะตกไม่เลือกเวลา และอาจจะตกต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน อาจจะ 2 วันติดต่อกัน

ปัจจุบันเกาะยอมีองค์การบริหารส่วนตำบล 1 แห่ง ปกครองดูแลหมู่บ้านในเกาะยอ จำนวน 9 หมู่บ้าน ประชากรตามทะเบียนราษฎร มีจำนวนทั้งสิ้น 4,721คน แยกเป็นชาย 2,274 คน หญิง 2,447 คน ความหนาแน่นเฉลี่ย 296 คนต่อตารางกิโลเมตร มีครัวเรือนทั้งหมด 1,796 ครัวเรือน

การประกอบอาชีพโดยทั่วไปของชาวเกาะยอมีลักษณะแบบผสมผสานกันระหว่างการเกษตร การประมง การเกษตรที่สําคัญ คือ การทําสวนผลไม้และสวนยางพารา เนื่องจากเกาะยอมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการทําสวนผลไม้มากกว่าการทํานา ผลไม้ที่ปลูกกันมาก คือ ละมุด ฝรั่ง ทุเรียน ขนุน เงาะ และจำปาดะ ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของเกาะยอ ลักษณะคล้ายขนุน แต่ลูกเล็กกว่า สามารถนำไปทอดเหมือนกล้วยแขกหรือรับประทานแบบสดได้ โดยผลไม้เหล่านี้จะสลับกันให้ผลหมุนเวียนกันตลอดปี หรือที่ที่เรียกว่า สวนสมรม หมายถึง ผลไม้จะผลัดกันให้ผลิตผลตลอดปี ละมุดจากเกาะยอจะมีขายในท้องตลาดเมืองสงขลาเกือบตลอดปี ส่วนแถบเชิงเขามีการทําสวนยางเป็นระยะ ๆ และแถบที่ราบลงมาบริเวณชายฝั่งทะเลมีการปลูกมะพร้าวบ้าง แต่ส่วนใหญ่นิยมปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนมากกว่าการค้า และเนื่องจากปัจจุบันไม่มีการทํานาบนเกาะยอแล้ว ชาวเกาะยอส่วนใหญ่จึงต้องซื้อข้าวสารจากภายนอก อาชีพการประมงนั้นมีขึ้นพร้อม ๆ กับการทําสวนผลไม้ ชาวเกาะยอทําการประมงเพื่อหาปลามาบริโภคและนำไปขายที่ตัวเมืองสงขลา หรือนายทุนมารับซื้อถึงบ้าน การประมงมีทั้งการออกจับกุ้ง ปลา ตามธรรมชาติในทะเลสาบสงขลา และการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง อาชีพการประมงจึงนับว่ามีความสำคัญสําคัญของชาวเกาะยอพอ ๆ กับการทําสวนผลไม้

ประมาณ พ.ศ. 2517 รัฐบาลได้ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังขึ้นในทะเลสาบสงขลาบริเวณหัวเขา อำเภอสิงหนครและเกาะยอ เพราะเป็นบริเวณที่มีน้ำกร่อย ชาวประมงแถบหัวเขาและเกาะยอจึงได้หันมาทดลองเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง เมื่อได้ผลดีก็นิยมทํากันมากขึ้น ส่วนอาชีพรองคืออุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปของเกาะยอ คือ ผ้าทอเกาะยอ ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียง มีลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายราชวัตถ์ ลายดอกพิกุล ลายดอกพะยอม ฯลฯ การทอผ้าของชาวเกาะยอในปัจจุบันเป็นการทอผ้าด้วยเส้นไหมซึ่งต้องสั่งมาจากกรุงเทพในราคาค่อนข้างสูง ส่วนชาวบ้านจะรับจ้างทอโดยได้ค่าจ้างเป็นหลา หรือบางรายจะสังกัดกลุ่มทอผ้า รายได้จากการทอผ้าแบบรับจ้างทอก็เป็นรายได้เสริมของครอบครัว ภายหลังจากการเปิดใช้สะพานติณสูลานนท์ ชาวเกาะยอในปัจจุบันเริ่มเกิดความตื่นตัวในเรื่องการค้าขาย โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่สองข้างทางหลวงสงขลา-นครศรีธรรมราช จะพยายามลงทุนทําการค้าโดยเปิดร้านอาหาร เครื่องดื่ม และของชํามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการประกอบอาชีพอื่น ๆ บ้าง เช่น มีการรับจ้างทั่วไป รับราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจมากขึ้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีบทบาทอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและรายได้ของชาวเกาะยอกำลังเฟื่องฟูและกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งภายหลังสถานการณโควิด-19 ด้วยชาวเกาะยอยังสามารถรักษาเสน่ห์พื้นบ้านไว้เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น การล่องเรือประมงนำเที่ยวขนาดเล็กรอบเกาะยอ เพื่อชมความงามของทะเลสาบสงขลา การชมพระอาทิตย์ขึ้น การยกไซนั่ง/โพงพาง การให้อาหารปลากะพงขาวในกระชัง และการนั่งรถรางนำเที่ยวเพื่อชมทัศนีย์ธรรมชาติ การชมพระอาทิตย์ตก ชมวิถีชีวิตการทำประมงพื้นบ้าน เช่น การทำไซนั่ง การทำโพงพาง การทำกระชังเลี้ยงปลากะพงขาว ซึ่งเกาะยอเป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทำให้เกาะยอมีอาหารทะเลสดใหม่ มีการทำยำสาหร่ายผมนาง การทำกะปิ (เคย) ที่ทำมาจาก เคอย ซึ่งเป็นกรรมวิธีการถนอมอาหารของชาวใต้เพื่อใช้ปรุงรสอาหารของภาคใต้ เช่น แกงส้ม  ผัดเผ็ด ผัดสะตอกะปิ เกือบจะทุกเมนูอาหารที่ต้องปรุงด้วยกะปิ ซึ่งการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านคือมนต์เสน่ห์แห่งการท่องเที่ยวเกาะยอ ขณะเดียวกันธุรกิจโฮมสเตย์ก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถสร้างรายได้ต่อเดือนหลายหมื่นบาท

กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้าที่ 1 แห่งชุมชนเกาะยอ

กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้าที่ 1 เป็นการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งและพัฒนาผ้าทออย่างมีคุณภาพ ถ่ายทอดประสบการณ์การรวมกลุ่มและช่วยแปรรูปผ้าทอเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2541 โดยวัตถุประสงค์ของการตั้งกลุ่มฯ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งกลุ่มฯ ได้มีการได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานให้แก่สมาชิก คือ สินค้าต้องมีคุณภาพ สินค้าต้องมีเครื่องหมายรองรับ สินค้าต้องมีป้ายบอกราคา ซื่อลายและจำนวนหลา สินค้าต้องสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม และสุดท้ายต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ใน พ.ศ. 2546 ผ้าทอเกาะยอของกลุ่มฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว พร้อมได้รับรองในการแจ้งข้อมูลในเรื่องของภูมิปัญญาไทย และใน พ.ศ. 2547 คัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาวระดับประเทศ ทำให้ผ้าทอเกาะยอเป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไป โดยรายได้จากการทอผ้าที่กลุ่มได้รับแต่ละเดือนจะเฉลี่ยยอยู่ที่ประมาณ 30,000-60,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเมื่อผ่านการจัดสรรแล้ว สมาชิกจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 4,000-6,000 บาทต่อคนต่อเดือน ปัจจุบัน กลุ่มทอผ้าราชวัตถ์แสงส่องหล้าที่ 1 ได้เปิดเป็นศูนย์ศึกษาหาความรู้ ถ่ายทอดศิลปะการทอผ้าแก่นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวด้วย

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวเกาะยอขึ้นชื่อว่าเคร่งครัดในพุทธศาสนามาก ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุจะไปทําบุญกันทุกวันพระ เนื่องด้วยมีความเชื่อที่ว่าหากทําบุญไว้มาก ๆ ชาติหน้าจะได้สบาย และในวันสําคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา โดยจะไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่วัดท้ายยอ และบางบ้านที่ว่างเว้นจากการทํางานก็จะนําอาหารไปถวายที่วัดทุกวัน บางบ้านก็จะใส่บาตรทุกวันด้วย เหตุที่ชาวเกาะยอมีความผูกพันกับศาสนาพุทธมากนั้นเป็นเพราะชาวเกาะยอวิถีชีวิตเกี่ยวพันกับพุทธศาสนาตั้งแต่วัยเด็กจวบจนถึงวัยชรา เพราะสถานศึกษาในตําบลเกาะยอตั้งอยู่ในวัด อีกทั้งวัดยังเป็นศูนย์กลางในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย

ประเพณี พิธีกรรมในรอบปีที่สำคัญ

เนื่องจากชาวเกาะยอมีการสืบเชื้อสายมาจากชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีน และยังมีความเชื่อในเรื่องอํานาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้เป็นบ่อเกิดพิธีกรรมและประเพณีของชาวบ้าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี โดยรายละเอียดประเพณีวัฒนธรรมที่สําคัญของชุมชนเกาะยอ มีดังนี้

  • เดือน 3 วันตรุษจีน มีการทําพิธีไหว้เจ้าก่อนถึงวันตรุษจีน 1 วัน เป็นพิธีกรรมของชาวจีนที่ตั้ง รกรากบนเกาะยอได้ประกอบขึ้นเพื่อที่สักการบูชาบรรพชน

  • เดือน 5 ประเพณีวันว่าง เป็นบุญแห่งความกตัญญูกตเวที เป็นบุญปีใหม่ของชาวใต้ คล้ายๆกับประเพณีมหาสงกรานต์ของคนภาคอื่น ๆ แต่จะแตกต่างกันตรงที่ “วันว่าง” ของชาวใต้นั้นมีขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติอยู่หลายอย่าง เช่น เมื่อถึงวันว่างแล้วนั้นทุกคนก็จะหยุดเว้นจากการทํางานทุก ๆ อย่าง ก่อนถึงวันว่าง ทุกคนจะต้องรีบเร่งทํางานที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จเรียบร้อย มิเช่นนั้นจะถูกตําหนิติเตียนจากเพื่อนบ้าน และถือว่าขัดจารีตประเพณีไม่เป็นมงคล

  • เดือน 5 ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีที่สําคัญของชาวไทยมาตั้งแต่โบราณกาล ถือกันว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่หรือเถลิงศกใหม่แบบไทย องค์การบริหารส่วนตําบลเกาะยอได้ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยเป็นประจําทุกปี โดยจัดพิธีรดน้ำดําหัวผู้อาวุโส ณ บริเวณ วัดแหลมพ้อ

  • เดือน 6 ประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฏิ หรืองานสมโภชน์เจดีย์บนยอดเขากุฏิ

  • เดือน 10 ประเพณีทำบุญเดือนสิบ หรือเรียกว่า “วันชิงเปรต”  เมื่อขึ้นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวเกาะยอจะจัดงานสารทเดือนสิบโดยยึดตามคติความเชื่อของชาวบ้านในภาคใต้ว่าในวันนี้เปรตชนซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกเขาได้รับการปล่อยตัวจากยมบาลให้มาเยี่ยมลูกหลานยังโลกมนุษย์ ดังนั้น ลูกหลานจึงทําบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษของตนเอง

  • เดือนที่ 11 ประเพณีชักพระ หรือประเพณีลากพระ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานาน จัดขึ้นเป็นประจําทุกปี ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวเกาะยอจะร่วมขบวนแห่เรือพระของวัดท้ายยอเข้าประกวด ณ บริเวณสระบัว (แหลมสนอ่อน)

  • เดือนที่ 12 งานประเพณีลอยกระทง เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาเพื่อขอขมาและบูชาพระแม่คงคาที่ชาวไทยใช้เป็นแหล่งอาศัยตั้งแต่สมัยโบราณกาล 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ผ้าทอเกาะยอ

ภูมิปัญญาผ้าทอเกาะยอเป็นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนเกาะยอ เป็นภูมิปัญญาที่เป็นองค์ความรู้ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน การคงอยู่ของภูมิปัญญาชุมชนผ่านกระบวนการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยการสั่งสอน สาธิต และทดลองทํา แต่ละครอบครัวจะมีการถ่ายทอดความรู้ส่งต่อไปยังลูกหลาน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านเกิดการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของอุปกรณ์ที่มีอยู่ นํามาคิดเพิ่มเติม และสอดแทรกองค์ความรู้เข้าไปในสิ่งนั้น ๆ เพื่อความคงอยู่คงภูมิปัญญาตามแต่สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ต้องการ เช่น การทอผ้าแต่เดิมจะทอเป็นผ้าเรียบธรรมดา ไม่มีลวดลาย ต่อมามีการเพิ่มลวดลายเพื่อความสวยงาม กระทั่งปัจจุบันมีชื่อเรียกลวดลายต่าง ๆ บนผืนผ้าเพื่อเป็นเอกลักษณ์และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ผ้าเกาะยอเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวตําบลเกาะยอที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผ้าที่มีลวดลายสวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผ้าเกาะยอบางลาย ผู้ทอจะหาวิธี สอดเส้นด้ายและสอดสีสลับกันไป บางวิธีก็จะจับผูกและมัดเป็นช่อง ๆ หรืออาจจะยกเส้นด้ายที่ทอเป็นระยะ ๆ ทําให้เกิดลายผ้าที่สวยงามและแตกต่างกันไป โดยลายผ้าจะมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ลายก้านแย่ง หรือลายคอนกเขา ลายดอกจิก ลายจันทร์ฉาย ลายดาวกระจาย ลายดอกรสสุคนธ์ ลายดอกพิกุล ลายพุดซ้อน และลายเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกลายหนึ่งคือ “ผ้าทอลายราชวัตร” ที่รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยชิ้นงานที่โดดเด่น ประณีตและมีสีสันสวยงาม รวมถึงเทคนิคการทอยกดอกที่มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ เนื้อผ้าดีคุณภาพดีสีไม่ตก ลายเส้นผ้าดูเงางามเป็นธรรมชาติและไม่เป็ยขุยง่าย ทำให้ผ้าทอเกาะยอได้รับเลือกเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ปี 2549 ส่งผลให้มีลูกค้ามากหน้าหลายตาเข้ามาแวะเวียนซื้อผ้าทอเกาะยอตลอดไม่ขาดสาย สร้างรายได้ให้ชาวเกาะยอเฉพาะส่วนที่จำหน่ายในประเทศมากถึงเดือนละ 200,000 บาท

ภาษาพูด : ภาษาถิ่นใต้ ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


พ.ศ. 2541 ชาวเกาะยอประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักอันเป็นปัญหาที่เกิดจากยอดจําหน่ายของผ้าทอเกาะยอลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและมีผ้าทอจากโรงงานที่ลอกเลียนแบบผ้าทอเกาะยอเข้ามาจําหน่าย หน่วยงานจากภาครัฐจึงได้รับนโยบายจากส่วนกลางให้สนับสนุนชุมชนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนของชาวเกาะยอให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง โดยความร่วมมือกันจากภาครัฐและคนในชุมชน ก่อตั้งกลุ่มทอผ้าราชวัตถ์แสงส่องหล้าที่ 1 ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ชาวเกาะยอได้ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาผ้าทอเกาะยอซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของชาวเกาะยอมานานหลายสิบปีให้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ท่ามกลางความต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการไหลบ่าของกระแสโลกาภิวัฒน์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอาชีพที่มีทุนทางวัฒนธรรมเดิมเป็นตัวหนุนให้สินค้ามีมูลค่า ทั้งในด้านที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและทางด้านการใช้สอย เป็นผลให้ผ้าทอเกาะยอและภูมิปัญญาในการผลิตผ้าทอสามารถกลับคืนสู่ท้องถิ่นในระยะเวลาอันรวดเร็ว และกลายมาเป็นอาชีพของชาวเกาะยอมาจนถึงปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงการคลัง, คลินิกภาษี. (ม.ป.ป.). คลินิกภาษีผ้าทอเกาะยอ. สืบค้น 7 มกราคม 2567, จาก https://taxclinic.mof.go.th/

กลุ่มทอผ้าราชวัตถ์แสงส่องหล้า ที่ 1. (2556). สืบค้น 7 มกราคม 2567, จาก https://www.facebook.com/

ทีปกา โยธารักษ์. (2559). ผ้าทอเกาะยอ : ทุนทางวัฒนธรรมในยุคโลกาภิวัฒน์ กรณีศึกษา กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้าที่ 1 แห่งชุมชนเกาะยอ หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา. คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์. (2560). ชาวบ้านเกาะยอ สงขลา ฟันธง “จำปาดะขนุน” ที่นี่ อร่อยที่สุด. สืบค้น 7 มกราคม 2567, จาก https://www.sentangsedtee.com/

ผ้าทอเกาะยอ. (2567). สืบค้น 7 มกราคม 2567, จาก https://www.facebook.com/

มนธิรา เสรีเวสารักษ์, นิสากร กล้าณรงค์ และ ครองชัย หัตถา. (2561). การศึกษาสภาพและผลกระทบจากการท่องเที่ยวโฮมสเตย์: กรณีศึกษาตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา. ใน งานวิชาการรับใช้สังคม. การประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 10 (น. 4). มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.

ไปด้วยกัน. (2562). เกาะยอ…ขอไปชิลหน่อย 10 จุด กิน เที่ยว ถ่ายรูป So good. สืบค้น 7 มกราคม 2567, จาก https://www.youtube.com/

หนีกรุงไปปรุงฝัน. (ม.ป.ป.). สัมผัสชุมชนริมเล...มนต์เสน่ห์วิถีชุมชนคนเกาะยอ. สืบค้น 7 มกราคม 2567, จาก http://www.neekrung.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ. (2560). หลงเสน่ห์ เกาะยอ เที่ยววิถีชุมชน หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ CIV. สืบค้น 7 มกราคม 2567, จาก https://kohyor.go.th/

องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ. (ม.ป.ป.). ผ้าทอเกาะยอ กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้า ที่ ๑. สืบค้น 7 มกราคม 2567, จาก https://kohyor.go.th/

Kapook. (ม.ป.ป.). เที่ยวเกาะยอ สงขลา ชมชุมชน พักใจกับคาเฟ่และโฮมสเตย์บรรยากาศดี. สืบค้น 7 มกราคม 2567, จาก https://travel.kapook.com/

localcommunity. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยวเกาะยอ. สืบค้น 7 มกราคม 2567, จาก https://www.takemetour.com/