เมืองอีสานแดนล้านนา บ้านท่าขันทอง หมู่บ้านเล็ก ๆ ริมน้ำโขงซึ่งเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของวิถีชีวิตแบบ “อีสานล้านนา”
เหตุที่ตั้งชื่อหมู่บ้านว่าท่าขันทอง เพราะบริเวณนี้มีวัดเก่าชื่อ “วัดพระขรรค์ทอง” ประกอบกับในอดีตใช้การสัญจรโดยเรือเป็นหลัก จึงนำคำว่า “ท่า” มาจาก “ท่าเรือ” รวมเป็นชื่อชุมชนว่า “ท่าขันทอง”
เมืองอีสานแดนล้านนา บ้านท่าขันทอง หมู่บ้านเล็ก ๆ ริมน้ำโขงซึ่งเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของวิถีชีวิตแบบ “อีสานล้านนา”
บ้านท่าขันทอง ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตําบลบ้านแซว อําเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ชาวบ้านในหมู่บ้านอพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากเหตุผล 2 ประการ คือ หนีภัยแล้ง และหลบหนีภัยคอมมิวนิสต์ โดยใน พ.ศ. 2506 นายสวัสดิ์ ใจทาน ได้นำครอบครัวและญาติพี่น้องจากจังหวัดร้อยเอ็ด รวม 7 ครอบครัว มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณด้านหลังโรงเรียนบ้านแซว และใน พ.ศ. 2507 ได้ย้ายจากบ้านแซวมาอยู่ ณ ที่ปัจจุบัน ต่อมามีครอบครัวจากอีสานอพยพมาสมทบเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. 2511 ได้รับการแต่งตั้งเป็นหมู่บ้าน ตั้งชื่อว่า บ้านท่าขันทอง โดยมีนายเดิม สมนึก เป็นผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2524 ได้รับประกาศเป็นหมู่บ้าน อ.พ.ป. และ พ.ศ. 2526 เป็นหมู่บ้าน ปชด. หมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง และในปัจจุบันบ้านท่าขันทองได้รับยกย่องให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และหมู่บ้านเขียวชอุ่ม ของอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ หมู่บ้านสวนดอก
- ทิศใต้ ติดกับ หมู่บ้านแซว
- ทิศตะวันออก ติดกับ คลองส่งน้ำ
- ทิศตะวันตก ติดกับ แม่น้ำโขง
สถิติประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแซวแบบแยกรายหมู่บ้านจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลบ้านแซว หมู่ที่ 3 บ้านท่าขันทอง 638 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 311 คน และประชากรหญิง 327 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 251 ครัวเรือน
ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยการปลูกข้าว ข้าวโพด ทําสวนส้มโอ มีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นสัตว์เศรษฐกิจ และเลี้ยงหมูหลุมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และเนื่องจากชุมชนบ้านท่าขันทองมีทำเลที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ชาวบ้านจึงได้นำเอาต้นทุนความเป็นต่อทางทรัพยากรธรรมชาติมาบูรณาการจัดเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์สำหรับนักท่องเที่ยว เช่น กิจกรรมเดินนวดฝ่าเท้าและใช้ชีวิตอย่างสุขสันต์บนเกาะกลางแม่น้ำโขง เรียนทำอาหารและอาหารว่างพื้นถิ่น เรียนศิลปะการแสดงฟ้อนเซิ้ง พิธีผูกแขนบายศรีสู่ขวัญ เรียนการทอผ้าทอมือ นั่งรถอีต๊อก แลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดบ้านพักโฮมสเตย์ให้ได้มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย และเรียนรู้การทำถั่วดาวอินคา โดยมีอัตราคาบริการโดยประมาณเริ่มต้นตั้งแต่ 760-1 ,200 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าใช้บริการ
ทั้งนี้ บ้านท่าขันทอง ได้รับการส่งเสริมให้ชุมชนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพอาหารพื้นเมือง เมนูพื้นบ้านที่เป็นเมนูเฉพาะถิ่นล้วนทำมาจากพืชผลทางการเกษตรปลอดสารพิษโดยความร่วมมือกันของชาวบ้าน เช่น การปลูกข้าวแบบผสมผสาน ข้าวกล้อง ข้าวหอมมะลิ สวนถั่วดาวอินคา และสวนบักเหม้า มีการจัดโฮมสเตย์สำหรับรับรองนักท่องเที่ยวที่มาสัมผัสธรรมชาติและวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ริมฝั่งโขง ตลอดจนจัดทำแผนที่หมู่บ้านแสดงศูนย์การเรียนรู้และจุดกิจกรรมสำหรับบริการนักท่องเที่ยว ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้การทำชาถั่วดาวอินคา ศูนย์การเรียนรู้การทำอาหาร สวนเสาวรส สวนบักเหม้า ศาลาประชาคมหมู่บ้าน (ศูนย์เรียนรู้กองทุนแม่) ศูนย์การเรียนการทำข้าวกล่อง ศาลเจ้าปู่พญานาค ศูนย์จักสาน ศูนย์เลี้ยงไหม ศูนย์การเรียนรู้การจัดการโฮมสเตย์ ศูนย์ประสานงานโฮมสเตย์ ศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทอผ้า ศูนย์เรียนรู้การทำขนม และลานกิจกรรมตอนเย็น เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดจากการความคิดร่วมกันของชาวบ้านท่าขันทองที่พยายามปรับประยุกต์ภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดโดยการจัดกิจกรรมบูรณาการสำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งนำรายได้หมุนเวียนเข้าสู่ชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้อื่นนอกเหนือจากการเกษตร และมีงานทำในช่วงที่ว่างเว้นจากฤดูกาลการทำเกษตรกรรมด้วย
นอกจากนี้ ชาวบ้านท่าขันทองยังมีการรวมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ได้แก่ 1) กลุ่มเงินล้าน 2) กลุ่มข้าวกล้อง 3) กลุ่มบริหาร จัดการขยะอย่างยั่งยืน (ปุ๋ยน้ำอินทรีย์) 4) กลุ่มถนอมอาหาร (ขนม) 5) กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ 6) กลุ่มเลี้ยงวัว 7) กลุ่มสิ่งทอ 8) กลุ่มน้ำประปา 9) กลุ่มแม่บ้าน 10) กลุ่มเพาะเห็ด 11) กลุ่มกลองยาว ใช้ชื่อ ขันทองกลองยาว 12) กลุ่มหนองเรือ 13) กลุ่มปุ๋ยเคมี เมล็ดพันธุ์ 14) กลุ่มฌาปนกิจ 15) กลุ่มใช้น้ำเพื่อการเกษตร 16) กลุ่มจิ้งหรีด
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
- เมล็ดดาวอินคา
- ใบชาดาวอินคา
- เปลือกดาวอินคา
- สบู่ดาวอินคา
- แชมพูดาวอินคา
- ผ้าทอมือลายตาหม่อง
บ้านท่าขันทองเป็นชุมชนที่มีความเชื่อและศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ มีประเพณีเป็นสื่อและกิจกรรมทางศาสนาที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้คนเข้ากับคติความเชื่อ มีวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าทอและผ้าพื้นเมืองที่มีลวดลายสะท้อนความเป็นมาและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือชุมชน ซึ่งมีลักษณะการผสมกลมกลืนระหว่างการแต่งกายแบบอีสานกับล้านนา นอกจากนี้ ยังมีศาลพ่อพญานาคราชอยู่ที่ท้ายหมู่บ้านติดกับลําน้ำโขง บริเวณนี้ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นถ้ำพญานาค มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าหากผู้ใดได้ไปกราบไหว้สักการะ ขอพรจากเจ้าพ่อพญานาคราชก็จะมีโชคลาภ ประสบความสําเร็จในชีวิต และการเดินทางที่ปลอดภัย และเนื่องจากบ้านท่าขันทองเป็นชุมชนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวอีสานเดิม จึงเป็นเหตุให้ภายในชุมชนปรากฏประเพณี วัฒนธรรมแบบอีสานอยู่อย่างเด่นชัด รวมถึงศิลปการแสดงพื้นบ้าน อาทิ การฟ้อนเซิ้ง การแสดงหมอลํา หมอแคน คณะกลองยาว ซึ่งเป็นการแสดงที่สนุกสนาน ใช้แสดงประกอบในงานรื่นเริงของชุมชน และแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมในลานวัฒนธรรมและงานสําคัญของชุมชน โดยประเพณีและวัฒนธรรมที่มีลักษณะแบบอีสานซึ่งยังปรากฏอยู่ในสังคมของชาวท่าขันทอง และชาวบ้านก็ยังคงยึดถือปฏิบัติเรื่อยมาเป็นประจำ ได้แก่
- บุญเข้าจี่ (ข้าวจี่) จัดในเดือนมีนาคม บริเวณศาลากลางบ้าน
- บุญข้าวโพด จัดหลังเก็บเกี่ยวข้าวโพด
- บุญบั้งไฟ จัดขึ้นในเดือนเมษายนช่วงเทศกาลสงกรานต์ บริเวณศาลหลักบ้าน
- ตักบาตรข้าวเหนียว ทุกวันในตอนเช้า
- บุญกฐิน ช่วงเดือนพฤศจิกายน บริเวณแยกวัดธาตุศรีมาไรบรรพต
- ออกพรรษา ช่วงเดือนตุลาคม
- ประเพณีลอยกระทง ช่วงเดือนพฤศจิกายน
ภาษาพูด : ภาษาอีสาน (สื่อสารภายในชุมชน) ภาษาเหนือหรือคำเมือง (สื่อสารกับต่างชุมชน)
ภาษาเขียน : อักษรไทย
บ้านท่าขันทอง เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมน้ำโขงซึ่งเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของวิถีชีวิตแบบ “อีสานล้านนา” กลุ่มชนจากภาคอีสานที่อพยพมาตั้งรกรากเมื่อ 50 กว่าปีก่อนที่บ้านท่าขันทอง จังหวัดเชียงราย และนำพาเอาวัฒนธรรมอีสานติดตัวมาด้วย กลายเป็นอัตลักษณ์ประจำชุมชนแบบอีสานล้านนาที่ไม่เหมือนใคร ทั้งนี้ ชาวท่าขันทองได้นำเอาวัฒนธรรมอีสานดั้งเดิมที่ติดตัวมา มาปรับประยุกต์และบูรณาการสร้างสรรค์เข้ากับการพัฒนาชุมชนเป็นชุมชนท่องเที่ยว ส่งผลให้บ้านท่าขันทอง ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้รับรางวัลสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท ประจำปี พ.ศ. 2563 (Thailand Rural Tourism Award 2020) และรางวัลอันดับ 1 ในสาขาหมู่บ้านท่องเที่ยวโฮมสเตย์ (Best Homestay) และใน พ.ศ. 2566 นี้ บ้านท่าขันทองยังได้รับรางวัลพระราชทาน “กินรี” รางวัลแห่งความภาคภูมิใจระดับประเทศ ราวัลดีเด่น Thailand Tourism Silver Awards (สาขาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน) อีกครั้ง ภายหลังจากที่เคยได้รับรางวัลพระราชทานกินรี ประเภทองค์กรสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2556
ชูกลิ่น อุ่นวิจิตร. (2553). การบริหารจัดการการาท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนท้องถิ่น อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายอย่างยั่งยืน. โรงพิมพ์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย.
ชนบทที่รัก. (ม.ป.ป.). ชุมชนโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง จ. เชียงราย. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2566, จาก https://www.ชนบทที่รัก.com/
ไมซ์ม่วนใจ๋ Northern MICE Thailand. (2566). สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/
รัตนา บุญเลิศ. (2562). แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านท่าขันทอง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยพะเยา].
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย. (2562). ติดตามและจัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติมของชุมชนท่องเที่ยวระดับA @บ้านท่าขันทอง. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2566, จาก https://chiangrai.cdd.go.th/
อินไซด์ล้านนา. (2564). สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2566, จาก https://www.blockdit.com/
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2566, จาก https://earth.google.com/
Hello LOCAL. (ม.ป.ป.). Company Outing ชุมชนโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง จ.เชียงราย. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2566, จาก https://www.hellolocal.asia/
Paikondieow. (2564). โฮมสเตย์ริมโขง | ชุมชนบ้านท่าขันทอง จ. เชียงราย. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2566, จาก https://paikondieow.com/homestay-baanthakanthong/
Thailandplus. (2564). โฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง ได้รับรางวัลสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท (Thailand Rural Tourism Award 2020) อันดับ ๑ ในสาขาหมู่บ้านท่องเที่ยวโฮมสเตย์. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2566, จาก https://www.thailandplus.tv/