Advance search

“บ้านโคกหม้อ ผ้าทอมัดหมี่ จักสานฝีมือดี ประเพณีแห่ธงนางด้งกวัก ตักน้ำสรงพระ ก่อเจดีย์ทราย บายศรีสู่ขวัญ”

โคกหม้อ
โคกหม้อ
ทัพทัน
อุทัยธานี
วิไลวรรณ เดชดอนบม
7 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
9 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 ม.ค. 2024
บ้านโคกหม้อ

สันนิษฐานว่าเป็นชื่อที่ชาวมอญตั้งขึ้น เนื่องจากบริเวณนี้เคยเป็นชุมชนของกลุ่มชาวมอญซึ่งมีอาชีพปั้นหม้อ ต่อมาชาวมอญได้ย้ายออกไป ชาวลาวครั่งจึงได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้แทน โดยที่ยังคงใช้ชื่อของหมู่บ้านว่าโคกหม้อ สืบต่อมา


ชุมชนชนบท

“บ้านโคกหม้อ ผ้าทอมัดหมี่ จักสานฝีมือดี ประเพณีแห่ธงนางด้งกวัก ตักน้ำสรงพระ ก่อเจดีย์ทราย บายศรีสู่ขวัญ”

โคกหม้อ
โคกหม้อ
ทัพทัน
อุทัยธานี
61120
15.54212812
99.8989673
องค์การบริหารส่วนตำบลโคกหม้อ

บ้านโคกหม้อ สันนิษฐานว่าเป็นชื่อที่ชาวมอญตั้งไว้ เนื่องจากบริเวณนี้เคยเป็นชุมชนของกลุ่มชาวมอญซึ่งมีอาชีพปั้นหม้อ (ภาชนะปั้นหม้อ) ซึ่งปัจจุบันยังมีหลักฐาน คือ เตาเผาอยู่ที่ท้ายหมู่บ้าน ต่อมาชาวมอญได้โยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่บ้านเนินสาธาร อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ชาวลาวครั่งจึงได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้แทน โดยที่ยังคงใช้ชื่อของหมู่บ้านว่าโคกหม้อสืบต่อมา

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากคำบอกเล่าของชาวบ้านโคกหม้อ พอสรุปได้ว่าชาวลาวครั่งในชุมชนอพยพมาจากหลวงพระบาง เมืองภูครัง ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นที่มาของชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง หรืออาจเรียกตามสีของครั่งที่ใช้ย้อมผ้า ซึ่งเป็นภูมิปัญญาสำคัญของชาวลาวจากเมืองภูครัง ในคราแรกแรกตั้งบ้านเรือนอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อมาอพยพมาอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรีและชัยนาท แล้วย้อนกลับมาตั้งถิ่นฐานบริเวณแม่น้ำแควตกแดด ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสะแกกรังราว พ.ศ. 2390 โดยการนําของขุนพิฤกฤาเดชเป็นหัวหน้า ชาวบ้านจึงเชื่อว่าการอพยพมาตั้งถิ่นฐานของตนบริเวณโคกหม้อนี้มีระยะเวลาราว 200 ปีมาแล้ว 

สภาพพื้นที่และลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดชัยนาทมีลักษณะเป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อน ลักษณะลาดเทจากทิศตะวันตกลงมาทางทิศตะวันออก พื้นที่ราบทางเกษตรมีประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด เกิดจากการตกตะกอนของแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรัง โดยลักษณะภูมิประเทศของบ้านโคกหม้อมีสภาพเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก ดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย

สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับจังหวัดอื่นในภาคกลาง ในฤดูร้อนจะร้อนจัด และในฤดูหนาวจะหนาวจัด ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม โดยข้อมูลจากสถานีวัดน้ำฝนจำนวน 15 สถานี ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง มีช่วงพิสัยจำนวนวันฝนตกรายปีเฉลี่ย 53.7-113.5 มิลลิเมตร

บ้านโคกหม้อ ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่ ได้แก่ บ้านโคกหม้อ (เดิม) หมู่ที่ 2 และบ้านโคกหม้อ หมู่ที่ 3 โดยสถิติจำนวนประชากรจากสำนักทางการทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานสถิติประชากรตำบลโคกหม้อ หมู่ที่ 2 และ 3 ดังนี้

  • บ้านโคกหม้อ (เดิม) หมู่ที่ 2 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 624 คน แยกเป็นประชากรชาย 302 คน ประชากรหญิง 322 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 307 ครัวเรือน
  • บ้านโคกหม้อ หมู่ที่ 3 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 422 คน แยกเป็นประชากรชาย 197 คน ประชากรหญิง 225 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 135 ครัวเรือน

ลาวครั่ง

การประกอบอาชีพ

ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพในภาคการเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน ไร่อ้อย ไร่มันสําปะหลัง เลี้ยงวัว แล้วนำผลผลิตที่ได้มาแลกเปลี่ยนกัน แต่ในระยะหลังระบบการผลิตของชาวบ้านโคกหม้อเปลี่ยนมาเป็นการการผลิตเพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยนกันโดยใช้เงินเป็นสื่อกลางเป็นหลัก ยามว่างเว้นจากทำเกษตรกรรม ชาวบ้านจะทำอาชีพเสริมเพื่อไม่ให้เวลาที่มีอยู่สูญเปล่า เช่น รับจ้าง จักสาน ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ทอผ้า โดยงานด้านการทอผ้านั้นเป็นสิ่งที่หญิงชาวลาวครั่งมีความชำนิชํานาญมาแต่ไหนแต่ไร ทั้งการทอฝ้ายและผ้าไหมด้วยกี่มือหรือที่โบราณตาม เนื่องจากเป็นภูมิปัญญาที่รับสืบทอดจากบรรพบุรุษและส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นหลายชั่วอายุคน มีการมัดหมี่ การย้อมสีธรรมชาติเพื่อให้เกิดสีและลวดลายต่าง ๆ หรือการจกด้วยสีต่าง ๆ ทำให้เกิดสีสันงดงามจากการนำเอาลายมาประกอบเป็นผ้าผืนเดียวอันเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอลาวครั่ง

ปัจจุบันนั้นงานทอผ้า ไม่ได้เป็นงานที่ทำเพียงแต่ในยามว่างเว้นจากการทำไร่ทำนาอีกต่อไป กล่าวคือ ในปัจจุบัน การทอผ้าได้กลายมาเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนบ้านโคกหม้อ ผ้าทอลาวครั่งชุมชนบ้านโคกหม้อ สามารถสร้างชื่อเสียงให้หมู่บ้านเป็นที่รู้จักทั้งในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติ สามารถสร้างอัตลักษณ์และรายได้แก่ชุมชนปีละหลายหมื่นบาทต่อครัวเรือน  

นอกจากนี้ บ้านโคกหม้อ ยังมีวัดโคกหม้อที่เป็นวัดเก่าแก่ มีอายุมากกว่า 130 ปี ภายในประดิษฐานองค์หลวงพ่อโสธร ซึ่งประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่นิยมมากราบไหว้ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของตำบลโคกหม้อ ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ชาวบ้านมีรายได้จากการนำสินค้านานาชนิดไปวางขายให้แก่เหล่าผู้มาเยือน ซึ่งสามารถสร้างรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยลักษณะสภาพแวดล้อมของบ้านโคกหม้อแห่งนี้อุดมด้วยแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มากมาย เช่น ภูเขาหลวง อ่างเก็บน้ำหุบไม้ไฮ อ่างเก็บน้ำหุบหนองกระทุ่ม แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรไร่นาสวนผสม ของนายศรีรัตน์ พิลึก แหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ แหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเกษตรของเกษตรกรทั้งในและนอกชุมชน เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของชาวบ้านโคกหม้อ จึงอาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านโคกหม้อมิได้มีรายได้หลักมาจากเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ชาวบ้านมีรายได้จากการประกอบอาชีพที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น การทอผ้า การจักสาน รับราชการ รับจ้าง และรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งอีกนัยหนึ่ง การเกิดขึ้นของอาชีพใหม่เหล่านี้นอกจากจะช่วยสร้างรายได้ในช่วงที่ว่างเว้นจากฤดูกาลเกษตรแล้ว ยังช่วยให้ชาวบ้านได้มีกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันอีกด้วย

กลุ่มชุมชน

กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ (แต้มตะกอ) ดำเนินการทอผ้าไหมแบบโบราณด้วยลวดลายต่าง ๆ  เช่น ลายด่านเมืองลาว ลายนาค ลายด่านใหญ่ ด้ายที่ใช้ทอจะเป็นเส้นใยไหมคุณภาพดี และเป็นผู้ผลิตสินค้าทางวัฒนธรรม (CPOT)

กลุ่มทอผ้าแม่บ้านโคกหม้อ (ศูนย์สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มทอผ้าบ้านโคกหม้อ) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 โดยรวบรวมผู้ที่มีความสามารถในการทอผ้าในหมู่บ้าน ใช้ใต้ถุนบ้านเป็นสถานที่ดำเนินการทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติด้วยกี่มือและกี่กระตุกเรื่อยมา ต่อมาได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลโคกหม้อสร้างสำนักงานโดยใช้พื้นที่ของโรงเรียนชุมชนบ้านโคกหม้อเป็นศูนย์กลางการผลิต ต่อมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานเกษตรทัพทัน สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนากรอำเภอ พานิชจังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัด จึงได้มีการย้ายสำนักงานใหม่โดยใช้งบประมาณของผู้ว่า CEO จังหวัดอุทัยธานี สร้างศูนย์ทอผ้าและศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าโอท็อป OTOP อำเภอทัพทัน โดยใช้ที่ดินที่ราษฎรพัสดุหลังองค์การบริหารส่วนตำบลโคกหม้อเป็นสถานที่ดำเนินงาน

ศาสนาและความเชื่อ

ชุมชนชาวลาวครั่ง บ้านโคกหม้อ มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของคนในชุมชนมาตั้งแต่ก่อตั้งชุมชน และสืบทอดส่งต่อสู่ลูกหลานมาจนปัจจุบัน มีประเพณีและวัฒนธรรมเช่นเดียวกับพุทธศาสนิกชนทั่วไป คือ มีการทำบุญตักบาตร ถือศีล ฟังธรรมที่วัดในวันสำคัญต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา เข้าพรรษา วันออกพรรษา โดยเฉพาะในวันธรรมสวนะ ชาวบ้านจะรวมตัวกันไปทำบุญตักบาตรที่วัดอย่างพร้อมเพรียง ศาสนสถานที่เป็นแหล่งรวมพลสําคัญของชาวบ้านโคกหม้อ คือ วัดโคกหม้อ นอกจากชาวบ้านจะนับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำใจแล้ว ยังนับถือผีและมีความเชื่อในอํานาจที่เหนือธรรมชาติ เช่น มีความเชื่อในเรื่องผีเจ้านาย ผีเทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

ประเพณีสำคัญ

ประเพณีแห่ดอกไม้ จะทำพิธีแห่กัน 3 วัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเลิกสงกรานต์วันสุดท้ายในช่วงเช้าชาวบ้านจะขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทรายและประดับประดาให้สวยงาม ช่วงเย็นจะมีการแห่ธง เพื่อแสดงถึงการมีชัยชนะเหนือโรคภัยไข้เจ็บตลอดทั้งปี อีกทั้งยังมีความเชื่อว่า เพื่อเป็นการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เป็นการบูชาพระพุทธเจ้า เป็นการทำบุญร่วมกัน สร้างความสมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่บ้าน และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

ประเพณีแห่ธงสงกรานต์ คือ ประเพณีทำบุญทอดผ้าป่าของชาวไทยเชื้อสายลาวครั่งจัดขึ้นในราวเดือนเมษายนหลังวันสงกรานต์ผ่านไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ โดยธงสงกรานต์นี้จะทำด้วยไม้ไผ่ทั้งลำ ยาวประมาณ 10 เมตรขึ้นไป ปลายธงมีกิ่งไผ่และปลายขอหรือที่สำหรับแขวนสิ่งของไว้ สิ่งที่จะนำมาแขวนที่ธงนั้น ได้แก่ ผืนธงชาติและสิ่งของเครื่องใช้ที่มีลักษณะเป็นผืนพอจะแขวนได้ เช่น เสื่อ พรม ผ้าม่าน ซึ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางวัดจำเป็นต้องมีไว้ใช้ ชาวบ้านจะพับให้มีขนาดพอเหมาะที่จะแขวนกับปลายธง ตกแต่งให้สวยงามด้วยดอกไม้สดและดอกไม้แห้ง

ประเพณีนางกวัก เป็นการแสดงพื้นบ้านตามความเชื่อที่ว่าสามารถเชิญดวงวิญญาณให้มาสิงสถิตในอุปกรณ์ที่ทําขึ้นมา ประกอบด้วย คานของแม่หม้าย 1 คาน ทําเป็นแขนติดกับกวักปั่นด้าย มักเล่นในเวลากลางคืน เพราะเชื่อว่าเหมาะในการเชิญวิญญาณมากกว่าตอนกลางวัน มีผู้เฒ่าหญิง 2 คนเป็นผู้ถือกวักไปเชิญวิญญาณที่ทางสามแพร่ง ซึ่งเป็นผู้เฒ่าที่มีจิตสัมผัสกับวิญญาณได้ และอีก 4 คน หรือมากกว่านั้น จะเป็นผู้ร้องเพลงเชิญวิญญาณมาสิงสถิต เมื่อวิญญาณเข้าสิงแล้วหุ่นนางกวักจะโยกย้ายไปมาราวกับมีชีวิต จากนั้นชาวบ้านจะสามารถถามคําถามให้นางกวักทํานายให้ แล้วนางกวักจะใช้คานนั้นแทนมือเขียนคําตอบลงบนพื้นดิน ใครจะถามอะไรก็ได้ หากหมดคนถามก็จบการเล่นนางกวักในคืนนั้น

ประเพณีนางด้ง เป็นประเพณีทํานายชะตาหมู่บ้าน มีลักษณะคล้ายกันกับนางกวัก กล่าวคือ มีการเชิญผู้เฒ่าหญิงสองคนเป็นผู้ถือกระด้ง 1 อัน มีสาก 2 อันวาง 2 ข้างของกระด้ง และ อีก 4 คนหรือมากกว่านั้นเป็นผู้ร้องเพลงเชิญวิญญาณมาสิงสถิต เมื่อผีนางด้งเข้า จึงจะถามว่าโชคชะตาของหมู่บ้านนี้ฝนฟ้าจะดีหรือไม่ หากดีให้ยกด้งสูงขึ้นหรือเคาะหนึ่งครั้ง หรือเอนซ้าย ขวา ถ้านางด้งทําตามนั้นแสดงว่าฝนฟ้าจะดี ผู้คนในหมู่บ้านจะไม่เจ็บป่วย จากนั้นใครจะถามอะไรก็ได้ กระทั่งหมดคนถามจึงเลิกกัน

1.นางอรอนงค์ วิเศษศรี ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ ผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการมัดหมี่ และมีความชำนาญในการย้อมสีจากธรรมชาติ และการทอผ้าจก (ผ้าจกลาวครั่ง)

รางวัลที่ได้รับ   

  1. รางวัลชนะเลิศ ผ้าไหมอาเซียน ประเภทผ้าไหมเทคนิคผสม ระดับอาเซียน ได้รับรางวัลโล่พระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 14 ประจำปี 2562
  2. รางวัลครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2556 ช่างเครื่องทอ จังหวัดอุทัยธานี โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)

แต้มตะกอ ยกระดับหัตถศิลป์ท้องถิ่นสู่สากล

ชาวบ้านโคกหม้อเป็นชาวลาวครั่งที่อพยพมาจากเมืองภูครัง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีผ้าทอเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดต่อกันมา กว่า 200 ปี ซึ่งภายในชุมชนบ้านโคกหม้อนี้ปรากฏการณ์จัดตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นหลายกลุ่ม มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการทอผ้าเป็นอาชีพหลักแทนการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งในปัจจุบันชาวลาวครั่งชุมชนบ้านโคกหม้อได้ปรับประยุกต์ลวดลายขอผ้าทอให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย มีการปรับปรุงและประยุกต์ให้ผ้าทอที่มีอยู่ในชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งลวดลาย สีสัน และกระบวนการทอ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังไม่ละทิ้งกลิ่นไอของผ้าทอโบราณอันเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอลาวครั่ง คือ สีแดงจากตัวครั่ง มาผสมผสานกันอย่างลงตัวจนมีชื่อเสียงเป็นที่ชื่นชอบของผู้หลงใหลในมนต์เสน่ห์แห่งผ้าทอ เป็นหนึ่งของดีของจังหวัดอุทัยธานี กระทั่ง พ.ศ. 2553 ผ้าทอลาวครั่งของชาวบ้านโคกหม้อได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎกระทรวงพาณิชย์ภายใต้ชื่อแบรนด์ แต้มตะกอ ซึ่งมีเอกลักษณ์คือความละเอียด ปราณีต และการผสมผสานกรรมวิธีการทอแบบจกและยกเข้าด้วยกันอย่างลงตัว และมีราคาสูงแปรผันตามคุณภาพของชิ้นงาน และด้วยคุณภาพของผ้าทอแต้มตะกอนี้ ส่งผลให้แบรนด์ได้รับการรับรองจากหน่วยงานมากมาย จนสามารถสร้างชื่อเสียงโด่งดังในระดับบประเทศและนานาชาติได้

อนึ่ง ด้วยความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอภายใต้ชื่อแบรนด์ แต้มตะกอ ส่งผลให้ผ้าทอชาวลาวครั่ง บ้านโคกหม้อ โดยนายชญทรรศ วิเศษศรี สมาชิกกลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ (แต้มตะกอ) ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญเงิน รางวัลการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรมระดับประเทศ ประเภทผ้าเทคนิคผสมพื้นเมือง โครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน ‘ผ้าลายดอกรักราชกัญญา’ ดำเนินงานโดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย 

ภาษาพูด : ลาวครั่ง ไทยกลาง

ภาษาเขียน : ไทย 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมหม่อนไหม. (ม.ป.ป.). ปราชญ์หม่อนไหม. หม้อ. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567, จาก https://www.qsds.go.th/

กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี. (2564). ผลิตภัณฑ์ ผ้าทอพื้นเมืองบ้านโคกหม้อ. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567, จาก https://www2.m-culture.go.th/uthaithani/

เที่ยวอุทัย ง่ายนิดเดียว. (2562). ผ้าทอบ้านโคกหม้อ. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567, จาก https://web.facebook.com/

นันทิตา เส็งมา. (2562). การปรับประยุกต์ภูมิปัญญาหัตถกรรมผ้าทอลาวครั่งภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ : กรณีศึกษากลุ่มทอผ้าแต้มตะกอ ชุมชนบ้านโคกหม้อ ตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี. คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ผ้าไทยใส่ให้สนุก. (2566). รางวัลการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรมระดับประเทศ ประเภทผ้าเทคนิคผสมพื้นเมือง. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567, จาก https://www.facebook.com/phathaisaihaisanook/

ผู้จัดการออนไลน์. (2563). สาวลาวครั่งบ้านโคกหม้อรวมกลุ่มทำผ้าทอลายโบราณประจำถิ่น ยกระดับราคาสร้างรายได้หลักแสน. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567, จาก https://mgronline.com/

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุทัยธานี. (2564). แหล่งทอผ้าพื้นเมืองบ้านโคกหม้อ. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567, จาก https://province.mots.go.th/

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567, จาก https://earth.google.com/

jk.tours. (2565). ชุมชนคุณธรรมวัดโคกหม้อ จังหวัดอุทัยธานี. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567, จาก https://jk.tours/