บ้านห้วยหาด ชุมชน “จิ๋วแต่แจ๋ว” ต้นแบบของการปรับตัวจากวิกฤติในยุคต่าง ๆ เปลี่ยนพื้นที่ไร่เลื่อนลอยเป็นนาข้าว เปลี่ยนเขาหัวโล้นเป็นป่าเขียวขจี นำพาชุมชนที่อ่อนแอเพราะหนี้สินสู่ชุมชนที่แข็งแกร่งได้ด้วยการพึ่งตนเอง
บ้านห้วยหาด ชุมชน “จิ๋วแต่แจ๋ว” ต้นแบบของการปรับตัวจากวิกฤติในยุคต่าง ๆ เปลี่ยนพื้นที่ไร่เลื่อนลอยเป็นนาข้าว เปลี่ยนเขาหัวโล้นเป็นป่าเขียวขจี นำพาชุมชนที่อ่อนแอเพราะหนี้สินสู่ชุมชนที่แข็งแกร่งได้ด้วยการพึ่งตนเอง
บ้านห้วยหาด ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่เชิงเขาของยอดดอยภูคา ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ฐานที่ตั้งกองกำลังผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ราว พ.ศ. 2522 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงร่วมกับกองพลทหารม้าได้มีนโยบายเปิดหมู่บ้านสองข้างทางยุทธศาสตร์สายน้ำยาว-บ่อเกลือ โดยอพยพประชาชนบางส่วนจากอำเภอปัว ท่าวังผา และอำเภอสันติสุขขึ้นมาตั้งหมู่บ้านภายใต้การควบคุมดูแลของผู้บังคับการกองพลทหารม้าในขณะนั้น ร่วมพัฒนาหมู่บ้านและได้รับการอบรมไทยอาสาป้องกันชาติให้แก่ชาวบ้าน และสร้างอาคารเรียนจำนวน 1 หลัง พร้อมด้วยห้องเรียนจำนวน 2 ห้อง แล้วได้รับการแต่งตั้งเป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการปกครองหมู่บ้านห้วยหาดเมื่อ พ.ศ. 2524
ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2522-2530 ชาวบ้านห้วยหาดได้รับความเดือดร้อนจากภัยผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เข้ามารบกวนและทำสงครามจิตวิทยากับชาวบ้าน สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย และชีวิตจากการเหยียบกับระเบิดและถูกซุ่มยิง ทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว ส่งผลให้ชาวบ้านจำนวนมากเดินสทางอพยพออกจากหมู่บ้ายกลับภูมิลำเนาเดิม ประชากรที่เหลืออยู่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำไร่ข้าว ทำไร่ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ และอุตสาหกรรมในครัวเรือน อาทิ การทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ ทำไม้กวาดดอกหญ้า ซึ่งช่วยให้ประชากรมีอาชีพเสริมยวามว่างหลังจากฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้ชาวบ้านห้วยหาดมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและได้พัฒนาหมู่บ้านให้เจริญไปตามลำดับจนถึงปัจจุบัน
สภาพพื้นที่และอาณาเขตติดต่อ
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของบ้านห้วยหาดอยู่ในที่ราบเชิงเขาท่ามกลางหุบเขา มีภูมิทัศน์ที่สวยงามและภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี ส่วนใหญ่มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูงที่ประกอบไปด้วยภูเขาเป็นส่วนมาก พื้นที่ราบมีน้อยมาก ส่วนสภาพป่าไม้ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นป่าดิบชื้นและป่าดงดิบ สภาพภูมิอากาศมีลักษณะหนาวเย็นค่อนข้างเย็นตลอดปี มีแม่น้ำสายสําคัญที่ใช้ในการอุปโภค บริโภค และใช้ในการเกษตรกรรม ได้แก่ แม่น้ำยาว แม่น้ำห้วยหลักลาย และแม่น้ำห้วยหาด สำหรับบ้านเรือนของประชาชนมักตั้งกระจายอยู่ตามเชิงเขาและหุบเขา โดยบ้านห้วยหาดมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านยอดดอยวัฒนา ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านห้วยลอย สามารถใช้ถนนเชื่อมเป็นเส้นทางสัญจรไปได้หลายหมู่บ้าน ต่อกับบ้านห้วยหาดถึงบ้านห้วยหลักลาย
- ทิศใต้ เขตติดต่อ กับบ้านแม่สะนาน ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านน้ำยาว ตำบลอวน อำเภอปัว
สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
ป่าไม้ส่วนใหญ่ในพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยหาดมีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ
- ป่าเบญจพรรณ ประกอบด้วย ป่าเต็งรัง มะค่าโมง ประดู่ ยาง ไม้ ชิงชัน กระบก ต้นไทร
- ป่าดงดิบ ส่วนใหญ่มักพบไม้ยาง ไม้ตุ้มเต้น ไม้สมพงษ์ ต้นไทร กระบก ไม้ตระแบก ไม้สมอพิเพก (ไม้แหน) กล้วยไม้ป่า เช่น มือชะนี เอื้องคํา เอื้องผึ้ง เอื้องขี้หมา พลับพลึงป่า เอื้องสามปอย เอื้องมอญไข่ กระเช้าสีดา นอกจากนี้ยังพบต้นปาล์มเต่าร้างล้านปี ว่านลิ้นจงอาง และว่านเศรษฐี ส่วนใหญ่พบมากบริเวณข้างทางไปโป่งนกและทางไปถ้ำหอน
ประเภทของป่า แบ่งเป็น 2 ประเภท
- ป่าสงวน เป็นพื้นที่ป่าที่มีป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 40 ของหมู่บ้าน เป็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า ห้ามตัดไม้ และล่าสัตว์
- ป่าชุมชน เป็นพื้นที่ป่าเบญจพรรณ ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 30 ของหมู่บ้าน เป็นพื้นที่อนุรักษ์และใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติจากป่า โญมีการจัดตั้งกฎ กติกา ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ในการใช้สอยประโยชน์จากป่าร่วมกัน
สถิติประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานสถิติประชากรตำบลอวน หมู่ที่ 7 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 104 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 53 คน ประชากรหญิง 51 คน และจำนวนครัวเรือน 43 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565)
ไทลื้อการประกอบอาชีพ
ชาวบ้านห้วยหาดส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงสัตว์มาแต่เดิม แต่เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว ในช่วงพักไร่ชาวบ้านจะไม่มีรายได้จากทางอื่น ส่งผลให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและบางส่วนเกิดภาวะหนี้สินจากการกู้ยืมเงินมาลงทุนทำเกษตรกรรม ชาวบ้านจึงได้คิดหาลู่ทางโดยนำเอาภูมิปัญญาที่มีอยู่แต่เดิมมาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นรายได้เสริม ได้แก่ การทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ การจักสาน ตลอดจนการนำพืชพรรณธรรมชาติมาแปรรูปเป็นอาหาร ซึ่งนอกจากจะมีอาหารเก็บไว้รับประทานในครัวเรือนได้เป็นระยะเวลานานแล้วยังสามารถนำออกจำหน่ายสร้างรายได้ได้อีกด้วย
แต่เดิมชาวบ้านห้วยหาดเกือบทุกหลังคาเรือนทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งสร้างผลเสียต่อระบบนิเวศและสร้างความเสียหายแก่ป่าไม้อย่างมหาศาล ทว่า ในภายหลังชาวบ้านเกิดความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการทำไร่เลื่อนลอย มีการสร้างอาชีพทดแทนหลาย ๆ ด้าน ทำให้พื้นที่การทำไร่เลื่อนลอยลกน้อยลง เริ่มจากการปรับพื้นที่มาทำนาขั้นบันได นาข้างห้วย ปลูกผักสวนครัว และปลูกพืชอายุสั้นหลังเกี่ยวข้าว
ปศุสัตว์ เป็นอาชีพทดแทนหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้านห้วยหาดภายหลังยกเลิกทำไร่เลื่อนลอย มีทั้งการเลี้ยงเพื่อรายได้ และเพื่อให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องอาหาร ได้แก่ การเลี้ยงวัว โดยปกตินิยมเลี้ยงวัวสายพันธุ์ชาร์โรเลส์และอเมริกันบราห์มันที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมปศุสัตว์ จังหวัดน่าน โดยปลูกหญ้าเนเปียร์ หญ้ารูซี่ และเก็บฟางข้าวเป็นอาหาร แต่เลี้ยงไปได้ระยะหนึ่งวัวสายพันธุ์ต่างประเทศก็ลดความนิยมลงเหลือเพียงสายพันธุ์พื้นเมือง นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงหมูสายพันธุ์เหมยซานและลาร์จไวท์ เลี้ยงปลา ไก่ไข่ พร้อมกับการปลูกผักสวนครัว โดยมีการขุดบ่อปลาส่วนรวมเพื่อจับปลาขายในช่วงเดือนเมษายน แล้วนำรายได้ส่วนนี้ไปใช้ในงานสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ ยังมีการพัฒนาเมนูอาหารพื้นบ้านเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตลอดจนร้านอาหาร ร้านกาแฟ และโฮมสเตย์ ไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมความงดงามของทัศนียภาพและความอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้ ดิน น้ำในชุมชนบ้านห้วยหาด
กลุ่มองค์กรชุมชน
กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ
กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ เดิมที่เกิดจากการรวมกลุ่มของสมาชิกที่มีความคิดริเริ่มจัดตั้งกลุ่ม 4-5 คน ระดมทุนสร้างโรงทอ ต่อมามีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการจัดฝึกอบรมให้แก่สมาชิก มีการทำกี่เพิ่มให้เพียงพอต่อจำนวนสมาชิก โดยมีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ฝ้าย อุปกรณ์ย้อมสีเคมีจำพวกจุนสี นอกจากนี้ยังมีการออกศึกษาดูงานการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติจากบ้านโป่งคำ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความรู้เรื่องการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติเข้ามาใช้ในกลุ่มเป็นครั้งแรก แล้วจึงต่อยอดทดลองนำพืชที่มีอยู่ในชุมชนมาทำเป็นสีย้อม ทำให้ในปัจจุบันกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติมีเฉดสีธรรมชาติสำหรับย้อมผ้ามากกว่า 10 เฉดสี มีการจัดการเรื่องการหาตลาดและพัฒนาคุณภาพผ้าทอให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จนได้รับมาตรฐานระดับ 3 ดาว มีการบริหารจัดการเรื่องกฎระเบียบ ข้อบังคับ การออมหุ้น การปันผล และอนุญาตให้สมาชิกยืมวัสดุอุปกรณ์ของกลุ่มไปใช้ในการผลิตก่อน จากนั้นจึงนำผ้าที่ทอได้มาขายเพื่อหักต้นทุนคืนกลุ่ม สมาชิกก็จะได้ค่าทอเป็นรายได้ นอกจากนี้ ยังมีการประชุมสมาชิกเพื่อการพัฒนาคุณภาพผ้าทอ และการปันผลในรอบปี ปีละครั้ง โดยคิดจากจํานวนการทอในรอบปีของแต่ละคน ประชุมเพื่อรับทราบปัญหาและแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ ๆ เพื่อชี้แจงยอดรายรับ-รายจ่ายต่าง ๆ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับทราบสภาพปัญหาและความต้องการของกลุ่มด้วย
กลุ่มหน่อไม้อัดปี๊บ
เนื่องจากพื้นที่บริเวณโดยรอบชุมชนบ้านห้วยหาดมีวัตถุดิบธรรมชาติที่สำคัญ คือ หน่อไม้ ซึ่งมีจำนวนมากในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนของทุกปี ชาวบ้านจึงได้นำเอาวัตถุดิบธรรมชาติดังกล่าวมาแปรรูปให้เกิดรายได้ โดยนำหน่อไม้สดมาแปรรูปเป็น “หน่อไม้นึ่งถุง” คือ การนำเอาหน่อไม้มาแกะเปลือกออกแล้วนำไปอัดถุงร้อน จากนั้นมัดปากถุงให้แน่นเพื่อป้องกันอากาศเข้า จะช่วยให้เก็บได้นาน และไม่มีรสเปรี้ยว สามารถทำไว้รับประทานในครอบครัวหรือจะนำออกไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมก็ได้
ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ประจวบกับมีงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเข้ามา ทางชุมชนจึงเห็นร่วมกันว่าควรเสนอโครงการจัดทําหน่อไม้อัดปี๊บ ซึ่งได้รับการสนับสนุนการให้ความรู้ในการจัดทําหน่อไม้ปี๊บ ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งทุกหลังยคาเรือนในหมู่บ้านเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม และสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนมากถึงประมาณปีละ 100 ปี๊บ ราคาโดยประมาณปี๊บละ 200 บาท ส่วนใหญ่จะจําหน่ายในละแวกหมู่บ้าน โรงเรียนต่าง ๆ และในพื้นที่ใกล้เคียง
กลุ่มไม้กวาด
การรวมกลุ่มกันทําไม้กวาดในหมู่บ้านห้วยหาด เริ่มจากการที่มีหน่วยงานทางทหารมาฝึกสอนให้ชาวบ้านในปี พ.ศ. 2523-2524 เพื่อให้ชาวบ้านได้ทําไม้กวาดเป็น โดยหน่วยงานฯ เป็นผู้ให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ แต่เดิมนั้นชาวบ้านห้วยหาดมีการทำไม้กวาดไว้ใช้เองในครัวเรือนอยู่แล้ว เนื่องจากบริเวณหมู่บ้านมีวัสดุที่ใช้ในการไม้กวาด เช่น ไม้ไผ่ และก๋ง แต่ยังขาดอุปกรณ์อื่น เช่น เชือกกับเข็ม แต่เดิมนั้นการทําไม้กวาดก็จะเป็นลักษณะง่าย ๆ ไม่ค่อยถูกหลักวิธีเท่าไหร่ เพราะชาวบ้านยังขาดความรู้และอุปกรณ์ ต่อมาเมื่อได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทางทหารที่ได้เข้ามาช่วยให้คําแนะนํา ให้ความรู้เพิ่มเติม สนับสนุนอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ทําให้เกิดการรวมตัวของชาวบ้านขึ้น ต่อมาสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) เข้ามาสนับสนุนโดยการหาตลาดให้ และให้คนมาสอนความรู้เพิ่มเติม จนทําให้มีรายได้เพิ่มเติมขึ้นจากเดิม เพราะสินค้ามีคุณภาพมากขึ้น และราคาไม้กวาดก็สูงขึ้นด้วย
ประเพณี พิธีกรรม
1. พิธีการเลี้ยงแก้ม หรือการเลี้ยงผีสบห้วย ถือเป็นการบูชาน้ำของคนไทลื้อ เป็นพิธีกรรมสำคัญที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำประกอบพิธีเลี้ยงแก้มจะต้องเป็นผู้ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ โดยชาวบ้านจะมีการรวบรวมเงินกันเพื่อซื้อของเซ่นไหว้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ หมู เพราะจะต้องล้มหมู่เลี้ยงเป็นธรรมเนียมที่ปรฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต เมื่อประกอบพิธีกรรมเสร็จสิ้น ผู้นำประกอบพิธจะลาข้าวของเซ่นไหว้เพื่อนำไปเลี้ยงแจกจ่ายแก่ชาวบ้าน เป็นอันเสร็จสิ้นการประกอบพิธีกรรม
2. พิธีการเลี้ยงผีไร่ ผีนา คือ การบอกกล่าวบูชาเจ้าที่เจ้าทางหรือบนบานศาลกล่าวก่อนที่จะเริ่มทําการเพาะปลูกทุกครั้ง และถวายเครื่องเซ่นบูชาเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ โดยมีความเชื่อว่าถ้าทําแล้วผลผลิตจะดี ไม่มีสิ่งรบกวน ในการประกอบพิธีการเลี้ยงผีไร่ผีนา จะมีการนําดอกไม้ธูปเทียน มาบนบานกับเจ้าที่ให้ช่วยบันดาลให้ผลผลิตดี ได้จํานวนมาก แล้วจะนําเครื่องเซ่นที่บนบานไว้มาถวาย เพื่อเป็นการบูชาเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้น
3. พิธีกรรมผิดผี คือ ความเชื่อว่าการที่เรากระทําผิดกับบุคคลและสถานที่หวงห้าม เช่น หนุ่มสาวที่ได้เสียกันก่อนแต่งงาน การทะเลาะวิวาท การดูหมิ่นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยทั่วไปแล้วชาวบ้านจะนับถือผีกันทั้งหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า ถ้าใครกระทําการผิดผีแล้ว ผู้นั้นจะต้องนําเอาไก่ 1 คู่ เหล้า 1 ขวด และหัวหมู 1 หัว นํามาทําพิธีกรรมผิดผี โดยผู้อาวุโสในหมู่บ้านจะเป็นผู้มาประกอบพิธีขอขมาต่อผีในหมู่บ้าน โดยมีความเชื่อว่าถ้าไม่ทําก็จะเกิดเรื่องร้ายตามมา แต่ถ้าทําแล้วก็จะเกิดความสบายใจและเรื่องร้ายจะกลายเป็นดี เช่น หายจากการเจ็บป่วยไข้
4. ประเพณีวันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีมาแต่เดิม จนกลายเป็นประเพณีสืบทอดที่ยึดถือปฏิบัติกันมา ดังต่อไปนี้
- วันที่ 12 เมษายน ถือเป็นวันส่งเคราะห์ ส่งนาม โดยชาวบ้านจะเอากาบกล้วยมาทําเป็นกระทงสี่มุม ใส่กล้วย ข้าว เสื้อ ดอกไม้ เทียน และเอาฝ้ายสีขาวคนละเส้นห่อใบตองชุบน้ำมันก๊าซ แล้วนําไปจุดที่วัดเพื่อส่งเคราะห์
- วันที่ 13 เมษายน ถือเป็นวันล่อง ในเวลา 04.00 นาฬิกา (ตีสี่ของวันที่ 13 หรือคืนวันที่ 12) ชาวบ้านจะจุดสะโป่ก (ทําจากไม้ไผ่) เมื่อถึงตอนเช้าจะเริ่มรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ และเริ่มเล่นน้ำสงกรานต์
- วันที่ 14 เมษายน ถือเป็นวันเน่า คนในชุมชนจะเตรียมอาหารหวาน คาว โดยทุกหลังคา เรือนจะต้องช่วยกันขนทรายเข้าวัด เพราะต้องช่วยกันก่อกองทราย ทําเจดีย์ที่วัด โดยมีความเชื่อว่าเป็นการล้างบาปในชาติปางก่อน
- วันที่ 15 เมษายน ถือเป็นวันพญาวัน ตอนเช้าก็จะไปทําบุญที่วัด โดยก่อนที่จะเข้าวัดจะต้องเอาธงที่มัดติดกับไม้ไปเสียบที่เจดีย์ทราย และนําเอาเทียน ดอกไม้ ข้าวต้ม ขนม นําไปวางที่กองทราย และมีไม้ค้ำสะหลีและฝ้ายขาว 7 เส้น นํามาพันที่หัวไม้ เสร็จแล้วนําไปรวมกัน จึงจะเข้าไปทําบุญที่วัดได้ โดยก่อนตักบาตร ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าจะต้องตานโก๊ยข้าว (ทําบุญอุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับ) เสร็จแล้วจึงจะร่วมกันตักบาตร รับศีลรับพร ช่วงบ่ายมีการฟังเทศน์และสรงน้ำพระ เป็นอันสิ้นสุดพิธีกรรมและประเพณีสงกรานต์
นอกจากประเพณี พิธีกรรมดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว บ้านห้วยหาดยังมีประเพณี พิธีกรรมสำคัญอีกมากมาย อาทิ พิธีบายศรีสูขวัญ พิธีบวชป่า พิธีเลี้ยงผีปู่ย่า พิธีเลี้ยงศาลเจ้าพ่อภูคา พิธีหาเมื่อ-หาหมอ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีวันเข้าพรรษา-ออกพรรษา พิธีการเรียกขวัญข้าว และพิธีบวชนาค เป็นต้น
1.นายเปล่ง คันทะลือ : ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจักสาน
2.นางขันแก้ว ทิปะกะ : ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทำไม้กวาดดอกหญ้า
3.นางถนอม ใหม่น้อย : ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้าพื้นเมืองและย้อมสีธรรมชาติ
ภูมิปัญญาการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ
เดิมทีชาวบ้านห้วยหาดเป็นกลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อผู้เชี่ยวชาญการทอผ้าจากวัสดุธรรมชาติ อันเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ กระทั่งมีการก่อตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 แต่เป็นการทอผ้าย้อมสีเคมี ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับ ต่อมาสมาชิกได้ออกไปศึกษาดูงานการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติจากบ้านโป่งคำ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความรู้เรื่องการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติเป็นครั้งแรก โดยเริ่มจากเทคนิคการย้อมผ้าสีธรรมชาติ 5 สี ได้แก่
1. สีเขียว ได้จากใบหูกวางต้มลงในน้ำใบฮ่อมที่หมักไว้ 2 วัน
2. สีฟ้า ได้จากการนำใบฮ่อมที่หมักไว้ 2 คืน ลงไปแช่ไว้ในน้ำสารส้ม 1 คืน
3. สีน้ำตาล ได้จากการนำฝ้ายไปต้มในน้ำเปลือกประดู่ ประมาณ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นนำไปแช่ต่อในน้ำปูนใสอีก 1-2 ชั่วโมง
4. สีเหลือง ได้จากการนำฝ้ายไปต้มกับน้ำเปลือกต้นเพกาประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วนำไปแช่นำสารส้ม 1-2 ชัวโมง
5. สีครั่ง (สีชมพู) ได้จากการนำฝ้ายไปต้มกับน้ำครั่ง (ครั่ง หาได้ในป่า มีลักษณะเป็นยางเหนียวข้น ซึ่งเป็นรังของตัวครั่ง) ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วนำไปแช่น้ำสารส้มอีก 1-2 ชั่วโมง
ต่อมาได้มีการทดลองนําพืชอื่นที่มีอยู่ในชุมชนมาย้อมฝ้าย ซึ่งทําให้เกิดเฉดสีใหม่ขึ้นอีกหลายสี ปัจจุบันย้อมมากกว่า 10 เฉดสี ซึ่งต่อมาจึงมีหน่วยงานราชการมาให้การสนับสนุนอีกหลายหน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงานพัฒนาชุมชน ได้เข้ามาให้ความรู้เรื่องผ้าทอ มาตรฐานผ้าทอ, สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) เรื่องการแปรรูป มีการจัดอบรมการตัดเย็บ, องค์การบริหารส่วนตำบลอวน (อบต.) สนับสนุนเรื่องการจัดสร้างโรงทอและอุปกรณ์การทอผ้า เช่น กี่ทอผ้า เขาฟืม เริ่มแรกการทอผ้าของสมาชิกกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านห้วยหาดนั้น เมื่อสมาชิกทอเสร็จก็นําไปฝากขายที่กลุ่มทอผ้าบ้านโป่งคําและ ร้านค้าในเขตจังหวัด และนําไปออกแสดงสินค้าตามงานเทศกาลต่าง ๆ ทําให้ผ้าทอของชุมชนเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ
ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา ถือได้ว่าการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติทําให้คนในชุมชนมีรายได้เสริมในยามว่างงาน และรู้จักนําวัสดุที่มีในท้องถิ่นมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ และยังถือเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ เป็นความภาคภูมิใจของคนในชุมชน การทอผ้า เป็นการแสดงออกถึงความละเอียดอ่อนในการทํางาน นอกจากนี้ การย้อมสีผ้าด้วยสีจากธรรมชาติยังเหมาะกับผู้ที่แพ้สีเคมี และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน การทอผ้าย้อมสีธรรมชาติทําให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น และที่สําคัญเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คนรุ่นหลังสืบต่อไป
ในอดีตเมื่อ พ.ศ. 2522 บ้านห้วยหาด เป็นชุมชนที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ในช่วงแรก เนื่องจากตั้งอยู่ในซอกหลืบของเทือกเขาต้นน้ำที่ทอดยาวสลับซับซ้อนยืนตระหง่านอย่างท้าทาย มีสัตว์ป่าหลากหลายสายพันธุ์ร่วมพึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันมาเนิ่นนาน สายธารน้อยใหญ่หลั่งไหลมาจากภูสูงลดหลั่นเลี้ยววกมาเป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงมวลชีวิต สัตว์ต่างดำรงชีพความเป็นอยู่แบบแบ่งปันและเรียบง่าย เหล่าผู้คนก็ทำนาทำสวนบนผืนดินที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติเป็นอาชีพหลัก บางรายยึดการทำไร่เลื่อนลอยแปลงเล็ก ๆ เพาะปลูกพืชไร่เพื่อดำรงชีพ ในช่วงเวลาต่อมา องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มาเปิดสัมปทานป่าไม้ ทำให้ป่าเริ่มเสื่อมโทรมลง ส่งผลให้เกิดสภาพแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำการเกษตรก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ในที่สุดบรรดาผู้คนในชุมชน ต่างอดอยากแร้นแค้น จำเป็นต้องอพยพไปขายแรงงานตามหัวเมืองเพื่อพยุงการใช้ชีวิตให้คงอยู่ อันเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาหลายอย่างขึ้นในชุมชน เช่น ชุมชนขาดทรัพยากรบุคคลและแรงงานในการพัฒนา ขาดการระดมความคิดเห็น การปรึกษา และความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ทรัพยากรป่าไม้ที่มีค่าหมดไป เนื่องจากเมื่อปีการเปิดสัมปทานป่าไม้เพื่อนําไม้ที่มีมูลค่าออกไปขายนอกพื้นที่
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น ทั้งผู้นำและผู้คนที่ได้รับผลกระทบต่างนำปัญหามาร่วมคิดพิจารณากันว่าหากไม่สามารถแก้ไขภาวะวิกฤตดังกล่าวให้ลุล่วงไปแล้ว คงจะลำบากในการใช้ชีวิต จึงได้หาทางออกโดยการทำไร่เลื่อนลอยเพิ่มขึ้น บุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อใช้พื้นที่มากขึ้น หันมาเอาจริงเอาจังกับการปลูกข้าวโพดกันเป็นส่วนใหญ่ เกือบทุกหลังคาเรือน ทำให้ผืนดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุตามธรรมชาติ กลับต้องถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ปุ๋ยอันเป็นสารเคมีและยาฆ่าศัตรูพืช ถูกนำมาใช้กันอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มผลิตผลที่หวังว่าจะลืมตาอ้าปากได้ ทำให้เกิดสารพิษตกค้างแพร่กระจายเป็นจำนวนมาก กระทบกระเทือนไปถึงสัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง สัตว์น้ำ ตลอดจนผู้คนในชุมชนได้รับความเดือดร้อนตามมา จากความไม่รู้ ท้ายที่สุดผู้คนต้องประสบภาวะวิกฤติสาหัสมากกว่าเดิม เป็นต้นว่า ต้องซื้อน้ำจากนอกชุมชนมาดื่มมาใช้ แหล่งน้ำมีสารพิษตกค้าง พืชผักพื้นบ้าน พืชริมน้ำ สัตว์บกและสัตว์น้ำสูญหายไป บางชนิดถึงขั้นสูญพันธุ์ แหล่งอาหารธรรมชาติเสื่อมโทรมลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้แต่พืชผักส่วนครัวก็เต็มไปด้วยสารพิษตกค้าง จำเป็นต้องซื้อหาจากภายนอกมาบริโภค ชุมชนไม่สามารถพึ่งตนเองได้เหมือนที่เคยเป็นมาจากอดีต หลายครอบครัวต่างเกิดหนี้สินพอกพูนจากการปลูกข้าวโพด ชุมชนจึงปรึกษาหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในที่สุดได้ตกลงปลงใจกันว่าต้องเลิกทำไร่เลื่อนลอย แต่ก็ใช้เวลาราวเกือบสิบปีจึงหยุดการทำไร่เลื่อนลอยปลูกข้าวโพดได้อย่างเด็ดขาด ผู้คนได้ปรับเปลี่ยนอาชีพจากเดิม มาทำนาขั้นบันได นาข้างห้วย เพื่อปลูกไว้บริโภคในครัวเรือน ปลูกพืชผักสวนครัว พืชหลังนา และทำอาชีพเสริมเพื่อหารายได้ในยามว่างงาน ต่างน้อมนำแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงมาปรับใช้ในชุมชน กระทั่งถึงปัจจุบันสภาพพื้นที่บ้านห้วยหาด ซึ่งมีผืนดินอยู่ในที่ราบเชิงเขาท่ามกลางหุบเขา มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีแก่งน้ำว้า น้ำตกตาดหลวงส่งผลให้สภาพภูมินิเวศกลับพื้นคืนสภาพได้เกือบเหมือนอดีตมาอีกครั้งหนึ่ง อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้
ไทลื้อทอ กลุ่มทอผ้าบ้านห้วยหาด-หลักลาย จังหวัดน่าน. (2561). เชิญชมสินค้าโอทอปผ้าทอไทลื้อ ของใช้ของฝาก26-30กันยายน 2561. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/
บุญยงค์ เกศเทศ. (2564). “นัยนา” หญิงแกร่งไทลื้อ แห่งบ้านห้วยหาด เมืองน่าน. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2566, จาก https://www.technologychaoban.com/
บุญยงค์ สกสอาด. (2564). ชีววิถี เศรษฐกิจพอเพียง” ที่บ้านห้วยหาด ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2566, จาก https://board.postjung.com/
พระอธิการสมคิดจารธมโม, ประชุม ล้วนปวน และคณะ. (2552). การศึกษารูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านห้วยหลักลายและบ้านห้วยหาด ต.อวน อ.ปัว จ.น่าน (รายงานการวิจัย). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค.
สถาบันลูกโลกสีเขียว. (2562). รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 19. ทัพครีเอชั่น จำกัด.
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2566, จาก https://earth.google.com/