เรือนอาศัยที่ยังคงสร้างตามแบบเรือนจารีตของชาวกะเหรี่ยง และผ้าทองานหัตถกรรมที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในครัวเรือน ด้วยความละเมียดในแต่ละขั้นตอน จึงได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น สินค้าวางขายในหมู่บ้านและตำบลต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง
เรือนอาศัยที่ยังคงสร้างตามแบบเรือนจารีตของชาวกะเหรี่ยง และผ้าทองานหัตถกรรมที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในครัวเรือน ด้วยความละเมียดในแต่ละขั้นตอน จึงได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น สินค้าวางขายในหมู่บ้านและตำบลต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง
จากการค้นคว้าประวัติศาสตร์ของชุมชนยังไม่ทราบที่มาที่แน่ชัด โดยบริเวณชุมชนบ้านแพะมีโรงเรียน ตชด.บ้านแพะตั้งอยู่ จึงทำให้หมู่บ้านมีกิจกรรมและมีโอกาสสัมพันธ์กับกลุ่มคนภายนอกมาก โดยเฉพาะการเสด็จของสมเด็จพระเทพฯ (พระนามในเวลานั้น) มายังโรงเรียน ตชด. บ้านแพะ ในปี พ.ศ. 2544, 2549 และ 2556 มีโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ในโรงเรียน 8 โครงการ เช่น โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน โครงการส่งเสริมโภชนาการสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ โครงการฝึกอาชีพ โครงการส่งเสริมสหกรณ์ โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลักษณะโครงการดังกล่าวคล้ายคลึงกับโครงการในโรงเรียน ตชด. ที่หมู่บ้านเลอตอ แต่ที่บ้านแพะยังไม่ได้รับการส่งสริมจากโครงการหลวงบ้านเลอตอ
นอกจากนี้ยังมีโครงการของบริษัทเอกชนที่เข้ามาร่วมกับทางโรงเรียน ตชด. บ้านแพะ ได้แก่ บริษัท SCG จัดโครงการเยาวชนคนทำดีปีที่ 6 มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์โรงเรียน ตชด. บ้านแพะ ร่วมกับนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย วิทยาลัยนอร์ธเทิร์น
บ้านเรือน ที่บ้านแพะพบว่ามีเรือนอาศัยที่สร้างตามแบบเรือนจารีตของชาวกะเหรี่ยง เป็นเรือนของผู้นำทางพิธีกรรมประจำชุมชน คือ เรือนของฮิโคะ และเรือนของฮิคะ ลักษณะเด่นคือจะสังเกตเห็นผนังเรือนสอบลงมาจากหลังคามายังพื้นเรือนชั้นสอง โครงสร้างเรือนและวัสดุหลักทำจากไม้ไผ่ หลังคาคลุมด้วยใบตองตึง ตรงประตูเข้าเรือนที่อยู่บนชั้นสองของบ้านจะติดตาแหลวไว้ ปกติที่เรือนของผู้นำพิธีนอกจากจะใช้เป็นเรือนอยู่อาศัยแล้ว ยังใช้เป็นเรือนประกอบพิธีกรรมด้วย เช่น ผูกข้อมือ แต่งงาน เลี้ยงผี อย่างไรก็ตามสังเกตเห็นว่าบนเรือนผู้นำพิธีกรรมยังปรากฏการทำช่องบนผนังเพื่อทำเป็นหอตั้งพระพุทธรูปและยื่นออกนอกตัวเรือน ทำให้เห็นว่าชาวกะเหรี่ยงนับถือทั้งระบบความเชื่อดั้งเดิมที่นับถือผีร่วมกับการนับถือพุทธศาสนาด้วยกัน
ในเรือนแบบดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงประกอบด้วยส่วนของตัวเรือนเป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นหน้าเรือน และส่วนในเรือนซึ่งจะมีประตูกั้นเข้าไปภายในอย่างเป็นสัดส่วน ด้านในเรือนจะมีครัวไฟตั้งอยู่ข้างใน เรียกว่า “แม่อู” เหนือครัวไฟมีร้านแขวนไว้เก็บของ เรียกว่า “แม่อูโคะ” ส่วนที่ใกล้ครัวไฟออกมาทางด้านหน้าเรือนจะเป็นที่นอน เหนือที่นอนเป็นหิ้งเก็บของ เรียกว่า “ตะปฺกาโคะ” ส่วนทางด้านหลังเรือนบริเวณหลังครัวไฟจะเป็นที่เก็บของ
เรือนมีสองชั้นลักษณะเป็นเรือนชาน ประกอบด้วยชานหน้าเรือนสองแบบ เมื่อขึ้นบันไดจะเจอชานบันไดเรียกว่า “โตะโคะ” สามารถทำเป็นชานตากข้าวของต่าง ๆ ได้ ถัดจากชานบันไดเข้าไปจะเป็นชานโถงหน้าเรือน มีความกว้างเท่ากับหน้าเรือนทั้งหมด เป็นที่นั่งชุมนุมรวมกันเพื่อประกอบพิธีกรรมได้หลายคน ชานเรือนส่วนนี้เรียกว่า “ซาลาปู” ด้านข้างชานเรือนจะมีหิ้งพระยื่นออกไปนอกตัวเรือนเล็กน้อย เรียกว่า “เหม่โคะลอ”
บ้านแพะเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ จากข้อมูลเว็บไซต์องค์การบริหารส่วนตำบลขะเนจื้อ ชุมชนบ้านแพะ พบจำนวนครัวเรือน 210 ครัวเรือน รวมจำนวนประชากร 591 คน โดยแบ่งเป็นชาย 302 คน หญิง 289 คน
ปกาเกอะญอการเกษตรกรรมทำนาและทำไร่ยังเป็นอาชีพพื้นฐาน หมู่บ้านมีอาชีพเสริมจากการทอผ้าขายเนื่องจากชาวบ้านมีฝีมือในการทอผ้าและยังมีคนที่สามารถทอผ้าได้หลายคนในหมู่บ้าน คนรุ่นใหม่เริ่มนิยมออกไปรับจ้างหางานทำนอกหมู่บ้าน
ในส่วนศาสนา นับถือความเชื่อในเรื่องผีควบคู่ไปกับพุทธศาสนา แม้แต่ในบ้านของผู้นำทางพิธีกรรมตามจารีตประเพณีก็มีทั้งหิ้งบูชาผีและหิ้งบูชาพระพุทธรูปในเรือนของตน
ยังมีผู้ประกอบพิธีกรรมตามจารีตประเพณีของชาวกะเหรี่ยงที่เรียกว่า ฮิโคะ หรือหัวหน้าผู้ประกอบพิธี และ ฮิคะ หรือรองหัวหน้าผู้ประกอบพิธี ทั้งฮิโคะและฮิคะจะทำพิธีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อตามประเพณี เช่น การเลี้ยงผี การแต่งงาน โดยเฉพาะในความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผี มักจะมาทำพิธีที่บ้านของฮิโคะหรือฮิคะ ซึ่งยังสร้างไว้ตามลักษณะเรือนแบบจารีตของชาวกะเหรี่ยงอยู่
1. นายจือ วาจารักษา ผู้ใหญ่บ้าน
ทุนวัฒนธรรม
งานหัตถกรรม บ้านแพะมีงานหัตถกรรมทอผ้าที่โดดเด่น ชาวบ้านมีฝีมือในการทอผ้าและเครื่องแต่งกายของชาวกะเหรี่ยง มีการเปิดร้านขายผ้าทอกะเหรี่ยงในหมู่บ้าน ซึ่งมีทั้งเสื้อผ้ากะเหรี่ยงชาย ราคาประมาณ 300-500 บาท เสื้อผ้ากะเหรี่ยงผู้หญิงราคาประมาณ 300-800 บาท ผ้าซิ่นราคา 700-800 บาท ย่ามราคา 150 บาท ส่วนใหญ่วัตถุดิบในการทอ เช่น ฝ้าย ไม่ได้ปลูกเองในหมู่บ้าน แต่จะสั่งซื้อฝ้ายทอมาจากทางเชียงใหม่ ผ้าทอดังกล่าวนอกจากจะวางขายในหมู่บ้านแล้ว ยังส่งไปขายตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อยู่ตำบลใกล้เคียง เช่น บ้านแม่จะเริง บ้านสามหมื่น บ้านขะเนจื้อ เป็นต้น ช่างทอที่มีฝีมือในหมู่บ้านมีชื่อว่า กรึลอย วาจารักษา และเพชร วาจารักษา อายุประมาณ 50 ปี ทั้งสองคนเป็นญาติกับผู้ใหญ่บ้าน
ภาษาพูด : ภาษากะเหรี่ยง (Karen)
ภาษาเขียน : ไม่ปรากฏ
สถานการณ์ภาษา : เด็กรุ่นใหม่เริ่มพูดภาษากะเหรี่ยงได้น้อยลง
ลักษณะเรือนตามแบบจารีตประเพณีของชาวกะเหรี่ยงที่บ้านแพะ ยังมีความสมบูรณ์และแสดงแบบแผนของเรือนจารีตชาวกะเหรี่ยงได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นเรือนของบุคคลสำคัญทางพิธีกรรมคือฮิโคะและฮิคะ ดังนั้นจึงน่าจะมีโครงการในการช่วยอนุรักษ์รักษาเรือนแบบจารีตของชาวกะเหรี่ยงที่บ้านแพะ ให้เป็นเรือนตัวอย่างทางประเพณีที่จะมิได้ถูกทำลายให้สูญหายไปในอนาคต
พิเชฐ สายพันธ์. (2562). พลวัตชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ในเขตตอนบนจังหวัดตากและจังหวัดกำแพงเพชร ชุดโครงการศึกษาวิจัยพลวัตของชุมชนชาติพันธุ์เพื่อการสร้างแผนที่วัฒนธรรมมีชีวิต ปีที่ 1 (พ.ศ. 2562). ปทุมธานี: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ค้นคืนเมื่อ 28 ธันวาคม 2565, จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/research-item-search.php?ob_id=235
องค์การบริหารส่วนตำบลขะเนจื้อ อ.แม่ระมาด จ.ตาก. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไป. ค้นจาก https://www.khanejue.go.th/condition.php