
ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทกวน บ้านนาถ่อน ร่วมไหว้ขอพรปู่ตาแสง ภูมิปัญญาทอผ้าลายขิด เครื่องจักสานจากกก อัศจรรย์เกษตรอินทรีย์ ชีวีวิถีหัตถกรรมตีเหล็ก
ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทกวน บ้านนาถ่อน ร่วมไหว้ขอพรปู่ตาแสง ภูมิปัญญาทอผ้าลายขิด เครื่องจักสานจากกก อัศจรรย์เกษตรอินทรีย์ ชีวีวิถีหัตถกรรมตีเหล็ก
ชาวบ้านนาถ่อนเดิมทีสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าไทกวน หรือข่าเลิง ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองหลวงปุงลิง (เมืองป่ง) บริเวณแม่น้ำเซน้อย ทางตอนบนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ใน พ.ศ. 2343 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดสงครามระหว่างรัฐสยามกับญวน (เวียดนาม) บ่อยครั้ง ทางราชการจึงมีนโยบายให้กวาดต้อนอพยพผู้คนจากทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่มีอาณาเขตใกล้แดนญวนให้มาตั้งถิ่นฐานตามหัวเมืองฝั่งขวาแม่น้ำโขง คือ ภาคอีสานในปัจจุบันให้มากที่สุดเพื่อความปลอดภัยและไม่ให้เป็นกําลังแก่ญวนต่อไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯให้พระมหาสงครามและเจ้าอุปราชเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ เกณฑ์กองทัพจากหัวเมืองต่าง ๆ คือ เมืองนครพนม เมืองมุกดาหาร เมืองสกลนคร เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี เมืองหนองคาย เมืองเขมราช และเมืองอุบล ยกข้ามแม่น้ำโขงเข้าตีเมืองต่าง ๆ ได้แก่ เมืองวัง เมืองตะโปน (เซโปน) เมืองพิณ เมืองนอง เมืองเชียงฮ่ม เมืองวัง เมืองเหล่านี้มีทั้งชาวผู้ไท กะโซ่ แสก ญ้อ โย้ย และเมืองปุงลิงซึ่งเป็นชาวข่า และได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองเหล่านั้นให้ข้ามมาอยู่ฝั่งไทย ตั้งเป็นเมืองต่าง ๆ ในท้องที่เมืองนครพนม เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร และเมืองกาฬสินธุ์ ต่อมาราว พ.ศ. 2374 ชาวไทกวนถูกจีนฮ่อและญวนยกทัพเข้ามารุกราน จึงอพยพหลบหนีลงมาตามลำน้ำเซบั้ง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนอีกพวกหนึ่งได้พากันอพยพข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งประเทศไทย โดยการนำของท้าวไชยทรงยศ มาตั้งถิ่นฐานบริเวณปากน้ำห้วยบังฮวก ในดินแดนที่เป็นเมืองมรุกขนครเดิม หรือบ้านดอนนางหงส์ในปัจจุบัน รวมถึงบริเวณที่เรียกว่าบ้านช้างตัวกกตาล และบ้านช้างโพนจิก ริมห้วยบังฮวก
ต่อมาเกิดอหิวาต์ระบาด ประกอบกับเกิดภัยแล้ง จึงได้พากันอพยพขึ้นไปทางทิศเหนือตามลําห้วยบังฮวกเพื่อหาทําเลที่อุดมสมบูรณ์เหมาะที่จะตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ในที่สุดก็พบพื้นที่ราบลุ่มผืนใหญ่ มีป่าไม้ถ่อนปกคลุมร่มเย็นน่าอยู่อาศัย และมีความอุดมสมบูรณ์ โดยรอบเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก จึงได้ย้ายบ้านมาตั้งบ้านเรือนแห่งใหม่อยู่บริเวณที่เป็นป่าดงไม้ถ่อน บริเวณหัวดงทางใต้ (ตรงกับวัดศรีมงคลในปัจจุบัน) แล้วเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านนาถ่อน” ขึ้นตรงต่อหัวเมืองเรณู ต่อมามีการยุบเมืองเรณูนครเป็นตําบล และได้ตั้งบ้านธาตุพนมเป็นอําเภอ บ้านนาถ่อนจึงได้ย้ายมาขึ้นกับอําเภอธาตุพนมจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การอธิบายเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนชาวไทกวนบ้านนาถ่อนค่อนข้างสับสนเกี่ยวกับเหตุการณ์และลำดับเวลา แต่สรุปได้ว่าชาวไทกวนบ้านนาถ่อนอพยพมาอยู่ที่บริเวณมรุกขนครก่อน แล้วจึงค่อยย้ายมาอยู่บริเวณบ้านนาถ่อนปัจจุบัน ซึ่งเหตุการณ์อพยพนี้น่าจะเกิดขึ้นราวช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24
บ้านนาถ่อน ตั้งอยู่ในพื้นที่ปกครององค์การบริหารส่วนตำบลนาถ่อน ภูมิประเทศโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมไม่ถึง มีลำห้วยบังฮวกไหลผ่าน และมีลำน้ำโขงเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ สภาพภูมิอากาศมีลักษณะแบบร้อนแห้งแล้ง แบ่งเป็น 3 ฤดูกาล ดังนี้
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ เดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์
ชาวบ้านนาถ่อน คือ กลุ่มคนที่สืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าข่าเลิง หรือที่รู้จักกันในนามชาวไทกวน ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองหลวงปุงลิง (เมืองป่ง) บริเวณแม่น้ำเซน้อย ทางตอนบนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อนอพยพย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานให่ในดินแดนสยามตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แล้วรวมกันก่อตั้งบ้านนาถ่อนขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 24 บ้านนาถ่อนเดิมทีมี 2 หมู่ คือ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 หรือเดิมทีเรียกว่าคุ้มบ้านเหนือและคุ้มบ้านใต้ ต่อมาใน พ.ศ. 2529 ได้แยกหมู่ที่ 1 ออกเป็นหมู่ที่ 12 และเมื่อมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นอีกจึงได้แยกหมู่บ้านอีกครั้งเป็นหมู่ที่ 14 ทำให้ในปัจจุบัน บ้านนาถ่อนมีทั้งสิ้น 4 หมู่ ด้วยกัน ได้แก่ หมู่ที่ 1, 2, 12, 14 โดยสถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์รายเดือนได้รายงานจำนวนประชากรบ้านนาถ่อนแยกรายหมู่ ดังนี้
- บ้านนาถ่อนทุ่ง หมู่ที่ 1 มีประชากรทั้งสิ้น 287 หลังคาเรือน 952 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 449 คน ประชากรหญิง 503 คน
- บ้านนาถ่อนทุ่ง หมู่ที่ 2 มีประชากรทั้งสิ้น 303 หลังคาเรือน 852 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 405 คน ประชากรหญิง 447 คน
- บ้านนาถ่อนเหนือ หมู่ที่ 12 มีประชากรทั้งสิ้น 206 หลังคาเรือน 578 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 282 คน ประชากรหญิง 296 คน
- บ้านนาถ่อน หมู่ที่ 14 มีประชากรทั้งสิ้น 196 หลังคาเรือน 604 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 315 คน ประชากรหญิง 289 คน
ในกรณีประเด็นที่มาและการเรียกตัวเองว่าไทกวนของชาวบ้านนาถ่อนยังมีข้อสังเกตหลายประการ เช่น ชาวไทกวนบ้านนาถ่อนไม่มีสำเนียงภาษาที่เป็นลักษณะเฉพาะเหมือนกับชนเผ่าอื่น ๆ แต่ชาวไทกวนบ้านนาถ่อนใช้ภาษาไทญ้อในการสนทนาสื่อสารระหว่างกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าชาวไทกวนเองน่าจะเป็นกลุ่มคนเดียวกันกับชาวไทญ้อ หากแต่มีถิ่นฐานบ้านเดิมตั้งอยู่ในบริเวณกวน เมื่อเกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านนาถ่อนจึงเรียกตัวเองว่า “ไทกวน” ก็เป็นได้
ญ้อชาวบ้านนาถ่อนส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบเกษตรอินทรีย์ทั้งการทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และตีเหล็ก และยังมีกลุ่มทอผ้า กลุ่มจักสาน กลุ่มทำแหนม และกลุ่มทำขนมจีนไม่ใช้แป้งแต่ใช้ข้าวหมักแทน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีรายได้จากบูรณาการต้นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว แล้วพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทกวน โดยการนำเอาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตมาเป็นประยุกต์ในการคิดค้นสร้างสรรค์กิจกรรมสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเข้ามาร่วมสัมผัสวิถีชีวิตแบบชุมชนอย่างแท้จริง ทั้งสปาเกลือ การเรียนรู้การทำจักสาน เครื่องมือประมง ไร่นาสวนผสม เรียนรู้การถนอมอาหารท้องถิ่น เช่น หนังเค็ม ชมสาธิตการตีเหล็ก การทอผ้า และการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวที่ชาวบ้านนาถ่อนมักพูดติดปากกันว่า “เสร็จนา หญิงทอผ้า ชายตีเหล็ก” รวมถึงร่วมอนุรักษ์ประเพณีและความเชื่อโบราณของชาวไทยกวนผ่านประเพณีบุญฮีตสิบสอง รำผีหมอ ประเพณีเลี้ยงแสง ประเพณีกินดอง และงานบุญเดือนสาม ออกใหม่สามค่ำ ที่มีประวัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งผลจากการพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวนี้ ได้ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้หลากหลายช่องทาง เกิดอาชีพใหม่ที่หลากหลาย อาทิ การทำโฮมสเตย์ บริการนำเที่ยว เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างทั่วถึง ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ และดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความพออยู่ พอกิน อย่างพอเพียง อันเป็นผลมาจากภูมิปัญญาประยุกต์ที่ชาวนาถ่อนร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น แตกต่างจากเดิมที่ชาวบ้านมีรายได้หลักมาจากการทำเกษตรกรรม ทอผ้า ตีเหล็ก และการจักสานเท่านั้น ซึ่งบางครั้งก็ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายจุนเจือครอบงครัว
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
- มีด พร้า และเครื่องผลิตภัณฑ์จากการตีเหล็ก (OTOP)
- เกลือสปาสูตรบ่อเกลือไทกวนนาถ่อน (OTOP)
- เครื่องจักสาน (กระติบข้าว กระเป๋ากก ไซ ข้อง ฯลฯ)
- พวงกุญแจตุ๊กตาไทกวนน้อย
ศาสนาและความเชื่อ
พระพุทธศาสนา คือ ศาสนาที่ชาวบ้านนาถ่อนเลื่อมใสศรัทธากันมาอย่างยาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ นอกจากชาวบ้านนาถ่อนจะมีความศรัทธาในพระพระพุทธศาสนาแล้ว ชาวบ้านยังคงมีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ดวงวิญญาณ ภูตผี หรือจิตวิญญาณ ซึ่งโดยปกติจะเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยชาวบ้านเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติเหล่านี้มีอิทธิพลส่งผลให้เกิดทั้งความเจริญก้าวหน้าและภัยพิบัติแก่หมู่บ้าน โดยมีอยู่ 2 ประเภทหลัก ดังนี้
1) ศาลปู่ตาแสง หรือศาลหลักเมือง ตั้งอยู่บริเวณปากห้วยบังฮวก เป็นศาลปู่ตาที่เชื่อว่าอยู่คู่ชุมชนบ้านนาถ่อนมาตั้งแต่อพยพมาอยู่บริเวณนี้เมื่อราว พ.ศ.2360 ศาลปู่ตาแสงนี้ถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทกวนบ้านนาถ่อนก็ว่าได้ แต่ก่อนชาวบ้านเรียกว่า “ดอนหอ” ซึ่งมีต้นกระบกขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ 2 ต้น เป็นต้นกระบกใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครพนม แต่ยืนต้นตายเมื่อราว 10 ปีมาแล้ว โดยในวันที่ 25 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันที่ชาวบ้านจะประกอบพิธีกรรมบวงสรวงปู่ตาแสง ซึ่งจะมีพิธีรำบวงสรวงศาลปู่ตาแสงด้วย นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าพ่อซังกกยางอี หนึ่งในสถานที่ที่ชาวบ้านนาถ่อนในความเคารพเป็นอย่างมากเช่นเดียวกับศาลปู่ตาแสง
2) ความเชื่อเกี่ยวกับอาชีพตีเหล็ก โดยในวันพระหรือวันศีลจะมีการนำดอกไม้ ธูปเทียนมาไหว้บูชา วางไว้กับเครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพตีเหล็ก และหากวันใดมีคนในหมู่บ้านเสียชีวิต ในวในนั้นจะต้องหยุดตีเหล็กทันที รอจนกว่าพิธีศพจะเสร็จสิ้นจึงจะกลับมาตีต่อได้
ประเพณีและงานบุญสำคัญ
เนื่องจากบ้านนาถ่อนเป็นชุมชนที่ปรากฏการนับถือพระพุทธศาสนาควบคู่กับการานับถือผีบรรพบุรุษ ประเพณีที่ถือปฏิบัติจึงเต็มไปด้วยรูปแบบการผสมผสานระหว่างคติแบบพุทธ วิธีแบบพราหมณ์ และพิธีกรรมแบบผี เช่น การรำบวงสรวงศาลปู่ตาแสง การฟ้อนรำไทกวน ที่เลียนแบบท่าทางของสัตว์ป่า ได้แก่ ช้างขึ้นภู งูเล่นหาง กวางโชว์เขา เสือออกเหล่า เต่าออกลาย ควายตั้งท่า ม้าออกศึก ระทึกกระทิงเปลี่ยว ขับเคี่ยวขบวนลิง สิงห์คำราม
1) บุญแห่เทียนเข้าพรรษา จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นประจำทุกปี
2) บุญพระเวส (บุญผะเหวด, บุญเทศน์มหาชาติ) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน เป็นประจำทุกปี
3) บุญใจบ้าน เป็นประเพณีการทำบุญเพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีหรือสิ่งอัปมงลให้ออกไปจากหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะทำการก่อกองทรายและนำธงแดงมาปักไว้ที่กองทราย พระทำพิธีสวดมนต์และรดน้ำมนต์ให้แก่ชาวบ้านเพื่อสร้างเสริมสิริมงคล โดยบุญใจบ้านนี้จะจัดขึ้นทุกวันเพ็ญเดือน 7 ของทุกปี
4) ประเพณีการแต่งงานของชาวนาถ่อน (กินดอง) ชาวบ้านนาถ่อน มีประเพณีการแต่งงานที่เป็นเอกลักษณ์และมีความแตกต่างจากประเพณีการแต่งงานที่พบเห็นทั่วไป คือ ในการการทาบทามสู่ขอจะมีญาติผู้ใหญ่ของเจ้าบ่าวมาสู่ขอเรียกว่า “พ่อล่าม แม่ล่าม” พร้อมเงินค่าสินสอด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เงินค่าไชปาก และเตรียมขันธ์ 5 ไปสู่ขอ เมื่อถึงวันแต่งงานฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องมีการรําเพื่อเป็นการเปิดประตูบ้านเจ้าสาว โดยที่ทางเจ้าบ่าวต้องเตรียมเครื่องสําหรับเช่นไหว้ผีบรรพบุรุษของเจ้าสาว คือ เหล้า 4 ไห ไก่ 5 ตัว ผ้าผืน แพรผืน ฮับไข่ (ซองไข่) ถุงงา ซี้นหาม (เนื้อวัวห้อย) ปลาหาบ พร้อมเงินสินสอด หลังเสร็จสิ้นพิธีจะเป็นการขอพรจากญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายโดยมีสิ่งของ เช่น หมอน เสื่อ เป็นของไหว้ หลังจากนั้นจึงส่งตัวเจ้าบ่าว เจ้าสาวเข้าห้องหอ โดยตามธรรมเนียมแล้วมักนิยมให้ฝ่ายชายย้ายมาอยู่กับฝ่ายหญิง
5) พิธีไหว้ครูบูชาเตา เป็นพิธีกรรมที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อชาวบ้านนาถ่อน เนื่องจากเป็นพิธีกรรมเก่าแก่ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกับอาชีพตีเหล็กมีดพร้า ซึ่งเป็นอาชีพของชาวนาถ่อน อันมีนัยถึงการบูชา ขอบคุณ และขอขมาเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ โดยในแต่ละปี ผู้เฒ่าผู้แก่จะร่วมปรึกษาหาฤกษ์เลือกวันมงคล เมื่อกำหนดวันแน่นอนแล้ว ในวันที่มีการประกอบพิธีกรรมจะมีการนำอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับการตีเหล็ก มีดพร้า มาวางเรียงรายเป็นระเบียบ เตรียมเครื่องสังเวย ได้แก่ หมู ไก่ สุรา ขันธ์ 5 ดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องบูชาพระภูมิ เครื่องบูชาพระแม่ธรณี และเครื่องบูชาพระวิษณุกรรม เมื่อจุดธูปไหว้เครื่องสังเวยจนหมด จะทำการ “เสสัง” หรือการลาเลิกพิธี นำสายสิญจน์ผูกโยงกับเครื่องมือทุกชิ้น เจิมด้วยแป้งกระแจหอมและติดด้วยทองคำเปลว ชาวบ้านเชื่อว่าผลของการประกอบพิธีกรรมไหว้ครูบูชาเตาเป็นประจำทุกปี จะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ทำมาค้าขาย มั่งมีจากการประกอบอาชีพ
6) ประเพณีเลี้ยงแสง (ปู่ตาแสง)
7) ประเพณีรำผีหมอ
8) ประเพณีลงแขกดำนา, เกี่ยวข้าว
9) ประเพณีทำบุญฮีตสิบสอง (เดือนอ้ายบุญเข้ากรรม เดือนยี่บุญคูณลาน เดือนบุญข้าวจี่ เดือนสี่บุญพระเหวดฟังเทศน์มหาชาติ เดือนห้าบุญสงกรานต์ เดือนหกบุญบั้งไฟ เดือนเจ็ดบุญซำฮะ เดือนแปด บุญเข้าพรรษา เดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน เดือนสิบบุญข้าวสาก เดือนสิบเอ็ดบุญออกพรรษา เดือนสิบสองบุญกฐิน)
10) ประเพณีบุญเดือน 3 ออกใหม่ 3 ค่ำ
อาหารท้องถิ่น
- ต้มไก่ลาดบ้านใส่ใบมะขามอ่อน
- แจ่วหนังเค็ม
- อ่อมขี้เหล็กใส่หนังเค็ม
- แกงซ่อน ลาบเทา
ปราชญ์ด้านภูมิปัญญาชุมชน
1.นายประสิทธิ์ พิมพา : ปราชญ์ภูมิปัญญาด้านการตีเหล็ก
2.นางสนิท คำเป้า : ปราชญ์ภูมิปัญญาด้านการจักสานเครื่องมือประมง
3.นางอำพร นันชนะ : ปราชญ์ภูมิปัญญาด้านการทำสปาเกลือ
4.นางเพล่งศรี ปราณีนิตย์ : ปราชญ์ภูมิปัญญาด้านการทำหนังเค็มและแจ่วหนังเค็ม
ปราชญ์ด้านวัฒนธรรม
1.นายเฉลิม วีระวงศ์ : ปราชญ์วัฒนธรรมการเลี้ยงแสง (ผู้นำการประกอบพิธีกรรม)
2.นายวีระศักดิ์ ศรีสมุทร : ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมชนเผ่าไทกวน
3.นางวัน คำไพ : ปราชญ์วัฒนธรรมการรำผีหมอ
4.นายวันที ยศประสงค์ : ปราชญ์วัฒนธรรมหมอสูตรขวัญ หรือหมอสู่ขวัญ (ผู้นำการประกอบพิธีกรรมทางพราหมณ์)
แหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมเผ่าไทกวน บ้านนาถ่อน
บ้านนาถ่อน นับว่าเป็นอีกหนึ่งชุมชนแหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมของชาไทกวน เนื่องจากภายในชุมชนมีทั้งพิพิธภัณฑ์เผ่าไทยกวน สมัยเชียงรุ้ง เป็นสถานที่เก็บรักษาพระพุทธรูป เงินโบราณ กำไล ภาชนะดินเผาและโบราณวัตถุอื่น ๆ และศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไทกวนบ้านนาถ่อน ซึ่งมีการจัดบรรยายเพื่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม รวมถึงซุ้มสาธิตการตีเหล็ก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับหมู่บ้าน โดยการก่อตั้งแหล่งเรียนรู้ดังกล่าวนี้เกิดจากแนวความคิดของพระครูสิริปัญญาวุฒิ อดีตเจ้าคณะอำเภอธาตุพนม อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีสุมังคล์ บ้านนาถ่อนท่า ซึ่งเป็นชาวไทกวน ได้มีความชื่นชอบ สนใจ และสะสมโบราณวัตถุที่พบในบริเวณชุมชน รวมทั้งรับซื้อและรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา แล้วรวบรวมโบราณวัตถุที่สะสมทั้งหมดจัดแสดงภายในตู้ตั้งไว้บนศาลาการเปรียญ พร้อมทั้งตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ภายใต้ชื่อ “พิพิธภัณฑ์เผ่าไทยกวน สมัยเชียงรุ้ง วัดศรีสุมังคล์” เมื่อราว พ.ศ. 2535 ทว่า ภายหลังพระครูสิริปัญญาวุฒิมรณภาพ โบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เคยจัดแสดงก็ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ในห้องที่ทำด้วยลูกกรงเหล็ก เพื่อป้องกันการโจรกรรม แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจในเรื่องการดูแลทำความสะอาด แต่อย่างไรก็ดี การจัดทำพิพิธภัณฑ์เผ่าไทยกวน สมัยเชียงรุ้ง วัดศรีสุมังคล์ ก็เป็นสาเหตุให้ชาวบ้านนาถ่อนมีความตื่นตัวและสร้างสำนึกร่วมความเป็นชาวไทกวนขึ้นมา พยายามสร้างอัตลักษณ์ของตนเองผ่านวัฒนธรรมและการแต่งกาย โดยพยายามเน้นการแต่งกายสีดำ-เหลือง เพื่อสร้างความแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในจังหวัดนครพนม และทำให้เกิดความพยายามในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายในบ้านนาถ่อนขึ้น
พิพิธภัณฑ์เผ่าไทยกวน สมัยเชียงรุ้ง วัดศรีสุมังคล์ ภายในมีการเก็บรักษาพระพุทธรูป เงินโบราณ กำไล ภาชนะดินเผา และโบราณวัตถุอื่นๆ เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเพียงที่เก็บรักษาโบราณวัตถุ และไม่มีความพร้อมสำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด นอกจากนี้ ภายในวัดศรีสุมังคล์ยังมีหอแจกหรือศาลการเปรียญไม้ยกพื้นที่มีความน่าสนใจทางด้านศิลปกรรมอีกด้วย
ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไทกวนบ้านนาถ่อน ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนนาถ่อนวิทยานุกูล โดยมีการปรับปรุงอาคารเรียนของโรงเรียนนาถ่อนวิทยานุกูล ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมเป็นศูนย์การเรียนรู้เมื่อราว พ.ศ. 2560 และใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรม ฟังบรรยาย และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของสภาวัฒนธรรมตำบลนาถ่อน ขณะนี้อาคารศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไทกวนบ้านนาถ่อนกำลังอยู่ในช่วงปรับปรุง มีการใช้งานเฉพาะลานวัฒนธรรมใต้ถุนอาคารเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงซุ้มสาธิตการตีเหล็ก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมด้านการประกอบอาชีพที่สำคัญของชาวไทกวนบ้านนาถ่อนในปัจจุบันอีกด้วย
ภูมิปัญญาการตีเหล็ก
อาชีพตีเหล็ก เป็นอาชีพที่อยู่คู่กับชาวไทกวนบ้านนาถ่อนมาอย่างยาวนาน โดยอาชีพตีเหล็กนี้เกิดจากแนวคิดของขุนพินิจอักษร แสนเสร็จ กำนันตำบลนาถ่อนในขณะนั้นมีความคิดเห็นว่าเมื่อยามว่างเว้นจากการทำนา ชาวบ้านควรมีอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ ทั้งเพื่อไม่ให้ใช้เวลาว่างไปมั่วสุมกับอบายมุข จึงได้ปรึกษากับบาทหลวงซาเวียร์ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสจากเมืองเชียงหว่าง แขวงคำม่วน ประเทศลาว ผู้นำช่างตีเหล็กชาวญวณพร้อมอุปกรณ์มาสอนวิธีการตีเหล็กให้แก่ชาวบ้านนาถ่อน แล้วสืบทอดให้ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน โดยเครื่องมือและอุปกรณ์ตีเหล็กของช่างตีเหล็กชาวนาถ่อนมีรายละเอียด ดังนี้
1) เตาเผาเหล็ก (Forge) เป็นแหล่งให้ความร้อนแก่ชิ้นงานที่จะนำไปขึ้นรูป โดยเตาเผาเหล็กจะมีทั้งเตาถ่าน เตาไฟฟ้า และเตาแก๊ส สำหรับเตาเผาเหล็กแบบดั้งเดิมของชาวบ้านนาถ่อนจะมีลักษณะเป็นเตาถ่านที่มีรูปแบบง่าย ๆ มีต้นทุนต่ำ ก่อด้วยอิฐทนไฟแล้วเคลือบด้วยดินเหนียว มีท่อสูบลม 2 ท่อ มีด้ามดันขึ้น-ลงเหมือนสูบจักรยาน แต่ปัจจุบันนิยมใช้พัดลมเป่าแทน
2) ทั่งตีเหล็ก (Anvil) คือ เครื่องมือที่ใช้ในการรองแรงตีด้วยค้อนในการขึ้นรูป ทั่งจะมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมหรือวงกลมฝังลงไปในฐานที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง
3) ค้อน (Hammer) เป็นเครื่องมือสำหรับตอก ตี ทุบ โดปกติจะประกอบด้วยเหล็กกับด้ามไม้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ค้อนตีพะเนิน เป็นค้อนขนาดใหญ่ หรือเรียกว่า ค้อนปอนด์ ค้อนขึ้นรูป เป็นค้อนขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง ใช้สำหรับตีขึ้นรูปและตีตกแต่งชิ้นงาน
4) คีมจับชิ้นงาน (Tongs) หรือเรียกว่า คีมจับเหล็กร้อน โดยลักษณะการใช้งานจะเลือกรูปร่างของคีมที่เหมาะกับรูปแบบงาน เช่น คีมปากแบน คีมปากกลาง คีมปากเหลี่ยม
5) อ่างชุบแข็ง มีลักษณะเป็นอ่างทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 80 เซนติเมตร ทำจากปูนซีเมนต์
6) เหล็ก เป็นวัสดุที่สำคัญที่สุดในการตีเหล็ก ทั่วไปแล้วเหล็กมีอยู่หลายประเภท แต่สำหรับเหล็กที่ช่างตีเหล็กบ้านนาถ่อนนำมาใช้ตีมีดพร้ามีอยู่ 2 ประเภท คือ เหล็กกล้าคาร์บอนและเหล็กกล้าผสม เช่น เหล็กที่เป็นชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ผานไถ ใบตัดหินอ่อน
อย่างไรก็ตาม การจะตีมีดพร้าให้ได้คุณภาพดีนั้นส่วนหนึ่งก็ย่อมมาจากการคัดเลือกเหล็กที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ ช่างตีเหล็กบ้านนาถ่อนจึงมีภูมิปัญญาสำหรับตรวจสอบคุณสมบัติและคัดเลือกเหล็กโดยเฉพาะ อาทิ การทดสอบเหล็กเก่า มีวิธีการ ดังนี้
- เคาะฟังเสียง โดยการนำเหล็กมาแขวนหรือจับไว้แล้วเคาะฟังเสียง หากเสียงกังวาลใสอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นเหล็กกล้าคาร์บอนหรือเหล็กปกล้าผสม แต่ถ้ามีเสียงดังตุบตุบ อาจสันนิษฐานว่าเป็นประเภทเหล็กอ่อน
- ตีเหล็กเป็นชิ้นเล็กและบาง โดยการนำเหล็กมาทดลองเผาไฟแล้วนำไปตีให้บางที่สุด นำไปเผาไฟอีกครั้งแล้วนำไปจุ่มน้ำเย็น เมื่อเย็นนำมาหักดู ถ้าเหล็กเปราะหรือสามารถหักได้ให้สันนิษฐานว่าเป็นเหล็กกล้าคาร์บอน แต่หากหักแล้วเหล็กไม่ขาดจากกันสันนิษฐานได้ว่าเป็นเหล็กเหนียวอ่อน
ชาวบ้านนาถ่อนมีภาษาถิ่นไทญ้อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะทั้งด้านสำเนียงและความหมาย อาทิ มีการออกเสียงสระ โอะ เป็นสระโอ๊ะ เช่น คำว่า ไปโบ๊ะ หมายถึง ไปหรือเปล่า, เอาโบ๊ะ หมายถึง จะเอาของสิ่งนั้นไหม ออกเสียงสระเอะ เป็นเอ๊ะ เช่น คำเรียกขานพ่อและแม่ คือ อีโพ๊ะ หมายถึง พ่อ อีเม๊ะ หมายถึง แม่
ด้วยกระแสความเจริญทางด้านวัตถุและโลกาภิวัฒน์รวมถึงกระแสความเจริญก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายต่อบริบททางสังคมและวิถีชีวิตของชาวบ้านนาถ่อน โดยเฉพาะการตีมีดที่แต่เดิมนั้นมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อนำมาใช้ในการประกอบอาชีพ ดำรงชีวิตให้อยู่รอด ทว่าเมื่อสังคมเกิดพลวัต การตีมีดถูกปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากเพื่อยังชีพมาเป็นการค้าขายโลหกรรมเชิงพาณิชย์ มีการนําเอาเครื่องจักรและเครื่องทุ่นแรงมาใช้ทดแทนคน อาทิ การใช้เครื่องจักรมาใช้ในกระบวนการตีมีดแทนแรงงานคน เนื่องจากสามารถผลิตได้ครั้งละจํานวนมาก ๆ ผลจากกระแสความเจริญส่งผลให้เกิดการเสื่อมถอยทางด้านวัฒนธรรมและประเพณี ความเชื่อในพิธีกรรมเก่าแก่ลดน้อยลง ที่เด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็นการงดพิธีไหว้ครูบูชาเตาในวันพระ คงเหลืออยู่เพียงการทำบุญประจำปี อย่างไรก็ตาม ประเพณีพิธีกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบูชา บวงสรวง เครื่องมือเครื่องใช้และการตีมีดของชาวไทกวนบ้านนาถ่อนก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เคร่งครัดมากเท่าในอดีต โดยจะกระทำในรูปแบบของการรวมตัวกันของชาวบ้านในการทำบุญนั้น ๆ ประจำปี
ชุมชนคนนครพนม Nakhon Phanom Community. (2563). สถานีรถไฟอยู่ตรงไหน!? เปิดพิกัดสถานี "นครพนม" และ "มุกดาหาร" 12 สถานี รวมสะพานมิตรภาพ 2-3 ธาตุพนม เรณู นาถ่อน บ้านกลาง หว้านใหญ่ นิคมคำสร้อย ป่งแดง บ้านดานคำ(ภูผาเจีย). จาก https://web.facebook.com/NakhonPhanomCommunity/
ณัฐชนันท์ ปลายเนตร. (2556). การพัฒนาและอนุรักษ์วัฒนธรรมโดยการใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนกับการจัดการความรู้เป็นฐาน กรณีศึกษาวัฒนธรรมการตีเหล็กชุมชนบ้านนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. กลุ่มงานวิจัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.
ธีระพงษ์ พลรักษ์. (2561). บ้านของคนไทยกวนตั้งอยู่ตรงนี้มาเนิ่นนานนับร้อยปี หลายสิ่งถูกสืบทอดและเติบโตขึ้นตามวันเวลา. จาก https://web.facebook.com/osotho/posts/
ศาลากลางจังหวัดนครพนม. (ม.ป.ป.). ชนเผ่าไทกวน. จาก http://www2.nakhonphanom.go.th/
Pasiree Paraichani. (2562). (Full Blog) ชีวิตดีๆที่บ้านนาถ่อน จ.นครพนม. จาก https://th.readme.me/p/26274
Thailandvillageacademy. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชนเผ่าไทกวนบ้านนาถ่อน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม. จาก https://www.thailandvillageacademy.com/
ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. (2563). แหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมเผ่าไทกวน บ้านนาถ่อน. จาก https://db.sac.or.th/museum/