Advance search

บ้านเกาะสิเหร่

บ้านเกาะสิเหร่

วิถีชีวิตชาวใต้และอูรักลาโวยจ มีชายหาดสวยงามเหมาะแก่การพักผ่อน ผลิตภัณฑ์ชุมชนไข่มุกจากท้องทะเล วิถีชีวิตและประเพณีชาวเลอูรักลาโวยจ

หมู่ที่ 1
เกาะสิเหร่
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
ขวัญจิต ศรีจำรัส
5 ก.ค. 2023
อัจจิมา หนูคง, สรวิชญ์ ชูมณี
30 ส.ค. 2023
จิรัชยา สีนวล
29 ม.ค. 2024
บ้านเกาะสิเหร่
บ้านเกาะสิเหร่

เกาะสิเหร่ตั้งอยู่ในตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานกว่า 100 ปี ในสมัยก่อนบ้านเกาะสิเหร่ เต็มไปด้วยต้นพลูจืด สภาพพื้นที่เป็นเกาะเล็กๆ ติดกับอำเภอเมืองภูเก็ต ต่อมาชาวเลได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่บนเกาะซึ่งมีต้นพลูจืดเป็นจำนวนมาก ชาวเลที่อพยพเข้ามาอาศัยนั้น ใช้ภาษา ยาวี และเรียกต้นพลูจืดว่า “ต้นสิเหร่” ซึ่งเป็นภาษาที่ชาวเลใช้พูดกัน ต่อมาหมู่บ้านนี้จึงได้ถูกขนานนามว่า “บ้านเกาะสิเหร่”


วิถีชีวิตชาวใต้และอูรักลาโวยจ มีชายหาดสวยงามเหมาะแก่การพักผ่อน ผลิตภัณฑ์ชุมชนไข่มุกจากท้องทะเล วิถีชีวิตและประเพณีชาวเลอูรักลาโวยจ

เกาะสิเหร่
หมู่ที่ 1
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
83000
เทศบาลตำบลรัษฎา โทร.0-7652-5779-85
7.874919611
98.421650842
เทศบาลตำบลรัษฏา

บ้านเกาะสิเหร่ หมู่ที่ 1 ตั้งอยู่ในตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานกว่า 100 ปี ในสมัยก่อนบ้านเกาะสิเหร่ เต็มไปด้วยต้นพลูจืด สภาพพื้นที่เป็นเกาะเล็กๆ ต่อมาชาวเลได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่บนเกาะ ซึ่งมีต้นพลูจืดเป็นจำนวนมาก ชาวเลที่อพยพเข้ามาอาศัยนั้น ใช้ภาษายาวีและเรียกต้นพลูจืดว่า “ต้นสิเหร่” ซึ่งเป็นภาษายาวีที่ชาวเลใช้พูดกัน ต่อมาหมู่บ้านนี้จึงได้ถูกขนานนามว่า “บ้านเกาะสิเหร่” 

ในปัจจุบันได้มีคนไทยเป็นคนพื้นที่เดิมและคนต่างถิ่นได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทางราชการได้เข้ามาสร้างท่าเรือประมง องค์การสะพานปลา สถานีอนามัย และโรงเรียนเกาะสิเหร่ เป็นต้น บ้านเกาะสิเหร่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 42 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบเรียกว่าเกาะสิเหร่ โดยมีคลองท่าจีนกั้นระหว่างแผ่นดินใหญ่ และมีสะพานเชื่อมเพื่อการคมนาคมระหว่างเกาะกับแผ่นดินของเกาะภูเก็ตซึ่งอาจจะนับเป็นเกาะแยกออกมาหรือเป็นพื้นที่ของเกาะภูเก็ตก็ได้ ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาและมีที่ราบชายฝั่งทะเลและบริเวณคลองท่าจีนประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพ ประมง เก็บหอย หาหอยมุก "สิเหร่" ภาษา ยาวี มลายู แปลพลู ใบพลู จากภาษาชาวเลว่า "ปูเลาสิเหร่" หมายถึง "เกาะพลู" (ปูเลา แปลว่า เกาะ, สิเหร่แปลว่า พลู เคี้ยว) 

ข้อมูลที่ได้จากหนังสือ ถลาง ภูเก็ต และชายฝั่งอันดามันโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และเศรษฐกิจ กรมศิลปากรพิมพ์เนื่องในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง 14 มีนาคม 2532 (หน้า 222) มีความเป็นไปได้ว่าลักษณะเกาะสิเหร่ ใกล้เคียงกับเกาะปีนังซึ่งในแผนที่เดินเรือ เรียกว่า ปูเลา ปีนัง หรือเกาะหมาก เมื่อนักเดินเรือที่เดินทางจากปีนังมาพบเกาะสิหร่นี้จึงใช้ชื่อว่า ปูเลาสิเหร่ หรือ เกาะพลู และใช้ชื่อ "เกาะสิเหร่" สืบต่อมา มีสถานที่ที่่สำคัญ เช่น หาดปลื้มสุข หาดเกาะสิเหร่ หาดแป๊ะอ๋อง คลองท่าจีน คลองลัดใหม่ คลองขุนชิด แหลมหงา ชาวเลในปัจจุบันได้รับการขนานนามว่าชาวไทยใหม่มีบรรพบุรุษส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมลายู อินโดโด นับถือศาสนาอิสลาม มาอาศัยอยู่ก่อนแต่ในปัจจุบันเริ่มมีคนย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยและมีการแต่งงานแยกครอบครัวออกไปบ้าง จึงมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้คนพื้นถิ่นเดิมอาศัยปลูกยางทำสวนทำไร่ ประมง หาปลา หาหอยเป็นต้น

บ้านเกาะสิเหร่ สถานที่ตั้ง หมู่ที่ 1 ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางห่างจากตัวอำเภอเมืองภูเก็ต ประมาณ 10 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปยังชุมชนเกาะสิเหร่โดยรถยนต์ส่วนบุคคล รถรับจ้างโดยสารสาธารณะได้สะดวก 

อาณาเขตติดต่อ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ทะเลภูเก็ต มีอ่าว และแหลมต่าง ๆ แหลมหงา หาดปลื้มสุขหาดเกาะสิเหร่ และหาดแป๊ะอ๋อง 
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านแหลมตุ๊กแก หมู่ที่ 4 คลองท่าจีน คลองลัดใหม่ และคลองขุนชิด
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลภูเก็ต มีอ่าว และแหลมต่าง ๆ แหลมหงา แหลมไม้ไผ่ หาดปลื้มสุข เกาะสิเหร่ และหาดแป๊ะอ๋อง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 7 บ้านท่าเรือใหม่ 

ลักษณะทางกายภาพ

พื้นที่ชุมชนบ้านเกาะสิเหร่ เป็นพื้นราบติดทะเลมีชุมชนชาติพันธุ์ทางทิศเหนือเป็นเนินเขา ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการธุรกิจโรงแรม เช่น โรงแรมโฮเทลไทด์ สิเหร่เบย์รีสอร์ทแอนด์สปา โรงแรมสิเหน่ เดอะเวสทินสิเหร่เบย์รีสอร์ทแอนด์สปา และอื่น ๆ มีชายหาด ด้านฝั่งทิศตะวันออกติดกับอ่าวไม้ไผ่ และอ่าวเกาะสิเหร่ พื้นที่ที่ติดกับทะเลเป็นศูนย์กลางของชุมชนเกาะสิเหร่ในปัจจุบัน มีการขยายตัวของประชากร ทำให้พื้นที่มีการพัฒนาด้านธุรกิจการโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว

ลักษณะบ้านเรือนของชาวบ้านเกาะสิเหร่

สภาพบ้านเรือนของชาวบ้านเกาะสิเหร่โดยทั่ว ๆ ไปแบ่งออกได้สองลักษณะ คือแบบชาวบ้านดั้งเดิมบ้านเรือน บ้านเดี่ยวจะถูกสร้างอย่างมั่นคงถาวร เป็นครอบครัวใหญ่อยู่กันพร้อมหน้าอย่างอบอุ่น ส่วนลักษณะที่สองสภาพที่อยู่ เป็นลักษณะห้องแถวสำหรับผู้ที่เข้ามาเช่าอาศัยหรือประชากรที่เข้ามาอาศัยใหม่สร้างบ้านเรือนอย่างถาวร

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 ระบุจำนวนประชากรชุมชนบ้านเกาะสิเหร่ มีประชากรรวมทั้งหมด 4,760 คน แบ่งเป็น ประชากรชาย 2,302 คน ประชากรหญิง 2,404 คน ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวพึ่งพาตนเอง ส่วนใหญ่คนวัยทำงานต่างคนต่างทำงานประกอบอาชีพและมีบุคคลภายนอกเข้ามาประกอบธุรกิจด้านโรงแรม และการท่องเที่ยวมากขึ้น สภาพปัจจุบันของเกาะสิเหร่จึงเปลี่ยนแปลงเป็นวัฒนธรรมคนเมือง รากฐานความสัมพันธ์ทางเครือญาติหายไป

หมู่ที่ 1 บ้านเกาะสิเหร่ ชุมชนชาติพันธุ์เดิมประกอบอาชีพประมง ค้าขาย รับจ้าง อาชีพทำปลากะตักปัจจุบันชุมชนเมืองหลั่งไหลเข้าไปทำให้ชุมชนเดิมที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลมกลืนกับสังคมเมือง กอปรกับสภาพแวดล้อมชุมชนเกาะสิเหร่ติดทะเล จึงมีคนนอกพื้นที่เข้าไปประกอบธุรกิจโรงแรม ห้องพัก บ้านเช่า ธุรกิจเรือท่องเที่ยว ร้านอาหาร ชุมชนได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้สภาพแวดล้อมเดิมและสังคมดั้งเดิมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมเมืองมากขึ้น 

โครงสร้างองค์กรชุมชน

การบริหารจัดการชุมชนโดยมีคณะกรรมการบริหารในหมู่บ้าน ดังนี้

  • นายวีระ ผงโนนแดง  ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 
  • นายสมบูรณ์ การดี  ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน
  • นายสมัคร ขวัญพรหม  ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน
  • นายสมคิด ปลอดอ่อน  ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน
  • นายสินชัย รู้เพราะจีน  ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน
  • นายพิชัย ตันกูล  ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน         
  • นายมาโนช มุสิกะ  ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน    
  • นายดำรงค์ หาญดี  ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน      
  • นายนิพัฒน์ คีรีรักษ์  ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน    
  • นายมนัส พัฒนา  ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน

การรวมกลุ่มของชุมชนบ้านเกาะสิเหร่

กลุ่มศรัทธา/ศาสนา

กลุ่มศรัทธาศาสนาในชุมชน มีวัดเกาะสิเหร่ เป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยพระมงคลวิสุทธิ์ หลวงปู่สุภา กันตสีโล เป็นผู้ดำเนินการสร้าง ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธา วัดเกาะสิเหร่จึงเป็นสถานที่สำคัญ เป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ประชาชนชาวเกาะสิเหร่ และพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันเป็นวัดที่ได้รับความนิยมจากผู้ที่ศรัทธาพระพุทธศาสนาในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของพุทธศาสนิกชน

กลุ่มอาชีพ

ในอดีตประชากรดั้งเดิมเป็นกลุ่มอุลักลาโว้ย (ชาวเล) ต่อมามีประชากรนอกพื้นที่เข้ามาอาศัยจำนวนมาก เข้ามาประกอบอาชีพด้านโรงแรม การท่องเที่ยว บ้านเช่า ธุรกิจร้านอาหาร ส่วนประชากรดั้งเดิมยึดอาชีพการประมง ค้าขาย รับจ้าง อาชีพทำปลากระตัก เป็นต้น 

วิถีชีวิตทางความเชื่อ

ชุมชนดั้งเดิมเกาะสิเหร่ มีความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษ ไหว้ทะเล พิธีไหว้เปลว พิธีลอยเรือ นับถือโต๊ะตาหมี การประกอบพิธีความเชื่อทางจิตวิญญาน ทำบุญกลางบ้าน ทำบุญเดือนสิบ ประเพณีชักพระและประเพณีตามเทศกาลวันสำคัญ ทางพระพุทธศาสนา ชุมชนเกาะสิเหร่นับถือผีบรรพบุรุษและศาสนาพุทธ

ปัจจุบัน ประชากรเกาะสิเหร่ ได้รับวัฒนธรรมสังคมเมืองและประชากรนอกพื้นที่ ทำให้ชุมชนพัฒนาอย่างรวดเร็ว สภาพแวดล้อมสังคมและวัฒนธรรมเดิมสูญหายไปตามกาลเวลา ปัจจุบันชุมชนร่วมกิจกรรมเทศกาลประเพณีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาตามความเชื่อ

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • ประเพณีลอยเรือ เป็นประเพณีประจำปีที่สำคัญที่สุด จัดขึ้นในช่วงวันเพ็ญ ขึ้น 13 - 15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 ทางจันทรคติของทุกปี ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูกาล พิธีลอยเรือจะเป็นการสะเดาะเคราะห์ ของคนในครอบครัวและชุมชน เพื่อให้พ้นจากทุกข์โศกโรคภัยต่าง ๆ เป็นการแสดงออกถึงความร่วมมือ ร่วมใจ สามัคคีของหมู่คณะ และเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาการช่างฝีมือการต่อเรือปลาจั๊กให้กับคนหนุ่มสาวใน หมู่บ้านที่ได้สืบสานต่อกันมา มีประชากรเพียงส่วนน้อยที่ยังศรัทธาและไปร่วมกิจกรรมกับหมู่ที่ 4 บ้านแหลมตุ๊กแก 
  • ประเพณีเดือนสิบ ประเพณีกินบุญเดือนสิบ กลุ่มอูรักลาโวยจที่เกาะสิเหร่ ให้ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาร่วมกิจกรรมตามประเพณีของชาวไทยพุทธ
  • ประเพณีชักพระ การชักพระจะเริ่มตอนเช้าตรู่ของวันออกพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 11 และเริ่มชักพระเป็นวันแรก ประชาชนจะเดินทางไปวัด เพื่อนำภัตตาหารไปใส่บาตร หลังจากที่พระฉันภัตตาหารเสร็จ ชาวบ้านจะนิมนต์พระภิกษุในวัดขึ้นนั่งประจำเรือพระ จากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันลากเรือพระ ออกจากวัดตั้งแต่เช้าตรู่ จะใช้คนเดินลากเดินแห่ในหมู่บ้าน และจะกลับเข้ามาถึงวัดก่อนถึงช่วงเวลาเที่ยงโดยเรือพระจะตกแต่งด้วยบุพชาติต่างๆอย่างวิจิตรและสวยงามเป็นต้น

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

ชุมชนเกาะสิเหร่ ประกอบอาชีพประมงค้าขาย รับจ้าง ทำปลากะตัก ปัจจุบันมีการยกระดับเศรษฐกิจโดยบุคคลภายนอกหรือนักลงทุนเข้ามาประกอบธุรกิจการโรงแรม ร้านอาหาร เรือท่องเที่ยว ห้องเช่า ปัจจุบันสังคมเมืองมีการขยายตัวเข้าไปในพื้นที่ ชุมชนเกาะะสิเหร่จึงถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สังคมแบบเดิมของกลุ่มอุลักลาโว้ยในบ้านเกาะสิเหร่จึงค่อยๆสูญหายไปเรื่อยๆและมีสังคมใหม่เข้าไปแทนที่ตามสภาพที่ปรากกฏในปัจจุบันนี้

การศึกษาของชุมชนเกาะสิเหร่

ชุมชนเกาะสิเหร่ ส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเกาะสิเหร่ และในระดับอุดมศึกษาภายในจังหวัดภูเก็ตได้นำความรู้เข้ามาพัฒนาในหมู่บ้านของตนเองเป็นต้น

1.นายธีรวุธ ศรีตุลารักษ์ (โกอ้าน)

ปราชญ์ชาวบ้านด้านการปลูกผัก เดิมชื่อ นายจ่วนอั้น แซ่ส้อ เป็นชาวบางเหลียวโดยกำเนิด  มีพี่น้อง 5 คน  

บทบาทและความสำคัญในชุมชน 

นายธีรวุธ ศรีตุลารักษ์ หรือ เเป๊ะอ้าน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในภาพลักษณ์ของผู้อุทิศตนเสียสละเพื่อช่วยเหลือสังคมภูเก็ตด้วยดีตลอดมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลกินผักของทุกปี และในวันนี้ นอกจากที่เราจะได้เห็นแป๊ะอ้านในด้านการช่วยเหลือสังคมและดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ด้านการกุศลในภูเก็ตแล้วเรามา รู้จักอีกมุมมองหนึ่งของแป๊ะอ้าน ในฐานะผู้ใจบุญที่ใช้เวลายามว่างในแต่ละวันมาปลูกต้นสมุนไพรรักษาโรค 

2.นายวีระ ผงโนนแดง (มะลิแก้ว)

มีบิดาชื่อ นายสนั่น ผงโนนแดง มารดาชื่อ นางชื้น มะลิแก้ว มีพี่น้อง 4 คน ชาย 3 คน หญิง 1 คน และมีบุตรชาย 1 คน 

บทบาทและความสำคัญในชุมชน 

นายวีระ ผงโนนแดง ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านเกาะสิเหร่  เป็นผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะผู้นำชุมชน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละตนเพื่อส่วนรวม สนใจในประวัติศาสตร์องค์ความรู้ต่างๆของชุมชน ทั้งยังส่งเสริมกิจกรรมต่างๆของชุมชนเป็นศูนย์กลางให้แก่คน ในชุมชน ในการแจ้งข่าวสาร ประสานงานต่างๆให้กับชุมชน เป็นบุคคลที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี พัฒนาพื้นที่ในชุมชนอยู่เสมอ เป็นที่เคารพนับถือและเป็นที่ไว้วางใจของคนในชุมชน

ทุนทางเศรษฐกิจ

กลุ่มมุกเกาะสิเหร่

ผลิตภัณฑ์มุกจากหอยมุกธรรมชาติโดยการรวมตัวกันของแม่บ้านในชุมชนเกาะสิเหร่ สร้างรายได้ ในชุมชนโดยการหาหอยมุกจากธรรมชาติแล้วนำมาตกแต่ง เป็นสร้อย ต่างหูฯลฯอย่างสวยงาม จัดเป็นสินค้า OTOP ของเกาะสิเหร่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีทิวทัศน์โดยรอบเป็นธรรมชาติสวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวไทยและชาวต่างชาติ 

ทุนทางวัฒนธรรม

ประเพณีลอยเรือ หรือในภาษาอูรักลาโว้ยเรียกว่า "ปือลาจั้ก"

เป็นงานประเพณีประจำปีที่สำคัญที่สุดของ ชาวอูลักลาโว้ย จัดขึ้นในช่วงคืนวันเพ็ญเดือนและเดือน 11 ทางจันทรคติของทุกปี ซึ่งเป็นช่วง เปลี่ยนผ่านของฤดูกาล พิธีลอยเรือมีระยะเวลา 3 วัน 3 คืน มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายในครอบครัวและ ชุมชน ก่อนมีพิธีลอยเรือมีขั้นตอนพิธีกรรม ดังนี้ วันขึ้น 13 ต่ำ ผู้ชายในหมู่บ้านจะเดินทางไปตัดไม้ระกำไม้ตีนเป็ดหรือไม้ทองหลาง (ปัจจุบันสั่งซื้อจากพื้นที่อื่น) เพื่อนำมาสร้างเรือพิธี ชาวเลอูลักลาโว้ยช่วยกันต่อเรือจนแล้วเสร็จ ผู้หญิงจึงช่วยกันประดับตกแต่งเรือให้สวยงามและต้องให้เสร็จก่อนฟ้าสาง วันขึ้น 14 ค่ำ ช่วงประมาณบ่าย 2 ชาวเลอูรักลาโว้ยจะไปเซ่นไหว้ผีประจำหมู่บ้าน ที่ศาลโต๊ะตาหมีและโต๊ะปีราราห์ โคยมีเครื่องเซ่นไหว้ ดังนี้ ไก่ต้ม ไก่ทอด ขนมหัวล้าน น้ำ เทียน หมาก พลู ข้าวตอก ดอกไม้ และกำยาน โดยมีโต๊ะหมอเป็นผู้ ประกอบพิธี เชิญดวงวิญญาณ มารับเครื่องเซ่นไหว้ ชาวบ้าน จะขอพรและโปรยข้าวตอกไปที่ศาล และจุดเทียนรอบศาล รอจนโต๊ะหมอบอกให้นำอาหารแจกจ่ายกัน กิน และต้องกินที่หมดที่บริเวณศาล ห้ามนำกลับบ้าน

ช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. ชาวเลอูรักลาโว้ยทุกคนจะมารวมตัวกันที่เรือพิธี เริ่มรำรองเง็งรอบ เรือ แห่ออกไปที่ชายหาดหน้าหมู่บ้าน แห่ไปที่ศาลประจำหมู่บ้าน ระหว่างที่แห่เรือก็มีการร้องรำกันอย่าง สนุกสนาน จนเสร็จพิธี นำเรือมาวางไว้ที่ศาลากลางหมู่บ้าน จากนั้นผู้นำครอบครัวจะนำตุ๊กตาที่ แกะสลักจากไม้ระกำเป็นรูปเท่ากับจำนวนสมาชิกในครอบครัว ทุกคนต้องตัดเล็บมือ เล็บเท้า เส้นผม และของแห้ง เช่น เกลือ กะปี หมาก พลู ใส่ลงไปในเรือ แล้วนำข้าวตอกมาลูบไล้จนทั่วตัว

จากนั้นซัด ข้าวตอกใส่เรือ เพราะเชื่อว่า ข้าวตอกได้นำพาเคราะห์กรรมออกจากร่างกายและลอยไปพร้อมกับเรือ เวลาประมาณ 20.00 น. โต๊ะหมอทำพิธีอัญเชิญวิญญาณและสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ จากทุกที่ให้มาอยู่ ในเรือ เพื่อวันที่ลอยเรือดวงวิญญาณเหล่านี้จะได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี ระหว่างนั้นมีการร้องรำมะนารอบลำเรือ ถือเป็นการสมโภชเรือ และมีการรำรองเง็งรอบเรือพิธี จนถึงรุ่งสางของวันใหม่ 

ขึ้น 15 ค่ำ เวลาประมาณ 06.00 น. ผู้ชายชาวอูรักลาโว้ยจะช่วยกันแบกเรือพิธีไปยังชายหาดหน้าหมู่บ้าน และช่วยกันยกเรือพิธีลงไปในเรือหางยาวที่เตรียมไว้ ซึ่งเรือหางยาวลำนี้จะนำเรือพิธีออกสู่ทะเล ลึก เมื่อส่งเรือพิธีจนเรือลับสายตาไปแล้ว ห้ามหันหลังกลับไปดู เป็นความเชื่อว่าจะประสบเหตุเภทภัย โดยมีโต๊ะหมอจะรออยู่ที่ฝั่งเพื่อดูแลหมู่บ้าน และรอรับชาวบ้านที่ไปลอยเรือพิธี เวลาประมาณ 16.00 น. เรียกว่า "วันปราดั๊ก" จะมีพิธีแห่ไม้กางเขนจำนวน 7 อัน ที่ปลายไม้ทั้ง 3 ปลาย จะติดใบกระพ้อ ไม้ที่ติดขวางเปรียบเสมือนแขน ใบกระพ้อเปรียบเสมือนนิ้ว ที่คอยพัดโบกสิ่ง ไม่ดีให้ออกจากหมู่บ้าน โดยจะปักไม้นี้ไว้หน้าหมู่บ้าน เวลาประมาณ 20.00 น. มีพิธีไล่สิ่งไม่ดีออกจากบ้านของแต่ละครอบครัว มีการเล่นรำมะนา ร้องรำรอบไม้กางเขน 3 รอบ และเต้นรำกันจนถึงรุ่งสางชาวบ้านจะปักไม้นี้ไว้จนถึงเช้า จึงถอนออกไป ปักใหม่เป็นแนวนอนยาวตั้งแต่หัวหมู่บ้านจนถึงท้ายหมู่บ้าน เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้าน (“ชาวเล” หน้า 2042-2044 สารานุกรมไทยวัฒนธรรมไทยภาคใต้ 2552 ธนาคารไทยพาณิชย์) 

สถาปัตยกรรมท้องถิ่น  

ชุมชนเกาะสิเหร่ เดิมการตั้งถิ่นฐานและการตั้งเรือน หันหน้าเรือนออกสู่ทะเล มีลักษณะการตั้งเรือนอยู่ริมทะเล ติดชายหาด เป็นเรือนหลังเดี่ยว หลังคาทรงจั่ว มี รูปทรงไม่ซับซ้อน รูปทรงหลังคาจั่ว คือ หลังคาทรงจั่วขวาง ลักษณะตัวเรือนยกพื้นสูงกั้นฝาผนังด้วยวัสดุสังกะสีและไม้ไม่ซับซ้อน มีหน้าต่างโปร่ง ภายในเป็นโถงแบ่งส่วนพื้นที่ห้องนอนและห้องครัวโดยไม่มีผนังกั้นภายใน 

ปัจจุบันลักษณะสถาปัตยกรรมของชุมชนเกาะสิเหร่ หลังจากเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ทางราชการเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยการสร้างบ้านขึ้นใหม่ เป็นบ้านมุงหลังคาสังกะสีและกระเบื้องลอนคู่โครงสร้างเป็นวัสดุไม้ เทพื้นด้วยซีเมนต์ แบ่งพื้นที่ภายในเป็นห้องครัว ห้องนอนมีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว เป็นต้น

ภาษาที่ใช้กันในชุมชนแต่เดิมใช้ภาษาอูรักลาโว้ย ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ภาษา เป็นภาษาไทยพื้นถิ่นผสมกับภาษาอูรักลาโว้ยดั้งเดิม ในการสื่อสารกับคนในชุมชนและคนต่างถิ่น


การให้ความร่วมมือของราชการ 

ชาวเลมีการรวมตัวกันร่วมกับกองป้องกันและปราบปรามชุดปฏิบัติการพิเศษที่ 10 สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 ร่วมกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดภูเก็ต (ศรชล.จังหวัดภูเก็ต) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ชุมชนหน้าองค์การสะพานปลา(เกาะสิเหร่) ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เพื่อตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน คทช.ชุมชนหน้าองค์การสะพานปลา (เกาะสิเหร่)


ความท้าทายของชุมชนบ้านเกาะสิเหร่

สังคมภายนอกทำให้ชุมชนดั้งเดิมมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนจากเดิมไปเป็นวิถีชีวิตแบบสังคมเมือง อย่างเช่น การแต่งกาย การประกอบอาชีพ การสร้างบ้านเรือน ภาษาพูด การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้สังคมแบบเดิมถูกกลืนจากสังคมใหม่จึงขาดอัตลักษณ์ทางสังคม

วัดเกาะสิเหร่

วัดเกาะสิเหร่เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต อยู่บนเกาะสิเหร่ เป็นเกาะขนาดเล็กทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะภูเก็ต วัดเกาะสิเหร่ สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553 สร้างขึ้นโดยมีหลวงปู่สุภา กันตสีโล เป็นผู้ดำเนินงานด้วยความสนับสนุนของผู้มีจิตศรัทธา

จุดเด่นของวัดเกาะสิเหร่

วิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) บนยอดเขาเกาะสิเหร่และประดิษฐานพระธาตุอินทร์แขวน (จำลอง) ซึ่งประดิษฐานอยู่ตรงอุโบสถ เป็นหินสีทองขนาดใหญ่ความสูง 5.5 เมตร ก่อสร้างขึ้นโดยช่างชาวมอญ และแรงศรัทธาที่ร่วมกันบริจาคของชาวบ้าน มีพิธีอัญเชิญพญานาคราชมาคุ้มครองปกปักรักษาไป เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 พระธาตุอินทร์แขวนยังถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพสักการะของชาวพม่าทั้งยังเป็นสถานที่ประดิษฐาน พระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนและภายหลังได้มีการสร้างจำลองพระธาตุอินแขวน สัดส่วนขนาดเท่าองค์จริง โดยศรัทธาสาธุชนชาวเมียนมาร์ ด้านบนสุดของยอดเขา เป็นอีกหนึ่งศาสนสถานสำคัญที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ในจังหวัดภูเก็ตตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างๆที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่

นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2558). “วัฒนธรรมกับการพัฒนา: ข้อสังเกตจากกรณีชาวเล”. “ข้อเสนอการปฏิรูปเพื่อส่งเสริม “ชาวเล” หน้า 2042-2044

สารานุกรมไทยวัฒนธรรมไทยภาคใต้ ธนาคารไทยพาณิชย์. (2542). ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์เข้มแข็ง: กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล. เอกสารหมายเลข 4 : โครงการต้อยติ่ง โครงการนำร่องอันดามัน และหน่วยวิจัยชนพื้นเมืองและ ทางเลือกการพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมูลนิธิเพื่อนชนเผ่า.

สำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2559). รายงานคณะกรรมการการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

เทศบาลตำบลรัษฎา. (2563). แผนพัฒนาหมู่บ้านประจำปี พ.ศ.2563 หมู่ที่ 1 บ้านเกาะสิเหร่ ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต. ภูเก็ต : เทศบาลตำบลรัษฎา