ชุมชนที่ดำรงชีวิตแบบสังคมพหุวัฒนธรรม มีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิมและชาวไทยเชื้อสายจีนและชนชาติอื่น ๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มยังคงดำรงอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ภายใต้การอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข
บางชีเหล้า เพี้ยนมาจาก บางเจ๊ะหล้า (บาง = คลอง, ชีเหล้า เพี้ยนมาจาก เจ๊ะหล้า หรือ พี่ ชื่อหล้า) ชุมชนบริเวณนี้เกิดจากการตั้งถิ่นฐานของชาวมุสลิม บริเวณใกล้ริมคลองในอดีตมีหมอยาที่เป็นที่รู้จักในนาม โต๊ะจีน แต่ไม่ทราบชื่อเดิม ที่เรียกกันว่าโต๊ะจีนเนื่องจากเป็นมุสลิมที่สามารถพูดจีนได้และมีเพื่อนเป็นคนจีนมากใคร ๆ ต่างตั้งสมญานามว่าโต๊ะจีน และมีน้องสาวเป็นหมอตำแย ชื่อดัง ชื่อ สม้า ใคร ๆ ก็เรียก มะสม้า
บ้านบางชีเหล้าตั้งอยู่ในตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานกว่า 100 ปี โดยในสมัยก่อนบ้านบางชีเหล้ามีสภาพเป็นพื้นที่สวนยางพาราเป็นส่วนใหญ่และได้มีคนต่างถิ่น อพยพเข้ามาประกอบอาชีพรับจ้างกรีดยาง ต่อมาได้เกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านเกิดล้มป่วย ได้มีผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านบอกให้เอาต้นผักชีดองกับเหล้าให้ ผู้ป่วยกินปรากฏว่าโรคที่เป็นอยู่ได้หายจริง ๆ จึงได้ขนานนามหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านบางชีเหล้า"
ชุมชนที่ดำรงชีวิตแบบสังคมพหุวัฒนธรรม มีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิมและชาวไทยเชื้อสายจีนและชนชาติอื่น ๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มยังคงดำรงอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ภายใต้การอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข
บ้านบางชีเหล้าตั้งอยู่ในตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานกว่า 100 ปี โดยในสมัยก่อนบ้านบางชีเหล้ามีสภาพเป็นพื้นที่สวนยางพาราเป็นส่วนใหญ่และได้มีคนต่างถิ่น อพยพเข้ามาประกอบอาชีพรับจ้างกรีดยางจำนวนมาก ต่อมาได้เกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านเกิดล้มป่วยลง ได้มีผู้เฒ่า ผู้แก่ในหมู่บ้านบอกให้เอาต้นผักชีดองกับเหล้าให้ ผู้ป่วยกินปรากฏว่าโรคที่เป็นอยู่ได้หายจริง ๆ จึงได้ขนานนามหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านบางชีเหล้า" เป็นต้นมา
ประวัติความเป็นมาของชื่อ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามตำนานเล่าสืบทอดต่อกันมาว่า คำว่า "บางชีเหล้า" เพี้ยนมาจาก "บางเจ๊ะหล้า" (บาง = คลอง, ชีเหล้า เพี้ยนมาจาก เจ๊ะหล้า หรือ พี่ ชื่อหล้า) ชุมชนบริเวณนี้เกิดจากการตั้งถิ่นฐานของชาวมุสลิมบริเวณใกล้ริมคลอง และบ้านหมอยาที่เป็นที่รู้จักในนาม โต๊ะจีน แต่ไม่ทราบชื่อเดิม เรียกกันว่าโต๊ะจีนเนื่องจาก เป็นมุสลิมที่สามารถพูดภาษาจีนได้ ได้รับการขนานนามว่าโต๊ะจีน และมีน้องสาวเป็นหมอตำแยชื่อดัง ชื่อ สม้า ชาวบ้านเรียกว่า มะสม้า อาศัยอยู่บริเวณนี้ ต่อมาชาวบ้านเรียกชื่อบริเวณนี้ว่าบางเจ๊ะหล้า นายเกริกฤทธิ์ เชื้อชิต (สัมภาษณ์, 7 กรกฏาคม 2566)
บ้านบางชีเหล้า หมู่ที่ 2 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จากอำเภอเมืองภูเก็ต ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 บ้านแหลมหิน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 ตำบลรัษฎา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเล
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนเทพกระษัตรี
ลักษณะทางกายภาพ
บ้านบางชีเหล้ามีลักษณะเป็นที่ราบ ทางด้านทิศเหนือจดบ้านแหลมหิน ตำบลเกาะแก้วด้านทิศ ตะวันออกติดต่อกับทะเลอันดามัน มีป่าชายเลน คลองบางชีเหล้า คลองท่าจีนและยังมีคลองต่าง ๆ เช่น คลองบางเย็น คลองบางชีเหล้า คลองคอกช้างและคลองด้วน ด้านตะวันตกจดถนนเทพกษัตรีซึ่งเป็นถนนสายหลักของจังหวัดภูเก็ต
สภาพแวดล้อมของชุมชน
เป็นที่ราบเนินเขา ติดต่อกับทะเลอันดามัน พื้นที่ของหมู่บ้าน สามารถเดินทางติดต่อกับชุมชนอื่น ๆ ได้สะดวก มีผู้คนภายนอกเข้าไปอาศัยอยู่จำนวนมาก ในอดีตเป็นพื้นที่ในการทำประมง กรีดยางค้าขาย รับจ้าง ปัจจุบันมีการขยายตัวของจำนวนประชากร ทำให้มีการขยายตัวของหมู่บ้านจัดสรร พื้นที่บริเวณสวนยางพาราถูกพัฒนาเป็นหมู่บ้านจัดสรร และมีโรงงานขนาดใหญ่อยู่กลางชุมชน ทั้งนี้ จึงทำให้มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้าง เป็นต้น
จากข้อมูลสถิติประชากรกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ปี 2566 ระบุจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านบางชีเหล้า มีประชากรชาย จำนวน 1,687 คน หญิง จำนวน 1,976 คน รวมจำนวนประชากร 3,654 ราย คนในชุมชนสังคมดั้งเดิมอาศัยเป็นครอบครัวขยายมีหลายช่วงวัยมีสัมพันธ์กันทางเครือญาติเป็นสังคมชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสังคมภายนอกที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นสังคมเดี่ยว
บ้านบางชีเหล้า หมู่ที่ 2 อยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรม มีความเป็นอยู่เรียบง่ายและสงบสุข ซึ่งมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เช่น กลุ่มชาวไทยมุสลิม ดำรงชีวิตตามหลักของศาสนาอิสลาม
โครงสร้างองค์กรชุมชน
การบริหารจัดการในชุมชนมีคณะกรรมการหมู่บ้านมีรายชื่อดังต่อไปนี้
- นายสุรัตน์ แสงนาค ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2
- นายสุทธิกิจ แซ่ตัน ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2
- นายปราพันธ์ เพชรกระจาย ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน
- นายบาดล แสวงวงศ์ ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน
- นางละม้าย โสพรรณโชติ ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน
- ร้อยตำรวจโท วิชิต สวนอินทร์ ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน
- นายชนินทร์ กิจประเสริฐ ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน
องค์กรชุมชนของบ้านชีเหล้า
กลุ่มอาชีพ
ในอดีต คนในชุมชนประกอบอาชีพ ทำสวนยาง เกษตรกรรม ประมง รับจ้างทั่วไป ต่อมามีกลุ่มสังคมภายนอกเข้ามาอาศัยมากขึ้น ทำให้สภาพทางสังคม เศรษฐกิจ ในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป จากพื้นที่สวนยางพารา พัฒนาเป็น บ้านจัดสรร ความเจริญของสังคมเมืองขยายตัวเข้ามาในพื้นที่มีการตั้งโรงงานขนาดใหญ่ทำให้มีผู้คนภายนอก เข้าไปอาศัยอยู่จำนวนมากพื้นที่เดิม ๆ ถูกพัฒนาไปเรื่อย ๆ เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ปัจจุบันมีการประกอบอาชีพในชุมชนที่หลากหลาย เช่นรับราชการ ค้าขาย รับจ้าง บ้านเช่า เป็นต้น
กลุ่มศรัทธา/ศาสนา
บ้านบางชีเหล้ามีสถานที่ประกอบศาสนกิจคือ มัสยิดลีวาอุ้ลอิสลามมีชื่อเดิมว่า มัสยิดบ้านบางชีเหล้า เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2493 (ฮ.ศ. 1272 ซึ่งมีนายม่ามูด บิลอับดุลล่าห์ (ฮัจยีหมูด) เป็นผู้อนุญาตให้สร้างในที่ดินของตน (เป็นสวนยางพาราในขณะนั้น) และต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2518 (ฮ.ศ. 1297) ได้ดำเนินสร้างมัสยิดหลังใหม่ ได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนจาก หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้น เป็นจำนวนเงิน 80,000 บาท และเมื่อปี พ.ศ. 2544 (ฮ.ศ.1321) ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น มัสยิดลีวาอุ้ลอิสลาม เลขทะเบียนมัสยิดที่ 15 หมู่ที่ 2 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต มัสยิดมีโฉนดที่ดิน เลขที่ 80784 เลขที่ดิน 181 มีเนื้อที่ 1 งาน 4.4 ตารางวา ซึ่งที่ดินดังกล่าว ได้รับมอบจาก บริษัท สาริยา พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 (ฮ.ศ. 1326)และปัจจุบันมีศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมบ้านบางชีเหล้า ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับให้เด็กและเยาวชนมุสลิมในชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียง ใช้เป็นที่ศึกษาทางด้านศาสนาและจริยธรรม โดยศูนย์ฯดังกล่าวตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของมัสยิด
กลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน
"มูลนิธิเมตตาธรรม สถานปฏิบัติธรรมหย่งเซิ่งฉือหัง" เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางด้านศาสนาศิลปวัฒนธรรม และงานการกุศลสาธารณะประโยชน์ เป็นศาสนาสถานที่ในการเผยแผ่แนวทางปฏิบัติธรรม ตามแนวทางของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน การนั่งสมาธิภาวนา การถือศีล ละเว้นจากการรับประทานเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นแนวทางแห่งการพ้นทุกข์ นำไปสู่การหลุดพ้นจากกิเลส โดยศึกษาจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและหนังสืออื่น ๆ เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการปฏิบัติซึ่งมีอยู่อย่างมากมาย นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการตัดกิเลส และให้บรรลุซึ่งมรรคผล นิพพาน นำหลักธรรมมาปรับใช้ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ จึงอาศัยหลักธรรม มาเกื้อหนุนให้เกิดสมาธิและจัดการกับกิเลสด้วยปัญญา
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
การถือศีลอดในเดือนรอมะฎอนทุกปี
วันแรกและวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนถูกกำหนดโดยปฏิทินอิสลาม แบบจันทรคติ การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนนั้นหมายถึง การละเว้นการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม การร่วมสังวาส งดเว้น การพูดจาโกหก เหลวไหล ไร้สาระ เว้นจากการประพฤติชั่ว ทั้งโดยลับ และเปิดเผย ถือปฏิบัติตามแบบอย่างที่ท่าน ศาสดามุฮัมหมัดได้ทรงกำหนดไว้โดยให้ควบคุม พร้อมทั้งมือ เท้า หูตา ใจ ลิ้น และอวัยวะทุกส่วน มิให้ใช้ไป ในทางไร้สาระ ระหว่างรุ่งสางจนตะวันลับขอบฟ้าผู้ใดถือศีลอดในเดือนรอมฎอนด้วยความศรัทธาและด้วยความหวังในผลบุญ เขาจะรับความอภัยโทษต่อความผิดของเขาที่ทำมาตลอดอดีต เดือนรอมฎอนจึงเป็นเทศกาลอันยิ่งใหญ่ ที่มุสลิม ใช้โอกาสนี้เพื่อฟื้นฟูหลักการอิสลามและจริยธรรมของผู้ศรัทธาให้ครบถ้วน เพราะเดือนรอมฎอนจะมีเอกลักษณ์ที่เด่นชัดจากบรรดาเดือนต่าง ๆ มุสลิมทุกคนจะมุ่งมั่นความดีในเดือนนี้อันเป็นสภาพที่จะทำให้สังคมมี ความเข้มแข็งในด้านศีลธรรม
พิธีขึ้นเปล
คือพิธีเอาเด็กลงเปล-โกนผมไฟเด็กแรกเกิด
- การเชือดแพะ หรือแกะ
- การตั้งชื่อเด็กแรกเกิด
- การโกนศีรษะของเด็กแรกเกิดทั้งศีรษะ
- การทำตะหฺนีก (การนำน้ำผึ้ง หรืออินทผลัมบดป้ายที่เพดานปากของทารก)
- การขอพรให้แก่ทารกแรกเกิด
พิธีเข้าสุนัต
"สุนัต" คือ การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายสะท้อนถึงความเอาใจใส่ในการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลของ อิสลาม การขลิบเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับมุสลิมชาย เนื่องจากเป็นหลักปฏิบัติที่สืบเนื่องมาจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) และการขลิบนั้นมีรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานตั้งแต่ศาสดาอิบรอฮีม หรือท่านอับราฮัมในยุคอียิปต์โบราณ โดยการขลิบหนังปลายอวัยวะเพศชายเป็นกฎของการรักษาความสะอาดข้อหนึ่งในอิสลาม
พิธีฮัจญ์
การประกอบพิธีฮัจญ์ หรือ การทำฮัจญ์ คือการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่มักกะฮ์ ตามวันเวลา และสถานที่ต่าง ๆ ที่ทางศาสนาอิสลามกำหนดไว้ ซึ่งศาสนกิจข้อนี้เป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมทั้งชายและหญิง ทุกคนที่มีความสามารถในด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และการเดินทาง ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามในการเดินทางไปทำพิธีฮัจญ์อย่างเคร่งครัด
"ดะวะห์”
หมายถึงการเผยแผ่ศาสนา การออกชักชวนให้มุสลิมช่วยกันทำความดี หักห้ามการทำชั่วคนที่ออกเผยแผ่ศาสนา และเดินทางไปชักชวนให้คนอื่น ๆ ทำความดี ในทางอิสลามเรียกว่า "ดะวะห์" ถ้าไปกันหลาย ๆ คนก็เรียก "กลุ่มดะวะห์" ตามหลักศาสนาอิสลาม มีความเชื่อและศรัทธา มุ่งสอนให้อนุชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของศาสนาในพระคัมภีร์อัลกุรอาน
ซากาต (ซะกาต)
เป็นหนึ่งใน 5 หลักการอิสลาม ทำให้ซะกาตเป็นหน้าที่ทางศาสนาของมุสลิมทั้งหมด ที่มีทรัพย์สินตรงตามเงื่อนไขในการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการ เป็นการบริจาคเพื่อการกุศลที่จำเป็น ซึ่งมักถือเป็นภาษีการชำระเงินและข้อพิพาทเกี่ยวกับซะกาตมีบทบาทสำคัญ
วิถีชีวิตประจำวัน
การละหมาด
การละหมาด วันละ 5 เวลาเป็นการกำหนดเวลาละหมาดในแต่ละวันให้มีจำนวน 5 เวลานั้น เพื่อย้ำเตือนจิตใจมนุษย์มิให้หลงลืมจากพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาอีกทั้งการกำหนดเวลาละหมาดยังสอดคล้องกับเวลาของการกระตุ้นทางชีวภาพของร่างกายและด้วยเหตุที่พระองค์กำหนดให้แต่ละ ละหมาดอยู่ในช่วงเวลาต่าง ๆ เว้นระยะห่างระหว่างละหมาดไว้แตกต่างกัน
1.นางสันทนา รักมิตร เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2497 อาศัยอยู่ที่ หมู่ 2 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต มีบิดาชื่อนาย อาลำคาน ปาทาน มารดาชื่อ นางวันชี รัตตะโส และสมรสกับ นายเกษม รักมิตร มีบุตร 5 คน ชาย 2 คน หญิง 3 คน
บทบาทและความสำคัญในชุมชนบ้านบางชีเหล้า
นางสันทนา รักมิตร เป็นผู้ที่ส่งเสริมการทำนุบำรุงศาสนา จัดสรรพื้นที่ส่วนตัวให้บริการเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแก่ชาวไทยมุสลิมเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ เช่น ใช้เป็นพื้นที่ในการละหมาดเป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีถือศีลอด เป็นจุดพัก เมื่อมีการออกเผยแผ่ศาสนา ตามประเพณีของชาวไทยมุสลิมและเป็นผู้ยึดมั่นในหลักศาสนา อบรมสั่งสอนให้ความรู้แก่ลูกหลานและเยาวชนในเรื่องหลักการปฏิบัติตนทางศาสนาในด้านการประกอบอาชีพการดำเนินชีวิตตั้งมั่นยึดถือความซื่อสัตย์สุจริต เป็นเครื่องทำความบริสุทธิ์ ตามความเชื่อทางหลักศาสนาอิสลาม เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่อนุชนรุ่นหลังเป็นต้น
2.นายเกชา เชื้อชิด
บทบาทและความสำคัญในชุมชนบ้านบางชีเหล้า
เป็นผู้นำชุมชน อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 บ้านบางชีเหล้าปฏิบัติหน้าที่และดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชน เป็นคณะกรรมการในการดำเนินกิจการของมัสยิดลีวาอุ้ลอิสลาม เป็นวิทยากรอบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมบ้านบางชีเหล้า ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของศูนย์พัฒนาศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนกิ่งแก้ว ซอย 1
ทุนทางวัฒนธรรม
มัสยิดลีวาอุ้ลอิสลาม บ้านบางชีเหล้าซึ่งเป็นมัสยิดแห่่งเดียวในหมู่ที่ 2 บ้านบางชีเหล้า ก่อสร้างขึ้นในปี 2493 ก่อสร้างมาแล้วเป็นระยะเวลากว่า 73 ปี เป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยมุสลิม เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจและเป็นศูนย์ฝึกอบรมคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป
อาหาร
- โรตี เป็นอาหารที่เป็นที่นิยมรับประทานในหมู่คนไทยมุสลิมและประชาชนทั่วไป คำว่า โรตี นั้นอาจหมายถึง ขนมปัง หรือผลิตภัณฑ์จากแป้ง ซึ่งผลิตภัณฑ์แป้งหรือขนมปังแต่ละอย่างต่างก็มีชื่อเฉพาะแตกต่างกันไป
- ปาวหล้าง คือข้าวเหนียวปิ้งไส้มะพร้าวผสมกับกุ้งแห้งป่นและพริกไทย ห่อด้วยใบตองโดยการม้วนแล้วใช้ไม้กลัด กลัดทั้งหัวและท้าย แล้วนำไปปิ้งให้ข้าวเหนี่ยวด้านนอกมีสีเหลือง น้ำตาลไหม้เล็กน้อยปาวหล้างจะอร่อย ข้าวเหนียวต้องปิ้งอย่างพอเหมาะ คือ ตัวข้าวเหนียวด้านนอกต้องเกรียมนิด ๆ หากทานร้อน ๆ เนื้อข้าวเหนียวด้านนอกต้องกรอบนิด ๆ ไส้มะพร้าวต้องทำจากมะพร้าวทึนทึก รส มัน หวาน หอม ไส้ที่ผัดเรียบร้อยแล้วต้องมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จากกุ้งแห้งป่น และเผ็ดนิดหน่อยจากพริกไทยปาวหล้างเป็นอาหารว่าง นิยมทานคู่กับกาแฟซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่ายมีทั่วไปในพื้นที่
การแต่งกาย
การแต่งกายของชาวไทยมุสลิม นิยมแต่งกายกันตามลัทธิศาสนาที่ตนนับถือ ผู้ที่นับถือศาสนา อิสลาม จะแต่งกายแบบที่นิยมทั่วไปของชาวมุสลิมที่เรียกว่าชุด "ฮีญาบ" และชุดพื้นเมืองที่เรียกว่า "บานง" และชุด “กูรง” ผู้ที่ศึกษาในทางศาสนามักนิยมแต่งกายตามแบบชาวอาหรับ (สวมเสื้อเป็นชุดยาว แขนยาว และสวมกางเกงขายาวสีเดียวกันไว้ข้างใน) ผู้ชาย-อิสลามห้ามมุสลิมชาย สวมใส่เสื้อผ้า ที่ตัดมาจากผ้าไหม และสวมใส่เครื่องประดับทองคำ ทั้งนี้เพราะว่า สิ่งเหล่านี้เหมาะสม ที่จะเป็นอาภรณ์ และเครื่องประดับของผู้หญิง ฝ่ายชายใส่เสื้อคอตั้ง สวมกางเกง ขายาว และมีผ้าโสร่งผืนสั้น ที่เรียกว่า ผ้าซองเก็ต พันรอบเอว ถ้าอยู่บ้านหรือลำลองจะใส่โสร่งลายตารางทอด้วยฝ้าย และสวมหมวกถักหรือ เย็บด้วยผ้ากำมะหยี่ เพื่อความสวยงาม
ใช้ภาษาไทยพื้นถิ่นภาคใต้ในการสื่อสาร
การขยายตัวของธุรกิจโรงงานซักรีดขนาดใหญ่ ทำให้มีแรงงานต่างด้าวมากขึ้นและสังคมในชุมชนมีการผสมผสานระหว่างบุคคลต่างถิ่นที่มาอาศัยอยู่ก่อให้เกิดความหลากหลายของผู้คนที่เข้ามาตั้งรกรากในชุมชน ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนมีความเจริญ สังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสมัยใหม่ส่งผลต่อสภาพทางกายภาพและวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของผู้คนเช่นการสร้างบ้านเรือนสมัยใหม่ บ้านจัดสรร แบ่งแยกพื้นที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปด้วย มีการเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วโลก ประกอบกับ ระบบการศึกษา สอนให้คนมีมุมมองและทัศนะวิสัยที่ก้าวไกล
สภาพพื้นที่บางชีเหล้า เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดทะเล และอยู่ติดกับอำเภอเมืองภูเก็ต ในอดีตการเคลื่อนย้ายของประชากรจากพื้นที่อื่น ๆ มาตั้งถิ่นฐาน สร้างบ้านเรือน หนาแน่น มีร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นที่ตั้งของโรงงานขนาดย่อม ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่รับการถ่ายทอดเอาวัฒนธรรมใหม่ ๆ เรียนรู้ทั้งในด้าน การศึกษา ศาสนา และเศรษฐกิจ การแต่งกาย อาชีพ จึงส่งผลให้ ระบบโครงสร้างทาง วัฒนธรรม มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุค
ความท้าทายของชุมชนบ้านบางชีเหล้า
ด้านวิถีชีวิต ที่เปลี่ยนไปตามกระแสดิจิทัลไร้พรมแดน อาจทำให้สังคม ภายในหมู่บ้าน ทิ้งพื้นที่ สังคมกลายเป็นสังคมผู้อายุ ที่ถูกทอดทิ้ง เนื่องจาก คนรุ่นใหม่ มีการทิ้งถิ่นฐานไปทำงานยังนอกพื้นที่
สำนักปฏิบัติธรรมฉงเซิ่งฉือหัง จังหวัดภูเก็ต
มูลนิธิเมตตาธรรม สถานปฏิบัติธรรมหย่งเซิ่งฉือหังเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางด้านศาสนาศิลปวัฒนธรรม และงานการกุศลสาธารณะประโยชน์ เป็นศาสนาสถานที่ในการเผยแผ่แนวทางปฏิบัติธรรม ตามแนวทางของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน การนั่งสมาธิภาวนา การถือศีล ละเว้นจากการรับประทานเนื้อสัตว์ และเบียดเบียน เพื่อแนวทางแห่งการพ้นทุกข์ นำไปสู่การหลุดพ้นจากกิเลส โดยศึกษาจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและหนังสืออื่น ๆ เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการปฏิบัติซึ่งมีอยู่อย่างมากมายนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการตัดกิเลสให้บรรลุซึ่งมรรคผล นิพพาน นำหลักธรรมมาปรับใช้ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ จึงอาศัยหลักธรรม มาเกื้อหนุนให้เกิดสมาธิและจัดการกับกิเลสด้วยปัญญา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
สารานุกรมเสรี. (2565). หลักการอิสลาม. สืบค้น 7 กรกฏาคม 2566, https://th.wikipedia.org/wiki/
สารานุกรมเสรี. (2565). มุสลิม. สืบค้น 7 กรกฏาคม 2566, https://th.wikipedia.org/wiki/
สุพจน์ สงวนกิตติพันธ์และคณะ. (2562). บ้านนามเมือง ในภูเก็จ. หน้า 55-56. ม.ป.ท.
ARAYA Nikah. (ม.ป.ป.). พิธีนิกะห์. https://www.arayaweddingplanner.com/
กรมศิลปากร. (ม.ป.ป.). การแต่งกายสตรีมุสลิม. https://finearts.go.th/uploads/tinymce/source/13/Knowledge2563_3