สัมผัสธรรมชาติของป่าชุมชน ปั่นจักรยานชมทัศนียภาพรอบอ่างเก็บน้ำหุบเขาวง ชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดพุน้ำร้อนแหล่งรวมมรดกทางวัฒนธรรมอายุกว่า 4,000 ปี ต้นแบบของหมู่บ้านที่ใช้หลักศูนย์รวมใจมาเป็นพลังในการทำงาน ฟื้นป่า ฟื้นคน นำชุมชนสู่ความพออยู่พอกินด้วยศรัทธาและหลัก “บวร”
บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีลักษณะเป็นป่าดงใหญ่ มีธารน้ำพุไหลลงไปกับลำห้วย โดยน้ำพุที่พุ่งออกมาจากผิวดินมีลักษณะเป็นน้ำร้อน เมื่อไหลไปรวมกับลำธารจะกลายเป็นน้ำอุ่น ทำให้สัตว์ต่าง ๆ สามารถอาศัยอยู่ได้ รวมทั้งผู้คนเองก็อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณนี้ แล้วจึงตั้งชื่อว่า “บ้านพุน้ำร้อน”
สัมผัสธรรมชาติของป่าชุมชน ปั่นจักรยานชมทัศนียภาพรอบอ่างเก็บน้ำหุบเขาวง ชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดพุน้ำร้อนแหล่งรวมมรดกทางวัฒนธรรมอายุกว่า 4,000 ปี ต้นแบบของหมู่บ้านที่ใช้หลักศูนย์รวมใจมาเป็นพลังในการทำงาน ฟื้นป่า ฟื้นคน นำชุมชนสู่ความพออยู่พอกินด้วยศรัทธาและหลัก “บวร”
บ้านพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี หมู่บ้านชาวลาวครั่งที่มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ย้อนไปจนถึงธนบุรี เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์นำทัพไปตีเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. 2314 โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองหลวงพระบางซึ่งเป็นคู่สงครามกับเวียงจันทน์มาก่อน ภายหลังได้รับชัยชนะก็กวาดต้อน “ลาวทรงดำ” กลับมายังกรุงธนบุรี โดยให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เพชรบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี ส่วน “ลาวเวียง” ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบสระบุรี ลพบุรี ตะพานหิน จันทบุรี และ “ลาวภูครัง” จากเมืองภูครัง เมืองริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้เข้ามาตั้งบ้านเรือนแถบนครชัยศรี
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวลาวภูครังที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองภูครัง ถูกกวาดต้อนเข้ามาในไทยอีกระลอกหนึ่ง ในช่วงที่ไทยทำสงครามกับญวณ โดยระหว่างทางยกทัพกลับจากญวณได้พักทัพตั้งมั่นอยู่ที่เมืองภูครัง จึงนำชาวลาวภูครังกลับมาด้วย และโปรดฯให้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เมืองสุพรรณบุรีและเมืองนครชัยศรี เรียกว่า “ลาวภูครัง” หรือ “ลาวครั่ง”
แต่เดิมพื้นที่บริเวณที่บ้านพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ในปัจจุบันนั้นมีลักษณะเป็นป่าดงใหญ่ มีธารน้ำพุไหลลงไปกับลำห้วย โดยน้ำพุที่พุ่งออกมาจากผิวดินจะมีกลิ่นกำมะถันปะปนโชยออกมาด้วย ความร้อนของน้ำพุที่พวยพุ่งออกมาสามารถลวกผักหรือกระทั่งนำไปต้มไข่ให้สุกได้ โดยน้ำพุร้อนเหล่านี้เมื่อไหลไปรวมกับลำธารจะกลายเป็นน้ำอุ่น ทำให้สัตว์ต่าง ๆ สามารถอาศัยอยู่ได้ รวมทั้งผู้คนเองก็อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณนี้ แล้วจึงตั้งชื่อว่า “บ้านพุน้ำร้อน” และใน พ.ศ. 2538 ได้แยกหมู่บ้านออกอีก 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหินลาด หมู่ 15 บ้านหนองแก หมู่ 16 และบ้านโป่งข่อยสมอทอง หมู่ 20
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านพุน้ำร้อน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอด่านช้าง โดยห่างจากอำเภอด่านช้างเป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม ดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 16 บ้านหนองแก ตำบลด่านช้าง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 ตำบลหนองปลิง อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 20 บ้านโป่งข่อยสมอทอง ตำบลด่านช้าง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 15 บ้านหินลาด และหมู่ที่ 6 บ้านหนองผือ ตำบลด่านช้าง
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
บ้านพุน้ำร้อน มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในชุมชน ดังนี้
- ป่าชุมชน
- อ่างเก็บน้ำพุน้ำขาว
- อ่างเก็บน้ำหุบเขาวง
- เห็ดโคน หน่อไม้
ป่าชุมชนบ้านพุน้ำร้อน
บ้านพุน้ำร้อน เป็นเขตพื้นที่การดำเนินโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าโดยมีแนวคิดริเริ่มจากพระครูวิสิฐสุวรรณคุณ จันทร์ลา เจ้าอาวาสวัดพุน้ำร้อน ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบด้านลบอันเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เพื่อใช้ในการเผาถ่าน ประกอบกับมีการสัมปทานเหมืองหินของบริษัทเอกชน ทำให้ผืนป่าถูกทำลายและเกิดความเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ภายหลังสัมปทานเหมืองหินถูกยกเลิก พระครูวิสิฐสุวรรณคุณร่วมกับชาวบ้านพุน้ำร้อนจึงได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนขึ้นใน พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยขมิ้น ป่าพุน้ำร้อน ป่าหนองหญ้าไทร และป่าสงวนแห่งชาติป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ ป่าเขาห้วยพลู สภาพโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่พบมาก อาทิ โมกมัน เปล้า ประดู่ ติ้ว เก็ดดำ เก็ดแดง มะค่าแต้ มะค่าโมง สำโรง ตะคร้ำ ตะคร้อ เต็ง รัง สวอง พันซาด (ซาก) ทองหลาง คูน งิ้วป่า ไผ่ และเฟิร์นชนิดต่าง ๆ ฯลฯ
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานสถิติประชากรตำบลด่านช้าง หมู่ที่ 4 บ้านพุน้ำร้อน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,194 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 592 คน ประชากรหญิง 602 คน และจำนวนครัวเรือน 482 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565) ประชากรในหมู่บ้านเกือบทั้งหมู่บ้าน คือ ชาวลาวครั่ง ที่สันนิษฐานว่าอพยพมาจากหลวงพระบาง ตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์
ลาวครั่งอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านพุน้ำร้อนที่อยู่คู่กันมาตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้าน คือ การทำเกษตรกรรม แต่เนื่องจากระยะหลังเกิดความเปลี่ยนแปลงนานาประการที่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลเป็นวงกว้างต่อรายได้ครัวเรือนของชาวบ้านพุน้ำร้อนที่ยึดเอาการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ชาวบ้านจึงต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรรูปแบบใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพผลผลิตด้วยวิธีการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก
เนื่องจากบ้านพุน้ำร้อนเป็นแหล่ง มรดกทางวัฒนธรรมประเภทหลักฐานทางโบราณคดี มีการสำรวจขุดค้นพบโบราณวัตถุซึ่งชี้เป็นหลักฐานถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในบริเวณนี้ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ถูกเก็บรวบรวมและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดพุน้ำร้อน ขณะเดียวกันบ้านพุน้ำร้อนเป็นชุมชนที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะแก่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำหุบเขาวง พระครูวิสิฐสุวรรณคุณ เจ้าอาวาสวัดพุน้ำร้อนได้เล็งเห็นถึงศักยภาพดังกล่าวของชุมชน ภายหลังยกเลิกสัมปทานเหมืองหินจึงได้มีการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ป่าชุมชนแล้วบูรณาการเชื่อมโยงร่วมกับเส้นทางแหล่งโบราณคดีและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเข้าสู่อ่างเก็บน้ำหุบเขาวง ที่ถูกโอบล้อมด้วยธรรมชาติ ป่าเขา ผืนน้ำ ท้องฟ้า เหมาะกับการพักแคมป์ปิง กางเต็นท์ หรือจะเช่าแพพักค้างแรม ทางอ่างเก็บน้ำหุบเขาวงก็มีให้บริการ สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้เกิดจากความร่วมมือของทางชุมชนที่ช่วยกันพัฒนา ดูแลพื้นที่ป่าชุมชนของหมู่บ้าน จนสามารถพัฒนากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ต้อนรับนักท่องเที่ยวแบบเรียบง่าย และยังสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ได้อีกด้วย จุดเริ่มต้นของการเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คือ กรมชลประทานได้สร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณหุบเขาวงไว้ให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ชาวบ้านพุน้ำร้อนจึงมีแนวคิดที่จะใช้พื้นที่บริเวณแหล่งน้ำหุบเขาวงในการหารายได้เข้ากลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนด้วยการเลี้ยงปลาเพื่อนํามาจัดสรรเป็นสวัสดิการในการดูแลสมาชิกกลุ่มก่อนจะพัฒนามาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของชุมชนดังปัจจุบัน
ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำหุบเขาวง ดำเนินการโดยกลุ่มสหกรณ์ชุมชน ชาวบ้านในหมู่บ้านรวมกลุ่มกันค้าขายอาหาร สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาดูแลกลุ่มของตัวเอง เช่น ร้านค้าสหกรณ์กลุ่มหมูอบโอ่ง กลุ่มส้มตำถาด กลุ่มไก่หมุน กลุ่มอาหารชุดขันโตก อีกทั้งยังมีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของแต่ละเดือน ทุกสิ้นเดือน ทุกคนก็จะได้รับเงินปันผล ส่วนที่เหลือก็เป็นเงินออมทรัพย์เข้าสหกรณ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลอ่างเก็บน้ำหุบเขาวงต่อไป ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำหุบเขาวงจะปิดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนของทุกปี เพื่อให้ธรรมชาติได้พักผ่อน และจะเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งในวันนั้นจะมีพิธีบวชป่าของชาวบ้านพุน้ำร้อนด้วย
การรวมกลุ่มเพื่อสร้างเสริมอาชีพของคนในชุมชน
ชาวบ้านพุน้ำร้อนมีการประชุมวางแผนการดำเนินงานในการกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วยการจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์จากภูมิปัญญาของคนในชุมชนให้สามารถรองรับและตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาร่วมฝึกประสบการณ์ ทดลองทำ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยตนเอง โดยกลุ่มอาชีพที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เช่น กลุ่มเครื่องเงิน กลุ่มขนมพื้นถิ่น และกลุ่มไม้กวาดชุมชนบ้านพุน้ำร้อน
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
- กำไลเงิน
- จี้เงิน
- เข็มขัดเงิน
- สร้อยเงิน
- แหวนเงิน
- ผ้าขาวม้า
- ผ้าถุงมัดหมี่
- ผ้าซิ่นตีนจก
- ผ้าฝ้ายทอมือยกชิด
- ผ้าสไบ
- กล้วยฉาบอบเนย
- กะหรี่ปั๊บ
- ไข่เค็ม
- น้ำพริกเผา
- ทองม้วน
บ้านพุน้ำร้อนมีขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรม และวัฒนธรรมหลายประการที่ล้วนได้รับสืบทอดมาตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรม และวัฒนธรรมเหล่านี้มีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม แต่ทั้งสิ้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงคติ ความเชื่อ และจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชน ดังจะยกตัวอย่างต่อไปนี้
ประเพณียกธงสงกรานต์แห่บุษบก
จัดขึ้นในวันที่ 19 เมษายนของทุกปี เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นศักราชใหม่ ในสมัยโบราณจะมีขบวนแห่หลวงพ่อโตรอบหมู่บ้าน โดยเข้าไปในบ้านทุกหลังเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำ สักการะ ตามคติความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดที่บ้านเพื่อสร้างสิริมงคล พร้อมกันนี้คนในชุมชนจะช่วยกันประดิษฐ์ธงดอกไม้ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่บ้านพุน้ำร้อนเท่านั้น เพื่อร่วมในพิธีแห่บวงสรวงขอฝนต่อเทวดา ภายในงานจะมีการละเล่น การฟ้อนรำตามรูปแบบของชาวลาวครั่ง ทั้งจากชาวลาวครั่งบ้านพุน้ำร้อนและกลุ่มชาวลาวครั่งที่สืบเชื้อสายจากบ้านพุน้ำร้อน แต่ในปัจจุบันด้วยความเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคม ทำให้ขบวนแห่หลวงพ่อโตไม่สามารถแห่เข้าไปในบ้านได้ทุกหลังได้ดังเช่นในอดีต จึงต้องปรับเปลี่ยนมาจัดพิธีที่ถนนกลางหมู่บ้านบริเวณด้านหน้าวัดแทน
บุญขนมจีน
บุญขนมจีนถือเป็นงานวัดประจำปีที่สำคัญของชาวบ้านพุน้ำร้อน เป็นงานปิดทองหลังพระหลวงพ่อโตองค์จำลอง (หลวงพ่อโตองค์จริงประดิษฐานอยู่ภายในสิมเก่าของวัดพุน้ำร้อน) พระเนื้อดินปั้น ปางมารวิชัย ซึ่งนับเป็นพระคู่ชุมชนที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกำนันคนแรกของตำบลด่านช้าง ภายในงานจะมีการตำแป้งขนมจีน โดยทุกคนในชุมชนจะมาร่วมกันทำขนมจีนน้ำยาเพื่อเลี้ยงพระและเลี้ยงเฉลิมฉลองเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว มีกุศโลบายเพื่อสร้างความสามัคคีและเกิดความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของคนในชุมชน
พิธีทำบุญกลางบ้าน
บุญกลางบ้านเป็นงานบุญประจำเก่าแก่ของชาวบ้านพุน้ำร้อนเช่นเดียวกับบุญขนมจีน จัดขึ้น ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อพุน้ำร้อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลานตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานว่า ได้อัญเชิญดวงวิญญาณของเทพเทวา กษัตริย์ และบรรพบุรุษจากเมืองหลวงพระบางมาไว้กลางหมู่บ้านตั้งแต่ครั้งอพยพมาตั้งบ้านเรือน
พิธีทำบุญบวชป่า
พิธีทำบุญบวชป่านี้มีนัยเพื่อเป็นการสักการะเทพาอารักษ์ตามคติความเชื่อดั้งเดิม และเป็นสัญญาณในการเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาท่องเที่ยวพักค้างแรมในอ่างเก็บน้ำหุบเขาวง ภายหลังพักฟื้นในห้คืนคงความเป็นธรรมชาติถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเจพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ฉะนั้นพิธีทำบุญบวชป่าบ้านพุน้ำร้อนจึงจัดขึ้นในวันที่ 12 สิงหาคม หรือวันแม่แห่งชาติเป็นประจำทุกปี
พิธีสวดมนต์ข้ามคืน
ในวันวิสาขบูชาจะมีพิธีสวดมนต์ข้ามคืน ณ วัดเขาเจดีย์ วัดสาขาของวัดพุน้ำร้อนบนยอดเขาที่มีทัศนียภาพอันงดงามและเงียบสงบ
บุญข้าวหลาม สวดมนต์ข้ามปี
บุญข้าวหลาม สวดมนต์ข้ามปี เป็นประเพณีที่มีสืบเนื่องมาตั้งแต่เริ่มตั้งชุมชน โดยในวันที่ 31 ธันวาคม หรือวันสิ้นปีของทุกปี ชาวบ้านพุน้ำร้อนจะช่วยกันเข้าไปตัดไม้ไผ่ในป่าชุมชน บริจาคข้าวเหนียว น้ำตาล มะพร้สว และมาร่วมกันเผาข้าวหลามภายในบริเวณวัดพุน้ำร้อนเพื่อเลี้ยงญาติโยมที่มาสวดมนต์ข้ามปี และทำบุญข้าวหลามเลี้ยงพระในเช้าวันที่ 1 มกราคม ในวันนี้จะมีประชาชนชาวลาวครั่งทั้งในชุมชนบ้านพุน้ำร้อนและชุมชนใกล้เคียงเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา หรืออาจกล่าวว่าวันนี้เป็นวันรวมญาติอีกวันหนึ่งก็ว่าได้
อาหารพื้นบ้านจากวัตถุดิบพื้นถิ่น
แกงเปรอะ เป็นอาหารพื้นบ้านที่ชาวบ้านมักทำกินบ่อยครั้ง เพราะวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนประกอบนั้นสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น อีกทั้งในหมู่บ้านยังมีหน่อไม้ขึ้นเองตามธรรมชาติจำนวนมากและค่อนข้างราคาถูก จึงนำมาประกอบอาหาร ในอดีตแกงเปรอะจะมีเพียงหน่อไม้เป็นวัตถุดิบหลัก แต่ปัจจุบันมีการนำผักชนิดอื่นมาใส่ลงไปด้วยเพื่อเพิ่มมูลค่าของอาหาร และเพื่อรสชาติที่แปลกใหม่
แกงบอนกากหมู เป็นอาหารประจำหมู่บ้านที่มีมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย บางแห่งเรียก หลามบอน หมายถึง แกงบอนที่เอาไปใส่กระบอกไม้ไผ่ดิบแล้วนำไปย่างถ่านไม้เหมือนข้าวหลาม แต่บางแห่งก็ถือเคล็ดเรียกว่า แกงผักหวาน เพราะเกรงว่าจะทำให้คันปาก บางตำรับก่อนที่จะนำบอนมาแกงจึงต้องแขวนผึ่งลมไว้ก่อน 1 คืน เพื่อลดพิษของบอน เมื่อนำมาแกงจะได้ไม่ทำให้คัน
ทอดมันหัวปลี หัวปลีเป็นพืชท้องถิ่นที่หาได้ง่ายในหมู่บ้าน อีกทั้งยังมีราคาถูก ส่วนใหญ่นิยมทำมาทำแกงหรือต้ม แต่สำหรับชาวบ้านพรุน้ำร้อนนั้นนิยมนำมาทำเป็นทอดมันหัวปลี ซึ่งมีส่วนผสมคล้ายทอดมันปลา มีความเผ็ดติดปลายลิ้น กรุบกรอบ นิยมรับประทานเป็นอาหารว่าง หรือจะรับประทานคู่กับข้าวสวยก็ได้
1.พระครูวิสิฐสุวรรณคุณ จันทร์ลา (พระอาจารย์เสน่ห์ อภินนฺโท) เจ้าอาวาสวัดพุน้ำร้อน
พระครูวิสิฐสุวรรณคุณ จันทร์ลา เจ้าคณะตำบลด่านช้างและเจ้าอาวาสวัดพุน้ำร้อน เป็นพระนักพัฒนาแห่งบ้านพุน้ำร้อนที่ชาวบ้านเคารพศรัทธา และใช้ความศรัทธาเป็นแรงขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนตามหลัก “บวร” โดยมีวัดเป็นจุดเริ่มต้น ทั้งงานด้านการอนุรักษ์ การสร้างธนาคารข้าว การบูรณาการท่องเที่ยวควบคู่กับการฟื้นฟูป่า งานสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาลาวครั่ง รวมถึงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงวัตถุโบราณอายุราว 4,000 ปี ที่สำรวจขุดพบบริเวณหมู่บ้าน ล้วนแล้วแต่มีวัดเป็นจุดกำเนิดและศูนย์กลาง โดยมีพระครูวิสิฐสุวรรณคุณเป็นผู้นำแนวคิด สร้างศรัทธาและความร่วมแรงร่วมใจให้แก่คนในชุมชนพุน้ำร้อนจนสามารถพลิกฟื้นผืนป่าและพัฒนาคนอย่างยั่งยืนได้ดังเช่นปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดพุน้ำร้อน
บ้านพุน้ำร้อน เป็นบริเวณพื้นที่ที่พบมรดกทางวัฒนธรรมเป็นจํานวนมากและมีความหลากหลาย ทั้งมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นประเพณี วิถีการดํารงชีวิตของกลุ่มคนชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น กะเหรี่ยง ละว้า ลาวครั่ง และมรดกทางวัฒนธรรมประเภทหลักฐานทางโบราณคดี จากการสํารวจของนักโบราณคดีและปราชญ์ท้องถิ่นทําให้ทราบว่าพื้นที่อําเภอด่านช้างมีมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยยุคหินใหม่ (เมื่อประมาณ 4,000 ปี) มาแล้ว ซึ่งพบหลักฐานของคนยุคนี้หนาแน่นในเขตบ้านพุน้ำร้อน บ้านโป่งคอม และพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนระยะหลังสมัยอยุธยาพื้นที่นี้ยังมีความสําคัญในฐานะเป็นแหล่งแร่ธาตุเหล็กและตะกั่วที่สำคัญ พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพุน้ำร้อนจึงก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรม ทำหน้าที่รวบรวมโบราณวัตถุที่พบในพื้นที่และบอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชาวด่านช้างตั้งแต่ในอดีตยุคหินใหม่จนถึงยุคปัจจุบัน โดยโบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณที่ขุดพบส่วนมากเป็นกลุ่มของเครื่องประดับ เช่น กำไลเปลือกหอย มีด ลูกปัดหินต่าง ๆ นอกจากนี้ บริเวณแหล่งโบราณคดีด่านช้างยังพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ที่ถูกบรรจุลงในภาชนะดินเผาสี่หูเคลือบ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ทำด้วยหิน เช่น แท่นหินบดยาและหินบดยา สมัยทวารวดีซึ่งพบที่บ้านโป่งข่อย ขวานหินที่ได้จากบ้านละว้า บ้านวังควาย และเครื่องมือหินอื่น ๆ ที่ทำมาจากหินประเภทหินเชิร์ต (Chert) จากบ้านท่าเย็น ภาชนะดินเผา ขวานสำริด ล้วนแล้วแต่ถูกจัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดพุน้ำร้อน โดยวัตถุโบราณเหล่านี้จะถูกจัดวางภายในตู้กระจกกันฝุ่น โดยกระจายไปตามแต่ละหมวดของวัตถุโบราณ พร้อมทั้งติดตั้งป้ายชื่อ เพื่อเพิ่มความรู้ให้กับนักท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เข้ามาเยี่ยมชม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชาวด่านช้าง
ศูนย์การเรียนรู้ทอผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณลาวครั่งบ้านพุน้ำร้อน
บ้านพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหมู่บ้านหนึ่งในประเทศไทยที่ประชากรในชุมชนสืบเชื้อสายลาวครั่งจากดินแดนหลวงพระบางซึ่งมีศิลปะการทอผ้าซิ่นตีนจกเป็นมรดกตกทอด ปกติแล้วชาวบ้านในชุมชนมีการทอผ้าซิ่นตีนจกกันตามบ้านเรือน ต่อมาได้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มทอผ้าลายโบราณของลาวครั่งขึ้นใน พ.ศ. 2557 โดยมีพระครูวิสิฐสุวรรณคุณ จันทร์ลา (พระอาจารย์เสน่ห์ อภินนฺโท) เจ้าอาวาสวัดพุน้ำร้อนเป็นต้นคิดรวมชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มทอผ้าเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และชุบชีวิตผ้าทอลาวครั่งด้วยการ “นำลายเก่า มาทำขึ้นใหม่” แล้วจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทอผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณลาวครั่งบ้านพุน้ำร้อนขึ้นภายในบริเวณวัดพุน้ำร้อน ด้วยการให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการคิด มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ลายผ้าจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษชาวลาวครั่งให้เป็นเอกลักษณ์ของบ้านพุน้ำร้อน และร่วมกันตัดสินใจเปลี่ยนแปลวิถีการทอผ้าจากเดิมที่มีลักษณะเป็นการพึ่งตนเองเพียงลำพังมารวมเป็นกลุ่มแม่บ้านขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการทอผ้าพื้นเมือง ทั้งนี้ ยังเพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะการทอผ้าซิ่นตีนจก มรดกทางภูมิปัญญาของชาวลาวครั่งและเพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนให้ประชากรในชุมชนมีความอยู่ดีกินดี
การเกิดขึ้นของศูนย์การเรียนรู้ทอผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณลาวครั่งบ้านพุน้ำร้อน ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มแม่บ้านผู้ทอผ้าซิ่นได้มีโอกาสในการคิดสร้างสรรค์ลายผ้าเองอย่างอิสระจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การสวมใส่ของบรรพบุรุษมาพัฒนาเป็นลายใหม่ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของลายผ้าและสร้างอัตลักษณ์ให้กับผ้าซิ่นตีนจกบ้านพุน้ำร้อน โดยเฉพาะผ้าซิ่นตีนจกสีแดง ผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณของบรรพบุรุษชาวลาวครั่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและสืบทอดเป็นมรดกทางภูมิปัญญาแก่ลูกหลานชาวลาวครั่งมาอย่างยาวนาน ผ้าซิ่นตีนจกสีแดงนี้เปรียบเสมือนผ้าซิ่นที่แฝงไว้ด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชาวลาวครั่ง เพราะเดิมทีสีแดงที่นำมาย้อมผ้าได้มาจากสีของตัวครั่งที่เกาะอยู่ตามต้นไม้ในป่าธรรมชาติ จึงเป็นหนึ่งในที่มาของคำว่า “ลาวครั่ง” ส่วนลวดลายบนผ้าซิ่นแต่ละผืนก็ยังคงมีนัยเกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา อาทิ หงส์ พญานาค หนึ่งในสัตบริภัณฑ์ที่เชื่อกันว่าจะช่วยสร้างเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ผู้สวมใส่ ซึ่งลวดลายบนผ้าทอนั้นจะถูกสร้างสรรค์ขึ้นตามแต่จินตนาการและความชำนาญของผู้ทอ โดยระยะเวลาที่ใช้ในการทอผ้าแต่ละผืนจะแตกต่างกันไปตามความยากง่ายของลวดลายนั้น ๆ แต่ปกติแล้วผ้าซิ่นหนึ่งผืนจะใช้เวลาทอประมาณ 2-3 เดือน เพราะต้องใช้ความประณีต ละเมียดละไมอย่างมาก ส่วนผ้าที่นำมาทอจะมีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม การเกิดขึ้นของกลุ่มทอผ้าและศูนย์เรียนรู้ทอผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณลาวครั่งบ้านพุน้ำร้อน นอกจากจะทำให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้การทอผ้าซิ่นตีนจกโบราณเพื่อการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าของบรรพบุรุษชาวลาวครั่งแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านที่ว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรม ถือเป็นกระแสความตื่นตัวในการรักษาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
ปัจจุบันบ้านพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีลายผ้าที่จดลิขสิทธิ์แล้ว 10 ลาย ได้แก่ ลายกาบใหญ่ ลายขอขื่อเต็มดอก ลายขอกำหมาว้อ ลายขอนาคค้ำ ลายกาบขอขื่อ ลายขอขื่อใหญ่ ลายแมงกะบี้ (ลายขอเกาะดอก) ลายกาบขอน้อย ลายกาบขอโคม และลายขอกำขื่อใหญ่ และลายที่ไม่ได้จดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นลายพื้นฐานที่ถ่ายทอดอยู่ภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ คือ ลายขิด
ภาษาพูด : ประชากรส่วนใหญ่ยังคงยึดภาษาลาวแบบดั้งเดิมในการพูดคุยสื่อสารกันภายในชุมชน
ภาษาเขียน : อักษรไทย
ภายหลังการแยกหมู่บ้านของบ้านพุน้ำร้อนใน พ.ศ. 2538 เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการบริหารจัดการและดูแลความเป็นอยู่ของประชากรได้อย่างทั่วถึง ทว่า ชาวบ้านพุน้ำร้อนรวมถึงหมู่บ้านทั้ง 3 (บ้านหินลาด บ้านหนองแก และบ้านโป่งข่อยสมอทอง) ยังคงใช้ทรัพยากรร่วมกัน คือ ผืนป่าชุมชนที่มีจำนวนกว่า 7,000 ไร่ กระทั่ง พ.ศ. 2539 พื้นที่บริเวณป่าชุมชนพุน้ำร้อน-หินลาด ได้รับการสัมปทานเหมืองหิน ซึ่งการระเบิดหินได้สร้างความเดือดร้อนและส่งผลกระทบต่อชุมชนเป็นอย่างมาก พระครูวิสิฐสุวรรณคุณ เจ้าอาวาสวัดพุน้ำร้อน จึงได้สนับสนุนให้ชาวบ้านทำเรื่องชี้แจงผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี จนมีการตรวจสอบพบว่าหินในพื้นที่เป็นหินสกปรก ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน การทำเหมืองจึงต้องยุติลง
เมื่อสัมปทานเหมืองหินปิดตัวลง การฟื้นฟูป่าชุมชนได้เริ่มต้นขึ้นโดยมีพระครูวิสิฐสุวรรณคุณ เป็นเสาหลักในการวางแนวทางการฟื้นฟู โดยได้ก่อตั้ง “สภาชุมชนพุน้ำร้อน” และคณะกรรมการป่าชุมชนเป็นตัวแทนในการวางแผนการดำเนินงานตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนโดยอาศัย 3 สถาบันหลักเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย บ คือ บ้าน ว คือ วัด และ ร คือ โรงเรียน ซึ่งเรียกโดยย่อว่าหลัก “บวร” ในการขับเคลื่อนงานดูแลผืนป่าชุมชนกว่า 7,000 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยขมิ้น และใช้ต้นทุนทางประวัติศาสตร์การเป็นแหล่งโบราณคดีในการบูรณาการงานอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนเชื่อมโยงกับเส้นทางการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์-โบราณคดี บริเวณแหล่งที่เคยเป็นเหมืองหินเก่า และอ่างเก็บน้ำหุบเขาวง แล้วนำรายได้เข้าสู่กองทุนเพื่อการดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว นำไปสู่การจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแก้ปัญหาความยากจนด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ใช้แนวคิดแบบจำลอง (Model) “นารวม” และก่อตั้งธนาคารข้าวเป็นแบบอย่างเพื่อลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวร่วมกับการจัดกิจกรรมการศึกษาธรรมชาติในโรงเรียน โดยให้นักเรียนเป็นเจ้าของต้นไม้ในป่าคนละหนึ่งต้น ศึกษาการเจริญเติบโตของต้นไม้เป็นเวลา 3 ปี เพื่อสร้างจิตสำนึกและมุมมองเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่คนรุ่นใหม่
การลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว สร้างโมเดลนารวม เกิดจากพระครูวิสิฐสุวรรณคุณที่มีแนวคิดว่า เกษตรกรรมเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจของชุมชนที่หล่อเลี้ยงปากท้องชาวบ้าน แต่เกษตรกรในชุมชนยังต้องเป็นหนี้สินจากการทำเกษตร จำต้องมีการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ลืมวัฒนธรรมดั้งเดิม เพื่อพลิกฟื้นคืนชีวิตให้ชุมชน นำมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจรอบชุมชนโดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง จึงได้สละที่ดินหลังวัด 12 ไร่ เพื่อทดลองทำนาส่วนกลาง สร้างกลุ่มมาช่วยกันทำนาส่วนกลางตามประเพณีลาวครั่ง ทำธนาคารข้าวเพื่อเก็บผลผลิตส่วนหนึ่งเป็นของสมาชิดและให้ผู้ยากไร้ยืมไปกิน เมื่อถึงฤดูกาลหาของป่า จึงนำรายได้ที่ได้จากการขายของป่ามาชำระคืนเป็นค่าข้าว ทำให้บ้านพุน้ำร้อนเป็นต้นแบบของหมู่บ้านที่พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนโดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางตามหลัก “บวร” เพื่อฟื้นป่า ฟื้นคน และนำชุมชนก้าวสู่ความพออยู่พอกินอย่างยั่งยืน
ด้วยความหลากหลายของทรัพยากรการท่องเที่ยว รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ที่ชุมชนบ้านพุน้ำร้อนถือครอง ส่งผลให้บ้านพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศในการประกวดป่าชุมชน พ.ศ. 2559 “คนรักษ์ป่า ป่ารักษ์ชุมชน” จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถัดมา 2 ปี ใน พ.ศ. 2561 บ้านพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ยังได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 18 ประเภทชุมชน รางวัลทั้งสองนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในชุมชนบ้านพุน้ำร้อน บ้านหินลาด บ้านหนองแก บ้านโป่งข่อยสมอทอง และชุมชนใกล้เคียงที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ รักษา และฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติของป่าชุมชนบ้านพุน้ำร้อนให้คงความอุดมสมบูรณ์มาโดยตลอด กระทั่งสามารถสร้างเป็นรายได้ให้แก่ชุมชน โดยพัฒนาพื้นที่ป่าและสภาพแวดล้อมบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำหุบเขาวงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวประจำชุมชน และเป็นต้นแบบในการพัฒนาสถานที่อื่น ๆ ในชุมชนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายใต้การอาศัยต้นทุนทางธรรมชาติของชุมชนที่มิอาจประมาณค่าได้
กรมป่าไม้, สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี). (ม.ป.ป.). ป่าชุมชนบ้านพุน้ำร้อน จ.สุพรรณบุรี. จาก https://www.forest.go.th/ratchaburi10/
ภัทร์อาภรณ์ เอี่ยมวิริยาวัฒน์. (2561). การพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อยกระดับชุมชนสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนบ้านพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี. [วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร].
รัชกรณ์ นภาพรพิพัฒน์ และ คณะ. (2563). มุมมอง “บวร” เพื่อความมั่นคง. วารสารมุมมองความมั่นคง, 1(4), 23.
รัชฎาพร บุญเรือง. (2564). กลยุทธ์การตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองลาวครั่งแบบมีส่วนร่วมของกลุ่มแม่บ้านพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี. วารสารสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาเชิงพุทธ, 6(4), 258-265.
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี. (2562). ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านพุน้ำร้อน. จาก https://suphanburi.cdd.go.th/
สถาบันลูกโลกสีเขียว. (2561). รวมผลงาน รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 18 (พ.ศ. 2560-2561) วิถีพอเพียง แบ่งปัน ผูกพัน ดิน น้ำ ป่า. อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง.
Rinsa Yoyolive. (2561). เที่ยวเชิงวัฒนธรรม - สุพรรณบุรี มีอะไรให้ดู !!. จาก https://www.bloggang.com/
Thai PBS. (2559). เที่ยวไทยไม่ตกยุค : วิถีป่าชุมชน บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดสุพรรณบุรี. จาก https://www.youtube.com/