หมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าลัวะบนภูเขาสูงในเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน หมู่บ้านที่คงด้วยทรัพยากรและทัศนียภาพที่งดงามของภูเขาน้อยใหญ่ อีกทั้งยังมีลานกางเต็นท์ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่านักเดินทางผู้ชมชอบความสงบงามท่ามกลางธรรมชาติ
หมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าลัวะบนภูเขาสูงในเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน หมู่บ้านที่คงด้วยทรัพยากรและทัศนียภาพที่งดงามของภูเขาน้อยใหญ่ อีกทั้งยังมีลานกางเต็นท์ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่านักเดินทางผู้ชมชอบความสงบงามท่ามกลางธรรมชาติ
บ้านห้วยหมีแต่เดิมประกอบไปด้วย 3 ชุมชน ได้แก่ 1) บ้านน้ำปาด ตั้งอยู่ริมลําน้ำปาด เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้กลายเป็นหมู่บ้านร้าง ไม่มีบ้านเรือนตั้งอยู่ และกลายเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน 2) บ้านห้วยหมี ตั้งอยู่บริเวณเขตพื้นที่ของป่าชุมชนในปัจจุบัน และ 3) บ้านป่าเหมี้ยง ตั้งอยู่ที่เดิมกับที่ตั้งของหมู่บ้านในปัจจุบัน ส่วนระยะเวลาการตั้งหมู่บ้านทั้ง 3 นั้น เป็นเวลานานเท่าใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด พบเพียงแต่ว่าลักษณะการตั้งบ้านเรือนในขณะนั้นจะกระจายไปตามพื้นที่ไร่ข้าวของแต่ละครอบครัว ซึ่งอยู่ตามเชิงเขาต่าง ๆ ในพื้นที่
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2517-2518 เกิดภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ชาวบ้านน้ำปาดและชาวบ้านห้วยหมีได้อพยพกระจัดกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งที่บ้านนาหลุม บ้านห้วยขาบ ในเขตตําบลดงพญา อําเภอบ่อเกลือในปัจจุบัน และที่บ้านบ่อหยวก ตําบลบ่อเกลือเหนือ อําเภอบ่อเกลือในปัจจุบัน และที่บ้านน้ำคั้น ซึ่งอยู่ในเขตอําเภอปัวในปัจจุบัน ซึ่งในเวลานั้นอําเภอบ่อเกลือยังขึ้นอยู่กับอําเภอปัว ส่วนชาวบ้านป่าเหมี้ยงส่วนหนึ่งได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมขบวนการผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และย้ายไปอยู่ที่บ้านป่าก๋อ ซึ่งเป็นฐานของคอมมิวนิสต์เดิม
ภายหลังเหตุการณ์สงบลง ชาวบ้านบางส่วนที่อยู่ที่บ้านบ่อหยวกได้อพยพกลับมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในบริเวณใกล้เคียงที่เดิม ซึ่งในขณะนั้นที่บ้านบ่อหยวกมีกํานันทิลัน ทําหน้าที่ติดต่อกับรัฐและคอยให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน รวมถึงดูแลความสงบเรียบร้อยของชุมชน โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านอพยพย้ายกลับมาจากบ้านบ่อหยวก เพราะที่บ้านบ่อหยวกไม่มีที่ดินเพียงพอสําหรับทําไร่ข้าว ชาวบ้านจึงต้องย้ายกลับมาเนื่องจากเหตุผลด้านที่ดินทำกินเป็นปัจจัยสำคัญ จากนั้นไม่นานใน พ.ศ. 2523 จึงมีการก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นอย่างเป็นทางการ การตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านจึงเริ่มมีลักษณะกระจุกตัวอยู่ในหย่อมหรือละแวกเดียวกัน ไม่กระจัดกระจายเหมือนยุคเริ่มแรก ปัจจุบันบ้านห้วยหมีแบ่งออกเป็น 3 หย่อมบ้าน ได้แก่
1. หย่อมบ้านห้วยหมี เมื่อราว ๆ ปี พ.ศ. 2522-2523 นายบัว ใจปิง ชาวบ้านห้วยหมีเดิม ได้พาชาวบ้านที่อยู่บ้านบ่อหยวกประมาณ 3 หลังคาเรือน อพยพยกลับมาตั้งบ้านเรือนตรงจุดที่ตั้งบ้านห้วยหมีในปัจจุบัน และใช้ชื่อบ้านห้วยหมีเหมือนเดิม
2. บ้านป่าแขม ในระยะไล่เลี่ยกัน นายตัน ใจปิง ซึ่งเป็นชาวบ้านน้ำปาดเดิม ได้พาชาวบ้านที่ไปอยู่อาศัยที่บ้านบ่อหยวก กลับมาตั้งชุมชนขึ้นที่บริเวณไร่ใกล้ ๆ บ้านป่าแขมในปัจจุบัน ที่ได้ชื่อว่า “บ้านป่าแขม” เนื่องจากในขณะนั้นบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีลักษณะเป็นป่าหญ้าแขมขึ้นอยู่มาก แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้วเพราะถูกวัวควายของชาวบ้านเข้ามากัดกิน ต่อมาเมื่อหน่วยงานรัฐได้จัดตั้งให้บ้านห้วยหมีเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ จึงได้ย้ายชุมชนมาตั้งในบริเวณบ้านป่าแขมปัจจุบัน โดยห่างจากบ้านห้วยหมีไปทางทิศเหนือประมาณ 800 เมตร
3. บ้านป่าเหมี้ยง ประมาณ พ.ศ. 2532 นายถึง ใจปิง ได้อพยพครอบครัวจากบ้านป่าก่อ กลับมาตั้งบ้านเรือนที่เดิม โดยใช้ชื่อบ้านป่าเหมี้ยงเหมือนเดิม ที่ได้ชื่อว่าบ้านป่าเหมี้ยง เนื่องจากพื้นที่แถบนี้จะมีต้นเหมี้ยง (คล้ายใบชา) ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมี 3 หลังคาเรือน ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกว่า “บ้านสามหลัง” โดยห่างจากบ้านห้วยหมีไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร
ที่ตั้งและอาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านน้ำแคะ ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านสะปัน ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านห้วยโทน ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านนาหลุม บ้านห้วยขาบ บ้านสว้าเหนือ ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
สภาพภูมิศาสตร์
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของบ้านห้วยหมีมีลักษณะเป็นภูเขาสูงสลับหุบเขาน้อยใหญ่ ไม่มีพื้นที่ราบ บริเวณหุบเขายังเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของคนในชุมชนมาอย่างยาวนาน ได้แก่ ห้วยหมี ห้วยป่าแขม ห้วยป่าเหมี้ยง ซึ่งเป็นต้นน้ำแหล่งกำเนิดประปาภูเขาของหมู่บ้าน โดยลำห้วยทั้งสามจะไหลลงสู่ลำน้ำปาด ลำน้ำสายหลักที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในการหาอาหาร เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย พืชผัก ฯลฯ นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านแล้ว ลำน้ำปาดยังเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ของชาวบ้านด้วย ซึ่งปายสายลำน้ำปาดจะไหลไปรวมกับลำน้ำว้า ก่อนไหลลงไปรวมกับแม่น้ำน่านในที่สุด
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของบ้านห้วยหมี ในฤดูร้อนอากาศจะเย็นสบายไม่ร้อนจัดมากนัก ฤดูฝนมีฝนตกชุก ส่วนฤดูหนาวจะมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็นไปจนถึงหนาวจัด โดยทั้ง 3 ฤดูกาล มีระยะเวลาดังนี้
- ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน
- ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม
- ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
ทรัพยากรธรรมชาติ
1. ทรัพยากรป่าไม้ เนื่องจากบ้านห้วยหมีตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน (การก่อตั้งเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่านเกิดขึ้นภายหลังจากการก่อตั้งบ้านห้วยหมีอย่างเป็นทางการ) ทําให้ป่าไม้ในพื้นที่ยังคง ความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ลักษณะเป็นป่าดิบเขา มีความชื้นสูง และต้นไม้เขียวชอุ่มตลอดปี โดยพื้นที่ป่าไม้ในชุมชนสามารถจําแนกได้ ดังนี้
- ป่าผีเจ้าตา คือ เขตป่าอนุรักษ์ของชุมชน ห้ามตัดต้นไม้และใช้ประโยชน์ใด ๆ ในป่าแห่งนี้ เพราะเชื่อว่าจะเกิดการเจ็บป่วยหรือได้รับอันตรายหากเข้าไปรุกล้ำ ทุกปี ชาวบ้านจะทำพิธีเลี้ยงผีเจ้าตา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผู้ปกปักรักษาป่าผืนนี้ เพื่อให้การใช้ชีวิตในรอบปีนั้นประสบความสําเร็จ พืชพรรณอุดมสมบูรณ์ และไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน เป็นการตอกย้ำให้ชาวบ้านเคารพและหวงแหนรักษาป่า โดยการนําความเชื่อในเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในชุมชนใช้ให้เกิดประโยชน์ในการอนุรักษ์ป่า
- ป่าช้า คือ สุสานของชุมชน ป่าแห่งนี้ใช้เป็นที่ฝังศพคนตายตามประเพณีความเชื่อของชาวลัวะ และห้ามตัดไม้หรือทําไร่ในป่าแห่งนี้ ซึ่งแต่ละหย่อมบ้านจะมีป่าช้าแยกจากกัน คือ ป่าช้าหย่อมบ้านห้วยหมีจะอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ป่าช้าหย่อมบ้านป่าแขมจะอยู่ทางทิศตะวันออกเฉลียงใต้ของหมู่บ้าน และป่าช้าหย่อมบ้านป่าเหมี้ยงอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน
- ป่าชุมชน คือ บริเวณส่วนที่เป็นป่าต้นน้ำ เป็นแหล่งกําเนิดของลําห้วยต่าง ๆ เช่น ห้วยหมี ห้วยป่าแขม ซึ่งชาวบ้านใช้ประโยชน์ในการทําประปาภูเขาหมู่บ้าน ด้วยเหตุนี้จึงห้ามทําไร่ในเขตป่าชุมชน ส่วนการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน คือ เป็นแหล่งหาฟืนและพืชผักชนิดต่าง ๆ ตามธรรมชาติ รวมถึงสัตว์น้ำที่อยู่ตามลําห้วย เพื่อนำมาใช้ประกอบอาหาร
2. ทรัพยากรน้ำ ชาวบ้านห้วยหมีมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสำคัญกับการดำรงชีวิตของชาวบ้านมาตั้งแต่แรกก่อตั้งหมู่บ้าน คือ ลำห้วยหมีและลำห้วยป่าแขม ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดประปาภูเขาบ้านห้วยหมี น้ำจากลำห้วยทั้งสองสายจะไหลไปบรรจบกับลำน้ำปาด ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์แหล่งอาหารตามธรรมชาติของชาวบ้าน เช่น ปู ปลา กุ้ง หอย พืชผักชนิดต่าง ๆ รวมถึงไก (สาหร่ายน้ำจืด) อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารของสัตว์เลี้ยง เช่น วัวควาย ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้
3. สัตว์ป่า เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ และชุมชนตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน ทําให้พบสัตว์ป่านานาชนิดในละแวกใกล้เขตหมู่บ้าน เช่น หมูป่า เก้ง หมี เม่น นกนานาชนิด กระต่าย ฯลฯ ซึ่งสัตว์ป่าเหล่านี้ปัจจุบันได้ลดจํานวนลงและพบได้ในที่ห่างไกลชุมชนออกไป เนื่องจากมีการล่าทั้งจากคนในชุมชนและนอกชุมชน ทั้งนี้การล่าสัตว์ดังกล่าวถือเป็นการล่าเพื่อนํามาบริโภคในครัวเรือนและไม่ได้ขายเพื่อเป็นรายได้ เช่น ในช่วงที่ข้าวออกรวง หมูป่ามักออกมากัดกินต้นข้าวและพืชผักในไร่ข้าว ชาวบ้านก็จะยิงเพื่อนํามาเป็นอาหาร
สถิติประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานสถิติประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลดงพญา หมู่ที่ 6 บ้านห้วยหมี มีประชากรทั้งสิ้น 374 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 180 คน ประชากรหญิง 194 คน และมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 97 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565) โดยชาวบ้านในหมู่บ้าน คือ ชาวลัวะ มีสกุลใหญ่ประจำหมู่บ้าน 2 สกุล ได้แก่ ใจปิง และอักขระ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในหมู่บ้านจะสายสกุลใหญ่เพียง 2 สกุล ทว่า คนในหมู่บ้านก็ไม่ได้เป็นเครือญาติเดียวกันเสมอไป เนื่องจากอาจมีการนับถือผีบรรพบุรุษต่างกัน โดยปกติภายหลังแต่งงาน ฝ่ายชายจะย้ายมานับถือผีฝ่ายหญิง (ภรรยา) เข้าไปอยู่อาศัยร่วมกับครอบครัวภรรยา ผ่านไประยะหนึ่งเมื่อสามารถสร้างฐานะได้แล้ว จึงจะแยกออกไปสร้างบ้านเรือนของตนเองแต่ยังคงอยู่รายรอบหรือละแวกบริเวณเดียวกับบ้านพ่อแม่ภรรยา ซึ่งมีนัยถึงการปกป้องให้เกียรติผู้หญิงที่แต่งงานมีสามีแล้วไม่ให้ถูกทำร้ายหรือรังแกจากสามี เพราะจะมีพ่อแม่ของฝ่ายหญิงคอยสอดส่องดูแลอยู่ตลอดเวลา
ลัวะ (ละเวือะ)การประกอบอาชีพของชาวบ้านห้วยหมี สามารถจําแนกได้ดังนี้
1. การทำไร่
การทำไร่ถือเป็นอาชีพที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านห้วยหมีมาช้านาน ในรอบ 1 ปี ชาวบ้านจะใช้เวลาอยู่ในไร่เป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือ เมื่อถึงฤดูกาลทำไร่ ชาวบ้านจะตื่นนอนแต่เช้าตรู่ หุงหาอาหารกินข้าวให้เรียบร้อย แล้วออกเดินทางไปทำไร่ตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น นอกจากการปลูกข้าวไร่แล้ว ภายในพื้นที่ไร่ยังมีการปลูกพืชผักหลากหลายชนิดรวมอยู่ด้วย เช่น ฟักทอง ฟักเขียว มันสำปะหลัง มะนอย (บวบ) มันอ่อน มันพร้าว แตง ถั่ว พริก ข้าวโพด ผักกาด ผักอีหลีน ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการทำไร่แบบผสมผสานและเป็นการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามวิถีชีวิตของคนในชุมชน
2. การรับจ้าง
การรับจ้าง เป็นอาชีพเสริมที่โดยปกติแล้วชาวบ้านทำในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำไร่ แต่ก็มีบางส่วนที่ยึดเอาอาชีพรับจ้างเป็นอาชีพหลัก การรับจ้างมี 2 ลักษณะ คือ การรับจ้างในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง และการรับจ้างนอกชุมชน
- การรับจ้างในชุมชน ไม่ค่อยนิยมมากนัก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการเอามื้อเอาแรงกันมากกว่า ส่วนการรับจ้างในชุมชนใกล้เคียง เช่น ชาวบ้านไปรับจ้างเลื่อยไม้ที่บ้านสะปันหรือบ้านสว้า ไปถางไร่ ทำไร่ให้กับคนพื้นเมืองในพื้นที่เขตอําเภอสันติสุข อําเภอเวียงสา จังหวัดน่าน หรือรับจ้างชาวม้งที่บ้านน้ำยาว อําเภอปัว เพราะชาวม้งปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อการค้า เช่น ขิง ข้าวโพด ซึ่งต้องการแรงงานในการทำไร่จํานวนมาก การไปรับจ้างถางไร่หรือหยอดข้าวโพดจะไปเป็นกลุ่ม โดยแรงงานส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย เพราะต้องใช้เวลาในการถางไร่หรือปลูกข้าวโพดในแต่ละครั้งเป็นเวลาหลายวัน ขึ้นอยู่กับจํานวนไร่และความกว้างของพื้นที่นั้น ๆ การถางไร่หรือปลูกข้าวโพดจะนิยมถางหรือปลูกเป็นกลุ่มหรือเหมาเป็นแปลง จากนั้นจึงนําเงินมาเฉลี่ยกันตามจํานวนคน เมื่องานเสร็จก็กลับบ้าน และเมื่อมีงานใหม่มาก็จะรวมกลุ่มกันไปรับจ้างอีก
- การรับจ้างภายนอกชุมชน การรับจ้างในลักษณะนี้จะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นเงินเดือน จากการไปทำงานต่างถิ่น เช่น ไปทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ ไปทำงานสวนผักที่กาญจนบุรี โดยจะมีนายจ้างเข้ามารับถึงในหมู่บ้านและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลักษณะงานที่ทำ คือ ดูแลผัก ปลูกผัก รดน้ำ พ่นยา ใส่ปุ๋ย ตัดผักและขนผักไปขาย การทำงานที่สวนผักจะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 4,000-5,000 บาท อยู่กินกับนายจ้าง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ส่วนที่พักก็จะอยู่เป็นสัดส่วน และหากไปรับจ้างทั้งครอบครัวนายจ้างก็จะแยกให้อยู่ครอบครัวละ 1 ห้อง ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านนิยมไปทำงานสวนผักที่จังหวัดกาญจนบุรี ผ่านการชักชวนของเพื่อนบ้านที่ไปทำงานก่อน เมื่อถึงเวลาทำไร่ก็ขอลานายจ้างกลับบ้านได้ หรือบางครอบครัวก็จะย้ายไปทำงานทั้งครอบครัวและจะกลับมาเยี่ยมบ้านอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์จะมีคนกลับจากการทำงานต่างจังหวัดมาก แสดงให้เห็นถึงความรักถิ่นฐานบ้านเกิดของชาวบ้าน ซึ่งพร้อมจะกลับบ้านเมื่อมีเงินเก็บมากพอ
3. การเลี้ยงสัตว์
- วัว เป็นสัตว์เลี้ยงที่พบได้แทบทุกหลังคาเรือน ชาวบ้านจะเลี้ยงวัวพันธุ์พื้นเมืองที่ให้ลูกปีละ 1 ตัว เนื่องจากเลี้ยงง่าย ทนแดด ทนฝน โดยจะเลี้ยงแบบปล่อยเลี้ยงไปตามป่าเขา นาน ๆ ที จะไปดู เช่น 2-3 วัน 5 วันหรือสัปดาห์ละครั้ง ขึ้นอยู่กับความขยันหมั่นเพียรของผู้เป็นเจ้าของ การไปดูวัวในแต่ละครั้งก็จะนําเกลือไปให้วัวกินด้วย การเลี้ยงวัวเป็นที่นิยม เพราะเป็นการสะสมทรัพย์สินไปในตัว วัวที่ชาวบ้านเลี้ยงจะหากินอยู่ริมน้ำ โดยเฉพาะริมน้ำปาด เมื่อเดินไปตามลําน้ำก็จะสามารถพบวัวของชาวบ้านจํานวนมากอยู่สองฝั่งของลําน้ำ ทว่า อุปสรรคของการเลี้ยงวัว คือ วัวมักจะตกเขา เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา บางแห่งสูงชัน ยิ่งในช่วงฤดูฝนเจ้าของวัวต้องหมั่นไปดูแลวัวของตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะวัวที่ตกลูกใหม่ ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลเป็นพิเศษ เพราะนอกจากลูกวัวจะเสี่ยงต่อการตกเขาแล้ว ในฤดูฝน ลูกวัวอาจจะหนาวตายเพราะฝนตกชุก การขายวัวจะมีพ่อค้าที่เป็นคนเมืองเข้ามารับซื้อ โดยส่วนใหญ่จะขายทีละหลาย ๆ ตัว ราคาขายจะอยู่ที่ประมาณตัวละ 7,000-15,000 บาท ขึ้นอยู่กับน้ำหนักวัวและความสมบูรณ์ หรือบางทีที่มีการจัดงานใหญ่ ๆ เช่น งานแต่งงาน งานศพ งานเลี้ยงต่าง ๆ ชาวบ้านจะนิยมซื้อวัวมา และใช้เนื้อวัวมาทำเป็นอาหารเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน
- ควาย เป็นสัตว์เลี้ยงที่พบไม่มากนัก ชาวบ้านไม่นิยมเลี้ยง เพราะการเลี้ยงควายต้องการการดูแลเอาใจใส่มากกว่าวัว ควายทนแดด ทนฝนไม่ดีเท่าวัว รวมถึงการตกลูกที่โดยเฉลี่ย ควายจะตกลูก 2 ปี ต่อ 1 ตัว แต่ราคาขายของควายจะดีกว่าวัว คือ ราคาไม่ต่ำกว่าตัวละ 10,000 บาท ขึ้นไป ส่วนอุปสรรคในการเลี้ยงควายก็จะคล้ายกับวัว คือ ควายมักตกเขาตายและหนาวตาย
- สุนัข สัตว์เลี้ยงที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชุมชน ถือเป็นสัตว์เลี้ยงประจําบ้านก็ว่าได้ เพราะการออกล่าสัตว์ในแต่ละครั้ง นายพรานจะนําสุนัขล่าเนื้อออกล่าในส่วนหน้า ซึ่งเมื่อได้สัตว์ป่ามา ส่วนหัวและขา ทั้งหมดของสัตว์ป่าที่ได้จะตกเป็นของนายพรานผู้เป็นเจ้าของสุนัข ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกัน ถ้าสุนัขที่ออกล่าสัตว์ได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้กับสัตว์ป่า นายพรานผู้เป็นเจ้าของสุนัขต้องฆ่าไก่สู่ขวัญ เลี้ยงผี และต้องดูแลรักษาบาดแผลให้สุนัขเป็นอย่างดี หรือถ้าสุนัขตายระหว่างการออกล่าสัตว์ก็ต้องจัดงานศพให้สุนัขตัวนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องปฏิบัติและยึดถือมาจนถึงปัจจุบัน และในอีกแง่มุมหนึ่ง ในการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ สุนัขยังถูกใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ผีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านการเพาะปลูก การเลี้ยงผีไร่ เป็นต้น ยิ่งหากเป็นสุนัขพรานหรือสุนัขล่าเนื้อจะมีความสำคัญมาก
- ไก่ ชาวบ้านจะเลี้ยงไก่เกือบทุกหลังคาเรือน เพราะไก่ถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่นิยมนํามาใช้ในการประกอบพิธีกรรมมากที่สุด ไก่ในหมู่บ้านจึงหายากและไม่เพียงพอต่อความต้องการ บางครั้งจึงต้องลงไปหาซื้อที่บ้านสะปัน บ้านสว้า ไก่ที่เลี้ยงเป็นพันธุ์พื้นเมือง เลี้ยงแบบปล่อย ชาวบ้านจะสานตุ้ม ซึ่งทำจากไม้ไผ่ให้เป็นที่ไก่นอน โดยจะแขวนตุ้มไว้ใต้ถุนบ้านหรือยุ้งข้าว ตอนเช้าก็จะเปิดตุ้มให้ไก่ออกหากิน และตอนเย็นก็จะปิดเมื่อไก่เข้าไปนอนในตุ้มเรียบร้อยแล้ว
- หมู เป็นสัตว์เลี้ยงที่นิยมเอามาใช้ในพิธีกรรมรองลงมาจากไก่ เพราะราคาไม่สูงเหมือนวัว ควาย ทำให้เป็นที่ต้องการของชาวบ้าน หมูที่เลี้ยง คือ พันธุ์พื้นเมือง ตัวสีดํา โดยเลี้ยงไว้ในเล้าที่ทำจากไม้ที่หาได้ในชุมชน อาหารสำหรับเลี้ยงหมู คือ แกลบ ข้าวโพด ผักต่าง ๆ หยวกกล้วย ใบบอน ซึ่งหาได้ภายในชุมชนและลําห้วย
4. การค้าขาย
การค้าขาย เป็นอาชีพเสริมอย่างหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน นอกเหนือไปจากการรับจ้างและการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งภายในชุมชนมีร้านค้า 5 แห่ง ขายสินค้าจําพวกของใช้ที่จําเป็นในชีวิตประจําวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก น้ำปลา ผงชูรส รสดี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ปลาทู เกลือ รวมทั้งขนม นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่ม เช่น สุราขาว เบียร์ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกําลังที่ขายดีในกลุ่มผู้ใหญ่ สินค้าที่นํามาขายในชุมชนจะมีราคาสูงกว่าปกติเล็กน้อย เพราะต้องเสียค่าขนส่งซึ่งมีระยะทางที่ไกลและยากลําบาก
ศาสนาและความเชื่อ
ศาสนา
ชาวลัวะบ้านห้วยหมีได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากภาคเหนือมาแต่โบราณ ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธควบคู่กันไปกับการนับถือผี ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนในชุมชน ส่วนการนับถือศาสนาคริสต์มีน้อยมาก
ภายในหมู่บ้านมีวัด 1 แห่ง สร้างโดยคณะผ้าป่าจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคนทางภาคเหนือที่ไปแต่งงานกับคนมีฐานะจากภาคกลาง แล้วได้ชักชวนเพื่อนฝูงมาสร้างวัด ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 เดือน โดยสร้างแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2549 แต่แม้ว่าปัจจุบันภายในชุมชนบ้านห้วยหมีจะมีวัดประจำชุมชนแล้ว ทว่าภายในชุมชนยังไม่มีประเพณีการบวชพระ อาจเนื่องมาจากชาวบ้านไม่ค่อยปฏิบัติธรรมหรือทำบุญเหมือนคนพื้นราบ การทำบุญของชาวบ้านจะทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่เมือง ซึ่งญาติพี่น้องจะกลับจากทำงานต่างจังหวัดจํานวนมาก โดยก่อนหน้าที่จะมีวัดในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะไปทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วตามวัดต่าง ๆ ได้แก่ วัดบ่อหยวก วัดสว้าใต้ วัดสะปัน ซึ่งเป็นประเพณีนิยมของทางภาคเหนือ โดยทั่วไปที่สืบทอดกันมา คือ การถวายครัวตานหรือครัวทาน
ความเชื่อเรื่องผี
ผี ในความเชื่อของชาวลัวะ บ้านห้วยหมี แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. ผีที่ทำหน้าที่คุ้มครองดูแล (ผีดี) เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ ผีบ้านผีเรือน ผี แม่น้ำ ผีพระแม่ธรณี ผีกิ่ว (ผีที่คอยปกปักรักษาหมู่บ้าน สิงสถิตอยู่บริเวณหน้าหมู่บ้าน) ซึ่งเป็นผีที่ทำหน้าที่คุ้มครองดูแลให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ช่วยดูแลผลผลิตในไร่ให้เจริญงอกงาม สัตว์ป่า โรค แมลง ไม่มารบกวน และมีผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี ชาวบ้านจะมีการประกอบพิธีเลี้ยงผีเหล่านี้เป็นประจําทุกปีเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คนในครอบครัว ซึ่งการประกอบพิธีจะมีทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน
2. ผีที่ทำให้เป็นอันตราย ได้แก่ ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับผีที่ทำให้ได้รับอันตราย ซึ่งแสดง ออกมาด้วยการทำให้เจ็บป่วย บางครั้งเมื่อไปรับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันแล้วยังไม่หาย ชาวบ้านก็จะเชื่อ ว่าผีเหล่านั้นเป็นผู้ทำให้เกิดการเจ็บป่วย ผีที่ชาวบ้านเชื่อว่าทำให้ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วย ได้แก่ ผีป่า ผีเขา ผีตายโหง ผีร่อนเร่ เจ้าที่เจ้าทาง เมื่อชาวบ้านได้รับการเจ็บป่วยก็จะต้องไปดูเมื่อ ดูหมอ ว่าการเจ็บป่วยดังกล่าวเกิด จากการกระทำของผีใด อยู่ตรงไหน จากนั้นชาวบ้านจะต้องนําเอาของไปเซ่นไหว้ เช่น หมู ไก่ สุนัข เหล้า เพื่อเป็นการขอขมาผี
ความเชื่อเรื่องกำ
กำ คือความเชื่อเกี่ยวกับการละเมิดข้อห้ามต่าง ๆ ที่กำกับไว้ของชาวลัวะ หากผู้ใดละเมิด เชื่อว่าจะได้รับความเจ็บป่วยจากการกระทำของผี บางครัวเรือนหรือสายตระกูลใดตระกูลหนึ่งจะมีการถือกำในช่วงที่กำเวียนมาครบ ซึ่งวันกำในลักษณะนี้แต่ละสายตระกูลอาจมีวันกำไม่ตรงกัน (แต่ปกติแล้วชาวลัวะในละแวกบ้านห้วยหมีส่วนใหญ่จะยึดวันกำวันเดียวกัน) เช่น ในรอบ 10 วัน จะมี 1 วันที่เป็นวันกำใหญ่ ทุกคนในบ้านจะต้องหยุดงานในไร่ ห้ามแบกหามสิ่งของเข้าหมู่บ้าน ห้ามตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง ฯลฯ ส่วนวันกำอีกลักษณะหนึ่ง คือ การถือกำคนตาย เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน ชาวบ้านทุกคนจะหยุดงานในไร่เพื่อมาเข้าร่วมงานศพ โดยเชื่อว่าหากไม่หยุดงานในไร่ ข้าวหรือพืชพรรณต่าง ๆ ในไร่จะไม่งอกงาม ผลผลิตไม่ดี หรือได้รับความเสียหายจากผีไร่ที่ลงโทษผู้ละเมิดกำ กล่าวอีกนัยหนึ่ง กำ จึงหมายถึงการผิดผีนั่นเอง
การถือกํามีอิทธิพลต่อระบบการผลิตของชาวบ้านห้วยหมีเป็นอย่างมาก โดยจะเกี่ยวข้องกับการจัดการแรงงานในไร่หรือการเอาแรง คือ เมื่อครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเป็นวันกำก็จะไม่สามารถไปทำงานในไร่ของตนเองได้ แต่สามารถไปช่วยงานในไร่ของเพื่อนบ้านที่วันนั้นไม่ได้เป็นวันกําของครอบครัวได้ เป็นการเอาแรงกันไว้ก่อน และเมื่อผ่านวันกําของครอบครัวนั้นไปแล้ว ครอบครัวที่ได้รับการช่วยเหลือเอามื้อเอาแรงก็จะมาช่วยงานในไร่เพื่อเป็นการตอบแทน
การถือวันกําและนับวันกําของชาวลัวะบ้านห้วยหมีจะเหมือนกันทุกหย่อมบ้าน โดยการนับเดือนของชาวลัวะจะคล้ายคลึงกับการนับเดือนจันทรคติทางภาคเหนือและมีการนับวันข้างขึ้น-ข้างแรมเช่นเดียวกับการนับเดือนจันทรคติทางภาคกลาง ส่วนการนับปีจะใช้การนับปีพุทธศักราชและบอกวัน เดือน ปี ที่เป็นสากล และในการนับวันของชาวลัวะจะมีการนับ 10 วันและมีวันกํา 1 วัน คือ ฮ่วง (วันกํา) เต่า กา ขาบ คับ วาย มิ่ง เปี๊ยก ขัด คด โดยในวันกำนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ชาวบ้านจะได้ลงไปซื้อของใช้ที่จําเป็นในชีวิตประจําวันที่ตลาดนัดบ้านสว้าเหนือหรือที่บ้านสะปัน ซึ่งจะมีตลาดนัดเคลื่อนที่มาขายสินค้าอยู่เป็นประจําทุกวันอาทิตย์ เพราะหมู่บ้านชาวลัวะในละแวกนี้จะมีวันหยุดคือวันกําที่ตรงกัน และชาวบ้านจะถือโอกาสมาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าที่จําเป็น รวมทั้งเด็ก ๆ ก็จะมีโอกาสออกไปเที่ยวนอกชุมชนด้วย
ลานกางเต็นท์บ้านห้วยหมี
เนื่องจากสภาพพื้นที่โดยทั่วไปของบ้านห้วยหมีมีลักษณะเป็นภูเขาสูงสลับหุบเขาน้อยใหญ่ อีกทั้งยังอยู่ในเขตควบคุมดูแลของเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งภายในและโดยรอบชุมชนยังคงความอุดมสมบูรณ์และงดงาม ประกอบกับการที่พื้นที่หมู่บ้านตั้งอยู่บนภูเขาสูง จึงทำให้มองเห็นทัศนียภาพอันงดงามของภูเขาน้อยใหญ่ กลิ่นไอของทะเลหมอก อีกทั้งยังมีบรรยากาศที่ค่อนข้างเย็นสบายตลอดทั้งปี ทำให้บ้านห้วยหมีกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสกับกลิ่นไอของธรรมชาติบนภูเขาสูง โดยในพื้นที่หมู่บ้านจะมีลานกางเต็นท์สำหรับบริการนักท่องเที่ยวให้เข้ามากางเต็นท์พักค้างแรม มีฉากหลังเป็นทิวเขาสุดอลังการ ช่วงกลางคืนปรากฏกลุ่มดาวสว่างไสว รวมถึงทะเลหมอกยามรุ่งอรุณ ซึ่งนับเป็นจุดแลนด์มาร์กสำคัญและมีชื่อเสียงของบ้านห้วยหมีและจังหวัดน่านด้วย
ภาษาที่ใช้สื่อสารภายในหมู่บ้านห้วยหมีมีมากถึง 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาลัวะ คำเมือง และภาษาไทยกลาง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะสามารถพูดภาษาไทยกลางได้ชัดเจน หรือคนที่ออกไปทำงานต่างถิ่นเป็นเวลานานก้สามารถใช้ภาษาไทยกลางได้ดี
ปัจจุบันชาวบ้านห้วยหมีประสบปัญหามากมายหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อความยากลำบากในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเกษตรกรรมหรือทำไร่ของชาวบ้านที่ไม่มีตลาดรองรับผลผลิต ตลอดจนความยากลำบากในการขนย้ายผลผลิต อีกทั้งปัจจุบันพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านห้วยหมีถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน โดยปัญหาที่ชาวบ้านห้วยหมีต้องประสบเกี่ยวกับการประกอบอาชีพทางการเกษตรมีดังนี้
1. การไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน เพราะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน ทำให้ที่ดินสําหรับการทำเกษตรกรรมมีจำกัด การทำไร่ข้าวต้องขออนุญาตจากทางราชการเป็นรายปี และในบางปีที่ทำไร่มีน้อย ทำให้ข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน ต้องซื้อข้าวจากภายนอกชุมชน ปัญหาในเรื่องที่ดินทำกินถือเป็นปัญหาที่สําคัญของชาวบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากในอดีตปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะชาวบ้านมีพื้นที่เพาะปลูกเป็นของตนเองและถูกสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่มีปัญหาการแย่งชิงพื้นที่เพาะปลูกของคนในชุมชน รวมถึงการจัดสรรพื้นที่ป่าออกเป็นส่วน ๆ เช่น พื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ป่าใช้สอย และพื้นที่ไร่หมุนเวียน หากแต่เมื่อมีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขุนน่านขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2540 พื้นที่ป่าของหมู่บ้านได้ถูกผนวกเป็นพื้นที่ป่าในเขตอุทยานทำให้เกิดปัญหาระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ส่งผลให้เกิดปัญหาข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน และปัญหาดังกล่าวยังถือเป็นปัญหาที่ยังไม่มีข้อยุติจนถึงปัจจุบันในเรื่องของการปักปันแนวเขตพื้นที่ป่าของชุมชนกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนน่าน
2. ไม่มีตลาดรองรับผลผลิตทางการเกษตร เช่น ฟักทอง ฟักเขียว ถั่ว และผักต่าง ๆ ชาวบ้านจึงเก็บผลผลิตไว้บริโภคในครัวเรือนหรือขายภายในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงในราคาที่ต่ำ หรือบางครั้งก็จำต้องปล่อยให้พืชผักเหล่านั้นเน่าตายไป
3. การบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมของสัตว์ป่า ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะหมูป่าที่เข้ามากัดกินข้าวไร่ นอกจากนี้ยังมี วัว ควายของชาวบ้านเองที่เข้ามากัดกินข้าวไร่ เพราะชาวบ้านจะเลี้ยงแบบปล่อยไว้ในป่า ซึ่งถ้าล้อมรั้วไร่ข้าวไม่ดี วัว ควาย ก็จะเข้ามากัดกินพืชผลทางการเกษตรให้ได้รับความเสียหายได้
4. สภาพพื้นที่ที่เป็นภูเขาทำให้ลำบากต่อการขนย้ายผลผลิตเข้าสู่ชุมชน ชาวบ้านจำต้องขนย้ายผลผลิตโดยการเปอะ (แบก) ซึ่งต้องใช้แรงงานและเวลามาก โดยในเวลาต่อมาชาวบ้านหาทางออกด้วยการขุดถนนในไร่เท่าที่สามารถทำได้ จากนั้นจะแบกเอาผลผลิตมาใส่รถจักรยานยนต์แล้วขนไปเก็บไว้ที่บ้าน แทนการขนด้วยการแบกและเดินเท้าเพียงอย่างเดียว
1. ระบบประปาภูเขา
เมื่อ พ.ศ. 2535 สภาตําบลดงพญาได้มาติดตั้งระบบประปาภูเขาที่หย่อมบ้านห้วยหมี ก่อนเข้าไปติดตั้งในหย่อมบ้านป่าแขมและหย่อมบ้านป่าเหมี้ยงใน พ.ศ. 2538 ซึ่งการนำระบบประปาภูเขาเข้าไปติดตั้งให้กับชาวบ้านห้วยหมีทั้งสามหย่อมบ้าน นับเป็นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคครั้งสำคัญในชุมชน เพราะชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากระบบประปาภูเขาทั้งในการอุปโภคและการบริโภค ในอดีตช่วงหน้าแล้งประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี หย่อมบ้านห้วยหมีมักจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค ชาวบ้านต้องไปตักน้ำจากห้วยหมีและลำน้ำปาดมาใช้ในครัวเรือน แต่ภายหลังมีการนำระบบประปาภูเขาเข้ามาใช้ ปัญหาดังกล่าวก็เริ่มคลี่คลายลง กอปรกับชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดทำฝายชะลอน้ำไว้บนลำห้วย และบริเวณต้นน้ำไม่ได้มีการบุกรุกทำลายดังเดิม ส่งผลให้ชาวบ้านมีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภคตลอดทั้งปี เช่นเดียวกับหย่อมบ้านป่าแขมและหย่อมบ้านป่าเหมี้ยง โดยการใช้ประปาภูเขา ชาวบ้านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อบำรุงรักษา แต่เมื่อระบบประปาภูเขาเกิดความเสียหาย ชาวบ้านจะช่วยกันซ่อมแซมด้วยตนเอง
2. ระบบไฟฟ้า
บ้านห้วยหมีได้รับการติดตั้งระบบไฟฟ้าครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2545 โดยเริ่มที่หย่อมบ้านห้วยหมีเป็นที่แรก แล้วจึงต่อด้วยหย่อมบ้านป่าแขมใน พ.ศ. 2548 ส่วนหย่อมบ้านป่าเหมี้ยงยังไม่มีไฟฟ้าใช้ สำหรับการติดตั้งระบบไฟฟ้าจะเสียค่าติดตั้งครั้งแรกครัวเรือนละประมาณ 5,000-7,000 บาท แต่ถึงกระนั้นระบบไฟฟ้าก็ยังคงมีปัญหาอยู่ ชาวมักมักประสบปัญหาฟ้าดับบ่อยครั้ง และบางครั้งก็ดับติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันกว่าจะกลับมาใช้ได้ปกติ ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกจากการใช้ไฟฟ้าเท่าที่ควร
ในอดีต ชาวบ้านห้วยหมีไม่ได้รับการศึกษาในระบบ ทำให้ชาวบ้านกลุ่มอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ไม่สามารถอ่าน เขียนภาษาไทยได้ ภาษาที่ใช้สื่อสารกันในชุมชน คือ ภาษาถิ่น ได้แก่ ภาษาลัวะ ส่วนการพูดคุยกับคนภายนอกจะใช้คําเมืองหรือภาษาเหนือ แต่สำหรับชาวบ้านรายที่ได้รับการศึกษาหรือมีโอกาสไปทำงานต่างถิ่นก็จะสามารถใช้ภาษากลางสื่อสารได้ รวมถึงเด็กนักเรียนในปัจจุบันที่สามารถพูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้อย่างดี
การศึกษาในระบบปัจจุบันอยู่ภายใต้ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านห้วยหมี จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2530 ปัจจุบันเปิดสอนเด็กก่อนวัยเรียนและนักศึกษาสายสามัญ (พบกลุ่ม) ระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยในปัจจุบันชาวบ้านให้ความสําคัญต่อการศึกษาของบุตรหลานเป็นอย่างมาก เพราะต้องการวุฒิการศึกษาไปใช้ประกอบอาชีพเมื่อไปทำงานต่างถิ่น ส่วนเยาวชนในชุมชนอีกส่วนหนึ่งจะไปเรียนที่โรงเรียนบ้านสว้าและโรงเรียนบ้านสะปัน ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมขยายโอกาส เปิดทำการเรียนการสอนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 การไปโรงเรียนเด็กนักเรียนจะไปพักหอพักที่ทางโรงเรียนจัดให้ โดยจะกลับบ้านในวันหยุดสุดสัปดาห์
ขุนน่าน
ครูแดน ทุลักทุเล ทัวร์. (2566). เลี้ยงผีกิ่วบ้านห้วยหมี. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2566, จาก https://www.facebook.com/
บ้านห้วยหมี อ.บ่อเกลือ จ.น่าน. (2565). สวัสดีวันอาทิตย์สีเขียว ธรรมชาติรังสรรค์ความงดงามเกินห้ามใจ ....ชวนใครหลายๆ คนคิดถึงบ้าน. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2566, จาก https://www.facebook.com/
สิทธิดล สมแวง. (2550). วิถีการผลิตข้าวของชาวลัวะ: ศึกษากรณีบ้านห้วยหมี หมู่ที่ 6 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน. สารนิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อุดมชัย วัฒน์ธนกุล และคณะ. (2556). แนวทางการฟื้นฟูฐานอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนลัวะบ้านห้วยหมี ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.
Golfy Seaman. (2566). ห้วยหมี. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2566, จาก https://www.lemon8-app.com/
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2566, จาก https://earth.google.com/
Mind Mind. (2566). กางเต้นท์ บ้านห้วยหมี จ.น่าน. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2566, จาก https://web.facebook.com/
Sanook. (2565). ลานกางเต็นท์บ้านห้วยหมี พิกัดลับกลางหุบเขาจังหวัดน่าน. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2566, จาก https://www.sanook.com/
Surachai Silakaew. (2565). บ้านห้วยหมี อ.บ่อเกลือ จ.น่าน กับจุดกางเต๊นท์แห่งใหม่ ที่มองเห็นทะเลหมอกได้ 360 องศา. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2566, จาก https://www.facebook.com/