บ้านลาดเจริญ หมู่บ้านเล็ก ๆ สุดเขตแดนสยามที่เปี่ยมล้นด้วยมนต์เสน่ห์ริมฝั่งโขง สถานที่ที่ปรากฎวิถีชีวิตและสายใยผูกพันกับลำน้ำและอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทย-ลาว ตลอดจนร่องรอยลานหินประวัติศาสตร์หาดทรายสูง แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงประจำอำเภอเขมราฐ
บ้านลาดเจริญ หมู่บ้านเล็ก ๆ สุดเขตแดนสยามที่เปี่ยมล้นด้วยมนต์เสน่ห์ริมฝั่งโขง สถานที่ที่ปรากฎวิถีชีวิตและสายใยผูกพันกับลำน้ำและอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทย-ลาว ตลอดจนร่องรอยลานหินประวัติศาสตร์หาดทรายสูง แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงประจำอำเภอเขมราฐ
บ้านลาดเจริญ ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เดิมชื่อบ้านลาดน้อย ในเขตปกครองบ้านลาดหญ้าคา ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนแยกตัวออกมาเป็นบ้านลาดเจริญเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 โดยบรรพบุรุษที่เข้ามาตั้งรกรากในพื้นพี่เป็นกลุ่มแรก คือ นายก่ำ เหล่าน้อย นายจู มัณฑนารักษ์ และนายกัณหา อินธิแสง
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านลาดเจริญ ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตำบลนาแวง ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของหมู่บ้านมีอาณาเขตติดต่อกับแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับแขวงสะหวันนะเขต (สปป.ลาว) ห่างจากตัวอำเภอเขมราฐประมาณ 25 กิโลเมตร ถนนสายหลักของหมู่บ้านที่ใช้ในการสัญจรเชื่อมต่อกับอำเภอ คือ ถนนสายยุทธศาสตร์หมายเลข 2112 (สายเขมราฐ-โขงเจียม) ห่างจากจังหวัดอุบลราชธานีประมาณ 128 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศที่สามารถสังเกตเห็นได้โดยทั่วไปจะมีลักษณะพื้นที่ที่ยื่นออกมาคล้ายปากนกแก้ว พื้นที่ส่วนใหญ่ติดต่อกับแนวแม่น้ำโขง มีจุดผ่อนปรนเพื่อติดต่อค้าขายสินค้าและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ในช่วงฤดูแล้งเมื่อน้ำในแม่น้ำโขงลดลงจะปรากฏเกาะแก่งหินและหาดทรายขาวผุดขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันหาดทรายขาวแห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีชื่อเสียงของบ้านลาดเจริญและตำบลนาแวง จังหวัดอุบลราชธานีด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันบ้านลาดเจริญได้มีการแบ่งพื้นที่หมู่บ้านโซนต่าง ๆ ออกเป็นคุ้มบ้าน จำนวนทั้งหมด 8 คุ้ม เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณคุ้มบ้านนั้น ๆ ได้แก่ คุ้มบ้านหาดทรายสูง คุ้มบ้านเกษตรผสมผสาน คุ้มบ้านเวิน คุ้มบ้านพลังธรรม คุ้มบ้านเปี่ยมสุข คุ้มบ้านตลาดนัดวัฒนธรรม คุ้มบ้านสามแยกพอเพียง และคุ้มบ้านสามัคคีธรรม
ป่าชุมชนบ้านลาดเจริญ
ป่าชุมชนบ้านลาดเจริญ มีเนื้อที่ 258 ไร่ ลักษณะเป็นภูเขาสลับที่ราบ ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทรายและปนลูกรังเป็นบางส่วน พื้นที่ส่วนมากมีลักษณะลาดเอียงลงสู่แม่น้ำโขงทางด้านทิศใต้ของบริเวณป่า สภาพป่าเป็นป่าเต็งรังที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้และสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด อาทิ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้ชาด ไม้กุ้ง ไม้เปือย ฯลฯ
สถิติประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานสถิติประชากรตำบลนาแวง หมู่ที่ 10 บ้านลาดเจริญ มีประชากรทั้งสิ้น 606 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 276 คน ประชากรหญิง 330 คน จำนวนครัวเรือน 165 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2565)
ในปัจจุบัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านลาดเจริญยังคงมีอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา (ที่นิยม คือ ข้าวเหนียวและข้าวเจ้าหอมมะลิ) การทำไร่มันสำปะหลัง ปลูกผัก ทำสวน รวมถึงการทำประมงพื้นบ้าน และเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไป อนึ่ง ปัจจุบันมีการเปิดจุดผ่อนปรนเพื่อติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว) ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามลำน้ำโขง เป็นจุดซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสินค้าตามแนวชายแดน อาทิ สินค้าเพื่อการอุปโภค-บริโภค สินค้าเบ็ดเตล็ด หัตถกรรมไม้แปรรูป และสินค้าเกษตรพื้นบ้านทั่วไป โดยสินค้านำเข้าสำคัญที่รับซื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณจุดผ่อนปรน คือ ไม้เก่า เครื่องหัตถกรรมเก่า เกวียน ไม้มุงหลังคา บ้านโบราณ และไม้แปรรูปต่าง ๆ ทั้งนี้ ยังมีการจัดตั้งกลุ่มท่าเรือชุมชนเข้มแข็งเพื่อจัดระเบียบการติดต่อค้าขายระหว่างประเทศตามแนวชายแดน ท่าเรือแห่งนี้จะมีเรือรับจ้างขนสินค้าและขนคนข้ามฝั่ง ค่าบริการคนข้าม คนละ 50 บาท ขนสินค้า ครั้งละ 100 บาท โดยส่วนมากจะเป็นคนจากฝั่ง สปป.ลาว ที่โดยสารเรือเพื่อนำสินค้ามาขายที่ตลาดนัดชุมชนบ้านลาดเจริญที่ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือทุกวันอังคาร โดยสินค้าที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่แล้วเป็นของกินของใช้จากพ่อค้าแม่ขายชาว สปป.ลาว ซึ่งในการนำสินค้ามาวางจำหน่ายจะมีค่าธรรมเนียมล็อคละ 10 บาท/วัน รายได้ที่ได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะนำเข้ากองกลางหมู่บ้าน และแบ่งให้เป็นรายได้ของคนเก็บขยะร้อยละ 20
เนื่องด้วยบ้านลาดเจริญ ตั้งอยู่ในทำเลบริเวณริมน้ำโขงซึ่งมีทัศนียภาพสวยงามเหมาะแก่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย เช่น หาดทรายสูง คอนหมู คอนวัว และขัวนางนี ฯลฯ และยังมีบ้านพักโฮมสเตย์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมถึงระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชน ได้แก่ ป้ายบอกทาง ลานจอดรถ ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปาหรือน้ำสะอาด ระบบการรักษาความปลอดภภัย ระบบการติดต่อสื่อสาร ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ซึ่งภายหลังภาครัฐได้เข้ามาให้การสนับสนุนในการพัฒนาให้บ้านลาดเจริญก้าวสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ มีการก่อตั้งกลุ่มโฮมสเตย์บ้านลาดเจริญภายใต้การสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนตำบลนาแวง เพื่อจัดสรรดูแลบ้านพักโฮมสเตย์ไว้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งสามารถรองรับนักท่องเที่ยวเข้าพักได้คราวละถึง 100 คน โดยแหล่งท่องเที่ยวชุมชนบ้านลาดเจริญส่วนมากแล้วจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติบริเวณกลางลำน้ำโขง ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีการสร้างแพร้านอาหารขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหาดทรายสูงซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของชุมชนบ้านลาดเจริญและอำเภอเขมราฐ สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านลาดเจริญนั้นมีทั้งการท่องเที่ยวทางน้ำ การท่องเที่ยวทางบก และการจัดเลี้ยงพาแลงสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักค้างคืน
1. การท่องเที่ยวทางน้ำ
- ล่องเรือชมความงามของทิวทัศน์สองฝั่งโขง ชมเกาะแก่งหินและหาดทรายบริเวณหาดทรายสูง
- ชมวิถีการทำประมงพื้นบ้านริมฝั่งโขง
2. การท่องเที่ยวทางบก
- ชมถ้ำพระ ถ้ำเสือ ขัวนางนี (สะพานหินตามธรรมชาติ)
- ชมการประดิษฐ์เฟอร์นิเจอร์จากไม้เก่า
3. การจัดเลี้ยงพาแลง
- พิธีเลี้ยงต้อนรับนักท่องเที่ยวแบบพาแลง มีพิธีผูกแขนบายศรีสู่ขวัญ ชมการฟ้อนรำบายศรีสู่ขวัญ ชมหมอลำภูไท หมอลำตังหวาย หมอลำผญา ซึ่งเป็นศิลปะดั้งเดิมของท้องถิ่น
- อาหารที่นำมาจัดเลี้ยงพาแลงเป็นอาหารขึ้นชื่อที่ทำจากปลาน้ำโขงทุกชนิด เช่น ต้มยำปลาโขง ลาบปลา ห่อหมกปลา ปลาทอดทรงเครื่อง ก้อยกุ้งเต้น ย่างหมูจี๊ดทรงเครื่อง และอาหารตามฤดูกาล
นอกจากกิจกรรมการท่องเที่ยวดังกล่าวแล้ว นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังบ้านลาดเจริญจะได้รับการต้อนรับด้วยเครื่องดื่มน้ำอัญชันมะพร้าวพร้อมผ้าขาวม้าหนึ่งผืน มีการนำนักท่องเที่ยวไปทำกิจกรรมแหย่ไข่มดแดง เพื่อนำไปประกอบอาหารเมนูพื้นบ้านของชาวอีสาน บริเวณริมฝั่งโขงจะมีต้นใบยาหม่องขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านได้เก็บมาสร้างสรรค์แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อปประจำชุมชน คือ ชาใบยาหม่อง อีกทั้งยังมีการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าร่วมเรียนรู้วิธีการทำชาใบยาหม่องในรูปแบบวิถีชุมชนตั้งแต่กระบวนการหาวัตถุดิบ การคั่ว การตาก การบด และการบรรจุ รวมถึงกิจกรรมการทำสบู่แบบธรรมชาติ หรือที่เรียกกันว่า “สบู่จากหมากหว้าน้ำ” (ลูกหว้าน้ำ) ตลอดจนผลิตภัณฑ์สินค้าจากภูมิปัญญาชุมชนอีกมากมาย ซึ่งภายหลังเรียนรู้กรรมวิธีการทำแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถนำกลับไปเป็นของฝากได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำนักท่องเที่ยวนั่งเรือหางยาวไปยังลานหินประวัติศาสตร์ เช่น
- คอนวัว ชมภาพแกะสลักรูปวัวสองตัวหันหน้าชนกันบนก้อนหิน
- คอนหมู อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติบ้านลาดเจริญ มีโขดหินริมน้ำ มีถ้ำริมน้ำ เวลาน้ำกระทบถ้ำจะเกิดเสียงดังคล้ายหมูร้อง จึงเรียกว่า “คอนหมู” ปรากฏรูปภาพที่สันนิษฐานว่ามนุษย์ยุคโบราณเป็นผู้แกะสลักไว้บนโขดหินและผนังถ้ำ เช่น รูปคน รูปสัตว์ และอักษรโบราณคล้ายอักษรจีนและอักษรขอม
- ต้นหว้าคู่ (ต้นไม้ประจำจังหวัดอุบลราชธานี) อายุกว่า 300 ปี ชาวบ้านเชื่อว่าคนที่ยังไม่มีคู่สามารถอธิษฐานขอคู่จากต้นหว้าคู่นี้ แล้วจะพบเจอเนื้อคู่ตามที่ต้องการ
ชาวบ้านลาดเจริญเกือบทั้งหมู่บ้านมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และยังคงมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบชนบท ทำประมงริมฝั่งโขง ยังคงมีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ยึดถือและปฏิบัติตามความเชื่อเก่าแก่ที่บรรพบุรุษเคยสืบทอดมา เช่น ประเพณีเลี้ยงไท้ (พิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ) งานบุญหาดทรายสูง งานประเพณีตามวาระโอกาสสำคัญต่าง ๆ พิธีบายศรีสู่ขวัญ และพิธีสวดมนต์หมู่ทำนองสรภัญญะเพื่อสรรเสริญและเป็นพุทธบูชาแก่พระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมการบริโภคอาหาร เช่น พิธีจัดพาแลง เพื่อเลี้ยงต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง วัฒนธรรมการแสดง เช่น การฟ้อนรำบายศรีสู่ขวัญ การร้องหมอลำทำนองตังหวาย ทำนองภูไท และการร้องหมอลำแบบ “ ผญา ”
เดือน | ประเพณีทั่วไป | ประเพณีเฉพาะถิ่น |
มกราคม | บุญสูตรบ้าน | - |
กุมภาพันธ์ | บุญผ้าป่า | - |
มีนาคม | บุญผ้าป่า | เลี้ยงผีไท้ |
เมษายน |
บุญสงกรานต์ บุญเทศน์มหาชาติ |
บุญหาดทรายสูง |
พฤษภาคม | - | เลี้ยงผีปู่ตา |
มิถุนายน | - | เลี้ยงผีตาแฮก |
สิงหาคม |
บุญข้าวประดับดิน บุญสังฆทาน |
- |
กันยายน |
บุญข้าวสาก บุญสังฆทาน |
- |
ตุลาคม | บุญกฐิน | - |
พฤศจิกายน | บุญกฐิน | - |
ธันวาคม | ลอยกระทง | - |
ผู้นำพิธีกรรมทางศาสนา ธรรมะ และคำสอน
1.นายเชย อินธิแสง
2.นายอวน มิ่งขวัญ
3.นายบุปผา อินธิแสง (หมอพราหมณ์สู่ขวัญ ผูกแขน แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่)
ปราชญ์ด้านภูมิปัญญาการรักษาโรค
1.นายจิตต์ อินธิแสง (รักษาโรคด้วยสมุนไพร)
2.นางปราศรัย อินธิแสง (รักษาอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับน้ำร้อนลวก)
3.นายปรีชา ทองโสภา (รักษาอาการเด็กร้องไห้/ดูฤกษ์ยาม)
ปราชญ์ด้านการเกษตร
1.นายพิจิตร ประชุมทอง
ปราชญ์ด้านงานหัตถกรรมใบตอง
1.นางวร อินธิจักร
2.นางเลื่อน เหมแดง
3.นางสมใจ แสงลา
ระบบนิเวศน์ริมฝั่งโขง ต้นทุนการพัฒนาการท่องเที่ยวบ้านลาดเจริญ
เนื่องจากลักษณะทำเลที่ตั้งของบ้านลาดเจริญที่อยู่ติดกับลำน้ำนานาชาติดังเช่นลำน้ำโขง ส่งผลให้บ้านลาดเจริญบริบูรณ์พร้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติและทัศนียภาพที่งดงามบริเวณริมฝั่งโขง ในช่วงฤดูแล้ง น้ำลดลงเต็มที่ ทําให้พื้นที่มีเกาะแก่งหินและหาดทรายผุดขึ้นมาให้เห็นอย่างสวยงามตระการตา ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านจะเป็นบริเวณเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ ทั้งยังเกิดระบบนิเวศน์ต่าง ๆ ที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของชุมชน คือ หาดทรายสูง เป็นหาดทราย (น้ำจืด) ตั้งอยู่ริมฝั่งชายแดนไทยบนโค้งลำน้ำโขงที่มีการสะสมของตะกอนทรายอย่างลงตัวเหมาะเจาะ ยามน้ำโขงลดจะเกิดแนวหาดทรายยาวขาวเนียนทอดตัวขนาบไปกับลำน้ำโขงยาวร่วมร้อยเมตร ก่อนจะไปบรรจบกับแก่งหิน โขดหิน หาดทรายสูง มีลักษณะเป็นแนวทรายกว้างยาวอันสวยงาม แต่ว่าเป็นแนวสันทรายที่มีความสูงท่วมหัวคน ดูคล้ายหน้าผาทรายเตี้ย ๆ ที่ตั้งอยู่ในองค์ประกอบของเวิ้งน้ำ แนวโขดหิน ที่ช่วยเติมเต็มให้หาดทรายแห่งนี้น่ายลมากขึ้น โดยหาดทรายสูงจะปรากฏให้เห็นเด่นชัดเต็มที่ระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคมของทุกปี โดยเฉพาะช่วงฤดูน้ำลดประมาณ เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี รอบ ๆ บริเวณหาดทรายสูง จะมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมายที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม
ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เป็นบริเวณเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ เรียกว่า “เวินไก่แม่ฟัก” เป็นบริเวณที่กระแสน้ำพัดกระทบหินแล้วเกิดเสียงดังเหมือนแม่ไก่ฟักไข่ (กุ๊ก กุ๊ก)และบริเวณนี้ยังเป็นน้ำวน มีน้ำพุขึ้นมาลักษณะเป็นครึ่งวงกลม ปลาที่พบในพื้นที่นี้ ได้แก่ ปลาสร้อย ปลากด ปลาคัง กุ้ง ฯลฯ โดยเฉพาะปลาคัง หรือชาวบ้านเรียกกันว่า “ปลาเค็ง” ถือเป็นวัตถุดิบอันทรงคุณค่าจากแม่น้ำโขง ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังมียังมีสถานที่ที่ปรากฏร่องรอยทางประวัติศาสตร์มากมาย อาทิ
- คอนวัว ซึ่งพบมีภาพแกะสลักหินโบราณเป็นรูปหน้าวัวหันหน้าเข้าหากัน
- คอนหมู ปรากฏภาพแกะสลักรูปคน สัตว์ อักษรโบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่ามนุษย์ยุคโบราณเป็นผู้สลักไว้
- ผาหินสิ่ว เป็นหินตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสครอบครองภูมิภาคอินโดจีน
- ถ้ำคันสะลึง เป็นถ้ำหินริมน้ำขนาดใหญ่จุคนได้ประมาณ 50 คน สมัยก่อนคนโบราณที่ ไปหาปลา ใช้เป็นที่หลบแดดหลบฝน
- ขัวนางนี เป็นพานหินธรรมชาติ ห่างจากหาดทรายสูงประมาณ 200 เมตร ใกล้กับสะพานทางทิศใต้ จะมีหินรูปจระเข้ตัดเป็นท่อน ๆ ขาดจากกัน สมัยโบราณใช้สะพานนี้ข้ามห้วยบวกปลากั้ง
- ถ้ำพระ อยู่ห่างจากหมู่บ้าน 3,500 เมตร เมื่อปี พ.ศ. 2475 ได้มีคนเข้าไปค้นหาสมบัติในถ้ำได้พบพระทองคำขันหิน เงินลิ่ม เงินโบราณ เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเป็นเพียงถ้ำที่ว่างเปล่าเท่านั้น
- ถ้ำเสือ มีตำนานเล่าว่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2499 มีเสือ 2 ตัว มาอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งนี้ ตกตอนกลางคืนก็ออกอาละวาดไล่กินวัวชาวบ้าน ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันใช้ฟืนอุดปากถ้ำแล้วจุดไฟเผาจนเสือตาย และให้ชื่อว่า “ถ้ำเสือ”
ภาษาพูด : ภาษาอีสาน (สำเนียงอุบลราชธานี)
ภาษาเขียน : อักษรไทย
พัฒนาการการท่องเที่ยวบ้านลาดเจริญ
พัฒนาการการท่องเที่ยวบ้านลาดเจริญเริ่มขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2547 เมื่อหน่วยงานพัฒนาชุมชนอำเภอเขมราฐได้เข้ามาแสวงหาของดีแต่ละพื้นที่ โดยในขณะนั้นบ้านลาดเจริญในสมัยนายจิตต์ อินธิแสง เป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้เสนอหาดทรายสูงเป็นของดีประจำชุมชนแก่พัฒนากรเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ประจวบกับบ้านลาดเจริญมีแหล่งศึกษาร่องรอยทางประวัติศาสตร์การค้นพบงาช้าง ภาพสลักหินโบราณ รวมถึงสถานที่ที่ร้อยเรียงถึงเรื่องราวความเก่าแก่บริเวณโขดหินริมแม่น้ำโขง ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชาวบ้านในชุมชนจึงได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มโฮมสเตย์บ้านลาดเจริญขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2547 เพื่อรองรับการพัฒนาและการเข้ามาของนักท่องเที่ยว กระทั่งใน พ.ศ. 2549 โฮมสเตย์บ้านลาดเจริญเริ่มเป็นที่รู้จักทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ เป็นเหตุให้ในเวลาต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลนาแวง (อบต.นาแวง) ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการท่องเที่ยวชุมชน อาทิ การจัดอบรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวให้ชาวบ้านเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ตลอดจนทำแผ่นพับข้อมูลโปรแกรมการท่องเที่ยวเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวบ้านลาดเจริญ ประกอบกับศักยภาพด้านพื้นที่ทางกายภาพของบ้านลาดเจริญ เช่น หาดทรายสูง ต้นหว้าคู่ ภาพสลักบนโขดหิน และความสามารถในการพัฒนาและการผลิตสร้างของชาวบ้านในชุมชนในการจัดกิจกรรมกรท่องเที่ยว เช่น พาแลง สู่ขวัญ นุ่งซิ่นกินข้าวแลงฮักแพงกัน มัคคุเทศก์น้อย การล่องเรือลัดเลาะริมโขงเชื่อมโยงวัฒนธรรม ท่าเรือชุมชน ตลาดนัดชุมชน กลุ่มโฮมสเตย์ วิถีชีวิตริมแม่น้ำโขง ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้บ้านลาดเจริญเป็นที่รู้จักขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนตำบลนาแวง
จำปา ทองโสภา และคณะ. (2560). โครงการวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หาดทรายสูงบ้านลาดเจริญ ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว).
ชุมชนโฮมสเตย์บ้านลาดเจริญ. (2561). ทุกสิ่งมีจริงที่โฮมสเตย์ลาดเจริญ. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2566, จาก https://www.facebook.com/
ชุมชนโฮมสเตย์บ้านลาดเจริญ. (2562). ทุกสิ่งมีจริงที่โฮมสเตย์ลาดเจริญ. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2566, จาก https://www.facebook.com/
ชุมชนโฮมสเตย์บ้านลาดเจริญ. (2564). ทุกสิ่งมีจริงที่โฮมสเตย์ลาดเจริญ. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2566, จาก https://www.facebook.com/
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร. (14 พฤษภาคม 2560). สัมผัสมนต์เสน่ห์ริมฝั่งโขง เรียนรู้วิถีชุมชนไทย-ลาว ชุมชนบ้านลาดเจริญ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี. สยามรัฐ, น. 4.
อ้ายฉิง. (2566). รีวิวหาดทรายสูง ที่เที่ยวเขมราฐ จ.อุบลราชธานีทรายสวย วิวดี จุดเช็คอินที่ห้ามพลาด. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2566, จาก https://travel.trueid.net/
To Love and to Cherish. (ม.ป.ป.). หว้าน้ำ หาดทรายสูง บ้านลาดเจริญ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2566, จาก https://galleryoftrees.kkpfg.com/