ชุมชนพหุวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น กับวิถีชีวิตและมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าและเป็นเอกลักษณ์
ชุมชนพหุวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น กับวิถีชีวิตและมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าและเป็นเอกลักษณ์
ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ของจังหวัดพะเยาที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อเข้ามาตั้งถิ่นฐาน สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยเป็นชุมชน ประชากรชาวไทลื้อตำบลเชียงบานเป็นประชากรส่วนใหญ่ของตำบล ซึ่งอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากแคว้นสิบสองปันนา เริ่มแรกได้ลงหลักปักฐานอยู่ที่บ้านท่าฟ้า อำเภอเชียงม่วน ต่อมาเมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้นทำให้ทรัพยากรในพื้นที่ไม่เพียงพอ ประกอบกับเป็นพื้นที่สูงทำให้มีความลำบากในการอยู่อาศัยและการทำมาหากิน จึงได้อพยพย้ายถิ่นฐานอีกครั้งหนึ่ง มาอยู่ที่บ้านแพด โดยการนำของนายมังคะละ ซึ่งต่อมาได้ใช้ชื่อนี้เป็นนามสกุลของชาวบ้านแพด จากนั้นก็ขยายชุมชนออกไปทางทิศเหนือ โดยการนำของนายอริยะ และนายสุธรรม กลายเป็นชุมชนใหม่เกิดขึ้น ได้แก่ บ้านเชียงบาน บ้านเชียงคาน และบ้านทุ่งมอก และกลายเป็นกลุ่มชุมชนชาวไทลื้อขนาดใหญ่ในปัจจุบัน
ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเชียงคำไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 18,750 ไร่ โดยประมาณ เป็นพื้นที่ราบลุ่ม สภาพพื้นดินมีความเหมาะสมสำหรับทำการเกษตร มีป่าไม้ขึ้นหนาแน่นทางทิศตะวันตก (ป่าแพะยาว) มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ลำน้ำแวน ลำน้ำเหมืองแดง และห้วยผาฮาว ตำบลเชียงบานมีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ เทศบาลตำบลสบบง อำเภอภูซาง บริเวณรอยต่อบ้านสบแวน ตำบลเชียงบาน กับบ้านดอนตัน เทศบาลตำบลสบบง อำเภอภูซาง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ องค์การบริหารทุ่งผาสุข อำเภอเชียงคำ และเขตองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำแวน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับเทศบาลตำบลเชียงคำ เทศบาลตำบลหย่วน บริเวณรอยต่อบ้านเชียงบาน หมู่ที่ 10
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลอ่างทอง บริเวณรอยต่อบ้านทุ่งมอกตำบลเชียงบาน กับบ้านเนินสามัคคี ตำบลอ่างทอง และเขตองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำแวน
ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา แบ่งการปกครองออกเป็น 11 ชุมชน มีประชากรรวม 7,397 คน จากทั้งหมด 3,196 ครัวเรือน ประกอบด้วย
- หมู่ที่ 1 บ้านปางวัว มีทั้งหมด 328 ครัวเรือน จำนวนประชากร 704 คน แบ่งเป็นชาย 351 คน หญิง 353 คน
- หมู่ที่ 2 บ้านทุ่งมอก มีทั้งหมด 320 ครัวเรือน จำนวนประชากร 700 คน แบ่งเป็นชาย 324 คน หญิง 376 คน
- หมู่ที่ 3 บ้านเชียงบาน มีทั้งหมด 306 ครัวเรือน จำนวนประชากร 616 คน แบ่งเป็นชาย 299 คน หญิง 317 คน
- หมู่ที่ 4 บ้านเชียงบาน มีทั้งหมด 651 ครัวเรือน จำนวนประชากร 2,032 คน แบ่งเป็นชาย 1,452 คน หญิง 580 คน
- หมู่ที่ 5 บ้านแวนวัฒนา มีทั้งหมด 244 ครัวเรือน จำนวนประชากร 572 คน แบ่งเป็นชาย 321 คน หญิง 251 คน
- หมู่ที่ 6 บ้านแพด มีทั้งหมด 229 ครัวเรือน จำนวนประชากร 458 คน แบ่งเป็นชาย 208 คน หญิง 250 คน
- หมู่ที่ 7 บ้านเชียงคาน มีทั้งหมด 231 ครัวเรือน จำนวนประชากร 499 คน แบ่งเป็นชาย 241 คน หญิง 258 คน
- หมู่ที่ 8 บ้านสบแวน มีทั้งหมด 214 ครัวเรือน จำนวนประชากร 418 คน แบ่งเป็นชาย 204 คน หญิง 214 คน
- หมู่ที่ 9 บ้านแพทย์บุญเรือง มีทั้งหมด 248 ครัวเรือน จำนวนประชากร 523 คน แบ่งเป็นชาย 259 คน หญิง 264 คน
- หมู่ที่ 10 บ้านเชียงบาน มีทั้งหมด 254 ครัวเรือน จำนวนประชากร 440 คน แบ่งเป็นชาย 223 คน หญิง 217 คน
- หมู่ที่ 11 บ้านฝั่งแวน มีทั้งหมด 171 ครัวเรือน จำนวนประชากร 435 คน แบ่งเป็นชาย 209 คน หญิง 226 คน
ประชากรในตำบลเชียงบาน ร้อยละ 70 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง มันแกว ลำไย นอกจากนี้ยังมีพืชเศรษฐกิจอื่นๆ อีก เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และในตำบลเชียงบานมีการรวมตัวกันของกลุ่มอาชีพต่างๆ ดังนี้
- กลุ่มผู้สูงอายุตำบลเชียงบานเลี้ยงไก่ไข่
- กลุ่มแม่บ้านวิสาหกิจชุมชนข้าวแคบสมุนไพร หมู่ที่ 4
- กลุ่มขับลื้อบ้านแพด หมู่ที่ 6
- กลุ่มไก่ต่อไก่ตั้ง
- กลุ่มเลี้ยงผึ้งโก่น
- นวดแผนไทย (ศูนย์ฮอมฮักตำบลเชียงบาน)
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเชียงบาน
- ศูนย์ทอผ้าบ้านทุ่งมอก หมู่ที่ 2
- กลุ่มทอผ้าบ้านฝั่งแวน หมู่ที่ 11
- ศูนย์ทอผ้าบ้านแวนวัฒนา หมู่ที่ 5
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผลิตลำไยนอกฤดู
ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่นับถือศาสนาพุทธ ยกเว้น หมู่ที่ 8 บ้านสบแวน เป็นชุมชนที่นับถือศาสนาคริสต์ โดยมีประเพณี เทศกาลงานประจำปีของตำบลเชียงบาน เช่น
- ประเพณีวันสงกรานต์
- ประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษา
- ประเพณีลอยกระทง
- ประเพณีบานศรีสู่ขวัญ
- ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า
- ประเพณีบวงสรวงศาลประจำหมู่บ้าน
- ประเพณีสงเคราะห์บ้าน
- ประเพณีสมโภชองค์พระเจดีย์ศรีเชียงบาน
- ประเพณีสมโภชองค์พระพุทธสิหิงค์ศากยมุนี ตำบลเชียงบาน
- งานอนุสรณ์ผู้เสียสละ พตท. 2523
ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประชาชนในตำบลเชียงบานได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชน ได้แก่ การตีกลองสะบัดชัย การขับลื้อ ดนตรีไทย การทำเครื่องจักสาน การทำผ้าทอไทลื้อ ฯลฯ
ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน จึงทำให้มีภาษาถิ่นที่หลากหลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม ประกอบด้วย ภาษาไทลื้อ ภาษาไทยถิ่นอีสาน และภาษาไทยถิ่นเหนือ
รพีพร รักมนุษย์. (2528). การใช้ภาษาของชาวไทยลื้อในหมู่บ้านเชียงบาน ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา การศึกษาทางมานุษคดีด้านการพูด. การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.
องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงบาน. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา.
องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงบาน. (ม.ป.ป.). กลุ่มอาชีพ. องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา.
องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงบาน. (ม.ป.ป.). แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ. องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา.