ศาสนสถานที่มีลักษณะสวยงามเป็นเอกลักษณ์ เกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันของกลุ่มเชื้อสายยะวาที่เข้ามาในประเทศไทย และตั้งอยู่ในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
เกิดจากกลุ่มผู้คนเชื้อสายยะวาที่ร่วมกันสร้างศาสนสถานขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเรียกชื่อมัสยิดนี้ว่า "มัสยิดยะวา"
ศาสนสถานที่มีลักษณะสวยงามเป็นเอกลักษณ์ เกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันของกลุ่มเชื้อสายยะวาที่เข้ามาในประเทศไทย และตั้งอยู่ในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
ชุมชนมัสยิดยะวาตั้งอยู่ ถือเป็นพื้นที่ที่มีการเข้ามาของคนต่างชาติมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญจากอ่าวไทยสู่กรุงศรีอยุธยา มีการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนมาตั้งแต่ครั้งนั้นโดยสันนิษฐานได้จากการมีวัดที่สร้างขึ้นในช่วงปลายสมัยอยุธยาอย่าง “วัดคอกควาย” หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า วัดยานนาวา ต่อมาเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ราวปี พ.ศ. 2330 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จนำทัพไปตีเมืองทวาย เมื่อเสร็จศึกได้รับชัยชนะ จังได้นำชาวทวายเข้ามายังพระนคร โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองรอบกรุง ด้านหลังวัดสระเกศ ก่อนจะพระราชทานที่หลวงให้ตั้งถิ่นฐานถาวรทางตอนใต้ของพระนครบริเวณวัดคอกควาย ชาวทวายจึงตั้งหลักปักฐานพร้อมสร้างวัดขึ้น คือ “วัดดอน” ปัจจุบันคือ วัดบรมสถล หลังจากนั้นในช่วงรัชกาลที่ 3 มีการเกณฑ์ไพร่พลชาวลาวจากบ้านลาว บางไส้ไก่ ฝั่งธนบุรีมาเป็นแรงงานเพื่อการต่อเรือรบที่อู่เรือสำเภาหลวง บริเวณปากคลองกรวย บ้านทวาย เมื่อครั้งสยามทำสงครามกับญวนที่ฮาเตียนและไซ่งอน ชาวลาวกลุ่มนี้ได้ลงหลักปักฐานที่ปากคลองบางกรวยและสร้างวัดขึ้น คือ “วัดลาว” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสุทธิวราราม
หลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง สนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำกับสหราชอาณาจักร ในช่วงรัชกาลที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2398 โดยมีสาระสำคัญคือการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่ในย่านชุมชนมัสยิดยะวามีการเริ่มเปลี่ยนแปลง โดยการเปลี่ยนแปลงของครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของย่านนี้ คือ การตัดถนนเจริญกรุง เป็นถนนสายแรกที่สร้างขึ้นตามแบบ “ตะวันตก” ของสยาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2404 เส้นถนนเริ่มตั้งแต่สะพานเหล็กบริเวณริมวังเจ้าเขมรยาวเรื่อยไปแล้วแยกออกอีก 2 สาย สายแรกตัดไปข้ามคลองผดุงกรุงเกษมเชื่อมต่อกับ “ถนนตรง” ส่วนอีกสายให้ตัดลงมาทางใต้ยาวตลอดไปถึงบริเวณดาวคะนอง ซึ่งไม่นานหลังจากตัดถนนก็ทำให้บริเวณสองฝากถนนคับคั่งเป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญของสยาม ส่งผลให้พื้นที่บริเวณนี้กลายเป็นย่านท่าเรือและแหล่งอุตสาหกรรมใหม่ของกรุงเทพฯ มีการตั้งโรงสี โรงเลื่อย อู่ต่อเรือ ห้างร้านของพ่อค้าชาวจีนและชาติตะวันตก
หลังจากการตัดถนนเจริญกรุง ซึ่งไม่ได้เพียงนำแต่ความเจริญทางเศรษฐกิจมาสู่พื้นที่ย่านเท่านั้น และด้วยพื้นที่บริเวณนี้เป็นบริเวณที่ได้รับอนุญาตให้คนต่างชาติสามารถอยู่อาศัยได้อย่างเสรี จึงพบว่ามีการเข้ามาของกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตั้งถิ่นฐานเพิ่มเติมในพื้นที่ เช่น กลุ่มมุสลิมเชื้อสายชวาเข้ามาในสยามในฐานะคนบังคับของฮอลันดาและบางส่วนเป็นผู้หลบหนีจากอำนาจการปกครองฮอลันดาที่มารับจ้างเป็นแรงงานในสยาม กลุ่มชาวไทใหญ่จากพม่าที่เข้ามาทำงานพร้อมกับเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นต้น
ในช่วงปี พ.ศ. 2437 ฮัจยีมุฮัมมัดซอและฮ์ ชาวยะวาในบังคับฮอลันดา มีที่อยู่บริเวณตรอกโรงน้ำแข็ง ถนนสาธรได้มอบที่ดินให้เป็นสถานที่ปลูกสร้างมัสยิด เดินที่ดินบริเวณนี้เป็นของชาวจีน ชื่อ จ้อย พ.ศ. 2448 ฮัจยีมุฮัมมัดซอและฮ์ ได้ยื่นคำร้องต่อทางการให้เปลี่ยนโฉนดสำหรับที่ดินนี้ใหม่ โดยใส่ ชื่อ ฮัจยีมุฮัมมัดซอและฮ์ เป็นผู้จัดการในที่ของมัสยิดพร้อมด้วยชาวยะวาในอาณาบริเวณนั้น อาทิเช่น นายมุฮัมมัดมูซา นายระก๊ำ และชาวยะวาคนอื่น ๆ ทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน ได้ร่วมกันก่อตั้งมัสยิดยะวาขึ้นมาจนเป็นผลสำเร็จ
ชุมชนมัสยิดยะวา ตั้งอยู่บริเวณ ซอยเจริญราษฎร์ 1 แยก 9 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร มัสยิดแห่งนี้ทะเบียนตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 โดยจดทะเบียนในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2491 นับเป็นลำดับที่ 4 ปัจจุบันมัสยิดยะวาเป็นมัสยิดแห่งเดียวในเขตสาทร อยู่ในเขต 1 ในการดูแลของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร (ประกอบด้วย เขตบางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา ราชเทวี ปทุมวัน ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระนคร)
การพัฒนาของเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนพื้นที่ชุมชนมัสยิดยะวาในปัจจุบัน พื้นที่สวนหรือที่นาถูกขายหรือปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่พักอาศัย และเกิดความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ อันส่งผลให้เกิดสิ่งปลูกสร้างถาวรกระจายครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่ ทั้งในรูปของอาคารพาณิชย์และบ้านพักอาศัย อาคารสำนักงานและอาคารพักอาศัยขนาดใหญ่ กระจายเต็มถนนสายหลัก พื้นที่ที่เคยเป็นสวนผลไม้ถูกเปลี่ยนให้เป็นอาคารห้างร้านเกือบทั้งสิ้น
ชุมชนมัสยิดยะวาในปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่มีกลุ่มคนอาศัยอยู่ 3 กลุ่ม คือ คนไทยพุทธ คนจีน และมุสลิม การปรากฏทั้งวัด มัสยิดและศาลเจ้าในพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนาที่อยู่ร่วมกันได้อย่างดีในพื้นที่แห่งนี้ แม้ วิถีชีวิตของชาวชุมชนมัสยิดยะวาจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต แต่ชุมชนมัสยิดยะวาในทุกวันนี้ก็ยังคงหลากหลายไปด้วยคนหลายกลุ่ม หลายเชื้อชาติ ศาสนา วิถีชีวิตบางประการที่เคยมีมาในอดีตค่อย ๆ จางหายไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คือการเป็นพื้นที่ที่รวมผู้คนอันหลากหลายที่มา ศาสนา ความเชื่อ วิถีชีวิต แต่ ทุกคนก็สามารถอยู่ร่วมกันบนความต่างนั้นได้อย่างลงตัว
มัสยิดยะวามีอิหม่ามทำหน้าที่เป็นผู้นำทางศาสนาในมัสยิดจนถึงปี พ.ศ. 2539 ซึ่งมีทั้งชาวยะวา และชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ในหมู่บ้านเดียวกัน
- อัจยีอับดุลรามัน (ยะวา)
- ฮัจยีอิสมาแอล (มาเลย์)
- ฮัจยีสุไกมี (ยะวา)
- อิหม่ามนูยุม (ยะวา)
- ฮัจยีอับดุลเราะห์มาน หรือฮัจยีอรุณ พิทยายน (มาเลย์)
- รูปแบบสถาปัตยกรรมมัสยิดยะวา
ลักษณะการก่อสร้างมัสยิดยะวานี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบยะวา แม้จะมีการซ่อมแซมมัสยิด 2 ครั้ง ครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. 2470 และครั้งที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2518 ก็ยังคงรักษารูปหลังคาตามแบบเดิม เปลี่ยนแปลงเฉพาะอาคารมัสยิดให้กว้างขวางขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะตรงส่วนที่นั่งพักสนทนาธรรม ซึ่งชาวยะวาจะเรียกบริเวณที่นั่งพักนี้ว่า บาไล
คลังข้อมูลชุมชน. มัสยิดยะวา กรุงเทพมหานคร. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). [ออนไลน์]. ได้จาก : https://communityarchive.sac.or.th/community/MasjidYawa- [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567].
คลังข้อมูลชุมชน. ประวัติศาสตร์ชุมชน : มัสยิดยะวา กรุงเทพมหานคร/รู้จักชุมชน. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://communityarchive.sac.or.th/community/MasjidYawa-/about/history [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567].
สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย. มัสยิดยะวา. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.cicot.or.th/th/mosque/detail/247/2/%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B2 [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567].