วัดเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน สถาปัตยกรรมแบบไทยที่งดงาม และพิพธภัณฑ์เพื่อการศึกษา แหล่งรวบรวมข้อมูลทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่น่าสนใจ
สันนิษฐานที่มาของชื่อวัดได้จาก 2 เรื่องคือ ในอดีตมีการทำตัวหนังที่วัดนี้เป็นจำนวนมาก และตั้งแต่สมัยสร้างวัด พื้นที่บริเวณลานวัดถูกใช้สำหรับตากหนังเพื่อเตรียมรอขึ้นหน้ากลอง ทำให้คนในชุมชนเรียกว่า “วัดหนัง”
วัดเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน สถาปัตยกรรมแบบไทยที่งดงาม และพิพธภัณฑ์เพื่อการศึกษา แหล่งรวบรวมข้อมูลทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่น่าสนใจ
หลักฐานจากจารึกที่ระฆังใบเก่าในวัดระบุว่า วัดหนัง หรือวัดหนังราชวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2260 ซึ่งตรงกับช่วงรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ สร้างโดยพระมหาพุทธิรักขิตกับหมื่นเพ็ชร์พิจิตร ในอดีตวัดหนังตั้งอยู่ในเขตอำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี ที่ปรากฏให้เห็นผ่านป้ายเก่าของวัดขณะยังมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดธนบุรี จนกระทั่งธนบุรีรวมเข้ากับกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก ทำให้ที่ตั้งวัดหนังอยู่ในเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร
ในช่วงสมัยพระพุทธเจ้าหลวง หลวงปู่เอี่ยมหรือพระภาวนาโกศลเถระ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสของวัดหนังที่มีชื่อเสียงมาก ท่านพระครูถ่ายทอดให้ฟังว่า “วัดหนังอาจจะไม่มีชื่อเสียงโด่งดังหรือสวยงามมาก แต่ในตลาดพระ พระหลวงปู่เอี่ยมวัดหนังดังมาก ราคาไม่เคยตก ขี้เหร่หน่อยก็หลักแสน แต่ที่ดีจริงๆ ก็หลักล้าน ถามเซียนพระที่ไหนก็ได้” จากคำบอกเล่าของคนผู้สูงอายุในชุมชน คำว่า “บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน” ในอดีตเคยเป็นคำที่กล่าวถึงพื้นที่ 2 ส่วนคือ พื้นที่เรือกสวนไร่นาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ของแถบบางขุนเทียน กับพื้นที่สวนของบางช้าง-อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
วัดหนังเป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ของย่านนี้ มีคำเรียกวัดในบริเวณนี้ว่า “วัดสามพี่น้อง” โดยหมายถึง วัดหนังราชวรวิหาร วัดนางนองวรวิหาร และวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร นอกจากนี้ยังมีวัดศาลาครึนด้วย ซึ่งวัดนางนองวรวิหารและวัดราชโอรสารามราชวรวิหารบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้ศิลปะส่วนใหญ่ที่ปรากฏอยู่ที่วัดเป็นศิลปะแบบจีน ประดับกระเบื้องจีนตามหน้าจั่วของโบสถ์และวิหารของวัด ส่วนพระราชมารดาของรัชกาลที่ 3 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดหนังขึ้นใหม่ ทำให้มีความเป็นไทยผสมอยู่มากกว่าวัดนางนองและวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร แต่ก็ยังมีศิลปะแบบจีนปนอยู่บ้าง
วัดหนังราชวรวิหาร แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร สังกัดมหานิกาย โดยวัดหนังมีการจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนาตลอดทั้งปีเพื่อสืบสานรักษาศาสนา และประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่ ดังนี้
- การบวชศิลจาริณี
- งานเทศน์มหาชาติ
- งานกฐินพระราชทาน
- อธิฐานเข้าพรรษา
- วันอาสาฬหบูชา
- ฟังเทศน์ เวียนเทียนวันอัฏฐมีบูชา
- ฟังเทศน์ เวียนเทียนวันวิสาขบูชา
- ฟังเทศน์ เวียนเทียนวันมาฆบูชา
- งานบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานถวายพระธรรมศีลาจารย์
- กิจกรรมปฐมนิเทศ นักธรรมโท นักธรรมเอก
- พิธีมุทิตาจิตผู้สอบได้เปรียญธรรม
- งานประจำปี วัดหนังราชวรวิหาร
- สวดมนต์ข้ามปี
- หลวงปู่เอี่ยม วัดหนังราชวรวิหาร
พระภาวนาโกศลเถระ (เอี่ยม สุวณฺณสโร) หรือ หลวงปู่เอี่ยม (หลวงปู่เฒ่า) เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 5 ของวัดหนังราชวรวิหาร ถือกำเนิดที่บ้านริมคลองบางหว้า ใกล้วัดหนัง เมื่อวันศุกร์แรม 3 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง พ.ศ. 2375 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 บิดาชื่อนายทอง มารดาชื่อนางอู่ เป็นชาวสวนบางขุนเทียน เมื่อหลวงปู่เอี่ยม อายุได้ 9 ปี บิดามารดาได้ให้เรียนหนังสือในสำนักพระครูธรรมถิดาญาณ (หลวงปู่รอด) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหนัง ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรและศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดหนัง จนกระทั่งอายุได้ 19 ปี ท่านได้เข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมสนามหลวงแต่ท่านสอบไม่ได้จึงลาสิกขาบทกลับไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพระยะหนึ่ง
ต่อมาในปีพ.ศ. 2397 เมื่อท่านอายุได้ 22 ปีได้เข้าอุปสมบทที่วัดราชโอรสาราม (วัดจอมทอง) ได้ฉายาว่า “สุวณฺณสโร” ต่อมาท่านได้ไปอยู่ที่วัดนางนอง และได้ศึกษาด้านวิปัสสนาธุระและพุทธาคมกับหลวงปู่รอดและเมื่อหลวงปู่รอดย้ายไปประจำที่วัดโคนอน ท่านได้ติดตามหลวงปู่รอดไปอยู่ที่วัดโคนอนด้วย เพื่อปรนนิบัติในฐานะที่เป็นพระอาจารย์ของท่าน
ต่อมาเมื่อหลวงปู่รอดมรณภาพแล้ว หลวงปู่เอี่ยมจึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโคนอน ต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูศีลคุณธราจารย์แล้วให้อาราธนามาอยู่ที่วัดหนังราชวรวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2441 ต่อมาล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าหลวงปู่เอี่ยมมีอายุพรรษามาก มีศีลาจริยาวัตรสมบูรณ์ ไม่ด่างพร้อยเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนโดยทั่วไป และทรงเคารพนับถือในส่วนพระองค์เป็นกรณีพิเศษอีกด้วย สมควรจะได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นพระราชาคณะที่ “พระภาวนาโกศลเถระ” ในปีพ.ศ. 2442
หลวงปูเอี่ยมได้ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันจันทร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล พ.ศ. 2469 สิริอายุ 94 ปี
- พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนังราชวรวิหาร
พระสุนทรศีลสมาจาร เจ้าอาวาสวัดหนังราชวรวิหาร องค์ที่ 7 (ชื่อเดิมคือ หลวงปู่ผลหรือพระครูภาวนาภิรัตน์) เก็บข้าวของเครื่องใช้เก่าที่กุฏิไว้มากมาย ต่อมาพระครูวิบูลศีลวัตร หรือหลวงปู่ช้วน ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสรับหน้าที่ดูแลข้าวของเครื่องใช้เก่า ทั้งจากที่หลวงปู่ผลเก็บไว้และมีคนนำมาถวาย จนกลายเป็นการจัดทำพิพิธภัณฑ์ที่เกิดความร่วมมือระหว่างคนในชุมชนและวัด
เมื่อประมาณปี 2550 เจ้าอาวาสและลูกวัดต้องการซ่อมแซมกุฏิ และจัดสรรกุฏิเก่าให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงสิ่งของเก่าแก่ของวัด จุดสังเกตของอาคารพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ท่ามกลางหมู่กฏิ หรือกุฏิเดิมของหลวงปู่ผล ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งสำหรับช่วยดูแลและรักษาความปลอดภัยพิพิธภัณฑ์ วัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา” เพื่อให้ผู้ที่สนใจและผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ศึกษาเรียนรู้ ผ่านการบรรยายจากผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
การแบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 เก็บรวบรวมสิ่งของเก่าและมีค่าของวัด ส่วนที่ 2 เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ของชุมชนในอดีต
ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ชุมชน บริเวณเขตจอมทอง วิถีชีวิตของคนในชุมชนบริเวณนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นคนจีนที่อพยพเข้ามาทำสวนผักใกล้บริเวณวัด คนในพื้นที่ที่นิยมทำสวนลิ้นจี่ ชมพู่มะเหมี่ยว มะยม มะพร้าว หมาก พลู รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น เช่น ตะขาบ ซึ่งเป็นเครื่องใช้ที่ทำให้เกิดเสียงสำหรับไล่สัตว์ที่มากัดกินผลไม้ในสวนจนเกิดความเสียหาย, เชือกกล้วยที่ถักเป็นปลอก ใช้คล้องกับขาสำหรับอ้อมต้นหมากแล้วปีน เพื่อให้เกิดแรงเหนี่ยวจนสามารถปีนขึ้นต้นหมากได้, พลั่วแบบสานสำหรับตักน้ำรดต้นไม้, พลั่วแบบเหล็กสำหรับตักขี้เลนโปะบนร่อง ฯลฯ
นอกจากนี้ยังจัดแสดงโบราณวัตถุที่ยังคงเหลืออยู่นับตั้งแต่เริ่มมีการสร้างวัด อย่างระฆังเก่าแก่ ก้อนอิฐโบราณ และเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ ซึ่งสิ่งของเหล่านี้เป็นวัตถุชิ้นสำคัญที่สามารถบอกถึงช่วงสมัยที่เริ่มสร้างวัดแห่งนี้ และบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของวัดได้ อีกทั้งยังมีแผนที่กรุงรัตนโกสินทร์ในอดีต ที่ปรากฏเส้นทางการไหลของคลองด่านผ่านบริเวณหน้าวัดลัดไปออกปากอ่าวได้ ในอดีตเส้นทางนี้คือเส้นทางเดินเรือไปบางช้าง-อัมพวา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เคยเสด็จประพาสทางน้ำมาขึ้นที่ท่าน้ำหน้าวัด
บริเวณชั้นสองของพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุที่เกี่ยวข้องกับวัดหนังราชวรวิหาร อย่างป้ายไม้เก่าแก่ชื่อวัดหนังที่ใช้ตั้งแต่เป็นอำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี ถัดไปจัดแสดงอุปกรณ์ต้มยาสมุนไพร เครื่องต้มยา ตำรายาไทย ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่พระสุนทรศีลสมาจาร หรือหลวงปู่ผล เจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ของวัดหนัง เป็นผู้เชี่ยวชาญในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ และต่อมาจึงได้ส่งต่อวิชาแพทย์แผนโบราณให้แก่พระครูวิบูลศีลวัตร หรือหลวงปู่ช้วน
ห้องสุดท้ายบริเวณชั้นสองประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เอี่ยม ซึ่งเป็นพระเกจิที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และคนในชุมชนเลื่อมใสศรัทธา นอกจากนี้ในห้องยังจัดแสดงพัดยศจำลองที่ทำด้วยงาช้าง กรอบรูปไม้พระราชทานจากรัชกาลที่ 3 ลับแลหรือฉากกั้นที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ข้าวของเครื่องใช้ประจำตัวของหลวงปู่เอี่ยม และภาพถ่ายเก่าที่เป็นภาพฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงถ่ายไว้เมื่อครั้งเสด็จมาทอดพระเนตรการบูรณะวัดหนัง
การทำพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร เป็นการเก็บรักษาเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีคุณค่าในอดีต และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจ เยาวชนในชุมชนอีกด้วย เนื่องจากวัตถุสิ่งของที่จัดแสดงล้วนมาจากการบริจาคของคนในชุมชน ที่เห็นว่าสิ่งของเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตในอดีต
ปูชณียสถานเสนาสนะต่าง ๆ ในยุคที่ยังเป็นวัดราษฎร์ เดิมทำอย่างไรและมีอะไรเท่าไรไม่ทราบ ในยุคสถาปนาพระอารามหลวงนี้ สิ่งก่อสร้างในเขตสถาปนาเป็นของทำใหม่ทั้งสิ้น สิ่งที่มิได้ทรงสร้างมีปรากฏเพียงพระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปศิลา 2-3 องค์ ในพระวิหารตอนหลัง กับระฆังอีก 1 ระฆัง
- พระอุโบสถ
พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูนตามลักษณะศิลปะของยุคนั้นโดยแท้ด้วยฝีมือของช่างหลวง ประดับประดาตกแต่งอย่างสวยงามอลังการ โดยเป็นชนิดมุขอัด 5 ห้อง เฉลียงรอบมีเสาหารรับ พนักระหว่างเสากรุกระเบื้องปรุหลังคามุขลดชั้นหนึ่ง ปีกลดชั้นคอสอง และชั้นเฉลียงรวม 2 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ (เปลี่ยนตอนหลัง) ช่อฟ้า หน้าบันประดับกระจก พื้นปูหินอ่อน ประตูด้านหน้า 2 ด้านหลัง 2 หน้าต่างด้านละ 5 ช่อง กรอบประตูหน้าต่าง ปั้นลวดลายประกอบ กรอบเช็ดหน้าปิดทองทึบในบาน ด้านนอก เขียนลายรดน้ำ รูปทรงกระทิน ด้านในลงพื้นฝุ่นน้ำมัน เขียนลายทองประเภทช่อพะเนียง ผนังด้านในเขียนลายทองประเภทดอกไม้ร่วง มีลายคอสอง โดยรอบ เพดานลงชาดโรยดาวทอง ชื่อเขียนลายตาสมุก ปลายขื่อ 2 ข้างเขียนลายกรวยเชิงทับหลังประตูหน้าต่างประกอบกรอบกระจก ไม้จำหลัก ลายปิดทองหมู่ ๓ เขียนลายห้อนักโก้บันไดขึ้นลงต่อกับชาลาด้านข้างด้านละ 2 บันได ซุ้มสีมารอบพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน ประดิษฐานใบสีมาศิลาจำหลักซุ้มละ 1 คู่ ชุกชีที่ประดิษฐานพระประธานเป็นฐานแว่นฟ้า 2 ชั้น ฐานพระ 1 ชั้น แบบชุกชีในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯแต่ย่อส่วนให้เล็กลงพอเหมาะแก่ขนาดพระอุโบสถก่อย่อไม้ 12 ปั้น ลายปิดทอง ประดับกระจกชั้นต้นประดิษฐานพระสาวก 3 องค์ ชั้นสอง 2 องค์
- พระวิหาร
พระวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ ก่อสร้างด้วยศิลปะตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีขนาดทรงจิตรกรรมอย่างเดียวกับพระอุโบสถ ที่ต่างกันคือมีประตูด้านละ 1 ประตู กับภายในก่อเป็นสายบัวกระเบื้องปรุกั้นกลางเป็น 2 ห้อง เดินถึงกันไม่ได้ ห้องหน้าก่อชุกชียาวเต็มส่วนกว้าง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเรียงเป็นแถว 5 องค์ ส่วนห้องหลังประดิษฐาน “พระพุทธรูปศิลา” พอกปูนลงรักปิดทองปางมารวิชัย สูงสุดพระรัศมี 2.64 เมตร ขนาดหน้าตักกว้าง 2.10 เมตรมีพระพุทธรูปขนาดย่อมลงมาอีก 3 องค์และรูปพระสาวกยืนข้าง ฝ่ายขวา 1 องค์ เดิมน่าจะมีองค์ฝ่ายซ้ายด้วย แต่คงชำรุดเสียหายแล้วและพระพุทธรูปที่หล่อขึ้นในชั้นหลังแล้วนำเข้ามาประดิษฐานไว้อีกหลายองค์
- พระปรางค์แปดเหลี่ยม
ระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร มีพระปรางค์รูปแปดเหลี่ยมองค์หนึ่ง มีลานประทักษิณ 3 ชั้น เป็นรูปแปดเหลี่ยม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ สามารถมากราบสักการะกันได้โดยบริเวณหน้าพระปรางค์นั้น มีแท่นหินประกอบเป็นรูปเก้าอี้จีนอยู่ 1 แท่น เรือนไฟหิน 1 คู่ ตุ๊กตาหินนักรบจีนโบราณ 1 คู่ โดยของเหล่านี้เป็นของพระราชทานจากรัชกาลที่ 3 นั่นเอง
คลังข้อมูลชุมชน. วัดหนังราชวรวิหาร-พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://communityarchive.sac.or.th/community/WatNang [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567].
คลังข้อมูลชุมชน. (2564). เรื่องเล่าชุมชน : วัดหนังราชวรวิหาร-พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://communityarchive.sac.or.th/blog/156 [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567].
ธรรมะไทย. วัดหนัง ราชวรวิหาร. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watnang.php [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567].