Advance search

บ้านหัวปาย

ชุมชนมูเซอ บ้านหัวปาย เป็นชุมชนที่นำเอา "พึ๊เข่า" หรือขันโตก ภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์มูเซอมาสร้างสรรค์เป็นสินค้า OTOP สร้างรายได้เสริมนอกเหนือฤดูกาลการทำเกษตรให้แก่คนในชุมชน 

หัวปาย
เวียงเหนือ
ปาย
แม่ฮ่องสอน
วิไลวรรณ เดชดอนบม
4 ม.ค. 2023
สุธาสินี บุญเกิด
28 ก.พ. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
14 ก.พ. 2023
บ้านหัวปาย


ชุมชนมูเซอ บ้านหัวปาย เป็นชุมชนที่นำเอา "พึ๊เข่า" หรือขันโตก ภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์มูเซอมาสร้างสรรค์เป็นสินค้า OTOP สร้างรายได้เสริมนอกเหนือฤดูกาลการทำเกษตรให้แก่คนในชุมชน 

หัวปาย
เวียงเหนือ
ปาย
แม่ฮ่องสอน
58130
เทศบาลตำบลเวียงเหนือ โทร. 0-5376-8119
19.582637
98.504151
องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ

บ้านหัวปาย ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวมูเซอ (คำว่า “มูเซอ” เป็นภาษาไทใหญ่ที่คนไทยนำมาเรียกชาวเขาเผ่าหนึ่งที่เรียกตนเองว่า “ลาหู่”) ที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2548 ชาวมูเซอเดิมมีถิ่นกำเนิดอยู่ใกล้เขตแดนประเทศธิเบต แล้วเคลื่อนย้ายไปอยู่ทางใต้ของยูนนาน และอพยพต่อไปยังตอนใต้ของจีน จึงอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์มูเซอ คือกลุ่มชนดั้งเดิมที่อพยพมาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมาร์และยูนนาน  

มูเซอแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ตามความแตกต่างเพียงผิวเผินในเรื่องการแต่งกายและพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ มูเซอณี หรือมูเซอกุย และมูเซอเซแหลง 2 กลุ่มใหญ่ คือ มูเซอดำ และมูเซอแดง ซึ่งมูเซอแดงนี้คือกลุ่มที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยบริเวณบ้านหัวปายในปัจจุบัน 

ชาวมูเซอแดงเดิมอาศัยอยู่ที่เมืองลาซา ประเทศธิเบต แต่ในขณะนั้นเกิดสงครามแย่งชิงอาณาเขตระหว่างชนเผ่ามูเซอแดงกับประเทศจีน มีเหตุการณ์ข่มขืนลูกเมียมูเซอแดง ชาวมูเซอแดงจึงได้ตัดสินใจอพยพลี้ภัยมาอยู่บ้านแสนคำลือ อำเภอปางมะผ้า ประเทศไทย และบางส่วนอพยพไปอยู่ลาว แต่เนื่องจากบ้านแสนคำลือเป็นพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศเย็นจัด อีกทั้งยังมีพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร ทำให้ชาวมูเซอแดงประสบปัญหาทำมาหากินลำบาก จึงเกิดแนวคิดที่จะหาพื้นที่ทำมาหากิน ชาวมูเซอแดงบางส่วนจึงได้ย้ายจากบ้านแสนคำลือมายังพื้นที่ดอยสามจุก ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาใกล้หัวน้ำต้อประเทศพม่า ทว่ายังคงประสบปัญหาพื้นที่ทำกินเช่นเดิม การคมนาคมยากลำบากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทั้งยังพบปัญหาใหม่คือพื้นที่ดอยสามจุกอยู่ในแถบชายชายแดน สร้างความหวาดกลัวและไม่ปลอดภัยแก่ชาวบ้าน ชาวบ้านอาศัยอยู่ที่ดอยสามจุกได้ประมาณ 50 ปี จึงได้ทำการย้ายที่อยู่อาศัยไปยังแหม่กี๊แส่แด ทาโก๋ย ป่ามะนอด ปางงาน แฮะป่าเสอเวะ และบริเวณริมฝั่งน้ำปายในพื้นที่บ้านหัวปายในปัจจุบัน  

บ้านหัวปาย ตำบลเวียงเหนือ เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนภูเขา มีการบุกเบิกพื้นที่เพื่อทำการเพาะปลูก ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชาวบ้าน ทรัพยากรป่าไม้ที่พบเป็นจำนวนมากในพื้นที่บ้านหัวปาย ได้แก่ ไม้สน ไม่ก่อ ไผ่ซาง และไผ่บง สภาพภูมิอากาศค่อนข้างเย็นถึงเย็นจัดตลอดทั้งปีแม้ว่าจะมี 3 ฤดูกาล นอกจากนี้ภายในหมู่บ้านยังมีโรงเรียนกองลม (สาขาหัวหาด) ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนประจำชุมชน 

บ้านหัวปาย ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีจำนวนประชากรต่ำกว่า 50 หลังคาเรือน ระบบเครือญาติของชาวมูเซอมีการสืบตระกูลทางฝ่ายแม่ เช่น เด็กชาวมูเซอจะอาศัยอยู่ในครอบครัวของฝ่ายแม่กระทั่งแต่งงาน หรืออีกกรณีหนึ่ง ชายชาวมูเซอแดงเมื่อแต่งงานแล้วจะต้องย้ายไปอยู่บ้านภรรยาตามประเพณี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอาศัยอยู่ได้เพียงไม่กี่ปีมักจะมีเหตุให้วิวาทกับพี่น้องภรรยา จนต้องย้ายออกไปหาพื้นที่สร้างบ้านเรือนใหม่ เมื่อมีการประกอบประเพณีพิธีกรรมจึงมักจะเข้าร่วมกับครอบครัวฝ่ายสามีและไม่ยุ่งเกี่ยวกับครอบครัวภรรยาเท่าใดนัก ชาวมูเซอมีการสร้างมายาคติทำให้เหมือนราวกับว่าคนทั้งหมู่บ้านเป็นญาติพี่น้องกัน โดยจะมีชื่อเรียกกันเพียงชื่อเดียว ไม่มีแซ่หรือนามสกุล มูเซอทุกคนจะต้องช่วยเหลือผู้อื่นที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่เสมอ แนวความคิดเช่นนี้ทำให้ระบบเครือญาติขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ ก่อให้เกิดปัญหาสำหรับบางครัวเรือน เนื่องจากฐานะที่ยากจนแต่ต้องคอยให้ความช่วยเหลือญาติพี่น้องจำนวนมาก ส่งผลให้ชาวมูเซอบางคนหรือบางครอบครัวตัดสินใจย้ายออกจากหมู่บ้านไป  

โครงสร้างทางสังคม 

โครงสร้างทางสังคมของชุมชนบ้านหัวปาย แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับครอบครัว และระดับหมู่บ้าน ครอบครัวชาวมูเซอจะยึดถือผัวเดียวเมียเดียว หากครอบครัวใดมีขนาดเล็กเกินกว่าจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพียงลำพัง อาจไปทำพิธีร่วมกับครอบครัวซึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นญาติพี่น้องกันได้ ส่วนในระดับหมู่บ้านชาวมูเซอในชุมชนจะมีความผูกพันกันเป็นอย่างมาก ทว่ายังคงให้อิสระแก่กัน สามารถแยกตัวออกจากชุมชนได้ทุกเมื่อ ในกรณีที่ไม่มีภาระหนี้สินต่อเพื่อบ้าน และไร้พันธะเรื่องการแต่งงาน 

กองทุนชุมชน 

ธนาคารข้าว เป็นกองทุนหมู่บ้านที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการดอยสามหมื่น จัดตั้งขึ้นเพื่อรับซื้อข้าว และให้เงินกู้ยืมแก่คนในชุมชน โดยมีข้อตกลงว่ายืมข้าว 4 ถัง ต้องคืน 5 ถัง สำหรับครอบครัวที่อยากได้เป็นเงิน จะให้ยืมรายละไม่เกิน 500 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน มีคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้ดูแลหลัก  

สหกรณ์ ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอปายให้ทุนในการซื้อสินค้ามาขายในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าสำหรับบริโภค เช่น ปลากระป๋อง แต่เนื่องจากบ้านหัวปายมีเส้นทางการคมนาคมที่ค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะในฤดูฝน ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปซื้อของมาขายได้ อีกทั้งกำไรที่ได้ยังไม่คุ้มรายจ่าย กอปรกับสินค้าที่ซื้อมาจำหน่ายไม่สามารถซื้อได้ในปริมาณมากเนื่องจากทุนน้อย การลงสินค้าในร้านค้าสหกรณ์หนึ่งครั้งสามารถขายได้ประมาณ 10 วันเท่านั้น  

กองทุนยา แรกก่อตั้งได้รับพระเมตตาจากสมเด็จย่าพระราชทานตัวยามูลค่า 2,400 บาท ต่อมากองทุนได้ซื้อยาจากสถานีอนามัยบ้านเมืองน้อย และอำเภอปาย ช่วงปี พ.ศ. 2541-2543 ภายในหมู่บ้านมีผู้ติดฝิ่นจำนวนมาก ยาพาราเซตามอลจึงขายดีถึงปีละ 5,000 เม็ด แต่หลังจากนั้นมาลดลงเหลือปีละประมาณ 1,000 เม็ด  

การประกอบอาชีพ  

รายได้หลักของชาวมูเซอแดงส่วนใหญ่มาจากการขายสัตว์เลี้ยง ได้แก่ วัว ควายและหมู โดยวัวเป็นสัตว์ที่สร้างรายได้สูงที่สุด ส่วนหมูจะมีราคารองลงมาจากวัวและควาย การประเมินราคาขึ้นอยู่กับขนาดของสัตว์ นิยมขายให้พ่อค้าจากเมืองปายและเวียงแหงซึ่งจะเดินทางเข้ามาซื้อด้วยตนเอง บางครั้งต้องจูงออกไปส่งยังที่หมายเพราะจะได้ค่าจูงต่างหาก ส่วนใหญ่จะขายในช่วงเทศกาลกินวอปีใหม่ นอกจากนี้ภายในหมู่บ้านยังมีการขายเป็ดเทศ เงินที่ได้จากการขายสัตว์เลี้ยงชาวบ้านจะนำไปซื้อพริก เกลือและของใช้ภายในบ้านอื่น ๆ ส่วนรายได้รองลงมาจากการขายสัตว์เลี้ยงได้จากการขายข้าว ขายผลผลิตทางการเกษตร และอาชีพเสริมอื่น ๆ ได้แก่ ตีมีด เย็บผ้า รับจ้าง ขายฮินูหรือต้นไม้กวาดและการท่องเที่ยวในชุมชน 

ปฏิทินมูเซอ

ชาวมูเซอแดงมีปฏิทินรอบปีและปฏิทินในการนับวันเป็นของตนเอง เรียกว่า “ ปฏิทินมูเซอ ” ปฏิทินปีของมูเซอแดงในรอบ 1 ปี เรียกว่า “ เตคอด ” (คอด แปลว่า ปี) มีรายละเอียดดังนี้

  • เดือน 1 มูคอด
  • เดือน 2 หย่อคอด
  • เดือน 3 หมอคอด
  • เดือน 4 ง๊ะคอด
  • เดือน 5 พืนคอด
  • เดือน 6 หวะคอด
  • เดือน 7 พ๊ะคอด
  • เดือน 8 นูคอด
  • เดือน 9 ล่างคอด
  • เดือน 10 ท่องลาคอด
  • เดือน 11 ลอคอด
  • เดือน 12 ซีคอด

    สำหรับปฏิทินวันของชาวมูเซอแดงนั้นจะมี 12 วัน คำว่าวันในภาษามูเซอ เรียกว่า “ นี ”

ภาษาไทย (วัน)

ภาษามูเซอ (นี)

ความหมาย

1. วันม้า

1. มูนี

วันม้าเป็นวันสลิ ไม่ค่อยดี

2. วันแพะ

2. หย่อนี

เป็นวันไม่ดีแล

3. วันลิง

3. หมอดนี

เป็นวันดี ปลูกอะไรก็มีกำไรมาก

4. วันไก่

4. ง๊ะนี

เป็นวันหาไม่ได้ อย่า ไม่ดีแล

5. วันหมา

5. พืนนี

เป็นวันไม่ดี ไปไหนไม่ได้กินอะไร

6. วันหมู

6. หวะนี

เป็นวันเดินทางเหนื่อย ไม่ดีแล

7. วันหนู

7. พ๊ะนี

เป็นวันปลูกข้าวดีมาก

8. วันวัว

8. นูนี

เป็นวันลืมหลังไม่ดี

9. วันเสือ

9. ล่านี

เป็นวันแรงดีมาก เลี้ยงผีเลี้ยงต่าง ๆ ดี

10. วันกระต่าย

10. ท่องลานี

เป็นวันเพิ่มดีมาก

11. วันพญานาค

11. ลอนี

เป็นวันเงินทองดีมาก

12. วันงูเล็ก

12. ซีนี

เป็นวันตาย ไม่ดีแล

ศาสนา  

ชาวมูเซอแดงบ้านหัวปายมีการนับถือศาสนาผี บรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ในปัจจุบันปรากฏการนับถือศาสนาพุทธมากขึ้น มีความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมที่ความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ทว่ายังคงให้ความเคารพนับถือผีเป็นหลัก มี “ปู่จอง” ทำหน้าที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของหมู่บ้าน   

ประเพณี พิธีกรรมประจำชุมชน  

ประเพณีกินวอปีใหม่ คือการหยุดทำงานเพื่อถือเป็นการพักผ่อน ภายหลังจากทำงานหนักมาโดยตลอด ประเพณีกินวอปีใหม่บ้านหัวปายจะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม (เดือน 4 ขึ้น 7 ค่ำ) การกินวอจะต้องเริ่มในวันข้างขึ้นเท่านั้น เพราะหากเริ่มข้างแรมแสงสว่างจะไม่เพียงพอทำให้ไม่สามารถเต้นจะคึได้ โดยปกติจะเริ่มช่วงขึ้น 5-7 ค่ำ และจะต้องให้วันสุดท้ายของการกินวอตรงกับวันเดือนเต็มซึ่งจะครบ 7 วันพอดี วันแรกของการกินวอเป็นวันดาหรือวันเตรียมข้าวปุ๊ก ข้าวปุ๊กครกแรกจะใช้ข้าวเหนียวสีขาว ห้ามใครรับประทาน เพราะข้าวปุ๊กสีขาวมีไว้เพื่อบูชาเทพเจ้า ส่วนครกที่สองและครกถัดไปใช้ข้าวเหนียวสีดำ สามารถรับประทานได้ วันที่สองฆ่าหมูสำหรับรับประทาน 7 วัน วันที่สามอยู่บ้าน วันที่สี่ ทำบุญน้ำ (บุญตานน้ำ) วันที่ห้า พิธีดำหัวผู้นำ ได้แก่ พ่อ แม่ ปู่เหล็ก และปู่จอง วันที่หกเต้นจะคึ โดยจะเริ่มตั้งแต่เวลาหกโมงเย็นเป็นต้นไป และวันสุดท้ายคือวันที่เจ็ด เวลาประมาณ 8-9 นาฬิกา จะมีการเต้นจะคึวนซ้ายออกจากวง จากนั้นแต่ละหลังคาเรือนจะเอาข้าวปุ๊กจากเคาะแจหลังคาเรือนละ 1 คู่ นำไปใส่หลองข้าวเพื่อให้มีข้าวกินตลอดทั้งปี   

ประเพณีกินวอปีใหม่ในอดีตจะมีการละเล่นซึ่งเป็นการละเล่นดั้งเดิมแท้ของชาวมูเซอหัวปาย   ซึ่งในปัจจุบันเริ่มสูญหายไป แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนได้พยายามฟื้นฟูการละเล่นเก่าแก่ให้เด็กรุ่นใหม่รู้จัก ได้แก่ การเล่นหมากบ้า หมากข่าง ไม้โก่งเกง แข่งรถดอย และแคะปู๋ฉี่

หมากบ้า (ลูกสะบ้า) วิธีการเล่นคือวางลูกสะบ้าไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามปาให้ถูก หากปาไม่ถูกจะต้องสลับตำแหน่งกัน                         

หมากข่าง หรือลูกข่าง ทำมาจากไม้จิแส วิธีการเล่นจะแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งโยนลูกข่าง และอีกฝ่ายหนึ่งขว้างลูกข่าง หากขว้างถูกจะได้เล่นอีกครั้ง หากขว้างไม่ถูกจะต้องสลับให้อีกฝ่ายมาขว้างแทน ฝ่ายใดขว้างถูกลูกข้างติดกัน 5 ครั้งก่อน เป็นฝ่ายชนะ   

ไม้โก่งแกง (มะคึแทวะ) เป็นอุปกรณ์การละเล่นที่ทำจากไม้ไผ่ วิธีการเล่นคือเหยียบบนไม้โก่งแกงแล้วเดินหรือวิ่งก็ได้  

แข่งรถดอย (ลูแอ๋แข่ตะเว) นำไม้มาประกอบเป็นรูปทรงคล้ายรถ เด็ก ๆ นิยมเล่น  

แคะปู๋ฉี่ ลักษณะเป็นลูกกลม ๆ ห่อด้วยผ้า ข้างในใส่ดอกเป๋ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้แกลบ เนื่องจากดอกเป๋เป็นอาหารที่วัวชอบกิน ทำให้หายาก วิธีการเล่นจะแบ่งผู้เล่นสองฝ่ายชายหญิง โยนลูกแคะปู๋ฉี่ไปมาให้อีกฝ่าย หากฝ่ายใดรับไม่ได้ติดต่อกัน 5 ครั้ง ถือว่าแพ้ การเล่นแคะปู๋ฉี่เป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวที่ชอบพอกันได้มีโอกาสใกล้ชิดสานสัมพันธ์กัน   

ชาวมูเซอแดงบ้านหัวปายมีความเชื่อว่าการเล่นหมากข่างและแคะปู๋ฉี่จะทำให้พืชผักในไร่ได้ผลผลิตดี อุดมสมบูรณ์ และติดลูกมาก   

วันศีลใหญ่ (ศีลโหลง) ใน 1 ปี ชาวมูเซอแดงบ้านหัวปายจะมีวันศีลใหญ่ 3 ครั้ง ได้แก่ วันศีลใหญ่เดือนหก วันเข้าพรรษา และออกพรรษา ซึ่งจะมีข้อปฏิบัติ คือ ห้ามล่าสัตว์ ห้ามกินเนื้อ ห้ามเอาของป่ามาใช้ และไม่ทำไร่ ไม่ทำงาน   

วันศีลใหญ่เดือนหก (แซะก่อเว) มีการประกอบพิธีกรรม 2 วัน 3 พิธีกรรม วันแรกคือวันศีลใหญ่ เป็นพิธีขอเชื้อข้าวเพื่อให้ได้เชื้อพันธุ์ที่ดี ไม่มีแมลงมากินหรือเกิดโรคร้าย ปลูกแล้วเจริญงอกงามได้ผลผลิตดี วันที่สองจะมีการประกอบ 2 พิธีกรรม พิธีกรรมแรกคือพิธีตาลศาลา เป็นการทำบุญให้เจ้าป่าเจ้าดอย และผู้สัญจรไปมา ชาวบ้านจะร่วมมือกันสร้างศาลาทำทานแล้วนำไปวางไว้ที่ใดก็ได้ ในวันทำพิธีชาวบ้านจะห่อข้าวไปกินร่วมกัน ภายหลังรับประทานข้าวเสร็จจะมีการผูกข้อมือให้กัน เป็นอันเสร็จพิธีกรรม ในช่วงเย็นเป็นการประกอบพิธีกรรมฮ้องขวัญสัตว์ เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการล่าสัตว์ โดยนำเข่งขนาดเล็กไปฮ้องขวัญสัตว์ป่าบริเวณหมู่บ้านในรัศมี 1 กิโลเมตร ถือเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุกชนิด   

วันศีลใหญ่เข้าพรรษา (เข่าเว) มีพิธีกรรม 2 วัน วันแรกแต่ละครอบครัวจะไปเก็บข้าวโพดจากไร่ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านในช่วงเย็น วันที่สองคือวันพักผ่อน ชาวบ้านจะไม่ทำไร่ ไม่ทำงาน   

วันศีลใหญ่ออกพรรษา (เอ๊าะเว) มีพิธีกรรม 3 วัน วันแรกชาวบ้านจะไปเก็บพืชไร่ในสวนแล้วนำไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน วันที่สองพักผ่อนอยู่บ้าน คิด และพูดแต่สิ่งดีงาม และวันที่สามมีพิธีกรรมขอบคุณปู่เหล็ก (จะเส๊าะเอ๊าะเว) แต่ละครอบครัวจะนำข้าวใหม่มาตำกะเทาะเปลือกให้ปู่เหล็กกินแทนคำขอบคุณที่ทำเครื่องมือทางการเกษตรให้ หลังจากนั้นจึงจะเป็นพิธีกรรมกินข้าวใหม่ (เอ๊าะเว)   

วันศีลน้อย (ศีลยี) คือวันพักผ่อน ไม่ทำอะไร ไม่ทำบาป ไม่ทำงาน มีการทำบุญให้ผีบ้านผีเรือนวันละ 2 ครั้ง (เช้า-เที่ยง) ตามปฏิทินจันทรคติของไทยคือวันพระ   

การสืบชะตา การสืบชะตาของชาวมูเซอแดงบ้านหัวปายมีหลายลักษณะ ได้แก่ การส่งเคราะห์   หรือสืบชะตาเมื่อไม่สบาย สามารถทำได้ทุกช่วงเวลาที่รู้สึกไม่สบายใจ การสืบชะตาให้เด็ก ๆ และสุดท้ายคือการสืบชะตาเมื่อใกล้จะตาย (คาดว่าจะอยู่ได้อีกประมาณ 1-2 ปี) การสืบชะตาลักษณะนี้จะทำในวันเข้าพรรษา   

การทำพิธีขอบคุณเครื่องมือการเกษตร (อะถ่ออ่อจ่าเว) ชาวมูเซอแดงมีความเชื่อว่าต้องให้ข้าวแก่เครื่องมือทางการเกษตรทุกชนิดกินปีละครั้งในประเพณีการกินวอแทนคำขอบคุณแก่เครื่องมือทางการเกษตรที่ให้เราได้ใช้ปลูกพืชต่าง ๆ วิธีการคือนำเครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ มาวางรวมกันในกระด้ง แล้วนำข้าวปุ๊กขาวที่ตำเป็นครกแรกมาแบ่งเป็นก้อนติดไปตามสันของเครื่องมือทุกชิ้น   

การเสี่ยงทายกระดูกไก่ คือการเสี่ยงทายคล้ายหมอดู แต่จะใช้วิธีการดูคำทำนายจากลักษณะกระดูกไก่ การเสี่ยงทายกระดูกไก่ของชาวมูเซอจะใช้ในการทำนายดูฤกษ์ยาม อาการเจ็บป่วย หรือทุกเรื่องที่ต้องการ  

การขอขมาน้ำ (ผิดผีน้ำ) ชาวมูเซอแดงจะประกอบพิธีกรรมขอขมาผีน้ำเมื่อมีอาการไม่สบาย และเชื่อว่าเกิดจากการผิดผีน้ำ จะต้องแก้โดยการขอขมาน้ำ ใช้เช๊ลุ๊ต่า (เทียน 1 คู่ ข้าวสาร นาเวยนาจื่อ) มาปักบริเวณริมฝั่งน้ำที่เราอยู่ ห้ามไปปักฝั่งตรงข้ามเพราะผีจะไม่รับ   

พิธีการส่งผี (เอ่าะแสะเตโส่เว) คือการขอขมาผีเช่นเดียวกับการขอขมาน้ำ โดยการทำ “ดั่ว” คือ ไม้ไผ่เสียบสำลีที่ปลายเป็นดอกไม้ทำเป็นมัด และเทียนขี้ผึ้งทำเอง 1 คู่ ไปส่งให้ผี   

พิธีตู้คนตายหรือคุณไสย ในอดีตนิยมทำใส่ศัตรูหรือคนที่ผิดใจกัน ปัจจุบันยังทำได้อยู่แต่ไม่นิยมแล้ว คุณไสยของชาวมูเซอมีอิทธิฤทธิ์ทำให้ผู้โดนกระทำตายทั้งตระกูล โดยนำไก่และหมูอย่างละ 1 ตัว ฝังกับตาแหลวที่น้ำตก ฆ่าหมาและแมว เย็บหูเย็บตาแล้วเอาไปปล่อยให้ลอยไปกับน้ำตกสองเมือง   

พิธีปราบผี/ไล่ผีบ้าน ชาวมูเซอแดงหัวปายจะไม่ฆ่างูที่เข้ามาในบ้าน แต่มีความเชื่อว่าหากงูเข้าบ้าน หมายความว่างูมาบอกว่ามีสิ่งไม่ดีเข้ามาในบ้านจะต้องทำพิธีไล่ โดยให้หมอผีติดต่อสื่อสารกับดวงวิญญาณเพื่อดูว่าคนในบ้านไปทำผิดผีอะไร จากนั้นจะทำพิธีไล่ผีร่วมกันระหว่างหมอผีและจิตวิญญาณ เมื่อเสร็จแล้วจะมีการเสี่ยงทาย 3 เพื่อสื่อสารกับผีว่าผีจะยอมไหรือไม่ แล้วนำตาแหลว 5 ชุด ไปติดรอบบ้าน แต่กรณีที่เคราะห์ร้ายมาก ๆ ถึงขั้นตายโหง ต้องทำพิธีไล่ผีในน้ำโดยกาสร้างตูบ (กระท่อม) นำของทุกอย่างที่ใช้ในครัวเรือน พืชผักทุกชนิดที่ปลูกนำไปคั่วจนสุก ก่อนนำไปมัดห้อยที่ตูบอย่างละ 9 จอก คล้ายกับการตัดไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวกลับมาหาคนในตระกูลอีก   

พิธีฝังศพ หากในหมู่บ้านมีคนตาย ชาวบ้านจะหยุดการทำงานทุกอย่าง ไม่ทำสิ่งที่ดูเหมือนเป็นคนขยัน เพราะเชื่อว่าหากขยันผีจะมาเอาไปอยู่ด้วย ก่อนขุดหลุมฝังศพจะมีการขว้างมีดหรือไข่ หากมีดปักหรือไข่แตกตรงไหนแสดงว่าผู้ตายต้องการนอนตรงนั้น แต่หากมีดไม่ปักหรือไข่ไม่แตกจะต้องขว้างใหม่ สำหรับการฝังต้องหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก หันเท้าไปทางทิศตะวันออก เนื่องจากเชื่อว่าทิศตะวันออกคือทางไปสวรรค์ คนที่นำหน้าขบวนศพจะต้องเดินออกมาเป็นคนสุดท้าย หรือทำไม้กั้นก่อไฟตรงกลางแล้วให้คนที่ไปฝังศพเดินลอดออกมา เมื่อใกล้ถึงบ้านให้หักกิ่งไม้ ใบไม้ จุ่มน้ำปะพรมตามตัวเพื่อปัดรังควานสิ่งไม่ดีไม่ให้เข้าบ้าน   

พิธีซอซะปูโกยเตเว คือการนำข้าว ไก่ ผ้า (เศษผ้าใหม่ชิ้นเล็ก ๆ) ตัดเป็นรูปเสื้อผ้า เพื่อนำไปทำบุญให้พ่อแม่ในเวลาที่ฝันไม่ดีเกี่ยวกับพ่อแม่ โดยการนำไปวางบนหิ้งแล้วบอกกล่าวว่าขอให้เราได้อยู่สุขสบาย อย่ามารบกวน  

พิธีการแต่งงาน พิธีแต่งงานของชาวมูเซอแดงฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายสู่ขอฝ่ายหญิง โดยฝ่ายหญิงจะเสียไก่ 3 ตัว ฝ่ายชายเสียไก่ 1 ตัว มีการยกขันโตก และเสี่ยงทายกระดูกไก่เพื่อดูว่าคู่บ่าวสาวอยู่ด้วยกันไปจะดีหรือไม่ เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงก่อน 3 ปี จึงสามารถแยกออกมาสร้างบ้านของตนเองได้   

พิธีขึ้นบ้านใหม่ จะมีการทำเตาไฟ ตักน้ำมาไว้ใกล้ ๆ เตาไฟ จากนั้นจุดไฟไว้ที่ปลายเสาทุกต้น เปรียบเสมือนการโอมให้พระเจ้าคุ้มครอง บอกกล่าวผีบ้านผีเรือนแล้วจึงสามารถเข้าอยู่ได้   

ความเชื่อ   

ฤกษ์แต่งงาน ชาวมูเซอแดงจะไม่จัดงานแต่งในเดือนแก๋ง หรือช่วงเดือนมกรา-กุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ไก่ป่า นกคอ ไม่ขัน เชื่อว่าหากแต่งงานช่วงนี้จะไม่เจริญ  

การก่อตั้งหมู่บ้าน ต้องมีบุคคลสำคัญ 3 ท่าน คือ ปู่เหล็ก ปู่จอง และลาส่อ “ปู่เหล็ก” มีบทบาทสำคัญในการทำเครื่องมือทางการเกษตรให้ชาวบ้าน “ปู่จอง” มีบทบาทด้านพิธีกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน และ “ลาส่อ” เปรียบเสมือนครูผู้คอยอบรมสั่งสอนให้เยาวชนปฏิบัติตนตามครรลอง บุคคลสำคัญทั้งสามจะมีตุงข้าวปักไว้ที่หน้าบ้านเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ มีบทบาทสำคัญตามความเชื่อของชุมชน  

ความเชื่อเรื่องเสือ ชาวมูเซอแดงเชื่อว่าหากเสือมาปรากฏให้เห็นแสดงว่ามีการทำผิดจารีตขึ้นในชุมชน เปรียบเสือเสมือน “หมาเจ้าเมือง” หากฆ่าแล้วไม่เห็นรอยสันนิษฐานว่าขึ้นสวรรค์ อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของเสือมักถูกนำมาเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ เช่น เขี้ยวเสือถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมไล่ผีกะ หนวดเป็นมหานิยม ตาเสือตากให้แห้ง ฝนมาทาแก้ตาเจ็บกระดูกเป็นยาบำรุงร่างกาย หนังลงยันต์ใช้ป้องกันสิ่งชั่วร้าย  

หัวมน (โอ๊ะกู่เกอเอเว) คือการติดผมสั้นเตียนติดหนังหัว เหลือไว้เพียงกระจุกด้านหน้าสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบ เพื่อให้เด็กโตไวไม่มีเหามาดูดเลือด   

ครกตำข้าว ชาวมูเซอแดงมีความเชื่อว่าห้ามหันหน้าครกตำข้าวไปด้านหน้าประตูบ้าน เพราะเปรียบเหมือนนำครกไปวางขวางทางเข้าออกขวัญ   

การสร้างบ้าน ชาวมูเซอเชื่อว่าตนมีเชื้อสายเป็นผึ้ง จะต้องอยู่กับกอไม้ ฉะนั้นจึงไม่สร้างบ้านติดดิน เพราะอยู่บนดินแล้วไม่สบาย   

ยารักษาโรค   

การรักษาโรคของชาวมูเซอจะใช้การเสี่ยงทายกระดูกไก่ เพื่อดูว่าอาการเจ็บป่วยนั้นเกิดจากการกระทำของผีตนใด การรักษาจะใช้ยาต้ม ยาสมุนไพร และมนต์คาถาประกอบกัน หากรักษาไม่หายจึงจะเดินทางไปโรงพยาบาล

ที่อยู่อาศัย  

การสร้างบ้านของชาวมูเซอจะใช้ไม้ที่มีอยู่ในชุมชน ไม้ที่นำมาสร้างบ้านจะดูจากอายุ โดยใช้มีดถากดูที่ต้น หากพบไม้ที่เปลือกนอกบางเนื้อไม้หนาแสดงว่าสามารถใช้ได้ ส่วนไม้ไผ่ที่นำมาทำฟากต้องตัดในฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เพระน้ำตาลยังไม่ขึ้นลำ   

เครื่องนุ่งห่ม  

ชุดพื้นเมืองชาวมูเซอแดงบ้านหัวปายในอดีตทำมาจากเปลือกไม้ชื่อ “ต้นป๋อ” เลือกไม้ที่เป็นง่ามนำมาทุบให้พองแล้วเอาไปตากแดดให้แห้ง นำมาสวมใส่เป็นกางเกงผู้ชาย ไม่มีการตัดเย็บ เสื้อนำเปลือกมาทุบ พับตัดเป็นคอเย็บด้วยหวาย ส่วยผู้หญิงจะสวมซิ่นและเสื้อทอมือ ไม่สวมรองเท้า ปัจจุบันมีการแต่งกาย 2 แบบ แบบแรกเป็นชุดมูเซอแดงประยุกต์ เป็นชุดที่มีการผสมผสานระหว่างชุดดั้งเดิมของมูเซอแดงเข้ากับชุดของมูเซอดำ จะมีสวมใส่เฉพาะครัวเรือนที่ค่อนข้างมีฐานะเท่านั้น ผู้ที่สวมส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้นำ และแบบที่สอง คือ การแต่งกายแบบคนพื้นราบทั่วไป   

อาหาร   

อาหารหลักของชาวมูเซอแดงบ้านหัวปายจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ช่วงฤดูฝนคือผักอีหลือ ฤดูหนาวมีแตง ถั่ว เผือก มัน จากไร่ข้าวที่สามารถเก็บไว้กินได้ตลอดทั้งปี และในช่วงฤดูแล้งอาหารหลักจะเป็นของป่า ปลา หน่อหวาย จึ๊ก ดอกตั้ง ปลีกล้วย นอกจากนี้ยังมีการล่าสัตว์ โดยจะออกล่ากันเป็นหมู่ เมื่อได้สัตว์มาจะนำมาแบ่งกัน สัตว์ป่าที่ล่ามาได้ เช่น ฟาน ต่อ อ้น ไก่ป่า สึกุยป่า หม่าล๊ะเต้ย จุ้ยหม่ะ เป็นต้น ปัจจุบันมีการลงไปซื้ออาหารจากภายนอกขึ้นมารับประทาน อาหารที่ซื้อส่วนใหญ่ ได้แก่ ไข่ ปลากระป๋อง ปลาทู ปลาเค็ม ส่วนใหญ่ซื้อจากบ้านเมืองน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ แต่การรับประทานอาหารที่ซื้อจากภายนอกนี้จะมีนาน ๆ ครั้ง เนื่องจากปกติแล้วชาวมูเซอแดงหัวปายจะรับประทานอาหารที่มีในหมู่บ้าน   

1. ยาโพ จะตีก๋อย (ปู่เหล็ก) 

ความชำนาญ : ทำเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตรให้ชาวบ้าน ถ่ายทอดวิธีทำเครื่องมือทางการเกษตร ผู้นำการประกอบพิธีกรรมสืบชะตา พิธีกินข้าวใหม่ เป็นผู้มีบทบาทในการรักษาคนที่ได้รับบาดเจ็บจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก และมีความสามารถในการทำกลอง 

2. โก๊ะก่วย จะโจ (ปู่จอง) 

ความชำนาญ : เป็นผู้กำหนดวัน และผู้นำประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามประเพณี และวัฒนธรรมของหมู่บ้าน ผู้ทำพิธีสืบชะตา/ส่งเคราะห์ และมีความรู้เรื่องสมุนไพร 

3. จะนู แอฟู (ลาส่อ) 

ความชำนาญ : มีความสามารถในการติดต่อผี/จิตวิญญาณ สามารถทำหน้าที่แทนปู่จอง และเป็นผู้อบรมสั่งสอนเด็กในหมู่บ้าน 

4. ยาคะ แอบิ (หมอผี) 

ความชำนาญ : ทำพิธีปราบผี ไล่ผี สิ่งไม่ดี มีความชำนาญเรื่องยาสมุนไพร และการทำคลอด  

5. นาแก แอทู (ภรรยาลาส่อ) 

ความชำนาญ : ติดต่อกับผี/จิตวิญญาณได้ 

6. อะอือ จะตีก๋อย  

ความชำนาญ : ทำคลอด 

7. นายจะหยี จะตีก๋อย/นายอะถ่า 

ความชำนาญ : ทำแคน 

8. นายแดง จะเสอ/นายจะหา จะตีก๋อย 

ความชำนาญ : ทำปืนแก๊บ 

9. พ่อเฒ่าจะหยี จะตีก๋อย 

ความชำนาญ : มีความสามารถในการทำเครื่องมือล่าสัตว์ เครื่องมือจักรสาน และชำนาญการใช้ยาพิษเพื่อล่าสัตว์ 

10. แม่เฒ่านาทอ ตอคอ 

ความชำนาญ : เย็บผ้า ทำถุงย่าม ตัดชุดประจำเผ่า เป่าแคนในงานประเพณีของชุมชน 

ทุนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญา

พึ๊เข่าหรือขันโตก 

“พึ๊เข่า” หรือ “ขันโตก” คือถาชนะสำหรับใส่อาหารของชาวมูเซอแดง ทำจากไม้ไผ่สานประกอบด้วยหวาย ชาวมูเซอแดงจะให้ความสำคัญกับลายของพึ๊เข่าเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องนำออกไปใช้รับแขกเพื่อเป็นหน้าเป็นตาแก่ชุมชน องค์ประกอบของพึ๊เข่ามี 3 ส่วน ส่วนแรกคือ “พึ๊เข่าพา” คือส่วนที่เป็นพื้นสำหรับวางอาหาร ลายที่มีความสวยงามมากที่สุด ทว่าทำยาก ผู้ที่ฝึกทำลายนี้ทำไปเริ่มหมดความอดทน เรียกว่า “ลายผีบ้า” ส่วนที่สอง คือ “พึ๊เข่าออเข่าะ” ส่วนที่เป็นช่วงขอบต่อระหว่างพื้นสำหรับวางอาหารและช่วงที่เป็นขาขันโตก และส่วนสุดท้ายคือ “พึ๊เข่าคือเกาะ” ส่วนที่เป็นเข่าลางรับน้ำหนักขันโตก ใช้หวายเป็นหลักในการขึ้นลายขา 

วัสดุอุปกรณ์ 

1. อะเถ่าะผ่าปา (มีดโต้) สำหรับจักตอก 

2. อะถิวอตี่ตู่เว (มีดสำหรับเหลาตอก) 

3. ต่อตู ใช้เจาะรูพื้นพึ๊เข่าพา เพื่อร้อยประกอบกับพึ๊เข่าอ่อเบาะ 

4. พึ๊เข่าเน ทำจากหว่าลัว (ไผ่หก) 

5. หวาย สำหรับร้อยมัดทำขอบและขาขันโตก 

6. ไผ่หกสำหรับทำพื้นขันโตก 

ขั้นตอนการทำ 

1. นำไผ่หกมาเหลาให้เรียบบาง เรียกว่า “ตอก” นำมาใช้สานลายพึ๊เข่าพา 

2. เหลาหวายเป็นเส้นเล็กบางเพื่อขึ้นลายขาพึ๊เข่าคือเกาะหงะเว 

3. นำพึ๊เข่าพาและพึ๊เข่าคือเกาะมาประกอบกัน เจาะรูมัดติดด้วยหวาย  

เครื่องดนตรี 

ชาวมูเซอแดงบ้านหัวปายมีเครื่องดนตรีใช้ในการประกอบประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นภายในชุมชน โดยเครื่องดนตรีเหล่านี้เกิดจากฝีมือความสามารถของชาวมูเซอแดงบ้านหัวปาย  

1. หน่อ (แคน) มีส่วนประกบ 3 ส่วน ได้แก่ ลิ้นแคนทำจากไม้เฮี้ย น้ำเต้า และขี้ตานี (เป็นยางเหนียว ๆ อยู่ตามกอไม้ใหญ่ ใช้ประกอบตัวแคนให้ติดกัน) 

2. จะโก๋ (กลอง) กลองมูเซอแดงจะมีลักษณะเป็นคู่ มีใบเล็กและใบใหญ่ ตัวกลองทำจากไม้ซ้อ หนังกลองนิยมทำจากหนังส่วนหน้าอกของสัตว์ป่า เช่น เยือง (เลียงผา) หนังฟาน (เก้ง ) เนื่องจากหนังของสัตว์ป่าจะมีคุณภาพดีและเหนียว อีกทั้งหนังหน้าอกมีความบางให้เสียงดีที่สุด  

3. โบโลโก่ (ฆ้อง) ทำจากทอง เป็นของเครื่องดนตรีเก่าแก่ที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ 

เครื่องมือที่ทำจากเหล็ก  

ชาวมูเซอแดงบ้านหัวปายมีการทำเครื่องมือทางการเกษตรใช้เองภายในชุมชน โดยเฉพาะเครื่องมือที่ทำจากเหล็ก เช่น เคาะหญ้า เคียว มุข ขวาน เสียมใส่ข้าว พร้า และมีด ชาวบ้านหัวปายมีโรงตีเหล็กสำหรับตีเหล็กเพื่อทำเครื่องมือเป็นการเฉพาะ มีปู่เหล็กทำหน้าที่ในการตีเหล็ก  

วัสดุอุปกรณ์ 

1. ที่ตัดเหล็ก สำหรับตัดเหล็กเป็นชิ้นตามขนาดที่ต้องการ 

2. คีมคีบเหล็ก 

3. ค้อนทุบตัดเหล็กขนาด 4 ปอนด์  

4. ค้อนนวด มีลักษณะเป็นหัวกลม ๆ ใช้สำหรับนวดเหล็กเมื่อเผาไฟจนแดง 

5. ค้อนเปียง สำหรับแต่งละเอียด 

6. ริจุ๋ยหรือเหล็กทำด้าม เป็นเหล็กยาวใช้สำหรับทำด้าม 

เครื่องมือจับสัตว์ป่า  

การออกล่าสัตว์ป่าคือหนึ่งในรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตของชาวมูเซอแดงบ้านหัวปาย ฉะนั้นชาวมูเซอแดงจึงมีความชำนาญในการทำเครื่องมือ รวมถึงการใช้พิษเพื่อดักจับสัตว์ป่า ได้แก่ ปืน ยางไม้ตั้งนก ธนู หนังสะติ๊ก และหน้าไม้ 

ภาษาของชาวมูเซอเป็นภาษาคำโดดในกลุ่มจีนธิเบต แบ่งออกแป็นภาษามูเซอดำและมูเซอแดง ภาษามูเซอแดงใช้สำหรับพูดคุยสื่อสารกันภายในกลุ่มของชาวมูเซอแดงด้วยกัน แต่สำหรับการติดต่อสื่อสารกับมูเซอกลุ่มอื่นใช้ภาษาถิ่นมูเซอดำ ซึ่งเป็นภาษากลางของชาวมูเซอ


ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งเกิดขึ้นกับชาวมูเซอแดงบ้านหัวปาย เนื่องจากเยาวชนคนรุ่นใหม่เริ่มออกไปรับจ้างทำงานในเมือง จึงมีโอกาสได้พบเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมเมืองที่แปลกใหม่ออกไปจากเดิมภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยสู่ลัทธิสังคมบริโภคนิยม คนกลุ่มนี้ได้นำเอาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เข้ามาในชุมชน เช่น รถจักรยานยนต์ และเครื่องเล่นสเตอริโอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่นชาวมูเซอแดงที่เคยเข้าไปทำงานในเมือง นอกจากนี้ยังพบว่าหนุ่มสาวชาวมูเซอแดงรุ่นใหม่นิยมแต่งกายตามสมัยนิยมมากกว่าแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของชนเผ่า ทั้งนี้เนื่องมาจากชุดพื้นเมืองของชาวมูเซอนั้นมีราคาค่อนข้างแพง การจะซื้อชุดพื้นเมือง 1 ชุดนั้นนับเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ตรงกันข้ามเสื้อผ้าแบบคนพื้นราบที่มีราคาถูกกว่า อีกทั้งยังทันสมัย เป็นเหตุให้ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ในชุมชนมากกว่าชุดพื้นเมืองของชนเผ่า  

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชาวมูเซอแดงบ้านหัวปาย หาได้มีสาเหตุมาจากคนในชุมชนเท่านั้น ทว่ายังมีปัจจัยอื่นเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมมูเซอแดงบ้านหัวปาย เช่น การหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวเข้ามาสู่อำเภอปายเพื่อชมธรรมชาติและวิถีชีวิตชนเผ่า บ้านหัวปายเองก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำหรับการรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติสร้างปัญหาใหญ่ให้กับคนในชุมชน เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้ามาเสพสารเสพติด แม้ว่าจะมีการตั้งกฎระเบียบเพื่อควบคุมพฤติกรรม ถึงกระนั้นยังคงมีผู้ประกอบการและกลุ่มนักท่องเที่ยวบางรายที่ไม่ให้ความร่วมมือ ส่งผลให้อำเภอปายรวมถึงบ้านหัวปายกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความรื่นเริงจากการเสพสารเสพติด ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของชุมชนในสายตาคนหมู่มากนั้นถูกมองในเชิงลบ  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ยาโพ จะตีก๋อย ปะกู จะตีก่อย และไพรศาล พุทธนันท์. (2556). การศึกษาภูมิปัญญามูเซอแดง บ้านหัวปาย ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน (รายงานการวิจัย). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค.