Advance search

หนองเรือตระการ จักสานไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง

หมู่ 9
บ้านดอนหัน
โนนสะอาด
หนองเรือ
ขอนแก่น
เทศบาลโนนสะอาด โทร. 0-4310-5041
ศิราณี ศรีหาภาค
3 มี.ค. 2023
วีรภัทร ศรีทำบุญ
3 มี.ค. 2023
veerapat srithamboon
19 เม.ย. 2023
บ้านดอนหัน

ในการตั้งชื่อหมู่บ้านครั้งแรกได้ชื่อว่าบ้านหินยาว (เพราะมีดินหินเป็นแนวไปตามทาง) ต่อมา พ.ศ. 2465 ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านชื่อว่าบ้านดอนหัน (เพราะบริเวณทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านเป็นป่าเป็นคอนเรียกว่าโนนดอนหัน (เมื่อก่อนบ้านดอนหันเป็นเขตปกครองของอำเภอภูเวียงจังหวัดขอนแก่นต่อมาได้แยกอำเภอหนองเรือออกจากอำเภอภูเวียง) บ้านดอนหัน ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ


ชุมชนชนบท

หนองเรือตระการ จักสานไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง

บ้านดอนหัน
หมู่ 9
โนนสะอาด
หนองเรือ
ขอนแก่น
40210
16.3390108
102.8522283
องค์การบริหารส่วนตำบลองค์การบริหารส่วนตำบลโนนสะอาด

ตำบลโนนสะอาด แบ่งเขตการปกครองเป็น 14 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 บ้านโนนสะอาด  หมู่ที่ 2 บ้านหนองไฮ หมู่ที่ 3 บ้านโนนจั่นห้วยแสง หมู่ที่ 5 บ้านโคกกลาง หมู่ที่ 6 บ้านหนองลุมพุก หมู่ที่ 7 บ้านหนองแวง หมู่ที่ 8 บ้านโนนหินเห่ หมู่ที่ 9 บ้านดอนหัน หมู่ที่ 10 บ้านโนนสวรรค์ หมู่ที่ 11 บ้านโคกกลางหมู่ที่ 12 บ้านพรสวรรค์ หมู่ที่ 13 บ้านโนนศิลา หมู่ที่14 บ้านโนนสว่าง  หมู่ 15 บ้านใหม่สันติสุข โดยหมู่บ้านทั้งหมดอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลโนนสะอาด ส่วนหมู่ที่ 4 บ้านหนองแก (แยกออกจากตำบลโนนสะอาดขึ้นกับเทศบาลตำบลหนองแก)

บ้านดอนหันเป็นหมู่บ้านที่ตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 เล่ากันว่าสมัยก่อนบริเวณนี้เป็นโคกพื้นที่ราบสูง เป็นป่าไม้และทุ่งหญ้าพื้นดินเป็นลูกรังบางส่วนที่เป็นดินเหนียวปนดินทราย ดังนั้นการทำนาจึงไม่ได้ผลผลิตดีเท่าที่ควรเพราะเก็บกักน้ำไม่ค่อยอยู่เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติอาศัยน้ำฝนอย่างเดียวมีชาวบ้านกลุ่มแรกมาจับจองพื้นที่ทำกินคือครอบครัวนายคงหมอดีและครอบครัวของบุตรสาวบุตรเขยจำนวน 3 ครอบครัวต่อมาบ้านหว้าโต๊ะเกิดโรคฝีดาษและอหิวาตกโรคเป็นสาเหตุให้ชาวบ้านได้แตกบ้านหรืออพยพตามมาอีกประมาณ 20 ครอบครัว (การหนีออกจากบ้านตอนกลางคืนเพราะการออกจากบ้านตอนกลางคืนชาวบ้านคนอื่นไม่เห็นจะได้ไม่รังเกียจ) ในการตั้งชื่อหมู่บ้านครั้งแรกได้ชื่อว่าบ้านหินยาว (เพราะมีดินหินเป็นแนวไปตามทาง) ต่อมา พ.ศ. 2465 ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านชื่อว่าบ้านดอนหัน (เพราะบริเวณทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านเป็นป่าเป็นคอนเรียกว่าโนนดอนหัน (เมื่อก่อนบ้านดอนหันเป็นเขตปกครองของอำเภอภูเวียงจังหวัดขอนแก่นต่อมาได้แยกอำเภอหนองเรือออกจากอำเภอภูเวียง)บ้านดอนหัน ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2508 ชาวบ้านกลุ่มแรกที่ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านดอนหันมีประมาณ 2 ครอบครัวคือ

  1. ครอบครัวนายคงหมอดีย้ายมาจากบ้านหว้า ต.โนนทัน อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น
  2. ครอบครัวบุตรสาวบุตรเขยนายคง ย้ายมาจากบ้านหว้า ต.โนนทัน อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น สมัยก่อนหมู่บ้านไม่มีโจรผู้ร้ายเนื่องจากสภาพภูมิประเทศอุดมสมบูรณ์สมบูรณ์ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์น้ำมีอาหารการกิน

ที่ตั้งของชุมชนและอาณาเขต

หมู่บ้านดอนหัน หมู่ที่ 9 ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เป็นหมู่บ้านกลาง มีประมาณ161 หลังคาเรือน มีประชากรอยู่ประมาณ 709 คน เป็นเพศชาย 368 คน เพศหญิง390 คน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,400 ไร่ หมู่บ้านอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอหนองเรือ ประมาณ 12 กิโลเมตรและมีถนนคอนกรีตเข้าหมู่บ้านอีกประมาณ 1 กิโลเมตรและห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ 58 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียงดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านร่องเสมอ ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านโนนหินแห่ ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านโนนคูณ ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น
  • ทิศใต้ ติดกับ ถนนมะลิวัลย์

ลักษณะทางธรณีวิทยาและลักษณะภูมิประเทศ

บ้านดอนหันตั้งอยู่บนที่ราบสูงพื้นดินเป็นหินลูกรังบางส่วนเป็นดินเหนียวปนทรายทำให้การปลูกข้าวไม่ได้ผลเท่าที่ควร ประชาชนจึงหันมาปลูกอ้อยและถั่วเขียวเพราะเป็นพืชต้องการน้ำน้อยและทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี

ลักษณะภูมิอากาศ

  • ฤดูร้อน : เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม และอากาศจะร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
  • ฤดูฝน : เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม โดยจะมีฝนตกชุก ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนของทุกปี ช่วงฝนตกหนักจะมีน้ำขังตามถนน อาจทำให้ไม่สะดวกในการคมนาคม
  • ฤดูหนาว : เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยทั่วไปจะมีอากาศหนาวจัดในช่วง เดือนธันวาคมจนถึงเดือนมกราคมของทุกปี แต่ปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ

สภาพการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในครัวเรือนและชุมชน ลักษณะบ้านเรือนอยู่กันอย่างเป็นระเบียบ ส่วนใหญ่มีรั้วแบ่งอาณาเขตของบ้านชัดเจน มีทั้งบ้านแบบเป็นบ้านไม้ที่มีสภาพมั่นคงแข็งแรง บ้านที่ชั้นบนเป็นไม้ชั้นล่างเป็นปูน บ้านปูนชั้นเดียวและสองชั้น การระบายอากาศในตัวบ้านดี สิ่งแวดล้อมรอบบ้านมีการปลูกต้นไม้ใหญ่และมีการปลูกผักสวนครัวไว้เกือบทุกครัวเรือน ในครัวเรือนค่อนข้างสะอาดและขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละครัวเรือน ทุกหลังคาเรือนมีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ นิยมใช้ส้วมนั่งยอง และบางบ้านใช้ชักโครก ครัวเรือนมีการกำจัดขยะไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่มีพื้นที่สำหรับกำจัดขยะประจำ จากการร่วมมือกันดูแลของชาวบ้าน มีถนนในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตลาดผ่านทุกซอยในหมู่บ้านและผ่านหน้าหมู่บ้าน

แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ มีป่าชุมชน เป็นป่าสงวนขนาดเนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน มีห้วยวังโดนและห้วยลำแสงเก็บน้ำภายในหมู่บ้านเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการทำเกษตร อาศัยน้ำฝนอย่างเดียว อาจมีการใช้น้ำที่ไม่เพียงพอในการทำเกษตร ในช่วงหน้าแล้งของทุกปี

สาธารณูปโภคในชุมชน น้ำดื่มส่วนมากจะมีการซื้อน้ำถังในการใช้บริโภค และส่วนน้อยมีรองน้ำฝนไว้ใช้ในโอ่งขนาดใหญ่ มีฝาปิดมิดชิด เพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี ใช้น้ำจากระบบประปาของหมู่บ้าน เปิดใช้ได้ตลอดเวลาและรองไว้ใช้ให้เพียงพอทั้งวัน มีการใช้น้ำได้หลายระบบจึงมีเพียงพอต่อการใช้ตลอดปี ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้

ประชากรของบ้านดอนหันมีจำนวนทั้งหมด 450 คน เพศชาย 232 คน เพศหญิง 218 คน จำนวนครัวเรือน 132 ครัวเรือน พบว่า โครงสร้างอายุของประชากรอายุ 0-14 ปี มีประมาณร้อยละ 22.22 อายุ 15-64 ปี มีประมารร้อยละ 54.89 และอายุ 65 ปีขึ้นไป มีประมาณร้อยละ 22.89

จากรูปภาพแสดงให้เห็นว่า เป็นพีระมิดแบบหดตัว (constrictive pyramid or declining pyramid) เป็นพีระมิดประชากรที่มีรูปแบบของฐานพีระมิดแคบ ตรงกลางพองออกและยอดค่อยๆ แคบเข้าแสดงว่าจำนวนคนเกิดและจำนวนคนตายลดลง ทำให้รูปแบบของอัตราการเกิดและอัตราการตายที่ต่ำหรือมีโครงสร้างประชากรลดลง จากปลายพีระมิดคาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้สูงอายุมากมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต  และเกิดภาวะพึ่งพิงสูงขึ้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ประชากรในช่วงอายุ 50 - 59 ปี คิดเป็นร้อยละ 15.56  ประชากรในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 31.45 และเมื่อเทียบกับเกณฑ์ผู้สูงอายุของประเทศไทยร้อยละ 10 พบว่า ชุมชนบ้านดอนหันกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aging Society) การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างดังกล่าว จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจและการเงิน จะส่งผลผลต่อตลาดผลิตภัณฑ์และบริการด้านต่าง ๆ รายได้ต่อหัวของประชากร การออมและการลงทุน งบประมาณของรัฐบาล การจ้างงานและผลิตภาพของแรงงาน ทำให้วัยแรงงานลดลง ส่งผลให้เกิดค่าแรงสูงขึ้นและขาดแรงงาน ด้านสุขภาพ การเพิ่มขึ้นของประชากรวัยผู้สูงอายุจะทำให้งบประมาณด้านการดูแลสุขภาพสูงขึ้น ด้านสังคมคือ เกิดผู้ภาวะพึ่งพิงผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งมากขึ้นเนื่องจากวัยทำงานต้องทำงานมากขึ้นและต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุ

กองทุนสนับสนุนในชุมชน  ได้แก่ กองทุนกู้ยืมเงิน (กองทุนเงินล้าน) กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ กองทุนขยะ ทำร่วมกับ อบต. กรรมการหรือองค์กรการทำงานและการบริหารจัดการของกรรมการ มีลักษณะการทำงานคือ มีการจัดประชุมลูกบ้าน การแจ้งปัญหา และการหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน

ด้านวัฒนธรรม

  • เดือนอ้าย : บุญเข้ากรรม ตรงกับวันเพ็ญเดือนอ้ายหรือเดือนธันวาคม จัดทำโดยพระภิกษุ ผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส คือ อาบัติขนาดกลาง ต้องปฏิบัติวุฏฐานวิธี คือ ระเบียบเป็นเครื่องออกอาบัติ โดยให้พระสงฆ์เข้าไปอยู่ในเขตที่จำกัด ทรมานกายและชำระจิตใจให้บริสุทธิ ถือเป็นการแทนคุณมารดาที่ต้องอยู่กรรม (อยู่ไฟ) ด้วยการเข้ากรรมทำอยู่เก้าราตรี คือ สามราตรีแรกเรียกว่า อยู่บริวาส และหกราตรีต่อมาเรียกว่า อยู่มานัต เมื่อครบเก้าราตรีจึงอัพภาน คือ ออกจากกรรม โดยมีพระสงฆ์ 20 รูป เป็นผู้สวดอัพภาน
  • เดือนยี่ : บุญคูณลาน ในตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ กลางคืนอาจมีการคบงันบ้าง ตอนเข้าถวายภัตตาหารบิณฑบาตร เทศนาฉลองสู่ขวัญลาน เลี้ยงอาหารแก่ผู้ไปร่วมพิธี พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำมนต์ เอาน้ำมนต์ไประข้าว วัว ควาย เชื่อว่าเข้าของจะอยู่เย็นเป็นสุข ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าจะงอกงามและได้ผลดีในปีต่อไป เมื่อเสร็จพิธีจึงขนข้าวใส่ยุ้งและเชิญขวัญข้าว คือ เชิญเจ้าแม่โพสพไปยังยุ้งข้าว
  • เดือนสาม : บุญข้าวจี่ ชาวบ้านจะจัดเตรียมข้าวจี่ตั้งแต่ตอนย่ำรุ่งของวันนั้น เพื่อให้ข้าวจี่สุกทันใส่บาตรจังหัน นอกจากข้าวจี่แล้วก็จะนำ "ข้าวเขียบ" (ข้าวเกรียบ) ทั้งที่ยังไม่ย่างเพื่อให้พระเณรย่างกินเอง และที่ย่างไฟจนโป่งพองใส่ถาดไปด้วย พร้อมจัดอาหารคาวไปถวายพระที่วัด หลังจากนั้นจะให้มีการเทศน์นิทานชาดก เรื่องนางปุณทาสีเป็นเสร็จพิธี
  • เดือนสี่ : บุญเผวดหรือบุญพระเวส ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรทั้ง 13 กัณฑ์ บุญนี้จะทำติดต่อกันสามวัน วันแรกจัดเตรียมสถานที่ตกแต่งศาลาการเปรียญ วันที่สองเป็นวันเฉลิมฉลองพระเวสสันดร ชาวบ้านร่วมทั้งพระภิกษุสงฆ์จะมีทั้งการจัดขบวนแห่เครื่องไทยทาน ฟังเทศน์ และการแห่ผ้าผะเหวด (ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดร) ซึ่งสมมติเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าสู่เมือง เมื่อถึงเวลาค่ำจะมีเทศน์เรื่องพระมาลัย ส่วนวันที่สามเป็นงานบุญพิธี ชาวบ้านจะร่วมกันตักบาตรข้าวพันก้อน พิธีจะมีไปจนค่ำ ชาวบ้านจะแห่ ฟ้อนรำตั้งขบวนเรียงรายตั้งกัณฑ์มาถวายอานิสงฆ์อีกกัณฑ์หนึ่ง จึงเสร็จพิธี
  • เดือนห้า : บุญประเพณีสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาตั้งแต่โบราณ ในวันนี้พระสงฆ์นำพระพุทธรูปออกจากโบสถ์มาไว้ที่หอสรง ชาวบ้านจะนำน้ำอบ น้ำหอมมาร่วมกันสรงน้ำพระพุทธรูปที่หอสรง นอกนี้มีการสรงน้ำพระสงฆ์และผู้หลักผู้ใหญ่ หรือผู้เฒ่าผู้แก่ 
  • เดือนหก : บุญบั้งไฟ บุญบั้งไฟถือเป็นคติความเชื่อทางสังคมของชาวอุดรธานีและภาคอีสานทั่วไปที่วิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ เนื่องจากชาวบ้านต้องทำการกสิกรรมเลี้ยงชีพเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องการน้ำจากธรรมชาติเพื่อเพาะปลูกพืชผลของตนเองจึงได้มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าเทพเจ้าที่ประทานน้ำให้แก่มนุษย์คือ"แถน"บุญบั้งไฟ เป็นความเชื่อของคนอีสานในการขอฝนสืบต่อมา จากเรื่องพญาคันคาก ผู้รบชนะพญาแถนและขอให้แถนบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เมื่อถึงฤดูทำนาก็จะขอฝนมาทำนา ก็ส่งสัญญาณบอกแถนด้วยการจุดบั้งไฟ
  • เดือนเจ็ด : บุญชำฮะ ในการจัดงานบุญซำฮะหรือบุญเบิกบ้านชาวบ้านจะทำบริเวณพิธีด้วยการนำต้นกล้วยมาสี่ต้นทำเป็นเสาผูกยึดด้วยสายสิญจ์ และจะมีการโยงสายสิญจ์ไปยังบ้านทุกหลังในหมู่บ้าน แล้วนิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์นอกจากนี้จะมีการนำหินเข้าพิธีเมื่อปลุกเสกแล้วพระหรือพราหมณ์ก็จะนำหินที่ปลุกเสกไปว่านทั่วหมู่บ้าน เพื่อปัดรังควาน
  • เดือนแปด : บุญเข้าพรรษา เป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนา จะมีการทำบุญตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน สบง จีวรและเทียนพรรษา จัดขบวนแห่เทียน เมื่อแห่เทียนมาถึงวัดชาวบ้านจะรับศีลรับพร ฟังธรรม ตอนค่ำจะเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ
  • เดือนเก้า : บุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรต หรือญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดินจะประกอบด้วย ข้าว อาหารคาวหวาน หมากพลูและบุหรี่ ซึ่งเราห่อหรือใส่กระทงไปวางไว้ตามพื้น หรือแขวนไว้ตามต้นไม้ในบริเวณวัด
  • เดือนสิบ : บุญข้าวสาก เป็นประเพณีในวันขึ้น 15 ค่ำ โดยจะมีการจัดเตรียมอาหารบรรจุข้าวเหนียว อาหารแห้ง เช่น ปลาย่าง เนื้อย่าง แจ่วบองหรือน้ำพริกปลาร้า และห่อข้าวเล็ก ๆ อีกห่อหนึ่ง สำหรับอุทิศให้ญาติผู้ล่วงลับและนำไปทำบุญที่วัด
  • เดือนสิบเอ็ด : บุญออกพรรษา บุญออกพรรษาหรือประเพณีตักบาตรเทโว จะมีการจุดประทีปโคมไฟ และทำบุญตักบาตร โดยชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัด
  • เดือนสิบสอง : บุญกฐิน จะมีเจ้าภาพจองวัดและกำหนดวันทอดกฐินล่วงหน้า ชาวบ้านจะนำเครื่องบริวารกฐิน ซึ่งส่วนมากเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน มาตั้งวางไว้ในที่เปิดเผยเพื่อให้ญาติพี่น้อง หรือชาวบ้านใกล้เคียงนำสิ่งของ เช่น เสื่อ หมอน ปัจจัย ฯลฯ มาร่วมสมทบ วันรุ่งขึ้นก็เคลื่อนขบวนไปสู่วัดที่ทอด เมื่อนำองค์กฐินไปถึงวัดจะมีการแห่เวียนประทักษิณรอบวัดหรือรอบพระอุโบสถ 3 รอบ จึงนำผ้ากฐินและเครื่องประกอบอื่น ๆ ไปถวายพระสงฆ์ที่โบสถ์ เมื่อทำพิธีถวายผ้ากฐินและบริวารแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์ทำพิธีรับแล้วเป็นเสร็จพิธีสามัคคี

ด้านเศรษฐกิจ

  1. ทำนา : เริ่มทำตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม
  2. ทำไร่ : เริ่มทำตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายน
  3. รับจ้างทั่วไป : เริ่มทำตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม
  4. ลูกจ้าง : เริ่มทำตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม

1.นายสมัย  พั้วทา

ผู้ใหญ่บ้าน โดยได้พัฒนาและความเจริญมาสู่หมู่บ้าน รวมทั้งเป็นอาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้าน เป็นที่รักเละเคารพของคนในหมู่บ้าน วันที่ 11 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2508  อายุ 57 ปี  เป็นบุตรของพ่ออาน พั้วทา กับห่อน พั้วทา มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน พ่อสมัยเป็นบุตรคนที่ 8 สมรสกับนางสุดาวรรณ พั้วทา มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 2 คน เป็นบุตรสาวทั้ง 2 คน

ที่อยู่ 106 หมู่ 9 บ้านดอนหัน ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

ประวัติด้านการศึกษาและการทำงาน

นายสมัย พั้วทา เกิดวันที่ 11 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2508  ภูมิลำเนาเป็นคนบ้านดอนหันโดยกำเนิด อาศัยอยู่กับบิดามารดา พ่อสมัยจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนหนองเรือวิทยา หลังจากเรียนจบ ได้ทำเจียระไนพลอย และต่อมาได้ทำสวนกล้วย พอประมาณปี พ.ศ. 2530 พ่อสมัยได้แต่งงานกับแม่สุดาวรรณ ได้มีบุตรร่วมกัน 2 คน เป็นบุตรสาวทั้ง 2 คน จากนั้นพ่อสมัยได้เริ่มเป็นอสม.เมื่อปี พ.ศ. 2532 จากการอาสาสมัคร จากนั้นเมื่อปี 2538 พ่อสมัยได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยใหญ่บ้าน ปี 2548 ได้เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และเมื่อปี 2555 ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านดอนหันจนถึงปัจจุบัน ได้เข้ามาพัฒนาหมู่บ้านให้เกิดความเจริญขึ้น ได้ทำนุบำรุงสถานที่ เช่น ไฟฟ้ารอบหมู่บบ้าน ถนนคอนกรีต ซ่อมแซมประตูทางเข้าหมู่บ้าน และตามโครงการต่างๆ ที่ทางรัฐได้จัดสรรให้ เป็นต้น

2.นางลำไพ  สุขชัย

อาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเจริญก้าวหน้าอยู่เป็นประจำ รวมทั้งเป็นที่รักเละเคารพของคนในหมู่บ้าน เกิดวันที่ 12 เดือนมกราคม พ.ศ. 2498 อายุ 66 ปี  บุตรของพ่อสมพงษ์ หันงัน กับแม่เอี่ยม หันงัน มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน แม่ลำไพเป็นบุตรคนที่ 5 สมรสกับนายประสงค์ สุขชัย มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 3 คน เป็นบุตรสาวทั้ง 3 คน

ที่อยู่ 2 หมู่ 9 บ้านดอนหัน ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

ประวัติด้านการศึกษาและการทำงาน

นางลำไพ สุขชัย เกิดวันที่ 12 เดือนมกราคม พ.ศ. 2498 อายุ 66 ปี ภูมิลำเนาเป็นคนบ้านดอนหันโดยกำเนิด อาศัยอยู่กับบิดามารดา แม่รำไพจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อ ปี พ.ศ.2509 ที่โรงเรียนบ้านดอนหันโนนหินแห่ หลังจบการศึกษาได้ทำการเกษตรกับครอบครัว ประมาณปี พ.ศ 2515 ได้แต่งงานกับพ่อประสงค์ สุขชัย ได้มีบุตรร่วมกัน 3 คน เป็นบุตรชายทั้งหมด หลังจากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2523 แม่ลำไพได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานแม่บ้าน ได้มีการเริ่มพัฒนาหมู่บ้าน ทำความสะอาดบริเวณคุ้มจนได้รับรางวัลประจำคุ้ม ตลอดจนเป็นได้เป็นหมู่บ้านตัวอย่าง และเป็นผู้ที่เตรียมต้อนรับผู้ที่เข้ามาพักอาศัย เยี่ยมชม หรือหรือโครงการในหมู่บ้าน เริ่มได้สมัครเป็น อสม. เมื่อปี พ.ศ. 2528 ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านมากขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2533 ได้เป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน และเป็นคณะกรรมการเรเวน่า ซึ่งได้ทำร่วมกับชาวต่างชาติ โดยทำเกี่ยวกับการพํมนาหมู่บ้านด้านเศรฐกิจพอเพียง เช่น เลี้ยงวัว ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เจาะน้ำบาดาล เป็นต้น ปี พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัล อสม. ดีเด่นระดับประเทศ โดยได้เข้ารับกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่เมืองทองทานี ปี พ.ศ. 2548 ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และเมื่อ ปี พ.ศ. 2550 ได้ทำโครงการเกี่ยวปลอดลูกน้ำยุงลาย ได้รับรางวัล และรวมถึงรางวัลอื่นอีกมากมาย เช่น พัฒนาการออกกำลังกาย กรรมการศึกษา ตัวแทนประชาคมระดับอำเภอ และมีส่วนช่วยในการพัฒนาหมู่บ้าน ทำนุบำรุงสถานที่อีกมากมาย ตลอดจนให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อส่วนร่วมเป็นประจำ เป็นที่รักและเคารพของคนในหมู่บ้าน

ทุนกายภาพ  มีป่าชุมชน เป็นป่าสงวนขนาดเนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน มีห้วยวังโดนและห้วยลำแสงเก็บน้ำภายในหมู่บ้านเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการทำเกษตร อาศัยน้ำฝนอย่างเดียว อาจมีการใช้น้ำที่ไม่เพียงพอในการทำเกษตร ในช่วงหน้าแล้งของทุกปี

ทุนมนุษย์ มีแพทย์ชาวบ้านประจำชุมชน

ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น มีวัดท่าอุทุมย์พร มีเจ้าอาวาสประจำวัด และปัจจุบันมีพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด 2 รูป และ สำนักปฏิบัติธรรมพระอาจารย์ชัยชนะ

ทุนเศรษฐกิจ มีกองทุนกู้ยืมเงิน (กองทุนเงินล้าน) กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ กองทุนขยะ ทำร่วมกับ อบต.

ผู้คนในชุมชนบ้านดอนหันภาษาไทยและตัวอักษรไทยในการพูดและการอ่านเขียน


  1. โครงการคัดกรองสารเคมีในเลือดกลุ่มเกษตรกร  เขตพื้นที่เทศบาลตำบลโนนสะอาด
  2. โครงการพัฒนาการศักยภาพ อสม. เขตพื้นที่เทศบาลตำบลโนนสะอาด
  3. โครงการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ขยับกายชีวี ด้วยวิธีการเต้นแอโรบิค เขตพื้นที่เทศบาลตำบลโนนสะอาด
  4. โครงการควบคุม ป้องกัน โรคติดต่อ เขตพื้นที่เทศบาลตำบลโนนสะอาด
  5. โครงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพ เขตพื้นที่เทศบาลตำบลโนนสะอาด
  6. โครงการรณรงค์ตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เขตพื้นที่เทศบาลตำบลโนนสะอาด
  7. โครงการส่งเสริม ป้องกัน ทันตสุขภาพเด็กวัยเรียน เขตพื้นที่เทศบาลตำบลโนนสะอาด ปี พ.ศ. 2564


สิทธิการรักษาประชาชน มีหลักประกันการเข้าถึงบริการสุขภาพสิทธิหลักประกันสุขภาพมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 95.78 รองลงมาสิทธิประกันสังคม คิดเป็นร้อยละ 3.33 สิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจน้อยที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 0.89 ตามลำดับ ดังนั้น เเสดงให้เห็นว่าประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านโคกลางจะได้รับการดูเเลรักษาทางการพยาบาลตามสิทธิประโยชน์ของคนไทย คือสิทธิหลักประกันสุขภาพเเห่งชาติ (บัตรทอง) 


น้ำดื่มส่วนมากจะมีการซื้อน้ำถังในการใช้บริโภค และส่วนน้อยมีรองน้ำฝนไว้ใช้ในโอ่งขนาดใหญ่ มีฝาปิดมิดชิด เพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี ใช้น้ำจากระบบประปาของหมู่บ้าน เปิดใช้ได้ตลอดเวลาและรองไว้ใช้ให้เพียงพอทั้งวัน มีการใช้น้ำได้หลายระบบจึงมีเพียงพอต่อการใช้ตลอดปี ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้


ด้านการศึกษามีโรงเรียนในหมู่บ้าน 1 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านดอนหันโนนหินแห่


มีป่าชุมชน เป็นป่าสงวนขนาดเนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน มีห้วยวังโดนและห้วยลำแสงเก็บน้ำภายในหมู่บ้านเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการทำเกษตร อาศัยน้ำฝนอย่างเดียว อาจมีการใช้น้ำที่ไม่เพียงพอในการทำเกษตร ในช่วงหน้าแล้งของทุกปี

ในชุมชนบ้านดอนหันมีจุดสนใจอื่น ๆ เช่น วัดท่าอุทุมย์พร  สำนักปฏิบัติธรรมพระอาจารย์ชัยชนะ มีตลาดนัดในหมู่บ้านทุกวันพุธ

จากการสำรวจข้อมูลของนักศึกษาจากวิทยาลัยบรมราชชนนี ขอนแก่น

เทศบาลโนนสะอาด โทร. 0-4310-5041