วัดเก่าแก่มีศิลปะกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่จัดแสดงเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชน วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไว้ให้ได้ศึกษาเรียนรู้
วัดเก่าแก่มีศิลปะกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่จัดแสดงเรื่องราววิถีชีวิตของชุมชน วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไว้ให้ได้ศึกษาเรียนรู้
วัดห้วยตะโก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 บ้านห้วยตะโก ตำบลพะเนียด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม วัดห้วยตะโกเป็นวัดเก่าแก่ ไม่พบประวัติความเป็นมาที่แน่ชัด ข้อมูลของ กรมการศาสนาระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2342 แต่จากหลักฐานทางโบราณวัตถุที่พบในวัดสันนิษฐานกันว่าน่าจะ สร้างในสมัยอู่ทอง โดยดูจากลวดลายของใบเสมาหินทรายแดงแกะสลักที่อยู่รอบอุโบสถหลังเก่าของวัด วัดได้รับ พระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
หลักฐานที่พบคือพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรจำนวน 1 องค์ อยู่ในอิริยาบถประทับยืนบนฐานบัว ลงรักปิด ทองทั่วทั้งองค์ จากประวัติกล่าวว่าอัญเชิญมาจากวัดโคกมะขาม (ร้าง) เดิมน่าจะเป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรมใน พุทธศิลปะแบบทวารวดี แต่ได้ชำรุดไปและคงเหลือเพียงบางส่วน จึงมีการต่อเติมในภายหลังทั้งพระเศียร พระกร และส่วนฐานพระ ปัจจุบันเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนในนาม หลวงพ่อหิน จากหลักฐานทางโบราณวัตถุที่พบในวัดน่าจะสร้าง ในยุคสมัยอู่ทองกว่า 700 ปีมาแล้ว โดยดูจากลวดลายของใบเสมาหินทรายแดงแกะสลักอยู่รอบอุโบสถหลังเก่าของวัด
วัดห้วยตะโก บ้านห้วยตะโก ตำบลพะเนียด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อยู่ในการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลพะเนียด ซึ่งสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ดอนและพื้นราบที่ลุ่ม ดินมีลักษณะเป็นดินร่วน มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์
บ้านห้วยตะโก ตำบลพะเนียด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีประชากรทั้งสิ้น 204 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 381 คน หญิง 410 คน ประชากรรวมทั้งหมดจำนวน 791 คน
นามสกุลของคนบ้านห้วยตะโก
- มีคำว่า กวย เช่น ไถ้บ้านกวย โสมบ้านกวย เพชรบ้านกวย จ้อยบ้านกวย ทองบ้านกวย ฯลฯ
- มีคำว่า ตะโก เช่น ตะโกเนียม หอมตะโก สุขตะโก ฯลฯ
- มีคำว่า พะเนียต เช่น อยู่พะเนียด พูพะเนียด คุ้มพะเนียด นุชพะเนียด คูพะเนียด ฯลฯ
พิพิธภัณฑ์วัดตะโก
บริเวณวัดห้วยตะโกสันนิษฐานว่าเคยเป็นวัดเก่าแก่มาก่อน ต่อมาพระครูสังฆรักษ์ไพบูลย์ กตปุญโญ เจ้าอาวาส ได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์วัดห้วยตะโก ท่านมีความสนใจศิลปะเขมร ท่านจึงมีแนวคิดที่จะผสมผสานรูปแบบศิลปะดังกล่าวเข้ามาไว้ในวัด โดยเฉพาะอุโบสถหลังใหม่ที่กำลังก่อสร้าง ท่านได้แนวคิดมาจากบรรณาลัยของปราสาทหินพนมรุ้ง นอกจากนี้ท่านยังพยายามจะให้วัดห้วยตะโกเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน มีมุมต่างๆ ที่ให้ความรู้ อาทิ เตาเผาสร้างอาชีพ ซึ่งเป็นมุมที่จัดเป็นสถานที่ผลิตอิฐเพื่อนำมาก่อสร้างโบสถ์องค์ปัจจุบัน มุมวาดลายไทย เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์วัดห้วยตะโกได้เริ่มดำเนินการสร้างทีละจุดทีละมุมตามแต่งบประมาณที่จะอำนวย โดยในปี พ.ศ. 2542 เป็นปีที่วัดห้วยตะโกอายุครบ 20 ปี ท่านได้เปิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้น เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว จัดห้องเป็นมุมต่าง ๆ ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น แบ่งเป็นเรื่อง การทำนา การทำตาล เครื่องจักสาน เครื่องมือวัดตวงชั่ง เครื่องมือช่างไม้ ยาท้องถิ่น เพนียดคล้องช้าง
ต่อมาในปี 2543 ท่านได้สร้างมุมจัดแสดงขึ้นมาเพิ่มเติม เป็นกลุ่มศิลปกรรม จัดแสดงกลุ่มพระพุทธรูปเก่าแก่ของชุมชน เป็นพระพุทธรูปหินทรายศิลปะแบบอู่ทอง บางองค์ถูกขโมยตัดเศียรไป ใบเสมาหิน เป็นต้น โดยวางแสดงในอาคารเปิดโล่ง
อาคารอีกหลังหนึ่ง ภายในจัดแสดงนิทรรศการเรื่อง "ไตรรงค์ ไตรรัตน์: ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" โดยนิทรรศการดังกล่าวจัดทำแบบง่าย ๆ เรื่องที่นำเสนอมี 5 เรื่องหลัก ได้แก่
- ชาติไทย นำเสนอเรื่องธงชาติไทย ตราประจำจังหวัด พระมหากษัตริย์ไทย
- ครูไทย(ศิลปินแห่งชาติ) นำเสนอศิลปินไทยในสาขาต่าง ๆ
- สามกษัตริย์ นำเสนอพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6
- ตามเสด็จสู่โลกกว้าง เป็นมุมที่รวบรวมเรื่องราวการเสด็จพระราชดำเนินไปยังต่างประเทศของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- ไตรรัตน์ นำเสนอเรื่องราวพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
บ้านเพนียด ปัจจุบันคือตำบลเพนียด ตั้งอยู่ใน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นโรงฝึกหัดช้างป่า จากที่เคยเป็นช้างที่มีนิสัยดุร้าย ชาวกูย กวย หรือส่วย จะเป็นผู้ฝึกให้กลายเป็นช้างที่เชื่องและพร้อมนำมาใช้งานได้ เมื่อครั้งสุนทรภู่มีความประสงค์เดินทางมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ได้แต่งนิราศพระประธมขึ้นเพื่อบรรยายการเดินทาง เมื่อผ่านมายังบริเวณบ้านเพนียด ได้จอดเรือแวะพักผ่อนและได้กล่าวถึงสถานที่แห่งนี้ไว้ในนิราศพระประธมว่า
ถึงถิ่นฐานบ้านเพนียดเป็นเนินสูง ที่จับจูงช้างโขลงเข้าโรงหลวง
เหตุเพราะนางช้างต่อไปล่อลวง พลายทั้งปวงจึงถูกมาผูกโรง
โอ้อกเพื่อนเหมือนหนึ่งชายที่หมายมาด แสนสวาทหวังงามมาตามโขลง
ต้องติดบ่วงห่วงรักชักชะโลง เสียดายโป่งป่าเขาคิดเศร้าใจ ฯ
(จากนิราศพระประธม ประพันธ์โดยสุนทรภู่ สันนิษฐานว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 )
ส่วนบ้านห้วยตะโก ปรากฏชื่อในนิราศพระประธม ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ซึ่งงานพระนิพนธ์นี้เป็นวรรณคดีนิราศเรื่องแรกที่ทรงประพันธ์ในโอกาสที่เสด็จไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์เมื่อ พ.ศ. 2377
ห้วยตะโกเดิม ห้วยเหตุ เภตรา
บันทุกตะกั่วเกรียบมา ล่มไว้
จึงบัญญัติสมญา ชื่อห้วยตะกั่วแฮ
คนทุกวันนี้ใช้ ชื่อห้วยตะโกแปลงฯ
คลังข้อมูลชุมชน. (2564). วัดห้วยตะโก-พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดห้วยตะโก จ.นครปฐม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมพาพันธ์ 2567 จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/WatHuayTako
ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. (ม.ป.ป.). พิพิธภัณฑ์วัดห้วยตะโก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมพาพันธ์ 2567 จาก https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/374
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.) พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดห้วยตะโก. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม. จาก https://cul.npru.ac.th/icac/
องค์การบริหารส่วนตำบลพะเนียด. (2562). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2561-2565). องค์การบริหารส่วนตำบลพะเนียด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม. จาก http://www.panied.go.th/