Advance search

ชุมชนมอญบางลำภู

ชุมชนมอญโบราณกับภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำสไบมอญที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เพื่อการรักษามรดกอันล้ำค่าของกลุ่มชาติพันธุ์ สู่การสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้า

หมู่ที่ 3
บางลำภู
บางครก
บ้านแหลม
เพชรบุรี
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
2 ก.พ. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
2 ก.พ. 2024
บ้านบางลำภู
ชุมชนมอญบางลำภู

บริเวณที่ตั้งชุมชนมีต้นลำพูเกิดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงตั้งชื่อชุมชนว่า "บ้านบางลำภู"


ชุมชนมอญโบราณกับภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำสไบมอญที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เพื่อการรักษามรดกอันล้ำค่าของกลุ่มชาติพันธุ์ สู่การสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้า

บางลำภู
หมู่ที่ 3
บางครก
บ้านแหลม
เพชรบุรี
76110
13.195180935493527
99.95663349567184
องค์การบริหารส่วนตำบลบางครก

ชาวมอญที่มาลงหลักปักฐานในจังหวัดเพชรบุรีปัจจุบันส่วนใหญ่คาดว่าอพยพมาจากแถบลุ่มน้ำแม่กลอง ผ่านมาทางด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี มาตั้งบ้านเรือนอยู่เขตอำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ตั้งแต่ราวสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อันเป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรมอญตกเป็นของพม่าอย่างสมบูรณ์แล้วเมื่อปี พ.ศ. 2300 ชาวมอญอพยพมาตามลำแม่น้ำกลอง บางส่วนได้แยกไปทางลำน้ำท่าจีน รวมทั้งแถบลำน้ำเพชรบุรี ผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่า เดิมทีอาจตั้งบ้านเรือนอยู่แถบบ้านคุ้งตำหนัก ก่อนที่จะแพร่กระจายมาแถบบ้านบางลำพูตามลำดับ

ชุมชนมอญเมืองเพชรบุรีได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนมอญที่อยู่ทางจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี ด้วยชาวมอญทั้งสองจังหวัดนั้น นิยมการค้าเครื่องปั้นดินเผาทางเรือ รวมทั้งชาวมอญแถบเพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ก็นิยมค้าจากและถ่านทางเรือ ขึ้นล่องแม่น้ำแม่กลอง ท่าจีน และเจ้าพระยาอยู่เสมอ ทั้งยังเป็นคู่ค้าที่เหนียวแน่นต่อกัน ด้วยชาวมอญแถบจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรีจำนวนมาก มีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผา ต้องใช้จากตับมุงหลังคาโรงปั้นและใช้ฟืนในการเผาเครื่องปั้น

ประวัติศาสตร์ “บ้านมอญบางลำภู” ที่ได้รับจากการคำบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่นโดยปรากฏอยู่ในหนังสือ “ประวัติวัดบางลำพู” กล่าวว่า ชาวมอญบ้านบางลำภู อพยพมาจากเมืองกาญจนบุรีโดยทางบก ระยะแรกพักอยู่ย่านอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ระยะต่อมามีความจำเป็นต้องขยายแหล่งทำมาหากินและที่ตั้งบ้านเรือนเพิ่มขึ้น จึงอพยพหาที่ลงหลักปักฐานใหม่ ได้รวมตัวพากันอพยพออกจากโพธาราม การอพยพครั้งนั้นนำโดย “เม้ยแป้น เม้ยหนู เม้ยชัว มะบุตร มะเนิน มะสุด...” (ชาวมอญมีคำนำหน้าชื่อผู้หญิงว่า “เม้ย/มิ” (မိ) และ “มะ” (မ) สำหรับผู้ชาย) โดยมุ่งหน้าลงมาทางทิศใต้ของจังหวัดราชบุรี ใช้เวลาหลายวันจึงถึงพื้นที่เมืองเพชรบุรี และเลือกพักแรมใกล้กับเขาหลวง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเพชรบุรีเมื่อเริ่มแรก

ชาวบ้านได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกยังคงอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตก ต่อมาบริเวณนี้ได้มีชื่อเรียกว่า “ทุ่งนามอญ” เป็นชุมชนขนาดเล็กและคาดว่ายังอยู่อาศัยได้ไม่นาน จึงไม่ได้มีการสร้างวัดขึ้นในชุมชน ประกอบอาชีพทำเครื่องจักสาน เผาถ่าน และทำนา แต่เครื่องมือทำนายังไม่สมบูรณ์ ก็ถูกทหารพม่าตามรบกวน (เชื่อกันว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกับที่มีทหารพม่าใช้ขวานฟันบานประตูศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณารามเมื่อ พ.ศ. 2308)

จากนั้นชาวมอญบางส่วนได้อพยพเคลื่อนย้ายหลบหนีทหารพม่า โดยข้ามไปอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเพชรบุรี แถบปากคลองบางลำภู อยู่ระหว่างตำบลบ้านแหลมกับตำบลบางครก จากนั้นโยกย้ายมาอยู่บริเวณบ้านย่านซื่อ (ทุ่งใหญ่) แต่ภูมิประเทศไม่เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร ด้วยอยู่ติดทะเล น้ำจึงเค็มเกินไป จึงได้เคลื่อนย้ายลึกเข้ามาในคลอง เป็นบริเวณที่มีต้นลำพูขึ้นชุกชุม เป็นที่ราบลุ่มสลับป่าจาก ชาวบ้านจึงลงหลักปักฐานอยู่อาศัย

ต่อมาได้มีการส่งข่าวไปถึงญาติพี่น้องเพื่อนบ้านที่โพธาราม คนมอญที่นั่นจึงอพยพเข้ามาสมทบกับมอญที่บ้านบางลำภู ชุมชนแห่งนี้จึงมีประชากรเพิ่มมากขึ้น และได้สร้างวัดขึ้นเป็นศูนย์กลางของชุมชน สำหรับเป็นที่ปฏิบัติกิจทางศาสนา เมื่อปี พ.ศ. 2454

ตำบลบางครกพื้นที่โดยทั่วเป็นเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่าน และเป็นจุดที่แม่น้ำเพชรบุรีแยกออกเป็น 2 สาย ที่หน้าวัดปากคลอง สายหนึ่งไหลออกที่ปากอ่าวบ้านแหลมและอีกสายหนึ่งไหลออกที่ปากอ่าวบางตะบูนลงสู่อ่าวไทย บ้างบางลําภู มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลาดเอียงลงทะเล พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่แอ่งกระทะ สภาพดินเป็นดินเลนและดินเหนียว เหมาะสำหรับประกอบอาชีพประมง เย็บจาก

บ้านบางลำภู ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มีจำนวน 144 ครัวเรือน รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 453 คน แบ่งเป็นชาย 230 คน และหญิง 223 คน 

มอญ

บ้านบางลำภู ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำและอยู่ใกล้กับพื้นที่ชายทะเลอ่าวไทย ประชากรส่วนใหญ่จึงมีอาชีพหลักที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม และมีอาชีพเกี่ยวกับการประมงพื้นบ้าน ทั้งการทำนา ทำสวนมะพร้าว ฯลฯ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1.จ.ส.อ.สง่า บุตรรัตน์  ปราชญ์ด้านภาษามอญ ชุมชนบ้านบางลำภู

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนบ้านบางลำภู ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายมอญ ประชาชนบ้านบางลำภูยังมีผู้มีความรู้ความสามารถด้านการใช้ภาษามอญ คือ จ.ส.อ.สง่า บุตรรัตน์


ชนชาติมอญมีรูปแบบประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิต และศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาอย่างยาวนาน แต่ถูกกลืนจนเกือบจางหายไปหลังจากที่ชาวเมียนมาเข้ายึดครอง ชาวมอญบางส่วนได้อพยพหนีภัยสงครามมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ไม่ว่าชาวมอญจะอยู่อาศัยในถิ่นฐานใดก็ยังคงพยายามที่จะสืบสานและส่งต่อความเป็นมอญให้แก่ลูกหลาน

หนึ่งในอัตลักษณ์อันโดดเด่นของชาวมอญคือ สไบมอญ ที่มีความสวยงามและเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกายที่มีความหมายและมีที่มาน่าสนใจ ชุมชนที่ยังคงรักษาวิถีคนมอญไปพร้อมกับการรื้อฟื้นภูมิปัญญาที่กำลังจะสูญหายคือ ชุมชนมอญบ้านบางลำภู อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ได้ฟื้นฟูการปักสไบมอญมาตั้งแต่ปี 2561 จนปัจจุบัน ในหมู่บ้านมีช่างปักสไบฝีมือดีหลายท่าน และมีการสร้างสรรค์ลวดลายแปลกใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ

เดิมชาวมอญบางลำภูนิยมปักผ้าสไบใช้เอง แต่ลวดลายที่ใช้ปักไม่ใช่ลายที่นิยมในปัจจุบัน ยุคแรกของการฟื้นฟูการปักผ้าสไบ ชาวมอญบางลำภูได้ผ้าสไบมอญเจ็ดริ้ว จังหวัดสมุทรสาคร มาเป็นต้นแบบ เป็นสไบลายดอกมะเขือ จากนั้นจึงมีการสร้างสรรค์ลายดอกลำพู ลายกุ้ง หอย ปู ปลา อันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่อยู่ใกล้กับทะเล ลายดอกลีลาวดีซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดเพชรบุรี และลายหงส์ที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ ในช่วงแรกการปักสไบยังไม่เป็นที่นิยม แต่เมื่อมีคนสนใจมากขึ้นทำให้กลายเป็นกิจกรรมร่วมกัน จนนำไปสู่การตั้งกลุ่มสไบมอญบางลำภู

วัดบางลำภู

ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นวัดที่ชาวมอญเมื่อครั้งอพยพหนีภัยสงครามมาจากทางตอนใต้ของประเทศพม่าในปัจจุบัน และได้นำเอาหลวงพ่อขนมต้มมาด้วย เมื่อตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บางลำภู จึงได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างวัดบางลำภูขึ้น ชาวบ้านมีความศรัทธาจากที่ตนได้บนบานสานกล่าวกับหลวงพ่อขนมต้มไว้ และประสบความสำเร็จดั่งที่ขอ ซึ่งก็เป็นที่กล่าวขานกันมากมายจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้น ขนาดหน้าตักกว้าง 9 ศอก 9 นิ้ว สูง 13 ศอก 9 นิ้วขึ้น สร้างมาจากทองเหลืองหนัก 10 ตัน เศียรหล่อด้วยทองคำแท้หนัก 300 บาท และพระหัตถ์หล่อด้วยทองคำแท้หนัก 90 บาท โดยประดิษฐ์อยู่ที่วัดบางลำภู ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ในปัจจุบัน

สะพานมอญวัดบางลำภู

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านบางลำภูและพระสงฆ์วัดบางลำภู สร้างขึ้นเพื่อเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเพชรบุรีให้ชาวบ้านและประชาชนได้สัญจรไปมาสะดวก ได้ปิดการใช้งานลงเมื่อปี 2552 เพราะได้สร้างสะพานใหม่ขึ้นมา ลักษณะของสะพานจะมีอักษรภาษามอญเขียนไว้ที่ป้ายสะพาน คู่ควรแก่การอนุรักษ์ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ดูสืบต่อไป

หลวงพ่อขนมต้ม

หลวงพ่อขนมต้ม เป็นชื่อเรียกตามพุทธลักษณะของพระพุทธสิหิงค์แห่งเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีชื่อเสียงในความงดงามเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ประดิษฐานอยู่คู่กับชุมชนชาวมอญบ้านบางลำภูมาตั้งแต่เมื่อครั้งอพยพหนีภัยสงครามมา ระหว่างการเดินทางเมื่อมืดค่ำที่ใดก็พักค้างแรมที่นั่น และจะนำหลวงพ่อขนมต้มขึ้นประดิษฐานในที่พัก สวดมนต์กราบไหว้ตลอดการเดินทางมาจนถึงเมืองเพชรบุรี และได้ตั้งชุมชนที่บริเวณบ้านนามอญใกล้เมืองเพชรบุรี ต่อมาย้ายถิ่นฐานมาอยู่บริเวณบ้านทุ่งใหญ่ติดแม่น้ำเพชรบุรี ใกล้ตัวอำเภอบ้านแหลม เนื่องจากน้ำเค็มรุกขึ้นสูงจนทำมาหากินเพาะปลูกไม่ได้ จึงย้ายมาอยู่บริเวณวัดบางลำภูในปัจจุบันที่อยู่ด้านเหนือบ้านทุ่งใหญ่เล็กน้อย

หลวงพ่อขนมต้ม มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 16 นิ้ว สำหรับชาวมอญบ้านบางลำภูเรียกว่า “อะละกาวซอ” เป็นนามในภาษามอญ มีความหมายว่า เจ้าของบุญกุศลที่จะประสิทธิประสาทพรให้แก่เรา (อะละ แปลว่า เจ้าของ, กาวซอ แปลว่า บุญกุศล) จากนามภาษามอญดังที่กล่าวมานี้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น จึงได้ถวายนามหลวงพ่อขนมต้มอีกนามหนึ่งว่า “หลวงพ่อบุญฤทธิ์” โดยในช่วงสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13 – 17 เดือนเมษายนของทุกปี ทางวัดบางลำภูจะทำการอัญเชิญหลวงพ่อขนมต้มมาให้พุทธศาสนิกชนได้ทำการปิดทองตลอดช่วงสงกรานต์ สำหรับวันสุดท้ายคือวันที่ 17 เมษายน จะมีการสรงน้ำหลวงพ่อแล้ว อัญเชิญกลับสู่ศาลาบนวัด

สำหรับเหรียญปั๊มรุ่นแรกหลวงพ่อขนมต้ม จัดสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยท่านพระครูโสภิตวัชรกิจ (สงวน) เจ้าอาวาสวัดบางลำภู ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2513 สร้างแจกในงานสร้างอุโบสถ มีหลวงพ่อแดงวัดเขาบันไดอิฐร่วมปลุกเสก สร้างเป็น เนื้อฝาบาตรกะไหล่ทอง เนื้อฝาบาตรกะไหล่เงิน เนื้อฝาบาตรรมดำ ที่พบเจอะจะเป็นเนื้อฝาบาตรทั้งหมด

คลังข้อมูลชุมชน. วัดบางลำภู-กลุ่มปักผ้าสไบมอญ วัดบางลำภู จ.เพชรบุรี. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 2 กุมพาพันธ์ 2567 จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/WatBangLamphu

พระเพชรบุรี. (2562). วัดบางลำภู. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 2 กุมพาพันธ์ จาก  2567 จาก https://praphet.net/วัดบางลำภู

รามัญคดี-MON Studies. (2563). มอญบางลำภูมาจากไหน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 2 กุมพาพันธ์ 2567 จาก https://www.facebook.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลบางครก. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). องค์การบริหารส่วนตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี.