Advance search

ชุมชนท่องเที่ยวน้องใหม่ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางป่าเขาในอำเภอปากช่อง ที่มีการจัดการการท่องเที่ยวโดยให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยรูปแบบ “Local Low Carbon” ชุมชนต้นแบบในการนำเครื่องมือวัดผลกระทบจาก Carbon Footprint มาใช้ครั้งแรกกับกิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชน

บ้านท่ามะปรางค์
หมูสี
ปากช่อง
นครราชสีมา
วิไลวรรณ เดชดอนบม
10 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
4 ก.พ. 2024
บ้านท่ามะปรางค์


ชุมชนท่องเที่ยวน้องใหม่ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางป่าเขาในอำเภอปากช่อง ที่มีการจัดการการท่องเที่ยวโดยให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยรูปแบบ “Local Low Carbon” ชุมชนต้นแบบในการนำเครื่องมือวัดผลกระทบจาก Carbon Footprint มาใช้ครั้งแรกกับกิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชน

บ้านท่ามะปรางค์
หมูสี
ปากช่อง
นครราชสีมา
30130
14.51644
101.3803151
เทศบาลตำบลหมูสี

บ้านท่ามะปรางค์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2426 บริเวณที่ตั้งชุมชนเป็นที่ราบแห่งแรกที่อยู่ต่อกับเทือกเขาดงพญาไฟ บริเวณช่วงเขาฟ้าผ่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งสภาพป่าไม้ น้ำ ดิน และสัตว์ป่ามากมายบริเวณลำตะคอง โดยเฉพาะป่าไม้ของชุมชนที่เป็นป่าผืนเดียวกันกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นเหตุจูงใจให้มีผู้คนเข้ามาล่าสัตว์และหาของป่าและพักพิงอยู่บริเวณลำตะคอง โดยเริ่มแรกมีคนเข้ามาสร้างที่พักพิงอย่างถาวรประมาณ 6-7 ครอบครัว

พ.ศ. 2430 ทางราชการประกาศพื้นที่ใกล้เคียงชุมชนท่ามะปรางค์ในปัจจุบันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นถูกขับไล่อพยพลงมาอาศัยกระจัดกระจายในพื้นที่ตำบลหมูสี และบางส่วนก็มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชุมชนท่ามะปรางค์ในปัจจุบัน ในช่วงนี้จึงนับเป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่จากบนเขามาสู่พื้นราบ โดยเฉพาะหลังจากที่มีการสร้างทางรถไฟและตัดถนนผ่านอำเภอปากช่องสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้คนได้อพยพลงมาจากเขาใหญ่เพื่อจับจองพื้นที่ทำการเกษตรและที่อยู่อาศัย ชุมชนบริเวณโดยรอบเกิดการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เกิดเป็นชุมชนก่อตั้งใหม่ขึ้นหลายชุมชน และหนึ่งในนั้นคือชุมชนท่ามะปรางค์ด้วย

มีการเล่าสืบต่อกันมาถึงเรื่องราวบรรพบุรุษของชาวบ้านท่ามะปรางค์ว่า เดิมทีเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากหลายท้องที่อาศัยปะปนกันทั้งชาวไทยอีสานจากอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา อำเภอเรณู จังหวัดสกลนคร ชาวลาวจากแขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งแรกเริ่มอพยพมาทำมาหากินบนเขาใหญ่ก่อนที่จะถูกอพยพลงมาสู่พื้นราบ แล้วจึงมีชาวไทยภาคกลางจากจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดอื่น ๆ มาอาศัยอยู่เพิ่มเติมในเวลาต่อมา

อาณาเขต

ชุมชนบ้านท่ามะปรางค์ ตําบลหมูสี อําเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อยู่ห่างจากตัวอําเภอปากช่องไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครราชสีมาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านกุดคล้าและบ้านหมูสี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านวังโตงโต้นและเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ลักษณะทางกายภาพ

บ้านท่ามะปรางค์มีอาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นชุมชนแรกที่ได้รับน้ำจากแม่น้ำลำตะคอง ดังนั้นดินส่วนใหญ่ของหมู่บ้านนี้จึงเป็นดินที่เกิดจากตะกอนลําน้ำพัดพามาทับถมกัน เนื้อดินเป็นดินร่วน บางแห่งมีชั้นดินที่มีเนื้อดินค่อนข้างเป็นทรายหรือมีชั้นกรวด โดยทั่วไปจะมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีความเป็นกรดเป็นด่างของดินประมาณ 6.0-7.0 ดินดังกล่าวจะประกอบด้วย ดินชุดร้อยเอ็ด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรใช้ในการทํานา และดินชุดโคราช เป็นพื้นที่ดอนใช้ในการทําไร่และไม้ผล

นอกจากพื้นที่ที่กล่าวมาแล้ว พื้นที่บางส่วนของบ้านท่ามะปรางค์ยังเป็นพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชัน ดินที่พบในบริเวณดังกล่าวจะมีหน้าดินลึกและตื้นปะปนกัน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าไม้หลายประเภท เช่น ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง

สำหรับแหล่งน้ำในชุมชนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่

1. แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ประกอบด้วยลําตะคองหรือแม่น้ำลําตะคอง มีต้นกําเนิดจากน้ำตกเหวสุวัติในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไหลผ่ากลางหมู่บ้านท่ามะปรางค์จากทางทิศใต้ไปยังทิศเหนือ บ่อบาดาลสาธารณะ 2 บ่อ และสระสาธารณะ 1 สระ

2. น้ำเพื่อการเกษตร ใช้น้ำฝนเป็นหลักในการปลูกพืชไร่และพืชสวน ส่วนการทํานาอาศัยทั้งน้ำฝนและน้ำจากชลประทาน แต่อาศัยน้ำชลประทานเป็นหลักโดยมีฝายเก่าแก่ที่สร้างปิดลําตะคองบริเวณทิศใต้ของหมู่บ้านซึ่งติดกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เดิมทีเป็นฝายไม้และหินเรียงกันเพื่อทดน้ำเข้าพื้นที่นา มีคลองดินใช้ส่งน้ำ/ทดน้ำ จนกระทั่งใน พ.ศ.2522 ได้งบประมาณสนับสนุนจัดซื้ออุปกรณ์จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดและช่างโยธาธิการจากเทศบาลตําบลปากช่องมาจัดสร้างเป็นฝายคอนกรีต โดยชาวบ้านร่วมแรงงานในการก่อสร้าง ส่งน้ำด้วยการทดน้ำเข้าลําเหมืองดินจากทางทิศใต้ของหมู่บ้านผ่านพื้นที่นาแล้วไหลลงสู่ลําตะคองทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน โดยตัวลําเหมืองมีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร

ข้อมูลประชากรตำบลหมูสีจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านท่ามะปรางค์ มีประชากรทั้งสิ้น 972 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 481 คน ประชากรหญิง 491 คน และจำนวนครัวเรือน 550 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

เดิมทีบ้านท่ามะปรางค์ประสบความยากลำบากในการติดต่อกับชุมชนภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวอำเภอปากช่องที่ต้องใช้ระยะเวลาเดินทางมากกว่าครึ่งวัน การประกอบอาชีพที่พบในชุมชนช่วงนั้นส่วนใหญ่จึงมีเฉพาะการทำเกษตรกรรมโดยปลูกข้าวและพืชผักสำหรับบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก รวมถึงการล่าสัตว์เป็นอาหารและนำเนื้อสัตว์มาแปรรูปสำหรับแลกเปลี่ยนอาหารกับต่างชุมชน ต่อมาเมื่อมีการตัดถนนผ่านชุมชน การเกษตรเพื่อการดำรงชีพได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการผลิตเพื่อค้าขายเป็นหลัก พืชที่ปลูกมีหลายชนิดมากขึ้น ทั้งข้าวโพด น้อยหน่า มังคุด ลองกอง ทุเรียน กล้วย มะยงชิด ซึ่งกลายเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของชาวท่ามะปรางค์ และได้นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประจำชุมชนมากมาย เช่น กล้วยฉาบ น้ำข้าวโพดเพื่อสุขภาพ ฯลฯ แต่ทั้งนี้ก็ยังคงมีการปลูกข้าวเพื่อบริโภคเช่นเดิม

เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของชุมชนบ้านท่ามะปรางค์อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อากาศบริสุทธิ์ เหมาะแก่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงเป็นเหตุให้มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ชุมชนบ้านท่ามะปรางค์เริ่มมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันเป็นจำนวนมาก การประกอบอาชีพของชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนจากการเกษตรมาเป็นลูกจ้างในโรงแรม สนามกอล์ฟ หรือบ้านพักต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาในตัวอำเภอปากช่อง ทว่า ในเวลาต่อมา ชาวบ้านชุมชนท่ามะปรางค์ได้เกิดแนวความคิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยต้องการใช้ความอุดมสมบูรณ์และงดงามของทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดเป็นรายได้แก่ชุมชน เพื่อให้สมาชิกในชุมชนไม่ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น ให้แรงงานและรายได้ยังคงหมุนเวียนอยู่ในชุมชน แต่ในขณะเดียวกันต้องอยู่ภายใต้แนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมด้วย จึงเกิดการพัฒนาชุมชนชนบ้านท่ามะปรางค์เป็นชุมชนท่องเที่ยว โดยที่มุ่งหวังอยากให้การท่องเที่ยวช่วยพัฒนาชุมชนและเป็นการท่องเที่ยวที่รักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ Local Low Carbon” หรือการท่องเที่ยวชุมชนที่นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม ได้ช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก โดยใช้เครื่องมือวัดผลการลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้การดำเนินการของวิสาหกิจชุมชนบ้านท่ามะปรางค์-คลองเพล แบบ One Day Trip โดยมีจักรยานเป็นพาหนะในการท่องเที่ยว เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ และลดก๊าซเรือนกระจก โดยระหว่างเส้นทางการปั่นจักรยานท่องเที่ยวตามเส้นทางธรรมชาติรอบบ้านท่ามะปรางค์และบ้านคลองเพล นักท่องเที่ยวสามารถแวะชิมผลไม้จากสวนของชุมชน แวะชมสวนเกษตรพอเพียง สาธิตการทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน กิจกรรมทำมือจากสวนครัวหลังบ้าน นำกลับไปเป็นของที่ระลึก ฯลฯ โดยความพิเศษของการท่องเที่ยวชุมชนบ้านท่ามะปรางค์ คือ ภายหลังจบ One Day Trip ชุมชนจะสรุปผลการลดปริมาณการปล่อย Carbon Footprint เทียบจากการทำกิจกรรมรูปแบบเดิม โดยระบุผลตัวเลขเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ ถือเป็นการท่องเที่ยวที่นอกจากจะสร้างทั้งรายได้ สร้างแรงงาน สร้างทรัพยากรให้เกิดขึ้นใหม่ ยังเป็นการท่องเที่ยวที่สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวและทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย

ชาวบ้านในชุมชนบ้านท่ามะปรางค์นับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก มีวัดเป็นศาสนสถานประจำชุมชน คือ วัดบ้านท่ามะปรางค์ เป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมทางพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันลอยกระทง ซึ่งบ้านท่ามะปรางค์เป็นชุมชนที่ให้ความสำคัญกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ทุกครั้งเมื่อวันสำคัญเวียนมาถึง ชาวบ้านจะพร้อมใจในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชุมชนจัดขึ้น เช่น ในวันลอยกระทรง บ้านท่ามะปรางค์โดยวิสาหกิจชุมชนบ้านท่ามะปรางค์-คลองเพล ได้จัดงานวันลอยกระทงขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เพื่ออนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมและประเพณีไทย โดยการจัดจำลองสถานที่ แต่งกายแบบย้อนยุค อีกทั้งภายในงานมีการนำสินค้าประจำชุมชนมาวางจำหน่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนบ้านท่ามะปรางค์-คลองเพล

บ้านท่ามะปรางค์และบ้านคลองเพล ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของบ้านท่ามะปรางค์ก่อนแยกตัวออกไปเมื่อ พ.ศ. 2542 เนื่องจากบ้านท่ามะปรางค์มีจำนวนประชากรหนาแน่นมากเกินไปจนยากต่อการบริหารจัดการและการพัฒนาอย่างทั่วถึง มีการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจร่วมกัน โดยการดำเนินการของคณะกรรมการและสมาชิกของทั้งสองชุมชน เพื่อสนับสนุนพัฒนาการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ และอัตลักษณ์ชุมชนร่วมกัน เนื่องจากทั้งสองชุมชนมีเจตนารมณ์เดียวกัน คือ การพัฒนาการท่องเที่ยวภายใต้เงื่อนไขการอนุรักษ์ อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ คือ สายน้ำลำตะคอง ที่ไหลผ่านระหว่างสองหมู่บ้าน เป็นแหล่งโอโซนต้นน้ำที่สะอาดและบริสุทธิ์ มีผืนป่าเขียวขจีล้อมรอบ ประกอบกับในปัจจุบันธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน เช่น ร้านอาหาร หรืองานเกี่ยวกับที่พัก แต่ทั้งนี้ก็ยังคงมีแหล่งเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลง ชาวบ้านในชุมชนยังคงมีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ ต้นไม้ และสัตว์ป่า และด้วยเจตนารมณ์เดียวกันของทั้งสองชุมชนที่ต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเชิดชูอัตลักษณ์ ผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติไว้ จึงเกิดความร่วมมือกันในการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านท่ามะปรางค์-คลองเพลขึ้น

จากต้นทุนจากชีวภาพของชุมชนที่เป็นทั้งแหล่งโอโซน มีผืนป่า เเละต้นน้ำที่บริสุทธิ์ ทั้งยังมีวิถีชุมชนที่อยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน จึงต่อยอดด้วยการพัฒนาทักษะฝีมือของคนในชุมชนควบคู่กับเริ่มต้นทำการท่องเที่ยวตามเเนวคิด โลคอล โลว์ คาร์บอน (Local Low Carbon) (การท่องเที่ยวชุมชนที่นักท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก โดยใช้เครื่องมือวัดผลการลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) เพื่อให้ประชาชนในชุมชนรวมถึงทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการรักษาความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ร่วมกับใช้เทคโนโลยีวัดผลการลด Carbon Footprint จากกิจกรรมท่องเที่ยวโดยออกเเบบกิจกรรมให้ได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติโดยการปั่นจักรยานเลียบภูเขา ลอดอุโมงค์ต้นไม้ เล่นน้ำใสในลำธาร เเวะสวนของชาวบ้านเพื่อชิมผลไม้สดอร่อยตามฤดูกาล เช่น มังคุด ทุเรียน ลองกอง มะยงชิด พร้อมสักการะหลวงพ่อพระใหญ่อายุกว่าร้อยปี รับประทานอาหารท้องถิ่นที่ใช้วัตถุดิบปลอดสารพิษ มีเวิร์กช็อปทำของที่ระลึกจากวัสดุในสวนหลังบ้าน เเละจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถ่านอัดเเท่งสมุนไพร ซึ่งเป็นการประยุกต์นำสิ่งใกล้ตัวมาเพิ่มมูลค่า โดยมี BCG Model และ Happy Model เป็นต้นแบบในการพัฒนา 

BCG Model

  • B คือ ต้นทุนจากชีวภาพและวิถีชีวิตชุมชนพัฒนาสู่การท่องเที่ยวตามแนวคิด Local Low Carbon และมีการใช้เทคโนโลยีวัดผลการลด Carbon Footprint จากกิจกรรมท่องเที่ยว
  • C คือ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งสมุนไพร เป็นการประยุกต์ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์และเพิ่มมูลค่า
  • G คือ การท่องเที่ยวแบบ Local Low Carbon ที่มีวัตถุประสงค์ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ

Happy Model (ELFG)

  • E คือ อาหารท้องถิ่นจากวัตถุดิบปลอดสารพิษในสวนหลังบ้าน และผลไม้จากสวนเกษตรอินทรีย์
  • L คือ บรรยากาศแบบธรรมชาติ มีโอโซน ผืนป่า และแหล่งน้ำ
  • F คือ การปั่นจักรยานตามเส้นทางการท่องเที่ยว
  • G คือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติและกิจกรรมเรียนรู้วิถีชุมชนที่อยู่กับธรรมชาติ

กิจกรรมการท่องเที่ยวโดยวิสาหกิจชุมชนบ้านท่ามะปรางค์-คลองเพล

  • ปั่นจักรยานเส้นทางเลียบภูเขาลอดอุโมงค์ต้นไม้
  • ชิมผลไม้สดจากสวนตามฤดูกาล
  • นมัสการหลวงพ่อใหญ่ อายุกว่า 100 ปี
  • ทำของที่ระลึกด้วยตนเองจากสวนครัวหลังบ้าน
  • รับประทานอาหารพื้นถิ่นแสนอร่อยฝีมือชาวบ้านในชุมชน
  • เที่ยวสวนเกษตรผสมผสานและสวนเกษตรพอเพียง
  • ทำบุญตักบาตร ชมวิถีชีวิตชุมชนยามเช้า
  • สนุกสนานกับการช้อนกุ้ง บริเวณน้ำลำตะคอง
  • เล่นน้ำผ่อนคลายในลำธารใสสะอาดเย็นสบาย
  • เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยกิจกรรม “ปลูกป่า” ที่ศูนย์การเรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ททท.
  • “กิจกรรมลูกไม้ใกล้บ้าน” เป็นกิจกรรมการพับกุหลาบจากใบเตยกับลูกมะกรูด ที่ปลูกอยู่ทั่วไปในสวนหลังบ้าน และทำลูกหอมดับกลิ่นจากผลมะกรูดด้วยตัวเอง เพื่อนำกลับไปเป็นของที่ระลึก
  • เรียนรู้เรื่อง ช้าง สัตว์ตัวใหญ่ประจำถิ่น ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเขาใหญ่

ภาษาพูด : ภาษาอีสาน (สำเนียงโคราช) ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จากความสามารถในการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนตามรูปแบบ Local Low Carbon ควบคู่กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2535 หมู่บ้านท่ามะปรางค์ได้ถูกจัดตั้งเป็นหมู่บ้านนําร่อง ของกระทรวงมหาดไทย ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชน ภายใต้การนําของผู้ใหญ่สนั่น เปาชนะ  คณะกรรมการหมู่บ้านจึงได้จัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การรักษาความสะอาดภายในหมู่บ้าน การเผาและฝังขยะของแต่ละครัวเรือน ห้ามทิ้งขยะลงในลําตะคอง การดูแลรักษาป่า ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะดําเนินการในวันที่ 6 ของทุกเดือน เพื่อให้ทุกครัวเรือนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนอกจากบ้านท่ามะปรางค์จะเป็นหมู่บ้านนําร่องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ชุมชนท่ามะปรางค์ยังประกอบด้วยกลุ่มและองค์กรเพื่อดําเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กลุ่มแม่บ้าน กิจกรรมที่ผ่านมาได้แก่ การทําแชมพูมะกรูดขาย กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2536 ชุมชนท่ามะปรางค์ถูกส่งเข้าประกวดหมู่บ้านโครงการโคราชพัฒนา และได้รับโล่รางวัลชมเชยในการประกวดหมู่บ้านโครงการโคราชพัฒนาในครั้งนี้ด้วย 

กระทรวงวัฒนธรรม, กรมการศาสนา. (2552). พิธีกรรมและประเพณี. โรงพิมพ์ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

การท่องเที่ยวเชิงไฉไล - [CHAILAIBACKPACKER]. (2563). “ดีท็อกซ์ปอด กอดเขาใหญ่” เที่ยวชุมชนแบบ Local Low Carbon ชุมชนบ้านท่ามะปรางค์ และ บ้านคลองเพล. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2567, จาก https://www.facebook.com/chailaibackpacker/

ท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านท่ามะปรางค์-คลองเพล. (2564). สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2567, จาก https://web.facebook.com/

รีวิวท่องเที่ยวไทย, ไฉไลเที่ยวภาคอีสาน. (2562). “ดีท็อกปอด กอดเขาใหญ่” ณ ชุมชนบ้านท่ามะปรางค์ บ้านคลองเพล จ.นครราชสีมา. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2567, จาก https://chailaibackpacker.com/khaoyai-locallowcarbon/

วิเชียร เกิดสุข. (2539). บทบาทสตรีอีสานในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกรณีศึกษาชุมชนบ้านท่ามะปรางค์ ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

Tourismproduct. (2566). 6 ชุมชนท่องเที่ยวสร้างสรรค์ สัมผัสวัฒนธรรมชุมชน. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2567, จาก https://tourismproduct.tourismthailand.org/