บ้านขี้เหล็กใหญ่ เกาะซึ่งถูกห้อมล้อมด้วยสายน้ำซึ่งรุ่มรวยไปด้วยอัตลักษณ์คนชาติพันธุ์ไทโส้ วิถีชีวิตเรียบง่าย งดงามถ่ายทอดผ่านพิพิธภัณฑ์มีชีวิต อุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติสมกับประโยคที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าในอดีตมีช่างตีเหล็กชื่อดังจากบ้านหนองแสง นามว่า "เฒ่าคําดํา" เข้ามาประกอบอาชีพตีเหล็กในหมู่บ้าน ทําให้มีกองขี้เหล็กกองใหญ่จํานวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อ “ขี้เหล็กใหญ่”
บ้านขี้เหล็กใหญ่ เกาะซึ่งถูกห้อมล้อมด้วยสายน้ำซึ่งรุ่มรวยไปด้วยอัตลักษณ์คนชาติพันธุ์ไทโส้ วิถีชีวิตเรียบง่าย งดงามถ่ายทอดผ่านพิพิธภัณฑ์มีชีวิต อุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติสมกับประโยคที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน กล่าวถึงประวัติความเป็นมาและประวัติการก่อตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ว่าอพยพมาจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน โดยส่วนหนึ่งย้ายมาจากบ้านโคกหัวหาด จังหวัดนครพนม ส่วนหนึ่งย้ายมาจากส่วนหนึ่งย้ายมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงหรือประเทศลาว (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) โดยพ่อพิม โคตรทัน เป็นผู้เริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน เมื่อ พ.ศ. 2432 โดยชื่อหมู่บ้านนั้นมีที่มาจากช่างตีเหล็กชื่อดังจากบ้านหนองแสง นามว่า "เฒ่าคําดํา" เข้ามาประกอบอาชีพตีเหล็กในหมู่บ้าน ทําให้มีกองขี้เหล็กกองใหญ่จํานวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อ “ขี้เหล็กใหญ่” มีนายทอง ชัยโยง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่
บ้านขี้เหล็กใหญ่ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ที่มีอาณาเขตเพียง 20 ไร่ แวดล้อมด้วยทุ่งนา ลักษณะภูมิประเทศมีลักษณะเป็นพื้นที่คลื่นลอนลาด พื้นที่ชุมชนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตร ปลูกพืชไร่ พืชสวน และทำนา อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอโซ่พิสัยประมาณ 7.7 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทุ่งนากว้าง ไม่มีถนนติดต่อ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทุ่งนากว้าง ไม่มีถนนติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่บ้านหนองพันทา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่บ้านป่าไร่และหมู่บ้านโนนม่วง
ด้านสภาพภูมิอากาศ โดยทั่วไปมีสภาพจัดอยู่ในจําพวกฝนแถบร้อนและแห้งแล้ง (ธันวาคม-มกราคม) ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะเริ่มลดในเดือนพฤศจิกายน และต่ำสุดในเดือนช่วงธันวาคมถึงเดือนมกราคม ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมเป็นฤดูเปลี่ยนมรสุม อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนมีนาคมและร้อนจัดในเดือนเมษายน ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (มิถุนายน-กรกฎาคม) อุณหภูมิโดยทั่วไปจะลดลงในเดือนตุลาคมเป็นฤดูเปลี่ยนมรสุมใต้อุณหภูมิจะเริ่มลดลงจนอากาศหนาวเย็น
ข้อมูลประชากรตำบลหนองพันทาจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 7 บ้านขี้เหล็กใหญ่ มีประชากรทั้งสิ้น 223 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 114 คน ประชากรหญิง 109 คน และจำนวนครัวเรือน 65 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
โส้อาชีพและการทํามาหากินของชาวบ้านขี้เหล็กใหญ่ยังคงเป็นการทำเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพที่มีมาตั้งแต่อดีต และยังเป็นการทำเกษตรกรรมแบบโบราณที่ต้องอาศัยเพียงแต่น้ำฝน เป็นลักษณะการเพาะปลูกแบบยังชีพ และประกอบอาชีพเสริมในช่วงว่างเว้นจากฤดูทํานา เช่น ทอผ้า เลี้ยงสัตว์ ทําหัตถกรรม เครื่องจักสาน และเก็บของป่า
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรายได้ของชาวบ้านขี้เหล็กหาได้ขึ้นอยู่กับการทำเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว เนื่องจากภายหลังการหวนคืนบ้านเกิดของสุทธิพงษ์ สุริยะ หรือคุณขาบ ฟู้ดสไตล์ลิสต์ชาวบ้านขี้เหล็กใหญ่ ที่ได้หวนกลับมาฟื้นคืนชีวีบ้านเกิดเรือนนอนบ้านขี้เหล็กใหญ่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ส่งผลให้ได้รับความสนใจจากคนต่างถิ่นไปเยือนอยู่มิขาด ด้วยเพราะความโดดเด่นของงานศิลปะภาพวาดแนวสตรีตอาร์ต (Street Art) ภาพพญานาคตามบานประตู ผนังบ้านของแต่ละหลัง ซึ่งชูเอกลักษณ์ของบ้านเรือนหลังนั้น ๆ กล่าวคือ กราฟฟิตี้บนผนังบ้านเรือนแต่ละหลังได้อธิบายถึงวิถีชีวิตของบ้านหลังนั้น ๆ ทำให้งานชิ้นนั้นเป็นชิ้นเดียวในโลก เช่น บ้านนี้สานกระติบขาย ก็จะเป็นรูปพญานาคสานกระติบ บ้านนี้ขายลอดช่อง ก็จะเป็นภาพพญานาคทำลอดช่อง เพื่อเปลี่ยนอาชีพที่แต่ละบ้านทำสู่งานศิลปะบนผืนผนังชิ้นมาสเตอร์พีซ (Masterpiece) หนึ่งเดียวในโลกที่สร้างตัวตนให้ชาวบ้าน โดยมีกลุ่มเยาวชนในชุมชนเป็นไกด์นำเที่ยว
นอกจากศิลปะภาพวาดแนวสตรีตอาร์ต (Street Art) ภาพพญานาคตามบานประตู ผนังบ้านของแต่ละหลังซึ่งสร้างความสนใจแก่เหล่านักท่องเที่ยวอย่างมากแล้ว บ้านขี้เหล็กใหญ่ยังมีผลิตภัณฑ์สินค้าจากภูมิปัญญาที่ประดิษฐ์สร้างจากทรัพยากรในท้องถิ่นตามหลักการ “Local สู่ เลอค่า” เช่น งานหัตถกรรมคล้าจักสาน ที่ได้นำเอาพืชเศรษฐกิจของหมู่บ้านอย่าง “ต้นคล้า” ที่เมื่อแม้โดนฝนก็ไม่ขึ้นเชื้อรา โดนแดดก็ไม่ไหม้กรอบมาเปลี่ยนแปลงสู่หัตถกรรมดีไซน์ดีภายใต้ชื่อ “รักษ์คล้า” แบรนด์กระเป๋าและเครื่องประดับคล้าสานที่ครบเครื่องทั้งความสวยงามและการใช้งานทนทาน ซึ่งภาพการพัฒนาของบ้านขี้เหล็กใหญ่ในวันนี้มีความเข้มแข็งกว่าเดิมจนสร้างรายได้ให้ชุมชนมากถึง 200,000 บาทต่อเดือน หรือหลักล้านต่อปี
นอกจากนี้ บ้านขี้เหล็กใหญ่ยังได้เปิดตลาดชุมชนพอเพียง บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์มีชีวิตทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เปิดโอกาสให้ชาวบ้านทั่วทั้งจังหวัดบึงกาฬกว่า 10 ร้านค้า นำสินค้าชุมชนมาขายให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ อาทิ แจ่วบอง ปลาร้าบอง จากกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านโนน ผลิตภัณฑ์บ้านย้อมคราม จากกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดงสาร ผลิตภัณฑ์กระเป๋าและของที่ระลึกงานคราฟผ้า จากกลุ่มไก่ต๊อก ไอเดีย คราฟ งานหัตถกรรมคล้าจักสาน “รักษ์คล้า” ฯลฯ จึงนับว่าตลาดนัดชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่สามารถนำเสนอสินค้าจากภูมิปัญญาของแต่ละชุมชนได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
อนึ่ง บ้านท่าขี้เหล็กยังมีแนวความคิดว่าในภายหน้าจะมีพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชิญชวนคนมาเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นเกษตรนวัตกรรมและเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตการเกษตรของชุมชน รวมถึงฟื้นฟูพืชพรรณที่หายไปให้กลับคืนมา นอกจากนี้ บ้านขี้เหล็กใหญ่ยังมีแนวคิดที่จะทำหอศิลป์อีสาน เชื้อเชิญศิลปินไทยและลาวมาใช้พื้นที่ทั้งการวาดภาพ ปั้น และศิลปะการแสดงอย่างร่วมสมัย ทำให้ทั้งคนในและคนนอกชุมชนเห็นถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม
ชาวบ้านขี้เหล็กใหญ่มีวัฒนธรรมอันดีงามของชาวอีสานที่สืบต่อกันมาเรียกว่า ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ฮีตยี่คองเกียง ฮีตคองบ้านเมือง ฮีตพ่อคองแม่ ฮีตเฒ่าคองเขย อันเป็นภูมิปัญญาและเบ้าหลอมวิถีชีวิตชาวอีสานให้คงไว้ซึ่งขนบ ธรรมเนียม จารีต และแนวทางการปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ฮีต มาจากคําว่า จารีต เป็นประเพณีการทําบุญประจําทุกเดือนในรอบปี โดยในพิธีกรรมต่าง ๆ เหล่านั้น จะมีการทําบุญเลี้ยงพระรวมอยู่ด้วยเสมอ ดังนี้
- เดือนอ้าย (เดือนธันวาคม หรือเดือนเจียง) เป็นงานบุญเข้ากรรมพิธีทําบุญให้ภิกษุที่ต้องอาบัติ สังฆาทิเสส พระสงฆ์จะต้องอยู่เข้ากรรม ปฏิบัติธรรมปริวาสกรรม และจะจัดทําบุญครั้งใหญ่เมื่อภิกษุสงฆ์ได้ออกจากกรรมแล้ว
- เดือนยี่ บุญคูณลาน เป็นการทำบุญขวัญข้าวที่นวดเสร็จและกองไว้แล้วในลานข้าว กำหนดทำในเดือนยี่จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้
- เดือนสาม บุญข้าวจี่ นิยมทำในราวกลางหรือปลายเดือนสาม ในช่วงเทศกาลวันมาฆบูชา ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ตอนค่ำมีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ ชาวบ้านจัดเตรียมข้าวจี่แล้วนำไปถวายพระภิกษุสามเณรที่วัด เมื่อพระฉันเสร็จแล้วมีการฟังเทศน์ฉลองข้าวจี่และรับพร
- เดือนสี่ บุญผะเหวด เป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของชาวอีสาน นิยมทำกันทุกหมู่บ้าน ด้วยความเชื่อว่าหากได้ฟังเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์จบภายในวันเดียว อานิสงส์จะดลบันดาลให้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งเป็นยุคแห่งความสุข ความสมบูรณ์ตามพุทธคติที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล
- เดือนห้า บุญสงกรานต์ เป็นการทำบุญวันขึ้นปีใหม่ของไทยแต่โบราณ นิยมทำในเดือนห้า เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ถึงวันที่ 15 เมษายน การทำบุญสงกรานต์จะมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ นอกจากนี้ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรก่อพระเจดีย์ทรายและมีการละเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานนานตลอดทั้ง 3 วัน
- เดือนหก บุญบั้งไฟ ตามธรรมเนียมประเพณีของอีสาน เมื่อถึงเดือนหกจะมีพิธีหรือมีบุญประเพณีเพื่อเป็นสิริมงคลคือบุญบั้งไฟ บางแห่งเรียกบุญวิสาขบูชา บ้างก็เรียกบุญขอฝน โดยจัดกันก่อนฤดูทำนา ด้วยความเชื่อว่าเป็นการขอฝนเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าในนาข้าวอุดมสมบูรณ์
- บุญเดือนเจ็ด หรือ บุญซำฮะ บ้างก็เรียก บุญเบิกบ้าน บุญกลางบ้าน บุญคุ้ม เป็นงานบุญที่ชาวอีสานจะจัดงานประเพณีขึ้น มีจุดประสงค์เพื่อ ปัดรังควานและขับไล่เสนียดจัญไร ตลอดถึงเหล่าภูตผีปีศาจหรือสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากหมู่บ้าน นอกจากเป็นการทำบุญเพื่อชำระล้างสิ่งที่ไม่ดี แล้วยังมีการทำพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลอีกด้วย
- เดือนแปด บุญเข้าวัดสา ส่วนใหญ่แล้วจะมีการถวายเทียนเข้าพรรษา เพื่อให้ภิกษุสามเณรได้จุดบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณตลอดพรรษา และอีกอย่างหนึ่งคือการถวายผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระภิกษุได้ใช้นุ่งอาบน้ำในหน้าฝน ตลอดทั้งการใช้ประโยชน์อย่างอื่นตามความเหมาะสม
- เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีหนึ่งในฮีตสิบสอง นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า หรือที่เรียกว่า บุญเดือนเก้า เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ เปรต (ชาวอีสานบางถิ่นเรียก เผต) และปู่ ย่า ตา ยายหรือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว
- เดือนสิบ บุญข้าวสาก เป็นประเพณีในวันขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านจะจัดเตรียมสํารับอาหาร ซึ่งบรรจุข้าวเหนียว อาหารแห้ง เช่น ปลาย่าง เนื้อย่าง แจ่วบองหรือ น้ำพริกปลาร้า และห่อข้าวเล็ก ๆ อีกห่อหนึ่งสําหรับอุทิศให้ญาติผู้ล่วงลับและนําไปทําบุญที่วัด โดยจะเขียนชื่อเจ้าของสํารับอาหารและเครื่องไทยทานใส่ไว้ในบาตร เพื่อให้พระในวัดจับสลาก หากภิกษุรูปใดจับสลากได้ชื่อผู้ใด ก็จะได้สํารับอาหารพร้อมเครื่องไทยทานของเจ้าภาพนั้น ๆ
- เดือนสิบเอ็ด บุญออกวัดสา ในเดือนสิบเอ็ดนอกจากจะเป็นโอกาสที่พระภิกษุสงฆ์จะแสดงอาบัติและว่ากล่าวตักเตือนกันแล้ว ชาวบ้านในภาคอีสานยังมีกิจกรรมกันอีกหลายอย่าง ทั้งประเพณีตักบาตรเทโว การจุดประทีปโคมไฟประดับประดาตามต้นไม้ บางแห่งนําต้นอ้อยหรือไม้ไผ่มามัดเป็นเรือจุดโคมแล้ว นําไปลอยในแม่น้ำที่เรียกว่า การไหลเรือไฟ เพื่อเป็นพุทธบูชา
- เดือนสิบสอง บุญกฐิน เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่าตามคติเดิม เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือนสิบเอ็ด ถึงกลางเดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสอง แต่ชาวอีสานครั้งก่อนนิยมเริ่มทำตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบสอง จึงมักเรียกว่าบุญกฐินว่าเป็นบุญเดือนสิบสอง มีทั้งมหากฐิน (กองใหญ่) และบุญจุลกฐิน (กองเล็ก) ซึ่งทำกันโดยด่วน อัฎฐะบริขารที่จำเป็นต้องทอดเป็นองค์กฐิน ขาดมิได้ คือ บาตร สังฆาฏิ จีวร สบง มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ สายรัดประคด ผ้ากรองน้ำ และเข็ม นอกจากนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบ
1.สุทธิพงษ์ สุริยะ : ผู้ปลุกชีวิตบ้านขี้เหล็กใหญ่
สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไลต์ลิสต์ชื่อดังผู้หวนคืนปลุกชีวิตให้ถิ่นฐานบ้านเกิด ผู้นำวลี “Local สู่ เลอค่า” มาสร้างทรัพยากรในบ้านเกิดให้เกิดมูลค่า ผู้ดัดแปลงเรือนไทยอีสานอายุกว่า 60 ปีของครอบครัวมาเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวอิสานแบบดั้งเดิม การหวนคืนถิ่นกำเนิดของลูกอีสานครั้งนี้ เป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์กว่า 150 ปีแห่งการก่อตั้งหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ กับการเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมที่ไม่เคยก้าวขยับ ให้ปรับทั้งสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตบางมุมแต่ยังเป็นไปอย่างไม่ทิ้งอารยธรรมชุมชน จนสามารถพาชุมชนที่เคยไกลปืนเที่ยงแห่งนี้ไปคว้ารางวัลกูร์มองด์ อะวอร์ด (Gourmand Awards) หรือรางวัลออสการ์อาหารโลกซึ่งจัดขึ้นโดยประเทศฝรั่งเศส
สุทธิพงษ์ สุริยะ ได้พยายามใช้ทรัพยากรท้องถิ่นและคนในชุมชนมาร่วมสร้างสรรค์พัฒนาชุมชนด้วยการใช้ศิลปะมาสร้างจุดขาย นำอัตลักษณ์ของชาวอีสานที่ศรัทธาพญานาคมาสร้างงานศิลปะร่วมสมัยแนวสตรีตอาร์ตวาดตามผนังบ้าน อาคารปูนวัด ร้านค้า และแผ่นสังกะสีรายทางรอบชุมชน เพื่อใช้สื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นวิถีถิ่นให้เป็นแลนมาร์คท่องเที่ยวชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่ เสริมภาพชุมชนให้มีชีวิต ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนมีรายได้เสริมนอกเหนือจากอาชีพเกษตร เป็นผู้นำจัดตั้งศูนย์อาชีพยั่งยืนทั้งการทำอาหารถิ่น เช่น แจ่วบองปลาร้า ข้าวต้มผัด ข้าวป่าน วิถีบุญประเพณีทำขันหมากเบ็งจากดอกพุด ผลิตงานฝีมือหัตถกรรมจักสาน เช่น กระติ๊บข้าว ซึ่งมีการออกแบบลวดลายได้มากกว่า 50 แบบ ให้ดูเป็นสากลมากขึ้น และจัดเลี้ยงพาแลง (อาหาร) บายศรีสู่ขวัญต้อนรับผู้เข้ามาทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์และชุมชน ไม่เพียงเท่านั้น สุทธิพงษ์ สุริยะ ยังชุบชูใจคนในชุมชนด้วยการสร้างให้หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่เป็นศูนย์สร้างแรงบันดาลใจที่ส่งเสริมให้ชาวขี้เหล็กใหญ่รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง ผ่านการขายของดีของชุมชน และเปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ เป็นไกด์ท้องถิ่น ฝึกสร้างรายได้เก็บออมแต่วัยเยาว์
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 สุทธิพงษ์ สุริยะ ได้รับรางวัลสาขาคหกรรมศิลป์ จากการคัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม “รางวัลเพชรราชธานี“ ประจำปี 2567 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีด้วย
พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต บ้านขี้เหล็กใหญ่ ศูนย์สร้างแรงบันดาลใจ จาก Local สู่ เลอค่า
บ้านขี้เหล็กใหญ่เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติ บ้านเรือนของชาวบ้านยังคงความคลาสสิกเอาไว้ได้อย่างสวยงาม บ้านไม้สไตล์อีสานที่ถูกแต่งแต้มไปด้วยลวดลายกราฟิตีพญานาคในอิริยาบถต่าง ๆ สร้างความแตกต่างให้แก่หมู่บ้านเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและถ่ายรูปที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้มาเยือน นอกจาก Street Art ภายในหมู่บ้านยังมีพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่สร้างขึ้นบนบ้านไม้หลังเก่าอายุกว่า 60 ปี ของคุณสุทธิพงษ์ สุริยะ ซึ่งเป็นบ้านที่ครอบครัวของคุณสุทธิพงษ์ สุริยะ อาศัยอยู่จริงหลายชั่วอายุคน ปัจจุบันได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เก็บเรื่องราวในสมัยอดีตมาถ่ายทอดผ่านสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้าน ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประดับตกแต่งด้วยข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณ แต่งแต้มสีเขียวพาสเทลที่ตกแต่งให้บ้านหลังเก่านี้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวอีสานในอดีต และได้นำศิลปะของงานออกแบบร่วมสมัยเข้ามาผสมผสานให้ดูสวยงาม ผ่านการจัดการอย่างมีระบบโดยมีวิถีเกษตรชุมชนเป็นตัวเชื่อม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
นอกจากนี้ ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์มีชีวิตจะมีชาวบ้านมาออกร้านขายของ มีสินค้าจากชาวบ้านในชุมชนและต่างชุมชนมาจำหน่าย เช่น งานผ้าทอ งานจักสาน งานหัตถกรรม และเปิดพื้นที่ให้เด็กในชุมชนได้วาดภาพและนำมาประดับตกแต่งให้นักท่องเที่ยวได้ชม เดินเล่นในตลาดชุมชนพอเพียงชมภาพวาดศิลปะบนกำแพงสังกะสีผืนยาว เล่าเรื่องราวของวิถีผู้คนในชุมชนอีสาน โดยทุกวันเสาร์จะมีอาหารและพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านมาวางจำหน่าย
ภาษาพูด : ภาษาอีสาน ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ชญาสวัสดิ์ สุริยศราญสุข. (2562). ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายในเรือนพื้นถิ่นหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ จ.บึงกาฬ. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง.
เที่ยวบึงกาฬ. (2564). เที่ยวบึงกาฬ – ที่เที่ยวยอดนิยม. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2567, จาก https://www.facebook.com/BuengkanTravel/
พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ. (2566). สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2567, จาก https://www.facebook.com/LifeCommunityMuseumBuengkan
ผู้จัดการออนไลน์. (2565). เปิดตลาดชุมชนพอเพียง ความยั่งยืนของชุมชนมีชีวิต ที่โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2567, จาก https://mgronline.com/
มหาวิทยาลัยขอนแก่น, สำนักวัฒนธรรม, ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). ฮีต 12. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2567, จาก https://cac.kku.ac.th/
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร. (2566). ฮีตสิบสอง : ประเพณีอีสาน 12 เดือน. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2567, จาก https://isancenter.msu.ac.th/
มหาวิทยาลัยรามคำแหง. (ม.ป.ป.). ฮีตสิบสอง คองสิบสี่. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2567, จาก https://www.lib.ru.ac.th/
สยามรัฐออนไลน์. (2562). สุดคูล ดง “พญานาค” สตรีทอาร์ตบ้านขี้เหล็กใหญ่ โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2567, จาก https://siamrath.co.th/n/94363
สิริลักษณ์ สุขสวัสดิ์. (2564). หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ บึงกาฬ จากคำเล่าลูกอีสาน ขาบ สุทธิพงษ์ ผู้พัฒนาชุมชนให้มีชีวิต. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2567, จาก https://urbancreature.co/
Amazing Thailand. (ม.ป.ป.). พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2567, จาก https://thai.tourismthailand.org/
Sanook. (2561). พิพิธภัณฑ์มีชีวิต และ Street Art บ้านขี้เหล็กใหญ่ Unseen แห่งใหม่ของบึงกาฬ. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2567, จาก https://www.sanook.com/
Suthipong Suriya. (2567). สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2567, จาก https://web.facebook.com/