Advance search

"กองม่องทะ" ชุมชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ในอำเภอสังขละบุรีที่ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความเรียบง่ายแบบดั้งเดิมทั้งวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ปลูกผักปลูกข้าว แล้วเก็บเกี่ยวด้วยวิถีความเชื่ออันแสดงถึงเอกลักษณ์และความงดงามในวิถีถิ่นของชุมชน

หมู่ที่ 2
กองม่องทะ
ไล่โว่
สังขละบุรี
กาญจนบุรี
วิไลวรรณ เดชดอนบม
10 ธ.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
17 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
5 ก.พ. 2024
บ้านกองม่องทะ

กองม่องทะ” เป็นภาษกะเหรี่ยงโปว์ หมายถึง ลำห้วยที่มีน้ำไหลผ่าน  โดย "กองม่อง" เป็นชื่อของลำห้วย และ "ทะ" แปลว่า บรรจบหรือปลาย อีกนัยหนึ่งก็ว่า บ้านกองม่องทะเป็นปลายน้ำของลำห้วยกองม่อง 


"กองม่องทะ" ชุมชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ในอำเภอสังขละบุรีที่ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความเรียบง่ายแบบดั้งเดิมทั้งวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ปลูกผักปลูกข้าว แล้วเก็บเกี่ยวด้วยวิถีความเชื่ออันแสดงถึงเอกลักษณ์และความงดงามในวิถีถิ่นของชุมชน

กองม่องทะ
หมู่ที่ 2
ไล่โว่
สังขละบุรี
กาญจนบุรี
71240
15.17019612
98.55523422
องค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่

หมู่บ้านกองม่องทะเป็นหมู่บ้านที่ชาวกะเหรี่ยงโปว์ตั้งบ้านเรือนมากกว่า 160 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2383 โดยคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งหมู่บ้านอพยพมาจากหมู่บ้านสะเน่พ่อง หมู่บ้านจะแก หมู่บ้านทิไล่ป้า หมู่บ้านปรองดี้ หมู่บ้านไล่โว่ ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอสังขละบุรี การอพยพถิ่นฐานมีจุดมุ่งหมาย คือ ต้องการแสวงหาที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากอาชีพหลักของชาวบ้านคือการทำไร่ จึงมีการย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นที่แน่นอน หมู่บ้านกองม่องทะเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านทิศตะวันตก และส่วนหนึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงมีแม่น้ำรันตีไหลผ่าน จากคำบอกเล่าของคนในท้องถิ่น คำว่า กองม่องทะเป็นภาษากะเหรี่ยงโปว์ หมายถึง ลำห้วยที่มีน้ำไหลผ่าน ซึ่งแม่น้ำนี้ตกลงมาจากที่สูงมาบรรจบกัน  โดย "กองม่อง" เป็นชื่อของลำห้วย และ "ทะ" แปลว่า บรรจบหรือปลาย อีกความหมายหนึ่ง คือ บ้านกองม่องทะเป็นปลายน้ำของลำห้วยกองม่อง ต่อมารัฐบาลประกาศให้ชาวบ้านอพยพกลับไปอยู่ยังถิ่นฐานเดิม (ป่า) โดยทางรัฐบาลจัดสรรพื้นที่ให้ แต่ชาวบ้านไม่ได้โยกย้ายไปไหน เนื่องจากบริเวณพื้นที่จัดสรรให้เป็นพื้นที่โล่งดอน มีสภาพแห้งแล้งไม่เหมาะกับการทำมาหากินของชาวบ้าน ผู้นำชุมชนจึงรวบรวมรายชื่อเสนอต่ออำเภอพิจารณา จึงทำให้ชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมได้ ทว่า ยังมีปัญหากระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องอพยพด้วยเหตุที่ว่าหมู่บ้านกองม่องทะมีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม มีการรักษาผืนป่า ดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงไม่ทำลายป่าไม้ ใช้วิถีคนกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านกองม่องทะตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านทิศตะวันตก และส่วนหนึ่งคาบเกี่ยวกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม พื้นที่ส่วนใหญ่ล้อมรอบด้วยภูเขาที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยป่าดงดิบ มีแม่น้ำรันตีเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่านหมู่บ้าน มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลไล่โว่
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลปรังเผล
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลชะแล
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านสะเน่ฟอง ตำบลไล่โว่

ลักษณะทางกายภาพ

บ้านกองม่องทะมีพื้นที่ส่วนใหญ่ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ เต็มไปด้วยป่าดงดิบ ตั้งแต่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นหุบเขาและที่ราบติดกับบริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ์ สภาพพื้นดินโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นดินเหนียว แต่ในบริเวณแม่น้ำรันตีจะเป็นดินร่วนปนทรายเหมาะแก่การทำการเกษตร ส่วนบริเวณเชิงเขามีลักษณะเป็นดินเหนียว แม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านหมู่บ้าน คือ แม่น้ำรันตี มีต้นกำนิดมาจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งไหลผ่านหมู่บ้านกองม่องทะไปสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ (เดิมชื่อ เขื่อนเขาแหลม) เป็นที่กักเก็บน้ำของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำบี่คลี่ แม่น้ำซองกาเลีย และแม่น้ำรันตี ซึ่งแม่น้ำทั้งสามสายนี้ไหลมาบรรจบกันเป็น แม่น้ำแควน้อย ไหลลงสู่อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

สภาพภูมิอากาศ

บ้านกองม่องทะเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศค่อนข้างเย็นสบายตลอดทั้งปี ไม่ร้อนและไม่หนาวจัดจนเกินไป เนื่องจากถูกล้อมรอบด้วยภูเขาสูงใหญ่และป่าหนาทึบ แต่จะมีฝนชุกเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้มาจากลมทะเลสาบจากเขื่อนวชิราลงกรณ์ เป็นลมอ่อนและกรรโชกเป็นครั้งคราว มีลมพัดตลอดช่วงฤดู โดยสภาพภูมิอากาศในพื้นที่บ้านกองม่องทะ แบ่งเป็น 3 ฤดู ดังนี้

  • ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
  • ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม
  • ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านกองม่องทะ ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,669 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 889 คน ประชากรหญิง 780 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 345 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ประชากรในชุมชนนอกจากชาวกะเหรี่ยงโปว์แล้ว ยังมีคนพื้นถิ่นเดิม และมีบางส่วนที่ย้ายถิ่นฐานมาจากต่างจังหวัด ได้แก่ อยุธยา พิจิตร ครอบครัวของชาวกะเหรี่ยงโปว์ส่วนใหญ่จะมีการเกี่ยวดองใกล้ชิดกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมปลูกฝังสิ่งต่าง ๆ ทั้งความเชื่อตามประเพณี สิ่งสำคัญที่สุดคือการนับถือบรรพบุรุษและเคารพต่อธรรมชาติ ผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงโปว์มีบทบาทสำคัญที่สุดในครอบครัว เพราะเป็นผู้สืบทอดตระกูลในอนาคต ทั้งการดูแลกิจการต่าง ๆ ในครัวเรือน การดูแลบ้านเรือน และเป็นแกนนำของสายตระกูลในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งผู้ชายจะเป็นฝ่ายเข้ามาอาศัยอยู่กับครอบครัวของฝ่ายภรรยา เมื่อถึงเวลาสมควรจึงจะย้ายออกไปตั้งครอบครัวต่างหาก

โพล่ง

ชาวบ้านกองม่องทะส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยการทำเกษตรกรรมในที่นี้มีลักษณะเป็นการทำไร่หมุนเวียน นอกจากนี้ ยังมีการทำสวนผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน ส้มโอ กล้วย มะนาว มะม่วงหิมพานต์ ลองกอง และสับปะรด ส่วนพริกกะเหรี่ยงนั้นจะปลูกในบริเวณไร่หมุนเวียน ทั้งยังมีการปลูกผักในพื้นที่ข้างไร่หมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นผักคะน้า ถั่วฝักยาว แตงกวา ผักบุ้ง ในช่วงว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรม ชาวบ้านกองม่องทะจะประกอบอาชีพเสริม คือ รับจ้าง ทำเครื่องจักสาน และทอผ้า เป็นรายได้ที่ชาวบ้านพอจะหาได้นอกเหนือจากการหวังพึ่งผลผลิตทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว ซึ่งรายได้ที่ได้นั้นไม่เพียงพอต่อการจุนเจือครอบครัว โดยเครื่องจักสานส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์เกี่ยวกับการทำไร่ ทำสวน อุปกรณ์การเกษตรต่าง ๆ รวมถึงอุปกรณ์การจับปลา 

อนึ่ง เนื่องจากบ้านกองม่องทะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีลำน้ำรันตีที่ไหลเชี่ยวหล่อเลี้ยงชาวกองม่องทะมานานนับศตวรรษ ชาวบ้านจึงได้คิดพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้ประโยชน์จากลำน้ำรันตีโดยจัดกิจกรรมท่องเที่ยว คือ ล่องแก่งกองม่องทะ ซึ่งมีให้บริการทั้งแบบแพ (ไม้ไผ่) และห่วงยาง รวมถึงการขี่ช้างตามลำน้ำรันตีเพื่อเที่ยวชมวิถีชีวิตของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมี "สะพานข้ามแม่น้ำรันตี" เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของหมู่บ้าน นักท่องเที่ยวสามารถมาชมความงดงามยามพระอาทิตย์ขึ้นและตกบนสะพานแขวนแห่งนี้ได้ ซึ่งโครงการการพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวนี้ นัยหนึ่ง อาจเพื่อให้ชุมชนเล็ก ๆ กลางเขาได้เป็นที่รู้จัก อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาด้านต่าง ๆ และอีกนัยหนึ่ง ก็เพื่อนำรายได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ชุมชน

ผลิตภัณฑ์ชุมชน

  • วุ้นเส้นท่าเรือ
  • วุ้นมะพร้าวอ่อน
  • มะขามกวน
  • น้ำพริก
  • อัญมณี
  • สินค้าจากพม่า
  • เฟอร์นิเจอร์ไม้
  • ผ้าทอพื้นเมือง
  • ผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะขามหวาน
  • ผลผลิตทางการเกษตร เช่น เงาะ มะม่วงหิมพานต์

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวบ้านกองม่องทะส่วนใหญ่ยังคงนับถือพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความเชื่อในการนับถือผีและสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มีสถานที่สำคัญในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านคือ วัดกองม่องทะชาวกองม่องทะมีความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาในเรื่องของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น เก้ง ตะกวด เต่า นกทูล่อง โดยเชื่อว่าสัตว์เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการเตือนภัยเมื่อจะมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นกับชุมชน จึงมีกฎห้ามฆ่าสัตว์เหล่านี้โดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดโรคระบาดและเกิดความเสียหายต่อหมู่บ้านได้

ประเพณีและวัฒนธรรม

กองม่องทะเป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่มีการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความเชื่อเก่าแก่อันเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ยังคงมีการรักษาไว้อย่างเหนี่ยวแน่น ด้วยความที่ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย การประกอบพิธีกรรมหรือประเพณีในแต่ละเดือนจึงจะยึดตามวันสำคัญทางศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา นอกจากนี้ ยังมีปฏิทินประเพณีชุมชนซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่สืบทอดกันมานาน เช่น การถวายราหุล (สะเดาะเคราะห์) จะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ของหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะรวมตัวเพื่อประกอบอาหารที่ใช้ในการทำพิธีคือ ย่าฮุโดยส่วนผสมของย่าฮุจะประกอบด้วย ข้าวเหนียว มะพร้าว หัวหอม กระเทียม น้ำมันพืช ถั่ว และน้ำตาล เพื่อนำไปถวายที่วัดเพื่อให้พระสงฆ์ทำพิธีกรวดน้ำ แผ่เมตตา และอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร เมื่อเสร็จพิธีชาวบ้านจะนำย่าฮุมารับประทานและนำกลับไปโปรยรอบบ้านเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีเข้ามาภายในบ้าน ด้านประเพณีการไหว้บรรพบุรุษจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม สมาชิกทุกคนภายในครอบครัวจะต้องทำพิธีไหว้บรรพบุรุษเพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณของเหล่าบรรพชน โดยในพิธีจะมีหญิงที่อาวุโสสูงสุดในบ้านเป็นคนนำทำพิธี ทุกคนในครอบครัวที่ไปเรียนหนังสือที่อื่นหรือทำงานจะกลับมาทำพิธีร่วมกันในบ้านเป็นเวลา 2 คืน และจะต้องนอนรวมกัน ห้ามแยกออกไปนอนที่อื่น แต่หากกลับมาระหว่างการทำพิธีไปแล้วหนึ่งคืนจะต้องไปนอนที่บ้านอื่นแทน ส่วนฝ่ายชายที่แยกครอบครัวออกไปแล้วจะต้องไปทำพิธีที่บ้านของภรรยาแทน หากครอบครัวที่ไม่สามารถเดินทางกลับมาได้คนนำพิธีจะต้องเป็นผู้บอกกล่าวต่อบรรพบุรุษและไหว้แทนในพิธี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : กะเหรี่ยงโปว์ (ภาษาโพล่ง) พม่า ไทย 

ภาษาเขียน : อักษรกะเหรี่ยง อักษรพม่า อักษรไทย


เป็นอันทราบกันดีอยู่แล้วว่าการประกอบอาชีพของชาวบ้านกองม่องทะนั้นเป็นการประกอบอาชีพในภาคการเกษตรเป็นหลัก มีทั้งการทำไร่ ทำสวน ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ สภาพอากาศที่ไม่แน่นอนส่งผลให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามคาด ในช่วงฤดูฝน ฝนมากก็จะทำให้ไร่หมุนเวียนและสวนผลไม้ของชาวบ้านเกิดความเสียหายเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป อีกทั้งยังทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเดินทางออกไปทำงานที่ไร่ได้ หรือแม้แต่เดินทางออกไปทำงานนอกชุมชนก็ยากลำบาก เนื่องจากถนนหนทางไม่สู้ดีเท่าใดนัก เป็นอันส่งผลให้ชาวบ้านขาดรายได้เลี้ยงชีพและจุนเจือครอบครัว 

อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ คือ สภาวการณ์ที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ หรือสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ส่งผลให้บางครั้งชาวบ้านมีเงินทุนไม่เพียงพอในการลงทุน โดยเฉพาะเครื่องมือทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูง ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้บางปีราคาต้นทุนที่ชาวบ้านลงไปกับไร่สวนมากกว่ารายรับภายหลังจากเก็บเกี่ยวและจำหน่ายผลผลิต ทั้งยังขาดกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จึงไม่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกินได้ แม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายอนุญาตให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในการทำกินได้โดยมีข้อแม้คือห้ามบุกรุกเขตป่าสงวนก็ตาม


ทุ่งใหญ่นเรศวร
เขาแหลม
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นูรูลฮูดา อาลีลาเต๊ะ. (2553). พฤติกรรมด้านสุขภาพของผู้หญิงกะเหรี่ยงโปว์ : กรณีศึกษาบ้านกองม่องทะ ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. (รายงานการวิจัย). ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้น 10 ธันวาคม 2566จาก https://earth.google.com/

กองม่องทะ กะเหรี่ยงทุ่งใหญ่ฯ. (2561). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566จาก https://www.facebook.com/karenKongmongtha

เที่ยวแล้ว เที่ยวอยู่ เที่ยวต่อไป. (2562). ภาพเก่านานมาแล้วไปขี่ช้าง เดินป่า ล่องแก่ง ถ่อแพที่หมู่บ้านก่องม่องทะ. สืบค้น 10 ธันวาคม 2566จาก https://www.facebook.com/

Kongmongta villa. (ม.ป.ป.). บ้านกองม่องทะ.  สืบค้น 10 ธันวาคม 2566, จาก https://rehmonnya.org/blog/20