เชื่อมโยงสัมพันธ์แห่งชีวิตท่องเที่ยวให้คนได้อยู่เคียงคู่ป่า สร้างสรรค์พลังศรัทธาแห่งการอนุรักษ์แหล่งทำกินโดยไม่เอาเปรียบธรรมชาติ
เดิมชื่อ “บ้านผาหลาย” ตามลักษณะภูมิประเทศที่มีผาอยู่เป็นจํานวนมากและกระจายอยู่ทั่วไป ต่อมาได้มีการเรียกชื่อเพี้ยนออกไปถึงพืชที่มีอยู่มากในท้องถิ่น คือ ต้นหวาย หรือตาว ทําให้มีการปรับเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากผาหลาย เป็น “ผาหวาย” มาจนถึงปัจจุบัน
เชื่อมโยงสัมพันธ์แห่งชีวิตท่องเที่ยวให้คนได้อยู่เคียงคู่ป่า สร้างสรรค์พลังศรัทธาแห่งการอนุรักษ์แหล่งทำกินโดยไม่เอาเปรียบธรรมชาติ
บ้านผาหวาย เป็นหมู่บ้านหนึ่งของอําเภอหนองหิน จังหวัดเลย เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์และความเป็นมายาวนานกว่า 70 ปี โดยยายจ้อย และพรรคพวกที่อพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเพื่อหลีกหนีภัยสงครามจีนฮ่อ แสวงหาพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินแหล่งพื้นที่ใหม่ที่มีความปลอดภัยและอุดมสมบูรณ์ เพื่อที่จะทําให้การดํารงชีวิตของชาวบ้านอยู่อย่างมีความสุข
หมู่บ้านผาหวายนั้นเดิมมีชื่อว่า “บ้านผาหลาย” โดยตั้งชื่อตามลักษณะของภูมิประเทศในพื้นที่ที่ตั้งที่มีผาอยู่เป็นจํานวนมากและกระจายอยู่ทั่วไป ส่งผลทําให้ผู้นํามีการเลือกเอาจุดเด่นของพื้นที่มาสร้างการจดจําและจุดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของหมู่บ้าน ต่อมาได้มีการเรียกชื่อเพี้ยนออกไปถึงพืชที่มีอยู่มากในท้องถิ่น คือ ต้นหวายหรือตาว ทําให้มีการปรับเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากผาหลาย เป็น “ผาหวาย” มาจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของบ้านผาหวาย มีสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำ ป่าไม้ ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อทอื่น ๆ ที่เอื้อต่อประโยชน์ต่อการทําการเกษตรได้ดีตลอดทั้งปี เช่น ปลูกข้าว ถั่วเหลือง หรือพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ การสร้างบ้านเรือนของชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำและตามแนวเชิงเขา ทําให้สามารถทําการเลี้ยงสัตว์ ปลูกไม้ผล และพืชสวนบริเวณใกล้ที่อยู่อาศัยได้
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศในพื้นที่บ้านผาหวายสามารถแบ่งได้ 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว แต่โดยปกติแล้วในช่วงฤดูร้อนจะไม่ร้อนจัด ฝนตกชุกในฤดูฝน และหนาวจัดในฤดูหนาว ซึ่งในแต่ละช่วงฤดูสภาพแวดล้อมของบ้านผาหวายจะมีความแตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ก็ยังคงงดงามเหมาะแก่การท่องเที่ยว ดังนี้
- ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทุ่งหญ้าและขุนเขาเขียวขจีเปลี่ยนเป็นสีทองอร่าม
- ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม เป็นช่วงการงอกใหม่ของพืชผลทางการเกษตรหรือฤดูกาลทำนาของชาวบ้านผาหวาย ฉะนั้น ความชุ่มชื้น ฉ่ำเย็น และสีเขียวขจีวนกลับมาอีกครั้งหนึ่งหลังจากฝนตก
- ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่บ้านผาหวายมีความงดงามมากที่สุด เนื่องจากป่าไม้ขุนเขาเจริญงอกงามเต็มที่ภายหลังได้รับความฉ่ำเย็นจากสายฝน พืชผลทางการเกษตรเจริญเติบโตเต็มที่ มีอากาศเย็นสบาย อีกทั้งยังมีทะเลหมอกยามเช้า ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวของชุมชนบ้านผาหวายค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวนิยมมาท่องเที่ยวกันในช่วงฤดูกาลนี้
ข้อมูลประชากรตำบลปวนพุจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านผาหวาย มีประชากรทั้งสิ้น 1,097 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 557 คน ประชากรหญิง 540 คน และจำนวนครัวเรือน 292 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
การประกอบอาชีพ
ประชาชนในหมู่บ้านผาหวายมีอาชีพหลัก คือ การทําเกษตรกรรมปลูกยางพารา อ้อย ข้าวโพด มันสําปะหลัง รวมถึงการปลูกข้าวไร่ที่เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวขาวและข้าวเหนียวดําสำหรับเก็บไว้ใช้ในการบริโภคในครัวเรือน โดยยการปลูกยางพารา เริ่มมีการปลูกใน พ.ศ. 2549 โดยการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ต้องการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในภาคอีสานในโครงการยางล้านไร่ สำหรับการปลูกยางพารานั้นส่วนใหญ่ปลูกตามเขาและแนวเขา โดยที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ด้านการปลูกข้าวโพดและสําปะหลังนั้น เป็นพืชเศรษฐกิจและพืชที่นิยมอย่างมากของเกษตรกรรมบ้านผาหวาย เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่ปลูกและดูแลง่าย ให้ผลผลิตดี และมีราคาสูง
ทั้งนี้ เนื่องจากชุมชนบ้านผาหวายมีแหล่งทรัพยากรอันเป็นมรดกจากธรรมชาติซึ่งเป็นจุดดึงดูดใจที่สามารถนําไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวที่หลากหลาย คือ ถ้ำผากวาง และภูป่าเปาะ หรือที่เรียกกันว่าภูเขาไฟฟูจิเมืองเลย เป็นภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตร ชาวบ้านผาหวายนำโดยนายบุญลือ พรมหาลา ผู้ใหญ่บ้านผาหวายในขณะนั้น จึงเกิดความคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านผาหวายมีเงินหมุนเวียนจากการท่องเที่ยวโดยชุมชนมากกว่าปีละ 1 ล้านบาท มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้น นับเป็นผลตอบแทนจากการที่ชาวบ้านผาหวายเกิดความตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน จึงร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรในท้องถิ่น ผสานกับการจัดการโดยชุมชนด้วยความรู้สึกป็นเจ้าของทรัพยากร และการหนุนเสริมจากหน่วยงาน ทำให้ภูเขาลูกหนึ่งมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวขึ้นมาจนเป็นที่รู้จักทั้งชาวไทยและต่างประเทศ นำพารายได้ สร้างอาชีพ สร้างความภาคภูมิใจ และเป็นต้นทุนในการพัฒนาชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยการท่องเที่ยวชุมชนบ้านผาหวายเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2556 มีการประชาสัมพันธ์โฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ทำให้บ้านผาหวายและภูป่าเปาะเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยความโดดเด่นของภูเขาที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ทุกทิศทาง บวกกับเสน่ห์ในการเดินทางขึ้นภูป่าเปาะด้วยรถแต๊ก ๆ (รถไถนั่งขับ) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนอย่างไม่ขาดสาย
กลุ่มองค์กรชุมชน
ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูป่าเปาะ (องค์กรสวัสดิการชุมชน)
ชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูป่าเปาะ (องค์กรสวัสดิการชุมชน) เป็นชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ ที่ดูแลการจัดการท่องเที่ยวบริเวณภูป่าเปาะ ก่อตั้งเมื่อปี 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมชุมชน อนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหารการท่องเที่ยวและแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยชุมชนอย่างยั่งยืน และเพื่อสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มอาชีพและบุคคลในชุมชนอย่างทั่วถึง เชื่อมโยงกระบวนการในการบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านผาหวาย ชุมชนใกล้เคียง กลุ่มร้านค้า กลุ่มรถนำเที่ยว และกลุ่มนำเที่ยว สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของในการบริหารจัดการท่องเที่ยวภูป่าเปาะ สร้างกิจการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นฐานการพัฒนา เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกลุ่มอาชีพ กับชุมชน สู่การกำหนดวิสัยทัศน์ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูป่าเปาะ โดยกำหนดแผนปฏิบัติการในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร การปรับปรุงภูมิทัศน์โครงสร้างพื้นฐานแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนากลุ่มอาชีพ แหล่งเรียนรู้ รวมถึงการขยายแนวร่วมเครือข่ายความร่วมมือ
รายได้หลักของชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูป่าเปาะ (องค์กรสวัสดิการชุมชน) คือ รายได้จากการขับรถแต๊ก ๆ นำเที่ยว ราคาค่าบริการนักท่องเที่ยว 60 บาทต่อคน โดยสมาชิกผู้ขับรถแต๊ก ๆ นำเที่ยวมีรายได้จากการขับรถแต๊ก ๆ อย่างเดียวประมาณ 6,000-7,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ ในปัจจุบันชมรมฯ เริ่มมีการพัฒนาช่องทางที่จะดึงรายได้จากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากการทำเกษตร โดยสมาชิกบางคนมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนมาทำแปลงปลูกผักกางมุ้ง ปลูกองุ่นไร้เมล็ด สตรอว์เบอร์รี เครปกูสเบอร์รี ไว้สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวได้แวะเยี่ยมชมแปลงเกษตรและซื้อผลผลิตโดยตรงจากไร่ เป็นการขยายสินค้าและบริการของการท่องเที่ยวในพื้นที่แห่งนี้เพิ่มเติม เพื่อลดการผูกขาดรายได้อยู่กับรถแต๊ก ๆ เพียงทางเดียว
อนึ่ง ชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูป่าเปาะ (องค์กรสวัสดิการชุมชน) หาได้มีเพียงรถแต๊ก ๆ นำเที่ยวเท่านั้น หากแต่ยังมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่คอยทำความสะอาดศูนย์บริการฯ ดูแลต้อนรับนักท่องเที่ยว บรรยายทิวทัศน์พื้นที่ แนะนำสถานที่ รวมถึงการให้ข้อมูลต่าง ๆ รายได้จะมาจากการแบ่งสรรปันส่วนจากเงินค่าบริการรถแต๊ก ๆ ที่แบ่งให้ และส่วนหนึ่งก็มาจากการได้ทิปจากนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีการนำเด็กนักเรียนมาช่วยงานการเป็นมัคคุเทศกืท้องถิ่นในช่วงวันหยุดด้วย
โฮมสเตย์บ้านผาหวาย
การเกิดขึ้นของโฮมสเตย์บ้านผาหวาย เนื่องจากการพัฒนาชุมชนเป็นชุมชนท่องเที่ยว การเข้ามาของนักท่องเที่ยวหลายพันคนส่งผลให้มีการเกิดขึ้นของโฮมสเตย์ชุมชนจำนวนมาก โดยในปัจจุบันบ้านผาหวายมีโฮมสเตย์สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 20 หลัง เก็บค่าบริการ 350 ต่อคน (ทั้งนี้ เป็นราคาโดยประมาณ ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลง) ซึ่งราคานี้รวมอาหารทั้งมื้อเย็นและมื้อเช้า อย่างไรก็ดี การก่อตั้งโฮมสเตย์ชุมชนขึ้นนี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และภุป่าเปาะมากขึ้น เนื่องจากมีที่พักรับรอง นักท่องเที่ยวสามารถลดความกังวลเรื่องที่พักได้โดยปริยาย ซึ่งในการนี้ทำให้ทั้งร้านค้า ร้านอาหารมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยพาะในช่วงเทศกาลที่ร้านค้าหรือร้านอาหารบางร้ามีรายได้มากกว่าวันละ 10,000 จากวันปกติทั่วไปที่สามารถขายได้ประมาณ 3,000 บาท
ประเพณีชุมชน
บ้านผาหวายมีประเพณีสำคัญอันเป็นประเพณีที่สืบทอด สานต่อเจตนารมณ์ความเชื่อของชุมชนซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนในช่วงเดือนหก คือ ประเพณีเลี้ยงผีปู่ตา ซึ่งเป็นประเพณีที่นับว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านผาหวายมาตลอดตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้าน แต่ทั้งนี้ บ้านผาหวายก็ยังมีประเพณีและวัฒนธรรมเช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง คือ การสืบทอดประเพณี 12 เดือนแบบอีสานหรือฮีตสิบสอง ซึ่งหมายถึงประเพณีที่จะต้องปฏิบัติทั้ง 12 เดือนในแต่ละปี ดังนี้
- ประเพณีเดือนสาม บุญข้าวจี่ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 (ช่วงเดือนกุมภาพันธ์)
- ประเพณีเดือนสี่ บุญมหาชาติ (บุญผะเหวด (พระเวสสันดร) หรือบุญเทศน์มหาชาติ) ซึ่งจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี
- ประเพณีเดือนห้า บุญสงกรานต์ (วันปีใหม่ไทย) ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี
- ประเพณีเดือนหก บุญบั้งไฟ จัดให้มีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี
- ประเพณีเดือนเจ็ด บุญซําฮะ จัดให้มีขึ้นอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี
- ประเพณีเดือนแปด บุญเข้าพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (ช่วงเดือนกรกฎาคม) โดยในช่วงนี้จะมีประเพณีทอดเทียนพรรษา ซึ่งอยู่ในระหว่างช่วงเข้าพรรษาด้วย
- ประเพณีเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี
- ประเพณีเดือนสิบ บุญข้าวสาก (กระยาสารท) ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี
- ประเพณีเดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี
- ประเพณีเดือนสิบสอง งานบุญกฐิน จัดให้มีขึ้นในช่ววันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน12 ของทุกปี
นอกจากฮีต 12 หรือประเพณี 12 เดือนแล้ว บ้านผาหวายยังมีประเพณีสำคัญประจำชุมชนหลายประเพณี เช่น
- บุญผ้าป่า เป็นงานบุญที่จัดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยทั่วไปกำหนดการจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของเจ้าภาพ
- ประเพณีเลี้ยงปู่เจ้าอารักษ์ประจําหมู่บ้าน ปีละ 1 ครั้ง ก่อนเริ่มฤดูกาลทำนาและเก็บเกี่ยวข้าว เชื่อว่ามีนัยเพื่อให้พืชพรรณธัญญาหารสมบูรณ์ดี
- ประเพณีงานบายศรีสู่ขวัญ จัดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยทั่วไปกำหนดการจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของเจ้าภาพ
ความเชื่อท้องถิ่น
หมู่บ้านผาหวายนี้นอกจากจะมีความเชื่อในประเพณีและวัฒนธรรมตามความเชื่อในพุทธศาสนาแล้ว ยังมีประเพณีและความเชื่อท้องถิ่นที่มีการปฏิบัติตนตามแนวทางปู่ย่า ตายาย นั่นคือ พิธีกรรมการเลี้ยงผีปู่ตา ในเดือน 6 หรือเดือนกรกฎาคมของทุกปี สำหรับการประกอบพิธีกรรมจะมีผู้นำประกอบพิธีกรรมเรียกว่า “จ้ำ” หรือ “เฒ่าจ้ำ” และนางเทียม (บุคคลที่ถูกสมมุติให้เป็นร่างทรงปีปู่ตา มีหน้าที่ปฏิบัติรักษา เป็นผู้บอกกล่าว ติดต่อสื่อสารกับวิญญาณในหมู่บ้านแทนชาวบ้าน ส่วนจํานวนนางเทียมนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะมีผีปู่ตามาลงกี่องค์) โดยผู้นำประกอบพิธีกรรมนั้นจะมีการสืบเชื้อสายกันมารุ่นต่อรุ่น ปัจจุบันคือรุ่นที่ 3 คือ คุณตาเสาะ ทํามะรัง
1.นายบุญลือ พรมหาลา ประธานชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูป่าเปาะ (องค์กรสวัสดิการชุมชน)
ทุนทางทรัพยากรธรรมชาต : ภูป่าเปาะ
“ภูป่าเปาะ” เป็นชื่อเรียกที่มาจาก ภูเขาที่เต็มไปด้วยป่าไผ่ ซึ่งเป็นไผ่พันธุ์ที่เปาะ (ทั่วไปใช้ เปราะ) แตกง่าย ชาวบ้านจึงพากันเรียกภูเขาลูกนี้ว่า ภูป่าเปาะ ด้วยความสูงจากน้ำทะเลมากถึง 900 เมตร ทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพบริเวณโดยรอบได้อย่างทั่วถึง อาทิ ภูหลวง ภูกระดึง ภูผาม่าน ภูหินร่องกล้า รวมถึงภูหอ ภูเขาที่มีลักษณะคล้ายกับภูเขาไฟฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น จึงมีการขนานนามกันภายหลังว่า “ฟูจิเมืองเลย” ผืนป่า ธรรมชาติ และวิถีชีวิตที่ราบลุ่มภูป่าเปาะ ดึงดูดนักท่องเที่ยวไปเยือนได้ทั้งปี เมื่ออยู่บนยอดภูจะได้สัมผัสบรรยากาศแตกต่างกันไปในอารมณ์ 3 ฤดู คือ ฤดูร้อนจะมองเห็นทุ่งหญ้าขุนเขาเป็นสีเหลืองทอง ช่วงฤดูฝนเทือกเขาและท้องทุ่งนาปรับตัวเป็นสีเขียวชุ่มฉ่ำ ส่วนฤดูหนาวนอกจากได้ชมทุ่งข้าวออกรวงสีทองกลางหุบเขา ยังได้ชื่นชมทะเลหมอกขาวปกคลุมภูหอประกอบเป็นฟูจิเมืองเลย สวยโดดเด่นสะดุดตาเทียบเคียงภูเขาฟูจิยามาของญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ ภูป่าเปาะ แห่งนี้จึงได้รับการพัฒนาและดูแลโดยชาวบ้านและกรรมการหมู่บ้านผาหวายเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ก่อนกลายมาเป็นแหล่งรายได้ของชาวบ้านในชุมชนดังเช่นปัจจุบัน แต่ก่อนนั้น ภูป่าเปาะ เป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุกโดยชาวบ้านที่ขึ้นไปทำไร่ ทำสวน ต่อมาชาวบ้านและกรรมการหมู่บ้านผาหวาย เห็นว่าสถานที่แห่งนี้มีความสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับสวนหินผางาม แหล่งท่องเที่ยวของตำบลปวนพุ ชาวบ้านผาหวายนำโดยนายบุญลือ พรมหาลา จึงได้เกิดแนวคิดพัฒนาภูป่าเปาะแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของตำบลปวนพุ โดยได้รับการสนับสนุนจากทางองค์การบริหารส่วนตำบงปวนพุ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อ-ภูกระแต และทางอำเภอหนองหิน เพื่อสนับสนุนให้ชาวบ้านหยุดการบุกพื้นที่ป่า และหันมาช่วยกันอนุรักษ์สถานที่ชุมชนของตนเอง พัฒนาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติเป็นแหล่งรายได้ภายใต้เงื่อนไขการอนุรักษ์ เมื่อชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยว ก็ยิ่งหันมาช่วยกันดูแลและปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น เพราะคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตภายภาคหน้าจะได้มีป่าไม้เพิ่มมากขึ้น และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ภาษาพูด : ภาษาอีสาน (สำเนียงเลย หรือคนท้องถิ่นเรียก ไทเลย) ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ไทย
ชีวิตวิถีใหม่ด้วยการจัดการท่องเที่ยวชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
ก่อนปี 2553 ชุมชนบ้านผาหวาย ดำรงชีพด้วยการเกษตรและหาของป่าเป็นหลัก ชาวบ้านทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง จนเป็นสาเหตุให้สภาพป่าธรรมชาติเสื่อมโทรม แม้เจ้าหน้าที่รัฐพยายามแก้ปัญหา แต่ไม่ตรงความต้องการของชาวบ้าน จึงเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน กระทั่งปี 2553 พื้นที่นี้ถูกประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อ-ภูกระแต ชีวิตหากินของชาวบ้านถูกบังคับให้อยู่ในกรอบกฎหมาย ยิ่งทวีให้ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐจึงก่อตัวขึ้นไม่หยุดหย่อน เกิดความบาดหมาง พยายามหาทางรอมชอมเข้าหากัน การแก้ปัญหาจึงมีข้อสรุปร่วมตรงที่การพัฒนา “ภูป่าเปาะ” ต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติในเขตพื้นที่บ้านผาหวายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อหยุดการบุกรุกป่า ชุมชนเปิดเวทีประชาคมหมู่บ้านร่วมพูดคุยหารือไปสู่เป้าหมายหยุดบุกรุกป่า หันกลับชีวิตหวนอยู่แบบพอเพียง และพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ให้คนในชุมชนร่วมกันบริหารจัดการภายใต้แกนกลาง “กลุ่มชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูป่าเปาะ” นำไปสู่การเกิดกลุ่มเครือข่ายอาชีพ 11 กลุ่มขึ้นมาหนุนเสริมจัดการ เช่น กลุ่มอีแต๊ก กลุ่มร้านค้า กลุ่มมัคคุเทศก์ กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มข้าวเกียบหน่อไม้ ฯลฯ วิถีเกษตรกร การทำไร่เลื่อนลอยจึงเปลี่ยนมาเป็น “อาชีพท่องเที่ยว” นำพาชาวบ้านได้อยู่กับป่า มีรายได้จากรถอีแต๊กนำนักท่องเที่ยวขึ้นไปยังจุดชมวิว โดยเริ่มต้นมีรถอีแต๊กแค่ 5 คัน กระทั่งปัจจุบันมีรถวิ่งบริการนักท่องเที่ยวกว่าเกือบ 100 คัน (มูลนิธิสัมมาชีพ, 2564)
การท่องเที่ยวบ้านผาหวายนั้นมีลักษณะเป็นการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้ มีต้นทุนเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ และมีการพัฒนาตนเองเพื่อพัฒนาการจัดการท่องเที่ยว อันจะช่วยให้บ้านผาหวายสามารถพึ่งพาตนเองผ่านการจัดการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็ได้นําเอาวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเป็นเครื่องมือช่วยให้นักท่องเที่ยวได้เกิดประสบการณ์จากการสัมผัสและเรียนรู้ในรากเหง้า วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวผาหวาย ซึ่งนํามาสู่ความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว
จะเห็นว่าการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ภูป่าเปาะนั้นครบองค์ประกอบของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ทั้งด้านการมีทรัพยากรธรรมชาติที่โดดเด่น มีชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูป่าเปาะเป็นกลไกในการทำงานที่สามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับการพัฒนาชุมชนโดยรวมได้ มีกฏกติกาในการบริหารจัดการที่ดี มีการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมทั่วถึง มีกองทุนที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ระหว่างชาวบ้านกับผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดี นับเป็นการจัดการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ที่จัดการโดยชุมชน เพื่อชุมชน โดยชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของ มีสิทธิในการจัดการดูแลอย่างแท้จริง
แม้ว่าบ้านผาหวายจะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำเลที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูงซึ่งสามารถทำให้มองเห็นทัศนียภาพของภูเขาหลายลูกอย่างกว้างไกล อันนำมาซึ่งรายได้จากการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ขณะเดียวกันก็เปรียบเหมือนดาบสองคม เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่พื้นที่หมู่บ้านกว่า 4,000 ไร่ ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 750 เมตร ย่อมต้องประสบเจอกับปัญหาภัยแล้งอย่างเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งภูมิประเทศส่วนมากยังเป็นหิน ไม่สามารถขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ หากจะทำชลประทานขนาดใหญ่ก็ยาก เนื่องจากพื้นที่มีทั้งที่คาบเกี่ยวกับเขตป่าอนุรักษ์ป่าสงวนและเขตอุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่ฝนไม่ตก ชาวบ้านต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้อย่างหนัก ซึ่งการแก้ปัญหาก็เป็นไปได้เพียงปลายเหตุและเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ องค์การบริหารส่วนตำบลปวนพุและกลุ่มจิตอาสาจะนำรถน้ำเข้ามาบรรเทาช่วยเหลือให้ชาวบ้านได้มีน้ำกินน้ำใช้ชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ทางองค์การบริหารส่วนตำบลปวนพุได้มีความพยายามในการแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนชาวบ้านผาหวายอย่างถึงขีดสุด โดยมีการขุดลอกแหล่งเก็บน้ำบริเวณข้างบนหมู่บ้าน ซึ่งคาดว่าเมื่อขุดลอกแล้วเสร็จ และมีน้ำเข้ามาเติมเต็มจนเต็มอ่างในช่วงฤดูฝน อ่างเก็บน้ำแห่งนี้คงเป็นสถานที่กักเก็บน้ำเพื่อให้ชาวบ้านผาหวายได้ใช้อย่างเพียงพอ
มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย, สถาบันวิจัยและพัฒนา. (2563). จัดโครงการบริการวิชาการแก่สังคม “การตัดเย็บชุดท้องถิ่นไทเลย (ภูป่าเปาะ)” ภายใต้โครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ ณ บ้านผาหวาย ตำบลปวนพุ อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย. สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.research.lru.ac.th/
มูลนิธิสัมมาชีพ. (2564). ภูป่าเปาะ-ฟูจิเมืองเลย ชีวิตสัมพันธ์ คน ป่า ธรรมชาติ. สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.right-livelihoods.org/
วรากรณ์ ใจน้อย. (2562). การพัฒนารูปแบบการสื่อความหมายเพื่อเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวของชุมชนผาหวาย ตำบลปวนพุ อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย. วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน. (2560). การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ภูป่าเปาะ. สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://ref.codi.or.th/
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย. (ม.ป.ป.). แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเลย. สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://loei.mnre.go.th/th/news/detail/647/
โฮมสเตย์บ้านผาหวาย-ภูป่าเปาะ. (2562). สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/
Amazing Thailand. (ม.ป.ป.). ภูป่าเปาะ ฟูจิเมืองไทย. สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://thai.tourismthailand.org/
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://earth.google.com/
Paapaii. (ม.ป.ป.). “ภูป่าเปาะ” ฟูจิเมืองเลย สวยเกินคำบรรยาย. สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://paapaii.com/travel-phu-pa-por-fuji-at-loei/