Advance search

บ้านหนองแต้
"แคน พิณ โหวด หลากหลาย ผ้าไหมสวยงาม วัฒนธรรมล้ำค่า ภาษาเฉพาะ ไพเราะเสียงดนตรี” แหล่งผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ สมกับขนานนาม "หมู่บ้านแห่งเสียงดนตรี" 
ท่าเรือ
ท่าเรือ
นาหว้า
นครพนม
วิไลวรรณ เดชดอนบม
1 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
3 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
6 ก.พ. 2024
บ้านท่าเรือ
บ้านหนองแต้

ในอดีตบริเวณตั้งที่บ้านท่าเรือมีหนองน้ำธรรมชาติที่มีต้นแต้ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียก โคกหนองแต้ และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า หนองแต้ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น บ้านท่าเรือ มาจากการที่หมู่บ้านเป็นชุมทางน้ำในการติดต่อกับบ้านเมืองอื่น ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีฐานะเป็น “ท่าจอดเรือ” จึงได้รับการขนานนามว่า “บ้านท่าเรือ” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ชุมชนชนบท

"แคน พิณ โหวด หลากหลาย ผ้าไหมสวยงาม วัฒนธรรมล้ำค่า ภาษาเฉพาะ ไพเราะเสียงดนตรี” แหล่งผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ สมกับขนานนาม "หมู่บ้านแห่งเสียงดนตรี" 
ท่าเรือ
ท่าเรือ
นาหว้า
นครพนม
48180
17.5052298231917
104.05213728547
เทศบาลตำบลท่าเรือ

บ้านท่าเรือ เดิมเรียกบ้านแต้ หรือหนองแต้ ชาวบ้านเดิมเป็นกลุ่มชนไทลาวที่โยกย้ายครัวมาจากบ้านแมด บ้านไร่ เขตอำนาจเจริญ (ปัจจุบันเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ) จังหวัดอุบลราชธานี ราวปี พ.ศ. 2530 มีนายศรีวงศา บิณศรี เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางโดยใช้เกวียนเป็นพาหนะทางผ่านทางอำนาจเจริญ เลิงนกทา คำชะอี นาแก สกลนคร ก่อนเข้าสู่ตำบลนาหว้า ซึ่งในขณะนั้นขึ้นกับอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ในครั้งแรกชาวบ้านท่าเรือได้ตั้งบ้านเรือนพักอาศัยอยู่ร่วมกับชาวญ้อที่บ้านนาซ่อม ต่อมาได้ทำการบุกเบิกพื้นที่ป่าจับจองเป็นที่ดินทำกิน และได้ขยายครัวเรือนออกไปตั้งถิ่นฐานยังที่นาของตนเองใน พ.ศ. 2356 เนื่องจากพื้นที่เดิมคับแคบและเกิดไฟไหม้ในหมู่บ้านทำให้บ้านเรือนรับความเสียหาย จึงได้พิจารณาหาที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ ระยะแรกชาวบ้านที่เคลื่อนย้ายออกมานี้มีประมาณ 30-40 ครัวเรือน ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณใกล้หนองน้ำธรรมชาติที่มีต้นไม้ใหญ่ ใบหนา ชาวบ้านเรียกว่า “ต้นแต้” ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกที่ตั้งหมู่บ้านใหม่นี้ว่า “โคกหนองแต้” และเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านแต้”

สภาพทั่วไปของบ้านหนองแต้ในขณะนั้นมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากเพราะมีผืนป่าขนาดใหญ่เป็นแหล่งอาหารให้ชาวบ้านได้พึ่งพาอาศัย นอกจากนี้ ยังอยู่ใกล้กับลำห้วยบ่อกอก ซึ่งเป็นลำห้วยขนาดใหญ่สาขาสำคัญของลำน้ำอูนที่ไหลเชื่อมต่อกับลำน้ำสงครามและไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ “ปากน้ำไชยบุรี” ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน เมื่อถึงฤดูฝนจะมีน้ำท่วมขังในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง มีลักษณะเป็น “ป่าบุ่ง ป่าท่าม” ที่เป็นแหล่งอาศัยของปลาจำนวนมาก ดังนั้นปลาจึงเป็นฐานทรัพยากรสำคัญของชุมชนแถบนี้ โดยชาวบ้านจะจับปลาไว้บริโภค โดยแปรรูปเป็น “ปลาแดก” หรือ “ปลาร้า” เพื่อเก็บไว้กินตลอดปี นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีต้มเกลือ โดยเก็บไว้กินเองส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะนำมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าชนิดอื่นหรือนำมาขายให้กับพ่อค้าที่เดินทางมารับซื้อปลา เกลือ และผลผลิตอื่น ๆ ไปขายให้กับชุมชนภายนอก โดยใช้เส้นทางน้ำเป็นเส้นทางหลัก ซึ่งการค้าขายได้ก่อให้เกิดเครือข่ายระหว่างชุมชนในเขตลุ่มน้ำขึ้นมา ทำให้มีผลต่อการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจเข้าเป็น “ท้องถิ่น” เดียวกัน จากการที่บ้านหนองแต้เป็นชุมทางน้ำในการติดต่อกับบ้านเมืองอื่น จึงทำให้ชุมชนแห่งนี้มี “ท่าจอดเรือ” ที่เป็นที่รู้จักกันดีในท้องถิ่น “บ้านหนองแต้” จึงได้รับการขนานนามว่า “บ้านท่าเรือ” โดยได้มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2499

ในระยะแรก บ้านท่าเรือขึ้นกับตำบลนาหว้า อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ต่อมาประชากรในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น ทางราชการจึงได้จัดเขตการปกครองใหม่โดยการประกาศตั้งกิ่งอำเภอศรีสงคราม บ้านท่าเรือจึงถูกจัดให้ขึ้นกับกิ่งอำเภอที่ตั้งขึ้นใหม่ และได้เปลี่ยนจากหมู่ที่ 14 เป็นหมู่ที่ 1 ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ทางราชการได้ประกาศตั้งกิ่งอำเภอนาหว้า โดยรวมเอาตำบลของอำเภอศรีสงครามจำนวน 2 ตำบลมาขึ้นกับกิ่งอำเภอนาหว้า และได้รับการยกฐานะจากกิ่งอำเภอนาหว้าขึ้นเป็นอำเภอนาหว้าใน พ.ศ.2522 ขณะนั้นบ้านท่าเรือยังคงขึ้นกับตำบลนาหว้า จนเมื่อปี พ.ศ. 2530 จำนวนประชากรในหมู่บ้านได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจึงได้ขออนุมัติจากทางราชการแยกเขตการปกครองเป็น 2 หมู่คือ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 และในปี พ.ศ. 2544 บ้านท่าเรือจึงได้แบ่งเขตการปกครองอีกออกเป็น 3 หมู่ โดยเพิ่มหมู่ที่ 8 เข้ามาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันพื้นที่โดยรวมของหมู่บ้านท่าเรือ มีประมาณ 4,434 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 2,192 ไร่ ป่าไม้ประมาณ 587 ไร่ และพื้นที่อยู่อาศัยประมาณ 1,655 ไร่ ตัวหมู่บ้านตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอนาหว้าประมาณ 6 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครพนมประมาณ 98 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านสุดเขตของจังหวัดนครพนม เพราะมีพื้นที่บางส่วนติดกับบ้านตำบลบะหว้า อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร

อาณาเขตของหมู่บ้าน

  • ทิศเหนือ จรดกับ บ้านเสียว บ้านโคกสะอาด ตำบลบ้านเสียว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม
  • ทิศใต้ จรดกับ บ้านนาซ่อม ตำบลทาเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม
  • ทิศตะวันออก จรดกับ บ้านบะหว้า ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม
  • ทิศตะวันตก จรดกับบ้านแม่นใหญ่ ตำบลบะหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

หมู่บ้านตั้งอยู่บนพื้นที่ดอน หรือภาษาอีสานเรียกว่า “โคก” ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของลำห้วยบ่อกอกที่ไหลลงลำน้ำอูนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อกับลำน้ำสงครามสาขาสำคัญของแม่น้ำโขง บ้านท่าเรือมีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ “ป่าปู่ตา” และ “วัดป่าช้า” (วัดป่ามุทิตาธรรม) เขตป่าศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน สภาพโดยรอบเป็นที่ราบลุ่มบางส่วนสลับเป็นพื้นที่ดอน เมื่อถึงฤดูฝนน้ำจะท่วมขัง ทั่วทั้งบริเวณกลายสภาพเป็น “บุ่ง-ทาม” โดยเฉพาะในแนวร่องน้ำลำห้วยบ่อกอก

บ้านท่าเรือเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน คือ บ้านท่าเรือหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 8 รวมครัวเรือน 3 หมู่บ้าน 953 หลังคาเรือน รวมประชากร 3 หมู่บ้านทั้งสิ้น 2,937 คน แยกออกเป็น ประชากรชาย 1,426 คน และประชากรหญิง 1,511 คน

ประชากรภายในหมู่บ้านเป็นกลุ่มคนที่มีเชื้อสายไทลาวที่อพยพมาจากจังหวัดอำนาจเจริญ นอกจากนั้นยังมีชาวภูไท ชาวญ้อ ชาวแสก รวมอยู่ในสังคมของชุมชนส่วนน้อย แต่วิถีชีวิตส่วนใหญ่ได้ปรับตัวและกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมของกลุ่มไทลาวที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ จนปัจจุบันยากที่จะแยกออกได้ว่าใครคือคนจากกลุ่มชาติพันธุ์ใด

ชาวบ้านท่าเรือประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ อาชีพหลัก คือ การทำนา ในอดีตนิยมทำนาเกลือ ส่วนหนึ่งเก็บไว้เพื่อบริโภคเอง และส่วนหนึ่งนำไปใช้แลกเปลี่ยนกับหมู่บ้านอื่น นอกจากนี้ ยังมีอาชีพหาปลาและหาของป่าขาย เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณริมห้วยบ่อกอก ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และยังมีป่าเบญจพรรณซึ่งมีพรรณไม้หลายชนิดขึ้นปะปนกันอยู่อย่างหนาแน่น ทำให้มีผลผลิตจากป่าเป็นอาหารและยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วย

ในช่วงว่างเว้นจากการทำนาอีกหนึ่งอาชีพที่ชาวบ้านท่าเรือเกือบทุกครัวเรือนนิยม คือ การผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านจำพวกแคน พิณ โหวด เพื่อนำไปขายตามสถานที่ต่าง ๆ โดยการนำเอาทรัพยากรจากป่ามาประยุกต์ใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ เช่น ไม้กู่แคน นำมาทำแคนและโหวด ไม้ขนุน นำมาทำเป็นตัวพิณ ไม้ดู่ ไม้แดงเอามาใช้ทำโปงลาง เครื่องดนตรีพื้นบ้านจากบ้านท่าเรือนับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งบางครั้งทำให้เกิดการขาดแคลนวัสดุในการการผลิต ทำให้ชาวบ้านท่าเรือต้องนำเข้าวัสดุจากท้องที่อื่น เพื่อนำมาทำเครื่องดนตรีขาย อนึ่ง ยังมีการทอผ้า ซึ่งเป็นอาชีพเสริมของเหล่าแม่บ้านชาวบ้านท่าเรือในช่วงว่างเว้นจากฤดูกาลทำนา ที่ก็สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเครื่องดนตรี

อนึ่ง ปัจจุบันบ้านท่าเรือกำลังมีความพยายามที่จะพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีการเปิดหมู่บ้านเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเครื่องดนตรีทั้งแคน พิณ โหวด ปี่นก ปี่ภูไท รวมถึงการทอผ้า ในการณ์นี้นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้เกิดแก่คนในชุมชน ให้ชาวบ้านท่าเรือมีรายได้เพิ่มเติมจากภาคการท่องเที่ยว จนชาวบ้านมีรายได้เพียงพออย่างพอเพียงและยั่งยืน

ชาวบ้านท่าเรือมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีป่าชุมชนที่มีพืชพรรณหลายชนิด และมีความเชื่อมโยงกับการดำรงชีวิตของชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการประกอบอาชีพ กล่าวคือ ป่าไม้เป็นแหล่งวัตถุดิบในการสร้างบ้านเรือน แหล่งพืชสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรค เป็นพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ และยังเป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับชุมชนอีกด้วย ซึ่งมีความหลากหลายและเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ทำให้ในรอบ 1 ปี นอกจากการทำนาแล้วชาวบ้านยังมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจตลอดทั้งปี รวมถึงในรอบปีหนึ่ง ๆ ชาวบ้านท่าเรือจะมีการประกอบประเพณี พิธีกรรมชุมชน ดังนี้

  • มกราคม-เมษายน เป็นฤดูแล้ง ในป่าจะมีไข่มดแดง ผักหวาน ซึ่งสร้างรายได้ค่อนข้างดี เนื่องจากมีราคาสูง
  • พฤษภาคม มีการจัดพิธีกรรม “บุญแคน” ร่วมกับพิธีกรรมเลี้ยงปู่ตา โดยหลังเซ่นไหว้ปู่ตาแล้ว ในวันเดียวกันนั้นคนในชุมชนจะนำแคนมาเป่าแล้วขับร้องกลอนพื้นบ้าน ต่อจากนั้นจะมีการนำแคนไปร่วมบริจาคและนำไปขาย
  • พฤษภาคม-กรกฎาคม เป็นช่วงที่ชาวบ้านทำนา เตรียมดินและปลูกข้าว
  • สิงหาคม-ธันวาคม เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ฤดูกาลนี้พืชพรรรณธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์เป็นพิเศษ เช่น จะมีเห็ดป่า หน่อไม้ หน่อเพ็ก หรือหน่อโจด ดอกกระเจียว หวายจักจั่น แมงแคง แมงจินูน ซึ่งสามารถนำไปขายได้ 
  • พฤศจิกายน-ธันวาคม น้ำในป่าบุ่ง ป่าทามเริ่มลดลง ชาวบ้านจะใช้เครื่องมือจับปลาตามขนาดและพฤติกรรมของปลา เช่น บังล้นหรืออีจู้สำหรับดักจับปลาไหล ตุ้มธงหรือตุ้มปลายอนเป็นเครื่องมือสำหรับล่อปลายอนหลังสีเขียว นอกจากนี้ ยังมีดาง (มองหรือตาข่าย) แห เบ็ด และลอบ
  • ธันวาคม-มกราคม เมื่อนำในป่าบุ่ง ป่าทามเริ่มแห้งขอดจนปรากฏคราบเกลือติดตามผิวดิน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เอียด หรือ ขี้ทา แล้ว ชาวบ้านก็จะเริ่มจับจองพื้นที่ในการต้มเกลือ จนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม หรือเมื่อถึงฤดูฝนจึงเป็นอันสิ้นสุดฤดูกาลต้มเกลือ

นอกจากนี้ หลังว่างเว้นจากการทำนาหรือหาของป่าแล้ว ชาวบ้านท่าเรือยังมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันภายในชุมชน คือ การทำเครื่องดนตรีพื้นบ้าน จากวัตถุจากในชุมชนที่ได้ไม้จากป่าชุมชน นำมาผลิตเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านต่าง ๆ เช่น แคน โหวด พิณ และยังมีกลุ่มสตรีทอผ้าไหม เป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านท่าเรืออีกทางหนึ่งด้วย

1.นายโลน แสนสุริยวงศ์ ช่างทำแคนคนแรกของบ้านท่าเรือ ผู้ประสิทธิประสาทวิชาการทำปี่ ทำแคน ให้ลูกหลานชาวบ้านท่าเรือ และถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน 

1. ภูมิปัญญาการผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้าน

เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่ชาวบ้านท่าเรือมานานนับตั้งแต่ตั้งชุมชน เป็นอาชีพที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางสังคมในการเป็น “หมู่บ้านแห่งเสียงดนตรี” โดยเฉพาะ "แคน" ในอดีตการผลิตแคนบ้านท่าเรือจะทำแคนขายเฉพาะผู้มาสั่งทำเป็นรายบุคคลเท่านั้น แต่ในระยะหลังเครื่องดนตรีพื้นบ้านของบ้านท่าเรือเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีการรวมตัวเป็นกลุ่มอาชีพในปี พ.ศ. 2534 ในนามกลุ่มทำแคน-โหวด โดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ สนับสนุนเป็นวัสดุอุปกรณ์ คิดเป็นเงิน 24,000 บาท มีสมาชิกร่วมก่อตั้ง จำนวน 159 คน ในปี พ.ศ. 2536 มีกลุ่มจัดตั้งจากการสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์จากสมาคมวายเอ็มซี (YMC) จังหวัดเชียงใหม่ มีสมาชิกจำนวน 22 คน (ปัจจุบันได้รวมกันเป็นสมาชิกกลุ่มเดียวกัน)

ในปัจจุบัน การผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวบ้านท่าเรือมีชื่อเสียงโด่งดัง และผลิตภัณฑ์สินค้าก็เป็นที่นิยมอย่างมาก ชาวบ้านมีการพัฒนาฝีมือและผลิตเครื่องดนตรีหลายประเภทเพิ่มมากขึ้นจากแคน โหวต มาเป็นพิณ โปงลาง ปี่นก และเป็นของที่ระลึก ในการผลิตจะใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก มีการปรับใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต แต่ยังคงเน้นวิธีการตามแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม นอกจากการผลิตเครื่องดนตรีแล้ว ยังมีบางส่วนประกอบอาชีพขายเครื่องดนตรี เปิดร้านเครื่องดนตรีเป็นของตนเอง เช่น ร้านมิวสิคอีสาน จะเห็นว่าการประกอบอาชีพการทำเครื่องดนตรีในเชิงธุรกิจทำกันทั้งหมู่บ้าน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่มีต่อเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี เครื่องดนตรีพื้นบ้านจากภูมิปัญญาที่ถูกสร้างสรรค์จากวัสดุท้องถิ่นกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่ส่งออกขายทั่วประเทศและต่างประเทศ กระทั่งบ้านท่าเรือกลายเป็นแหล่งผลิตเครื่องดนตรีอีสานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างเงินหมุนเวียนปีละหลายล้านบาท สร้างรายได้แก่ครัวเรือนไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 บาทต่อเดือน ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีและเป็นที่นิยมมากทุสุด คือ แคน ซึ่งชาวบ้านท่าเรือได้มีการพัฒนาฝีมือและต่อยอดประดิษฐ์แคนให้มีลวดลายที่สวยงาม ทันต่อยุคสมัย เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมของแคนไว้ นอกจากนี้ยังมีการทำลิ้นเงิน และลิ้นทอง ซึ่งเป็นที่นิยมในตลาดวงดนตรีหมอลำด้วย

อนึ่ง บ้านท่าเรือยังเป็นศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย นายโลน แสนสุริยวงศ์ ช่างทำแคนคนแรกของบ้านท่าเรือและเพื่อนอีก 2 คน คือนายลอง และนายไกร แมดมิ่งเหง้า

2. ภูมิปัญญาการทอผ้าไหม

การทอผ้า เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านท่าเรือมานานนับตั้งแต่ตั้งชุมชน ในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการตั้งกลุ่มทอผ้าไหมศิลปาชีพขึ้น เริ่มแรกมีสมาชิก 41 คน โดยทางกลุ่มได้มีการปลูกหม่อนและเลี้ยงไหมพันธุ์ดีซึ่งได้รับการสนับสนุนโรงเลี้ยงไหมจากกรมส่งเสริมการเกษตร ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพที่ดีขึ้น มีการศึกษา เรียนรู้ และพัฒนาการเลี้ยงไหม ตลอดจนการทอผ้าไหมอยู่เสมอ มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ประหยัดทรัพยากรมากยิ่งขึ้น และยังทำให้ผลผลิตมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการที่ผ้าไหมของกลุ่มฯ ได้รับรางวัลประกวดผ้าไหมระดับภาคฯ ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศ จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา และในปี พ.ศ. 2545 ได้รับรางวัลชนะเลิศและรางวัลชมเชย รวม 30 รางวัล นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2542 กลุ่มทอผ้าไหมได้มีโอกาสร่วมทอผ้าไหมเฉลิมพระเกียรติทูลเกล้าฯ 73 เมตร เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระชนมายุครบ 6 รอบ และในปี พ.ศ. 2543-2544 ได้มีโอกาสทอผ้าไหมเฉลิมพระเกียรติฯ พระราชกรณียกิจซึ่งเป็นลายประยุกต์ ยาว 9 เมตร และในปี พ.ศ. 2545 ทอผ้าไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ลายน้ำไหล ยาว 19 เมตรทูลเกล้าฯ อีกครั้งหนึ่ง

ปัจจุบัน กลุ่มทอผ้าไหม บ้านท่าเรือ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐหลายกลุ่มในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดประโยชน์กับชุมชน การช่วยเหลือด้านเงินทุน รวมถึงการสนับสนุนด้านวิชาการและเทคโนโลยีการผลิต การหาตลาดในการส่งออกสินค้า ทำให้กลุ่มอาชีพทอผ้าไหม บ้านท่าเรือประสบผลเร็จเป็นอย่างมาก

นอกจากภาษา “อีสาน” ที่ใช้กันทั่วไปในหมู่บ้านแล้ว ชาวบ้านท่าเรือยังมีการใช้ภาษาสื่อสารอีกภาษาหนึ่งซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิม คือ ภาษาไทแสก ที่ยังใช้กันอยู่บ้างในปัจจุบัน ภาษาไทแสกนั้นเป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่พูดในภาษาตระกูลไท-กะได ซึ่งในปัจจุบันผู้พูดในภาษานี้เหลือน้อยลง เพราะคนรุ่นใหม่หันไปพูดภาษาลาวและภาษาไทยถิ่นอีสานมากขึ้น


สภาพทางสังคมของบ้านท่าเรือ เป็นสังคมเกษตรกรรม ในยุคพัฒนา วิถีชีวิตของชาวบ้านอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมเก่าที่สืบสานมาจากบรรพบุรุษ ขณะเดียวกันวัฒนธรรมของสังคมสมัยใหม่ที่รุกเข้ามาในชุมชนด้วยอิทธิพลของการสื่อสารและเทคโนโลยี ก็ทำให้การดำเนินชีวิตของชาวบ้านท่าเรือมีความผสมผสานระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ หรือวัฒนธรรมดั้งเดิมกับวัฒนธรรมภิวัตน์ เห็นได้จากการประกอบอาชีพ คือ การทำนา ที่ในอดีตการทำงานนั้นต้องอาศัยแรงงานจากคนและสัตว์ แต่ในระยะหลังมาจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านท่าเรือเกือบทุกครัวเรือนนิยมใช้รถไถนาแบบเดินตามหรือชาวบ้านเรียกกันว่า ควายเหล็ก ก่อพัฒนามาเป็นรถแทร็กเตอร์ หรือรถไถนั่งขับ จะเห็นได้ว่าชุมชนบ้านท่าเรือเป็นสังคมเกษตรกรรมที่กำลังพัฒนาทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่กลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมเก่ากับสังคมสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยไม่ทิ้งการมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย รวมถึงการรักษาอัตลักษณ์ในเกียรติภูมิของชุมชน ซึ่งสิ่งดีงามเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ในสังคมของชาวบ้านท่าเรือ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). บ้านท่าเรือ. สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/

กระทรวงวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านท่าเรือ. สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www2.m-culture.go.th/

เทศบาลตำบลท่าเรือ. (2562). สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.tharuaenawa.go.th/

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2562). สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.rdpb.go.th/

อนุชิต สิงห์สุวรรณ และคณะ. (2558). การศึกษาแนวทางการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชุมชนอย่างยั่งยืน ในการเป็นแหล่งวัตถุดิบเพื่อผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน กรณีศึกษา บ้านท่าเรือ ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม. (รายงานการวิจัย). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

MGR Online. (2560, 20 พฤษภาคม). ไม่เคยขาดแคน “บ้านท่าเรือ” ผลิตเครื่องดนตรีอีสานส่งขายทั่วโลกโกยเงินนับ 100 ล้านบาท/ปี. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. MGR Online. จาก https://mgronline.com/