ชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายอาศัยอยู่ร่วมกันบอนดอยสูง และพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงดอยสะโงะ
ชื่อหมู่บ้านดอยสะโงะ มาจากตำนานดอยช้างงู ที่พระเจ้าพรหมกุมารจับงูที่ลอยมาในน้ำโขงและงูได้กลายร่างมาเป็นช้าง ชื่อ พานคำ ซึ่งพระเจ้าพรหมกุมารได้เลี้ยงดูและฝึกให้เชี่ยวชาญในการรบ ต่อมาได้สู้กับขอมจนชนะ เมื่อชนะแล้วช้างมงคล "พานคำ" ก็ออกจากเมืองพานคำแล้วกลายร่างกลับไปเป็นงูใหญ่หายไปในดอย ซึ่งต่อมาเรียกชื่อดอยว่า "ดอยช้างงู" และชาวอาข่าที่อาศัยอยู่บริเวณดอยนี้ ออกเสียงเรียกชื่อดอยไม่ชัดตามสำเนียงอาข่า จากดอยช้างงูเพี้ยนเป็น "ดอยสะโงะ"
ชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายอาศัยอยู่ร่วมกันบอนดอยสูง และพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงดอยสะโงะ
ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2456 ชาวอาข่ากลุ่มอุโละประมาณ 4 ครอบครัว ได้ชวนกันอพยพจากเมียนมาเข้ามาสู่ประเทศไทยทางบริเวณพื้นที่ระหว่างอำเภอแม่สายกับหมู่บ้านสบรวก (สามเหลี่ยมทองคำ) สาเหตุเนื่องจากขณะนั้นมีโรคระบาดคือไข้มาลาเรียในเมียนมาและนอกจากนั้นยังมีปัญหาการสู้รบปราบปรามหรือสงครามอยู่บ่อยๆ กลุ่มอาข่าอุโละ 4 ครอบครัวแรกอพยพมาจากหมู่บ้านโลโหย่ในเมียนมา ประกอบด้วย
- นายโบ๊ะญะ เยอะแหจะ (เป็นทวดของตระกูลเยอะแหจะ)
- นายม๊อญะ เยอะส่อ
- นายม๊อนะ จูเปาะ
- นายญอแซะ จูต้อง
ต่อมาราวปี พ.ศ. 2500 กลุ่มคนยองจากป่าถ่อน (ซึ่งย้ายมาจากลำพูนก่อนหน้านั้น) คือ ลุงคำปัน ร้องหาญแก้ว กับเพื่อนจากบ้านสบรวก อีก 2 ครอบครัว คือ ลุงหนานยอด ธิดวงแสง และลุงน๊อต แก้วรากมุข โดยกลุ่มนี้เข้ามาเลื่อยไม้ เพราะแถวนี้เป็นพื้นที่ป่า มีต้นไม้อยู่มากโดยเฉพาะไม้ยาง จึงชวนกันมาอยู่และก่อตั้งหมู่บ้านใหม่ชื่อบ้านป่ายาง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2504 จึงชักชวนเพื่อนบ้านจากป่าถ่อน และสบรวกมาอยู่ด้วยกัน ประชากรจึงเพิ่มขึ้นเป็น 12 ครัวเรือน
สาเหตุที่เลือกตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี่ เนื่องมาจากบ้านดอยสะโงะมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นภูเขา มีป่าไม้ มีแหล่งน้ำลำห้วยหลายสาย และดินสมบูรณ์ดีเหมาะแก่การทำไร่ อีกทั้งไม่มีคนอยู่อาศัย และอำนาจรัฐก็ยังไม่เข้ามาขับไล่รบกวน
เหตุการณ์สำคัญ
- พ.ศ. 2485 รัฐบาลให้สัญชาติไทยแก่ชาวอาข่าดอยสะโงะ
- ก่อนปี พ.ศ. 2490 ช้างหลายเชือกจากพม่าข้ามเข้ามาหาอาหารกินในบริเวณดอยสะโงะข้ามไปมาหลายปีแล้วหายไปเลย
- พ.ศ. 2509 น้ำท่วมใหญ่เชียงแสนน้ำโขงท่วมล้นมาถึงที่ราบลุ่มตีนดอยสะโงะ
- พ.ศ. 2513 ในหลวง ร.9 เสด็จดอยสะโงะครั้งแรกที่บ้านกลางและพระราชทานเหรียญที่ระลึกชาวเขา
- พ.ศ. 2517 สมเด็จย่าเสด็จเยี่ยมชาวอาข่าดอยสะโงะ
- พ.ศ. 2521 ตั้งโครงการหลวงดอยสะโงะ
ชุมชนดอยสะโงะ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเป็นระยะทางโดยประมาณ 16 กิโลเมตร มีภูมิประเทศเป็นภูเขาและมีที่ราบสูงเนินเขา ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาลูกคลื่น สูงจากระดับน้ำทะเล 400-700 เมตร มีอุณหภูมิเฉลี่ย 21 องศาเซลเซียส ใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร และสำหรับสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
ชุมชนดอยสะโงะ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า กลุ่มชาติพันธุ์ไทยลื้อ ชาวไทยใหญ่ และคนเมือง โดยชุมชนดอยสะโงะมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 461 ครัวเรือน ประกอบด้วย ประชากรชาย 528 คน ประชากรหญิง 580 รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 1,108 คน
ไทลื้อ, ไทใหญ่, อ่าข่าชุมชนดอยสะโงะ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ดอยสูง ประชากรส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม การเพาะปลูกพืชต่าง ๆ และบางส่วนก็ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปร่วมกันไปด้วย พืชที่ชาวบ้านดอยสะโงะนิยมเพาะปลูกมีความหลากหลายเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และสภาพอากาศเหมาะสม จึงมีทั้งการปลูกไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผัก และพืชล้มลุกต่าง ๆ ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับประชากรในชุมชนได้เป็นอย่างดี
ชุมชนดอยสะโงะ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นทุนสำคัญในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต กอปรกับการจัดตั้งโครงการหลวงดอยสะโงะ พื้นที่ชุมชนนี้จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตร ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเยี่ยมกิจกรรมของศูนย์ฯ ชมแปลงสาธิต พืชผัก ไม้ดอก ไม้ผล สมุนไพร และเยี่ยมชมแปลงของเกษตรกร เช่น ไร่ส้ม ไร่ข้าวโพดหวาน
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทางโบราณประวัติศาสตร์ เที่ยวชมดอย ตำนานประวัติศาสตร์ดอยช้างงู ร่องรอยป้อมปราการสมัยโบราณบนยอดดอย ทัศนียภาพดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ ชมบรรยากาศเทือกเขาดอยนางนอน ชมภูเขาล้างทองบ่อพื้นที่ตำนานเก่าแก่สมัยโบราณที่บ้านเขาสะโงะ ชมทะเลหมอกในยามเช้า บรรยากาศแม่น้ำโขง ประเทศลาว และพระธาตุเขานางคอย ลงเรือชมน้ำโขงประเทศพม่าและประเทศลาว แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองที่นับถือพุทธศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของอาข่าและศึกษาพิพิธภัณฑ์อาข่า ประเพณีปีใหม่ (กินวอ) พิธีกรรมไล่ผีร้าย งานศิลปะการเย็บผ้าอาข่า งานฝีมือของที่ระลึกต่าง ๆ และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อาข่า
ชุมชนดอยสะโงะ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า กลุ่มชาติพันธุ์ไทยลื้อ ชาวไทยใหญ่ และคนเมือง การใช้ภาษาในการสื่อสารของผู้คนในชุมชนจึงใช้เป็นภาษาถิ่น ภาษาพื้นเมืองในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ
จากจุดเหนือสุดของประเทศไทยที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำและแม่น้ำโขง พื้นที่รอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย ลาว และเมียนมา พื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ และเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านดอยสะโง้ ที่ในอดีตบริเวณนี้ชาวเขาที่อาศัยอยู่มีฐานะยากจน และปลูกพืชเสพติดสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่
เมื่อปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังหมู่บ้านสะโง้ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้พระราชทานสิ่งของ ยาชุด เครื่องเขียนแบบเรียนต่างๆ แก่ครู นักเรียน ตลอดจนเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ และกรมพัฒนาที่ดินที่ประจำอยู่หมู่บ้านสะโง้ ต่อมาจึงได้มีการก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะขึ้นในปี พ.ศ. 2522 อย่างเป็นทางการ ในรูปแบบงานอาสาพัฒนาชาวเขา โดยความร่วมมือของมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ มีประชากรในความรับผิดชอบของศูนย์ฯ จำนวน 4 หมู่บ้าน รวม 1,105 ครัวเรือน 2,976 คน เป็นชาวอาข่า ไทลื้อ และคนเมือง การดำเนินงานของศูนย์ฯ ได้มุ่งเน้นการพัฒนาส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง ปลูกจิตสำนึกให้รักและหวงแหนป่าต้นน้ำ รวมทั้งการพัฒนาระบบการบริหารร่วมกับหน่วยงานราชการ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชนต่างๆ ให้เห็นความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชผักภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยศูนย์ฯได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดต่างๆ ได้แก่ องุ่น เสาวรส ผักกาด กวางตุ้ง มะเขือม่วงก้านดำ มันเทศญี่ปุ่น ฟักทองญี่ปุ่น และยังเป็นศูนย์เรียนรู้ศึกษาดูงานด้านการแปรรูปสมุนไพรอบแห้ง โดยทางศูนย์ฯ มีพืชสมุนไพรที่ส่งเสริม จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ เก๊กฮวย ดอกคาร์โมมาย และหญ้าหวาน มีเกษตรกรเข้าร่วมปลูกพืชสมุนไพร 250 ครอบครัว พื้นที่เพาะปลูก 42.5 ไร่
ดอกเบญจมาศป่า
ดอกเบญจมาศป่า หรือดอกเก๊กฮวยสีเหลือง ได้ถูกนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 และเกษตรกรได้ทดลองปลูกจนได้ดอกเก๊กฮวยมีคุณภาพดี จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นกว่า 50,000 บาท/ครัวเรือน และเป็นแหล่งที่ปลูกดอกเก๊กฮวยสีเหลืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ สำหรับกระบวนการผลิตเก๊กฮวย เกษตรกรจะเริ่มปลูกดอกเก๊กฮวยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-มกราคม จากนั้นเก็บเกี่ยวดอกสด นำมาส่งให้ทางศูนย์ฯ ทำการแปรรูป โดยใช้กระบวนการอบแห้ง เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เก็กฮวยอบแห้งที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ จำหน่ายในร้านโครงการหลวงและผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรดอยคำ
ทั้งนี้ในส่วนของขั้นตอนกระบวนการอบแห้ง มูลนิธิโครงการหลวงได้รับมอบเครื่องอบแห้งระบบถาดหมุน จำนวน 8 เครื่อง จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ ภายใต้โครงการการพัฒนากระบวนการแปรรูปดอกคาโมมายล์ ดอกเบญจมาศป่า (เก๊กฮวย) และพืชสมุนไพรอบแห้ง โดยเป็นเครื่องอบแห้งลมร้อน (Tunnel dryer) ขนาด 500 กิโลกรัมต่อครั้ง ซึ่งสามารถรองรับปริมาณผลผลิตได้มากถึง 250 ตันสดต่อปี ซึ่งช่วยลดการสูญเสียผลผลิตสดที่รอการอบแห้ง กระจายความร้อนในห้องอบแห้งได้ทั่วถึงสม่ำเสมอ ทำให้รองรับปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถเป็นเครื่องต้นแบบที่ได้มาตรฐานช่วยยกระดับกระบวนการแปรรูปสมุนไพรชาดอกไม้ได้มากยิ่งขึ้น
คลังข้อมูลชุมชน. (2564). บ้านดอยสะโง๊ะ จ.เชียงราย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 กุมพาพันธ์ 2567 จาก: https://communityarchive.sac.or.th/community/BanDoiSaNgo
สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย. (ม.ป.ป.). ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 กุมพาพันธ์ 2567 จาก: https://www.cots.go.th/travelview/
องค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล. (2565). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). องค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย.
อุทยานหลวงราชพฤกษ์. (2564). ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ. มูลนิธิโครงการหลวง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 กุมพาพันธ์ 2567 จาก: https://www.royalparkrajapruek.org/