"ไทยญ้อบ้านนางอยกับวิถีชีวิตที่ราบสูงภูพาน ไหลเรือไฟบกตระการวัฒนธรรมเมืองเต่างอย น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเพิ่มรายได้ให้ชุมชน"
"บ้านนางอย” มีความหมายว่า หมู่บ้านที่มีพื้นที่สูงจากพื้นที่นา เนื่องจากลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้านที่อยู่สูงกว่าพื้นที่นา คราแรกเรียก "งอยนา" แล้วจึงมาเปลี่ยนเป็น "นางอย" ในภายหลัง
"ไทยญ้อบ้านนางอยกับวิถีชีวิตที่ราบสูงภูพาน ไหลเรือไฟบกตระการวัฒนธรรมเมืองเต่างอย น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเพิ่มรายได้ให้ชุมชน"
การก่อตั้งบ้านนางอยนั้นมีที่มาและเรื่องราวเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากภายหลังจากการปราบกบฏแล้ว ทางการไทยได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองภูวา-นากะแด้งและเมืองมหาชัยกองแก้ว ที่อยู่ทางแถบตอนกลางของประเทศลาว ซึ่งปัจจุบัน คือ บรรพบุรุษของบ้านนางอย โดยชาวบ้านนางอยกลุ่มแรกได้อพยพมาจากแขวงคำม่วน บ้านโพนนาแก้ว เมืองมหาชัยกองแก้ว ผู้คนที่อพยพมา คือ ชาวญ้อ เดินทางข้ามแม่น้ำโขงลัดเลาะมาตามป่า โดยผู้ที่อพยพมาเริ่มแรกนั้นเป็นต้นกำเนิดของตระกูลงอยจันทร์ศรี ตระกูลงอยภูธร ตระกูลเคนะอ่อน และตระกูลหาแก่น แรกเริ่มตั้งหมู่บ้านบริเวณรอบ ๆ วัดนางอยตัดกับทุ่งนาที่มีลำห้วยตัดผ่าน ซึ่งในการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกมีประชากรเพียงแค่ 4 ครอบครัว และพระสงฆ์ที่จำพรรษาเพียง 1 รูปเท่านั้น แล้วตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “หมู่บ้านฟากนา” มาจากลักษณะของเรือนที่เป็นเรือนยกสูงทำมาจากไม้ไผ่ที่เรียกว่า ฟาก ทำหลังคาที่มุงด้วยหญ้าคา และพื้นที่ตั้งของบ้านที่อยู่สูงกว่าพื้นที่นา ต่อมาหมู่บ้านมีการขยายตัวมากขึ้น ภาครัฐจึงได้เปลี่ยนชื่อจากบ้านฟากนาเป็น บ้านงอยนา แต่ต่อมาไม่นานทางราชการที่เข้ามาสำรวจพื้นที่ได้ทำการเปลี่ยนชื่อใหม่ให้หมู่บ้านจากบ้านงอยนาเป็น “หมู่บ้านนางอย” ซึ่งมีความหมายว่า หมู่บ้านที่มีพื้นที่สูงจากพื้นที่นา
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านนางอยตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ห่างจากตัวเมืองประมาณ 22 กิโลเมตร สภาพพื้นที่ของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นที่ราบสูง บ้านเรือนที่อยู่อาศัยติดกันอย่างหนาแน่น พื้นที่โดยรอบติดกับลำห้วย ทุ่งนา และภูเขา มีแหล่งน้ำที่สำคัญ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยค้อ หนองน้ำตามธรรมชาติ คือ ห้วยอีนูน หนองบัว มีทรัพยากรป่าไม้ที่สมบูรณ์ มีพื้นที่อาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านโพนปลาไหล
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านโคกงอย
- ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอโคกศรีสุพรรณ
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านเต่างอย
ลักษณะทางกายภาพ
สภาพพื้นที่ภายในหมู่บ้านมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสูง มีความชันจากทางด้านทิศตะวันออกลาดเอียงมาทางด้านทิศใต้ มีอ่างเก็บน้ำห้วยค้อที่คอยส่งน้ำให้กับห้วยอีนูนนและหนองบัว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการทำเกษตรกรรม สภาพดินของที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนดินชั้นล่างที่ลึกลงไปจะเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย หรือดินร่วนเหนียว ซึ่งมีความลึกมาก ทำให้การระบายน้ำค่อนข้างเร็ว ขณะเดียวกันก็ทำให้พื้นดินส่วนนี้มีแร่ธาตุในดินต่ำ ส่งผลให้พื้นที่บางส่วนไม่เหมาะต่อการทำการเกษตร
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของบ้านนางอยมีลักษณะคล้ายกับสภาพภูมิอากาศทั่วไปของภาคอีสาน คือ แบ่งได้เป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว โดยช่วงฤดูร้อนจะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคมของทุกปี ช่วงอากาศร้อนจัดจะเป็นช่วงกลางเดือนเมษายน ส่วนช่วงฤดูฝน ฝนจะตกในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมถึงประมาณเดือนตุลาคม ในบางปีฝนจะมีช่วงยาวประมาณถึงกลางเดือนพฤศจิกายน และฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวมาเยือนประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ บางปีหนาวไปจนถึงต้นเดือนมีนาคม บ้านนางอยเมื่อถึงช่วงฤดูหนาวในช่วงเช้าจะมีอากาศหนาวเย็นมาก เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่ติดกับภูก่อ ภูเขาที่อยู่ติดกับเทือกเขาภูพาน ซึ่งสภาพอากาศภายในหมู่บ้านแต่ละช่วงฤดูจะมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศและอุณหภูมิของโลก
ทรัพยากรธรรมชาติ
บ้านนางอยมีการใช้ประโยชน์จากป่าภูเขาที่อยู่ใกล้หมู่บ้านคือ ภูก่อ เป็นแหล่งทรัพยากรธรมชาติที่สำคัญของหมู่บ้าน เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำและแหล่งอาหารที่ชาวบ้านหาได้จากป่า เช่น การเก็บเห็ด ทั้งเห็ดโคลน เห็ดแดง เห็ดหมาก และเห็ดตะโล่ นอกจากการใช้ประโยชน์ในการหาอาหารเพื่อบริโภคแล้ว ชาวบ้านยังใช้ประโยชน์จากป่าเพื่อเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากในช่วงฤดูทำนาจะไม่มีพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านจะนำสัตว์ไม่ว่าจะเป็นวัว ควายไปปล่อยเลี้ยงไว้บนภูก่อจนกว่าจะถึงฤดูเก็บเกี่ยว
นอกจากนี้ บ้านนางอยยังมีทรัพยากรน้ำที่เป็นแหล่งสำคัญในการอุปโภคและบริโภค ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยค้อ และอ่างเก็บน้ำห้วยหวด ที่เป็นแหล่งส่งน้ำให้กับชาวบ้านในการทำการเกษตร และยังมีแหล่งน้ำธรรมชาติอีก 2 แห่ง คือ หนองบัว และห้วยอีนูน ห้วยอีนูนจะมีน้ำตลอดทั้งปี ชาวบ้านจะใช้ห้วยอีนูนเป็นแหล่งน้ำหลักในการทำการเกษตรและหาปลา ตลอดจนพืชผักที่ขึ้นเองตามลำห้วยได้ตลอดทุกช่วงฤดูกาล
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านนางอย ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,244 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 615 คน ประชากรหญิง 629 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 508 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในชุมชน คือ ชาวญ้อ
ญ้อชาวบ้านนางอยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ในอดีตชาวบ้านจะยึดอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียว และเมื่อถึงช่วงฤดูต่าง ๆ ชาวบ้านจะไปหาพืชผักอาหารจากป่ามาบริโภคในครอบครัว แบ่งปันญาติพี่น้อง และส่วนที่เหลือจะนำไปขายเพื่อเป็นรายได้เสริม แต่ปัจจุบันภายในหมู่บ้านนอกจากการทำการเกษตรแล้ว ชาวบ้านยังส่งผลผลิตทางเกษตรสู่อุตสาหกรรม เช่น ปลูกมะเขือเทศเพื่อส่งจำหน่ายให้กับโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่เข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม บางส่วนประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น รับราชการ ค้าขาย นอกจากอาชีพหลักทางการเกษตรยังมีการทำจักสานเป็นอาชีพเสริมอีกหนึ่งอาชีพ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในช่วงว่างเว้นจากการทำนา
นอกจากนี้ ปัจจุบันชาวบ้านนางอยได้มีการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าหลายชนิด เช่น น้ำมัลเบอร์รี กล้วยน้ำว้าอบ มะม่วงอบแห้ง มะเขือเทศอบแห้ง ข้าวกล้องผสมธัญพืช ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์โดยคนในชุมชน บริหารจัดการโดยคนในชุมชน และนำรายได้กระจายหมุนเวียนสู่คนในชุมชน
ศาสนา
ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดเป็นศูนย์กลางในการประกอบกิจกรรมร่วมของชาวบ้าน วัดภายในหมู่บ้านมีอยู่ 2 แห่ง คือ วัดบ้านนางอยและวัดป่าหนองบัว วัดบ้านนางอยเริ่มสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2413 มีหลวงพ่อลุนเป็นพระรูปแรกของวัด และวัดหนองบัวสร้างเมื่อ พ.ศ. 2431 ชาวบ้านจะรวมตัวกันทำบุญที่วัดอยู่เป็นประจำ โดยชาวบ้านแต่ละคุ้มจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปทำบุญแต่ละวัด
ความเชื่อ
ชาวบ้านนางอยมีความเชื่อที่สืบต่อกันมา คือ ตำนานผาแดงนางไอ่ ว่าเป็นเรื่องจริง โดยพื้นที่หนองบัวเคยเป็นเมืองมาก่อน แล้วล่มสลาย มีการขุดพบโบราณวัตถุยุคบ้านเชียงที่จมอยู่ในสระหนองบัว เช่น หม้อ ไห กำไลข้อมือ และยังมีความเชื่อเกี่ยวกับผีปู่ตาที่มีศาลอยู่บริเวณรอบดอนหอ เชื่อว่าเจ้าปู่ที่ดูแลดอนหอหรือศาลปู่หนองบัว คือ ดวงวิญญาณผู้มีอำนาจซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นเจ้าเมืองกบิลในยุคโบราณ
ประเพณีและวัฒนธรรม
บ้านนางอยมีประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน คือ การยึดหลักฮีต 12 คอง 14 โดยประเพณีและวัฒนธรรม รวมถึงการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ จะทำตามปฏิทินของศาสนา แต่จะมีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นในภาคอีสานบ้างเล็กน้อย ประเพณีและวัฒนธรรมสำคัญของหมู่บ้าน มีดังนี้
1) บุญกองข้าว จัดขึ้นในช่วงเดือนสาม ชาวบ้านจะนำเอาข้าวเปลือกที่ได้จากการเก็บเกี่ยวมาร่วมบริจาคทำบุญที่วัดควบคู่ไปกับงานบุญข้าวจี่ โดยพระสงฆ์จะทำพิธีสวดมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชาวบ้าน เมื่อเสร็จพิธีชาวบ้านจะนำเอาข้าวเปลือกบางส่วนมาเก็บไว้ที่ยุ้งฉางของตน โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ผลผลิตมีความอุดมสมบูรณ์ได้ผลผลิตจำนวนมาก
2) บุญผะเหวด จัดในช่วงเดือนสี่ไทย การทำบุญผะเหวดจะทำติดต่อกัน 3 ปีต่อเนื่อง
3) บุญงานเม็ง เป็นบุญที่ทำสลับกันกับบุญผะเหวด หากปีใดไม่จัดบุญผะเหวดก็จะจัดเป็นบุญงานเม็งแทน
4) บุญสงกรานต์
5) บุญเข้าพรรษา
6) บุญข้าวประดับดิน
7) บุญข้าวสาก จัดในเดือนสิบ
8) ประเพณีไหลเรือไฟ จะทำในวันเดียวกันกับบุญข้าวสากหรือกำหนดวันที่เหมาะสมตามที่อำเภอเต่างอยกำหนดร่วมกัน เดิมจะมีแค่บ้านเต่างอยเพียงหมู่บ้านเดียว แต่ปัจจุบันมีนโยบายให้ประเพณีไหลเรือไฟเป็นงานหลักของตำบล มีแนวคิดมาจากเอกลักษณ์ของแต่ละหมู่บ้านภายในตำบล มีความเชื่อว่าไหลเรือเป็นการเคารพแม่น้ำที่เปรียบเสมือนแม่ที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน
9) บุญออกพรรษา
10) บุญกฐิน
1.นายสะอาด ยาสาไชย ปราชญ์ภูมิปัญญาหมอรักษากระดูกและรักษาอาการตะขาบต่อย
2.นายสมนึก งอยแพง ปราชญ์ภูมิปัญญาหมอห้ามเลือด
3.นายโสดา ยะงาม ปราชญ์ภูมิปัญญาการรักษาโรคด้วยวิธีเป่าแผลเมื่อโดนสุนัขกัด
มีภาษาถิ่นที่ใช้ภาษาพูด คือ ภาษาไทยลาว และภาษาญ้อ โดยภาษาทั้งสองมีความแตกต่างด้านสำเนียงเล็กน้อย คือ ภาษาญ้อจะมีสำเนียงน้ำเสียงสูง อ่อนหวาน ไม่ห้วนสั้นเหมือนไทยลาว ด้านภาษาที่ใช้ติดต่อราชการใช้ภาษาไทยกลาง
ในอดีตสถานการณ์ชาวบ้านมีฐานะความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก ขาดอาชีพเสริม ทั้งยังได้ผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตจากการเกษตรสร้างรายได้ไม่พอต่อการดำรงชีวิต นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาจากหนี้สินที่ไปกู้ยืมมาลงทุนทำเกษตร ตลอดจนประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่รายได้ลดลง ทั้งนี้ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จไปยังหมู่บ้านนางอย–โพนปลาโหล จังหวัดสกลนคร เมื่อ พ.ศ. 2523 ทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่ที่ยากแค้นของราษฎร จึงมีพระราชดำริเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาหมู่บ้านนางอย–โพนปลาโหล มีพระราชประสงค์ส่งเสริมให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น นำไปสู่การจัดตั้ง “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 เต่างอย” ดำเนินงานโดยโครงการพระราชดำริ มีบทบาทส่งเสริมการปลูกพืชในระบบเกษตรอุตสาหกรรมและเป็นตลาดรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน เพื่อนำไปแปรรูปและจำหน่าย ส่งผลให้ลดการอพยพออกไปหางานทำนอกพื้นที่ เกิดกลไกการสร้างและสนับสนุนการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัว และลดการย้ายพื้นที่เพาะปลูก โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมร่วมกับการจัดการทรัพยากรเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมทั้งส่งผลต่อการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของชุมชน ก่อให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้แบบพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
กระทรวงสาธารณสุข. (2562). แผนที่อำเภอเต่างอย. สืบค้น 12 ธันวาคม 2566. จาก https://skko.moph.go.th/
ข่าวสดออนไลน์. (2565). สวยงาม ตระการตา เรือไฟบก เต่างอย ที่เดียวในโลก ชาวบ้านร่วมใจสืบสานประเพณี. สืบค้น 12 ธันวาคม 2566. จาก https://www.khaosod.co.th/
เต่างอย ซิตี้ บ้านเฮา. (2564). ภูก่อ จุดชมวิวสูงสุดเทือกเขาภูพาน. สืบค้น 12 ธันวาคม 2566. จาก https://www.facebook.com/
ทองเปิ้น คำหนองไผ่. (2550). ระบบยุติธรรมชุมชน: กรณีศึกษา บ้านนางอย หมู่ 4 ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรบ้านนางอย. (2564). สืบค้น 12 ธันวาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/
สถาบันการจัดการเทคโนโลยี. (2563). เส้นทางการพัฒนาบ้านนางอย. สืบค้น 12 ธันวาคม 2566, จาก https://www.nstda.or.th/
Siam University. (2557). โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร. สืบค้น 12 ธันวาคม 2566. จาก https://www.thirdroyalfactory.siam.edu/