ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ขมุในเขตพื้นที่รอยต่อชายแดนไทย-ลาว ภูมิปัญญาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นและวิถีชีวิตของผู้คนกับธรรมชาติ
ในบริเวณชุมชนมีลำห้วยไหลผ่าน และเพื่อให้สอดคล้องกันจึงตั้งชื่อชุมชนและชื่อลำห้วยโดยใช้ชื่อเดียวกัน เรียกว่า "บ้านห้วยจ้อ"
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ขมุในเขตพื้นที่รอยต่อชายแดนไทย-ลาว ภูมิปัญญาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นและวิถีชีวิตของผู้คนกับธรรมชาติ
ชุมชนชาติพันธุ์ขมุบ้านห้วยจ้อตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านหลู้ที่เป็นชาวไตยวน บ้านห้วยจ้อตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 7 กิโลเมตร ชุมชนตั้งอยู่เชิงเขาติดกับแหล่งน้ำ ลำห้วย เพื่อความสะดวกในการนำน้ำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน การที่มีอาณาเขตของหมู่บ้านติดต่อกับพื้นที่ป่าที่มีความสมบูรณ์ และอยู่ถัดขึ้นไปตามแนวเขา ทำให้มีแหล่งน้ำลำธารที่มีน้ำไหลตลอดปีอยู่หลายสายที่ชาวบ้านหลายหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำได้ใช้ประโยชน์ลำห้วยดังกล่าว ได้แก่ ลำห้วยวอง ลำห้วยแล้ง ลำห้วยจ้อ ลำห้วยหลู้ และลำห้วยหิน ที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ทั้งโดยตรงในการอุปโภคบริโภค การทำการเกษตรกรรม
บ้านห้วยจ้อเป็นหนึ่งชุมชนที่เป็นชุมชนย่อยของบ้านหลู้ หมู่ที่ 1 ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย โดยบ้านหลู้มีสมาชิกชุมชนจำนวนทั้งหมด 494 หลังคาเรือน แบ่งเป็นประชากรชาย 432 คน หญิง 427 คน รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 859 คน ซึ่งบ้านห้วยจ้อมีจำนวน 66 หลังคาเรือน ประชากรจำนวน 225 คน แบ่งเป็นชาย 118 คน และหญิง 107 คน
กำมุตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ราษฎรส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ประกอบอาชีพทําการเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจที่สําคัญของพื้นที่คือ ข้าว ส้มโอ ข้าวโพด ลําไย ส้มเขียวหวาน ยางพารา เป็นต้น ปัจจุบันเกษตรกรหลายรายได้หันมาปลูกส้มโอมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนการทําการเกษตรและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้น
กลุ่มชาติพันธุ์ขมุมีประเพณีและวิถีชีวิตที่สำคัญที่จัดขึ้นเป็นงานประจำปีคือ "ปีใหม่ขมุ" เป็นประเพณีการลาปีเก่า ทุก ๆ ปีในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ชนเผ่าขมุในเขตพื้นที่ตําบลม่วงยาย จะจัดกิจกรรมประเพณีปีใหม่ชนเผ่าขมุขึ้นเป็นประจําทุกปี หนึ่งในกิจกรรมที่สนุกสนาน และได้ความสนใจจากพี่น้องชนเผ่าขมุได้แก่ การประกวดธิดาชนเผ่าขมุ การตีกลอง ฆ้อง ฉาบ ก่อนที่จะมีการแสดง การละเล่นต่าง ๆ
การละเล่นกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ
“ไม้ไผ่” อุปกรณ์สารพัดประโยชน์ที่ชาวขมุนำมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น นำมาสร้างบ้าน ทำอุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการนำมาเป็นเครื่องดนตรี และการละเล่นอื่น ๆ เช่น การเล่นกระทบไม้ โดยจะมีไม้นูนดินผ่าซีก ยาว 1 เมตร รองไม้กระทบที่ใช้กระทบกันเพื่อให้เกิดเสียง โดยให้ผู้เล่นกระโดดตามจังหวะเสียงดนตรีของไม้กระทบและกรึยตองหรือเครื่องให้จังหวะ
แกงหลามขมุ ชาติพันธุ์ขมุ
แกงหลามบอน อาหารประจำชาติพันธุ์ขมุ คือการเอาอาหารไปแกงในกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณอาหาร ทำให้อาหารมีรสชาติหอมอร่อยและมีประโยชน์
ปืนประทัดของชาติพันธุ์ขมุ
ปืนประทัด เกิดจากการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์ใช้ ด้วยการนำไม้ไผ่มาทำเป็นปืนปะทัด และมีวิธีการทำง่าย ๆ เด็ก ๆ สามารถทำกิจกรรมนี้ร่วมกับผู้ปกครองได้เพื่อสร้างความสนุกสนานและเป็นกิจกรรมยามว่าง
เครื่องแต่งกายของชุมชนชาติพันธุ์ขมุบ้านห้วยจ้อ ตำบลม่วงยาย
ในอดีตชาวขมุจะนิยมการสักตามร่างกาย โดยที่ผู้ชายจะนิยมการสักทั่วทั้งตัว ขณะที่ผู้หญิงจะสักตามบริเวณแขนและแข้งขาซึ่งอาจจะพบเห็นได้ในกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ ขณะที่ในปัจจุบันชาวขมุไม่นิยมการสักดังกล่าวแล้ว ลักษณะการแต่งกายของชาวขมุในอดีตจะนิยมใส่เสื้อผ้าสีดำ เรียกเสื้อว่า “หว้าย” โดยเฉพาะในผู้หญิงจะมีการแต่งกายด้วยเสื้อสีดำหรือน้ำเงินเข้ม เป็นเสื้อแขนกระบอกยาวถึงข้อมือ มีแถบสีแดงตามขอบของเสื้อ มีการประดับด้วยลวดลายแดง ติดกระดุมเครื่องประดับสีเงินตั้งแต่คอเสื้อถึงชายเสื้อ เสื้อที่มีการประดับด้วยเงิน เรียกว่า “หว้ายขมุ้น” ผู้หญิงจะนิยมนุ่งผ้าซิ่นสีดำหรือดำปนแดง จะโพกหัวด้วยผ้าละเหวิดที่มีการประดับด้วยดิ้นสีแดงและเหรียญเงินตรา การแต่งกายดังกล่าวจะใช้ในพิธีที่สำคัญเท่านั้น และในปัจจุบันการแต่งกายดังกล่าวพบเห็นได้น้อยมาก ผู้หญิงก็จะแต่งกายคล้ายคนเมืองทั่ว ๆ ไป แต่คงมีเพียงการเกล้าผมที่ยังปฏิบัติกันต่อมาเหมือนในอดีต ขณะที่ผู้ชายนิยมนุ่งเตี่ยวและเสื้อผ้าเหมือนกับผู้ชายคนเมืองทั่ว ๆ ไป
ชาวขมุเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมการสื่อสารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่ม ชาวขมุบ้านห้วยจ้อจึงมีการติดต่อสื่อสารกันด้วยภาษาท้องถิ่นพื้นเมือง และภาษากลุ่มชาติพันธุ์คือ "ภาษาขมุ"
การละเล่นและเครื่องดนตรีชาติพันธุ์ขมุบ้านห้วยจ้อ ตำบลม่วงยาย
การละเล่นและเครื่องดนตรีชาติพันธุ์ขมุบ้านห้วยจ้อ ตำบลม่วงยาย การละเล่นและเครื่องดนตรีจะนิยมใช้ในการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว ในอดีตหนุ่มจะไปเที่ยวจีบสาวที่บ้านฝ่ายหญิงในขณะที่เดินทางมาถึงก็จะเป่าปี่ที่ทำด้วยไม้ไผ่เหี้ย (เป็นเครื่องดนตรีชนิดเดียวที่พบส่วนในอดีตนั้นจากการบอกเล่าของชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่นั้นขมุจะมีฆ้องเป็นอุปกรณ์ในการประกอบการละเล่น และประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ปัจจุบันไม่มีฆ้องในหมู่บ้านแล้วเพราะได้ขายกันไปหมด) และมีการเติม (ร้องขับทำนอง) ของขมุไปด้วย เป็นการเกี้ยวพาราสีหญิงสาว เมื่อถึงบ้านหญิงสาวแม่ฝ่ายหญิงก็จะมีการนำผ้าแดงมากั้นไว้ระหว่างห้องอื่น ๆ กับห้องของหญิงสาว พ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็จะปล่อยให้หนุ่มสาวอยู่กันตามลำพัง
ปัจจุบันการเกี้ยวพาราสีดังกล่าวเหลือเพียงความทรงจำในอดีตของขมุเท่านั้น เพราะได้มีการรับเอาวัฒนธรรมของคนเมืองพื้นราบใกล้เคียงเข้ามาใช้แทน นอกจากจะใช้ปี่เป็นส่วนประกอบในการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวแล้วประเพณีการละเล่นของขมุจะเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในขบวนการของพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งพบว่าในการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ชาวขมุจะมีการเลี้ยง และดื่มกินเหล้าอุ๊กัน และก็จะมีการเติม และปุ้งปี่ (เป่าปี่) กัน อดีตปี่และฆ้องยังเป็นเครื่องดนตรีที่ชาวขมุใช้เป็นมโหรีในงานรื่นเริงต่าง ๆ เช่น การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ รวมทั้งการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผี ชาวขมุจะปุ้งปี่ ตีฆ้องและมีการเติมกัน ปัจจุบันประเพณีนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป การเติมขมุก็พบน้อยลง จะพบก็มีเพียงแต่การเติมของขมุที่บันทึกเทปเสียงไว้แล้วเปิดฟังกันในกลุ่มคนเฒ่าคนแก่เมื่อยามว่างเท่านั้น การปุ้งปี่ก็มีเพียงไม่กี่คนที่ปุ้งได้
ชาติพันธุ์ขมุ (กำมุ)
ขมุ มีชื่อทางชาติพันธุ์วิทยาว่า “ออสโตรเอเซียติก” (Austroasiatic) เป็นกลุ่มชนดั้งเดิมในเอเชียอาคเนย์ จัดอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลมอญ-เขมร เดิมกลุ่มชาติพันธุ์ขมุเริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่ทางใต้ของประเทศจีนลงมา ส่วนมากจะอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศลาว และบางส่วนอาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย และเวียดนาม ต่อมาใน ปี ค.ศ.1975 บางส่วนมีการอพยพไปอยู่ในประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และแคนาดา
กลุ่มชาติพันธุ์ขมุมีกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม โดยแบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างน้อย 27 กลุ่ม อาทิ ข่ามุ ข่าละเมด ข่าฮอก ข่าขัด ข่าวะ ข่าผู้น้อย ข่ากระเวน ข่าจ่อน ข่าดง ข่ากะเซ็ง ข่าสะลัง ข่านา ข่าแพ ข่าสามภู ข่าเกี่ยว และข่าเพน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ขมุในประเทศลาวเป็นกลุ่มย่อยได้ 6 กลุ่ม คือ ตะมอยยวน อยู่แถบตอนเหนือแม่น้ำทา ตะมอยเม อยู่แถบแขวงหลวงพระบาง ตะมอยอู อยู่แถบแขวงเชียงขวาง ตะมอยเจ อยู่แถบภาคตะวันตกเฉียงเหนือของลาว ตะมอยเกวน อยู่รอบ ๆ เมืองน้ำทา ตะมอยกรอง อยู่ตามแนวชายแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย
คลังข้อมูลชุมชน. (2564). บ้านห้วยจ้อ จ.เชียงราย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 8 กุมพาพันธ์ 2567 จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/BanHuaiCho
เทศบาลตำบลม่วงยาย. (2565). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). เทศบาลตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย.
นิเวศสื่อพื้นบ้านสู่นวัตกรรมสื่อดิจิทัลออนไลน์. (ม.ป.ป.). ชุมชนชาติพันธุ์ขมุบ้านห้วยจ้อ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 8 กุมพาพันธ์ 2567 จาก https://www.north-thai-ethnic-folkmedia.org/