Advance search

หนองเรือตระการ จักสานไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง

หมู่ที่ 5
บ้านโคกกลาง
โนนสะอาด
หนองเรือ
ขอนแก่น
เทศบาลโนนสะอาด โทร. 0-4310-5041
ศิราณี ศรีหาภาค
3 มี.ค. 2023
วีรภัทร ศรีทำบุญ
3 มี.ค. 2023
veerapat srithamboon
19 เม.ย. 2023
บ้านโคกกลาง

นาย บุญตา ดอนเสี้ยว เป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบ้าน “โคกกลาง” เพราะมีป่าไม้ล้อมรอบหมู่บ้าน


ชุมชนชนบท

หนองเรือตระการ จักสานไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง

บ้านโคกกลาง
หมู่ที่ 5
โนนสะอาด
หนองเรือ
ขอนแก่น
40210
16.517057054350587
102.3164546629381
องค์การบริหารส่วนตำบลโนนสะอาด

บ้านโคกกลาง หมู่ที่ 5 ตั้งอยู่ในเขตปกครองของตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น จากการสำรวจจำนวนประชากรทั้งหมด 741 คน ประชากรเพศชาย 338 คน และประชากรเพศหญิง 403 คน โดยมีจำนวนครัวเรือน 245 ครัวเรือน บ้านโคกกลางเป็นหมู่บ้านที่ตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2428 สมัยก่อนบริเวณนี้เป็นโคก มีป่าแดง ป่าจิก อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่จำนวนมาก มีนายมาก จันทร์ชื่น ได้อพยพมาจาก บ้านหว้า ตำบลโนนหัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มาจับจองพื้นที่ทำกิน ในการตั้งชื่อหมู่บ้านได้ชื่อว่า “บ้านหันยาว”

ต่อมามีชาวบ้านอพยพมาจากขอนแก่น โคราช ร้อยเอ็ดและอุบลราชธานี จึงแบ่งออกเป็นหลายหมู่บ้าน ต่อมาได้เกิดโรคฝีดาษและโรคขี้จากระบาด ชาวบ้านจึงย้ายเข้ามาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม จากนั้นได้เปลี่ยนผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ คือ นายทองดี ดอนเสี้ยว ได้รับการแต่งตั้ง ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจาก “บ้านหันยาว” มาเป็น “บ้านดอนเสี้ยว”และมีการแบ่งหมู่บ้านออกเป็นคุ้ม ดังนี้ คุ้มใต้ คือ บ้านโนนคูณปัจจุบัน คุ้มใหญ่ คือ คุ้มม่วงคำ คุ้มเหนือ คือ คุ้มหนองทุ่มปัจจุบัน หลังจากนั้นได้แต่งตั้งนาย บุญตา ดอนเสี้ยว เป็นผู้ใหญ่บ้านและได้เปลี่ยนชื่อเป็นบ้าน “โคกกลาง” เพราะมีป่าไม้ล้อมรอบหมู่บ้าน

  • ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 1 คือ นายทองดี ดอนเสี้ยว ดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 13 ปี
  • ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 คือ นายบุญตา ดอนเสี้ยว ดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 10 ปี
  • ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 คือ นายอยู่ สมชัย ดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 10 ปี
  • ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 คือ นายพรม จันทร์ชื่น ดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 15 ปี
  • ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 คือ นายผาย คำศรี ดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 12 ปี
  • ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 6 คือ นายพร ยุ่นดร ดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 10 ปี
  • ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 7 คือ นายเสมือน จำปาหวาย ดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 22 ปี
  • ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 8 คือ นายเจตน์ศิริ ยุ่นดร ดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 2 ปี
  • ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน คือ นายนพรัตน์ จีนดร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2552-ปัจจุบัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คือ นายนิรมิต คำศรี และ นายวิลัย หมื่นศรี ประธาน อสม. คือ นายสมภาร จันทร์ชื่น ผู้ทรงคุณวุฒิ คือ นายเสมือน จำปาหมาย

หมู่บ้านโคกกลาง หมู่ที่ 5 ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีประมาณ 245 หลังคาเรือน มีประชากรอยู่ประมาณ 1,159 คน เป็นเพศชาย 573 คน เพศหญิง586 คน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,600 ไร่ หมู่บ้านอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอหนองเรือ ประมาณ 14 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ 63 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียงดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านหนองลุมพุก ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านโนนคูณ ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านโนนสวรรค์ ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านโนนศิลา ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

ลักษณะทางธรณีวิทยา และลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่โนนที่ดอนมากกว่าที่ลุ่มมีทุ่งนาล้อมหมู่บ้าน สภาพพื้นดิน เป็นดินทรายปนดินเหนียว ทำให้การปลูกข้าวไม่ได้ผลเท่าที่ควร ประชาชนจึงหันมาปลูกอ้อย สภาพแหล่งอาศัยเฉพาะน้ำฝนในการเพาะปลูก มีลำห้วยวังขี้ลิงไหลผ่านทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้านและมีคลองบุนาไหลผ่านทางทิศใต้ของหมู่บ้าน สภาพทั่วไปของพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์

ลักษณะภูมิอากาศ

  • ฤดูร้อน : เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม และอากาศจะร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
  • ฤดูฝน : เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม โดยจะมีฝนตกชุก ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนของทุกปี ช่วงฝนตกหนักจะมีน้ำขังตามถนน อาจทำให้ไม่สะดวกในการคมนาคม
  • ฤดูหนาว : เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยทั่วไปจะมีอากาศหนาวจัดในช่วง เดือนธันวาคมจนถึงเดือนมกราคมของทุกปี แต่ปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ

สภาพการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในครัวเรือนและชุมชน ลักษณะบ้านเรือนอยู่กันอย่างเป็นระเบียบ ส่วนใหญ่มีรั้วแบ่งอาณาเขตของบ้านชัดเจน มีทั้งบ้านแบบเป็นบ้านไม้ที่มีสภาพมั่นคงแข็งแรง บ้านที่ชั้นบนเป็นไม้ชั้นล่างเป็นปูน บ้านปูนชั้นเดียวและสองชั้น การระบายอากาศในตัวบ้านดี สิ่งแวดล้อมรอบบ้านมีการปลูกต้นไม้ใหญ่และมีการปลูกผักสวนครัวไว้เกือบทุกครัวเรือน ในครัวเรือนค่อนข้างสะอาดและขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละครัวเรือน ทุกหลังคาเรือนมีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ นิยมใช้ส้วมนั่งยอง และบางบ้านใช้ชักโครก ชุมชนสะอาดน่าอยู่ บริเวณหรือสถานที่ที่เป็นส่วนรวมสะอาด จากการร่วมมือกันดูแลของชาวบ้านมีถนนในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตลาดผ่านทุกซอยในหมู่บ้านและผ่านหน้าหมู่บ้าน

แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ มีป่าชุมชน เป็นป่าสงวนขนาดเนื้อที่ประมาณ 42 ไร่ อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน มีคลองบุนาเก็บน้ำภายในหมู่บ้านเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการทำเกษตร อาศัยน้ำฝนอย่างเดียว อาจมีการใช้น้ำที่ไม่เพียงพอในการทำเกษตร ในช่วงหน้าแล้งของทุกปี

สาธารณูปโภคในชุมชน น้ำดื่มส่วนมากจะมีการซื้อน้ำถังในการใช้บริโภค และส่วนน้อยมีรองน้ำฝนไว้ใช้ในโอ่งขนาดใหญ่ มีฝาปิดมิดชิด เพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี ใช้น้ำจากระบบประปาของหมู่บ้าน เปิดใช้ได้ตลอดเวลาและรองไว้ใช้ให้เพียงพอทั้งวัน มีการใช้น้ำได้หลายระบบจึงมีเพียงพอต่อการใช้ตลอดปี ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้

การคมนาคม บ้านโคกกลาง หมู่ที่ 5 อยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนสะอาด ซึ่งมีทั้งหมด 14 หมู่บ้าน การเดินทางเข้าสู่จังหวัดขอนแก่นมีเส้นทางการคมนาคมสะดวกเป็นทางลาดยางจากบ้านโคกกลางถึงตัวจังหวัดขอนแก่น โดยรถยนต์ส่วนตัว รถโดยสารประจำทาง โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 12 รถโดยสารประจำทางสายล่มสัก-ขอนแก่น, ชุมแพ-ขอนแก่น, เมืองเลย-ขอนแก่น รวมระยะทางจากบ้านโคกกลางถึงตัวจังหวัดขอนแก่น 54 กิโลเมตร

ประชากรของบ้านโคกกลางมีจำนวนทั้งหมด 741 คน เพศชาย 338 คน เพศหญิง 403 คน จำนวนครัวเรือน 245 ครัวเรือน พบว่า โครงสร้างอายุของประชากรอายุ 0-14 ปี มีประมาณร้อยละ 20.41 อายุ 15-64 ปี มีประมาณร้อยละ 64.32 และอายุ 65 ปีขึ้นไป มีประมาณร้อยละ 15.27

พบว่าเป็นพีระมิดแบบหดตัว (constrictive pyramid or declining pyramid) เป็นพีระมิดประชากรที่มีรูปแบบของฐานพีระมิดแคบ ตรงกลางพองออกและยอดค่อยๆ แคบเข้าแสดงว่าจำนวนคนเกิดและจำนวนคนตายลดลง ทำให้รูปแบบของอัตราการเกิดและอัตราการตายที่ต่ำหรือมีโครงสร้างประชากรลดลง จากปลายพีระมิดคาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้สูงอายุมากมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต และเกิดภาวะพึ่งพิงสูงขึ้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ประชากรในช่วงอายุ 50 - 59 ปี คิดเป็นร้อยละ 16.56 ประชากรในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 21.5 และเมื่อเทียบกับเกณฑ์ผู้สูงอายุของประเทศไทยร้อยละ 10 พบว่า ชุมชนบ้านโคกกลางกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aging Society)

การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจและการเงิน จะส่งผลผลต่อตลาดผลิตภัณฑ์และบริการด้านต่าง ๆ รายได้ต่อหัวของประชากร การออมและการลงทุน งบประมาณของรัฐบาล การจ้างงานและผลิตภาพของแรงงาน ทำให้วัยแรงงานลดลง ส่งผลให้เกิดค่าแรงสูงขึ้นและขาดแรงงาน ด้านสุขภาพ การเพิ่มขึ้นของประชากรวัยผู้สูงอายุจะทำให้งบประมาณด้านการดูแลสุขภาพสูงขึ้น ด้านสังคมคือ เกิดผู้ภาวะพึ่งพิงผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งมากขึ้นเนื่องจากวัยทำงานต้องทำงานมากขึ้นและต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุ

กองทุนสนับสนุนในชุมชน ได้แก่ กองทุนกู้ยืมเงิน (กองทุนเงินล้าน) กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ กองทุนเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ องค์กรเจียระไนพลอย

กรรมการหรือองค์กรการทำงานและการบริหารจัดการของกรรมการ มีลักษณะการทำงานคือ มีการจัดประชุมลูกบ้าน การแจ้งปัญหา และการหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน

ระบบข้อมูลข่าวสารของหมู่บ้าน (Information system) ประชาชนในหมู่บ้านรับทราบข้อมูลข่าวสารโดยการประชาสัมพันธ์จากหอกระจายเสียงของผู้ใหญ่บ้าน การประชาสัมพันธ์ของผู้ใหญ่บ้าน อสม. สะดวก เข้าใจง่ายและทั่วถึง

ด้านวัฒนธรรม

  • เดือนอ้าย : บุญขึ้นปีใหม่ จัดทุกวันที่ 1 มกราคมของทุก ๆ ปี จะมีการสวดมนต์ข้ามปีในคืนวันที่ 31 ธันวาคม และทำบุญตักบาตรและฟังธรรมในวันที่ 1 มกราคม เชื่อว่าการทำบุญปีใหม่จะช่วยให้ได้รับสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิตในปีนั้น ๆ 
  • เดือนยี่ : บุญข้าวจี่ ชาวบ้านจะจัดเตรียมข้าวจี่ตั้งแต่ตอนย่ำรุ่งของวันนั้น เพื่อให้ข้าวจี่สุกทันใส่บาตรจังหัน นอกจากข้าวจี่แล้วก็จะนำ "ข้าวเขียบ" (ข้าวเกรียบ) ทั้งที่ยังไม่ย่างเพื่อให้พระเณรย่างกินเอง และที่ย่างไฟจนโป่งพองใส่ถาดไปด้วย พร้อมจัดอาหารคาวไปถวายพระที่วัด หลังจากนั้นจะให้มีการเทศน์นิทานชาดก เรื่องนางปุณทาสีเป็นเสร็จพิธี
  • เดือนสาม : บุญเผวดหรือบุญพระเวส ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรทั้ง 13 กัณฑ์ บุญนี้จะทำติดต่อกันสามวัน วันแรกจัดเตรียมสถานที่ตกแต่งศาลาการเปรียญ วันที่สองเป็นวันเฉลิมฉลองพระเวสสันดร ชาวบ้านร่วมทั้งพระภิกษุสงฆ์จะมีทั้งการจัดขบวนแห่เครื่องไทยทาน ฟังเทศน์ และการแห่ผ้าผะเหวด (ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดร) ซึ่งสมมติเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าสู่เมือง เมื่อถึงเวลาค่ำจะมีเทศน์เรื่องพระมาลัย ส่วนวันที่สามเป็นงานบุญพิธี ชาวบ้านจะร่วมกันตักบาตรข้าวพันก้อน พิธีจะมีไปจนค่ำ ชาวบ้านจะแห่ ฟ้อนรำตั้งขบวนเรียงรายตั้งกัณฑ์มาถวายอานิสงส์อีกกัณฑ์หนึ่ง จึงเสร็จพิธี
  • เดือนสี่ : บุญประเพณีสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาตั้งแต่โบราณ ในวันนี้พระสงฆ์นำพระพุทธรูปออกจากโบสถ์มาไว้ที่หอสรง ชาวบ้านจะนำน้ำอบ น้ำหอมมาร่วมกันสรงน้ำพระพุทธรูปที่หอสรง นอกนี้มีการสรงน้ำพระสงฆ์และผู้หลักผู้ใหญ่ หรือผู้เฒ่าผู้แก่ 
  • เดือนหก : บุญเบิกบ้าน บุญชำระล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไร เมื่อทำบุญนี้แล้วเชื่อว่าจะทำให้ฝนตกและบ้านเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุข เพราะจะได้ทำนาและปลูกพืชพรรณธัญญาหารต่าง ๆ ได้ตามฤดูกาล พร้อมกับขอหินกรวดในพิธีไปโปรยใส่หลังคาบ้านแต่ละบ้านเพื่อขับไล่ผีสางสิ่งชั่วร้ายออกจากบ้านและขอน้ำมนต์ในพิธีไปดื่มกินอาบน้ำชำระร่างกายเพื่อความเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัว
  • เดือนเจ็ด : บุญเทียนพรรษาเข้าพรรษา เป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนา จะมีการทำบุญตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน สบง จีวรและเทียนพรรษา จัดขบวนแห่เทียน เมื่อแห่เทียนมาถึงวัดชาวบ้านจะรับศีลรับพร ฟังธรรม ตอนค่ำจะเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ
  • เดือนเก้า : บุญข้าวสาก เป็นประเพณีในวันขึ้น 15 ค่ำ โดยจะมีการจัดเตรียมอาหารบรรจุข้าวเหนียว อาหารแห้ง เช่น ปลาย่าง เนื้อย่าง แจ่วบองหรือน้ำพริกปลาร้า และห่อข้าวเล็ก ๆ อีกห่อหนึ่ง สำหรับอุทิศให้ญาติผู้ล่วงลับและนำไปทำบุญที่วัด
  • เดือนสิบ : บุญออกพรรษา บุญออกพรรษาหรือประเพณีตักบาตรเทโว จะมีการจุดประทีปโคมไฟ และทำบุญตักบาตร โดยชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัด
  • เดือนสิบเอ็ด : บุญกฐิน จะมีเจ้าภาพจองวัดและกำหนดวันทอดกฐินล่วงหน้า ชาวบ้านจะนำเครื่องบริวารกฐิน ซึ่งส่วนมากเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน มาตั้งวางไว้ในที่เปิดเผยเพื่อให้ญาติพี่น้อง หรือชาวบ้านใกล้เคียงนำสิ่งของ เช่น เสื่อ หมอน ปัจจัย ฯลฯ มาร่วมสมทบ วันรุ่งขึ้นก็เคลื่อนขบวนไปสู่วัดที่ทอด เมื่อนำองค์กฐินไปถึงวัดจะมีการแห่เวียนประทักษิณรอบวัดหรือรอบพระอุโบสถ 3 รอบ จึงนำผ้ากฐินและเครื่องประกอบอื่น ๆ ไปถวายพระสงฆ์ที่โบสถ์ เมื่อทำพิธีถวายผ้ากฐินและบริวารแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์ทำพิธีรับแล้วเป็นเสร็จพิธีสามัคคี

ด้านเศรษฐกิจ

  • ทำนา : เริ่มทำตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม
  • ทำไร่ : เริ่มทำตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายน
  • รับจ้างทั่วไป : เริ่มทำตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม
  • ลูกจ้าง : เริ่มทำตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม

1. นายนพรัตน์ จีนดร

เกิดปี พ.ศ. 2511 อายุ 53 ปี

ที่อยู่ หมู่ 5 บ้านโคกกลาง ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

ด้านชีวิตครอบครัว เป็นบุตรของพ่อบุญจันทร์ จีนดร กับแม่บัว จีนดร มีพี่น้องทั้งหมด คน พ่อนพเป็นบุตรคนที่ สมรสกับนางสีดา ยุ่นดร มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 2 คน

ประวัติด้านการศึกษาและการทำงาน

ภูมิลำเนาเป็นคนบ้านโคกกลางโดยกำเนิด อาศัยอยู่กับบิดามารดา พ่อนพจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนโคกกลางโนนคูณโนนศิลา เรียนชั้นมัธยมศึกษาโดยการศึกษานอกระบบ หลังจากเรียนจบได้มาทำไร่อ้อย ทำนา ช่วยบิดามารดา พอประมาณปี พ.ศ. 2537 พ่อนพได้แต่งงานกับแม่สีดา ยุ่นดร มีบุตรด้วยกัน 2 คน เป็นบุตรชาย 2 คน จากนั้นพ่อนพได้เริ่มเป็น อสม. เมื่อปี พ.ศ. 2548 จากการอาสาสมัคร จากนั้นเมื่อปี 2552 พ่อนพได้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และเริ่มมีผลงานจากการเริ่มทำกองทุนหมู่บ้าน เมื่อปีพ.ศ. 2562 ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกองทุนบริหารจัดการขยะ ฌาปนกิจขยะ เทศบาลโนนสะอาด

2. นายแก้ว ศรีเวียง 

เกิดปี พ.ศ. 2507 อายุ 57 ปี

ที่อยู่ หมู่ 5 บ้านโคกกลาง ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

ด้านชีวิตครอบครัว เป็นบุตรของพ่อพร ศรีเวียง กับแม่ปุน ศรีเวียง มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน พ่อแก้วเป็นบุตรคนที่ 4 สมรสกับนางที ศรีเวียง มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 3 คน

ประวัติด้านการศึกษาและการทำงาน

ภูมิลำเนาเป็นคนบ้านโคกกลางโดยกำเนิด อาศัยอยู่กับบิดามารดา และพี่ชาย 3 คน ปี พ.ศ. 2510 พ่อแก้วและครอบครัวได้ย้ายไปทำงานรับจ้างทั่วไปที่บ้านญาติ จังหวัดยโสธร เนื่องจากบ้านโคกกลางแห้งแล้ง เศรษฐกิจไม่ดี จึงไปทำงานรับจ้างทั่วไปกับบิดามารดาและพี่ชาย เช่น ทำนา ทำไร่ ปี พ.ศ. 2518 พ่อแก้วจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนกุดตะกล้า ต.สงเปื่อย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ปี พ.ศ. 2520 บิดาของพ่อแก้วล้มป่วยและเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งลำไส้

เมื่อ ปี พ.ศ. 2521 พ่อแก้วและมารดาเลยตัดสินใจกลับมาทำไร่ ทำนาของตนเองที่บ้านเกิดเนื่องจากฝนดี อุดมสมบูรณ์จากแต่ก่อน ส่วนพี่ชายทั้ง 3 คน ไปทำงานที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นพ่อแก้วก็ไปกลับมาเรียนต่อ กศน. ที่ โรงเรียนหนองเรือ หลังจากเรียนจบพ่อแก้วได้มาทำไร่ทำนา เลี้ยงวัว 3 ตัว ช่วยมารดา พอประมาณปี พ.ศ. 2528 พ่อแก้วได้ไปทำงานเจียระไนพลอยที่อุตสาหกรรมชุมแพและได้พบรักกับแม่ทีในที่ทำงาน ปี พ.ศ. 2529 พ่อแก้วได้แต่งงานกับแม่ที ศรีเวียง มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน ปัจจุบันเหลือบุตรอยู่ 3 คน

จากนั้นพ่อแก้วได้เริ่มเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2542 จากการที่ผู้นำหมู่บ้านในสมัยนั้นสอบถามจากชาวบ้านว่าใครเหมาะสมจะมาเป็นผู้ช่วย ชาวบ้านจึงเสนอและเลือกให้พ่อแก้วรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2546 ได้ครบวาระการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ปี พ.ศ. 2547 พ่อแก้วได้รับความสนับสนุนจากชุมชนให้ไปสมัคร อสม. หลังจากนั้นพ่อแก้วก็ได้เป็น อสม. และพ่อแก้วได้รับการแต่งตั้งโดยผู้ใหญ่บ้าน 15 หมู่ (ทั้งตำบล) ให้พ่อแก้วเป็นแพทย์ประจำตำบลในวาระ 5 ปี ปี พ.ศ. 2552 ได้ครบวาระการเป็นแพทย์ประจำตำบล พ่อแก้วได้รับการแต่งตั้งโดยผู้ใหญ่บ้าน 15 หมู่ (ทั้งตำบล) อีกครั้งให้พ่อแก้วเป็นแพทย์ประจำตำบลจนกว่าจะเกษียณอายุ 60 ปี ปี พ.ศ. 2563 ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง อสม. และแพทย์ประจำตำบลอยู่ พ่อแก้วได้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับการปลูกผักปลอดสารพิษและได้ไปอบรมของโครงการพระราชดำริ ที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ในระยะเวลา 5 วัน หลังจากนั้นพ่อแก้วก็ได้นำความรู้ที่ได้จากการไปอบรมมาทดลองปลูกผักปลอดสารพิษในที่นาตนเอง ปลูกผักปลอดสารพิษรับประทานเองในครอบครัว เหลือก็นำไปขายในชุมชน ทดลองปลูกไปเรื่อยๆ พอประมาณ 6 เดือนพ่อแก้วก็ประสบความสำเร็จในการปลูกผักปลอดสารพิษ ปลูกผักเพิ่มขึ้นและมีการส่งออกขายตามห้างโลตัสทุกสาขาจนถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2564 พ่อแก้วยังดำรงตำแหน่ง อสม. และแพทย์ประจำตำบลอยู่ หน้าที่ของแพทย์ประจำตำบลก็จะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร มีสมุนไพรรักษาในบ้าน เช่น สมุนไพรรักษาพิษงู สมุนไพรรักษาริดสีดวง (เพชรสังฆาต) ให้คนในหมู่บ้าน อีกทั้งพ่อแก้วทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนทุกครั้ง ช่วยเหลือชุมชนและชาวบ้านมาตลอดจนเป็นที่รักของทุกคน ซึ่งพ่อแก้วนับเป็นบุคคลหนึ่งที่ช่วยพัฒนาทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของหมู่บ้านโคกกลาง

ทุนกายภาพ มีป่าชุมชน เป็นป่าสงวนขนาดเนื้อที่ประมาณ 42 ไร่ อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน มีคลองบุนาเก็บน้ำภายในหมู่บ้าน เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการทำเกษตร อาศัยน้ำฝนอย่างเดียว อาจมีการใช้น้ำที่ไม่เพียงพอในการทำเกษตร ในช่วงหน้าแล้งของทุกปี

ทุนเศรษฐกิจ กองทุนกู้ยืมเงิน (กองทุนเงินล้าน) กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ กองทุนเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ องค์กรเจียระไนพลอย

ทุนมนุษย์ แพทย์ชาวบ้าน หมอสมุนไพร ปราชญ์ชาวบ้าน

ทุนวัฒนธรรวม มีวัดป่าเมตตาหลวงเป็นสถานที่สำคัญประจำชุมชน

ผู้คนในชุมชนบ้านโคกกลางใช้ภาษาไทยและตัวอักษรไทยในการพูดและการอ่านเขียน


ชุมชนบ้านโคกกลางได้เข้าร่วมโครงการรวมพลังคนโคกกลางร่วมใจป้องกันภัย COVID-19 ประชาชนบ้านโคกกลาง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสะอาด ร่วมกับนักศึกษาพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น ได้เห็นความสำคัญของการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 ให้ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง จึงจัดทำโครงการรวมพลังคนโคกกลางร่วมใจป้องกันภัย COVID-19 บ้านโคกกลาง ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ปี 2564

ชุมชนบ้านโคกกลางมีจุดที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น ร้านข้าวมันไก่เจ้นุช/ร้านใครหิวแวะเลย ร้านนกน้อยตามสั่ง ร้านครัวครูอี๊ฟ และ วัดป่าเมตตาหลวง

กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬ. (2562). ข้อมูลครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. ปี (2559-2563). สืบค้น 10 พฤศจิกายน 2564, จาก https://buengkan.cdd.go.th/

กรมควบคุมโรค. (2653). แนวทางการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพสำหรับพื้นที่ภายใต้แผนพัฒนาด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพของประเทศ ระยะ 20 ปีจาก http://www.oic.go.th/

กองนวัตกรรม วิจัยและกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2562-2564). แผนงานวิจัยด้านการป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ, จาก http://www.oic.go.th/

กองยุทธศาสตร์และแผนงานสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (2561). รายละเอียดตัวชี้วัดกระทรวงสาธารณสุขจาก https://bps.moph.go.th/

กองยุทธศาสตร์และแผนงานสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (2562). รายละเอียดตัวชี้วัดกระทรวงสาธารณสุขจาก https://bps.moph.go.th/

กองยุทธศาสตร์และแผนงานสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (2563). รายละเอียดตัวชี้วัดกระทรวงสาธารณสุขจาก https://bps.moph.go.th/

กองยุทธศาสตร์และแผนงานสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (2564). รายละเอียดตัวชี้วัดกระทรวงสาธารณสุขจาก https://bps.moph.go.th/

บุญชัย ภาละกาล. (2558). การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาในกระบวนการดำเนินงานอนามัยชุมชน บทเรียนในการนำทฤษฎีสู่การฝึกภาคปฏิบัติของนักศึกษาพยาบาลในชุมชน. วารสารพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข, 3-4

วิสูตร ศิริพัฒนกุลขจร. (2662). การสร้างมาตรการทางสังคมเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการจัดการฉลากอาหาร กรณีศึกษา ตลาดไท. บทความวิจัย, 14-15

สุคนธ์ ประสิทธิ์วัฒนเสรี. (2559). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสถิติประชากร. สืบค้น 10 พฤศจิกายน 2564, จาก http://www.sukon.cmustat.com/

สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจังหวัดลำพูน. (2562). นโยบาย ตัวชี้วัดและแผนงานสำคัญในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคจาก https://www.lamphunhealth.go.th/

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 จังหวัดอุดรธานี กรมควบคุมโรค. (2564). รายงานสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ที่ 22จาก https://ddc.moph.go.th/odpc8/

เทศบาลโนนสะอาด โทร. 0-4310-5041