Advance search

บ้านขุนห้วยแม่เปา

ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง กับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณีและวิถีชีวิตของชุมชน

หมู่ที่ 5
ขุนห้วยแม่เปา
แม่เปา
พญาเม็งราย
เชียงราย
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
8 ก.พ. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
8 ก.พ. 2024
บ้านขุนห้วยแม่เปา

ชื่อหมู่บ้านตั้งตามชื่อลำน้ำ "ห้วยแม่เปา"


ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง กับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณีและวิถีชีวิตของชุมชน

ขุนห้วยแม่เปา
หมู่ที่ 5
แม่เปา
พญาเม็งราย
เชียงราย
57290
อบต.แม่เปา โทร. 0-5378-8179
19.961857835055696
100.13585930264045
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เปา

บ้านขุนห้วยแม่เปา ก่อตั้งขึ้นเป็นชุมชนประมาณช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงปกครองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยชาวม้งบางกลุ่มได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย กลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยเป็นชาวม้งที่อพยพมาจากประเทศลาวโดยตรง และกลุ่มที่ติดตามมาภายหลังคือ ชาวม้งในประเทศไทยจากพื้นที่บริเวณจังหวัดแพร่ น่าน เชียงคำ(เล่าอู) ภูชี้ฟ้า (ซึ่งเป็นเครือญาติกับบ้านจะแล หมู่ 4 ต.ควร และม้ง จ.น่าน พะเยา ลำปาง แพร่ ) ชื่อหมู่บ้านตั้งตามชื่อลำน้ำ "ห้วยแม่เปา" สาเหตุที่ชาวม้งเลือกมาบริเวณนี้ เพราะต้องการแสวงหาพื้นที่ทำกินใหม่ เมื่อมาถึงที่บริเวณนี้ซึ่งเป็นป่าดงรกร้าง ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่จึงเข้ามาบุกเบิกเป็นพื้นที่ทำกิน ในช่วงปี พ.ศ. 2515 ชาวม้งบ้านขุนห้วยแม่เปาเริ่มได้รับสัญชาติไทย และในปี พ.ศ. 2563 เกิดเหตุการณ์โรคระบาด COVID -19 ทำให้ต้องมีการปิดหมู่บ้านนานถึง 2 เดือน

หมู่บ้านขุนห้วยแม่เปาอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเป็นระยะทางปรมาณ 17 กิโลเมตร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับที่ราบหุบเขา เหมาะสําหรับทําการเกษตรมีแม่น้ำสายสําคัญ ได้แก่ แม่น้ำเปา ลําน้ำเปามีต้นกําเนิดเกิดจากลําห้วยที่ไหลมาบรรจบกันสองสายคือ ลําห้วยกระแลซึ่งไหลมาจากบ้านกระแล หมู่ 7 และลําห้วยที่ไหลมากจากบ้านขุนห้วยแม่ปา หมู่ 5 มาบรรจบกันที่ บ้านแม่เปาเหนือ หมู่ 12

ประชาชนส่วนใหญ่คือกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ม้งบ้านขุนห้วยแม่เปา แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ ม้งลาย ม้งขาว และม้งดำ ซึ่งเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่ โดยมีสมาชิกในชุมชนจำนวนมากถึง 314 ครัวเรือน แบ่งเป็นประชากรชาย 610 คน หญิง 600 คน รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 1,210 คน 

นอกจากนี้ยังมีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งอีกหนึ่งชุมชนที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกันคือ ชุมชนบ้านขุนห้วยแม่เปาใต้ ที่มีประชากรจำนวน 217 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาย 545 คน หญิง 533 คน รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 1,078 คน

ม้ง

ชุมชนบ้านขุนห้วยแม่เปาประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม ได้แก่ ทำสวนมะม่วง (โชคอนันต์) ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ข้าวโพด และทำนา ในทุก ๆ ปีจะมีพ่อค้ามารับซื้อมะม่วง 4-5 จุดในหมู่บ้าน โดยเข้าโกดังของคนท้องถิ่น พ่อค้าจะมาจากชลบุรี ราชบุรี มารับซื้อและนำส่งออกไปจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ส่งออกวันละ 6-7 รถสิบล้อ (สิบล้อคันหนึ่งบรรทุก 15 ตัน) ประมาณช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม วันที่ 25 พฤษภาคม ของทุกปี จะมีการจัดงานวันมะม่วงในหมู่บ้าน 

นอกจากนี้ประชากรบางส่วนยังประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ตามภาระงานต่าง ๆ ในแต่ละช่วงฤดูกาล เช่น รับจ้างเก็บมะม่วงตามฤดูกาล รวมถึงไปทำงานโรงงานที่กรุงเทพฯ อาชีพการค้าขาย ผลิตภัณฑ์ผ้าเขียนเทียนชาวม้ง พวกเสื้อผ้า กระเป๋า ซึ่งขายผลิตภัณฑ์ภายในชุมชน และสิงห์ปาร์คเชียงรายทุก ๆ วันเสาร์ และยังมีการดำเนินกิจกรรมกลุ่มทางด้านเศรษฐกิจที่ก่อตั้งกลุ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2559 ได้แก่ กลุ่มตีมีดม้ง กลุ่มผ้าเขียนเทียน และแปรรูปผ้าเขียนเทียน และกลุ่มจักสาน

ชุมชนม้งขุนห้วยแม่เปามีวิถีชีวิตและวิถีปฏิบัติเหมือนกับกลุ่มชาติพันธุ์ม้งและชาวเมืองโดยทั่วไป ส่วนใหญ่นับถือผีบรรพบุรุษ และมีประชากรบางกลุ่มที่นับถือศาสนาอื่นได้แก่ คริสต์ และอิสลาม ที่มีความเชื่อในการปฏิบัติศาสนกิจแตกต่างออกไปตามความเชื่อทางศาสนาที่ตนเองนับถือ อย่างไรก็ตามการอยู่ร่วมกันในชุมชนไม่ได้มีความขัดแย้งกัน โดยคนส่วนใหญ่ที่นับถือผีบรรพบุรุษก็จะมีการประกอบประเพณีพิธีกรรมตามวิถีในแต่ละช่วงเวลาของปีตามปกติ การจัดการและแก้ไขปัญหาในชุมชนม้งเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกในชุมชน แต่ละฝ่ายจะหาตัวแทนจากตระกูลแซ่ของตนซึ่งเป็นผู้ที่สมาชิกในตระกูลแซ่เดียวกันให้ความเคารพนับถือยำเกรง เพื่อไปเจรจาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ณ ที่บ้านของบุคคลที่ทั้งสองฝ่ายให้การยอมรับ หรือที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาท ระบบการพิจารณาและตัดสินของม้งเป็นระบบจารีตประเพณี ไม่มีตัวอักษร ดังนั้นจึงต้องพิจารณาจากกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเป็นบรรทัดฐาน และมีการใช้คนนอกหรือแซ่อื่นมาช่วยตรวจสอบข้อมูลและบรรดาพยานหลักฐานที่แต่ละฝ่ายอ้างขึ้นมา บางกรณีคนนอกเหล่านี้ก็มีบทบาทสูงในการชี้ขาดว่าใครผิดใครถูก กระบวนการพิจารณาเมื่อเริ่มขึ้นแล้วต้องดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยไปจนกว่าจะได้ข้อยุติ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัฒนธรรมการแต่งกาย

ผู้หญิงชาวม้งมักจะเย็บปักเสื้อผ้าเอง ตัวเสื้อนิยมใช้ผ้ากำมะหยี่สีพื้น เช่น สีดำ น้ำเงิน แดง เขียว น้ำตาล แล้วปักลวดลายเย็บติดขอบแขน และชายเสื้อ หน้าอก ขอบลายปักจะกุ๊นด้วยผ้าสี ชาวม้งแต่ละกลุ่มมีรายละเอียดที่แตกต่าง คือ

ม้งลาย เครื่องแต่งกายจะคล้ายกับม้งเขียว สังเกตจากเสื้อผู้หญิงบริเวณหน้าอกจะมีลายปักเป็นยอดแหลม 3 หรือ 4 ยอด แต่มีลวดลายมากกว่า กระโปรงมีสีสันและลวดลายมากกว่า ลายปักจักรปักแบบครอสติสหรือปักไขว้กัน

ม้งขาว จะสวมกระโปรงพลีทขาว เสื้อผ่ากลางอก ลายปักจะนิยมเป็นลายผ้าปะแล้วสอยเป็นลายขดเป็นวง

ม้งดำ (ชุมชนบ้านขุนห้วยแม่เปาพบม้งดำจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะพบใน จังหวัดน่าน) เสื้อผู้หญิงด้านหลังจะมีแผ่นผ้าคล้ายรูปตัว H ตกแต่งใต้ปกหลัง สมัยก่อนเป็นแผ่นผ้าสีขาว ไม่ปักลวดลาย แต่ปัจจุบันมีการปักลวดลายเต็มแผ่น แผ่นผ้านี้เป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นผู้หญิง คนม้งเรียกว่า “ล่าว” (เหล้า)

ในอดีตเวลาเห็นคนม้งอยู่ด้วยกันหรือเมื่อมีการพบปะกันของชาวม้งหลายกลุ่ม เครื่องแต่งกายก็จะบอกได้ถึงแหล่งที่มา ที่อยู่อาศัย ว่ามาจากที่ไหน ม้งเชียงใหม่ ม้งตาก จะใส่เสื้อผ่าอกสาบตรง ม้งเชียงรายจะใส่เสื้อลายปักเป็นยอดแหลม 3 ยอด แต่ปัจจุบันใส่ปนกันไปหมดจนยากจะบอกถึงแหล่งที่อยู่อาศัยว่ามาจากจังหวัดอะไร ปัจจุบันมีลายปักด้วยจักรเลียนแบบลายปักม้ง (ปักด้วยมือ) มาขายทั้งจากประเทศจีนและทำในประเทศไทย (เชียงใหม่ เชียงราย) ผ้าจากจีนมีราคาถูกกว่า แต่ก็มีรายละเอียด ความสวยงาม และคุณค่าที่ต่างกันออกไป

เนื่องจากชุมชนบ้านขุนห้วยแม่เปาเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่ ดังนั้นการใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารจึงมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม ซึ่งใช้ภาษาพื้นเมือง และภาษาชนเผ่าในการสื่อสารระหว่างกันภายในชุมชน โดยชาวม้งมีภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียนหรือตัวอักษร

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คลังข้อมูลชุมชน. (2564). บ้านขุนหัวยแม่เปา จ.เชียงราย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 8 กุมพาพันธ์ 2567 จาก https://communityarchive.sac.or.th/community/BanKhunHuaiMaePao

นิเวศสื่อพื้นบ้านสู่นวัตกรรมสื่อดิจิทัลออนไลน์. (ม.ป.ป.). ชุมชนชาติพันธุ์ม้งบ้านขุนห้วยแม่เปาใต้. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 8 กุมพาพันธ์ จาก https://shorturl.asia/n9QsM

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เปา. (2565). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย.