อดีตชุมทางเกวียนที่สำคัญของอำเภอสะเดา เป็นถิ่นฐานของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เป็นผู้นำของตำบลปริกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น ขุนพิทักษ์ ขุนดำรง ขุนภิรมย์ ณ ปริกคาม (นายหมาด ยีขุน)
มาจากตำแหน่งที่ตั้งของชุมชน ซึ่งเป็นที่ลุ่มตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตลาดบน หรือตลาดโคก ปัจจุบันคือชุมชนตลาดปริก อันเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของตำบลปริกในอดีต ชุมชนตลาดใต้-บ้านกลาง เดิมเรียกกันเพียงสั้น ๆ ว่า ชุมชน "ตลาดใต้"
อดีตชุมทางเกวียนที่สำคัญของอำเภอสะเดา เป็นถิ่นฐานของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เป็นผู้นำของตำบลปริกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น ขุนพิทักษ์ ขุนดำรง ขุนภิรมย์ ณ ปริกคาม (นายหมาด ยีขุน)
ชุมชนตลาดใต้ - บ้านกลาง ตามที่สันนิษฐานกันว่า ชื่อชุมชนนั้นน่าจะมาจากตาแหน่งที่ตั้งของชุมชน ซึ่งเป็นที่ลุ่มตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตลาดบน หรือตลาดโคก ปัจจุบันคือชุมชนตลาดปริก อันเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของตำบลปริกในอดีต ชุมชนตลาดใต้ - บ้านกลาง เดิมเรียกกันเพียงสั้น ๆ ว่า ชุมชน "ตลาดใต้" มีถนนมิตรสงครามเป็นถนนสายหลักตัดผ่านค่อนไปทางทิศใต้ของชุมชน
นอกจากจะเป็นที่ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ร้านค้าขายของชาแล้ว ตลาดใต้ ยังมีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนาข้าว ซึ่งแปลงนาข้าวทั้งหมดจะตั้งอยู่ด้านหลังของพื้นที่ตั้งบ้านเรือนอาศัย ค่อนไปทางทิศเหนือของบ้านเรือนประชาชนและถนนมิตรสงคราม แต่ต่อมาเมื่อมีผู้คนอยู่อาศัยกันมากขึ้น จึงได้มีการขยายบ้านเรือนและที่ทำกิน การทำนาข้าวก็ค่อย ๆ ล้มเลิกและหายไปในที่สุด และมีการตั้งบ้านเรือนเพิ่มขึ้นกึ่งกลางระหว่างชุมชนตลาดใต้กับชุมชนร้านในเป็นลำดับ ทำให้คนทั่วไป เรียกย่านนี้ว่าเป็น "บ้านกลาง" แล้วจึงมาเรียกรวมกันในภายหลังว่า "ชุมชนตลาดใต้-บ้านกลาง"
เดิมทีนั้นชื่อชุมชนตลาดใต้ หรือตลาดนอก เป็นชุมทางของผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านด้านในลึกลงไปทั้งทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตกของถนนสงขลา-ไทรบุรี (ในขณะนั้น) หรือถนนกาญจนวนิช (ในปัจจุบัน) เพราะสมัยก่อนที่ตั้งของชุมชน เป็นหัวเมืองมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีท่านขุนคนสุดท้ายที่ปกครอง คือ ท่านขุนภิรมย์ และในสมัยสงครามโลกชุมชนตลาดใต้ เป็นเส้นทางการทหารของกองทัพญี่ปุ่น มีการตั้งฐานทัพชั่วคราว และมีคุกชั่วคราวทำไว้สำหรับกักขังนักโทษและเชลยสงคราม ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของชุมชน หรือใกล้บริเวณที่ตั้งมัสยิดในปัจจุบัน ต่อมาได้ถูกไฟไหม้เผาทำลายไป ซึ่งในสมัยก่อนย่านนี้จะมีบ้านเรือนประมาณ 4 -5 หลัง เท่านั้น หลังจากสิ้นสุดสงครามโลก ก็ได้มีการสร้างถนนสายมิตรภาพ ซึ่งเป็นถนนสายหลักในชุมชนตลาดใต้ – บ้านกลาง และได้ตั้งชื่อถนนสายประวัติศาสตร์เส้นนี้ว่าถนนมิตรสงคราม
ผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นก่อน ๆ มักเล่าว่า ชุมชนตลาดใต้เดิมนั้นจะเป็นเสมือนชุมทาง เคยมีการใช้เกวียนเทียมวัวลากจูงสำหรับโดยสารและขนส่งสินค้า ซึ่งมี นายดั้ม แหละโดด เป็นเจ้าของเกวียนดังกล่าว ผู้คนที่อาศัยอยู่ลึกเข้าไปในหมู่บ้านที่เรียกว่า "ควนออก" ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันออกของถนนกาญจนวนิช และ "ควนตก" ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของถนนกาญจนวนิช ก่อนที่ผู้คนทั้งสองฝั่งจะไปจับจ่ายซื้อสินค้าที่ตลาดสะเดา หรือตลาดคลองแงะ ก็จะนิยมออกมารวมตัวกันที่บริเวณตลาดใต้เพื่อให้ครบจำนวนคนที่จะโดยสารรถประจำทางได้ในแต่ละครั้ง ซึ่งในสมัยก่อนนั้น นาน ๆ เกือบ ๆ ครึ่งค่อนวันถึงจะมีรถโดยสารผ่านมาสักคัน และตรงที่เป็นหัวถนนมิตรสงครามนั้น ก็เคยเป็นคิวจอดรถโดยสารปริก–คลองแงะ–สะเดา ด้วยเช่นกัน ถนนมิตรสงครามในอดีตนั้นนอกจากจะใช้เป็นเส้นทางสำหรับการสัญจรไป-มาแล้ว ยังเป็นที่ซึ่งบรรดาพ่อค้า แม่ค้าของเร่ และชาวบ้านใช้เป็นพื้นที่สำหรับนำสินค้าจากที่ต่าง ๆ มาวางขายกันในวันตลาดนัด และมักจะมีหนัง (ขายยา) กลางแปลงมาฉายพร้อมกับจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ที่มาชมภาพยนตร์กันเป็นประจำ
ชุมชนตลาดใต้ เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เป็นผู้นำของตำบลปริกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันหลายคนด้วยกัน ได้แก่ ขุนพิทักษ์ ขุนดำรง ขุนภิรมย์ ณ ปริกคาม (นายหมาด ยีขุน) นายหลี ยีขุน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 และนายอดุลย์ ยีขุน กำนันตำบลปริก รวมทั้งนายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก
นอกจากนั้นแล้ว ชุมชนตลาดใต้ในอดีตจะเป็นพื้นที่ครอบคลุมรวมไปถึงฝั่งตะวันออกของถนนกาญจนวนิช ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประชาบาลบ้านปริก เป็นโรงเรียนแห่งแรกของตำบลปริก ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของขุนภิรมย์ ณ ปริกคาม (นายหมาด ยีขุน) ผู้ริเริ่มวางรากฐานการศึกษาให้กับคนในตำบลปริกและเป็นคนแรกที่ก่อตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นในยุคนั้น และในระยะต่อมาขุนภิรมย์ ได้อุทิศที่ดินแปลงใหม่เพื่อสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนไม้จากโรงเลื่อยจักรทำไม้ของนายกุก่อง มาใช้เพื่อก่อสร้างเป็นตัวอาคาร
โรงเรียนประชาบาลแห่งแรกของปริกที่เคยตั้งอยู่ที่ชุมชนตลาดใต้จึงได้ย้ายมาตั้งที่ตลาดโคกหรือชุมชนตลาดปริก เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนบ้านปริก (กุก่องวิทยาคาร) ในปัจจุบัน หลังจากนั้น กำนันอดุลย์ ยีขุน จึงมอบที่ดินผืนดังกล่าวของขุนภิรมย์ผู้บิดาให้เป็นบริเวณที่ก่อสร้างบ้านพักครู และมอบให้เป็นที่ดินราชพัสดุ ที่โรงเรียนบ้านปริกเป็นผู้ถือครองในลำดับต่อมา เพื่อสะดวกต่อการจัดรูปพื้นที่เขตปกครองตามหลักเกณฑ์การแบ่งเขตพื้นที่ของการบริหารจัดการในรูปของชุมชนในเขตเทศบาลตำบลปริก ปี พ.ศ. 2543 ดังนั้น จึงได้จัดโซนพื้นที่บริเวณสามแยกตลาดใต้ฝั่งตะวันออกของถนนกาญจนวนิชซึ่งเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนตลาดใต้ออกไปให้เป็นเขตพื้นที่เขตปกครองของชุมชนทุ่งออกในปัจจุบัน
ชุมชนตลาดใต้ – บ้านกลาง เป็นชุมชนหนึ่งในเขตเทศบาลตำบลปริก สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบเป็นส่วนใหญ่ มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ชุมชนตลาดปริก
ทิศใต้ ติดต่อกับ ชุมชนทุ่งออก และคลองปริก
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนกาญจนวานิช
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองปริก ชุมชนร้านใน ชุมชนปริกตก
การตั้งบ้านเรือนของประชาชน จะหนาแน่นบริเวณแนวถนนในชุมชน และไม่กระจัดกระจาย สามารถไปมาหาสู่กันได้อย่างทั่วถึง
โครงสร้างพื้นฐาน (เทศบาลตำบลปริก, 2567)
ถนน แต่เดิมเป็นถนนดินแคบๆ เพื่อให้เกวียนผ่านได้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2487 เริ่มมีถนนลูกรัง ปัจจุบันมีถนนคอนกรีตเชื่อมต่อในชุมชนโดยรอบ
ไฟฟ้า ปัจจุบันมีไฟฟ้าใช้ทุกหลังคาเรือน
โทรคมนาคม ในชุมชนมีโทรศัพท์ใช้ ทาให้การสื่อสารสะดวกรวดเร็วแต่ยังไม่ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน
ประปา ในชุมชนตลาดใต้ - บ้านกลาง ไม่มีระบบประปาชุมชน ในการอุปโภคส่วนใหญ่จะใช้บ่อน้ำตื้นและมีบ่อบาดาลจำนวน 1 แห่ง ซึ่งมักจะขาดแคลนในฤดูแล้ง ทำให้บางครั้งต้องได้รับการแจกจ่ายน้ำจากทางเทศบาลตำบลปริก สำหรับน้ำเพื่อการบริโภค ส่วนใหญ่ประชาชนจะซื้อน้ำดื่ม
ชุมชนตลาดใต้ – บ้านกลาง มีจำนวนครัวเรือนครัวเรือนทั้งสิ้น 256 ครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้น 889 คน เป็นเพศชาย 421 คน เพศหญิง 468 คน (เทศบาลตำบลปริก, 2567)
ประชากรนับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 99 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 1 นับถือศาสนาพุทธ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 49)
การรวมกลุ่มคนในชุมชนสวนตลาดใต้ – บ้านกลาง มีการรวมกลุ่มกิจกรรมที่สำคัญในชุมชน (เทศบาลตำบลปริก, 2567) ได้แก่
การรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมเสริมสร้างรายได้ เช่น กลุ่มขนมไทยและเบเกอร์รี่ กลุ่มน้ำพริกแห้ง
กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงเริ่มต้นโครงการการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน คือธนาคารขยะ และกระปุกสวรรค์ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดมาจากโครงการธนาคารขยะ โดยได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และงบประมาณจากโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ ปัจจุบันได้ปิดโครงการไปเรียบร้อยแล้ว
กิจกรรมสาธารณะ โดยเฉพาะที่เป็นงานพัฒนาชุมชน เช่น งานบุญมัสยิด งานเลี้ยงน้ำชาหารายได้เข้าชุมชน เป็นต้น
การรวมกลุ่มที่พบมากจะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาชุมชนในด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามซึ่งทำเป็นประเพณีสืบต่อกันมา จุดศูนย์รวมของคนในชุมชนที่สำคัญคือ มัสยิดตลาดใต้ (มัสยิดอัล-อันศอร์) และที่ทำการกลุ่มขนมไทยและเบเกอร์รี่
(สามารถดูภาพกิจกรรมของชุมชนได้ที่ facebook fanpage มัสยิดอัล-อันศอร์)
อาชีพประชากร (เทศบาลตำบลปริก, 2567) ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นที่ราบ ทำให้ในอดีตประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ และค้าขายโดยใช้เกวียนเป็นพาหนะขนส่งสินค้าไปยังอำเภอหาดใหญ่ การเดินทางไปแต่ละครั้งใช้เวลาเป็นแรมคืน และตลาดอำเภอสะเดาและตำบลพังลา ประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำสวนยางพารา (198 ครัวเรือน) และสวนผลไม้ประเภทลองกอง ขนุน รองลงมาคืออาชีพ ค้าขาย (75 ครัวเรือน) รับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น มีส่วนน้อยที่รับราชการ
รายได้ภาคเกษตรเฉลี่ย 150,000 บาท/ครัวเรือน/ปี
รายได้นอกภาคเกษตรเฉลี่ย 85,000 บาท/ครัวเรือน/ปี
รายได้เฉลี่ของประชากร (ตามเกณฑ์ จปฐ. ปี 2557) 30,000 บาท/คน/ปี
ประเพณี-วัฒนธรรม ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม ประเพณีและวิถีชุมชนที่สำคัญ ได้แก่ การถือศีลอดในเดือนรอมฏอน วันอิดิลฟิตตรี – อีดิลอัฎฮา นอกจากนั้นในชุมชน จะมีมัสยิด 1 แห่ง ชื่อ มัสยิดตลาดใต้ (มัสยิม อัล-อันศอร์)
ปราชญ์ชาวบ้าน (เทศบาลตำบลปริก, 2567)
นายสุริยา ยีขุน
นายซาการียา หมัดเลียด
นางรอปิอะ โต๊ะหีม
นายฟาริด เบ็ญมุสา
นายสมัน โต๊ะหีม
นางขม โต๊ะเหย็บ
ประธานชุมชน นายซาการียา หมัดเลียด
สินค้าในชุมชน
ขนมไทยและเบเกอร์รี่
น้ำพริกแห้ง
แหล่งเรียนรู้ชุมชน
ศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะและพลังงาน นายซาการียา หมัดเลียด
แหล่งเรียนรู้แม่อาสา นางศิริพร กลิ่นพิทักษ์
แหล่งเรียนรู้กลุ่มขนมไทยและ เบเกอรี่ น.ส.สุนิสา หมัดโส๊ะ
แหล่งเรียนรู้กลุ่มพริกแห้ง นางส้อฝีหย๊ะ หล๊ะหมูด
แหล่งเรียนรู้กลุ่มออมทรัพย์แม่บ้านเทศบาลตำบลปริก นางวิไลวรรณ เบ็ญหล๊ะ
แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง นายฟาริด เบ็ญมุสา
แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ด.ต.อดิศร บริกล
แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง นายสุลัยหมาน ยีขุน
ความขัดแย้งในชุมชนส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งด้านการเมืองท้องถิ่น ซึ่งทำให้มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก แต่ไม่ถึงขั้นรุนแรงมากนัก แต่ก็ส่งผลต่อความร่วมมือในการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน (เทศบาลตำบลปริก, 2567)
ชุมชนตลาดใต้-บ้านกลาง เดิมเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประชาบาลแห่งแรกของตำบลปริก ซึ่งขุนภิรมย์ ณ ปริกคาม (นายหมาด ยีขุน) ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งขึ้น แต่ต่อมาย้ายไปอยู่ที่โรงเรียนบ้านปริก (กุก่องวิทยาคาร) ซึ่งอยู่ในชุมชนตลาดปริกในปัจจุบัน ในระยะหลังต่อมาจึงได้มีสถานศึกษาเกิดขึ้นในชุมชนอีก 1 แห่ง คือ โรงเรียนพัฒนาศาสตร์มูลนิธิ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน เปิดสอนทั้งสายสามัญและสายศาสนา มีตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทำให้ประชาชนต้องส่งบุตรหลานไปเรียนในโรงเรียนดังกล่าว และบางส่วนก็ส่งไปเรียนในเขตอำเภอสะเดา (เทศบาลตำบลปริก, 2567)
ปัญหาคุณภาพน้ำในคลองปริก คลองปริกเป็นคลองที่กั้นระหว่างชุมชนตลาดใต้ – บ้านกลาง และชุมชนร้านใน ซึ่งเป็นชุมชนในเขตเทศบาลตำบลปริก ปัจจุบันน้ำในคลองเริ่มแห้ง และมีคุณภาพเสื่อมโทรม ซึ่งปัญหาคลองได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำลดจำนวนลง และไม่สามารถนำมาอุปโภคและบริโภคได้
ปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน เนื่องจากบริเวณที่เป็นชุมชนมีสภาพเป็นที่ราบลุ่ม ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังในฤดูฝนทุกปี แต่ความรุนแรงไม่มากนัก
ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำใช้ ในอดีต การแก้ปัญหาบางหลังคาเรือนก็มีการซื้อน้ำใช้ และมีการบริการน้ำใช้จากเทศบาล แต่ปัจจุบันมีระบบประปาให้บริการเต็มพื้นที่ 100 %
ปัญหามูลฝอย สภาพปัญหามูลฝอยในชุมชนตลาดใต้ - บ้านกลาง ได้แก่ การมีมูลฝอยตกค้าง และไม่มีการคัดแยกมูลฝอยก่อนทิ้งใน 3 ประเภท คือ มูลฝอยเปียก มูลฝอยทั่วไป และมูลฝอยอันตราย การแก้ปัญหาในอดีตคือการพึ่งพาการจัดเก็บจากเทศบาลเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันได้มีการคัดแยกกันบ้างเพื่อที่จะนำกลับไปใช้ประโยชน์ เช่น ขยะเปียก หรือขยะอินทรีย์ จะนิยมทำปุ๋ยกันบ้าง หรือไปกองทิ้งไว้ใต้โคนต้นไม้บ้าง และขยะที่รีไซเคิลได้ ก็เอาไปจำหน่ายและแลกเป็นสิ่งของ ทำให้ปริมาณการทิ้งขยะน้อยลงจากเดิม
เทศบาลตำบลปริก. "ประวัติชุมชนตลาดใต้-บ้านกลาง เทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา" (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 8 มกราคม 2567. เข้าถึงจาก https://www.tonprik.go.th/files/com_content/2020-09_3d20d4279cac2c8.pdf