บ้านกุดแฮด หนึ่งในชุมชนท่องเที่ยวในแคมเปญ CEO LOVE LOCAL ของ ททท. หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตผ้าย้อมคราม มีการรวมกลุ่มและได้รับการสนับสนุนในการส่งเสริมและพัฒนาการทำผ้าย้อมครามและบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ
มีเรื่องเล่าว่าภายหลังแยกตัวออกมาจากบ้านหนองหางแข้ถิ่นฐานเดิมเพื่อหาหลักแหล่งที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ พ่อเฒ่าศรีมุกดาและพ่อเฒ่าจำวงศ์ลา ผู้นำชาวบ้านได้เดินทางมาพบแหล่งน้ำที่มีฝูงแฮด (แรด) อาศัยอยู่ เมื่อตกลงกันตั้งหมู่บ้านใหม่ ณ ที่แห่งนี้ จึงตั้งชื่อว่า "บ้านกุดแฮด"
บ้านกุดแฮด หนึ่งในชุมชนท่องเที่ยวในแคมเปญ CEO LOVE LOCAL ของ ททท. หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตผ้าย้อมคราม มีการรวมกลุ่มและได้รับการสนับสนุนในการส่งเสริมและพัฒนาการทำผ้าย้อมครามและบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ
บ้านกุดแฮดเป็นหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงที่มีขนาดใหญ่และมีประวัติความเป็นมายาวนาน ชาวกะเลิงที่บ้านกุดแฮดมีความทรงจำเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชุมชนและการอพยพย้ายถิ่นฐานแบบเดียวกัน คือ บรรพบุรุษของชาวกะเลิงบ้านกุดแฮดได้อพยพมาจากเมืองมหาไชยกองแก้ว (ปัจจุบันอยู่ในแขวงคำม่วน ประเทศลาว) โดยสันนิษฐานถึงสาเหตุและช่วงเวลาในการย้ายถิ่นฐานเดินทางข้ามแม่น้ำโขงมายังเมืองสกลนครไว้ 2 ช่วงเวลา คือ เหตุการณ์ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 และเหตุการณ์ปราบฮ่อในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงเวลาในการย้ายถิ่นฐานของชาวกะเลิงเข้ามายังบ้านกุดแฮด อาจจะอยู่ในช่วงสมัยของพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) เจ้าเมืองสกลนคร มีพ่อเฒ่าศรีมุกดาและพ่อเฒ่าจำวงศ์ลา เป็นผู้นำพาญาติพี่น้องประมาณ 10 ครัวเรือน อพยพมาจากต้นโพธิ์สามต้น (ปัจจุบันคือ ตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร) เมืองสกลนคร เริ่มแรกนั้นได้ตั้งถิ่นฐานร่วมกับชาวกะเลิงกลุ่มอื่นที่บ้านหนองหางแข้ เป็นหนองที่อยู่ใกล้กับบริเวณบ้านหนองสะไน ตำบลนาม่อง อำเภอกุดบากในปัจจุบัน หลังจากนั้นได้เกิดโรคห่าระบาด ทำให้ชาวกะเลิงบ้านหนองหางแข้ตัดสินใจแยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐาน และได้แบ่งมูลหรือมรดกกัน โดยได้แบ่งออกเป็น 3 บ้าน ได้แก่ บ้านหนองสะไน ได้รับฆ้อง บ้านโพนงาม ได้รับกลองเพน บ้านกุดแฮด ได้โปง ซึ่งทั้งสามหมู่บ้านนี้ยังคงอยู่ในเขตของอำเภอกุดบาก โดยภายหลังออกมาจากบ้านหนองหางแข้ พ่อเฒ่าศรีมุกดาและพ่อเฒ่าจำวงศ์ลาได้เดินทางมาพบแหล่งน้ำที่มีฝูงแรดอาศัยอยู่ ขณะนั้นฝูงแรดกำลังนั่งแช่หลักโคลนอยู่ในแหล่งน้ำ ด้วยเหตุนี้จึงได้เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า “กุดแฮด”
บ้านกุดแฮด ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบบนเทือกเขาภูพานในเขตตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร เป็นหมู่บ้านในเขตการปกครองของเทศบาลตำบลกุดแฮดที่ถูกแบ่งการปกครองออกเป็น 3 หมู่ เนื่องจากมีการจัดระบบการปกครองใหม่โดยแยกพื้นที่บางส่วนของบ้านกุดแฮดหมู่ที่ 4 ออกเป็นบ้านกุดแฮดหมู่ที่ 7 และ 9 ตำบลกุดบาก มีอาณาเขต ดังนี้
บ้านกุดแฮด หมู่ที่ 4 มีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านกุดแฮดหมู่ที่ 9
- ทิศใต้ติด ต่อกับ บ้านโคกภูตำบลโคกภู อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านกุดแฮดหมู่ที่ 7
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านบัว หมู่ที่ 5
บ้านกุดแฮดสามัคคี หมู่ที่ 7 มีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหนองสองหาง หมู่ที่ 3 ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโคกภูตำบลโคกภูอำเภอภูพาน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านโคกภู ตำบลโคกภู อำเภอพูพาน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านกุดแฮด หมู่ที่ 4 และ 9 ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก
บ้านกุดแฮด หมู่ที่ 9 มีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้างหนองสองหาง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านกุดแฮดหมู่ 4
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านกุดแฮดสามัคคีหมู่ 7
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านบัว หมู่ที่ 5
บ้านกุดแฮด แบ่งการปกครองออกเป็น 3 หมู่ ได้แก่ หมู่ที่ 3, 7, 9 สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรบ้านกุดแฮดทั้ง 3 หมู่ ดังนี้
1) บ้านกุดแฮด หมู่ที่ 4 มีประชากรรวมทั้งสิ้น 915 คน แยกเป็นประชากรชาย 455 คน ประชากรหญิง 460 คน และจำนวนครัวเรือน 355 ครัวเรือน
2) บ้านกุดแฮดสามัคคี หมู่ที่ 7 มีประชากรรวมทั้งสิ้น 927 คน แยกเป็นประชากรชาย 457 คน ประชากรหญิง 470 คน และจำนวนครัวเรือน 299 ครัวเรือน
3) บ้านกุดแฮด หมู่ที่ 9 มีประชากรรวมทั้งสิ้น 834 คน แยกเป็นประชากรชาย 410 คน ประชากรหญิง 424 คน และจำนวนครัวเรือน 238 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
กะเลิงการประกอบอาชีพ
ชาวบ้านกุดแฮดมีวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ มีการพึ่งพาอาศัยทรัพยากรทางธรรมชาติในการดำรงชีวิตสูง มีการตั้งที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ใกล้ป่า ภูเขา และอยู่บนพื้นที่ราบ ทั้งหมดนี้เพื่อวัตถุประสงค์ให้เอื้อต่อการทำการเกษตรแบบยังชีพที่มุ่งเน้นการดำรงชีวิตและการเอาชีวิตรอด เนื่องจากประชาชนในชุมชนประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ เช่น ทำนา ซึ่งทำกันทุกหลังคาเรือน โดยปกติจะทำเพียงปีละ 1 ครั้ง พันธุ์ข้าวที่ปลูกจะเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวพื้นบ้าน คือ พันธุ์ข้าวดอ ทั้งนี้ ยังมีทำไร่ควบคู่ไปกับทำนา ส่วนใหญ่จะทำไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อยบ้างเล็กน้อย ทำสวน เช่น หวาย กล้วย หมากเม่า รวมถึงการหาของป่า (ผักหวาน หน่อไม้ แมงแคง ฯลฯ) ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป
อีกหนึ่งอาชีพที่ชาวบ้านกุดแฮดนิยมทำคืออาชีพทอผ้า ชาวบ้านมักนิยมปลูกฝ้าย และนำมาทอเป็นเสื้อผ้าย้อมครามทอมือ ผ้าย้อมครามของบ้านกุดแฮดจึงมีความเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกตัวตนของคนในชุมชนที่สร้างรายได้เลี้ยงดูชาวกะเลิงบ้านกุดแฮดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
อนึ่ง บ้านกุดแฮดยังนับได้ว่าเป็นชุมชนท่องเที่ยวน้องใหม่ของจังหวัดสกลนคร เนื่องจากปัจจุบันบ้านกุดแฮดเป็นหนึ่งในชุมชนท่องเที่ยวที่เข้าร่วมแคมเปญ CEO LOVE LOCAL ของทาง ททท. มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สะท้อนอัตลักษณ์ชุมชน และโดดเด่นด้วยสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI (Geographical Indications VILLAGE) ซึ่งทุกขั้นตอนในกระบวนการผลิตสินค้า GI ของชุมชนจึงถูกเชื่อมโยงเพื่อสร้างเรื่องราวความน่าสนใจ และต่อยอดพัฒนาแหล่งผลิตให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีโฮมสเตย์ชุมชนที่สร้างแบบไทกะเลิงแท้ ๆ ลักษณะเป็นเรือนไม้จริงยกพื้นสูง โปร่ง ชานกว้าง ในอดีตใช้เป็นลานอีดและปั่นฝ้าย มีเรือนครัวเล็ก ๆ แยกออกมา ซึ่งการเข้าพักโฮมสเตย์ในชุมชนที่บริหารจัดการโดยชาวบ้าน จะช่วยเติมเต็มประสบการณ์ให้การท่องเที่ยวสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านกุดแฮดเกิดความน่าประทับใจมากยิ่งขึ้น
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
- ผ้าฝ้ายเข็นมือย้อมครามรูปแบบต่าง ๆ เช่น เสื้อย้อมคราม ผ้าซิ่นย้อมคราม ผ้าชิ้นย้อมคราม ผ้าไหมชิ้นย้อมคราม
- น้ำหมากเม่า เบอร์รีพื้นบ้านสีแดงฉ่ำ รสหวานอมเปรี้ยวเจือฝาดเล็กน้อย มีวิตามินซีสูง และสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นผลิตภัณฑ์ GI (Geographical Indications VILLAGE) คุณภาพสูงของจังหวัดสกลนคร
การรวมกลุ่มชุมชน
- กลุ่มจุ้มทางการเกษตร
- กลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อการเกษตร
- กลุ่มฌาปนกิจ
- กลุ่มสระน้ำ
- กลุ่มแปรรูปอาหาร
- กลุ่มย้อมคราม
- กลุ่มแม่บ้านบ้านกุดแฮด
- กลุ่มออมทรัพย์บ้านกุดแฮด
- กลุ่มเด็กฮักถิ่นบ้านกุดแฮด
ความเชื่อและศาสนา
ความเชื่อและศาสนาของชาวบ้านกุดแฮดโดยรวมแล้วจะเห็นถึงการผสมผสานของความเชื่อผีและความเชื่อทางพุทธศาสนาอย่างชัดเจน ระบบความเชื่อและพิธีกรรมของชาวกะเลิงนั้นถูก ผลิตขึ้นโดยอิงจากวิถีการดำรงชีวิตเพื่อตอบสนองความต้องการของชนกะเลิงด้วยกันในระดับของ จิตใจอันจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่มั่นคงต่อการดำรงชีวิต ในทางด้านความเชื่อผีชาวกะเลิงบ้านกุดแฮดมีความนับถือต่อผีปู่ตา ผีย่า ผีบรรพชน ผีเจ้าที่ (ผีป่าผีภูเขา) ผีไร่ผีนา ผีเรือน ผีฟ้า ผีน้ำ และขวัญ โดยมีสถานที่สำคัญของผีคือ ดอนปู่ตา ภู ถ้ำพวง ธรรมชาติไร่และนา มีผู้นำความเชื่อหรือผู้ประกอบพิธีกรรม อาทิ เจ้าจ้ำ หมอพราหมณ์หมอ เหยา หมอเป่า หมอจอด และหมอแคน เป็นต้น บุคคลเหล่านี้กล่าวได้ว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้านได้เพราะ เป็นผู้มีความรู้และภูมิปัญญาของชาวกะเลิง ส่วนในทางด้านความเชื่อต่อพุทธศาสนาปรากฏอยู่ร่วมกับระบบฮีตสิบสอง ได้แก่ บุญผะ เหวด บุญสงกรานต์บุญเข้าพรรษา บุญออกพรรษา และบุญกฐิน จึงกล่าวได้ว่า ชาวกะเลิงมีความเชื่อ ความศรัทธาในพุทธศาสนา นับถือพระสงฆ์พระพุทธรูปที่เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนพระพุทธเจ้า และมี วัดเป็นสถานที่สำคัญของพุทธศาสนา
ฮีตสิบสองหรือประเพณีสิบสองเดือน
ชาวบ้านกุดแฮดยึดถือปฏิบัติฮีตสิบสองหรือประเพณี 12 เดือน อันเป็นวัฒนธรรมที่แพร่กระจายในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์กับวิถีการดำรงชีวิตทางการเกษตร การอาศัยพึ่งพิงธรรมชาติความเชื่อ และศาสนา คำว่า “ฮีตสิบสอง” ประกอบไปด้วยคำสองคำ คือ ฮีต หรือจารีต อันหมายถึงสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติติดต่อกันมาจนกลายมาเป็นประเพณีและสิบสองหมายถึงเดือนทั้ง 12 เดือน ดังนั้นคำว่าฮีตสิบสองจึงหมายถึงประเพณีสิบสองเดือน เช่น เลี้ยงผีปู่ตาและบุญกองข้าว เดือนสาม (ช่วงเดือนกุมภาพันธ์) งานเลี้ยงผีปู่ตา เป็นงานที่สำคัญที่สุดของชาวกะเลิงบ้านกุดแฮดที่จะมาร่วมกันจัดงานเลี้ยงผีปู่ตาหรือผีบรรพบุรุษในทุก ๆ ปีเพื่อทำการขอบคุณที่ผีปู่ตาคอยปกปักรักษาผู้คนในชุมชน สัตว์เลี้ยง ตลอดจนถึงการดำรงชีวิตที่ราบรื่นตลอดทั้งปีและทำการขอให้ผีปู่ตาช่วยปกปักรักษาผู้คนในชุมชน และสัตว์เลี้ยงต่อไปให้ชุมชนมีความสุขอีกตลอดทั้งปี ส่วนบุญกองข้าว เป็นงานบุญที่มีความต่อเนื่องมาจากงานเลี้ยงผีปู่ตาที่จัดในช่วงเช้า งานบุญกองข้าวจะจัดต่อในช่วงบ่าย แต่ละครัวเรือนในชุมชนบ้านกุดแฮดจะแบ่งปันนำข้าวเปลือกที่เพิ่งเก็บเกี่ยวส่วนหนึ่งใส่ภาชนะของตนเองมากองรวมกันไว้ที่วัดซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของชุมชนบ้านกุดแฮด ในช่วงเย็นมีการเจริญพระพุทธมนต์ที่วัดหลังจากนั้นในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ชาวกะเลิงบ้านกุดแฮดจะร่วมทำบุญตักบาตรและทำพิธีสู่ขวัญข้าว สู่ขวัญพระสงฆ์และสู่ขวัญทั่วไป เมื่อเสร็จสิ้นพิธีจะแบ่งส่วน ข้าวเปลือกไปขายเป็นรายได้ให้แก่วัดและนำส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นส่วนกลางของชุมชน
OTOP จากภูมิปัญญา ผ้าย้อมครามบ้านกุดแฮด
ชาวบ้านกุดแฮดมีภูมิปัญญาในการย้อมผ้าด้วยวิธีธรรมชาติ และมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นซึ่งสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ด้วยเหตุนี้ผ้าย้อมครามของบ้านกุดแฮดจึงมีเอกลักษณ์ที่บ่งบอกตัวตนของคนในชุมชน ผ้าย้อมครามบ้านกุดแฮดเป็นผ้าทอที่ถูกสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากต้นครามที่พบเห็นได้ทั่วไปในชุมชน นำใบครามมาแช่น้ำเพื่อทำน้ำครามสำหรับย้อมเส้นด้าย มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์อันเป็นลวดลายธรรมชาติที่แสดงถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่าย จนเป็นจุดเด่นของผ้าย้อมครามบ้านกุดแฮง ที่ทำมาจากฝ้ายแท้ ย้อมครามแบบธรรมชาติ โดยเส้นใยธรรมชาติจะมีความหนา เมื่อนำมาทอผ้าจะทำให้เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี โดยเสน่ห์ของผ้าย้อมคราม คือ สามารถป้องกันยูวี มีกลิ่นครามหอมอ่อน ๆ ซึ่งกลิ่นนี้ยังป้องกันยุงได้ด้วย เนื้อผ้านุ่ม สวมใส่สบาย อากาศหนาวใส่แล้วอุ่น อากาศร้อนใส่แล้วเย็น
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ "ผ้าย้อมคราม" สินค้าแฮนด์เมดที่สืบสานจากภูมิปัญญาของกลุ่มชาวบ้านกุดแฮด ได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวญี่ปุ่นและยุโรป ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. ที่ปัจจุบันกลายเป็นผลิตภัณฑ์ทำเงินให้แก่คนในชุมชน ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพไปพร้อม ๆ กัน
ภาษาพูด : ภาษากะเลิง ภาษาอีสาน ภาษาไทยกลาง (ติดต่อราชการ)
ภาษาเขียน : อักษรไทย
ทายานนท์ พงษ์ศิริ (2563). โครงสร้างสังคมกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง: บทวิเคราะห์จากความเชื่อและศาสนา: กรณีศึกษาหมู่บ้านกุดแฮด ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ประตูสู่อีสาน. (2564). ชนเผ่าไทกะเลิง. สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://www.isangate.com/
สุรัตน์ อัตตะ. (2556). ทำมาหากิน : 'ผ้าย้อมคราม' บ้านกุดแฮด. สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://www.komchadluek.net/
สุวิทย์ ธีรศาสวัต และ ณรงค์ อุปัญญ์. (2540). การเปลี่ยนแปลงวิถีครอบครัวและชุมชนอีสาน : กรณีกะเลิง จังหวัดมุกดาหาร. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านกุดแฮด ต.กุดบาก อ.กุดบาก จ.สกลนคร. สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://bedobcg.com/
โสดแล้วไปไหนก็ได้. (2561). สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://www.facebook.com/
อริญชย์ จนฺทสาโร. (2567). รำผีหมอเหยาของกลุ่มชาวบ้านกุดแฮด. สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://www.facebook.com/
We love Local. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านกุดแฮด จ.สกลนคร. สืบค้น 13 มกราคม 2567, จาก https://www.welovelocal.asia/