Advance search

ดงจงอางงามวิถีฮีตสิบสอง ตามครรลองไทอีสาน

หมู่ที่ 10
บ้านดงจงอาง
บึงแก
มหาชนะชัย
ยโสธร
วิไลวรรณ เดชดอนบม
9 ธ.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
8 ก.พ. 2024
บ้านดงจงอาง

สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าซึ่งมีสัตว์อาศัยอยู่หลายชนิด แต่สัตว์ที่พบมากที่สุดคือ “งูจงอาง” 


ชุมชนชนบท

ดงจงอางงามวิถีฮีตสิบสอง ตามครรลองไทอีสาน

บ้านดงจงอาง
หมู่ที่ 10
บึงแก
มหาชนะชัย
ยโสธร
35130
15.48240668
104.3755795
องค์การบริหารส่วนตำบลบึงแก

การตั้งถิ่นฐานหมู่บ้านดงจงอางเกิดจากการอพยพของผู้คนเพื่อหนีจากโรคระบาดในสมัยประมาณ 150 ปีที่ผ่านมา โดยมีขุนพินิจและท้าวพรมเป็นผู้ปกครองและนำชาวบ้านที่อพยพมาจากที่ต่าง ๆ มาตั้งหมู่บ้านบริเวณพื้นที่ราบ จากคำบอกเล่าบ้านดงจงอางก่อตั้งขึ้นประมาณปี พ.ศ.2310 สาเหตุที่ใช้ชื่องูจงอางเป็นชื่อหมู่บ้านเนื่องจากบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นป่ารกและมีสัตว์หลายชนิดอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก แต่สัตว์ที่พบมากที่สุด คือ งูจงอาง จึงนำเอาชื่องูจงอางเป็นชื่อของหมู่บ้าน

การตั้งถิ่นฐานของบ้านดงจงอางประกอบไปด้วยประชากร 3 กลุ่มคือ

  1. กลุ่มที่อพยพมาจากเมืองจำปาสัก ประเทศลาว
  2. กลุ่มที่อพยพมาจากจังหวัดอุบลราชธานี
  3. กลุ่มที่อพยพมาจากบ้านเปือยวังวัว จังหวัดศรีสะเกษ

เดิมทั้งสามกลุ่มนี้ต่างตั้งถิ่นฐานอยู่ตามกลุ่มของตน แต่ต่อมาเกิดโรคระบาด(ฝีดาษ) ไม่มียารักษาทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้ทั้งสามกลุ่มนี้จึงรวมเข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน 

บ้านดงจงอางตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดยโสธร และอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอมหาชนะชัย ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ประมาณ 56 กิโลเมตร และเป็นเขตแดนติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านไผ่ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
  • ทิศใต้ ติดกับแม่น้ำชี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านทุ่งใหญ่ ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านบูรพา ตำบลบึงแก อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร

พื้นที่สาธารณะ

บ้านดงจงอางมีพื้นที่สาธารณประโยชน์มีทั้งหมด 1,259 ไร่ 2 งาน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  1. ดงดอนธาตุ เนื้อที่ 850 ไร่ อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน เป็นพื้นที่ติดกับแม่น้ำชี ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์โดยอาศัยหาของป่าไม่ว่าจะเป็น หน่อไม้ เห็ด และสมุนไพร ดงดอนธาตุเป็นพื้นที่สำนักสงฆ์ป่าดงธาตุตั้งอยู่ เพื่อเป็นที่พำนักสำหรับพระสงฆ์ที่มาธุดงค์ นอกจากนั้นยังใช้เป็นพื้นที่สำหรับการเลี้ยงสัตว์ในช่วงที่ชาวบ้านทำนา เพื่อไม่ให้สัตว์เลี้ยงไว้นั้นไปเหยียบผลิตผลเสียหาย โดยดงธาตุเป็นพื้นที่ป่าที่ห่างไกลจากหมู่บ้าน
  2. ดอนกลาง เนื้อที่ 160 ไร่ ตั้งอยู่ทิศใต้ของหมู่บ้าน ลักษณะการใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับป่าดงธาตุ แต่จะอยู่ใกล้หมู่บ้านมากกว่า
  3. ดอนปู่ตา เนื้อที่ 6 ไร่ เป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้การเคารพนับถือ เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านดงจงอาง
  4. หนองบ้าน เนื้อที่ 21 ไร่ เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้กักเก็บน้ำฝนเพื่อการอุปโภคและบริโภคของคนในหมู่บ้าน
  5. ร่องพอก เนื้อที่ 105 ไร่ เป็นพื้นที่สำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูกาลทำนาของชาวบ้าน
  6. โรงเรียน เนื้อที่ 8 ไร่
  7. สถานีอนามัย เนื้อที่ 2 ไร่
  8. วัด เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน
  9. ป่าช้า เนื้อที่ 101 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าอีกพื้นที่หนึ่ง ในอดีตเป็นพื้นที่เผาศพของคนในหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันใช้เมรุในการเผาศพแทน ทำให้สภาพป่าช้าในปัจจุบันไม่ได้ถูกใช้งานจึงมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมบริเวณบ้านป่า

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพรายงานสถิติจำนวนประชาการหมู่ที่ 10 บ้านดงจงอาง ตำบลบึงแก อำเภอมมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร มีประชากร 420 คน โดยประชากรที่อาศัยอยูในหมู่บ้านมีทั้งที่เป็นประชากรท้องถิ่นเดิม และบุคคลที่อาศัยมาจากแหล่งที่อยู่อาศัยอื่น แล้วเข้ามาประกอบอาชีพในชุมชนบ้านดงจงอาง จึงได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในหมู่บ้านแห่งนี้

การประกอบอาชีพของบ้างดงจงอาง ยึดอาชีพการทำนาเป็นอาชีพหลัก นอกจากอาชีพทำนาชาวบ้านยังประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขาย รับราชการ และเลี้ยงสัตว์ โดยจะทำนาแค่ปีละหนึ่งครั้ง ประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนมกราคม เรียกว่าการทำนาปี แหล่งน้ำที่ใช้ในการทำนาจะใช้น้ำคลองที่มากลำห้วยอาจและแหล่งน้ำที่เกิดจากการขุดบ่อตนเองตามพื้นที่นาตนเอง ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวไว้สำหรับบริโภคและแลกเปลี่ยน ในการแลกเปลี่ยนนั้นจะเป็นการแลกเปลี่ยนกับหมู่บ้านอื่นที่นำสิ่งของมาแลกข้าวตามแต่ตกลงกัน ส่วนอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นอีกอาชีพที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้หารายได้ให้กับครอบครัว โดยกลุ่มที่ประกอบอาชีพนี้จะเป็นกลุ่มคนหนุ่มคนสาวเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นวัยที่ใช้แรงงานโดยจะออกไปทำงานรับจ้างในต่างถิ่น เช่น รับเหมาก่อสร้างทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้าง พนักงานตามโรงงาน เป็นต้น ต่อมาเป็นอาชีพรับราชการเป็นกลุ่มคนที่เรียนจบการศึกษาระดับสูง และอาชีพค้าขายในหมู่บ้านดงจงอาง ลักษณะของร้านค้าจะเป็นร้านค้าขนาดเล็ก ขายข้าวของเครื่องใช้ อาหาร และสิ่งที่จำเป็น นอกจากนี้ยังมีอาชีพเลี้ยงสัตว์และหาของป่าที่ควบคู่ไปกับอาชีพทำนา การเลี้ยงสัตว์ในอดีตของหมู่บ้านดงจงอางมีมาตั้งแต่สมัยเริ่มตั้งถิ่นฐานโดยในช่วงแรกเลี้ยงไว้เพื่อใช้ในการทำนาแต่ต่อมามีเทคโนโลยีที่ช่วยในการทุ่นแรงทำให้การเลี้ยงสัตว์เพื่อช่วยงานกลายเป็นการส่งขายในตลาดกลางแทน อาชีพหาของป่าเป็นอีกอาชีพที่สร้างรายได้อีกช่องทาง เนื่องจากสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านมีป่าที่เป็นสาธารณะเป็นอยู่หลายแห่งที่ทำให้ชาวบ้านหาของป่ามาขายเพื่อสร้างรายได้นอกเหนือจากการทำนา เลี้ยงสัตว์และรับจ้าง

ศาสนาและความเชื่อ

ดงจงอางเป็นพื้นที่ที่นับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับความเชื่อผีในพื้นถิ่น โดยมีวัดอุทยารามเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธมีการจัดกิจกรรมและประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ล้วนจัดขึ้นภายในวัด ถือได้ว่าวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านและยึดถือในความของเชื่อของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่คือ ความเชื่อเรื่องผีปู่ตา โดยชาวบ้านเชื่อว่า “ผีปู่ตา” เป็นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยมีศาลอยู่ภายในป่าดอนปู่ตา มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองคนในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้พ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง และชาวบ้านยังเชื่อว่าผีปู่ตามีอิทธิฤทธิ์ดลบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในหมู่บ้าน สามารถให้คุณและให้โทษ ความเชื่อนี้ส่งผลให้ชาวบ้านไม่กล้าลบหลู่ในความศักดิ์สิทธิ์ของผีปู่ตา

วัฒนธรรมประเพณี

มีวัฒนธรรมอันดีงามของชาวอีสานที่สืบต่อกันมาเรียกว่า ฮีตสิบสอง คองสิบสี่  อันเป็นภูมิปัญญาและเบ้าหลอมวิถีชีวิตชาวอีสานให้คงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม จารีต และแนวทางการปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ฮีต มาจากคําว่า จารีต เป็นประเพณีการทําบุญประจําทุกเดือนในรอบปี ดังนี้

  • ประเพณีบุญประทายข้าวเปลือก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าบุญทำขวัญข้าว จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์(เดือนสาม) ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกที่ได้จากการเก็บเกี่ยวมาทำพิธีสู่ขวัญข้าว
  • ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีวัฒนธรรมที่สามารถเห็นได้ในทุกภูมิภาคของไทย ถือว่าเป็นประเพณีปีใหม่ไทย
  • ประเพณีบุญบั้งไฟ จะมีในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือบางปีก็จะจัดในเดือนมิถุนายน เพื่อเป็นสิริมงคลและขอฝน โดยจัดกันก่อนฤดูทำนา ด้วยความเชื่อว่าเป็นการขอฝนเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าในนาข้าวอุดมสมบูรณ์
  • การขึ้นบ้านใหม่ ชาวบ้านจะนิยมจะขึ้นในเดือนหกหรือทำในเดือนสิบสองเชื่อว่าเป็นเดือนที่ดี สามารถทำวันใดก็ได้
  • ประเพณีเข้าพรรษา เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาจัดในช่วงเดือนกรกฎาคม(เดือนแปด) ชาวบ้านจะร่วมทำบุญกันที่วัด ถวายเทียนพรรษา และอีกอย่างหนึ่งคือการถวายผ้าอาบน้ำฝน เพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นตามความเหมาะสม
  • บุญกฐิน จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน(เดือนสิบสอง) เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่าตามคติเดิม เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือนสิบเอ็ด ถึงกลางเดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสอง โดยมีการตั้งกองบุญกฐินตามที่บ้านเจ้าภาพเป็นองค์ประธาน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศาลปู่ตา

ผีปู่ตาเป็นดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วโดยความเชื่อผีปู่ตาส่งผลต่อโครงสร้างการดำเนินชีวิต ได้แก่ สถาบันครอบครัวและหมู่บ้านในด้านการจัดการงาน และประเพณีต่าง ๆ จะต้องมีการบอกกล่าวต่อผีปู่ตาก่อนการดำเนินงาน เพื่อให้ท่านคุ้มครองและไม่ให้มีอุปสรรคในการดำเนินงาน จากความเชื่อดังกล่าวส่งผลให้ชาวบ้านไม่กล้าล่วงละเมิดหรือบุกรุกป่าในพื้นที่ศาลดอนปู่ตา ทำให้ดอนปู่ตามีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ ผีปู่ตาเปรียบเสมือนที่พึ่งทางจิตใจของชาวบ้านในการประกอบงานต่าง ๆ ให้เกิดผลตามที่ตนหวังไว้ ชาวบ้านจะมีการบอกกล่าวต่อผีปู่ตาและทำการบนบานเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ

ข้อห้าม

ชาวอีสานเรียกข้อห้ามว่า ขะลำข้อห้ามที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านดงจงอางเกิดจากประสบการณ์ของคนในอดีตที่ได้พบเจอกับตัวบุคคลเอง ก่อให้เกิดข้อห้ามที่ปฏิบัติต่อกันมา ได้แก่ ห้ามบุกรุกพื้นที่ป่าดอนปู่ตา ห้ามตัดต้นไม้ ห้ามจับสัตว์ ห้ามทำการลบหลู่หรือพูดจาดูหมิ่นผีปู่ตา

พิธีเลี้ยงผีปู่ตา

พิธีเลี้ยงผีปู่ตาบ้านดงจงอางจัดขึ้นทุกปี ปีละครั้งในช่วงเดือนหกและต้องเป็นวันพุธเท่านั้น ห้ามตรงกับวันพระ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำนา อีกทั้งยังเป็นการขอให้ปู่ตาคุ้มครองให้ผู้คนในหมูบ้านอยู่ดีมีสุข ในการประกอบพิธีจะต้องเตรียม ไก่ต้มสุก ขอดวัว ขอดคน ขอดควาย ขอดไก่ และขอดสุนัข ข้าวเหนียวนึ่งสุก ขันธ์ 5 หมาก บุหรี่ ผ้าขาวม้าหรือโสร่ง โดยมีเฒ่าจ้ำเป็นผู้นำในการทำพิธี

ความสัมพันธ์ของป่าดอนปู่ตากับวิถีชีวิต

ป่าดอนปู่ตาเป็นป่าที่ชาวบ้านดงจงอางเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ หากมีผู้ใดตัดต้นไม้ ฆ่าสัตว์ เก็บของป่าบริเวณพื้นที่รอบศาลปู่ตา และดูหมิ่นผีปู่ตาจะถูกลงโทษ เป็นข้อห้ามหรือขะลำที่ชาวบ้านยึดถือและร่วมกันปฏิบัติหากชาวบ้านคนใดที่ไม่ปฏิบัติต้องมีเหตุเป็นไปโดยไม่ทราบสาเหตุ การเคารพและศรัทธาถูกส่งผ่านโดยผ่านรูปแบบพิธีกรรมที่ส่งผลให้ป่าดอนปู่ตายังคงสภาพอยู่ ทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญที่มีผลทางจิตใจ จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับความเชื่อที่เกิดขึ้นภายในหมู่บ้านดงจงอาง

ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ ใช้ภาษาอีสานหรือภาษาท้องถิ่นในการสื่อสาร

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านดงจงอาง พลังโจ๋ เปลี่ยนชุมชน

"บ้านดงจงอาง" หมู่บ้านชนบทใน ต.บึงแก อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร จากหมู่บ้านซึ่งครั้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยปัญหาเด็กและเยาวชน แต่เมื่อผู้ใหญ่เปลี่ยนความเชื่อจากขนบเดิม ๆ เปิดพื้นที่ให้เด็กได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยคิด ช่วยทำ หาทางออกร่วมกัน โดยใช้กลไกสภาผู้นำเยาวชนทำงานคู่ขนานกับสภาผู้นำชุมชน จึงนำมาสู่ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย บ้านดงจงอาง เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่เคยขึ้นชื่อว่ามีปัญหา เด็กและเยาวชนเยอะที่สุด ตั้งแต่วัยรุ่น ยกพวกตีกัน ปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการตั้งท้องก่อนวัยอันควร ซึ่งเคยครองสถิติอันดับหนึ่งของจังหวัดมาแล้ว ปัญหาวัยรุ่นจึงเป็นโจทย์ในใจร่วมกันของคนบ้านดงจงอาง ซึ่งหยิบยกประเด็นนี้เพื่อหาทางออก ผ่านการเข้าร่วม "โครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่" โดยการสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

การตั้งสภาเยาวชนอีกหนึ่งสภา  เพื่อเป็นสภาคู่ขนานในการกิจกรรม ร่วมกับสภาผู้นำชุมชน จึงเป็นแนวทางที่ ช่วยเปิดพื้นที่การทำงาน ทำให้เด็ก ๆ  ได้มีโอกาสแสดงความคิดได้ทำงานอย่างมีอิสระ ด้วยวิธีคิดแบบไม่ปิดกั้น จึงทำให้ผู้ใหญ่เส็งสามารถได้ใจเด็กๆ กลายเป็น "พี่ใหญ่" ของวัยรุ่น โดยมีบ้านของผู้ใหญ่ฯ เป็นแหล่งนัดพบรวมตัวทำกิจกรรมร่วมกันของเยาวชนในหมู่บ้าน เริ่มจากการฟื้นกลองยาว ซึ่งเคยเป็นทุนวัฒนธรรมดั้งเดิมของหมู่บ้าน จนนำมาสู่การแก้ปัญหาวัยรุ่นยกพวกตีกันในงานหมอลำ

เมื่อเริ่มเห็นผลลัพธ์ความเปลี่ยนแปลงว่าปัญหาทะเลาะวิวาท ปัญหาท้องก่อนวัยอันควร เริ่มหมดไปจากชุมชน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของเด็กและเยาวชนในสายตาของบรรดาผู้ใหญ่ในหมู่บ้านจึงเริ่มเปลี่ยนไป จากที่ถูกเคยมองว่าเป็นตัวปัญหาเปลี่ยนมาเป็นพลังขับเคลื่อนหมู่บ้าน จากหมู่บ้านที่ครั้งหนึ่งเคยขึ้นชื่อว่า มีปัญหาเด็กและเยาวชนเยอะที่สุด  วันนี้ไม่เพียงแต่ปัญหาจะหมดไปจากบ้านดงจงอาง แต่ยังเกิดพลังคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมจะเติบโตทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนบ้านเกิด เปลี่ยนจากหมู่บ้านติดลบมาเป็นต้นแบบชุมชนอีสานน่าอยู่ได้อย่างวันนี้

ปราณี ก้องกิตติสาร. (2549). การศึกษาวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับดอนปู่ตา กรณีศึกษาบ้านดงจงอาง ตำบลบึงแก อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร. สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต, สาขาวิชาการจัดการชุมชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี.

บ้านดงจงอาง. (2557). ประเพณีบุญบั้งบ้านดงจงอาง. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566. จาก https://web.facebook.com/

บ้านดงจงอาง. (2560). ภาพแห่งอดีต พ.ศ. 2506. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566. จาก https://web.facebook.com/

บ้านดงจงอาง. (2565). พิธีบุญข้าวประทาย. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566. จาก https://web.facebook.com/

บ้านดงจงอาง. (2566). ผีปู่ตา. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566. จาก https://web.facebook.com/

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2560).  บ้านดงจงอาง พลังโจ๋ เปลี่ยนชุมชน. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566. จาก https://www.thaihealth.or.th

Google My Maps. (2566). แผนที่แสดงอาณาเขตบ้านดงจงอาง. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566. จาก https://www.google.com/maps