ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อที่เกิดจากการแยกตัวของชุมชนเดิม มาตั้งชุมชนใหม่บนพื้นที่แหล่งต้นน้ำสำคัญและมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์
เนื่องจากบริเวณที่ตั้งชุมชนเป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยแม่ปุง จึงเรียกชื่อชุมชนบริเวณนี้ว่า "หมู่บ้านหัวฝาย" มาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อที่เกิดจากการแยกตัวของชุมชนเดิม มาตั้งชุมชนใหม่บนพื้นที่แหล่งต้นน้ำสำคัญและมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์
เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2400 ได้มีชาวบ้านไทลื้อ จำนวน 3 ครัวเรือน คือ ครัวเรือนของพ่อหลวงแสน - แม่หลวงป้อ ครัวเรือนของพ่อหลวงหนานคำ - แม่หลวงยอด และครัวเรือนของพ่อหลวงเขียว - แม่หลวงเติม ได้แยกย้ายครัวเรือนออกมาจากชุมชนบ้านกล้วยหลวง หมู่ที่ 1 โดยได้มาตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ใกล้กับต้นน้ำลำห้วยแม่ปุง ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของหมู่บ้าน (ปัจจุบันเป็นศาลากลางหมู่บ้าน) ต่อมาได้มีชาวบ้านอีกหลายครัวเรือนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันเรื่อย ๆ โดยได้ขยับขยายพื้นที่ขึ้นไปทางทิศตะวันออก และแยกย้ายกันอยู่แบบกระจัดกระจายจนมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านและเนื่องจากเป็นหมู่บ้านในพื้นที่ต้นน้ำลำห้วยแม่ปุง จึงใช้ชื่อว่า “หมู่บ้านหัวฝาย” หรือบางคนมักเรียกว่า “บ้านกล้วยหัวฝาย” โดยได้จัดตั้งชุมชนบ้านหัวฝาย เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2548
ชุมชนบ้านหัวฝาย ตั้งอยู่ใน ตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ห่างจากอำเภอเมืองลำปาง ไปทางทิศเหนือ 9.9 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดลำปาง ไปทางทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือ 13.4 กิโลเมตร ชุมชนบ้านหัวฝายมีพื้นที่ 13.8 ตารางกิโลเมตร โดยชุมชนมีสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์สภาพทั่วไปพื้นที่ราบสลับเนิน เป็นป่าแพะ ป่าละเมาะ ต้นไม้ขนาดเล็ก มีพื้นที่ราบลุ่ม เป็นพื้นที่ทางการเกษตรสำหรับทำนา ทำสวนอยู่ในเขตชลประทาน มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ชุมชนบ้านหนองหัวหงอก หมู่ที่ 9 ตำบลชมพู
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ชุมชนบ้านกล้วยแพะหมู่ที่ 2 ตำบลกล้วยแพะ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ชุมชนบ้านหัวทุ่งสามัคคีหมู่ที่ 8 ตำบลพระบาท
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ชุมชนบ้านกล้วยหลวง หมู่ที่ 1 ตำบลกล้วยแพะ และชุมชนบ้านกล้วยแพะ หมู่ที่ 2 ตำบลกล้วยแพะ
ชุมชนบ้านหัวฝาย ตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 449 ครัวเรือน มีประชากรรวมทั้งสิ้น 1,710 คน แบ่งเป็น ชาย 825 คน และหญิง 885 คน
ไทลื้อชุมชนบ้านหัวฝาย ตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ประกอบอาชีพหลักของแต่ละครัวเรือน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- อาชีพ รับจ้างทั่วไป จำนวน 158 ครัวเรือน
- อาชีพ ทำนา จำนวน 69 ครัวเรือน
- อาชีพ ค้าขาย จำนวน 79 ครัวเรือน
- อาชีพ รับราชการ จำนวน 28 ครัวเรือน
- อาชีพ พนักงานบริษัท จำนวน 38 ครัวเรือน
- อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว จำนวน 32 ครัวเรือน
- อาชีพ รัฐวิสาหกิจ จำนวน 19 ครัวเรือน
- อาชีพ อื่นๆ จำนวน 26 ครัวเรือน
กลุ่มองค์กรภายในชุมชน
- กลุ่มผู้สูงอายุชุมชนบ้านหัวฝาย
- กลุ่มสตรีชุมชนบ้านหัวฝาย
- กลุ่ม อสม. ชุมชนบ้านหัวฝาย
- กลุ่มอาชีพวิสาหกิจชุมชนบ้านหัวฝาย
- กลุ่มสมาชิกฌาปนกิจผู้สูงอายุชุมชนบ้านหัวฝาย
ทุนเศรษฐกิจ
- กองทุนในหมู่บ้าน มีจำนวน 1 กองทุน คือ กองทุนหมู่บ้านฯ ชุมชนบ้านหัวฝาย มีงบประมาณ 2,000,000 บาท
ทุนวัฒนธรรม
- ศาสนสถาน "วัดหัวฝาย"
- ด้านศิลปวัฒนธรรม: เพลงกล่อมเด็ก
- ด้านประเพณี: เรียกขวัญ สืบชะตา (คน,บ้าน) ปู่จาเตียน ขึ้นบ้านใหม่ งานศพ แต่งงานฯลฯ
- ด้านพิธีกรรมทางศาสนา: สืบชะตา เรียกขวัญ ตานก๋วยสลาก ปู่จาเตียน ตานข้าวใหม่ กินข้าวใหม่ แฮกนา
ทุนกายภาพ
- มีการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยการจัดตั้งป่าชุมชน มีพื้นที่ 2,877 ไร่
จุดแข็ง
- ประชาชนมีอาชีพ/รายได้
- ประชาชนส่วนใหญ่มีที่ดินทำกิน
- ประชาชนปลูกพืชผักไว้กินเอง ลดรายจ่ายในครอบครัวได้
- มีแหล่งเงินทุนในชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้านฯ
จุดอ่อน
- ประชาชนมีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการครองชีพ
- ไม่มีอาชีพเสริมนอกฤดูทำการเกษตร
จุดแข็ง
- ประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนอยู่แบบเครือญาติ
- มีความรักสามัคคีกันภายในชุมชน
- มีคณะกรรมการชุมชนดูแลความเรียบร้อยและความสงบของชุมชน
จุดอ่อน
- เยาวชนไม่สืบสานวัฒนธรรมของชุมชน
- ไม่มีการรวมกลุ่มในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชุมชน
- ปัญหาด้านยาเสพติด
- มีการลักเล็กขโมยน้อยภายในชุมชน
จุดแข็ง
- มีระบบสาธารณูปโภค
จุดอ่อน
- ถนนเพื่อการเกษตรชำรุด
- ปัญหาท่อระบายน้ำชำรุด
- การขยายเขตไฟฟ้าไม่ครอบคลุมทั้งชุมชน
จุดแข็ง
- มีการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยการจัดตั้งป่าชุมชน มีพื้นที่ 2,877 ไร่
จุดอ่อน
- การคัดแยกขยะยังไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเท่าที่ควร
- แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรมีไม่เพียงพอ
เทศบาลเมืองเขลางค์นคร. (2566). ชุมชนบ้านหัวฝาย หมู่ที่ 4 ตำบลกล้วยพระ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง. เทศบาลเมืองเขลางค์นคร จังหวัดลำปาง. จาก https://www.kelangnakorn.go.th/
วนิดาพร ธิวงศ์. (2554). บ้านภูมิเมืองบ้านหัวฝาย. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 กุมพาพันธ์ 2567 จาก: http://m-culture.in.th/ [สืบค้นเมื่อ 9 กุมพาพันธ์ 2567].