ชุมชนเก่าแก่ที่เป็นศูนย์กลางของตำบลปริกมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 มีผู้คนทั้งชาวไทยและชาวจีนอพยพมาจากแผ่นดินใหญ่มาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ทรงได้กำหนดหัวเมืองให้ตลาดปริกเป็นที่ตั้งศูนย์ราชการมีฐานะเป็น "กิ่งอำเภอปริก" ขึ้นตรงกับอำเภอเหนือ (หรืออำเภอหาดใหญ่ ในปัจจุบัน)
ในอดีตพื้นที่นี้เป็นตลาด เป็นศูนย์กลางของตำบลปริก เป็นที่รวมตัวกันของชาวท้องถิ่นและพ่อค้านักเดินทาง ส่วน "ปริก" มาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่ง ชอบขึ้นอยู่ตามสายห้วย ลำธาร หรือริมคลองปริก เป็นพืชที่ชอบอยู่ใกล้น้ำ ลักษณะของต้นปริกเป็นไม้เนื้อปานกลาง ไม่อ่อน ไม่แข็ง มีใบคล้ายใบโพธิ์ หรือใบปอ ในอดีตที่ผ่านมาจะมีต้นปริกอยู่เรียงรายตามสายคลองและกระจายตัวเป็นหย่อม ๆ ในพื้นที่ราบลุ่มของตำบล กระทั่งชาวบ้านในอดีตได้ตั้งชื่อชุมชนแห่งนี้ว่า “บ้านปริก”
ชุมชนเก่าแก่ที่เป็นศูนย์กลางของตำบลปริกมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 มีผู้คนทั้งชาวไทยและชาวจีนอพยพมาจากแผ่นดินใหญ่มาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ทรงได้กำหนดหัวเมืองให้ตลาดปริกเป็นที่ตั้งศูนย์ราชการมีฐานะเป็น "กิ่งอำเภอปริก" ขึ้นตรงกับอำเภอเหนือ (หรืออำเภอหาดใหญ่ ในปัจจุบัน)
จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในอดีต (เทศบาลตำบลปริก, 2567) ชุมชนตลาดปริก เป็นชุมชนศูนย์กลางของตำบลปริกในอดีตก่อนสมัยรัชการที่ 5 จัดตั้งขึ้นเมื่อปีใดนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่นับได้ว่าเป็นชุมชนที่เก่าแก่ของตำบลปริกชุมชนหนึ่งในยุคต้น ๆ ของประวัติศาสตร์ตำบลปริก เนื่องจากชุมชนตลาดปริกเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีผู้คนทั้งชาวไทยและชาวจีนที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่มาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระพุทธเจ้าหลวงทรงได้กำหนดหัวเมืองให้ตลาดปริกเป็นที่ตั้งศูนย์ราชการมีฐานะเป็น "กิ่งอำเภอปริก" ขึ้นตรงกับอำเภอเหนือ (อำเภอหาดใหญ่ ในปัจจุบัน)
กิ่งอำเภอปริกครอบคลุมพื้นที่ตำบลปริกและตำบลพังลาบางส่วน มีแนวเขตชนแดนระหว่างเมือง (จังหวัด) สงขลากับเมือง (จังหวัด) ไทรบุรีที่บ้านหัวถนน (หมู่ที่ 8 ตำบลปริก ในปัจจุบัน) ก่อนที่จะมีการยกดินแดนไทรบุรี (รัฐเปอร์ลิสและรัฐเคดะห์) ให้กับประเทศมลายู (ชื่อของประเทศมาเลเซียในขณะนั้น) ตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยทำกับประเทศอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 5 ในขณะนั้นยังไม่มีที่ตั้งของอำเภอสะเดา ดังนั้น ที่ตลาดปริกหรือกิ่งอำเภอปริก จึงเป็นที่ตั้งของโรงสาย (ที่ทำการไปรษณีย์) และโรงพัก (สถานีตำรวจภูธร)
ต่อมาเมื่อประเทศไทยได้ยกดินแดนไทรบุรีให้กับประเทศมลายูตามข้อตกลงกับอังกฤษ ประเทศไทยมีการปักปันแนวเขตแดนใหม่ มีแนวชายแดนติดกับประเทศมลายูที่ควนไม้ดำ (บูกิตกายูอิตา) หรือบ้านด่านนอกในปัจจุบัน ตั้งที่ว่าการอำเภอสะเดาขึ้นที่ตำบลสะเดา และได้ยุบกิ่งอำเภอปริก ไปขึ้นกับอำเภอสะเดาตั้งแต่นั้นมา จนมีการย้ายที่ทำการโรงสาย (ไปรษณีย์) และโรงพัก (สถานีตำรวจภูธร) จากชุมชนตลาดปริก ไปยังสถานที่ตั้งใหม่ในตำบลสะเดา
อย่างไรก็ตาม ตลาดปริกยังคงมีความเป็นศูนย์กลางตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมา เป็นตลาดที่มีผู้คนมาแลกเปลี่ยนสินค้า มีการชักลากไม้ จากป่า "ควนออก" และ "ควนตก" (พื้นที่ที่มีผู้คนที่อาศัยอยู่ลึกเข้าไปด้านในหมู่บ้าน แบ่งเป็น "ควนออก" ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันออกของถนนกาญจนวนิช และ "ควนตก" ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของถนนกาญจนวนิช) ผ่านเส้นทางตลาดใต้ และหลังตลาดปริก ซึ่งเมื่อก่อนนั้นตัวตลาดจะตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันออกของถนนสงขลา-ไทรบุรี (หรือ ถนนกาญจนวนิช ในปัจจุบัน) เพื่อไปส่งที่โรงเลื่อยจักรหมอเส้งที่ตลาดคลองแงะ
ชุมชนตลาดปริกเป็นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านปริก (กุก่องวิทยาคาร) ที่ทำการกำนันตำบลปริก และมีตลาดที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนและซื้อขายสินค้า ทำให้มีผู้คนมาติดต่อราชการ จับจ่ายใช้สอย หลังจากเสร็จภารกิจก็จะนั่งคุยกันที่ร้านน้ำชา ตามวิถีของคนในอดีตที่ชอบนั่งร้านน้ำชาและคุยปรึกษาหารือกัน จนเป็นที่มาของคาว่า "สภากาแฟ" ร้านกาแฟที่มีผู้คนนิยมและชอบนั่งกันมากที่สุดในอดีตมีอยู่สองร้านด้วยกันที่อยู่ปากทางเข้าตลาดนัดและหน้าตลาดนัดตามลำดับ ได้แก่ ร้านน้ำชาของโซ่ยตี๋ และร้านน้ำชาโกหล่ำ นอกจากนั้น ตลาดปริกจะมีวิก/โรงฉายหนัง (หรือโรงภาพยนตร์) ตลาดปริก เคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่ครั้งหนึ่ง ทำให้ที่ตั้งบ้านเรือนและร้านค้าขายต่าง ๆ ของต้องวอดไปกับไฟไหม้ใหญ่ครั้งนั้นจำนวนหลายคูหา
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีการส่งเสริมเรื่องสหกรณ์ขึ้น ชุมชนตลาดปริก ก็เป็นที่ตั้งของสหกรณ์ปริก เป็นสหกรณ์แห่งแรก ๆ ของอำเภอสะเดา ที่ได้รับการเล่าขานว่ามีการจัดตั้งกลุ่มและมีการชุมนุมสหกรณ์กันเป็นประจำ และจะใช้วันพุธแรกของเดือนเป็นวันประชุมหารือกัน มีผู้คนที่อยู่ในตลาดปริกและนอกพื้นที่ เช่น บ้านใหม่ พังลา สะเดา มาร่วมเป็นสมาชิกและร่วมกิจกรรมกับสหกรณ์ปริกเป็นจำนวนมาก สหกรณ์ตำบลปริกเคยตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของถนนกาญจนวนิช ติดกับโรงงานเรืองเพชร และบริเวณสวนมะพร้าวในปัจจุบัน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในช่วงเวลาต่อมาสหกรณ์ดังกล่าวได้ยุบตัวลงไปและไม่มีการสานงานต่อแต่อย่างใด ทำให้ไม่เห็นร่องรอยและโครงสร้างการบริหารจัดการหลงเหลืออยู่ แต่ยังคงมีอาคารที่ทำการและบ้านพักที่ยังพอมีให้เห็น ปัจจุบันเปลี่ยนสภาพเป็นบ้านและที่ดินให้เอกชนเข้ารับซื้อและเก็บของเก่า
นอกจากนี้ แล้วชุมชนตลาดปริกก็ยังเป็นที่ตั้งของสถานีอนามัยแห่งแรกของตำบลปริก ที่นายอดุลย์ ยีขุน กำนันตำบลปริกในสมัยนั้นได้บริจาคที่ดินจำนวนประมาณ 3 ไร่เศษ เพื่อให้ทางราชการได้ใช้ประโยชน์เป็นศูนย์กลางในการดูแลสุขภาพของคนตำบลปริก ในระยะเริ่มต้นก่อนจะมีสถานีอนามัยแห่งนี้ ชุมชนหมู่บ้านในตำบลปริกได้มีโครงการความร่วมมือกับ USAID และกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องการดูแลสุขภาพ ซึ่งมีนายโรเบิรต์ต แม็คนามาร่า อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐ ตัวแทน USAID แห่งสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาสุขอนามัยแม่และเด็กที่ชุมชนปริกตก ได้แวะเยี่ยมและพักที่ชุมชนตลาดปริกด้วยเช่นกัน สถานีอนามัยตำบลปริกมีบทบาทสำคัญเรื่องการดูแลสุขภาพให้แก่คนตำบลปริกเป็นระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาได้เปลี่ยนและยกฐานะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปริกเมื่อปี 2548 เป็นต้นมา
ชุมชนตลาดปริก เป็นศูนย์กลางของตำบลปริก โดยมีทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนกาญจนวนิช) ตัดผ่าน ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่เชื่อมต่อจากอำเภอหาดใหญ่ ผ่านเขตเทศบาลตำบลปริกไปยังอำเภอสะเดา และเป็นถนนสายยุทธศาสตร์และสายนานาชาติ ในอดีตจะมีตลาดนัดทุกวันพุธ (แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นทุกวันศุกร์) ต่อมามีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีการปราบปรามโจรคอมมิวนิสต์ โดยชาวบ้านบางส่วนมีการติดต่อกับพวกโจรหรือบางครั้งพวกโจรลงมาขออาหารชาวบ้าน ทางการไม่พอใจคิดว่าชาวบ้านเป็นสายให้กับพวกคอมมิวนิสต์ ต่อมามีทหารมาตั้งฐานอยู่ที่ด้านหลังชุมชน มีการประกาศเคอร์ฟิวและให้ทุกครัวเรือนปิดบ้านตอน 3 ทุ่ม หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวประชาชนในพื้นที่บางส่วนถูกจับตัวไปและถูกฆ่า บางส่วนต้องอพยพออกจากพื้นที่ ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนตกต่ำลง ตลาดดังกล่าวได้ปิดตัวลงหลังจากนั้น หลังจากเหตุการณ์สงบ ประชาชนที่อพยพออกไปบางส่วนก็ได้กลับมาตั้งรกรากใหม่ และคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน (เทศบาลตำบลปริก, 2567)
ชุมชนตลาดปริก เป็นชุมชนหนึ่งในเขตเทศบาลตำบลปริก สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบสูง มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 องค์การบริหารส่วนตำบลปริก
ทิศใต้ ติดต่อกับ ชุมชนทุ่งออกและชุมชนตลาดใต้ - บ้านกลาง เขตเทศบาลตำบลปริก
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 องค์การบริหารส่วนตำบลปริก
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ชุมชนตลาดใต้ - บ้านกลาง เขตเทศบาลตำบลปริก
การตั้งบ้านเรือนของประชาชน จะหนาแน่นบริเวณแนวถนนในชุมชน และไม่กระจัดกระจาย สามารถไปมาหาสู่กันได้อย่างทั่วถึง
พื้นที่อยู่อาศัย 300 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 400 ไร่ พื้นที่สาธารณะ 50 ไร่ แหล่งน้ำสาธารณะ 1 แห่ง โรงเรียนระดับประถมศึกษา 2 แห่ง คือ โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก และโรงเรียนบ้านปริก 2 แห่ง จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้า 371 ครัวเรือน (ร้อยละ 100) มีหอกระจายข่าว 2 แห่ง (เทศบาลตำบลปริก, 2567)
ชุมชนตลาดปริก มีระบบประปาชุมชน จำนวนผู้ใช้น้ำประปา 310 ครัวเรือน ในการอุปโภคส่วนใหญ่จะใช้น้ำประปาและบ่อน้ำตื้น ซึ่งมักจะขาดแคลนในฤดูแล้ง ทำให้ในช่วงฤดูแล้งจะต้องมีการกำหนดเวลาการจ่ายน้ำประปา ซึ่งจะจ่ายน้ำในช่วงเช้าและช่วงเย็น
ข้อมมูลจากเทศบาลตำบลปริก (2567) ระบุว่า ชุมชนตลาดปริก มีจำนวนครัวเรือน 371 ครัวเรือน ประชากร 1,128 คน เป็นเพศชาย 540 คน เพศหญิง 588 คน รายได้เฉลี่ยของประชากร (ตามเกณฑ์ จปฐ. ปี 2557) 30,000 บาท/คน/ปี
ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน การนับถือศาสนาจะนับถือศาสนาพุทธร้อยละ 90 ศาสนาอิสลามร้อยละ 10 นับถือศาสนาอิสลาม
การประกอบอาชีพ ด้วยลักษณะพื้นที่ของชุมชนตลาดปริกที่มีทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนกาญจนวนิช) ซึ่งถนนสายดังกล่าวเป็นทางผ่านเพื่อขนส่งสินค้าและบริการไปยังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ทำให้มีผู้สัญจรไปมามากมาย ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพค้าขาย รองลงมาคือการทำสวนยางพารา และมีส่วนน้อยที่รับจ้างทั่วไปและรับราชการ
มีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมพัฒนาชุมชน คือการพัฒนาชุมชนโดยการทำความสะอาดชุมชนเดือนละ 1 ครั้ง กิจกรรมเสริมสร้างรายได้ เช่น กลุ่มดอกไม้สด ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ ส่วนกิจกรรมสาธารณะ โดยเฉพะที่เป็นงานชุมชน เช่น งานบุญศาลเจ้า เป็นต้น การรวมกลุ่มที่พบมากจะเป็นการรวมกลุ่มอันเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งทำเป็นประเพณีสืบต่อกันมา โดยจุดศูนย์รวมของคนในชุมชนที่สำคัญคือ ศาลเจ้าจินตงโจ้วซือ และศาลเจ้าฮกเต๊ก และที่ทำการกลุ่มดอกไม้สด
เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน จึงมีวิถีชีวิตและประเพณีพิธีกรรมแบบวัฒนธรรมจีน วันสำคัญเนื่องในประเพณีที่สำคัญของชุมชน เช่น วันตรุษจีน วันสารทจีน วันทำบุญศาลเจ้าประจำปี วันไหว้พระจันทร์ โดยศาลเจ้า 2 แห่ง คือ ศาลเจ้าจินตงโจ้วซือ และศาลเจ้าฮกเต๊ก
ปฏิทินภัยพิบัติของชุมชนในรอบปี (ดังภาพประกอบ)
ปราชญ์ชาวบ้าน (เทศบาลตำบลปริก, 2567)
นางศิริขวัญ อนันตพันธ์
นางมุมิหน๊ะ บิลล่าเต๊ะ
นายเกษม เบ็ญมุสา
นายมูฮัมหมัด หนิมุสา
นายเลี่ยง แก้วพยศ
นางจวน กระสายสินธ์
ผู้นำชุมชน นางศิริขวัญ อนันตพันธ์
แหล่งเรียนรู้ชุมชน
เทศบาลตำบลปริก
โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก
วิทยุชุมชนเทศบาลตำบลปริก
โรงเรียนบ้านปริก
สินค้าท้องถิ่น ดอกไม้สด (มีการก่อตั้งกลุ่มดอกไม้สด)
เทศบาลตำบลปริก. "ประวัติชุมชนตลาดปริก เทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา" (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 8 มกราคม 2567. เข้าถึงจาก https://www.tonprik.go.th/news_prik/download/?id=701&file=files/com_news_prik/2015-11_7c59bc89705695e.pdf&name=14.pdf