Advance search

ถิ่นเขมรโบราณ ประวัติศาสตร์ใบลาน หัตถกรรมผ้าไทยล้ำค่า สู่การสร้างสินค้าทางเศรษฐกิจ

หมู่ที่ 3
บ้านสวาย
สวาย
เมืองสุรินทร์
สุรินทร์
วิไลวรรณ เดชดอนบม
5 ธ.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
9 ก.พ. 2024
บ้านสวาย

บ้านสวายมาจากชื่อภาษาถิ่นคือภาษาเขมร คำว่า “สวาย” แปลว่า ต้นมะม่วงใหญ่ 


ถิ่นเขมรโบราณ ประวัติศาสตร์ใบลาน หัตถกรรมผ้าไทยล้ำค่า สู่การสร้างสินค้าทางเศรษฐกิจ

บ้านสวาย
หมู่ที่ 3
สวาย
เมืองสุรินทร์
สุรินทร์
32000
14.79523292
103.3449836
องค์การบริหารส่วนตำบลสวาย

ชุมชนบ้านสวายเป็นชุมชนโบราณ สันนิษฐานว่ามีชุมชนบ้านสวายก่อนการสร้างปราสาทสมันต์และก่อนก่อตั้งเป็นประเทศไทย เป็นกลุ่มชนทางชาติพันธุ์เขมร ภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาเขมร ลักษณะของชุมชนบ้านสวายในสมัยก่อนเป็นคันคูเมืองและตั้งอยู่บนเนินดินหรือภาษาเขมรเรียกว่า โคก ชุมชนบ้านถวายตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมที่เก่าแก่นับพันปีตั้งแต่สมัยความรุ่งเรืองของอารยธรรมเขมรมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์โดยที่ตั้งเป็นบริเวณโคก คำว่า สวาย เป็นคำในภาษาเขมร แปลว่า มะม่วงใหญ่ ในภาษาไทย โดยรอบของหมู่บ้านมีหลักฐานโบราณคดีที่สำคัญ คือ ปราสาทพนมสวาย แต่ปัจจุบันหลงเหลือแค่เพียงซากของกำแพงรอบปราสาทที่ทำจากศิลาแลงหรือภาษาเขมร เรียกว่า หินข้าวไหม้

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อ เขตตำบลตระแสง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
  • ทิศตะวันออก ติดต่อ เขตตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
  • ทิศใต้ ติดต่อ เขตตำบลสมุด ตำบลประทัดบุ และตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
  • ทิศตะวันตก ติดต่อ เขตตำบลสูงเนิน ตำบลบ้านปรือ และตำบลหนองเต็ง อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านสวาย เป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตปกครองของตำบลสวาย ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นที่ราบ ด้านทิศตะวันออกมีระดับความสูงประมาณ 150 เมตร บริเวณตอนกลางเป็นที่ราบตลอดและลาดต่ำทางทิศตะวันตก มีระดับความสูงประมาณ 140 เมตร ลักษณะโดยทั่วไปเป็นดินปนทราย พื้นที่ส่วนมากเป็นที่ราบลุ่ม ใช้เป็นที่ตั้งชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่ พื้นที่การทำนาเป็นส่วนใหญ่ มีแหล่งน้ำทางธรรมชาติที่สำคัญ คือ ลำน้ำชีเป็นลำน้ำที่กั้นเขตระหว่างจังหวัดบุรีรัมย์กับจังหวัดสุรินทร์ ไหลจากทางทิศใต้ไปทางทิศเหนือผ่านตำบลสวาย ตำบลตระแสง ตำบลท่าสว่าง ตำบลนาดี ตำบลเพี้ยราม ผ่านเขตอำเภอจอมพระ เข้าสู่เขตอำเภอท่าตูมไหลลงแม่น้ำมูล ลำน้ำชี ไหลผ่านเขตตำบลสวายทางทิศตะวันตกของตำบลเข้าสู่เขตตำบลตระแสงต่อไป มีแหล่งน้ำที่สำคัญ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยระไซร์ อ่างเก็บน้ำสยา อ่างเก็บน้ำตาบุตร อ่างเก็บน้ำตาเลอะ หนองตาระวี หนองตาตม หนองทะลอก หนองตราวเกียรติ หนองตระแสง หนองใหญ่ หนองตาตวน หนองสะแง หนองระเวียง หนองตาเปาะ นอกจากนี้ยังมีสระน้ำขนาดเล็กอีกหลายแห่ง

สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลสวาย หมู่ที่ 3 บ้านสวาย มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 421 ครัวเรือน จำนวนประชากร 1,296 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 647 คน และประชากรหญิง 649 คน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ขแมร์ลือ

บ้านสวายเป็นชุมชนทอผ้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุรินทร์ จึงทำให้มีแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์จากชุมชนให้เลือกซื้อเป็นของฝากมากมาย อาทิ ผ้าไหมทอลายช้าง ผ้านุ่มย้อมหรือผ้านุ่มย้อมสีธรรมชาติ และของที่ระลึกที่ทำจากผ้าไหมและผ้ามัดย้อม

บ้านสวายมีสถานที่สำคัญให้ท่องเที่ยวกันหลายสถานที่ อาทิ พระดินปั้นพันปี วัดตาตอมจอมสวาย พระพุทธรูปที่ปั้นด้วยดินที่มีอายุเก่าแก่และมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย มีเรื่องเล่ากันว่าผู้ใดที่สร้างบ้านเรือนอยู่ทางด้านหน้าของพระพุทธรูปองค์นี้ต้องรักษาศีล 5 เป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นแล้วจะมีเหตุให้ต้องย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนออกไป อีกหนึ่งสถานที่ คือ วนอุทยานพนมสวาย สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ที่มีร่องรอยอารยธรรมของชาวขอมโบราณ หลอมรวมกลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมล่องเรือเที่ยวชมธรรมชาติในลำน้ำชี การชมแปลงผักที่ปลูกแบบวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่นักท่องเที่ยวสามารถร่วมเก็บผักกับชาวบ้านและนำมาประกอบอาหารรับประทานได้อีกด้วย

สวายเป็นชุมชนเขมรโบราณวัฒนธรรมการพูดจะใช้ภาษาพูดเป็นภาษาเขมรที่เป็นเอกลักษณ์ของภาษาเขมรถิ่นสุรินทร์  ประเพณีของชาวบ้านสวายมีหลายอย่างเช่น ประเพณีการรักษาด้วยการเข้าทรงสมุนไพรประกอบคาถา การรำตรุด การรำกันตรึม ประเพณีการเรียกขวัญข้าวขวัญควายและขวัญคน โดยประเพณีคิดตามปกตินิยมของพุทธศาสนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ผ้าไหมบ้านสวาย

บ้านสวาย อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ หนึ่งในชุมชนที่มีอารยธรรมเก่าแก่ และแหล่งผลิตผ้าไหมที่ใช้ศิลปวิทยาการที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาแต่โบราณ โดยเป็นอาชีพเสริมสำหรับผู้หญิงในชุมชน ที่วันนี้กลายเป็นมรดกอันล้ำค่าในฐานะงานศิลปหัตถกรรมที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ ปัจจุบันบ้านสวายเป็นชุมชนทอผ้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุรินทร์ มีการอนุรักษ์วิถีทอผ้าใต้ถุนเรือน รวมถึงลวดลายที่สวยงาม เช่น ลายลูกแก้ว ลายมัดหมี่ ลายรูปช้าง ลายดอกมะเขือ จากการทอผ้าใต้ถุนบ้านนำไปสู่การเกิดขึ้นของตลาดไหมใต้ถุนเรือน ซึ่งตลาดแห่งนี้จัดขึ้นเฉพาะกิจเท่านั้น จะเปิดขายเมื่อมีคนต้องการจะซื้อผ้าหรือมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะถือผ้าคนละผืนสองผืนเพื่อมาวางขายกันที่นี่ ไม่ได้มีวันเวลาขายที่ตายตัว และใช้เวลาในการนัดหมายเพื่อเปิดตลาดเพียง 30 นาทีเท่านั้น นี่ถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของตลาดแห่งนี้

ชุมชนบ้านสวายใช้ภาษาเขมรในการติดต่อสื่อสารภายในชุมชนของตนเอง นอกจากนี้ยังมีภาษากลางสำหรับใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างคนในชุมชน ต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ภาษาไทยกลาง ภาษาอีสาน

คัมภีร์ใบลาน ตำบลสวาย

คัมภีร์ใบลาน ในตำบลสวาย อำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ ได้จากการเก็บรวบรวมจากวัดแสงบูรพาตำบลสวาย อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ คัมภีร์ใบลาน เป็นการสร้างความคิดเพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนาและคัมภีร์เพื่อประกอบพิธีตามความเชื่อแบบโบราณ โดยเนื้อหาในโดยเนื้อหาในคัมภีร์จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ เช่น คัมภีร์พระมโหสถ คัมภีร์ไตรภูมิ นอกจากนี้ยังพบคัมภีร์ที่ใช้ในการประกอบพิธีตามความเชื่อแบบโบราณและเพื่อเป็นมรดกแก่ลูกหลานสืบไป โดยคัมภีร์จะใช้ภาษาเขมรในการจานหรือบันทึก โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ เป็นแหล่งเก็บไว้รักษาความรู้แขนงต่าง ๆ ในคัมภีร์ใบลาน ซึ่งปัจจุบันเก็บไว้ในกระบวนการสืบสานไม่กี่แห่งเท่านั้นเอง


การเปลี่ยนแปลงในสังคมของบ้านสวายก็คือ รัฐได้มีเข้ามาการแทรกแซงทางกลุ่มชาติพันธุ์เขมร โดยได้กำหนดให้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการติดต่อราชการ ทำให้ชาวเขมรพื้นถิ่นบ้านสวายมีทัศนคติต่อชุมชนของตัวเองที่เปลี่ยนไป โดยคนพื้นถิ่นคิดว่าการเรียนภาษาเขมรไม่มีประโยชน์ยังไงก็ใช้ภาษาเป็นภาษากลางในการติดต่อกับส่วนราชการอยู่ดี ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยเมื่อก่อนอย่างมากเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมภายในชุมชนเอง ทั้งยังมีปัจจัยจากทางภายนอกของสังคม การเพิ่มขึ้นของประชากรในภายในชุมชนและการเคลื่อนย้ายเข้ามาของประชากรจากภายนอก ทำให้ประชาชนดั้งเดิมของชุมชนคือ กลุ่มชาติพันธุ์เขมรได้มีการปรับตัว การปรับตัวอีกอย่างหนึ่งของชุมชนก็คือการเปลี่ยนแปลงด้านภาษา จะสังเกตได้ว่าประชากรสูงอายุของชุมชนได้มีการใช้ภาษาเขมรในสถานการณ์ที่จำกัดคือ เฉพาะใช้กับเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง แต่สำหรับเด็กแล้วจะพูดกันด้วยภาษาไทยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมองได้ว่าเป็นการพยายามปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่เปลี่ยนจากสังคมที่ใช้ภาษาเขมรเป็นหลักเมื่อสมัยก่อนมาเป็นสังคมที่ผ่านใช้ภาษาไทยเป็นหลัก

โครงสร้างของประชากรเดิมได้มีโอกาสออกไปทำงานนอกชุมชนหรือนอกจังหวัด ด้วยการคมนาคมและการติดต่อสื่อสารสามารถดำเนินได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น ประชากรที่ออกไปทำงานนอกชุมชนมีจำนวนมากขึ้น ทั้งที่ออกไปทำงานเป็นฤดูกาลและที่อพยพออกจากชุมชนอย่างถาวร การอพยพเคลื่อนย้ายประชากรได้ทำให้เกิดการติดต่อกับวัฒนธรรมชุมชนภายนอก มีส่วนให้มองไม่เห็นถึงความจำเป็นของการใช้ภาษาเขมรในสังคมภายนอกหรือแทบจะไม่มีโอกาสได้ใช้เลย

อีกทั้งการเข้ามาของประชากรที่มาจากภายนอกของชุมชนเขมรโบราณบ้านสวาย ได้นำเอาวัฒนธรรมภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาลาวเข้ามาใช้ภายในชุมชน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนอีกด้วย

อาหารวิถีถิ่นบ้านสวาย

บ้านสวาย เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ มีอาหารผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้ได้กินได้ตลอดทั้งปี อย่างเมนูแกงปูนา เป็นเมนูที่ถือว่าถ้าได้ชิมแล้ว สัมผัสได้ถึงรสชาติความเป็นอาหารอีสานอย่างแน่นอน เมนูนี้ต้องนำปูนามาตำให้ละเอียด แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำปูเท่านั้น มาแกงกับมะละกอและผักแขยง เมนูนี้จึงมีรสหอมจากน้ำปูและผักแขยง อีกหนึ่งเมนูคือ แกงกล้วย เป็นเมนูแกงกะทิลูกกล้วยกับเนื้อไก่แล้วตามด้วยวุ้นเส้น ถือว่าเป็นเมนูแกงกะทิที่ต้องลิ้มลองให้ได้ ปิดท้ายด้วยของหวาน ขนมดอกบัวหรือขนมโชก เป็นขนมพื้นบ้านแบบไทย ๆ ที่อยู่คู่จังหวัดสุรินทร์มายาวนาน ชาวบ้านพื้นถิ่นเรียกขนมนี้ว่าขนมโชกหรือขนมบัว ด้วยลักษณะที่คล้ายใบบัวมีสีเขียวอ่อน ๆ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). (ม.ป.ป.). วนอุทยานพนมสวาย. สืบค้น 5 ธันวาคม 2566. จาก https://thai.tourismthailand.org/

กรมศิลปากร. (2563). ชาติพันธุ์วิทยา. สืบค้น 5 ธันวาคม 2566. จาก https://www.finearts.go.th/surinmuseum/

ชัยมงคล เฉลิมสุขจิตศรี (2554). โครงการกระบวนการฟื้นฟูและสืบทอดองค์ความรู้พื้นบ้านผ่านใบลานเขมร: กรณีศึกษา ชุมชนบ้านสวาย ตำบลสวาย อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ : รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

Postjung. (ม.ป.ป.). เที่ยวสุรินทร์ยุค newnormal ไปกับอิ๋งอิ๋ง. สืบค้น 5 ธันวาคม 2566. จาก https://board.postjung.com/

Shutterexplore. (2562). ดื่มด่ำวิถีอีสานใต้ ภูมิปัญญาทอผ้าไหมบ้านสวาย จ.สุรินทร์. สืบค้น 5 ธันวาคม 2566. จาก http://shutterexplorer.com/

Thai PBS. (2562). ทั่วถิ่นแดนไทย สู่เส้นทางไหม บ้านสวาย จ.สุรินทร์. สืบค้น 5 ธันวาคม 2566. จาก https://www.thaipbs.or.th/