ชุมชนปกาเกอะญอที่อาศัยพึ่งพิงธรรมชาติ มีวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียน เอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์เฉพาะตน
ชุมชนปกาเกอะญอที่อาศัยพึ่งพิงธรรมชาติ มีวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียน เอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์เฉพาะตน
ประวัติและความเป็นมาของหมู่บ้านขุนแม่หยอด หมู่ที่ 9 ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เดิมชื่อบ้านผาบะโฮง ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านคนแรกคือ นายบอโหล่ การปกครองหมู่บ้านเป็นการปกครองแบบสืบตระกูลจากพ่อสู่ลูก ผู้ที่ทำหน้าที่นี้เรียกว่า (หยี่โจ่ หรือหมอผี ) ซึ่งเป็นผู้นำหมู่บ้านในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน บางโอกาสที่สำคัญไม่มีผู้ใดจะทำแทนได้ และผู้ที่ทำหน้าที่นี้ได้จะต้องเป็นลูกชาย หรือเครือญาติที่เป็นผู้ชาย ผู้หญิงจะทำหน้าที่นี้ไม่ได้ จากผู้นำหมู่บ้านคนแรกจนถึงปัจจุบันรวม 6 คน ดังนี้ 1.นายบอโหล่ 2.นายแซโมโล 3.นายแบละพอ 4.นายกะลอย 5.พะชอยบือ และ 6. คือนายส่าป่อโพ หมู่บ้านได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ 2535
กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอในชุมชนบ้านขุนแม่หยอดเป็นชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำแม่หยอดไม่น้อยกว่า 5 ชั่วอายุคน เป็นชุมชนที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตและภูมิปัญญาดั้งเดิมได้ดี ทั้งในเรื่องประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อ โดยเฉพาะในเรื่องทำการเกษตรพื้นที่สูงแบบ “ไร่หมุนเวียน” ซึ่งเป็นระบบการผลิตผลที่เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาในการทำเกษตรเลี้ยงชีพเก่าแก่ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ การทำไร่หมุนเวียนมีการสืบทอดต่อ ๆ กันมา ภายในชุมชน ชาวบ้านในชุมชนดำรงชีวิตด้วยการทำไร่หมุนเวียน ด้วยวิถีของไร่หมุนเวียนนี้เองที่พึ่งพา ธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งการอาศัยน้ำฝน การที่ไม่พึ่งพาระบบชลประทาน รวมถึงปุ๋ยเคมีในการ เพาะปลูก
ชุมชนบ้านขุนแม่หยอดอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่แจ่มไปทางทิศใต้ ระยะทางประมาณ 94 กิโลเมตร ชุมชนบ้านแม่หยอดมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือติดกับบ้านหัวแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทิศใต้ติดกับบ้านผาละปิ หมู่ 8 ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันออกติดกับบ้านห้วยผา หมู่ 8 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันตกติดกับบ้านห้วยขี้เปอะ หมู่ 17 ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ถนนคดเคี้ยวและสูงชันเพราะต้องผ่านพื้นที่ที่เป็นภูเขา นอกจากนี้บริเวณทางเข้าหมู่บ้านพื้นถนนยังคงเป็นถนนลูกรัง และไม่มีรถประจำทางผ่าน ดังนั้นจำเป็นต้องอาศัยรถยนต์ส่วนตัวในการเข้าพื้นที่ และจำเป็นต้องติดต่อคนในพื้นที่ก่อน เนื่องจากบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านไม่มีที่พักใกล้เคียง เมื่อเข้าสู่ชุมชนบ้านขุนแม่หยอดตั้งแต่บริเวณทางเข้าหมู่บ้านไปจนถึงภายในชุมชนพื้นถนนเป็นถนนลูกรัง ค่อนข้างลำบากในการเดินทางเล็กน้อย สถานที่ราชการสำคัญในหมู่บ้าน ได้แก่ โรงเรียนประถม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 แห่ง หอกระจายข่าว 2 แห่ง ศาลาหมู่บ้าน 2 แห่ง และอาศรมพระธรรมจาริก 3 แห่ง
ภูมิประเทศ และภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยรวมของชุมชนบ้านขุนแม่หยอด ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลแม่ศึก อำเภอ แม่แจ่ม นั้นมีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาสูงชันสลับซับซ้อนกับพื้นที่ราบเชิงเขา บ้านขุนแม่หยอดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเกือบทั้งพื้นที่จึงมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก บริเวณรอบ ๆ หมู่บ้าน เป็นภูเขาสูง และมีลำห้วยหลายสายไหลผ่าน ซึ่งลำห้วยเหล่านี้ไหลลงสู่ลำน้ำแม่หยอดแล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ำแม่แจ่ม บริเวณแถวตำบลแม่ศึกมีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลาง ตั้งแต่ 800-1,820 เมตร โดยประมาณ
สำหรับลักษณะภูมิอากาศของชุมชนบ้านแม่หยอดนั้น มีภูมิอากาศที่คล้ายกับพื้นที่ชุมชนอื่น ๆ ทั่วไปในอำเภอแม่แจ่ม โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ
- ช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม
- ช่วงฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม
- ช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์
ในอำเภอแม่แจ่ม ฤดูฝนมีลักษณะอากาศร้อน ไม่มีลม และมืดครึ้ม ฤดูร้อนจะมีแดดเป็นส่วนมาก และร้อนตลอดปีฤดูกาลที่อากาศร้อนมีระยะเวลา 1.8 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม และอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยรายวันสูงกว่า 33 องศาเซลเซียส ฤดูกาลที่อากาศเย็นมีระยะเวลา 2.3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายนถึงวันที่ 23 มกราคม เดือนที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุดคือเดือนมกราคม และเดือนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดคือ เดือน เมษายน ในช่วงระยะเวลาหนึ่งปี อุณหภูมิรายวันเฉลี่ยต่ำสุดในรอบปีคือ 13 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิรายวันเฉลี่ยสูงสุดในรอบปีคือ 35 องศาเซลเซียส
สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
ลักษณะบริเวณโดยรอบของชุมชนบ้านขุนแม่หยอดพบว่า นอกเหนือจากบริเวณบ้านเรือนกับพื้นที่ทำไร่ของชุมชน รอบข้างของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นป่าดิบเขา โดยเฉพาะบริเวณฝั่งป่าทั่วไปของชุมชนกับป่าอนุรักษ์ที่จะมีต้นไม้สูงใหญ่กว่าบริเวณอื่น ๆ เนื่องจากไม่มีการตัดหรือเผาต้นไม้เพื่อทำการเกษตร
สำหรับทรัพยากรธรรมชาติที่มีในบริเวณพื้นที่ชุมชนบ้านแม่หยอด ได้แก่
- แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นน้ำผิวดินทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นลำห้วย ได้แก่ น้ำแม่หยอด น้ำแม่ หยอดหลวง น้ำห้วยหินขาว น้ำแม่ราจี น้ำแม่ราจีน้อย ห้วยซอตือ และลำห้วยเล็ก ๆ อีกประมาณ 20 แห่ง
- ป่าไม้ ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขา และป่าดิบชื้น ประกอบด้วย ป่าทั่วไป ป่าอนุรักษ์ ป่าใช้ สอย และพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในชุมชน
- พืชไร่ และพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวไร่ ฟักทอง มันฝรั่ง ผักกาด ข้าวโพด ถั่วอะซูกิ กาแฟและพืชผักต่าง ๆ
- สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย หมู ไก่
- สัตว์ป่า เช่น ชะนี หมี ไก่ป่า เป็นต้น
ชุมชนบ้านขุนแม่หยอด ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอ ปัจจุบันประกอบไปด้วย 3 หย่อมบ้าน คือ บ้านแม่หยอด บ้านป่ากล้วย และบ้านขุนแม่ราจี จำนวนประชากรประมาณ 95 ครัวเรือน
ชุมชนปกาเกอะญอบ้านขุนแม่หยอดแห่งนี้ตั้งอยู่ในหุบเขา โอบล้อมไปด้วยผืนป่าสีเขียวสุดลูกหูลูกตา ปกาเกอะญอคือหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในประเทศไทย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแถบภาคเหนือและภาคกลางตะวันตก ชุมชนกะเหรี่ยงแต่ละแห่งเป็นชุมชนดั้งเดิม ที่สามารถสืบค้นการตั้งถิ่นฐานไปได้ไกลถึง 1,200 ปี และส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ป่ามาเป็นเวลานาน
ครอบครัวปกาเกอะญออยู่ด้วยกันแบบช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งในบ้านและนอกบ้าน มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ของหญิงชาย ผู้หญิงทำงานบ้าน หุงข้าว ตำข้าว ตักน้ำ ทำอาหาร เลี้ยงหมู ไก่ และ เก็บผักหักฟืน ส่วนผู้ชายส่วนใหญ่จะเป็นงานนอกบ้านซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้กำลัง เช่น ไปไร่ไปนา ไถนา ล้อมรั้ว ต้อนวัวควายกลับบ้าน ตัดไม้ สร้างบ้าน เป็นต้น ส่วนงานอื่นๆ ที่สามารถช่วยกันได้ก็จะช่วยกันไป เนื่องจาก ชาวปกาเกอะญอจะนับถือวิญญาณบรรพบุรุษทางฝ่ายหญิง ครอบครัวจึงถือวิญญาณบรรพบุรุษทางฝ่ายหญิงหรือฝ่ายแม่ด้วย แม้ว่าการสร้างบ้านเป็นหน้าที่ของผู้ชาย แต่จะถือว่าบ้านจะเป็นของฝ่ายหญิง หากสามีตายไม่ต้องรื้อบ้านทิ้ง แต่ถ้าภรรยาตายจะต้องมีการรื้อบ้านทิ้ง
การแต่งงานชนเผ่าปกาเกอะญอถือ การแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวเป็นความถูกต้อง และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หนุ่มสาวที่มาจากเครือญาติ เดียวกันไม่สามารถแต่งงานกันได้ พิธีแต่งงาน จะเป็นจุดเริ่มต้นของ พิธีบก๊ะ (พิธีเครือญาติ) ถ้ามีการทำผิดขนบธรรมเนียมถือเป็นการผิดกฎวิญญาณบรรพบุรุษ ทำให้กลายเป็นผีก๊ะหรือผีปอบเข้าสิงในวิญญาณของผู้กระทำผิดพิธีกรรมนั้นๆ แล้วไปสิงร่างคนอื่นอีก คนที่เป็นผีก๊ะจะเป็นที่น่ารังเกียจของสังคมปกาเกอะญออย่างยิ่ง สิ่งที่น่ากลัวสูงสุดของคนปกาเกอะญอคือการผิด “บก๊ะ”แล้วกลายเป็นผีก๊ะ มองในเชิงวิทยาศาสตร์ ความเชื่อเรื่องการไม่แต่งงานในเครือญาติเดียวกัน เป็นการคัดเลือกพันธุ์ที่ทำให้ผู้ที่เกิดมาใหม่มีความแข็งแกร่งและอยู่รอดได้ มองในเชิงสังคม การแต่งงานระหว่างสายเครือญาติทำให้เกิดการสมัครสมานสามัคคีในหมู่ชนเผ่า เพราะจะกลายเป็นระบบดองที่ขยายตัวต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด
ปกาเกอะญอชุมชนบ้านขุนแม่หยอดนั้นดำรงชีพโดยพึ่งพาการเกษตรเป็นหลัก ใช้ระบบการเกษตรไร่ หมุนเวียน ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมในการบริโภคภายในครัวเรือนเป็นหลัก และเพื่อสร้างรายได้บ้างใน บางส่วน โดยพื้นที่ที่ทำไร่หมุนเวียนของชุมชนจะทำแบบแปลงรวม แบ่งตามการถือสิทธิที่ดินของแต่ ละครอบครัว ครอบครัวละประมาณ 6-8 ไร่ต่อปีโดยแบ่งอาณาเขตไว้อย่างชัดเจน ชุมชนจะมีรอบ หมุนเวียนอยู่ที่ 10 ปี มีพื้นที่หมุน 12 แปลง ในการทำไร่หมุนเวียนมีการทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟ ไม่ให้ลุกลามไปสู่ป่าอนุรักษ์ และป่าต้นน้ำ การทำไร่หมุนเวียนของชุมชนในปัจจุบันมีความ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบไร่ถาวรมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือน สำหรับพืชพันธุ์ที่พบในระบบไร่หมุนเวียนของชุมชนบ้านแม่หยอดนั้นมีมากกว่า 50 ชนิด ทั้งพืชที่ปลูก และพืชที่ขึ้นเอง ถือได้ว่าไร่หมุนเวียนเป็นระบบการเกษตรที่คงความหลากหลาย ทางชีวภาพของชนิดพืชพันธุ์ได้ดีการเพาะปลูกพืชในไร่หมุนเวียนจะเริ่มเพาะปลูกช่วงเดือน พฤษภาคมเป็นต้นไป หลังจากมีการเผาไร่ในช่วงเดือนเมษายน และเก็บผลผลิตในช่วงเดือนธันวาคม ถึงเดือนมกราคมเป็นต้นไป
ชุมชนบ้านแม่หยอดได้ร่วมกันกำหนดขอบเขตพื้นที่การทำไร่หมุนเวียนไว้ชัดเจน ซึ่ง พื้นที่เหล่านี้ไม่มีโฉนดหรือรั้วกั้นใด ๆ แต่จะรับรู้กันเองภายในชุมชน พื้นที่ของแต่ละครอบครัวจะไม่ เท่ากันในแต่ละโซน/แปลง เช่น แปลงที่ 1 ครอบครัวนี้อาจจะมี 10 ไร่ แปลงที่ 2 อาจจะมีเพียงเท่านั้น 8 ไร่ โดยประมาณ 1 ครอบครัวจะมีพื้นที่ 50-100 ไร่ ซึ่งแล้วแต่ที่บรรพบุรุษจับจองหรือทำมาก่อน ไม่สามารถล้ำไปยังที่คนอื่นได้
ปฏิทินการเพาะปลูก การเพาะปลูกในไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ ชุมชนบ้านขุนแม่หยอดกำหนดปฏิทินการเพาะปลูกในไร่หมุนเวียนใน 1 ปีไว้ ดังตารางต่อไปนี้
เดือน | กิจกรรม | พิธีกรรม/ข้อปฏิบัติ |
1. มกราคม (เตอะ เล) | ตีข้าว (พ่อบือ) เก็บผลผลิตในไร่ | |
2. กุมภาพันธ์ (ที แพะ) | ฟันไร่ (ถางไร่) | กี่จึ๊(มัดมือ) ปีใหม่ (หนี่ ซอ โข่) |
3. มีนาคม (ที คุ) | ตากไร่ (โลเก๊าะ) เอาฟืนไร่ซากปี 1-2 | ดึตะพะทอ/ลาดี๊ (ห้ามทำงาน/ ห้ามเด็ดใบไม้) |
4. เมษายน (ลา เซอ) | - จัดทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลามออกนอกเขต - เผาไร่โดยเผาจากหัวไร่ก่อนเพื่อให้ไฟค่อย ๆ ลามลงไปถึงระดับที่ห่างจากแนวกันไฟ - ฝังลำไม้ไผ่แห้งที่เสากระท่อมในไร่ - เก็บเห็ดในไร่ใหม่ / เก็บซากไม้มาทำฟืน | - พะเมโข่ (พิธีไหว้เจ้าที่) - มาหน่อคึ (พิธีหมายที่) - สู่ แว เหม่ คี (พิธีปลูกตามไฟ) - หากฝนตกหรือลูกเห็บตกห้ามเข้าไร่ 5-7 วัน |
5. พฤษภาคม (เดะ ญา) | - ปักไร่ (หยอดข้าว) โดยห้ามหยอดข้าววันเดียวกับพ่อหมอโดยที่เหลือข้าวพันธุ์ไว้สำหรับต้มเหล้า - ดายหญ้ารอบแรก | - แชะลอคึ (พิธีดูฤกษ์ยาม) - กร่ามาข่อ (พิธีอธิษฐานให้น้ำและข้าวดี) - แฆ บือ คลี (พิธีเรียงเมล็ดข้าว) |
6. มิถุนายน (ลา นวี) | - ดายหญ้า - ตรวจตราไร่ | - ทำพิธีรักษาไร่ (นึ่งไร่ และสะเดาะห์เคราะห์ไร่) หากข้าวเป็นโรคและแมลงกัดกิน |
7. กรกฎาคม (ลา เฆาะ) | - ดายหญ้า - ตรวจตราไร่ | |
8. สิงหาคม (ลา คุ) | - ดายหญ้า | - บอคึ (หลี่ต่า) พิธีมัดมือ ให้พ่อหมอทำพิธีก่อน - พิธีสิงหาคม (ลา คุ ปู) - กอ ฆึ (พิธีเลี้ยงไร่) |
9. กันยายน (ชิ หมื่อ) | - ดายหญ้า | |
10. ตุลาคม (ชิ ฉ่า) | - ดายหญ้า | - กินข้าวเม่า |
11. พฤศจิกายน (ลา นอ) | - เกี่ยวข้าว | - พิธีกินหัวข้าว - พิธีรินเหล้าก้นลานตีข้าว |
12. ธันวาคม (ลา ปลือ) | - ตีข้าว (พ่อบือ) โดยห้ามตีข้าววันเดียวกับพ่อหมอ - เก็บผลผลิตในไร่ไว้กินและทำพันธุ์ - พ่อคีดะ (เอาข้าวมาต้มเหล้า) | - แซะพอโข่ (พิธีเอาข้าวเข้าหลอง) - กีจึ๊พ่อบือ (มัดมือ) |
ชุมชนบ้านขุนแม่หยอด ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอไม่กี่ชุมชนในประเทศไทยที่ยังคงรักษาวิถีชีวิต และภูมิปัญญาดั้งเดิมของ ตนเองไว้ ผ่านรูปแบบการทำเกษตรไร่หมุนเวียนที่สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ประชากรในบ้าน ขุนแม่หยอดส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และนับถือผี อาชีพของคนในชุมชนทำการเกษตรปลูกพืชไร่ พืชเศรษฐกิจเป็นหลัก อาชีพรอง และอาชีพเสริม ได้แก่ เลี้ยงสัตว์ รับจ้างทั่วไป ทอผ้า
ระบบความเชื่อและระบบการปกครองชุมชนกะเหรี่ยง
ชาวกะเหรี่ยง มีทั้งที่นับถือทั้งดั้งเดิมคือนับถือผี (ศาสนาผี) ศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ โดยความเชื่อตามประเพณีนั้นชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าทุกสรรพสิ่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเจ้าของและดูแลรักษาอยู่ ซึ่งจะเรียกรวม ๆ ว่า “ต่าที ต่าเตาะ” (เทพเจ้าแห่งสัจธรรม หรือสิ่งสูงสุด ซึ่งจะสถิตทุกหนทุกแห่ง) ชาวกะเหรี่ยงมีความเคารพธรรมชาติมาก เพราะเป็นแหล่งบันดาลความอุดมสมบูรณ์มาให้ สิ่งที่กะเหรี่ยงถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทวดาอารักษ์ ถือเป็นวิญญาณที่ดี ควรยำเกรงและไม่ไปรบกวน
ระบบการปกครองสังคมชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ประกอบด้วยผู้นำหมู่บ้านที่มีบารมี คนในหมู่บ้านให้การยอมรับนับถือที่เรียกว่า ฮีโข่ (ผู้นำหมู่บ้านตามประเพณี) ซึ่งโดยธรรมเนียมจะเป็นผู้ที่ริเริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน จะทำหน้าที่ปกครองหมู่บ้าน ดูแลทุกข์สุข ตัดสินคดีความข้อพิพาท เช่น การพิพาทระหว่างหญิงชายก่อนแต่งงาน ฮีโข่ ร่วมกับผู้อาวุโสในหมู่บ้านจะพิพากษาตัดสิน นอกจากนี้แล้ว ฮีโข่ เป็นผู้นำทำพิธีกรรมต่าง ๆ ของชุมชนต่อมาภายหลังมีผู้นำที่เป็นทางการเกิดขึ้น ปัจจุบันผู้นำของชนเผ่ากะเหรี่ยงมีลักษณะ คือ
(1) ลักษณะผู้นำดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า ฮีโข่ ซึ่งสามารถสืบทอดตำแหน่งจากพ่อไปสู่ลูกโดยสายโลหิต ผู้นำประเภทนี้เป็นผู้ชาย มีบทบาทหน้าที่ปกครองดูแลลูกบ้านการประกอบพิธีกรรมและอบรมด้านจริยธรรมปัจจุบันมีบทบาทน้อยลงในแต่ละหมู่บ้านจะมีผู้ช่วยของฮีโข่อยู่ด้วยเรียกว่า ฮีข่อ
(2) ผู้นำทางการ มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในหมู่บ้าน มีบทบาทหน้าที่ปกครองดูแลเกี่ยวกับงานพัฒนา และการติดต่อประสานกับภายนอก หรือทางราชการเป็นหลัก
ชุมชนบ้านขุนแม่หยอดมีสมุนไพรท้องถิ่นอยู่หลายชนิด เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมของหหมู่บ้านที่รอบล้อมไปด้วยป่าและภูเขา ทำให้มีสมุนไพรตามธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้เป็นภูมิปัญญาการรักษาโรคได้ พืชสมุนไพรในบ้านขุนแม่หยอด มี 37 ชนิด รายละเอียดดังตารางต่อไปนี้
พืช | จำนวนปัจจุบัน | ลักษณะ | วิธีการใช้ | ประโยชน์ |
1.เชโบเกว๊ | ต้น | ต้ม,บด | ใส่แผลสด | |
2.ยาแก | มาก | เครือ | ต้ม | ยาบำรุง |
3.ยาหลวง | มาก | ต้น | ต้ม (ต้น,ราก) | ช้ำใน,บำรุงเลือด |
4.ยาแก้ดูกเคลื่อน | มาก | เครือ | ต้ม | เป็นยาบำรุง,ช้ำ ใน |
5.เส่ซูควา | มีมาก | ต้น | ต้ม,บด | บำรุงเลือด,เจริญ อาหาร |
6.เก่อชอหน่าปอ | มีมาก | กาฝาก | ต้ม | แก้โรคดีซ่าน,ผิดเดือน |
7.เต่อสี่ต่าบอ | มาก | ต้น | ต้ม | แก้ดีซ่าน |
8.เต่อสี่ก่าจึ๊ | ต้น | ต้ม,ทา | เคล็ด,ขัดยอก | |
9.ขวี่โดจ๊อ | ต้น | ทา | แก้คัน,ถอนพิษ | |
10.นะป่อจ่อ | มาก | ต้น | ต้ม | แก้ไข้ป่า |
11.พอป่าหล่า | ต้น | ต้ม | ถอนพิษ,แก้ดีซ่าน | |
12.เต่อสี่หลู่โข | ต้น | ต้ม | เจริญอาหาร,ยากำลัง | |
13.ชอพาแหม่แย | กอ | ต้ม | ล้างไต | |
14.เชกอเรอ่าพะ | มาก | ต้น | ต้ม,ทา | นวด,ต้ม |
15.มอกสะล้อ | มาก | ต้น | ต้ม | แก้ไอ |
16.เธอปอพะ | ปานกลาง | พวง | ต้ม | แก้ช้ำใน |
17.โคล๊โบควา | มาก | ต้น | ต้ม | แก้ไอ,บำรุงเลือด |
18.มิสยะว | น้อย | เครือ | ต้ม | บำรุงเลือด,ดองเหล้า |
19.เด่อสิซุ๊ย | มาก | ต้น | บด,ทา | ใส่แผลสด |
20.เชโร | ต้น | |||
21.แกว่เส่โม่ะ | น้อย | ต้น | ยาแก้ท้องร่วง | |
22.เคาะ | มาก | ต้น | ต้ม | ถอนพิษ,ย้อมผ้า |
23.เด่อสินูทิ | มาก | เครือ | ต้ม | เพิ่มน้ำนม |
24.เสยะส่า | มาก | ต้น | ต้ม, เปลือกกินสด | |
25.ทอเนอ | มาก | ต้น | ||
26.เคล่อเส่ | มาก | ต้น | ยางทาแผล | |
27.เสบอเบ | มาก | ต้น | ||
28.เปอคาเบะ | มาก | ต้น | ||
29.เชอปีเย | มาก | ต้น | ต้ม | |
30.จอลอดิเดอ | มาก | เครือ | ต้ม | |
31.ปาเจอ | น้อย | เครือ | บด (ใบต้ม) | |
32.เส่โพ | มาก | ต้น | ต้ม | |
33.มะเขส่า | มาก | ต้น | ต้ม | |
34.พ่อเกอะเดอ | มาก | ต้น,กอ | ต้ม | |
35.พ่อซอ | หัว,กอ | หัวสด | ||
36.พ่อซ | ต้ม | |||
37.ซุโลโย | เอาน้ำสด |
ภาษาพูด : ปกาเกอะญอ
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรขาว
เมื่อผลผลิตข้าวไร่ที่ได้ในบางปีได้น้อยลง ในช่วง 3-4 ปีผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือชุมชนผ่านการจัดอบรม ส่งเสริมให้ทำโครงการต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายชาวปกาเกอะญอในประเทศไทยที่สร้างแบรนด์ จัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรจากชุมชนชาวปกาเกอะญอ เพื่อสร้างอีกหนึ่งช่องทางการสร้างรายได้ให้กับชุมชนชาวปกาเกอะญอในประเทศไทยหลาย ๆ ชุมชน
การปรับตัวด้านอาชีพ ชาวปกาเกอะญอ ในชุมชนบ้านขุนแม่หยอด แม้จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ก็ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอาชีพเดิม คือ การทำ เกษตรกรรม ไปประกอบอาชีพอื่นแต่มีปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกษตร จากการทำไร่หมุนเวียนเป็นการทำไร่ถาวร โดยการปลูกพืชเศรษฐกิจแทนเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือน เนื่องจากการทำเกษตรเป็นหลัก ด้วยสภาพพื้นที่เอื้ออำนวย และเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนในชุมชน สำหรับแนวทางส่งเสริมการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชุมชน ในด้านสิ่งแวดล้อมควรมีการรณรงค์ให้ชาวบ้านที่ทำไร่ถาวรกลับมาทำไร่หมุนเวียนเพื่อความยั่งยืนของการทำเกษตร ภาครัฐควรส่งเสริมผลผลิตภัณฑ์จากไร่หมุนเวียนให้เป็นที่รู้จัก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต ชุมชนควรจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อต่อยอดผลผลิตสู่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผ่านการแปรรูป การทำ แบรนด์ เป็นต้น ด้านอาชีพควรมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านประกอบอาชีพเสริม ทั้งเลี้ยงสัตว์ ทอผ้า ปลูกกาแฟมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้เสริม นอกเหนือจากการทำไร่หมุนเวียน และไร่ถาวร
การปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มในช่วง 2-3 ปี ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลายพื้นที่ ทางราชการจึงกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกัน และเฝ้าระวังไฟป่า ทำให้การเผาไร่ของทางชุมชนบ้านขุนแม่หยอดจำเป็นต้องกำหนดวันเผาไร่ล่วงหน้า พร้อมทั้งขออนุญาติกับทางอำเภอในการที่จะเผาไร่ ซึ่งทำให้ไม่สามารถเลือกวันเผาไร่เองได้เหมือนสมัยก่อน ดังนั้นหากก่อนวันที่ขออนุญาติเกิดฝนตกก่อนการเผาไร่ก็อาจส่งผลต่อผลผลิต นอกจากนี้ยังต้องจัดทำแนวกันไฟ และร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังไฟป่าในบริเวณโดยรอบอีกด้วย
ทรูปลูกปัญญา. (2562). วิถีไร่หมุนเวียน บ้านขุนแม่หยอด. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566. จาก https://www.trueplookpanya.com/
ภูมิธรรม บุญสอง (2564). การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบและการปรับตัวต่อการทำไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ บ้านขุนแม่หยอด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะศิลปศาสตร์.
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ศึก. (2566). แผนที่แสดงแนวเขตตำบลและแนวเขตหมู่บ้าน ตำบลแม่ศึก. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566. จาก https://www.facebook.com/maesuksao/