Advance search

ท่าวัง

“สตรีตฟูดห้าดาว ไชนาทาวน์เมืองคอน” ย่านการค้าเก่าแก่ใจกลางเมืองนครศรีธรรมราชที่มีการลงทุนเปิดกิจการต่าง ๆ กันอย่างคึกคัก ถึงแม้นครศรีธรรมราชจะมีการขยายขอบเขตความเจริญออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ แต่ท่าวัง ก็ยังคงเป็นแหล่งชุมนุมของผู้คนที่เดินทางมาจับจ่ายใช้สอยอยู่ไม่ขาดสาย

คลัง
เมืองนครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราช
วิไลวรรณ เดชดอนบม
7 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
9 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
11 ก.พ. 2024
ท่าวัง

ชื่อ ท่าวัง คาดว่ามีที่มาจากเหตุผล 2 ประการด้วยกัน

ประการแรก มาจากหนังสือบุดโบราณ ที่วาดแผนที่ภายในตัวเมืองนครศรีธรรมราช ได้ระบุถึงลำคลองท่าวังไว้ในชื่อของ "ท่าวังจระเข้" ซึ่งเป็นคลองน้ำลึกตลอดทั้งสาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีจระเข้ แต่ภายหลังคาดว่าเมื่อมีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น จระเข้ก็คงจะอพยพย้ายไปอยู่ที่อื่น ผู้คนจึงตัดคำว่า “จระเข้” ออก เหลือเพียง “ท่าวัง”

ประการที่สอง มาจากวังของเจ้าเมือง เนื่องจากท่าวังนั้นความจริงตั้งอยู่หน้าวังของเจ้าอุปราชพัด ซึ่งมีเรือเดินสมุทรมาจอดถ่ายสินค้ากันอย่างคึกคัก ท่าวัง จึงมาจาก ท่าเรือที่ตั้งอยู่ที่หน้าวังของคนสำคัญของบ้านเมือง จึงเรียก “ท่าวัง”


“สตรีตฟูดห้าดาว ไชนาทาวน์เมืองคอน” ย่านการค้าเก่าแก่ใจกลางเมืองนครศรีธรรมราชที่มีการลงทุนเปิดกิจการต่าง ๆ กันอย่างคึกคัก ถึงแม้นครศรีธรรมราชจะมีการขยายขอบเขตความเจริญออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ แต่ท่าวัง ก็ยังคงเป็นแหล่งชุมนุมของผู้คนที่เดินทางมาจับจ่ายใช้สอยอยู่ไม่ขาดสาย

คลัง
เมืองนครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราช
80000
8.4439307947
99.9595611634
เทศบาลนครนครศรีธรรมราช

“ย่านท่าวัง” ตั้งอยู่บนถนนราชดําเนิน อําเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมเคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญ มีคลองท่าวังไหลผ่าน เป็นคลองที่กว้างและลึก เดิมมีเรือกำปั่นขนาดใหญ่เข้ามาติดต่อค้าขายทําให้เกิดความเจริญทางด้านการค้าโดยเฉพาะบริเวณท่าน้ำ เนื่องจากการสัญจรทางการค้าหรือการเดินทางจะต้องอาศัยทางน้ำเป็นหลัก ประกอบกับเป็นท่าลงเรือของเจ้านายในวังที่จะออกสู่ทะเล มีทั้งเรือสําเภา เรือกําปั่นของไทย จีน ฝรั่งขนาดใหญ่แล่นเข้ามาทางปากพญาจอดเรียงรายนับตั้งแต่ท่าหน้าวังของเจ้าอุปราชพัด บุตรเขยของพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) บริเวณวัดท่าโพธิ์จนถึงท่าหน้าวังของหม่อมปรางซึ่งเป็นท่าเรือบริเวณสะพานราเมศวร์ พื้นที่บริเวณนี้จึงได้ชื่อว่า “ท่าวัง” และแม้ว่าภายหลังเจ้าอุปราชพัดดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช และได้เลิกวังตั้งเป็นวัด แต่คำว่า “ท่าวัง” ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในตำนานของเมืองนครศรีธรรมราช และเป็นสายน้ำประวัติศาสตร์และเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สําคัญทั้งในทางยุทธศาสตร์และติดต่อค้าขาย แต่อีกนัยหนึ่งก็ว่า ท่าวัง มาจากวังจระเข้ ด้วยหากพิจารณาจากลำคลองท่าวังแล้ว จะพบว่าคลองท่าวังเป็นคลองน้ำลึกตลอดทั้งสาย คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีจระเข้ แต่ภายหลังคาดว่าเมื่อมีผู้คนอาศัยอยู่มากขึ้น จระเข้ก็คงจะอพยพย้ายไปอยู่ที่อื่น ผู้คนจึงตัดคำว่า “จระเข้” ออก เหลือเพียง “ท่าวัง”

บ้านเรือนในยุคแรกมีลักษณะการตั้งบ้านเรือนที่รวมตัวกันเป็นแนวยาวตามเส้นทางริมคลองท่าวัง เป็นลักษณะบ้านแถวไม้ริมน้ำ โดยที่การออกแบบบ้านเรือนนั้นได้มีการออกแบบให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ ต่อมาเมื่อการคมนาคมทางบกเริ่มมีความเจริญ บ้านเรือนและร้านค้าจากชุมชนริมน้ำเปลี่ยนไปตั้งตามเส้นทางคมนาคมทางบกที่มุ่งขยายตัวเข้าสู่พื้นที่รอบสถานีรถไฟมากขึ้น อาคารห้องแถวรอบสถานีรถไฟตั้งอยู่เป็นกลุ่มติดกันในลักษณะเป็นชุมชนการค้า โดยชาวจีนซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนถิ่นฐานบริเวณย่านท่าวังได้นํารูปแบบบ้านเรือนและร้านค้าแบบห้องแถวเข้ามาสู่พื้นที่ท่าวัง มีลักษณะเป็นห้องแถวที่เป็นบ้านไม้และตึกแถวครึ่งไม้ครึ่งปูน ในระยะแรกมักจะปลูกเป็นบ้านชั้นเดียว มีพื้นที่ใช้สอยค่อนข้างชัดเจน คือ ส่วนหน้าสําหรับจัดวางสินค้าหรือให้บริการ ส่วนหลังสําหรับการพักผ่อน โดยกั้นพื้นที่เล็กน้อยส่วนหลังสุดเป็นที่ทําครัวหรือบางหลังอาจต่อเป็นชั้นลอยสําหรับเป็นที่นอนหรือเป็นที่เก็บสินค้า ต่อมาได้ขยายเป็น 2 ชั้น และปรับปรุงเป็นตึกแถวที่มีความคงทน แข็งแรงกว่าเดิม และเพิ่มประโยชน์พื้นที่ใช้สอยให้มากขึ้น เรียกว่า “เล่าเต็ง” (สภามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, 2540) โดยบ้านเรือนและร้านค้าหันหน้าออกสู่ถนนทั้งสองฟากฝั่ง และมีการสร้างซุ้มโค้งด้านหน้าที่สามารถเชื่อห้องแถวแต่ละห้องถึงกัน และสามารถกันแดดกันฝนได้

ที่ตั้งและอาณาเขตติดต่อ

ท่าวัง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลังและตำบลท่าวัง ในเขตการปกครองของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช มีขนาดพื้นที่ประมาณ 315 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองท่าวังหรือสะพานราเมศร์และแนวเขตวัดท่าโพธิ์วรวิหาร
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แนวเขตวัดท่าดพธิ์วรวิหารด้านตะวันออก เชื่อมต่อกับถนนท่าโพธิ์มาทางตะวันตกจรดถนนศรีปราชญ์
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนกาชาดและบ่ออ่าง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองทุ่งปรัง

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศของย่านท่าวัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลาดลงสู่พื้นที่ราบด้านตะวันออกของจังหวัด โดยทั่วไปลักษณะพื้นที่จะมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบ พื้นที่ด้านตะวันออกมีลักษณะเป็นที่ราบที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ และฝั่งตะวันตกเป็นแหล่งต้นกําเนิดที่สําคัญของแม่น้ำหลายสายซึ่งมีอาณาเขตต่อเนื่องกับเทือกเขาในเขตอําเภอพรหมคีรี โดยทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเทือกเขานครศรีธรรมราช ส่วนบริเวณพื้นที่ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะเป็นที่ราบน้ำขึ้นถึงและที่ราบใต้ระดับน้ำขึ้นลง

สภาพภูมิอากาศ

พื้นที่ย่านท่าวังอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้รับอิทธิพลลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะย่านท่าวังทางด้านฝั่งตะวันออกได้รับอิทธิพลของลมนี้เต็มที่ จึงมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ดีมาก แต่เนื่องจากเทือกเขาตะนาวศรีด้านตะวันตกปิดกั้นกระแสลมไว้ ทําให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกและจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงย่านท่าวังมีฝนน้อยกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลม มีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดตลอดปีเท่ากับ 35.42 องศาเซลเซียส และมีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดตลอดปี เท่ากับ 20.41 องศาเซลเซียส

ประชากรส่วนใหญ่ของย่านท่าวังเป็นคนไทยเชื้อสายจีน การตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในบริเวณตลอดริมคลองท่าวังเรื่อยมาจนถึงริมคลองท่าซัก บางส่วนอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาด้วยเหตุผลด้านการค้าขายกับอินเดีย นอกจากนี้ ยังมีชาวไทยมุสลิมจากคาบสมุทรมลายูที่อาศัยอยู่ในบริเวณสี่แยกท่าวัง ซึ่งในปัจจุบันสัดส่วนของประชากรส่วนใหญ่ของย่านท่าวังเป็นคนไทยเชื้อสายจีนมากกว่าคนไทยที่เป็นคนพื้นถิ่น โดยประชากรชาวไทยเชื้อสายจีนคิดเป็นร้อยละ 80 อาศัยอยู่บริเวณสี่แยกท่าวัง ถนนเนรมิตร ซึ่งเป็นคนเก่าคนแก่ รวมถึงลูกหลานชาวจีนที่อยู่อาศัยและทําการค้าขาย ส่วนชาวไทยที่อยู่อาศัยในพื้นที่มานาน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีอายุ 50 ขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 15 อาศัยอยู่บริเวณถนนราชดําเนิน ส่วนใหญ่เป็นคนจากต่างอําเภอเข้ามาทําการค้าขาย ทางด้านชาวไทยมุสลิมนั้นคิดเป็นร้อยละ 5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นอพยพมาจากทางใต้ของประเทศไทย เช่น อินเดีย ฯลฯ เพื่อเข้ามาทําการค้าขายก่อนอยู่อาศัยในพื้นที่ย่านท่าวังเป็นการถาวร ทั้งนี้ ลักษณะการอยู่อาศัยเป็นแบบครอบครัวขยาย หนึ่งครัวเรือนมีสมาชิกเฉลี่ย 4-6 คน มีทั้งพ่อแม่ พี่น้อง และปู่ย่า ตายาย 

ลักษณะทางภูมิศาสตร์การเป็นเมืองท่าเก่า และการค้าขายที่เปรียบเสมือนพันธุกรรมส่งต่อมายังลูกหลานรุ่นแล้วรุ่นแล้วรุ่นเล่า ท่าวังในอดีตขับเคลื่อนด้วยชุมชนชาวจีนเป็นกำลังสำคัญ สร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับเมืองคอนจากอดีตจนมาถึงปัจจุบัน แม้ว่าบทบาทการเป็นเมืองท่าจะถูกลดบทบาทลงเนื่องจากการคมนาคมทางน้ำหาใช่เส้นทางการสัญจรหลักดังเช่นในอดีต ทว่า ย่านท่าวังยังคงบทบาทเป็นย่านการค้าที่สำคัญของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เศรษฐกิจในพื้นที่ดำเนินไปด้วยการทำธุรกิจมากมายหลากหลายรูปแบบทั้งที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งของรัฐและเอกชน โดยในปัจจุบันมีร้านค้า ร้านอาหารเปิดให้บริการกว่า 500 ร้าน แก่ประชาชนที่อยู่ในย่านท่าวังและบริเวณโดยรอบ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการค้าขายและการบริการที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจําวัน ทั้งร้านสะดวกซื้อ ร้านทอง ร้านขายยา ร้านขายอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านถ่ายรูป ฯลฯ รวมถึง “ตลาดหลังวิกดาว” ตลาดค้าปลีกขนาดใหญ่ของเมืองนครศรีธรรมราช ศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนทั้งในช่วงเวลาเช้าและเย็น นอกจากนี้ บริเวณตลาดหลังวิกดาว ยังมีการค้าขายในรูปแบบแผงลอยและรถเข็น เป็นการนําสินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ หรือขนมต่าง ๆ เข้ามาขายในแหล่งชุมชน ซึ่งการค้าในลักษณะนี้มีการตั้งโต๊ะหรือเดินขายทั่วไปตามตรอกซอยต่าง ๆ ตลอดแนวอาคารตึกแถว

ทั้งนี้ ในวันหยุดสุดสัปดาห์จะมีความคึกคักมากเป็นพิเศษ สามารถพบเห็นนักท่องเที่ยว หรือคนต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวขาจรที่เข้ามาเป็นกลุ่มเพื่อมารับประทานอาหารและจับจ่ายซื้อของตามร้านค้า เนื่องจากในพื้นที่มีร้านค้าให้บริการจํานวนมาก ลักษณะร้านค้าของย่านท่าวังเป็นตึกแถว ตั้งอยู่บริเวณติดริมถนน ได้แก่ ถนนราชดําเนิน ถนนเนรมิตร ถนนจําเริญวิถี ซึ่งสะดวกในการเดินทางเพื่อเข้ามาใช้บริการจับจ่ายซื้อของ ทําให้ย่านท่าวังนั้นมีความคึกคักเป็นอย่างมากโดยเฉพาะช่วงเวลากลางวัน เหตุปัจจัยอาจด้วยสินค้าในย่านท่าวังเป็นสินค้าที่ราคาไม่แพง ตอบสนองต่อความต้องการการดำเนินชีวิต ประกอบกับมีห้างสรรพสินค้าจำนวนหลายห้าง ยิ่งส่งผลให้ธุรการค้าบริเวณย่านท่าวังยิ่งทวีความคึกคักมากขึ้นไปอีก จึงอาจกล่าวได้ว่า ธุรกิจการค้า เป็นลักษณะการประกอบอาชีพที่สร้างรายได้และเป็นอาชีพหลักของผู้คนย่านท่าวังมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ความเฮอริเทจคือจุดขาย ตึกเก่าหลายแห่งถูกนำมาแปลงร่างเป็นคาเฟบ้าง อาร์ตสเปซบ้าง อันเกิดจากมูลเหตุแนวคิดฟื้นย่านเก่าเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตึกเก่าสองชั้นที่ระอุด้วยกลิ่นไอสถาปัตยกรรมแบบจีนและตะวันตก หรือชิโนโปรตุกีส (สถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกส) ที่ผสมผสานคละเคล้ากันอย่างลงตัวอยู่ในย่านการค้าเก่าแก่ ถูกนำมาปัดฝุ่นรังสรรค์เป็นแหล่งท่องเที่ยวสไตล์คลาสสิกที่กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มวัยรุ่นในปัจจุบัน ถือเป็นธุรกิจแนวใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มคนค้าขายในย่านท่าวัง

ประชากรส่วนใหญ่ของย่านท่าวังเป็นชาวไทยเชื่อสายจีนและชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ มีศาสนาสถานที่สำคัญ คือ วัดวังตะวันตก วัดวังตะวันออก และศาลเจ้ากวนอู ที่เป็นสถานที่สัการบูชาและที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนท่าวังมาอย่างยาวนาน โดยวัดวังตะวันตกและวัดวังตะวันออกนี้สร้างขึ้นโดยเจ้านครศรีธรรมราชี่ได้ปรับปรุงพื้นที่อุทยานให้กลายเป็นวัด ส่วนศาลเจ้ากวนอูสร้างโดยนายหลีซำเฮง พ่อค้าคหบดีชาวจีนแตจิ๋ว เพื่อเป็นศูนย์รวมใจชาวจีนโพ้นทะเลในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการและจัดงานต่าง ๆ ของชุมชน ทั้งนี้ ประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อเกี่ยวกับการประกอบอาชีพเป็นส่วนใหญ่ โดยชุมชนย่านท่าวังมีประเพณีสำคัญที่คนในพื้นที่จะมีการรวมตัวกันทำกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง ได้แก่

  • ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ จัดขึ้นในวันที่ 15 ค่ำ เดือน 3 (วันมาฆบูชา) และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วันวิสาขบูชา)
  • ประเพณีสารทเดือนสิบ จัดขึ้นในวันแรม 13-15 ค่ำ เดือน 10
  • ประเพณีลากพระ จัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
  • ประเพณีให้ทานไฟ จัดขึ้นช่วงเดือนยี่ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

หลาดท่ามอญ ตลาดชุมชนคนท่าวัง

แม้ว่าการค้าในย่านท่าวังจะยังคงทวีความคึกคักไม่หยุดหย่อน ทว่า ชาวท่าวังยังคงไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน มีโครงการและกิจกรรมเพื่อการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจย่านท่าวังมากมาย เช่นเดียวกับงานหลาดท่ามอญ (ตลาดท่ามอญ) ตลาดชุมชนคนท่าวัง ตรอกท่ามอญ บริเวณเชิงสะพานราเมศวร์ ถนนคนเดิน แนวยาวไปจนถึงวัดศรีทวี ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานราก หลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) ตำบลท่าวัง เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้แก่ชุมชนทุกเพศทุกวัย มีภาพศิลปะ มุมถ่ายภาพสวยงามเต็มไปด้วยกลิ่นไอวัฒนธรรมดั้งเดิมชุมชนชาวมอญ มีของกิน ของใช้ให้เลือกมากมายที่ชาวบ้านได้นำมาจำหน่าย และมีการแสดงพื้นเมืองของเยาวชนในชุมชน การแสดงดนตรี ศิลปะร่วมสมัยของเยาวชน และนิทรรศการร่วมย้อนรำลึกถึงชุมชนโบราณจากเรื่องเล่าของคนท่ามอญ-ท่าวังเดิมด้วย

ภาษาพูด : ภาษาถิ่นนครศรีธรรมราช, ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


พื้นที่ย่านท่าวัง เป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยและแนวน้ำหลากจากตอนบนเทือกเขาหลวงหลากลงมาตามลําน้ำ เช่น คลองท่าดี คลองหัวตรุด คลองท่าชัก คลองท่าแพ คลองชะเมา คลองคูพาย คลองท่าวัง และคลองอื่น ๆ และสภาพการขวางทางน้ำของถนนทางหลวงเส้นต่าง ๆ ทําให้เกิดน้ำท่วมขังและน้ำล้นตลิ่ง เนื่องจากการระบายน้ำที่จะไหลลงสู่ทะเลทําได้ไม่สะดวกนัก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ณัฏฐนิชา จำรูญโรจน์. (2558). ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของย่านการค้า กรณีศึกษาย่านท่าวัง จังหวัดนครศรีธรรมราช. สารนิพนธ์การผังเมืองบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ณัฏฐนิชา จำรูญโรจน์. (2563). การฟื้นฟูย่านการค้าเก่า กรณีศึกษาย่านท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์การวางแผนชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อมมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ณัฏฐ์ ธีระกุล. (2562). "ไชน่าทาว์ เมืองคอน ... สตรีทฟู้ดห้าดาว นครศรีธรรมราช. สืบค้น 7 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://pantip.com/

พริบตา. (2565). ที่นี่...ยงคัง. สืบค้น 7 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://onceinlife.co/yong-kang

ภูมิ จิระเดชวงศ์. (2564). “ท่าวัง” ย่านการค้าสำคัญของนครศรีธรรมราช ชื่อนี้มาจากสิ่งใด ? (17 ก.ค. 2564) “Tha Wang”, an Important Commercial Area of Nakorn Sri Dhammaraj, Where Does This Name Come From? (Jul 17, 2021). สืบค้น 7 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://watsritawee.org/article-147/

สภามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. (2540). รายงานการวิจัยสนองพระราชประสงค์ เรื่อง นครศรีธรรมราช กรณีศึกษา การตั้งถิ่นฐานที่กรุงชิงและพรุครวนเคร็ง และจีน: ประวัติศาสตร์โบราณคดี ผู้คนและวัฒนธรรม. (ม.ป.ท.).

หยุดเมื่อไหร่เจอกัน. (2566). ตลาดท่ามอญ ชุมชนเก่าแก่กลางเมืองนครศรีธรรมราช. สืบค้น 7 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://th.trip.com/

หลังดาว ณ คอน. (2565). สืบค้น 7 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/

Amazing Thailand. (2566). งาน “ตลาดท่ามอญ”. สืบค้น 7 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://thai.tourismthailand.org/