วิถีชีวิตของชาวภูไทที่สะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าวัฒนธรรมที่เหนียวแน่น ทั้งภาษา การแต่งกาย และการดำรงชีวิตของบ้านภู
แต่เดิมมีชื่อว่า “บ้านหลุบภู” เนื่องจากพื้นที่เดิมไม่ใช่พื้นที่ที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน ชาวบ้านภูเคยตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณหุบ (หลุบ) จึงเรียกว่า "หลุบภู" ต่อมาชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นได้อพยพมายังพื้นที่เนินเขาซึ่งเป็นพื้นที่ที่หมู่บ้านตั้งอยู่ในปัจจุบัน ทางการเข้ามาสำรวจหมู่บ้าน บ้านหลุบภู จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านภู" จนกระทั่งปัจจุบัน
วิถีชีวิตของชาวภูไทที่สะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าวัฒนธรรมที่เหนียวแน่น ทั้งภาษา การแต่งกาย และการดำรงชีวิตของบ้านภู
บ้านภู ตำบลบ้านเป้า อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร เดิมเคยชื่อว่า "บ้านหลุบภู" มีประวัติการตั้งถิ่นฐานมายาวนานกว่า 100 ปี เดิมบ้านภูเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหนองสูง ซึ่งตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวภูไทที่อพยพมาจากเมืองคำอ้อเชียวและเมืองวัง ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงในแคว้นสิบสองจุไท (เมืองวังในปัจจุบัน คือ บ้านนายม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) โดยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งท้าวสีหนามจากเมืองคำอ้อเป็นเจ้าเมืองหนองสูง มีนามว่าพระไกรสรราช มีพื้นที่ครอบคลุมเขตอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เมื่อ พ.ศ. 2424 ชาวเมืองหนองสูงได้พากันอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านหนองสูง เพราะหลังน้ำท่วมทุกปีจะเกิดโรคระบาดรุนแรงซึ่งชาวบ้านเรียกว่า โรคห่า (ท้องร่วง) ประกอบกับพื้นที่ทำกินน้อยลงจึงต้องแสวงหาที่ทำกินใหม่ และในปีนั้นปรากฏว่ามีเสือมากินม้าที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ เชื่อกันว่าถ้าเสือตัวไหนที่ได้กินม้าเข้าไปแล้วนั้น ต่อไปเสือตัวนั้นจะกินคน ทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งประมาณ 20 ครัวเรือน โดยการนำของเจ้าสุโพธิ์สมบัติ เจ้ามหาสงคราม เจ้ามหาเสนา และเจ้ากิตติราช จึงได้อพยพลงมาทางใต้ข้ามภูเขาลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่บนฝั่งขวาของห้วยกระเบน เรียกชื่อว่า บ้านหลุบภู โดยให้เจ้าสุโพธิ์สมบัติเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีเจ้าเมืองนนท์ได้มาอยู่ก่อนแล้ว แต่เนื่องจากเจ้าเมืองนนท์เป็นคนมีวิชาคาถาอาคมแก่กล้าจึงมีคนกล่าวหาว่าเป็นผีปอบเจ้าเมืองนนท์กับชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งจึงพากันย้ายไปอยู่อีกที่หนึ่งชื่อบ้านผักขะย้า
ภายหลังจากที่อยู่บริเวณเดิมมาประมาณ 30 ปี ในปี พ.ศ. 2445 จึงได้พาราษฎรย้ายบ้านมาตั้งอยู่เนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านในปัจจุบัน และเรียกกันว่า "ภูน้อย"
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ภายหลังการย้ายถิ่นฐาน ดังนี้
พ.ศ. 2508 มีคณะผ้าป่าจากที่ต่าง ๆ เข้ามาทอดในบ้านภู ทำให้ผู้หญิงมีบทบาทมากในการต้อนรับผ้าป่ามาจนถึงทุกวันนี้ จากเหตุการณ์นี้ทำให้ในปัจจุบันผู้หญิงมีส่วนร่วมมากกว่าผู้ชาย เพราะว่าผู้หญิงเคยชินกับการฟ้อนการต้อนรับแจกมาก่อน กิจกรรมทั้งหมดของหมู่บ้านจึงตกอยู่กับการดำเนินงานของผู้หญิง
พ.ศ. 2510-2511 มีการตั้งกลุ่มหนุ่มสาวคีรีนคร เพราะเป็นช่วงที่มีหนุ่มสาวอาศัยอยู่ใหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก
พ.ศ. 2511 มีการสร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่ของวัดศรีนันทนาราม และกลุ่มหนุ่มสาวคีรีนครสร้างพระพุทธคีรี ที่วัดพุทธคีรี
พ.ศ. 2515 ตั้งกลุ่มไทยพิทักษ์ถิ่น (ทพถ.)
พ.ศ. 2515 ตัดถนนในหมู่บ้าน และย้ายอาคารเรียนไปตั้งโรงเรียน ที่โรงเรียนบ้านภูในปัจจุบัน
พ.ศ. 2515-2517 เกิดความคิดตัดถนน แล้วมีการแบ่งกลุ่มบ้านเป็นคุ้ม
พ.ศ. 2516 มีการรำวง รอบละ 1 บาท เพื่อนำรายได้เข้าวัด สมัยนั้นมีผู้คนเข้ามาในหมู่บ้านจำนวนมาก ส่วนหนึ่งทหารนำกระเบื้องมาสร้างโรงเรียนบ้านภู
พ.ศ. 2517 ชาวบ้านภู 150 คน ได้เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายผ้าไหมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ ศาลาดุสิตดาลัย
พ.ศ. 2517 ชาวบ้านปักเสาไฟ และขึงสายไฟแรงสูง ทำให้สามารถใช้ไฟฟ้าภายในหมู่บ้านได้
พ.ศ. 2518 ได้ยื่นเรื่องขอสร้างโรงเรียนมัธยมประจำตำบลพลังราษฎร์พิทยารังสรรพ์
พ.ศ. 2530 เข้าประกวดหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อปพ.) บ้านภู หมู่ 2 ได้รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นเจ้าภาพจัดงานหมู่บ้านแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง จังหวัดมุกดาหาร
พ.ศ. 2541 บ้านภูชนะการประกวดหมู่บ้านวัฒนธรรมดีเด่น จังหวัดมุกดาหาร
พ.ศ. 2547 บ้านภูได้เป็นหนึ่งในหมู่บ้านนำร่อง โครงการวิจัยหนุนเสริมศักยภาพนักวิจัยชุมชนสืบค้นประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นบ้านภู โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
พ.ศ. 2549 ตัวแทนของหมู่บ้านได้เข้ารับโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง (อยู่เย็นเป็นสุข)
พ.ศ. 2549 เริ่มเปิดโฮมสเตย์อย่างเป็นทางการ เนื่องจากในปีนี้เป็นปีครบรอบครองราชย์ 60 ปี ซึ่งมีแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และบ้านภูได้เป็นที่หนึ่งของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดมุกดาหาร
พ.ศ. 2550 บ้านภูเป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เข้ารับโล่รางวัลอุตสาหกรรมชุมชนดีเด่นทางด้านการท่องเที่ยว เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสครบรอบ 80 พรรษา
พ.ศ. 2551 บ้านภูได้เป็นหมู่บ้าน ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
พ.ศ. 2552 ได้รับโล่รางวัลวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนดีเด่นด้วยการดำเนินตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ต้นแบบจังหวัดมุกดาหาร จนได้รับรางวัล อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ครั้งที่ 8 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวชุมชนดีเด่น
พ.ศ. 2556-2558 บ้านภูได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย รับรองโดยกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหนองโอ บ้านป่าเม็ก บ้านนาหนองแคน โดยมีแนวเนินเขาภูจะก้อและภูถ้ำเม่นขวางกั้น
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านเป้า และภูผาขาวที่มีความสูงทอดยาวตลอดด้าน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ภูผาแดง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีสันเขาภูหินเหล็กไฟและภูผาขาวทอดยาวขวางกั้น
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะพื้นที่ของบริเวณบ้านภูเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา มีสายน้ำจากภูเขาไหลมารวมกัน เป็นลำห้วยไหลผ่านจำนวน 3 สาย คือ ห้วยกระเบน ห้วยถ้ำบิ้ง และห้วยทราย บริเวณที่ราบประกอบไปด้วยพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรม ในส่วนของภูเขาที่ล้อมรอบหมู่บ้านทางราชการประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ คือ ป่าสงวนแห่งชาติดงบังอี่ แปลงที่ 5 และเขตอนุรักษ์สัตว์ป่า ครอบคลุมพื้นที่เขาลูกที่อยู่รอบบริเวณพื้นที่ของบ้านภู ได้แก่
1. ภูจะก้อ (ภูจ้อก้อ) อยู่ทางทิศเหนือห่างจากที่ตั้งหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ทางด้านทิศตะวันออกของภูที่ตั้งของวัดพระพุทธคีรี
2. ภูหินเหล็กไฟ อยู่ทางทิศตะวันตก ห่างจากที่ตั้งหมู่บ้านประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีพื้นที่ติดต่อกับภูจ้อก้อ
3. ภูผาขาว เป็นภูเขาที่บนสันเขามีพื้นที่ราบเป็นแนวยาวติดต่อจากภูหินเหล็กไฟไปทางทิศใต้ ห่างจากที่ตั้งหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร
4. ภูผาแดง อยู่ทางทิศตะวันออกห่างจากที่ตั้งหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตรเป็นภูเขาที่มีความสูงกว่าเขาลูกอื่น ๆ ในเขตอำเภอหนองสูง
สภาพอากาศ
บ้านภู มี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูกาลร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน ฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในช่วงที่ฤดูร้อนนั้นอากาศจะร้อนจัด และในช่วงที่ฤดูหนาวอากาศจะหนาวจัด
การตั้งบ้านเรือน การใช้ประโยชน์จากที่ดิน
การตั้งบ้านเรือนเป็นการตั้งตามแบบแผน ที่เกิดจากความคิดที่จะตัดถนนในหมู่บ้านจากกลุ่มไทยพิทักษ์ถิ่น โดยบ้านภูได้มีการตัดถนนราว พ.ศ. 2515-2517 มีการกำหนดเส้นถนนไว้ สิ่งกีดขวางจะต้องทำการรื้อ ชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ภายหลังจากตัดถนนชาวบ้านได้แบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 4-5 หลัง โดยยึดถือบ้านหลังที่อยู่ติดกันว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน เส้นถนนที่ตัดผ่านจะเป็นตัวแบ่งกลุ่มของบ้านออกจากกัน เรียกว่า "คุ้ม" ซึ่งมักมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกัน ชื่อแต่ละคุ้มเป็นไปตามประวัติคุ้มนั้น เช่น บริเวณใดขุดพบสมบัติ ก็ตั้งชื่อคุ้มว่า "คุ้มโพธสมบัติ"
คุ้มหรือสมาชิกของบ้าน 4-5 หลัง ที่อยู่ติดกันจะรวมตัวทำกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน บางครั้งเมื่อผู้ใหญ่บ้านหรือคณะกรรมการโฮมสเย์เรียกประชุมคุ้มต่างๆ ก็จะส่งตัวแทนไป และแต่ละคุ้มก็จะหมุนเวียนกันไปทำกับข้าวถวายพระที่วดศรีนันทาราม ประกอบด้วย
1. คุ้มเจ้าเนตรวงศ์ | 10. คุ้มสุดสะแนน |
2. คุ้มราชลิวงศ์ | 11. คุ้มพรมสุรินทร์ |
3. คุ้มเจ้ากิตติราช | 12. คุ้มเจ้าโฮดสมบัติ |
4. คุ้มเจ้ามหาเสนา | 13. คุ้มเจ้าสุวรรณ |
5. คุ้มเจ้าพระอินทร์ | 14. คุ้มมหาสงคราม |
6. คุ้มเจ้าวารสาร | 15. คุ้มพิราช |
7. คุ้มเจ้าเทพราช | 16. คุ้มเจ้าพรมบาล |
8. คุ้มเจ้าแพงคำร่วม | 17. คุ้มเจ้าเมืองนนท์ |
9. คุ้มเจ้าหาญชัย | 18. คุ้มเจ้าสุโพ |
โครงสร้างประชากร
บ้านภูแบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ บ้านภูหมู่ที่ 1 และบ้านภูหมู่ที่ 2 ขึ้นกับตำบลบ้านเป้า อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร บ้านภูหมู่ 1 มีนายเผด็จศักดิ์ แสนโคตร ตำแหน่งกำนัน ตำบลบ้านเป้า เป็นผู้นำหมู่บ้าน บ้านภูหมู่ 2 มีนายพัฒนา นามเหลา ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน บ้านภูหมู่ที่ 1 มีพื้นที่ 3489 ไร่ บ้านภูหมู่ที่ 2 มีพื้นที่ 3023 ไร่
- บ้านภูหมู่ที่ 1 มีจำนวนครัวเรือน 188 ครัวเรือน จำนวนประชากร ชาย 327 คน หญิง 265 คน รวม 591 คน
- บ้านภูหมู่ที่ 2 มีจำนวนครัวเรือน 214 ครัวเรือน จำนวนประชากร ชาย 280 คน หญิง 294 คน รวม 574 คน
ระบบเครือญาติ
การอยู่อาศัยของชาวบ้านภูนั้นมีการแบ่งเป็นคุ้ม ซึ่งบางคุ้มก็เป็นการสร้างบ้านอยู่อาศัยของญาติพี่น้องในคุ้มเดียวกันเอง และบางคุ้มก็ไม่ได้สร้างบ้านอยู่อาศัยของญาติพี่น้อง ชาวบ้านภูทั้งหมู่บ้านนั้นส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องกัน ลักษณะครอบครัวและเครือญาติการอยู่อาศัยจะอยู่อาศัยแบบพี่น้องกัน พึ่งพาอาศัยกัน โดยนามสกุลส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านภูใช้จะเป็นนามสุกลสุนทรส, ไตรยวงค์, อาจวิชัย, ปัททุม ซึ่งแสดงถึงการเป็นญาติพี่น้องกัน คนบ้านภูมีทั้งที่แต่งงานกันเองในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ที่แต่งงานกันเอง จะเป็นคนรุ่นอายุ 50 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่แต่งงานกับคนนอกหมู่บ้าน มีทั้งจากหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น บ้านเป้า บ้านหนองสูง แต่งงานแล้วก็อาศัยอยู่ที่บ้านภูหรือไปก็ไปอาศัยอยู่ที่อื่น คนอายุ 40 ปีลงมา ส่วนใหญ่จะไปทEงานและอาศัยอยู่ที่อื่นทั้งในกรุงเทพมหานคร และตามจังหวัดต่าง ๆ
ชาติพันธุ์
ชุมชนบ้านภูเป็นชาวผู้ไท บรรพบุรุษมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง การแต่งกายเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน คือ ผู้หญิงนุ่งซิ่นทิว ใส่เสื้อเย็บมือย้อมคราม แถบชายขอบแดง ห่มผ้าสไบพาดไหล่ซ้าย ผู้ชายนุ่งโสร่งไหม/ฝ้ายผสม สวมเสื้อเย็บมือย้อมครามหรือใช้สีกรมท่าหรือดำ ปักลวดลายต่าง ๆ ด้วยมือแม่บ้านสวยงาม ใช้ผ้าขาวม้าหรือ ผ้าสไบมัดเอว
ผู้ไทชาวบ้านภูนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดจากการที่ ชาวบ้านภูมีการปลูกพืชผักสวนครัวบริเวณพื้นที่หน้าบ้าน และข้างบ้านโดยรอบ พืชผักต่าง ๆ สามารถนำมาประกอบอาหารได้ โดยทุกบ้านจะมีกระถางตั้งอยู่หน้าบ้านจำนวน 2-3 กระถาง กระถางนี้เป็น กระถางพลาสติกสีดำ และภายในปลูกผักอย่างต้นหอม ผักชี สาระแน่ ผักกาดขาว เป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านภูทำร่วมกันเพื่อนำหมู่บ้านเข้าประกวดหมูบ้านเศรษฐกิจพอเพียงในปี พ.ศ. 2548-2549 และบ้านบางหลังจะมีบ่อเลี้ยงปลาบริเวณหน้าบ้านด้วย ในบริเวณหน้าบ้านที่มีกระถางปลูกผักกับบ่อเลี้ยงปลาแล้วนั้นยังมีชาวบ้านนิยมปลูกดอกไม้ เช่น ดอกบานชื่น ดอกบานไม่รู้โรย เพื่อความสวยงาม และในช่วงปี พ.ศ. 2548-2549 นี้มีการปลูกดอกไม้หน้าบ้านมากขึ้น โดยได้รับงบประมาณจาก โครงการอยู่ดีมีสุข (โครงการอยู่ดีมีสุขมากจากการยุติโครงการเอสเอ็มแอลในช่วงต้นปี พ.ศ. 2550 แล้ว เปลี่ยนชื่อเป็นโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยดำเนินโครงการนี้ ร่วมกับแผนงานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข) ซึ่งทำในระยะเดี่ยวกันกับการที่หมู่บ้านเข้าร่วมประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ชาวบ้านภูนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการใช้ชีวิตของตนเอง คือ “ความพอมี พอกิน พอใช้” ซึ่งชาวบ้านทำกันมานานแล้ว และเมื่อบ้านภูได้รับโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จึงส่งผลทำให้บ้านภูมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเยี่ยมเยียน และศึกษาดูงานเป็นกลุ่มอยู่บ่อยครั้งนำไปสู่การเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มาจากพื้นฐานการเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อน “บ้านภูมี วิถีชีวิตที่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นจุดสำคัญที่ ชาวบ้านภูนำเสนอให้กับผู้ที่มาเยือน”
ทำให้บ้านภูเปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ผลส่งให้คนในบ้านภูมีรายได้มากขึ้นจากเงินส่วนแบ่งของการเข้าร่วมของชาวบ้านในกิจกรรมต้อนรับแขก และการเปิดบ้านเป็นบ้านให้แขกเข้าพักในรูปแบบของโฮมสเตย์ เงินที่ชาวบ้านได้รับจากการที่ได้เข้าร่วมพิธีต้อนรับแขก นั้นเป็นอัตราไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่กลุ่มแขกกลุ่มนั้น ได้ให้ไว้กับคณะกรรมการโฮมสเตย์ ยิ่งแขกมาเป็นกลุ่มใหญ่มาก ส่วนแบ่งที่ชาวบ้านจะได้จะมีอัตราที่มากขึ้นตามไปด้วย โดยส่วนใหญ่แขก ที่เข้ามาดูงานโดยการนำมาของกรมการพัฒนาชุมชนซึ่งมีงบประมาณมาให้โดยคิดจากจำนวนของผู้ที่เข้าร่วมศึกษาดูงานยิ่งมีจำนวนคนมามาก งบประมาณในการดูงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงที่บ้านภูครั้งนั้นจะมากตามไปด้วย
ชาวบ้านภูทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ มีการใส่บาตรในทุกเช้า และทำบุญที่วัดทุกวันพระ และวันสำคัญทางศาสนา ประเพณี ชาวบ้านภูยึดถือฮีต 12 คอง 14 เหมือนกับชาวอีสานทั่วไป แต่แรงจูงใจส่วนใหญ่ที่ทำให้ชาวบ้านภูกลับมาบ้าน คือ วันปีใหม่และวันสงกรานต์ เพราะสองวันนี้เป็นวันหยุดสำคัญที่มีวันหยุดเป็นระยะเวลานานกว่าวันอื่น ๆ คนบ้านภูจะไปทำบุญที่วัดศรีนันทนารามซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน และบางส่วนก็ไปวัดพุทธคีรี ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านไป 1-2 กิโลเมตร เป็นวัดที่กลุ่มหนุ่มสาวคีรีนครซึ่งเป็นการรวมตัวของหนุ่มสาวของบ้านภูในอดีตได้สร้างขึ้น
วัฒนธรรมชาวบ้านภูจะใช้วิถีชีวิตแบบพอเพียง นิยมปลูกพืชผักสวนครัวหลังฤดูเก็บเกี่ยวและตามหลังบ้าน นิยมการแต่งกายให้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนคือ ผู้หญิงนุ่งซิ่นทิว ใส่เสื้อเย็บมือย้อมคราม แถบชายขอบแดง ห่มผ้าสไบพาดไหล่ซ้าย คนในชุมชนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เด็กเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่
ประเพณีปฏิบัติตามฮีต 12 งานบุญที่สำคัญของบ้านภูคือบุญเดือนเก้ากับบุญเดือนสิบ โดยตามฮีต 12 คอง 14 บุญเดือนเก้าคือบุญข้าวประดับดิน บุญเดือนสิบคือบุญข้าวสาก แต่บ้านภูเรียกงานบุญเดือนเก้า และบุญเดือนสิบทั้งสองเดือนเหมือนกัน ว่า “บุญห่อข้าว” โดยบ้านทุกหลังในหมู่บ้านต้องนำสำรับไปถวายพระที่วัด เชื่อว่าเป็นการทำบุญให้ปู่ย่าตายายที่ตายไปแล้ว ชาวบ้านทุกหลังต้องไปถือว่าเป็นงานบุญที่สำคัญที่สุด ความเชื่อชาวบ้านมีความเชื่อเรื่องศาลปู่ตาของบ้านภูที่ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอหนองสูงไปประมาณ 2-3 กิโลเมตร ศาลปู่ตานี้เป็นที่นับถือของหมู่บ้าน ใครจะเดินทางไปที่อื่นหรือลูกหลานบ้านภูจะไปเรียนหนังสือที่อื่นไกลบ้านก็จะไปไหว้ศาลปู่ตา ส่วนใครอยากได้โชคลาภหรือสิ่งที่ตนต้องการก็จะไปขอ เมื่อได้แล้วก็จะต้องไปแก้บน
ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชบ้านภู ใช้ประโยชน์สร้างศาลาอเนกประสงค์ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านภูไทจำลอง โครงการศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชนั้น จะต้องมาจากความต้องการของประชาชนที่เป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ภายในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินโครงการ และเปิดโอกาสให้แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน หอวัฒนธรรม ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมทั้งได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และพร้อมที่จะเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้ประชาชนในท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป รวมทั้งเครือข่ายทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่สนใจ ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลบ้านเป้า ได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชของจังหวัดมุกดาหาร และเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชบ้านภู”
เมื่อได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชแล้ว คณะทำงานของศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชบ้านภูก็ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ตามพันธกิจของโครงการ ได้แก่ การจัดเก็บรวบรวมข้อมูลพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์และข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น พัฒนาพื้นที่ทางวัฒนธรรมสำหรับเป็นแหล่งรวบรวม อนุรักษ์ถ่ายทอด สืบสาน และใช้ประโยชน์องค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เสริมสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานทางวัฒนธรรมหลายฝ่ายแบบพหุภาคีระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และส่งเสริมและพัฒนาการต่อยอดมรดกภูมิปัญญาและสร้างสรรค์ให้เป็นสินค้าและบริการในภาคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงนำไปสู่การเกิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านภูขึ้น
ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ สมบูรณ์แบบ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ของชุมชน ภายในศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านภูซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชบ้านภูด้วยนั้น มีการแบ่งพื้นที่ใช้งานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกเป็นอาคารที่ทำการของศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านภู ซึ่งเป็นอาคารใช้เดียวใช้เป็นห้องต้อนรับแขกผู้มาเยือน เป็นห้องที่ใช้สำหรับจัดกิจกรรมอบรมสัมมนาต่างๆ มีหุ่นจำลองแสดงเครื่องแต่งกายหญิงชายของชาวผู้ไทบ้านภู ชั้นจัดแสดงถ้วยรางวัล และประกาศนียบัตรที่ได้รับ แผนที่ชุมชน ด้านนอกที่ตัดกับวัดที่ป้ายแสดงข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีการฟ้อนรำผู้ไท ประเพณีการบายศรีสู่ขวัญ ส่วนที่สองเป็นอาคารบ้านผู้ไทจำลอง เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างใช้เป็นที่เรียนรู้และสาธิตกิจกรรมของกลุ่มอาชีพต่างๆ ในชุมชนบ้านภู ชั้นบนเป็นที่จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งถือเป็นพันธกิจหนึ่งของศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชบ้านภู และส่วนที่สามเป็นเวทีแสดงด้านวัฒนธรรม ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นเวทีในร่วมและลานวัฒนธรรม
นอกจากนี้ ภายในวัดศรีนันทารามซึ่งอยู่ติดกับศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านภู ยังมีสิมเก่าหรือโบสถ์เก่า ซึ่งเป็นงานฝีมือช่างญวน โดยเป็นการร่วมแรงร่วมใจและร่วมมือกันก่อสร้างชาวผู้ไทบ้านภู เมื่อ พ.ศ. 2449 โดยด้านในได้ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ซึ่งที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวผู้ไทบ้านภูอีกด้วย
ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านภูมีความสำคัญกับชุมชนบ้านภูมาก เพราะเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงข้อมูลของหมู่บ้าน ข้อมูลกลุ่มองค์กรชุมชน แผนชุมชน องค์ความรู้ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนั้น ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านภู ยังเป็นศูนย์กลางที่คนในชุมชนเข้ามาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ตลอดจนเป็นสถานที่เชื่อมโยงการทำงานระหว่างกลุ่มองค์กรชุมชนบ้านภู เป็นอาคารสำหรับต้อนรับและให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวที่มาทัศนศึกษาดูงาน จึงได้มีการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนที่สมบูรณ์แบบ
ภาษาภูไท เป็นภาษาพูดของชาวภูไท (บางครั้งเรียกกว่า ผู้ไท) เป็นภาษาในภาษากลุ่มตระกูลไต-กะได (Tai–Kadai) ไม่มีอักษรของตนเอง การเขียนตัวอักษรชาวภูไทจึงมีการประยุกต์วิธีการเขียนของชาวลาว
ในหมู่บ้านมีการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาแก่เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส ร่วมกันระดมทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนบ้านภู และโรงเรียนพลังราษฎร์พิทยาสรรพ์ ได้ประสานขอรับการสนับสนุนเงินเพื่อปรับปรุงโรงอาหารโรงเรียนบ้านภู จากบริษัท SCG ประเทศไทย
ชาวบ้านมักส่งลูกหลานใหไปศึกษานอกพื้นที่ สาขาวิชาที่นิยมส่งลูกหลานไปเรียน คือ ครู เพราะต้องการให้ลูกหลานทำงานราชการ รองลงมาเป็น พยาบาล หมอ ปลัด จึงส่งผลให้ไม่มีวัยรุ่นหรือวัยกลางคนอยู่อาศัยในหมู่บ้าน เนื่องจากออกไปศึกษาและทำงานในพื้นที่อื่น ผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านจึงเป็นผู้สูงอายุและเด็กอนุบาล ประถม มัธยม
ชุมชนคุณธรรมบ้านภู จังหวัดมุกดาหาร
บ้านภู ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาและทิวทัศน์ที่สวยงาม (ซึ่งคล้ายกับฟูเขาไฟฟูจิ ในประเทศญี่ปุ่น) อากาศสดชื่นบริสุทธิ์ มีผืนป่าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธรรมชาติอันเป็นแหล่งอาหารของชุมชน และแหล่งต้นน้ำลำธารเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต โดยเพาะปลูกข้าวและพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ราบโดยไม่ใช้สารเคมี คนในชุมชนจะนิยมปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือน
“ชาวบ้านภูสามัคคี สืบวิถีแบบพอเพียง เด่นชื่อเสียงศูนย์เรียนรู้ ฟื้นฟูวัฒนธรรมผู้ไท รักษ์ใส่ใจในพิพิธภัณฑ์ ภูสวรรค์ถิ่นรื่นรมย์ เที่ยวเพลินชมหมู่บ้านโฮมสเตย์” บ้านภู เป็นชุมชนชาติพันธุ์ผู้ไท ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นทางวัฒนธรรม ตั้งอยู่ทามกลางทิวทัศน์ภูเขาล้อมรอบ สิ่งแวดล้อมที่สวยงาม ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ใช้ชีวิตบนวิถีความพอเพียง และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงาม
วัดภูผาขาว (ถ้ำโส้ม)
วัดถ้ำภูผาขาวหรือวัดถ้ำโส้ม ชื่อเรียกที่เป็นภาษาภูไท เป็นวัดที่สร้างอยู่บนหน้าผาอันสูงชันของภูเขาอยู่ทางทิศตะวันตกของชุมชน เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีพระพุทธรูปแกะสลักจากหน้าผาเป็นพระประธานของวัดแห่งนี้ ซึ่งเจ้าอาวาสวัดและชาวบ้านภูบ้านเป้าร่วมกันสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ร่วมกันก่อสร้างถนนคอนกรีตขึ้นวัดปลูกสร้างอาคารที่ใช้เป็นกุฏิสงฆ์ และห้องพักสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมอีกด้วย ถือได้ว่าวัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนชาวบ้านภู และละแวกใกล้เคียง
วัดพุทธคีรี
เป็นวัดที่ตั้งอยู่ก่อนทางเข้าหมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินเขาบริเวณวัด มีสถานที่พักกางเต็นท์และมีจุดชมทัศนียภาพที่สวยงาม
จุดชมวิวบ้านภู
จุดชมวิวบ้านภู ตั้งอยู่บริเวณท้ายหมู่บ้าน เป็นที่ราบเชิงเขาเป็นแหล่งปลูกข้าวอินทรีย์ของชาวบ้าน เป็นสถานที่ชมทัศนียภาพของท้องทุ่งนาและสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของภูจ้อก้อ (ซึ่งจะคล้ายกับวิวของภูเขาไฟฟูจิประเทศญี่ปุ่น)ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เขียวขจีสลับกับสีฟ้าของท้องฟ้าอย่างสวยงาม
ฝายมีชีวิต
ตั้งอยู่บริเวณลำห้วยกระเบียน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและระบบนิเวศห้วยกระเบียน ซึ่งชุมชน เพื่อจะได้ชะลอน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่จะใช้ประโยชน์จากฝ่ายเหล่านี้เป็นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ยังทำให้เกิดความชุ่มชื้นในต้นน้ำของชุมชน และสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อป่าชุมชน
กิจกรรมการท่องเที่ยว
กิจกรรมต้อนรับนักท่องเที่ยวเมื่อนักท่องเที่ยวเข้า สู่ชุมชน (กรณีเป็นหมู่คณะ) บริเวณหน้าวัดศรีนันทาราม สื่อบุคคลและมัคคุเทศก์น้อยจะกล่าวต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยภาษาผู้ไท และร่วมกันคล้องพวงมาลัยให้กับนักท่องเที่ยว ตั้งขบวนและแห่กลองตุ้ม ฟ้อนรำและการแสดงวิถีชีวิตชาวบ้านภูให้กับนักท่องเที่ยวได้ชม พร้อมนำนักท่องเที่ยวเข้าสู่บริเวณ วัดเพื่อเข้าไปนมัสการขอพรพระใหญ่ในสิมเก่าวันศรีนันทาราม
กิจกรรมพาแลง
ศูนย์เรียนรู้บ้านภู เป็นกิจกรรมไฮไลท์ของชุมชนบ้านภู ซึ่งจะประกอบไปด้วย
- กิจกรรมบายศรีสู่ขวัญ นักท่องเที่ยวร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญตามรูปแบบของชาวภูไทยบ้านภู โดยได้นำใบตองมาเย็บเป็นบายศรีอย่างสวยงาม ที่ประดับด้วยดอกไม้ธูปเทียน ข้าวเหนียวนึ่ง สุรากลั่น ไข่ไก่ต้ม ไก่ต้มทั้งตัว ด้ายผูกข้อมือมีด้ายสายสิญจน์ ประกอบเป็น “พาขวัญ” โดยจะมีพราหมณ์เป็นผู้ ทำพิธีเรียกขวัญสร้างขวัญกำลังใจ และมีผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ทำการผูกข้อมือพร้อมอวยพรให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความอบอุ่น
- กิจกรรมการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมนักท่องเที่ยวร่วมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน จากกลุ่ม 3 วัยซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงดังกล่าว อาทิ การเต้นบาสโลป การแสดงวงโปงลาง การแสดงลงข่วงเข็นฝ้าย เป็นต้น
- การรับประทานอาหาร ในรูปพาแลง คือ เป็นขันโตกอาหารพื้นบ้านของบ้านภู พร้อมกับรับชมการแสดงของชุมชนไปพร้อม
กิจกรรมนุ่งซิ่น ปูสาดใส่บาตรตอนเช้า
หน้าวัดศรีนันทาราม เป็นกิจกรรมในตอนเช้ารุ่งอรุณ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสเสน่ห์ของชุมชน โดยการตักบาตรข้าวเหนียวบริเวณหน้าบ้านพักโฮมสเตย์หรือบริเวณหน้าวัดศรีนันทารามซึ่งจะได้รับบุญพร้อมสัมผัสอันบริสุทธิ์ของชุมชน
กิจกรรมประกอบอาหารพื้นบ้าน
บ้านพักโฮมสเตย์ นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกับเก็บผักพื้นบ้านในชุมชน อาทิ ผักหวาน กะหล่ำปลี พริก ข่า ตะไคร้ ชะอม เป็นต้น มาประกอบอาหาร อาทิ แกงผักหวาน อ่อมไก่ ตำแจ่ว (น้ำพริก) โดยจะมีคนชุมชนตามบ้านพักโฮมสเตย์เป็นผู้พาดำเนินการ ซึ่งในชุมชนบ้านภูทุกครัวเรือนจะนิยมปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ และนำผักเหล่านั้นมาประกอบอาหารให้กับนักท่องเที่ยวได้ชิมและลิ้มรสชาติเมนูอาหารพื้นบ้านตามฤดูกาลให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส
ปั่นจักรยานตามเส้นทางชมบรรยากาศรอบ ๆ รอบบ้านภู นักท่องเที่ยวปั่นจักรยานตามเส้นทางชมบรรยากาศ ภูเขา ทุ่งนาบริเวณรอบชุมชนบ้านภู พร้อมเรียนรู้ตามฐานการเรียนรู้ชุมชน โดยมีกลุ่มมัคคุเทศก์น้อยเป็นผู้ปั่นนำทางและเล่าประวัติสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้ชมและสัมผัส โดยเดินทางไปตามเส้นทาง
กิจกรรมทอผ้าและย้อมสีผ้าจากธรรมชาติ
ศูนย์เรียนรู้การทอผ้า นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้ภูมิปัญญาการทอผ้าและการย้อมผ้าจากธรรมชาติจากครูภูมิปัญญาของชุมชน
กระทรวงวัฒนธรรม. (2565). ชุมชนคุณธรรมบ้านภู ศูนย์การเรียนรู้บ้านภู. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566. จาก https://www2.m-culture.go.th/
ธัญชนก วงศ์หอม (2560). การออกแบบสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยว: กรณีศึกษา บ้านภูโฮมสเตย์ ตำบลบ้านเป้า อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). ผู้ไท. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566. จาก https://ethnic-groups.sac.or.th/
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหาร. (2563). ชุมชนคุณธรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านภู. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566. จาก https://www.facebook.com/
อีสานร้อยแปด. (2561). ภาษาภูไท. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566. จาก https://esan108.com/
Jk.tours. (2565). ชุมชนคุณธรรมบ้านภู จังหวัดมุกดาหาร. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566. จาก https://jk.tours/