Advance search

จากหมู่บ้านที่เคยหลับใหล สู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ท่ามกลางหุบเขาและธรรมชาติยอดนิยมของจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นฐาน เน้นย้ำความสำคัญ เปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้ควบคุมการพัฒนาด้วยตนเอง

หมู่ที่ 3
แม่กำปอง
ห้วยแก้ว
แม่ออน
เชียงใหม่
วิไลวรรณ เดชดอนบม
8 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
9 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
12 ก.พ. 2024
บ้านแม่กำปอง

ที่มาของชื่อ “บ้านแม่กำปอง” มาจากดอกไม้ชนิดหนึ่ง มีสีเหลือง-แดง ขึ้นตามบริเวณลำห้วย เรียกว่า ดอกกำปอง รวมกับมีแม่น้ำไหลผ่านหมู่บ้าน จึงรวมเรียกว่า แม่กำปอง


ชุมชนชนบท

จากหมู่บ้านที่เคยหลับใหล สู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ท่ามกลางหุบเขาและธรรมชาติยอดนิยมของจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นฐาน เน้นย้ำความสำคัญ เปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้ควบคุมการพัฒนาด้วยตนเอง

แม่กำปอง
หมู่ที่ 3
ห้วยแก้ว
แม่ออน
เชียงใหม่
50130
18.8654756
99.3491386
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว

บ้านแม่กําปอง เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่สันนิษฐานว่าก่อตั้งมาแล้วราวร้อยกว่าปี โดยพ่ออุ้ยปา กิ้งแก้ว ชาวบ้านดอกแดง จากอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นคนกลุ่มแรกที่เข้าอาศัยอยู่ในพื้นที่เพื่อทําสวนเมี่ยงหรือสวนชา เพราะคนล้านนานิยมบริโภคเมี่ยงกันจนเป็นวัฒนธรรม ด้วยความที่พื้นที่ดังกล่าวเหมาะแก่การเพาะปลูกเมี่ยง จึงมีพี่น้องของพ่ออุ้ยปาและผู้คนจากอำเภอดอยสะเก็ดบางส่วนอพยพโยกย้ายตามมา และตั้งบ้านเรือนบริเวณใกล้กับแหล่งน้ำซึ่งมีดอกไม้ป่าขนาดเล็กสีเหลือง-แดงขึ้นอยู่เป็นจํานวนมาก เรียกว่า ดอกกําปอง” ดังนั้น ชื่อของหมู่บ้านจึงได้เรียกตามชื่อของดอกไม้รวมกับแม่น้ำเป็น บ้านแม่กําปอง ในเวลาต่อมาได้มีกลุ่มชาติพันธุ์ขมุอพยพมาอยู่ร่วมด้วย เนื่องจากชาวขมุไม่มีที่ทํากิน จึงขึ้นมาประกอบอาชีพรับจ้างเก็บเมี่ยง เมื่อนานวันเข้าก็แต่งงานอยู่กับคนพื้นเมือง อยู่รวมกันเป็นครอบครัว และได้ร่วมแรงกันบุกเบิกที่ทํากินและลงหลักปักฐานที่บ้านแม่กำปองถาวร แต่ปัจจุบันคนขมุที่เป็นโดยเชื้อชาติในบ้านแม่กำปองนั้นจึงไม่มีแล้ว เนื่องจากเกิดการผสมผสานกลมกลืนกันทั้งสายเลือดและวัฒนธรรมกลายเป็นคนพื้นเมืองทั้งหมด

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านแม่กำปอง ตั้งอยู่ในตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ประมาณ 8.65 ตารางกิโลเมตร ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นภูเขา เนินเขา มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์เป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำลำธาร สภาพอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี มีอาณาเขตพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่ลาย หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยแก้ว

  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านแม่รวม หมู่ที่ 1 ตำบลอวนเหนือ

  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง

  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านธารทอง หมู่ที่ 8 ตำบลห้วยแก้ว

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านแม่กําปอง มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขาและพื้นที่ภูเขา ล้อมรอบไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ในเขตของป่าสงวนแม่ออนซึ่งเป็นต้นกําเนิดของแม่น้ำแม่ลาย แม่น้ำสายสําคัญของหมู่บ้าน โดยหมู่บ้านอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 เมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 50 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวอําเภอแม่ออนประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งสภาพทั่วไปของหมู่บ้านจะรายล้อมไปด้วยภูเขา ไร่ชา กาแฟ น้ำตก และ ทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์

สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศในพื้นที่บ้านแม่กำปอง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว แต่เนื่องจากบ้านแม่กำปองตั้งอยู่บนพื้นที่สูงในหุบเขา ทำให้สภาพอากาศที่เกิดขึ้นจริงมีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูหนาว โดยลักษณะภูมิอากาศโดยรวมของหมู่บ้านจะมีอากาศเย็นสบายตลอดในช่วงกลางวันอากาศไม่ร้อนมาก และในช่วงกลางคืนอุณหภูมิจะลดต่ำลงทําให้อากาศค่อนข้างเย็น ส่งผลให้หมู่บ้านแม่กําปองค่อนข้างเหมาะแก่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ข้อมูลประชากรตำบลห้วยแก้วจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านแม่กำปอง มีประชากรทั้งสิ้น 410 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 202 คน ประชากรหญิง 208 คน และจำนวนครัวเรือน 264 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ชีวิตความเป็นอยู่โดยทั่วไปของประชาชนในหมู่บ้านมีความเรียบง่าย ไม่แตกต่างจากสังคมพื้นราบมากนัก แต่มีลักษณะเด่นที่ยังคงอยู่ คือ มีลักษณะความสัมพันธ์แบบเครือญาติพี่น้องจากดอยสะเก็ดด้วยกัน และด้วยระยะเวลาในการก่อตั้งหมู่บ้านเพียงร้อยกว่าปี ซึ่งเป็นเวลาสองช่วงอายุคนเท่านั้น ความใกล้ชิดของระบบความสัมพันธ์ในชุมชนจึงมีความแน่นแฟ้น และมีความสําคัญต่อการจัดการโครงสร้างต่าง ๆ ในชุมชน โดยจะเป็นลักษณะของเครือญาติที่คอยให้ความช่วยเหลือกันจนเป็นลักษณะเด่นของชุมชน ประกอบกับโครงสร้างทางสังคมที่มีประชากรไม่มากนัก ทําให้ง่ายต่อการควบคุมให้อยู่ในแบบแผนวัฒนธรรมชุมชน โดยยังไม่ต้องมีกฎเกณฑ์จากสังคมภายนอกมาบังคับใช้ ในด้านความเชื่อชาวบ้านในบ้านแม่กําปองนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งในหมู่บ้านมีศูนย์รวมจิตใจเพียงแห่งเดียว คือ วัดคันธาพฤกษา ทําให้วัดและพระสงฆ์มีบทบาทสําคัญในการดําเนินกิจการงานต่าง ๆ ของชุมชนทั้งสถานที่การดําเนินงานและการจูงใจในการดําเนินกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นประเพณี งานบุญ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ในชุมชน ทําให้กิจการงานต่าง ๆ ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านมาด้วยดีตลอด (ชัยวิวัฒน์ ยางาม, 2553)

ประชากรในหมู่บ้านแม่กําปองจะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ชิดกันตามเนินเขา ติดกับลําห้วยและถนนเป็นหย่อมหรือกลุ่มบ้าน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ป๊อก หรือ ปาง แบ่งเป็น 6 ปาง ได้แก่ ปางกลาง ปางนอก ปางโตน ปางขอน ปางใน 1 และปางใน 2 ซึ่งแต่ละชื่อปาง มีที่มา คือ ปางกลาง ปางนอก ปางใน 1 และปางใน 2 เป็นการตั้งชื่อตามตําแหน่งป๊อกบ้าน แม้ปางกลางจะไม่ได้อยู่ตรงใจกลางของหมู่บ้าน แต่ก็เป็นจุดศูนย์กลางเริ่มต้นของการตั้งถิ่นฐานจึงได้ชื่อนี้ สําหรับปางขอนนั้นมีที่มาจากสมัยก่อนมีขอนไม้กองอยู่เป็นจํานวนมาก และส่วนชื่อปางโตนมีที่มาจากการมีบ้านตั้งอยู่เพียงหลังเดียวในตอนแรกที่ตั้งถิ่นฐาน (ฐิติ ฐิติจําเริญพร และคณะ, ม.ป.ป.) 

อาชีพหลักตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันของชาวบ้านแม่กําปอง คือ การเก็บใบเมี่ยง (ใบชา) บนยอดดอยมาขาย แต่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนจะหมดฤดูกาลเก็บใบเมี่ยง เนื่องจากไม่มีในเมี่ยงให้เก็บ อาชีพเสริมอื่น ๆ ที่ชาวบ้านแม่กำปองทำในช่วงนี้ คือ การผลิตเครื่องเรือนไม้ไผ่ การจักสาน การปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งเดิมสิ่งเหล่านี้เป็นการทําเพื่อใช้สอยในครัวเรือนเท่านั้นแต่ภายหลังได้กลายเป็นรายได้ทางเลือกของชาวบ้านช่วงว่างเว้นจากฤดูเก็บใบเมี่ยง นอกจากนี้ บ้านแม่กําปองยังได้การสนับสนุนจากโครงการหลวงตีนตกให้ปลูกกาแฟเป็นอาชีพเสริมอีกอย่างหนึ่ง และภายหลังบ้านแม่กำปองได้เปิดหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ใน พ.ศ. 2543 ส่งผลให้ประชาชนในหมู่บ้านเริ่มหันมาประกอบอาชีพค้าขายมากขึ้น ซึ่งชาวบ้านมีรายเฉลี่ยต่อคน 44,668.84 บาทต่อปี และรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 96,317.19 บาทต่อปี (สถิติรายได้ประชากรจากองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว ปี 2566)

ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ภายหลังพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทำให้บ้านแม่กำปองเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศรูปแบบโฮมสเตย์ เป็นชุมชนแห่งแรก ๆ ของประเทศไทยที่ดำเนินการจัดการท่องเที่ยวโดยการสร้างประสบการณ์ให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น เน้นการดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวด้วยแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวจากการบริหารจัดการของชุมชนของชุมชน เช่น วัดคันธาพฤกษา หรือวัดแม่กำปอง วัดเก่าแก่อายุเกือบ 100 ปี น้ำตกแม่กำปอง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก แหล่งพัฒนาอาชีพให้กับชาวบ้าน ส่งเสริมการเพาะเห็ดหอมและกาแฟให้เป็นอาชีพเสริมนอกเหนือจากการปลูกเมี่ยงเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีร้านค้า ร้านอาหาร และคาเฟ่เกิดขึ้นมากมาย เช่น ระเบียงวิวคาเฟ่ ที่ตั้งอยู่บนจุดสูงสุดของหมู่บ้าน มีบริการขายอาหาร กาแฟ และโฮมสเตย์ตกแต่งแบบง่าย ๆ สไตล์พื้นบ้านเข้ากับสภาพแวดล้อม ร้านสตรีตฟูดมากมายเรียงรายอยู่ริมสองฝั่งถนนทั้งไส้อั่ว ขนมไข่ป่าม หมูปิ้ง ไส้กรอก หมาล่า แหนมย่าง โค้กวุ้น ฯลฯ ร้านข้าวซอยกลอยใจ ร้านอาหารพื้นเมืองขนาดกะทัดรัด เอกลักษณ์คือการตกแต่งร้านด้วยถังหมักเมี่ยง ซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิตของชาวแม่กำปอง

นอกจากนี้ บ้านแม่กําปองยังมีบริการที่พักแบบโฮมสเตย์อยู่เป็นจํานวนมาก มีทั้งที่เป็นโฮมสเตย์ของชุมชน และโฮมสเตย์ของประชาชนในหมู่บ้าน โดยรูปแบบของโฮมสเตย์ภายในหมู่บ้านก็มีให้นักท่องเที่ยวเลือกได้หลากหลาย เช่น โฮมสเตย์ติดริมน้ำ โฮมสเตย์ที่ตั้งอยู่บนเนินเขา ซึ่งโฮมสเตย์ส่วนใหญ่จะกระจายตัวอยู่บริเวณถนนสายหลักของหมู่บ้าน นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงที่พักได้อย่างง่าย และยังทําให้สามารถเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวภายในหมู่บ้านได้อย่างสะดวก

อนึ่ง บ้านแม่กําปองมีกิจกรรมในแหล่งท่องเที่ยวที่ค่อนข้างหลากหลาย ที่จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน โดยกิจกรรมในแหล่งท่องเที่ยวภายในหมู่บ้านแม่กําปองส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เช่น กิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ กิจกรรมนวดแผนไทย กิจกรรมอบสมุนไพร กิจกรรมย่างแคร่ กิจกรรมบายศรีสู่ขวัญ กิจกรรมฟังดนตรีพื้นเมือง กิจกรรมชมการแสดงฟ้อนรํา กิจกรรมทําหมอนใบชา และในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ จะมีกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับกาแฟพันธุ์อาราบิก้าเพิ่มเข้ามา โดยเป็นกิจกรรมที่เรียนรู้ตั้งแต่การเก็บจนถึงการคั่วเมล็ดกาแฟ นอกจากนี้ ในช่วงหน้าฝนตั้งแต่เดือน พฤษภาคม-พฤศจิกายน ยังมีกิจกรรมเรียนรู้วิธีการทําเมี่ยงหรือใบชาหมัก ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนแม่กําปองอีกด้วย

บ้านแม่กําปองมีบริการกลุ่มไกด์ชุมชน สําหรับบริการนําเที่ยวภายในหมู่บ้าน เพื่ออํานวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาท่องเที่ยวสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติ หรือศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมของหมู่บ้าน โดยบริการกลุ่มไกด์ชุมชนของหมู่บ้านแม่กําปองมีรายละเอียดของการให้บริการ ดังนี้

  • เส้นทางที่ 1 : เส้นทางสัมผัสวิถีชีวิต คือ โปรแกรมการเดินเที่ยวชมหมู่บ้าน วัด โบสถ์กลางน้ำ น้ำตก ตาน้ำ และร้านกาแฟในหมู่บ้าน ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ค่าบริการกลุ่มละ 300 บาท

  • เส้นทางที่ 2 : เส้นทางเดินป่าลัดเลาะริมธาร คือ โปรแกรมการเดินเที่ยวป่าไปชมกิ่วฝิ่น ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง ค่าบริการกลุ่มละ 400 บาท

  • เส้นทางพิเศษ : ค้างคืนในป่า 2 วัน 1 คืน ค่าบริการ 1,500 บาทต่อไกด์ 1 คน

จากการพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ชาวบ้านจึงได้นำเอาภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ชุมชน เป็นหนึ่งในกลวิธีการดึงดูนักท่องเที่ยว โดยชาวบ้านแม่กำปองมีผลิตภัณฑ์ชุมชนมากมาย เช่น

1) หมอนสมุนไพรใบชา เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ คือ ใบเมี่ยง หรือใบชา ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาอบเป็นสมุนไพรเพื่อทำเป็นหมอนใบชารูปแบบต่าง ๆ มีคุณสมบัติช่วยผ่อนคลาย ทำให้รู้สึกสดชื่น ช่วยดับกลิ่นอับ และมีกลิ่นหอมอย่างธรรมชาติ

2) กาแฟอาราบิก้า เป็นการแปรรูปเมล็ดกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าโดยคัดเมล็ดกาแฟสดจำหน่ายเป็นกาแฟสดคั่วบดให้มีกลิ่นหอม ได้รสชาติกาแฟอาราบิก้าแท้ 100%

3) ผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่ เช่น ตะกร้า หมวก และเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้

4) ไม้ดอก ไม้ประดับ เช่น ดอกเอื้องดิน ดอกกล้วยไม้นานาชนิด

5) สมุนไพรพื้นบ้าน (ยาเมือง) ลูกประคบ และน้ำผึ้งธรรมชาติ

6) บริการนวดแผนโบราณ

ชาวบ้านในชุมชนแม่กำปองทุกคนนับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อในการเวียนว่ายตายเกิดโดยเชื่อว่าการทำบุญประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ การทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นในช่วงที่ตนมีชีวิตอยู่จะส่งผลให้ตนได้รับความสุขความสบาย มั่งมีทรัพย์สินเงินทองในชาติหน้า ประกอบกับบ้านแม่กำปองมีลักษณะเป็นสังคมชนบท ประเพณี พิธีกรรม และวัฒนธรรมพื้นถิ่นยังคงมีบทบาทและสำคัญอย่างมากในวิถีชีวิต เช่น ประเพณี 12 เดือน การถวายทานต้นเงินเดือนยี่เป็ง การฮ้องขวัญ การฟ้อน งานปอยหลวงต่าง ๆ วันปีใหม่เมือง วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ฯลฯ

ประเพณี 12 เดือน

  • เดือนมกราคม ประเพณีตานข้าวใหม่หรือประเพณีสี่เป็ง (วันขึ้น 15 ค่ำ) ประเพณีนี้เป็นการทําบุญตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่าหากได้ตาน (ถวาย) ข้าวที่เพิ่งเสร็จจากการเก็บเกี่ยวให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ และการถวายข้าวใหม่แด่พระสงฆ์ก็ถือเป็นสิริมงคลแก่ตนเองครอบครัว

  • เดือนเมษายน ประเพณีสงกรานต์หรือปีใหม่ มีการรดน้ำดําหัวผู้ใหญ่และทําบุญตักบาตร

  • เดือนพฤษภาคม พิธีบวชป่า สืบชะตาลําน้ำต่าง

  • เดือนมิถุนายน การเลี้ยงผีเสื้อบ้าน และผีเสื้อวัด

  • เดือนกรกฎาคม ประเพณีการแห่เทียนพรรษา จัดถวายต้นเทียนและผ้าอาบน้าฝน

  • เดือนกันยายน (สิบสองเป็ง มีประเพณีตานก๋วยสลาก คือ การทําบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และการตาน (ให้ทาน) เจดีย์ทราย คือ การก่อกองทรายภายในวัด เหมือนช่วงเทศกาลปีใหม่เมืองหรือเทศกาลสงกรานต์

  • เดือนพฤศจิกายน ประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทง และในช่วงนี้ก็จะมีการทอดกฐิน มีกิจกรรมฟังเทศน์ฟังธรรม พิธีกรรมเข้าวงกต หรือการเข้าไปเดินในแนวเขตล้อมผ้าที่ทางวัดจัดทําขึ้นเป็นทางเดินปริศนาธรรม หากผู้ใดหาทางออกได้ก็จะถือว่าเป็นผู้ที่มีศีล สมาธิ พิธีกรรมนี้จะทําอยู่ 3 วัน และกําหนดทําขึ้น 3 ปีต่อครั้ง

การฮ้องขวัญ (ร้องขวัญ) นิยมทําเวลาที่มีผู้เจ็บไข้ได้ป่วย จะทําการฮ้องหรือเรียกขวัญ เพื่อเป็นการเรียกขวัญกลับมา แต่ปัจจุบันเริ่มมีการบายศรีสู่ขวัญแบบชาวอีสาน โดยมีวัตถุประสงค์อื่นเพิ่มเติมจากเดิม คือ ทําขึ้นเพื่อเป็นกิจกรรมหนึ่งในการจัดการการท่องเที่ยวใช้สําหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังชุมชนบ้านแม่กําปอง โดยเพิ่มคําอธิบายความหมายในพิธีให้นักท่องเที่ยวฟังเกี่ยวกับฝ้ายที่นํามาใช้มัดข้อมือว่ามีความสําคัญอย่างไรจึงต้องบายศรีสู่ขวัญ

การฟ้อน การฟ้อนแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนนิยมนํามาฟ้อนในงานประเพณีปอยหลวง ได้แก่ ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนเล็บ ฟ้อนจ้อง ฟ้อนเทพบันเทิง

งานปอยหลวง การทําบุญเฉลิมฉลองเมื่อวัดมีการสร้างศาสนสถานต่าง ๆ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาถิ่นเหนือ (ภาษาถิ่นพายัพ หรือคำเมือง)

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


พัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านแม่กำปอง

บ้านแม่กำปอง เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 100 ปี ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากอำเภอดอยสะเก็ด บ้านแม่กำปอง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 เมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 50 กิโลเมตร มีลักษณะการตั้งบ้านเรือนเรียงรายในหุบเขาและสองฝั่งของลำห้วย สภาพทั่วไปของชุมชนรายล้อมไปด้วยภูเขา มีไร่ชา กาแฟ มีน้ำตกและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ (ดอยม่อนล้าน) รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมานี้เป็นจุดเริ่มของการพัฒนาบ้านแม่กำปองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศบ้านแม่กำปองดังเช่นปัจจุบัน เริ่มต้นจากผู้นำชุมชนมีแนวคิดที่อยากจะพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยใช้ทรัพยากรชุมชนเป็นฐานในการพัฒนา การท่องเที่ยวบ้านแม่กำปองจึงได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2543 ได้มีการเปิดหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและให้บริการบ้านพักโฮมสเตย์ เน้นย้ำความสำคัญของชุมชนท้องถิ่นและเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นได้ควบคุมการพัฒนาและการจัดการภายในชุมชน เพื่อให้แน่ใจว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะถึงมือคนในชุมชน เป็นเหตุที่ชาวบ้านหลายคนยอมเปิดบ้านของตนเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้หลับนอนและรับประทานอาหารกับเจ้าของบ้าน และเรียนรู้ถึงชีวิตในชุมชนชนบทจากประสบการณ์ตรง ซึ่งอาจรวมไปถึงการเยี่ยมชมไร่ชา ไร่กาแฟ และเรียนรู้วิถีชีวิตของคนท้องถิ่น

ปัจจุบัน ในยุคที่กระแสการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอนุรักษ์ สัมผัสบรรยากาศและวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นกำลังได้รับความนิยม ส่งผลให้ปรากฏการณ์ด้านการท่องเที่ยวของบ้านแม่กำปองยิ่งทวีความโด่งดัง ทำให้บ้านแม่กำปองกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศความเป็นธรรมชาติ 

พ.ศ. 2549 บ้านแม่กำปองได้รับรางวัลหมู่บ้านหัตถกรรมเพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village Champion: OVC) รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Tourism) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง (อยู่ เย็น เป็นสุข) ต่อมาใน พ.ศ. 2550 ได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว พ.ศ. 2553 บ้านแม่กำปองยังได้รับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวโฮมสเตย์อาเซียน (ASEAN Home stay 2010) และรางวัล Gold Award ประเภท Culture (สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม) โดยสมาคมท่องเที่ยวภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (PATA) และใน พ.ศ. 2555 ได้รับรางวัล Lonely Planet และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย รวมทั้งมีการเข้ามาของภาคธุรกิจที่ให้บริการกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงผจญภัย เป็นผลให้หมู่บ้านแม่กำปองมีชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว และการเกิดขึ้นของธุรกิจบริการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เช่น บ้านพัก ร้านอาหาร นับได้ว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนแม่กำปอง ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในระดับประเทศเท่านั้นยังได้รับผลตอบรับเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติด้วย 

ชัยวิวัฒน์ ยางาม. (2553). ผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อชุมชนบ้านแม่กำปอง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ฐิติ ฐิติจําเริญพร และคณะ. (ม.ป.ป.). การจัดการขีดความสามารถการรองรับของพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านแม่กำปอง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ระยะที่ 1. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.

นพรดา คำชื่นวงศ์. (2564). กว่าจะมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแม่กำปอง. สืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://researchcafe.tsri.or.th/

บ้านแม่กำปอง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่. (2566). สืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/

พรมมินทร์ พวงมาลา และคณะ. (ม.ป.ป.). รูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบยั่งยืน บ้านแม่กำปอง หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค.

รัชฎาพร ปัญญาคำ. (2565). การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการาท่องเที่ยว หมู่บ้านแม่กำปอง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่. สารนิพนธ์การผังเมืองบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ร้านอาหารแม่กำปอง ร้านข้าวซอยกลอยใจ. (2566). สืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/

ออนวัลเลย์ ฟาร์มสเตย์. (ม.ป.ป.). หมู่บ้านแม่กำปอง. สืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.oonvalleyfarmstay.com/

Hashcorner. (ม.ป.ป.). รีวิว แม่กำปอง x เชียงใหม่ หมู่บ้านอบอุ่นในหุบเขา. สืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.hashcorner.com/

Paiduaykan. (ม.ป.ป.). แม่กำปอง 2567 12 จุดแวะเที่ยว พัก กิน อินธรรมชาติ. สืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.paiduaykan.com/

7greens. (ม.ป.ป.). แม่กำปอง – ต้นแบบแห่งความยั่งยืน. สืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://7greens.tourismthailand.org/