Advance search

บ้านลำปางกลางตะวันออก

ชุมชนประวัติศาสตร์เก่าแก่กับเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชุมชนที่น่าสนใจ ความสัมพันธ์ผู้คนกับวัดศูนย์รวมศรัทธา

หมู่ที่ 11
บ้านลำปางกลางตะวันออก
ชมพู
เมืองลำปาง
ลำปาง
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
12 ก.พ. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
12 ก.พ. 2024
บ้านลำปางกลางตะวันออก

ชุมชนบ้านลำปางกลาง สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าขายและการเดินทางในอดีต ต่อมาแม่น้ำวังมีการเปลี่ยนทางไหลของน้ำ ทำให้เกิดร่องน้ำไหลผ่านชุมชนจึงแยกชุมชนออกเป็น 2 ฝั่ง และตั้งชื่อว่าบ้านลำปางกลางตะวันออก และบ้านลำปางกลางตะวันตก


ชุมชนประวัติศาสตร์เก่าแก่กับเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชุมชนที่น่าสนใจ ความสัมพันธ์ผู้คนกับวัดศูนย์รวมศรัทธา

บ้านลำปางกลางตะวันออก
หมู่ที่ 11
ชมพู
เมืองลำปาง
ลำปาง
52100
เทศบาลเมืองเขลางค์นคร โทร. 0-5422-5967
18.23497583117134
99.42328915494076
เทศบาลเมืองเขลางค์นคร

ชุมชนบ้านลำปางกลางในอดีตก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับชุมชนบ้านลำปางหลวง ซึ่งบ้านลำปางหลวงเป็นเมืองหลวงของเมืองลำปางในสมัยนั้น มีการก่อตั้งโดยพระนางจามเทวีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 ชาวบ้านมักตั้งที่อยู่อาศัยบริเวณลุ่มแม่น้ำวัง ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 บ้านลำปางกลางเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าขายทางน้ำ มีการขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำวัง เพื่อไปยังบางกอก รวมถึงใช้ในการเดินทาง จึงมีการสันนิษฐานว่า ชื่อบ้านลำปางกลาง อาจสืบเนื่องมาจากการเป็นศูนย์กลางทางการค้าขาย และการเดินทางทางน้ำ โดยสมัยก่อนนั้นบ้านลำปางกลางมีอยู่ชื่อเดียว ไม่มีการแบ่งฝั่งตะวันตก และตะวันออก ต่อมาได้มีน้ำไหลผ่านมาจากดอยแม่ตาล เซาะเป็นร่องเล็กๆ จนเกิดเป็นร่องใหญ่ เมื่อเกิดน้ำไหลหลาก ทำให้แม่น้ำได้แบ่งเขตเป็นสองฝั่ง คือ ฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก จึงเกิดการแบ่งเขตเป็นบ้านลำปางกลางตะวันตก และบ้านลำปางกลางตะวันออก มาจนถึงปัจจุบัน หลังจากนั้นได้จัดตั้งชุมชนบ้านลำปางกลางตะวันออก เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2542 

ชุมชนบ้านลำปางกลางตะวันออก หมู่ที่ 11 ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มีพื้นที่ 2.16 ตารางกิโลเมตร ห่างจากอำเภอเมืองลำปางไปทางทิศใต้ประมาณ 12.80 กิโลเมตร ห่างจากศาลากลางจังหวัดลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 18.60 กิโลเมตร อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 268.60 เมตร ลักษณะภูมิประเทศมีสภาพทั่วไปเป็นที่ราบและราบลุ่มแม่น้ำ ชุมชนมีลักษณะเป็นชุมชนเมืองกึ่งชนบท มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ แม่น้ำวัง ชุมชนบ้านจอมเมือง หมู่ที่ 7 ตำบลชมพู และชุมชนบ้านแม่กืย หมู่ที่ 9 ตำบลปงแสนทอง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านศาลาดงลาน หมู่ที่ 1 ตำบลศาลา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ชุมชนบ้านจอมเมือง หมู่ที่ 7 ตำบลชมพู
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำวัง ชุมชนบ้านลำปางกลางตะวันตก หมู่ที่ 3 ตำบลปงแสนทอง และบ้านศาลาเม็ง หมู่ 9 ตำบลท่าผา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

ชุมชนบ้านลำปางกลางตะวันออก หมู่ที่ 11 ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 595 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรแบ่งเป็นชาย 692 คน และหญิง 779 คน รวมมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,471 คน

ชุมชนบ้านลำปางกลางตะวันออก หมู่ที่ 11 ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เป็นชุมชนขนาดใหญ่มีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ดังนี้

  • อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว จำนวน 70 ครัวเรือน
  • อาชีพ รับจ้างทั่วไป จำนวน 274 ครัวเรือน 
  • อาชีพ ทำนา จำนวน 9 ครัวเรือน 
  • อาชีพ ค้าขาย จำนวน 95 ครัวเรือน 
  • อาชีพ รับราชการ จำนวน 49 ครัวเรือน 
  • อาชีพ พนักงานบริษัท จำนวน 58 ครัวเรือน 
  • อาชีพ รัฐวิสาหกิจ จำนวน 18 ครัวเรือน 
  • อาชีพ อื่นๆ จำนวน 22 ครัวเรือน 

มีการรวมกลุ่มองค์กรทางสังคมในชุมชน ดังนี้

  • กลุ่มผู้สูงอายุชุมชนบ้านลำปางกลางตะวันออก
  • กลุ่มสตรี ชุมชนบ้านลำปางกลางตะวันออก
  • กลุ่ม อสม. ชุมชนบ้านลำปางกลางตะวันออก 
  • กลุ่ม L P K การเกษตร

ชุมชนบ้านลำปางกลางตะวันออก หมู่ที่ 11 ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มีวัดบ้านลำปางกลางตะวันออกเป็นศูนย์รวมศรัทธาชุมชน และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมทำให้เกิดความรักษาสามัคคีระหว่างสมาชิกภายในชุมชน โดยวัดบ้านลำปางกลางตะวันออกมีการจัดงานประเพณีสำคัญ ๆ ที่จัดขึ้นเป็นประจำในแต่ละรอบปี เช่น

  • สวดมนต์ข้ามปี ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
  • ประเพณีกฐินทาน (บุญกฐิน)
  • ประเพณีแห่โคมไฟ
  • ประเพณีสรงน้ำธาตุ วัดบ้านลำปางกลางตะวันออก
  • ประเพณีล่องสะเปา
  • งานตานเปรตพลี

นอกจากนี้วัดและชุมชนยังมีการจัดกิจกรรมสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน องค์กรภายนอกด้วย เช่น

  • โครงการธรรมสัญจร
  • การแจกผ้าห่อกันหนาว
  • การแจกสิ่งของเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ
  • ร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "สำรวจและอนุรักษ์งานพุทธศิลป์ เพื่อการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดลำปาง"

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนเศรษฐกิจ

  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้านฯ ชุมชนบ้านลำปางกลางตะวันออก
  • กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เครดิตยูเนี่ยนชุมชนบ้านลำปางกลางตะวันออก

ทุนวัฒนธรรม

  • วัดบ้านลำปางกลางตะวันออก

ทุนกายภาพ

  • แม่น้ำวัง
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จุดแข็ง

  • มีแหล่งเงินทุนในชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้านฯ
  • มีการปลูกพืชผักสวนครัว ลดรายจ่ายในครอบครัวได้ 
  • มีร้านค้า สถานประกอบการ ในชุมชน

จุดอ่อน

  • ไม่มีการรวมกลุ่มด้านอาชีพของประชาชนภายในชุมชน
  • ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ว่างงาน ไม่มีอาชีพเสริม

จุดแข็ง

  • มีงานประเพณี รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุเป็นประจำทุกปี
  • ประชาชนให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมวันสำคัญต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
  • ประชาชนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีน้ำใจซึ่งกันและกัน
  • ครอบครัวส่วนใหญ่มีการออม และการประกันชีวิต ประกันสังคม 
  • ชาวบ้านช่วยกันสอดส่องดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

จุดอ่อน

  • ไม่มีกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ
  • เด็กวัยรุ่นไม่สนใจวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน
  • มีจุดล่อแหลมมีวัยรุ่นมั่วสุม (ริมแม่น้ำวัง) 
  • ไม่มีกล้องวงจรปิดภายในชุมชน


จุดแข็ง

  • มีไฟฟ้าส่องสว่างในจุดที่มีความเสี่ยงต่ออันตราย
  • มีระบบสาธารณูปโภค

จุดอ่อน

  • ถนนและระบบระบายน้ำภายในชุมชนชำรุด 

จุดแข็ง

  • สภาพพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูก 
  • มีภูมิปัญญาท้องถิ่นทำเกษตรปลอดสารเคมี

จุดอ่อน

  • มีการเผาทำลายขยะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ 
  • ไม่มีต้นไม้ใหญ่ทำให้ขาดความร่มรื่นบริเวณริมทาง และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจไม่เพียงพอ 

วัดลำปางกลาง (ตะวันออก)

ประวัติวัดลำปางกลางตะวันออก เป็นชุมชนโบราณที่ตั้งขึ้นติดยาวริมฝั่งแม่น้ำวังฟากตะวันออก ไม่ปรากฏหลักฐานก่อตั้งชุมชน หรือตั้งวัด ตามหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรได้กล่าวบันทึกว่า วัดลำปางกลางสร้างเมื่อปี 2263 ตั้งอยู่ เลขที่ 355 หมู่ที่ 11 ตำบลชมพู อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี 2502 มีพื้นที่ของวัดจำนวน 4 ไร่ 3 งาน ในอดีตเป็นหมู่บ้านศูนย์กลางการค้าขาย

จากคำบอกเล่า เดิมทีลำปางกลางฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก มีวัดเดิมอาศัยร่วมกันคือ วัดดอกพร้าว ต่อมาแม่น้ำวังได้เปลี่ยนทิศ ทำให้แม่น้ำวังได้กัดเซาะตลิ่งพังจนถึงเขตวัดดอกพร้าว พระสงฆ์และผู้คนในสมัยนั้นจึงได้แยกย้ายไปสร้างวัดใหม่ อีกฝั่งหนึ่งของทางวัดดอกพร้าว ได้ตั้งชื่อวัดลำปางกลาง ในยุคสมัยของครูบาเจ้ามณีวรรณ เขียนธรรมไว้ จะเขียนกล่าวเพียงชื่อวัดลำปางกลาง หางเมืองนคร ตามจารึกในท้ายธรรม หลายๆ ผูก กล่าวชื่อวัด เช่น "ศัพท์สูตรบั้ง ลิขิตเมื่ออยู่ ลำปางคะมัชฌะ คามะวาสี เมืองนคร ไชยบุรี แล มณีวรรณโณ ภิกขุ ลิขิตไว้ เมื่อ จ.ศ 1188 แล" และยังมี หลายผูกกล่าว เช่น เวสสันตะระรอม ฉบับหนองควายเชียงใหม่ ธัมมะปัญญาสามเณร เขียน เมื่อ จ.ศ. 1189 ตรงกับ พ.ศ. 2370 "เมื่ออยู่ปฏิบัติ ครูบาหลวงมณีวรรณ ลำปางกลางแก้วกว้างท่าข้ามกลางเมืองวันนั้นแล" และอีกผูกหนึ่งเขียน พุฒิมา ภิกขุ เขียน มิลินทะปัญหา จ.ศ. 1174 พ.ศ. 2355 "ข้าเขียน เมื่องครั้งปฏิบัติ ครูบาเจ้ามณีวรรณ ลำปางกลางแก้วกว้าง ท่าข้ามแล" และ ธรรมราช ภิกขุ ลิขิตใน จ.ศ. 1239 "ปางเมื่อปฏิบัติ ครูบาราชครูเจ้าหลวงมณีวรรณ ลำปางกลาง ท่าข้าม นครไชยบุรี" (วัดดอกพร้าวเดิม อยู่ในเขตบ้านลำปางกลางตะวันตก ปัจจุบันมียังมีศาลและต้นโพธิ์อยู่) วัดลำปางกลางในอดีต ได้เริ่มก่อสร้างวิหารหลังแรกในยุคครูบาเจ้า มณีวรรรณ และพระประธานในวิหาร โดยเป็นวิหารโล่งแบบพระธาตุลำปางหลวง ปัจจุบันยังเหลือวิหารน้อยจำลอง ต่อมาได้มีการรื้อถอน วิหารหลังเดิมในยุคของครูบากันทะวงศ์ (ตี้) หลังจากครูบากันทะวงศ์ มรณภาพ ในปี 2484 ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ครูบาเจ้าอภิชัย ขาวปี มาก่อสร้างให้แล้วเสร็จ โดยใช้งบประมาณสร้าง 500 บาท ในสมัยนั้น ปัจจุบันยังคงเหลือ นาคฑัณ วิหารหลังเดิมยุค ครูบาเจ้ามณีวรรณคงเหลืออยู่ ต่อมาในปี 2515 ได้ทำการรื้อถอนพระวิหารหลังเดิม โดยพระครูวิสาลกิตติคุณ (ศรีนวล กิตติวัณโณ) เป็นประธานนำสร้าง มีหลวงพ่อเกษม เขมโก และหลวงพ่อเมือง อุตโม วัดท่าแหน เป็นผู้อุปถัมภ์ และชาวบ้านร่วมกันอุปถัมภ์ และได้ทำการฉลองผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2523

ลำดับการปกครองคณะสงฆ์

ในยุคแรกการก่อตั้งวัดลำปางกลางตะวันออก ระบบการปกครองคณะสงฆ์ในอดีตเป็นระบบหัวเมืองในล้านนา กล่าวคือ แต่ละหัวเมืองจะมีพระมหาเถระได้รับการยกย่องสถาปานาขึ้นเป็น สังฆะราชาหัวเมือง และราชครูเมือง ในอดีตรวมทั้งพระสายป่า อรัญญวาสี และคามวาสีสายบ้าน และในช่วงเวลานั้นได้ปรากฏคือ ครูสืบสายในลำปางมาแต่อดีต เช่น ครูบาสังฆะราชา นาระทะ วัดพระธาตุลำปางหลวง ครูบาสมเด็จวังช้าง วัดบ้านหลุก ครูบามหาป่าสุริยาสังฆะราชา วัดป่าตันกุมเมือง ครูบามหาเถรเจ้าหลวง ญาณสมุทร วัดศาลาหลวง ครูบาสังฆราชาจินา วัดแสงเมืองมา ครูบามหาป่าเจ้าเทวะ วัดท่าผา ครูบามหาราชครูเจ้ามณีวรรณ วัดลำปางกลางตะวันออก ครูบามหาราชครูหลวงคัมภีระ วัดชมพูหลวง โดยได้รับบันทึกครูบาแต่ละท่านที่กล่าวถึงนั้น สืบสายมาจากครูบาเก๊า คือ ครูบามหาป่าเจ้าเกสระปัญโญ เสลารัญญะวาสี ครูบาแห่งวัดไหล่หินหลวง ซึ่งเป็นบรมครูในสายวัตรปฏิบัติแห่งคณะสงฆ์เมืองลำปางในสมัยโบราณ และสืบทอดมามาจนถึงครูบาอาโนชัย

1.ครูบามหาราชครูเจ้ามณีวรรณ จาการสำรวจคัมภีร์ใบลานของวัดลำปางกลางนั้น น่าจะเป็นปฐมเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดลำปางกลางตะวันออก ปรากฏนามของท่าน ตั้งแต่ปี 2340 ถึง 2422 ในบันทึกท้ายลานจะเป็นการยกย่อง ครูบาเจ้าตลอดเสมอมา เช่น "มโหสถชาดกผูกนี้ ตัวบ่องามสักน้อย ข้าเขียนป๋างเมือปฏิบัติครูบาหลวงเจ้ามณีวัณ วัดลำปางกลาง แลนายเหย และเทพรังสี ภิกขุ" ลิขิต จ.ศ. 1233 พ.ศ. 2414 "ค้ำชู ครูบาเจ้ามณีวรรณ ป๋างเมื่อเข้าปาริวาสกัม กับครูบาเจ้าวันนั้นแล ครูบาจะใช้คำนำหน้า ของตัวเองคือ มณีวัณรัสสะ ภิกขุ" เช่น จ.ศ. 1185 พ.ศ. 2366 "เขียนกองวิปัสสนากัมมัฐฐานขึ้นป๋าง เมื่อ เข้าปริวาสกรรม วัดป่าตันกุมเมือง ในปีสร้างพระธาตุวัดป่าตันกุมเมือง ร่วมกับ ครูบาญาณสมุทร วัดศาลาหลวง ครูบามหาป่าเทวะ วัดท่าผา ครูบามหาป่าสุริยา วัดป่าตันกุมเมือง ครูบาได้รับยกย่องเป็นราชครู เมืองลำปาง" โดยการบันทึกกล่าวถึง พระครูศรีวิลาสวชิรปัญญา วัดราชคฤห จังหวัดพะเยา ได้กล่าวว่า ครูบาโน วัดปงสนุก ได้บอกครูกัมมัฐฐาน สืบต่อกันมา ตามลำดับ ครูบามหาป่าเทวะ วัดท่าผา ครูบาราชครูหลวงมณีวรรณ วัดลำปางกลาง ครูบาปินตา วัดนาก่วมใต้ ครูบาชินา วัดแสงเมืองมา ครูบาปัญญา วัดศรีล้อม ครูบาอโนชัยจินดามุนี วัดปงสนุกเหนือ จนถึง พระครูศรีวิลาสวชิระปัญญา วัดราชคฤห เมือง พะเยา ในยุคสมัยครูบา มีลูกศิษย์ หลายรูป ที่เข้ามาเรียนบาลีเมือง วิปัสสนา กองกัมมัฐฐาน เช่น ครูบาไชยลังกา ครูบาธัมมะลังกา วัดนาคตหลวงเป็นต้น ครูบาน่าจะมีอายุยืน พอสมควร โดยบันทึกท้ายธรรมจนถึง พ.ศ. 2422 ที่กล่าวถึงครูบามณีวรรณในอดีต เจ้าหลวงลำปางอุปถัมภ์ โดยให้ความเคารพครูบา เจ้าหลวงแวะไปนมัสการพระธาตุลำปางหลวง จะเสด็จลงมาไหว้ ครูบาเสมอ ในยุคของครูบามณีวรรณเป็นยุคปราชญ์ในล้านนา เกี่ยวกับวิปัสสนากัมมัฐฐาน บาลีเมือง ในอดีต

2. ครูบาธรรมราช พ.ศ. 2425 ไม่ปรากฏจนถึงช่วงระยะเวลาไหน เข้ามาปกครองวัดสืบต่อจากครูบาเจ้ามณีวรรณ โดยการกล่าวถึง ครูบาไม่มากนัก เป็นช่วงระยะเวาลาอันสั้น เช่น ธรรมสังฆวัฒนะ สุริยา ภิกขุ ลิขิต ป่างเมือปฏิบัติสวาธุเจ้าธรรมราช วัดลำปางกลาง จ.ศ. 1243 พ.ศ. 2424 ปัจจุบัน ธรรมผูกนี้อยู่วัดพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดตาก โดยการคมนาคมทางเรือ การยืมธรรมไปเทศน์ ไปเขียนคัดลอกของคนใอดีต สำรวจโดยศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย สนั่น ธรรมธิ ปี พ.ศ. 2525 ครูบาปกครองวัดช่วงระยะเวลาอันสั้น

3. ครูบาเจ้าธนัญชัย (จันทร์) เป็นบุตรของพ่อเฒ่าตา แม่เฒ่ามูล เป็นหลานของพระยาไชยชนะ ครูบาปกครองวัดต่อจากครูบาธรรมราช ในช่วง พ.ศ. 2430 จนถึง พ.ศ. 2470 ครูบาได้ก่อสร้างหอธรรม หลังที่ 2 และได้นำพระธาตุที่ขุดได้จากพระธาตุเก่า มาเก็บรักษา และได้ก่อสร้างพระพุทธรูปไกรสรดอกไม้พันดวง เพื่อเป็นการอุทิศไว้ในพระพุทธศาสนา ในยุคสมัยนั้นมีการเขียนธรรมไว้จำนวนมาก ทั้งครูบาเขียนเอง หรือกลุ่มพระเณร และคณะศรัทธาปราชญ์เขียน คำชูยกยอครูบาหลายท่าน ยุคของครูบา มีพระภิกษุ สามเณร จำนวนมาก เช่น การบันทึก ธนัญชัยภิกขุ ลิขิต ป๋างเมื่ออายุครูบาได้ 74 ปี พ.ศ .2464 ปีนั้น อันเตวาสิก ภิกขุ มี 9 ต๋น เณร มี 24 ต๋น ธรรมป๋าระมีพันชั้น เขียนป๋างเมื่อปฎิบัตติ ครูบาเจ้าธนัญชัย วัดลลำปางกลางหล่ายวันออก เมืองนครไชย ที่น้ำไหลดั้นกำแพงและอิฐ ปีนี้น้ำแม่วังนองนักหลายได้ซัดกำแพงด้านนอก จมลงกับน้ำในปีนั้นแล ปี 2450 สอดคล้องกับคำบอกเล่าของลุงหน้อยมี กันทะมูล ว่าในอดีตวัดมีกำแพง 2 ชั้น ปัจจุบันอยู่กลางแม่น้ำวัง

4. ครูบาคันธวงศ์ หรือกันทวงศ์ (ตี้) ครูบาร่วมกับอันเตวาสิกในครูบาธนัญชัย ต่อมาครูบาธนัญชัยมรณภาพ จึงได้รับภาระเป็นเจ้าอาวาสสืบมา ครูบาเป็นลูกของพระยาสุภา หรือท้าวสุข บ้านศาลา ครูบาเป็นหมอยาสมุนไพร ทำยาธาตุต่างๆ มีผู้คนหลั่งไหลมารักษากับครูบามากในอดีต ได้สร้างศาลาบาตรข้างวิหารโฮงหลวง หลังที่ 2 ของวัด ครูบามรณะภาพ ในปี 2484 และได้ทำการประชุมเพลิง ที่เกาะกลางแม่น้ำวัง ในเดือน 3 ขึ้น 5 ค่ำ วัน 7 ไทย ปี 2485 ครูบาเป็นสหธรรมิกกับครูบาไชยวงศ์ วัดพรมพิราม หนามปู่ย่า แม่ทะ ตามบันทึกใบลานของวัด จ.ศ. 1288 ปีรวายยี เดือน 12 แรม 12 ค่ำ เวลายามกองงาย จึงเขียนแล้วแล เขียนธรรมผูกนี้ แล้งเต็มที ฝนกะบ่าตก น้ำแม่ปูนกะบ่านอง คนหนีไปอยู่เชียงแสน เชียงราย กะนักเต็มที และนายเหย

5. ตุ๊เจ้าคำ พระคำ มาจากเมืองน่าน เป็นช่วงระยะเวลาอันสั้น โดยการรบันทึกของ พ่อหนานมี เปาปวง ว่า เขียนธรรมผูกนี้ หื้อนางเฮือนแก้ว บ้านก้อม จ.ศ. 1307 พ.ศ. 2488 ปีนี้ ตุ๊เจ้าคำลุกจากเมืองน่าน มาอยู่ ลำปางกลางแล ตรงกับ ลุงหน้อยมี และ พ่อหนานขียน หื้อข้อมูล ว่า ตุ๊เจ้าคำ มาอยู่ได้ 2 ปี ลวดกลับเมืองน่าน ศรัทธาได้ลวดเป๊กตุ๊เจ้าเส้า จากเณรเป็นพระ (พ่อหนานเส้า แก้วปันกุล) ในปี 2490 พร้อมกับพ่อหนานจันทร์ แก้วแพร่

6. เจ้าอธิการเส้า อุตรธัมโม 2490 ถึง 2506 อดีตเจ้าคณะตำบลชมพู ต่อมาได้ลาสิกขามีครอบครัวอยู่บ้านฟ่อน ยุคสมัยพ่อหนานเส้าเป็นเจ้าอาวาสได้สร้างกำแพง และศาลาบาตร โรงเรียนอุตรธัมโม ประชาราษรังสรรค์ ถนนไปปากทางปัจจุบัน สุสานป่าช้า ในปัจจุบัน และโฮงหลวง โดยได้รับการอุปถัมภ์จากพ่อเลี้ยงบ่น แม่คำปัน ต้นประทุม พ่อหนานเขียนเล่าว่า การก่อสร้างวัด ยุคนั้นสบาย ขาดเหลือ พ่อเลี้ยงบ่น จะอุปถัมภ์ ดูแล เสมอ จึงทำให้เจริญรุ่งเรือง อีกยุคหนึ่ง ในสมัยนั้น ถึงขั้นที่ว่า ใช้เงินชั่ง แทน การนับแทน ให้วัด ในการก่อสร้าง

7. พระครูวิสาลกิตติคุณ (ศรีนวล กิตติวัณโณ) อดีตเจ้าคณะตำบลชมพู เขต 1 ได้รับ การแต่งตั้งดูแลแป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ปี 2506 ถึง ปี 2550 ได้ทำการก่อสร้าง ศาลา หอธรรมหลังปัจจุบัน พระวิหาร หลังปัจจุบัน หอระฆัง กุฎิสงฆ์ หลังปัจจุบัน ศาลาโรงครัว ห้องน้ำ ศาลาบาตร ได้ปกครองวัดมายาวนาน เรียบร้อยด้วยดีเสมอมา เป็นบุคคลสำคัญ ในชุมชน หมู่บ้าน ตุ๊ลุง ได้ถึง การมรณภาพ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 และทำการพระราชทานเพลิงศพ ลานหน้าวัด วัน ที่ 20 มกราคม 2551

8. เจ้าอธิการวรรณ สิกขาสโภ เจ้าคณะตำบลชมพูเขต 1 ได้รับดำรงตำแหน่ง ปกครองดูแลวัด ตั้งแต่ 2550 ถึง ปัจจุบัน

(สิกฺขาสโภ ภิกฺขุ : เรียบเรียง)

เทศบาลเมืองเขลางค์นคร. (2565). ชุมชนบ้านลำปางกลางตะวันออก ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง. เทศบาลเมืองเขลางค์นคร จังหวัดลำปาง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.kelangnakorn.go.th/kelang/

สิกฺขาสโภ ภิกฺขุ. (2566). ประวัติวัดลำปางกลาง (ตะวันออก). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.facebook.com/