บ้านหนองหัวหงอกกับเรื่องเล่าพื้นบ้านตำนานท้องถิ่นที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ภูมินามชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียงที่มีความน่าสนใจ
ตำนานเล่าว่ามีนายพรานคนหนึ่งออกล่าสัตว์ และยิงไปถูกวัวกระทิงตัวหนึ่งมันวิ่งเตลิดหนีไป นายพรานออกตามรอยวัวกระทิงอยู่หลายวันจนไปถึงหนองน้ำแห่งหนึ่งเห็นรอยกระทิงลงมากินน้ำ เมื่อมีชาวบ้านเดินผ่านมานายพรานจึงถามชาวบ้านว่าเห็นวัวกระทิงโดนยิงผ่านมาทางนี้ไหม ชาวบ้านที่รู้เรื่องจึงตอบไปว่า "ตามหาวัวมานานจนคนตามหัวปอหงอกก็ยังบ่อป่ะ" จึงได้เรียกหนองน้ำนั้นว่า "หนองหัวหงอก" และเมื่อมีการตั้งชุมชนในบริเวณนั้นจึงเรียกว่า "บ้านหนองหัวหงอก" มาจนถึงทุกวันนี้
บ้านหนองหัวหงอกกับเรื่องเล่าพื้นบ้านตำนานท้องถิ่นที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ภูมินามชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียงที่มีความน่าสนใจ
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าบอกว่าในสมัยก่อนมีนายพรานได้ล่าวัวที่หนองกระทิง และได้ยิงวัวกระทิงตัวหนึ่ง ปรากฏว่าวัวนั้นบาดเจ็บและได้หนีนายพรานไป นายพรานก็ได้ติดตามวัวมาจนถึงหนองและ หมู่บ้านกาดเมฆในปัจจุบัน สาเหตุที่เรียกว่าหนองและเพราะว่าบ้านกาดเมฆสมัยนั้นมีแต่ดินโคลนเป็นน้ำขังเฉอะแฉะ ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ม่าและแปนแตะ" เมื่อเห็นรอยวัวก็ติดตามมา จนพบคนเดินผ่านมาก็ได้ถามว่า “เห็นวัวที่บาดเจ็บผ่านมาทางนี้หรือไม่” คนผ่านทางตอบว่า “ยิงวัวที่หนองกระทิงติดตามมาหลายวัน ปานนี้วัวก็เฒ่าหมดแล้ว” จึงเรียกบ้านนั้นว่าบ้านหนองวัวเฒ่า นายพรานก็ติดตามต่อไปอีก จนถึงหนองไห้ห้า หรือหนองห้าปัจจุบัน ก็ยังไม่พบวัว แต่ก็ไม่ละความพยายามออกติดตามมาจนถึงหนองน้ำเห็นรอยเท้าวัวกระทิงลงกินน้ำที่หนองน้ำ มีคนผ่านมานายพรานก็ถามอีกว่าเห็นวัวโดนยิงผ่านมาทางนี้ไหม เพราะตนเห็นรอยเท้ามันลงกินน้ำที่นี่ คนที่ผ่านไปมาบริเวณนั้นรู้เรื่องจึงก็ตอบว่า “ตามหาวัวมานานจนคน ตามหัวปอหงอกก็ยังบ่อป่ะ” จึงเรียกหนองน้ำนั้นว่า “หนองหัวหงอก” และเมื่อมีหมู่บ้านเกิดขึ้นก็เรียกว่า “บ้านหนองหัวหงอก” จนถึงปัจจุบัน จากนั้นนายพรานก็ไปพบวัวที่ยิงไปยืนตายอยู่ที่หนองสายขาน ซึ่งอยู่เลยหนองหัวหงอกไปไม่ไกลนัก ซึ่งเป็นเรื่องเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าให้ลูกหลานฟังสืบทอดกันมาเกี่ยวกับประวัติของชุมชนบ้านหนองหัวหงอก และชุมชนบ้านหนองหัวหงอกได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2545
ชุมชนบ้านหนองหัวหงอก หมู่ที่ 9 ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มีพื้นที่ 2.53 ตารางกิโลเมตร ห่างจากอำเภอเมืองลำปาง ไปทางทิศใต้ ประมาณ 6.20 กิโลเมตร ห่างจากศาลากลางจังหวัดลำปาง ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 9.7 กิโลเมตร อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 268.60 เมตร ลักษณะภูมิประเทศ มีสภาพทั่วไปเป็นที่ราบ ชุมชนมีลักษณะเป็นชุมชนเมืองกึ่งชนบท มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ชุมชนบ้านกาดเมฆตะวันตก หมู่ที่ 5 ตำบลชมพู และชุมชนบ้านกาดเมฆตะวันออก หมู่ที่ 5 ตำบลชมพู
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ชุมชนบ้านหัวฝาย หมู่ที่ 4 ตำบลกล้วยแพะ และชุมชนบ้านกล้วยหลวง หมู่ที่ 1 ตำบลกล้วยแพะ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ชุมชนบ้านหนองวัวเฒ่า หมู่ที่ 7 ตำบลพระบาท และชุมชนบ้านหัวทุ่งสามัคคี หมู่ที่ 8 ตำบลพระบาท
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ชุมชนบ้านหนองยาง หมู่ 8 ตำบลชมพู
ชุมชนบ้านหนองหัวหงอก หมู่ที่ 9 ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 780 ครัวเรือน มีประชากรในชุมชนแบ่งเป็นชาย 471 คน และหญิง 562 คน มีประชากรรวมทั้งสิ้นจำนวน 1,033 คน
เนื่องจากชุมชนบ้านหนองหัวหงอก ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เป็นชุมชนขนาดใหญ่จึงมีการประกอบอาชีพที่แตกต่างกันออกไป และมีความหลากหลายของกุล่มอาชีพในแต่ละครัวเรือน ดังนี้
- อาชีพ รับจ้างทั่วไป จำนวน 468 ครัวเรือน
- อาชีพ ค้าขาย จำนวน 61 ครัวเรือน
- อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว จำนวน 72 ครัวเรือน
- อาชีพ รับราชการ จำนวน 29 ครัวเรือน
- อาชีพ พนักงานบริษัท จำนวน 58 ครัวเรือน
- อาชีพ ทำนา จำนวน 18 ครัวเรือน
- อาชีพ รัฐวิสาหกิจ จำนวน 31 ครัวเรือน
- อาชีพ อื่น ๆ จำนวน 43 ครัวเรือน
กลุ่มองค์กรทางสังคมของสมาชิกชุมชนบ้านหนองหัวหงอก ได้แก่
- กลุ่มผู้สูงอายุชุมชนบ้านหัวหงอก
- กลุ่มสตรีชุมชนบ้านหัวหงอก
- กลุ่ม อสม. ชุมชนบ้านหัวหงอก
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้านฯ ชุมชนบ้านหัวหงอก
ชุมชนบ้านหนองหัวหงอกมีวิถีวัฒนธรรมแบบชาวพื้นเมืองดั้งเดิม แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมเริ่มจางหาย ชุมชนจึงได้ร่วมกันจัดโครงการจัดงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดหนองหัวหงอก ชุมชนบ้านหนองหัวหงอก ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริม และถ่ายทอดขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น สร้างความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ ให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชนได้รับทราบ ตลอดจนเป็นการปลูกฝังให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการรักษาวัฒนธรรมอันดีงามและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของท้องถิ่นไว้แบบบูรณาการ
ทุนเศรษฐกิจ
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้านฯ ชุมชนบ้านหัวหงอก
ทุนกายภาพ
- คลองน้ำไหลผ่านชุมชน
- การประปาภูมิภาค/การประปาชุมชน
สถานที่สำคัญ
- วัดหนองหัวหงอก
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนบ้านฟ่อน
- ป้อมตำรวจ
จุดแข็ง
- มีร้านค้า สถานประกอบการ หอพัก เนื่องจากมีสถานศึกษา (มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง) เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ในพื้นที่
- มีแหล่งเงินทุนในชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้านฯ
จุดอ่อน
- ส่วนใหญ่ประชาชนมีอาชีพค้าขายรายได้ไม่ค่อยแน่นอน
- การประกอบอาชีพ ด้านเกษตรกรรมให้ผลผลิตต่อตกต่ำ
จุดแข็ง
- มีคณะกรรมการชุมชนที่เข้มแข็งสามารถบริการประชาชนภายในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว
- คณะกรรมการชุมชนสามารถให้ความร่วมมือกันในการดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาสภายในชุมชน
- กลุ่มต่าง ๆ ภายในชุมชนให้ความร่วมมือเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน
- มี อ.ส.ม. คอยให้บริการด้านสาธารณสุขให้กับประชาชนภายในชุมชน
- กลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ซึ่งได้รับการเรียนรู้ จากสถานศึกษา จึงไม่พบปัญหา จากกลุ่มเยาวชน
- ประชาชนภายในชุมชนมีความเอื้ออาทร และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
- คณะกรรมการชุมชนช่วยกันสอดส่องดูแลประชาชนในชุมชน
จุดอ่อน
- กลุ่มเยาวชนส่วนใหญ่ เป็นนักศึกษาซึ่งเป็นอยู่นอกพื้นที่
- ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอาย
จุดแข็ง
- มีระบบสาธารณูปโภค
- มีการคมนาคมสะดวก
- มีไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณจุดเสี่ยงในชุมชน
จุดอ่อน
- บางพื้นที่ในชุมชนยังไม่มีการขยายเขตไฟฟ้าถึง
- ถนนบางเส้นทางหรือบางซอยชำรุด
- บางซอยไม่มีระบบระบายน้ำ
- ถนนเรียบคลองชลประทานบางจุดยังไม่มีแผงกั้นขอบถนน
- ไม่มีกล้องวงจรปิดในบริเวณจุดเสี่ยงต่าง ๆ ของชุมชน
จุดแข็ง
- มีพื้นที่สาธารณะที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้
- มีแหล่งน้ำสาธารณะภายในชุมชน
จุดอ่อน
- สวนสาธารณะไม่ได้รับการพัฒนา (หนองหัวหงอก)
- ปัญหาเรื่องขยะในชุมชน
เทศบาลเมืองเขลางค์นคร. (2565). ชุมชนบ้านหนองหัวหงอก หมู่ที่ 9 ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.kelangnakorn.go.th/kelang/
เทศบาลเมืองเขลางค์นคร. (2566). ร่วมงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดหนองหัวหงอก ตำบลชมพู. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.kelangnakorn.go.th/kelang/