Advance search

บ้านกู้กูเป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานกว่าร้อยปี ในสมัยก่อนบ้านกู้กูมีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ติดกับทะเล มีป่าชายเลน มีคลองหลายสายที่สามารถออกสู่ทะเล ชาวจีนโพ้นทะเลใช้เป็นเส้นทางในการตั้งถิ่นฐานในจังหวัดภูเก็ต ทำให้เป็นย่านที่มีความสำคัญทางเศรษฐิจกระทั่งปัจจุบัน

หมู่ที่ 3
กู้กู
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
ขวัญจิต ศรีจำรัส
14 ก.ค. 2023
อัจจิมา หนูคง, สรวิชญ์ ชูมณี
30 ส.ค. 2023
จิรัชยา สีนวล
12 ก.พ. 2024
บ้านกู้กู

บ้านกู้กู เกิดจากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านที่มีฐานะค่อนข้างลำบาก ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นกลุ่มใด เพราะตามตำนานเล่าขานว่ามีหลายกระแส กระแสที่หนึ่ง คือ กลุ่มคนเป็นทาสที่ได้รับการปลดปล่อย กับกระแสที่สอง คือ ชาวบ้านไพร่พลยากจนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากที่อื่นและพบว่าบริเวณหมู่บ้านนี้มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งภูเขา แหล่งน้ำ ทะเล สามารถทำการเกษตร ปลูกผัก ยางพารา ทำนา นอกจากนี้มีการทำประมงชายฝั่งจับสัตว์น้ำโดยใช้เครื่องมือที่ทำขึ้น เช่น ใช้นางหากุ้ง ต่อมาก็มีการร่อนแร่ตามลำรางในสมัยของความรุ่งเรืองกิจการเหมืองแร่จนมีการเปรียบเทียบว่า ถ้าอยู่ที่กู้กูไม่ต้องซื้อกับข้าวเพียงหุงข้าวไว้แล้วออกไปหาอาหารกลับมาข้าวสุกได้กินพร้อมข้าวพอดี นั้นหมายถึงบริเวณใกล้ ๆ บ้านก็สามารถหาอาหารได้ง่ายไม่ลำบาก จนทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดี จึงกล่าวว่าพื้นดินแห่งนี้คือ แหล่งกู้กู และเรียกว่าหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านกู้กู"


บ้านกู้กูเป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานกว่าร้อยปี ในสมัยก่อนบ้านกู้กูมีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ติดกับทะเล มีป่าชายเลน มีคลองหลายสายที่สามารถออกสู่ทะเล ชาวจีนโพ้นทะเลใช้เป็นเส้นทางในการตั้งถิ่นฐานในจังหวัดภูเก็ต ทำให้เป็นย่านที่มีความสำคัญทางเศรษฐิจกระทั่งปัจจุบัน

กู้กู
หมู่ที่ 3
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
83000
7.908813626062704
98.39957616707588
เทศบาลตำบลรัษฎา

"บ้านกู้กู" ตั้งอยู่ในตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต บ้านกู้กูเป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานกว่า 100 ปี ในสมัยก่อนบ้านกู้กูเป็นป่าอุดมสมบูรณ์มีภูเขาติดทะเล มีป่าชายเลนที่มีคลองมากมาย หลายสายออกทะเลได้ และมีอยู่คลองหนึ่งที่ชาวจีนโพ้นทะเลใช้เป็นเส้นทางเข้ามาตั้งรกรากในจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันยังเรียกคลองนั้นว่า คลองท่าจีน ผู้คนที่อพยพเข้ามาอยู่ในระยะบุกเบิกจึงเป็นคนที่ยากจนดั้นด้นมาจากต่างจังหวัดหรือแผ่นดินใหญ่ เพื่อจับจองที่ดินทำกิน ด้วยทำเลที่ได้เปรียบดังทำเลทอง ผู้ที่ได้เข้ามาทำมาหากิน ในยุคแรกจึงเป็นผู้ที่มีความมานะอดทน ขยันไม่กลัวความยากลำบาก จึงประสบความสำเร็จสร้างหลักฐานได้อย่างมั่นคงจากผู้ที่มีฐานะยากจน กลายเป็นผู้ที่มั่งคั่ง ซึ่งเปรียบเสมือนการกู้ชีวิตของตนเองจากผู้ที่สิ้นไร้กลายเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จมีฐานะดี หมู่บ้านนี้จึงได้ถูกขนานนามว่า “บ้านกู้กู” (กู้ชื่อเสียง กู้ฐานะของตนเอง) ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ทางราชการได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้าน เช่น การทำผ้าบาติก การเป่าแก้ว ผักปลอดสารพิษ และการทำปุ๋ยชีวภาพ การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ การจักสาน รวมทั้งการสร้างโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป

จากเรื่องเล่าที่เล่าต่อ ๆ กันมา บ้านกู้กูเกิดจากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านที่ค่อนข้างลำบากยากจนไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากลุ่มใดเพราะตามตำนานเล่าขานมีสองความเห็น คือ หนึ่งกลุ่มคนเป็นทาสที่ได้รับการปลดปล่อย และความเห็นที่สอง คือ ชาวบ้านไพร่พลยากจนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากที่อื่น และพบว่าบริเวณหมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งภูเขา แหล่งน้ำ ทะเล สามารถทำการเกษตร ปลูกผัก ยางพารา ทำนา ซึ่งนาผืนสุดท้ายปัจจุบันคือ ไร่วานิช นอกจากนี้มีการทำประมงชายฝั่งดักจับสัตว์น้ำ โดยใช้เครื่องมือที่ทำขึ้น เช่น ใช้นางหากุ้ง ต่อมาก็มีการร่อนแร่ตามลำราง จากความอุดมสมบูรณ์ในหมู่บ้านขณะนั้นมีการเปรียบเทียบว่าถ้าอยู่ที่กู้กูไม่ต้องซื้อกับข้าวเพียงหุงข้าวไว้แล้วออกไปหาอาหารกลับมาข้าวสุกได้กินพร้อมข้าวพอดี นั้นหมายถึง บริเวณใกล้ ๆ บ้านก็สามารถหาอาหารได้ง่ายไม่ลำบาก จนทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดี จึงบอกว่าพื้นดินแห่งนี้คือ แหล่งกู้กู และเรียกว่าหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านกู้กู"

และอีกตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า กู้กู มาจากเสียงนกร้อง และรวมถึงเสียงของสัตว์ต่าง ๆ ยามกลางคืน ในอดีตบริเวณนี้มีป่าปกคลุมเป็นที่อาศัยของเสือ ชาวบ้านจึงเรียกแถวนี้ว่าบ้านกู้กู และในเวลากลางคืนจะได้ยินเสียงนกฮูกร้อง เป็นที่มาของชื่อ "บ้านกู้กู"

บ้านกู้กูตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จากตัวเมืองภูเก็ต ระยะห่างประมาณ 4 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 บ้านบางชีเหล้า
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เทศบาลนครภูเก็ต 
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 บ้านลักกงษี

ลักษณะภูมิประเทศ 

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับกับที่ราบ ทางทิศตะวันออกติดทะเลภูเก็ต คลองลัดเก่า คลองลัดใหม่ มีป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นกันชนระหว่างแผ่นดินใหญ่กับทะเล และยังเป็นที่ตั้งของที่ทำการเทศบาลตำบลรัษฎา โรงเรียนกู้กู และโรงเรียนเทศบาลตำบลรัษฎา

สภาพบ้านเรือนในชุมชนบ้านกู้กู

ชาวบ้านกู้กูโดยทั่ว ๆ ไป แบ่งออกได้สองลักษณะ อย่างแรกคือ แบบชาวบ้านดั้งเดิม บ้านเรือนแบบนี้จะถูกสร้างอย่างมั่นคงถาวร มีการจัดแบบบ้านและบริเวณบ้าน บริเวณสวนอย่างถูกลักษณะ เป็นครอบครัวใหญ่ อยู่กันอย่างพร้อมหน้าอย่างอบอุ่น ลักษณะที่สอง เป็นห้องแถวสำหรับผู้ที่มาเช่าอาศัย และบ้านจัดสรร

จากข้อมูลการสำรวจจำนวนประชากรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 ระบุจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านกู้กู รวมทั้งหมด 14,409 คน แบ่งเป็นประชากร ชาย 6,850 คน หญิง 7,599 คน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน คนในชุมชนส่วนใหญ่ อยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง เช่น ศูนย์พัฒนาต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้านกู้กู ศูนย์พัฒนาศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนกิ่งแก้วซอย 1 ชุมชนให้ความร่วมมือ สร้างสังคมเข้มแข็งได้ 

จีน

โครงสร้างองค์กรชุมชน 

ในปัจจุบันมีการเลือกตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารหมู่บ้านดังนี้

  • นายพนม เสาร์ทิพย์
  • นายพัฒนพงศ์ มีสุข
  • นายสนั่น จันทรพร้อย
  • นายวุฒิพงษ์ มิตตัสสะ
  • นางสาวขวัญใจ ทรัพย์ประเสริฐ
  • นายสวัสดิ์ กล่อมกล่ำนุ่ม
  • นางสาว สุวรรณี ประมวล
  • นายทรงกรด อิ่มจิตร
  • นายสุภาพ บู่ทอง
  • นายอรัญ จิตรว่องไว
  • นายสมพร ทองนาค

ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนบ้านกู้กู

  • ศูนย์พัฒนาต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้านกู้กู เป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านการจัดการเรื่องการเกษตร เกษตรชีวภาพ เครื่องจักสาน การใช้สีจากธรรมชาติ การทำเตาอีวาเตะเผาถ่าน ทำผ้าบาติกด้วยสีธรรมชาติส่งเสริมการปลูกดอกหน้าวัว เป็นต้น 
  • ศูนย์พัฒนาศักยภาพ ด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนกิ่งแก้วซอย 1 การจัดการขยะในชุมชนโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม คัดแยกขยะเพื่อนำขยะ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำน้ำมันทอดซ้ำที่ใช้แล้วมาใช้เป็นเชื้อเพลิงการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆเพื่อมอบให้แก่ บุคคลที่มีความต้องการในชุมชน ระบบโซล่าเซลล์ พลังงานทดแทน ในการขับเคลื่อนรถมอเตอร์ไซค์ นวัตกรรมเครื่องมือคัดแยกขยะ  เครื่องมือตัดวัสดุเหลือใช้ เช่นพลาสติก  ขวดแก้ว เพื่อกลับมาใช้อีกครั้ง เป็นต้น 

กลุ่มศรัทธา/ศาสนาและความเชื่อ

  • ชุมชนมีกิจกรรมร่วมกันในกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา โดยมีศาสนสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน ดังนี้ สำนักสงฆ์ชุมชนกิ่งแก้ว ตั้งอยู่ในชุมชนกิ่งแก้ว เลขที่ 49/1325 กิ่งแก้วซอย 5 ถนนรัษฎานุสรณ์ หมู่ที่ 3 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต, สำนักสงฆ์เขาโต๊ะแซะ ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 9 ซอยแม่กลิ่น หมู่ที่ 3 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต, วัดพิทักษ์สมณกิจ ตั้งอยู่ที่ 7/19 ถนนรัษฎา หมู่ที่ 3 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต จะสังเกตได้ว่าชุมชนหมู่ที่ 3 บ้านกู้กู ให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนา เช่น จะไปทำบุญปฏิบัติธรรมในวันธรรมสวนะและร่วมกิจกรรมวันสำคัญในช่วงเทศกาลและประเพณีต่าง ๆ เช่น เข้าพรรษา การทำบุญเดือนสิบ การชักพระและวันสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เป็นต้น

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรมมีการทำบุญตามประเพณี เช่น ทำบุญเดือนสิบทำบุญตักบาตร ประเพณี ตามเทศกาลวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ไหว้บรรพบุรุษ ประชาชนส่วนใหญ่ ยังยึดถือและปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ชาวพุทธ ปฏิบัติศาสนกิจที่วัด ส่วนชาวไทยมุสลิม ก็ปฏิบัติตามหลักศาสนาของตน ชาวไทยเชื่อสายจีนก็ยังสืบทอดประเพณีต่าง ๆ ตามความเชื่อจนถึงทุกวันนี้ 

ประเพณีทำบุญเดือนสิบ 

เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ตรงกับวันสิ้นเดือน 10 หรือ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวไทยพุทธจะนำอาหารไปถวายพระที่วัดจะทำกันสองช่วงคือ การทำบุญวันรับและทำบุญวันส่งบรรพบุรุษ โดยมีการนำอาหารไปทำบุญถวายพระอีกส่วนหนึ่งจะแบ่งนำออกมาวางไว้ด้านนอกวัดเพื่ออุทิศทานให้แก่บรรพบุรุษทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว 

ประเพณีกินผัก 

ภูเก็ตเดิมประเพณีกินผัก (เจี๊ยะฉ่าย) ที่ชาวบ้านและชาวจีนที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตเรียกกันว่า “เจี๊ยะฉ่าย” นั้น เป็นลัทธิเต๋าซึ่งนับถือบูชาเซียนเทวดา เทพเจ้า วีรบุรุษเป็นประเพณีที่คนจีนนับถือมาช้านาน ผสานกับความเชื่อในศาสนาอื่น ๆ อีกสองศาสนา นั่นคือ พระพุทธศาสนานิกายมหายาน และลัทธิขงจื๊อ โดยรวมเรียกกันว่า ส่ามก่า โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยน คำว่า “เจี๊ยะฉ่าย” (กินผัก) เป็นภาษาท้องถิ่น วันประกอบพิธีตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ (เก้าโง้ยโฉ่ยอีดถึงโฉ่ยเก้า) ตามปฏิทินจีนของทุก ๆ ปี ซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

เทศกาลสงกรานต์ 

ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี ในวันที่ 13 เมษายน ประชาชนในหมู่ที่ 3 บ้านกู้กูนิยมรดน้ำดำหัวให้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน ส่วนราชการเช่น เทศบาลตำบลรัษฎาคัดเลือกผู้สูงอายุที่ปฏิบัติตนดีเป็นที่เคารพของคนในชุมชน เชิญไปร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้น ณ ที่ทำการเทศบาลตำบลรัษฎา และมีการเชิญชวนส่วนราชการตลอดจนชาวบ้าน ไปร่วมกิจกรรมรดน้ำขอพรเป็นประจำทุกปี 

เทศกาลเชงเบ๋ง 

"เชงเบ๋ง" (ในสำเนียงภาษาฮกเกี้ยน) "เชง"หรือ"เช็ง" หมายถึง สะอาด บริสุทธิ์ และ "เบ๋ง" หมายถึง สว่าง รวมแล้วหมายความถึง ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์ ประเพณีที่สำคัญมากที่สุดของชาวไทยเชื้อสายจีน คือ ไหว้บรรพบุรุษที่สุสานหรือบ่องป้าย เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยมีอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อ ที่เน้นเรื่องความกตัญญูเป็นสำคัญ และชาวไทยเชื้อสายจีน ในจังหวัดภูเก็ต ก็ยังคงสืบทอดและปฏิบัติต่อมาจนถึงปัจจุบัน

1.นายจำรัส ภูมิภูถาวร เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2485 บิดาชื่อ นายอาฮ้าม ภูมิภูถาวร มารดาชื่อ นางจ๋าย แซ่อ๋อง (ภูมิภูถาวร) มีพี่น้อง 6 คน ชาย 4 คน หญิง 1 คน สมรสกับ นางอรุณ เพชรงาม (ภูมิภูถาวร) และมีบุตร 2 คน ชาย - คน หญิง 2 คน 

คติประจำใจนายจำรัส ภูมิภูถาวร "แป๊ะสุ่น เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" สร้างสุขภาพด้วยภูมิปัญญาเสริมคุณค่าให้ชุมชน

แรงบันดาลใจในการทำงาน แรงบันดาลใจในการทำงาน นายจำรัส ภูมิภูถาวร มีแรงบันดาลใจเนื่องจากชีวิตวัยเด็กจะเป็นคนใกล้ชิด กับแม่และยาย ได้เรียนรู้วิถีการเกษตร และได้สั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งในเรื่องการ เพาะปลูก การดูแลรักษาพืช การทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร การแปรรูปอาหาร จึงเกิดความชอบและพัฒนา ต่อยอดเรื่อย ๆ จนเป็นครูถ่ายทอดความรู้ของบุคคลหลาย ๆ คนและหน่วยงานต่าง ๆ 

บทบาทและความสำคัญในชุมชนบ้านกู้กู 

ผู้มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญในด้านการจัดการเรื่องการเกษตร มีความสามารถในการใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนให้เกิดระบบมากขึ้น โดยดำเนินการดังนี้ ปลูกผักเหมียง มะกอก (เก็บยอด) และมันปูเป็นการแสดงอาณาเขตรอบ ๆ พื้นที่ของตนเองประมาณ 200 ต้น ปลูกมะพร้าวน้ำหอมไว้บริเวณบ้านพักและตามทางเดิน บริเวณที่เป็นลุ่มได้ขุดสระน้ำขนาดเล็กไว้เลี้ยงปลาดุกและปลาหมอนา ในบ่อปลาหมอก็ทำเป็นแปลงอนุรักษ์พันธุ์กะเปก (หน่อไม้น้ำ) รอบ ๆ สระน้ำนำต้นสะเดามาปลูกไว้ บริเวณพื้นที่ทั่วไปในสวนมีการปลูกพืชสวนครัวแซม เช่น ข่า ตะไคร้ ขมิ้น พริก และอื่น ๆ 

ซึ่งพืชที่ปลูกเหล่านี้นอกจากใช้บริโภคในครัวเรือนแล้วยังจำหน่าย สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว นอกจากพืชผักแล้ว ปราชญ์จำรัส ยังปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เช่น หมากนวล หมากเหลือง ดาหลา เพื่อจำหน่ายให้กับร้านขายต้นไม้ สำหรับพื้นที่โล่งได้จัดแปลงปลูกพืชแบบไร้ดิน เพื่อเป็นฐานของการศึกษาเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตร พืชที่ปลูกเป็นผักสลัดจำพวกกรีนโอ๊คและเร็กเก็ต ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ รองรับธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตได้ด้วย 

นอกจากด้านการเกษตรแล้ว ปราชญ์จำรัสยังมีความเชี่ยวชาญในการนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร มาแปรรูปเป็นเครื่องจักสานและงานหัตถกรรม รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ ใช้ในครัวเรือน มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพซึ่งมีการบริหารแบบสหกรณ์ รวมทั้งเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการจัดการเกษตรแก่กลุ่มเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา ทั้งในและต่างจังหวัด

ประวัติชีวิตที่ผ่านมา

เป็นเกษตรกร ปลูกพืชผักแบบชีวภาพ และได้พัฒนานำดอกหน้าวัวมาเพาะปลูกต่อยอดในการเพาะปลูกพืช จำรัส ภูมิภูถาวร มีแรงบันดาลใจเนื่องจากชีวิตวัยเด็ก จะเป็นคนใกล้ชิด กับแม่และยาย ได้เรียนรู้วิถีการเกษตร ได้สั่งสมประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งในเรื่องการ เพาะปลูก การดูแลรักษาพืช การทำสมุนไพร การแปรรูปอาหาร จึงเกิดความชอบและพัฒนาต่อยอดเรื่อย ๆ จนเป็นครูถ่ายทอดความรู้ของบุคคลหลาย ๆ คนและหน่วยงานต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน

ตำแหน่งงานในชุมชน

  • อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2537
  • อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) 
  • กรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านกู้กู
  • กรรมการวัฒนธรรมตำบลรัษฎา 
  • กรรมการพัฒนาบทบาทสตรีตำบลรัษฎา
  • เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลรัษฎา 
  • คณะกรรมการโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้าน/ชุมชน (SML)
  • ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 6 สภาการศึกษาแห่งชาติ
  • ประธานที่ปรึกษาสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส.
  • ปราชญ์เพื่อความมั่นคง กอ.รมน. จังหวัดภูเก็ต
  • หมอดินอาสาระดับจังหวัดภูเก็ต สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดภูเก็ต 

รางวัลความภาคภูมิใจ

  • รางวัลเชิดชูเกียรติเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 6 ด้านเกษตรกรรมรางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 การประกวดผลการดำเนินงานของศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล
  • รางวัลผู้บำเพ็ญประโยชน์ให้การสนับสนุนต่อวัฒนธรรมของชาติ จากสำนักงาน วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  • รางวัลโล่เชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินดีเด่นจังหวัดภูเก็ต สาขาช่างฝีมือ ด้านเครื่องจักสาน
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดหน้าวัวพันธุ์เปลวเทียนภูเก็ต 
  • ประกาศเกียรติคุณเป็นหัวหน้ากลุ่มลูกค้าดีเด่น ผู้ช่วยเหลือกิจการ ธกส. ด้วยดีตลอดมา

2.นายชำนาญ ยอดแก้ว 

บทบาทและความสำคัญในชุมชนบ้านกู้กู

นายชำนาญ ยอดแก้ว ปราชญ์ ผู้มีองค์ความรู้ด้านการจักสาน เช่น ชะภูเก็ต (ตะกร้า) หมวกชาวนาภูเก็ต ซึ่งสืบทอดองค์ความรู้จาก นายจำรัส ภูมิภูถาวร ครูภูมิปัญญาไทยจังหวัดภูเก็ตด้านงานจักสานภูเก็ต ยกระดับผลิตภัณฑ์จักสานสร้างรายได้ให้กับกลุ่มอาชีพในชุมชนที่เป็นสมาชิก

ทุนเศรษฐกิจ

เครือข่ายศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงบ้านกู้กู 

  • เป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ได้อย่างครบวงจรเพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันภายใต้วิถีแห่งความพอเพียง ภายในศูนย์ยังได้ดำเนินการตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ คือ หลักการในการบริหารจัดการที่ดินและเนื้อที่เพื่อการเกษตร ในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน การเพาะเห็ด การทำปุ๋ยมักชีวภาพ การเลี้ยงไก่ ปลูกผักไร้ดิน การเผาถ่าน รวมทั้งเป็นแหล่งอนุรักษ์ดอกหน้าวัว พันธุ์เปลวเทียนภูเก็ต ปัจจุบันมีเครือข่ายการทำผ้าบาติกด้วยสีจากธรรมชาติและอื่น ๆ 

ไร่วานิช 

  • ศูนย์เรียนรู้เพื่อถ่ายทอดสภาพแวดล้อมกรรมวิธีการเพาะปลูก และวัฏจักรการเติบโตของข้าวโพดอย่างครบวงจร ผ่านประสบการณ์ไร่ข้าวโพดบนเนื้อที่กว่า 45 ไร่ ใจกลางเมืองภูเก็ต มุ่งเน้นและพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และประสบการณ์ทางด้านการเกษตร เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัส และเรียนรู้วิถีชีวิตแบบธรรมชาติไปพร้อมกับวัฒนธรรม ประเพณี และความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยมีเครือข่ายชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งมีการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรโดยการนำมาแปรรูปสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเครือข่ายเกษตรกรภายในชุมชน 

ใช้ภาษาไทยพื้นถิ่นภาคใต้ในการสื่อสาร


คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่ามีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน อาจจะเกิดเครือข่ายการสื่อสารที่ไร้พรมแดน คนรุ่นใหม่รับเทคโนโลยี สังคมภายนอกเทคโนโลยีมาอย่างรวดเร็ว คนรุ่นเก่าเข้าสู่สังคมคนรุ่นใหม่ไม่ทันยุคสมัยและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นสาเหตุหลักของช่องว่างระหว่างวัย และการที่สังคมภายนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เพื่อการประกอบอาชีพมากขึ้น ทำให้คนในพื้นที่ดั้งเดิมที่เคยอยู่อย่างสงบสุข เริ่มมีความวุ่นวาย ทั้งการสร้างที่อยู่อาศัย เริ่มขยายเป็นตึกสูง บ้านเช่า สังคมแออัดเข้ามาแทนที่จึงทำให้สภาพความเป็นอยู่ และพื้นฐานสังคมดั้งเดิมของหมู่ที่ 3 บ้านกู้กูเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง

  • วัดพิทักษ์สมณกิจ
  • สำนักสงฆ์เขาโต๊ะแซะ สำนักสงฆ์กิ่งแก้ว
  • ศูนย์พัฒนาศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนกิ่งแก้ว ซอย 1
  • ศูนย์เครือข่ายศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงบ้านกู้กู
  • ไร่วานิช

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

เทศบาลตำบลรัษฎา จังหวัดภูเก็ต. (2562). แผนพัฒนาหมู่บ้านประจำปี พ.ศ. 2563  หมู่ที่ 3 บ้านกู้กู ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต. จาก https://rasada.go.th/

สุพจน์ สงวนกิตติพันธ์ุ และคณะ. (2562). บ้านนามเมือง ในภูเก็จ หน้า 47-48. (ม.ป.พ)