Advance search

บ้านแหลมตุ๊กแก

ชุมชนชาวอูรักลาโวยจบ้านแหลมตุ๊กแก ธำรงวัฒนธรรมประเพณีแบบดั้งเดิมไว้ได้อย่างเข้มแข็ง เช่น ประเพณีลอยเรือ การรำรองเง็ง 

หมู่ที่ 4
ชาวไทยใหม่ (แหลมตุ๊กแก)
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
ขวัญจิต ศรีจำรัส
10 ก.ค. 2023
อัจจิมา หนูคง, สรวิชญ์ ชูมณี
30 ส.ค. 2023
จิรัชยา สีนวล
13 ก.พ. 2024
บ้านไทยใหม่
บ้านแหลมตุ๊กแก

ชาวเลได้ย้ายมาอยู่ในพื้นที่นี้ก่อนปี พ.ศ. 2476 ต่อมาเกิดโรคระบาดในหมู่บ้าน จึงทำให้ชาวเลแยกย้ายกันออกไป และบางคนก็กลับมาอยู่ในที่ดินเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2502 ต่อมาได้รับนามสกุลพระราชทานจากสมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) เมื่อครั้งเสด็จมาเยือน เมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยพระราชทานนามสกุลให้กับชาวเลในหมู่บ้านแหลมตุ๊กแกว่า "ประมงกิจ" บ้านแหลมตุ๊กแก คือ หมู่บ้านชาวเลกลุ่มใหญ่ที่สุดของภูเก็ต หมู่บ้านอยู่ปลายสุดของเกาะสิเหร่ ประกอบอาชีพประมง มาสัมผัสวิถีชีวิตชาวเลในเวลาตอนเย็น จะได้เห็นการนำของทะเลมาขาย เช่น หอยหวาน หอยแครงหอยแมลงภู่เป็นประจำ และในทุก ๆ ปีจะมีการจัดงาน "ประเพณีลอยเรือ" คือ วันขึ้น 14-15 ค่ำเดือน 6 และเดือน 11


ชุมชนชาวอูรักลาโวยจบ้านแหลมตุ๊กแก ธำรงวัฒนธรรมประเพณีแบบดั้งเดิมไว้ได้อย่างเข้มแข็ง เช่น ประเพณีลอยเรือ การรำรองเง็ง 

ชาวไทยใหม่ (แหลมตุ๊กแก)
หมู่ที่ 4
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
83000
7.869313786789269
98.43546753267579
เทศบาลตำบลรัษฎา

กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบ้านแหลมตุ๊กแกหมู่ที่ 4 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ประวัติศาสตร์ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบ้านแหลมตุ๊กแกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ 1 ใน 35 กลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งทางด้านวิถีชีวิต ความเป็นมาเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปะการแสดง ตลอดจนภาษาถิ่น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เคยเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนชาวเลบ้านแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ เมื่อปี พ.ศ. 2510 ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาทรงเยี่ยมชาวเลบ้านแหลมดุ๊กแก เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2531 (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต 2558, หน้า 66 - 68)

เฒ่าสะอี้ ชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านแหลมตุ๊กแก เล่าว่าบรรพบุรุษลงเรือแจวมาจากอาเจะห์ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อหลายร้อยปีก่อน มาพบ เกาะ โหน ที่มีปู ปลา ชุกชุม ก็จะอาศัยตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นั่นหากมีคนเสียชีวิตก็จะฝังแล้วย้ายไปอยู่เกาะอื่น ย้าย จนกระทั่งมาถึงแหลมตุ๊กแกจึงชวนกันลงหลักปักฐานลงทะเลหาปู หาปลา ตามวิถีของชนเผ่า ช่วงแรกมาอยู่ประมาณ 20 หลังคาเรือน ต่อมามีโรคระบาดมีคนล้มตาย จึงย้ายไปอยู่ที่อื่น เช่น ราไวย์และบ้านแหลมกลางทำให้แหลมตุ๊กแกผู้คนไม่มีคนหลงเหลืออยู่เลย จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวเลอูรักลาโว้ยที่อยู่บ้านแหลมกลางก็ย้ายกลับมาที่บ้านแหลมตุ๊กแกอีกครั้ง (คม ชัด ลึก, 9 สิงหาคม 2558)

พิมพิไล ตั้งเมธากุล (การผสมกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรม ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนชาวเล เกาะสิเหร่ ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 2529, หน้า 22-23) กล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวเลอูรักลาโว้ยแหลมตุ๊กแก สรุปได้ว่า เดิมทีบริเวณเกาะสิเหร่ ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ มีแต่ชาวเลที่มาพักอาศัยเป็นครั้งคราวเพื่อหลบลมมรสุม ชาวเลกลุ่มนี้เชื่อว่า บรรพบุรุษอพยพมาจากประเทศมาเลเซียต่อมาชาวเลกลุ่มนี้ได้มาตั้งหลักปักฐานที่ เกาะสิเหร่ เรียกเกาะสิเหร่ว่า ปูเลาสิเร แปลว่า เกาะพลู การอพยพมาอยู่เกาะสิเหร่ของชาวเลอูรักลาโว้ยครั้งแรกนั้น ได้สร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณแหลมกลาง (ไม่ไกลจากแหลมตุ๊กแก) ซึ่งเป็นแหลมร้างไม่มีผู้คนอยู่อาศัย ต่อมาบริษัทเอเชียสเเตนนั่ม จำกัด เข้ามาซื้อที่ดินเพื่อทำสำนักงานการทำเหมืองแร่ จนเกิดเรื่องฟ้องร้อง ชาวเลจึงย้ายครอบครัวออกจากบริเวณแหลมกลาง ในวันสงกรานต์ ปี พ.ศ. 2502 ไปตั้งรกรากอยู่บริเวณแหลมตุ๊กแก ซึ่งสอดคล้องวิศิษฐ์ มะยะเฉียว (2532, หน้า 222) กล่าวถึงชาวเลแหลมตุ๊กแกสรุปได้ว่า ชาวเลกลุ่มนี้เชื่อว่าบรรพบุรุษอพยพมาจากหมู่เกาะบริเวณประเทศมาเลเซีย มาอาศัยบริเวณแหลมร้างเกาะสิเหร่ ชาวเลเรียก เกาะสิเหร่ว่า ปูเลาสิเหร่ ปูเลา แปลว่า เกาะสิเหร่ แปลว่า พลู เนื่องจากบนเกาะสิเหร่มีต้นพลูมาก ต่อมาบริเวณแหลมร้างมีปัญหาที่ดิน จึงย้ายมาอยู่บริเวณแหลมตุ๊กแก

หมู่บ้านแหลมตุ๊กแก หมู่ที่ 4 ตั้งอยู่ในตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ห่างจากอำเภอ เมืองภูเก็ตไปทางทิศตะวันออก ระยะทาง 8 กิโลเมตร 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ป่าชายเลน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ภูเขา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน

ลักษณะทางกายภาพ

ที่ตั้งบ้านแหลมตุ๊กแกตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ต มีคลองท่าจีนกั้นกลาง โดยมีถนนเทพประทานเป็นถนนสายหลักเข้าหมู่บ้าน ชุมชนตั้งอยู่บริเวณริมทะเล ปลายแหลมสุดของเกาะสิเหร่อยู่ในอ่าวที่เหมาะกับการจอดเรือ ด้านหน้าหมู่บ้านเป็นชายหาด มีการสร้างเขื่อนคอนกรีตก่อนเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิไม่นาน ไม่เหมาะกับการเล่นน้ำเพราะน้ำทะเลมีลักษณะขุ่นเล็กน้อย เป็นหาดทรายปนโคลนมีหินปะการังเล็ก ๆ อยู่เต็มชายหาดด้านหน้าเป็นที่จอดเรือสปีดโบ๊ท ถัดมาเป็นป่าชายหาดมีต้นมะพร้าวและต้นไม้หลากชนิด

ด้านหลังหมู่บ้านเป็นป่าชายเลนป่าจากคลองปลายแหลมสุดของบ้านแหลมตุ๊กแกมีทรัพยากรธรรมชาติคือหินชนวน (Slate) เป็นหินแปรที่มีเม็ดละเอียด มีริ้วขนาน และเป็นเนื้อเดียวกันมีต้นกำเนิดจากหินตะกอนชนิดดินดานผ่านการแปรสภาพ (หินชนวน, wikipedia.org) ส่วนใหญ่จะเป็นสีเทาในอดีตจะใช้เป็น "ดานนวน" หรือกระดานชนวนในระบบโรงเรียนก่อนมีการใช้สมุดฝรั่ง (อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร ข้อมูลศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเกาะมะพร้าว จังหวัดภูเก็ต 2565, หน้า 13) ทำให้ชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านแหลมตุ๊กแกมีระบบนิเวศที่หลากหลาย ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชุมชน เป็นที่ราบติดชายฝั่งทะเลอันดามัน มีพื้นที่บางส่วนเป็นเนินเขา

ปัจจุบันนักลงทุนประกอบกิจการโรงแรม ท่าเรือท่องเที่ยว ท่าเรือมารีน่า การคมนาคมขนส่งในพื้นที่ เป็นถนนหินคลุกใช้คมนาคมภายในหมู่บ้าน สัญจรโดยรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสามล้อพ่วง เพื่อบรรทุกสินค้าในหมู่บ้าน และรถยนต์ส่วนบุคคล ลักษณะครอบครัวเดี่ยวคนในชุมชนมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและวางจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลสดจากทะเลในบริเวณศาลากลางบ้าน หรือหน้าบ้านที่อาศัยของตนเอง  สภาพบ้านเรือนเป็นบ้านยกสูง หลังคาจั่วมุงสังกะสี ต่อมาหลังจากปี พ.ศ. 2547 บ้านในชุมชนได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิ หน่วยงานราชการ องค์กรภาครัฐ เอกชน ประชาชน ให้ความช่วยเหลือโดยการสร้างบ้านเรือนให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสภาพบ้านเรือนทั้งแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่ ผสมผสานอยู่ในพื้นที่ในปัจจุบัน

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2566 ระบุจำนวนประชากร หมู่ที่ 4 บ้านแหลมตุ๊กแก มีจำนวนประชากร 4,760 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 2,302 คน ประชากรหญิง 2,404 คน

ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยแบบพึ่งพาตนเอง ชุมชนแหลมตุ๊กแกเป็นชุมชนชาติพันธุ์ของชาวอูรักลาโว้ย ซึ่งเป็นชุมชนกลุ่มน้อยในจังหวัดภูเก็ต ที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ห่างจากชายทะเลเข้ามาบนบก แต่มีคลองเชื่อมต่อออกทะเลได้ สันนิษฐานว่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้ ชุมชนตั้งอยู่บริเวณแหลมตุ๊กแก ลักษณะบ้านเรือนเป็นบ้านเดี่ยว ยกสูงไม่มาก ใช้วัสดุทั่วไปที่หาได้ง่ายในพื้นที่ เช่น ไม้ สังกะสี ปัจจุบันมีการผสมผสานบ้านแบบดั้งเดิมและบ้านแบบสมัยใหม่

ปัจจุบันชาวเลยังคงรักษาวัฒนธรรม และประเพณีแบบดั้งเดิมไว้ได้อย่างเข้มแข็ง พื้นที่ตั้งของชุมชนชาวเลหรืออูรักลาโว้ยเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีท่าเรือท่องเที่ยวคือท่าเรือมารีนาประชากรในชุมชนก็มีการสัมพันธ์กับประชากรภายนอกมากขึ้น ทำให้ชุมชนอูรักลาโว้ยขยายตัวโดยขาดการวางแผน ความเสี่ยงภัยของชุมชนแห่งนี้ จึงเป็นประเด็นด้านกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิ์ หรือรับรองการอยู่อาศัยของชุมชนจากทางราชการ 

การตั้งถิ่นฐานของชุมชนมีการเร่ร่อนและย้ายที่อยู่อาศัย ระบบเครือญาติและชาติพันธุ์ ค่อนข้างมีอายุสั้นประกอบกับชาวเลมีอายุขัยสั้นอาจเกิดจากสาเหตุการดำน้ำลึก ไม่มีเครื่องมือ อุปกรณ์ช่วย เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้ง่าย 

 

อูรักลาโวยจ

ประชากรอูรักลาโว้ยเป็นประชากรดั้งเดิมที่มีการตั้งถิ่นฐานชุมชนมากว่าร้อยปีก่อน ชาวอูรักลาโว้ยใช้กายัก หรือแฝกมุงหลังคาอาศัยบนเรือ หรือตามชายหาด ในฤดูมรสุม ชาวอูรักลาโว้ยจะขึ้นฝั่งเพื่อหาอาหาร มักจะใช้วิถีชีวิตโดยการหาของทะเลมาประกอบอาหาร ต่อมาย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ แถบทะเลอันดามัน ยังคงใช้ชีวิตอย่างเร่รอน กลุ่มอูรักลาโว้ยแหลมตุ๊กแก ตั้งถิ่นฐานจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน และมีการยึดอาชีพ คือ ประมงชายฝั่งมาจนถึงปัจจุบัน จากแผนที่สภาพชุมชนจะเห็นได้ว่าความเจริญทางสังคมเข้าไปพัฒนาในพื้นที่บ้านแหลมตุ๊กแก ดังนี้

โครงสร้างองค์กรชุมชน

ปัจจุบันหมู่ที่ 4 บ้านแหลมตุ๊กแก ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งผู้นำชุมชน ใช้สิทธิในการเลือกตั้งตามปรากฏคณะกรรมการบริหารหมู่บ้านดังนี้

  • นายเชิด ประโมงกิจ
  • นายอาคิน ประโมงกิจ
  • นายประเสริฐ ประโมงกิจ
  • นายสมชาย ประโมงกิจ
  • นายวิชาญ ประโมงกิจ
  • นายใจดี ประโมงกิจ 
  • นายสมหมาย ประโมงกิจ
  • นายขวัญชัย ประโมงกิจ
  • นางสาวอังคณา ประโมงกิจ

กลุ่มอาชีพ

ประมงพื้นบ้าน 

  • กลุ่มผลิตเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ผลิตเครื่องมือจับสัตว์น้ำ เช่น ผลิตไซปู ไซปลา, ลอบ ,อวน เป็นเครื่องมือในการจับสัตว์น้ำเพื่อเป็นเครื่องมือในการดักจับสัตว์น้ำ สร้างรายได้ให้กับครอบครัว
  • ผลิตของที่ระลึก นำวัสดุเหลือใช้จากทะเล มาแปรเปลี่ยนเป็นของที่ระลึกเพื่อจำหน่าย เช่น โมบายเปลือกหอย 
  • เครือข่ายกลุ่มแม่บ้านผลิตสินค้าชุมชน อาหารในชุมชน กลุ่มแม่บ้าน ผลิตอาหารชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและบริการแก่นักท่องเที่ยวในชุมชน สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน

ความเชื่อ/กลุ่มศรัทธา

  • โต๊ะหมอ (ดาโต๊ะ) เป็นผู้นำทางจิตเป็นผู้ที่มีบทบาทในชุมชน ที่ชาวอูรักลาโว้ยให้ความเชื่อถือเคารพและศรัทธาไว้วางใจให้เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เพราะเชื่อว่าสามารถสื่อสารกับวิญญาณของผีต่าง ๆ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเลนับถือได้ รวมทั้งเป็นหมอรักษาเมื่อมีคนเจ็บป่วย

การรักษาโรค 

โต๊ะหมอจะรักษาคนป่วยที่หาสาเหตุของโรคไม่ได้ ด้วยการ ปัดเป่าคาถา เสกหมากพลู ให้ผู้ป่วยกิน เป็นการรักษาโรคด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ เพราะชาวเลเชื่อว่าบางโรคที่หาสาเหตุไม่ได้ เกิดจาก "ผีกิน" จึงต้องให้โต๊ะหมอเป็นผู้บำบัดรักษา วิธีการรักษามีดังนี้ การดูเทียน การปัดรังควาน ประกอบคาถา, การปัดรังควานประกอบคาถาควบคู่กับการบีบนวดและทาน้ำมัน, การเสกคาถากำกับ สมุนไพร, การทำน้ำมนต์ และการเข้าทรง หมอพื้นบ้านที่รักษาโรคด้วยวิธีจิตบำบัดและเวชบำบัด (สมุนไพร) เช่น การดูเทียน การทำหมากพลูให้กิน 

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ชุมชนแหลมตุ๊กแก มีความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษ ตลอดจนการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อทางจิตวิญญาณ ปัจจุบันแม้ว่าจะมีการเข้าไปของสังคมเมืองแต่ชุมชนหมู่ที่ 4 บ้านแหลมตุ๊กแก ยังคงรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชาวอูรักลาโว้ยไว้จนถึงปัจจุบัน

ประเพณีเดือนสิบ 

  • ประเพณีกินบุญเดือนสิบ หรือรับทาน (ทาโบ้ดบูลัด ซาปุโละ) วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวอูรักลาโว้ยจะออกจากบ้านไปนอนที่วัด เพื่อร่วมงานเดือนสิบของชาวบ้านในแต่ละวัด ชาวอูรักลาโว้ยบ้านแหลมตุ๊กแก นิยมไปรับทานที่วัดพระทอง วัดเทพกษัตรี วัดบ้านดอน บางส่วนไปจังหวัดพังงา ในอดีต จะนำของทะเลไปแลกเปลี่ยน ปัจจุบันชาวเลบางครอบครัว ก็นำมุก เปลือกหอยมุก ไปจำหน่ายที่วัด การรับทานจากชาวไทยพุทธพื้นถิ่น เป็นประเพณี ที่ชาวอูรักลาโว้ยบ้านแหลมตุ๊กแก ปฏิบัติกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อได้อาหารที่รับมา นำมาเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษต่อไป 

ประเพณีลอยเรือ

  • ประเพณีลอยเรือ เป็นประเพณีที่สำคัญที่สุด จัดขึ้นในช่วงวันเพ็ญ ขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 ทางจันทรคติของทุกปี ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูกาล พิธีลอยเรือจะเป็นการสะเดาะเคราะห์ ของคนในชุมชนและครอบครัว เพื่อให้พ้นจากทุกข์โศกโรคภัยต่าง ๆ เป็นการแสดงออกถึงความร่วมมือ ร่วมใจ สามัคคีของหมู่คณะ และเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญาการช่างฝีมือการต่อเรือปาจั๊ก 
  • ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 ตอนเย็นเวลาประมาณ 17.00 น. ชาวเลทั้งหญิงชายป่าวร้อง ไปช่วยกันขนวัสดุที่จะประกอบเป็นเรือพิธีซึ่งกองอยู่นอกหมู่บ้านแห่เข้ามาในบริเวณพิธีกลางหมู่บ้าน หน้าขบวนแห่มีดนตรีพื้นเมืองนำหน้า เครื่องดนตรี เช่น ฉิ่งรำมะนา ฆ้อง บรรเลงเป็นจังหวะ ให้ชาวเลรำเดินแห่แหนไปตามชายหาด จนใกล้หลาโต๊ะตามี่ในหมู่บ้าน หน้าขบวนแห่มีดนตรีพื้นเมือง โครงแกนท้องเรือ ใช้ไส้ไม้ระกำ ทั้งทางต่อประกอบเป็นลำเรือ ทุกคนตั้งใจต่อเรือกันอย่างจริงจังเพื่อให้เรือพิธีเสร็จก่อนฟ้าสาง
  • ก่อนพิธีลอยเรือหลายชั่วโมง ชาวเลจะใช้เวลาประกอบเป็นเรือพิธีประมาณ 8 ชั่วโมง โดยมีโต๊ะหมอจะรออยู่ที่ฝั่งเพื่อดูแลหมู่บ้าน และรอรับชาวบ้านที่ไปลอยเรือพิธี เวลาประมาณ 16.00 น. เรียกว่า "วันปราดั๊ก" จะมีพิธีแห่ไม้กางเขนจำนวน 7 อัน ที่ปลายไม้ทั้ง 3 ปลาย จะติดใบกระพ้อ ไม้ที่ติดขวางเปรียบเสมือนแขน ใบกระพ้อเปรียบเสมือนนิ้ว ที่คอยพัดโบกสิ่ง ไม่ดีให้ออกจากหมู่บ้าน โดยจะปักไม้นี้ไว้หน้าหมู่บ้าน เวลาประมาณ 20.00 น. มีพิธีไล่สิ่งไม่ดีออกจากบ้านของแต่ละครอบครัว มีการเล่นรำมะนา ร้องรำรอบไม้กางเขน 3 รอบ และเต้นรำกันจนถึงรุ่งสางชาวบ้านจะปักไม้นี้ไว้จนถึงเช้าจึงถอนออกไป เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้าน

พิธีไหว้เรือ 

  • ประเพณีไหว้เรือ (เยิมมะห์ปราสู) พิธีกรรมนี้ทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล ให้กับเครื่องมือในการทำมาหากิน เพื่อแสดงความขอบคุณที่ทำให้การงานราบรื่น มีปัจจัยเข้ามาหล่อเลี้ยงครอบครัว มีการผูกผ้าหัวเรือในช่วงเดือนสาม เจ้าของเรือจะเป็นผู้ทำพิธีเองด้วยการอธิษฐาน แล้วนำสิ่งของมาเซ่นไหว้ ได้แก่ ผลไม้ หมี่ผัด ไก่ย่างหรือไก่อบ ใส่ไว้ในถาดนำไปวางไว้บนหัวเรือ (บอยาปรากูล็อด) จุดธูป 3 หรือ 7 ดอก พร้อมตั้งจิตอธิษฐาน เสร็จแล้วจุดประทัด จากนั้นลาของเซ่นไหว้นำมารับประทาน ส่วนหนึ่งยกถวายให้แม่ย่านางเรือ โดยตั้งไว้ที่หัวเรือ เป็นอันเสร็จพิธี

พิธีไหว้เปลว

  • ประเพณีไหว้เปลว (ไหว้บรรพบุรุษ, แต่งเปลว, ปือตัด ฌือไร้) เป็นการทำความสะอาดสุสานหลุมฝังศพบรรพบุรุษ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและระลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ลูกหลานจะทำอาหารที่บรรพบุรุษชอบไปเซ่นไหว้ และร่วมรับประทานอาหาร พร้อมทั้งเปิดเพลง ร้องเล่น และรำรองเง็ง สนุกสนานกัน พิธีจะจัดในช่วงวันขึ้น 1-15 ค่ำ เดือน 5 ณ สุสานศิลาพันธ์

วัฒนธรรมการแสดง

"รองเง็ง" หรือชาวเลเรียกว่า "รูเงก" สยามรัฐ (สยามรัฐ, 29 เมษายน 2562) กล่าวถึงรองเง็งไว้ว่า เป็นการแสดงที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและลักษณะเฉพาะพื้นที่ชาวเลในจังหวัดสตูล ภูเก็ต และกระบี่ ใช้ภาษามลายูขับร้องเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของผู้คนบนเกาะ 

สาวิตร์ พงศ์วัชร์ (2533, บทคัดย่อ) กล่าวถึงการรำรองเง็งไว้ว่า ท่ารำของชาวเลคงได้แรงบันดาลใจจากการเคลื่อนไหวของสัตว์ทะเลและได้รูปแบบจากการรำรองเง็งที่นิยมในภาคใต้ เพลงรองเง็งที่ใช้ประกอบการแสดง ได้แก่ ลาบูดูวอ ลามูสะปาอีลามูเมาะอินัง ลามูเจ๊ะ ชูโร่งลามูอายัมดีเต๊ะ ลามูทะลักทักทักลามูแลงงกังกง และลามูตะเบ๊ะอีเจ๊ 

จารูวัฒน์ นวลใย (ข้อมูลภูมิปัญญาชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลจังหวัดภูเก็ด, 2564, หน้า 18-22) กล่าวถึงพัดการของรองเง็งกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในจังหวัดภูเก็ต สรุปได้ว่า ปัจจุบันยังคงรักษารูปแบบและลักษณะดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา แสดงในงานประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ส่วนการแสดงเพื่อความบันเทิงก็มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อความบันเทิง ในคณะรองเง็งประกอบด้วย นักร้อง นางรำ ประมาณ 10-15 คน นักดนตรีประมาณ 8 คน ซึ่งนักร้องรองเง็งจะทำหน้าที่นักรำไปด้วย

บรานา (รำมะนา) หรือดนตรีบรานา เป็นการแสดงที่มีอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย ใช้ละเล่นในการประกอบพิธีกรรม ได้แก่ งานลอยเรือ และอาบน้ำมนต์ เครื่องดนตรี ได้แก่ บรานา โหม่ง ฉิ่ง มรือนักแม่ ฆรือนักลูก กรับ และฉาบ 

กีฬาและศิลปะการต่อป้องกันตัว

ฆาโญกหรือรำมวยกาหยงเป็นศิลปะการป้องกันตัวด้วยมือเปล่าและเท้า ไม่มีการใช้เข่าหรือคล้ายปัญจักสีลัตในภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งสืบทอดมาจากวัฒนธรรมมลายู แสดงในโอกาสต่าง ๆ ได้แก่ ไหว้ครูบูชาครู พิธีแก้บน มีเครื่องดนตรีประกอบคือ ปี่ 1 เลา กลองทน โหม่ง 1 ใบ กรับ 1 คู่ นักอีโนก (แม่) 1 ลูก ฆรือนักอานะ (ลูก) 1 ลูก องค์ประกอบในการแสดง ประกอบด้วยนักแสดง โญก 2 คน นักแสดงตัวตลก 1 คน และนักดนตรี 5 คน (จารุวัฒน์ นวลใย, 2564, หน้า 25) ปัจจุบันเป็นการแสดงโชว์ท่ารำไม่ได้ใช้เพื่อการต่อสู้เหมือนในอดีต

นายสมโชค ประโมงกิจ มีบิดาชื่อ นายธานี ประโมงกิจ มารดาชื่อ นางสาวจันทร์ ประโมงกิจ มีพี่น้อง 4 คน ชาย 2 คน หญิง 2 คน 

บทบาทและความสำคัญในชุมชนบ้านไทยใหม่ 

  • นายสมโชค ประโมงกิจเป็นผู้ร้องนําฝ่ายชาย โดยร่ายรําไปพร้อมกับคณะรําฝ่ายหญิง ในบทเพลงต่าง ๆ เช่น "ทาลัก ทักทัก" "ตันหยง" "ตาเบะ" โดยในงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ปีที่ 7 ณ ชุมชนชาวเลหาดราไวย์ อําเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต มีการร้องคู่รับส่งระหว่างแม่จิ้วและคุณสมโชค ซึ่งในระหว่างการร้องรํารองเง็งนี้ ได้รับความสนใจ จากชาวต่างชาติที่เข้ามาชมการแสดง โดยนายสมโชค ประโมงกิจได้กล่าวว่า แม่จิ้ว มีบุตรทั้งหมด 12 คน และ หลาน ๆ รวมทั้งหมด 22 คน ไม่มีใครสนใจรํารองเง็ง นายสมโชคจึงเป็นผู้เดียวที่สืบทอดการรํารองเง็งจาก แม่จิ้ว ปัจจุบันคณะรองเง็งพรสวรรค์ได้รับเชิญไปแสดงในงานต่าง ๆ มากมาย และยังคงฝึกสอนเด็ก และเยาวชนในหมู่บ้าน แหลมตุ๊กแก รวมถึงการไปถ่ายทอดศิลปะรองเง็งให้กับนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ตด้วย

นายตั้งจา ประมงกิจ เกิด พ.ศ. 2500  

บทบาทและความสำคัญในชุมชนบ้านไทยใหม่  

  • โต๊ะหมอ (ดาโต๊ะ) เป็นผู้นำทางจิตใจเป็นผู้ที่ มีบทบาทในชุมชน ที่ชาวเลอูรักลาโว้ยให้ความเชื่อถือ เคารพและ ศรัทธา ไว้วางใจให้เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เพราะเชื่อว่าสามารถสื่อสารกับวิญญาณของ ผีต่าง ๆ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเลนับถือได้ รวมทั้งเป็นหมอรักษาเมื่อมีคนเจ็บป่วย 

หน้าที่หลักของโต๊ะหมอ

ประกอบพิธีกรรม ได้แก่

  • ลอยเรือ (ปลาจั๊ก)
  • อาบน้ำมนต์
  • แต่งเปลว
  • แก้บน (อูฆัยนียัง)
  • ไหว้ครู
  • แต่งงานเปิดขันหมาก
  • งานศพ
  • ทำบุญบ้าน
  • ไหว้ครู 

การรักษาโรค

โต๊ะหมอจะรักษาคนป่วยที่หาสาเหตุของโรคไม่ได้ ด้วยการ ปัดเป้าคาถา เสกหมากพลู ให้ผู้ป่วยกิน เป็นการรักษาโรคด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ เพราะชาวเลเชื่อว่าบางโรคที่หาสาเหตุไม่ได้ เกิดจาก "ผีกิน" จึงต้องให้โต๊ะหมอเป็นผู้บำบัดรักษา

วิธีการรักษา มีดังนี้ ประกอบคาถา, การปัดรังควานประกอบคาถาควบคู่กับการบีบนวดและทาน้ำมัน, การเสกคาถากำกับ การดูเทียน การปัดรังควาน สมุนไพร, การทำน้ำมนต์ และการเข้าทรง หมอพื้นบ้านที่รักษาโรคด้วยวิธีจิตบำบัดและเวชบำบัด (สมุนไพร) เช่น การดูเทียน การทำหมากพลูให้กิน

ทุนทางวัฒนธรรม 

  • การแสดงรองเง็ง เป็นการรักษาและสืบสานอัตลักษณ์ทางการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลไม่ให้สูญหาย และนำมาต่อยอดเป็นรายได้ของนักแสดงรองเง็ง ประเพณีทำบุญบ้าน เป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้อยู่อาศัย ได้อยู่เย็นเป็นสุข โดยมีอาหารที่ทำในประเพณีนี้ ได้แก่ แกงไก่ ข้าวเหนียวเหลือง กล้วยบวชชี ต้มบวช หมี่เหลือง น้ำพริกผัก 
  • ประเพณีแต่งเปลว เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการรวมญาติที่อยู่ห่างไกลได้มาพบกัน ได้รับรู้ทุกข์สุขของญาติพี่น้อง เป็นการรักษาสายสัมพันธ์ของคนในตระกูลให้แน่นแฟ้น ไม่ล่มสลาย 
  • ประเพณีแก้บน เป็นการรักษาสัจจะวาจาที่ได้ให้ไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ร้องขอ เมื่อประสบผลสำเร็จก็ต้องทำตามที่ได้สัญญาไว้ แสดงให้เห็นถึงการเป็นคนรักษาคำพูด 
  • ประเพณีลอยเรือ เป็นการสะเดาะเคราะห์ของคนและชุมชน เป็นการทำสำมะโนประชากรของชุมชนในรอบหกเดือน เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านการช่างฝีมือ คือ การต่อเรือ เป็นการร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ และสามัคคีของคนในชุมชนที่มาช่วยกันเป็นการทำให้ญาติที่อยู่ ห่างไกลได้มาพบกัน เป็นการเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวได้คบหากัน เป็นการสืบทอดการทำอาหารใน พิธีกรรม ประเพณีนี้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเป็นที่รู้จักของคนภายนอก สามารถต่อยอดเป็นการ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ 

ทุนเศรษฐกิจ

  • งานช่างฝีมือ ชาวเลมีอาชีพเป็นชาวประมง การได้ทรัพยากรจากการทะเลมายังชีพด้วยวิธีดั้งเดิมชาวเลทำได้ด้วยเครื่องมือพะโต๊ะ ญาโต๊ะ หยองดักปู อวนกุ้ง อวนปลา การได้หมึกและปลาจำนวนมาก ชาวเลมีความสามารถสูงในการสร้างเครื่องมือดักหมึกและดักปลาในน้ำลึกด้วยเครื่องมือประมงที่เรียกว่า “บูบู” อันเป็นภูมิปัญญาของชาวเลที่สืบต่อมานานไม่มีหลักฐานลายลักษณ์ใดระบุได้ว่าบูบูมีมาเมื่อใด ผู้สูงอายุได้ยินบรรพบุรุษเล่าว่า บูบูมีมาตั้งแต่สมัยทวด เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา ชาวเลอูรักลาโว้ยเคยสร้างตาข่ายบูบูด้วยไม้ไผ่จักสานลวดลายเป็น "ตานกเปล้า" เหมือนชนเผ่าในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย 

บูบู เป็นเครื่องมือประมง มี 2 ขนาด ขนาดเล็กเป็น "บูบูหนุย" ไว้ดักหมึก กับบูบูเกอตับ ไว้ดักปู และขนาดใหญ่เป็น "บูบูอีกัด" ไว้ดักปลาขนาดกลางในน้ำลึก

  • บูบูหนุย (ไซหมึก) มีโครงไม้เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 ชม. ประกอบเป็นทรงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร มีตาข่ายผสมระหว่างตาข่ายเส้นด้ายกับตาข่ายเส้นลวดสานหลังเป็นทรงโค้งแบบหลังเต่า มีด้าน แคบ 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นประตู นางา ใช้เส้นลวดถักเป็นตาข่ายลึกเข้าไปกลางบูบูสอดเข้าใกล้เกือบใกล้กัน ห่างประมาณ 4-6 ซม. มีปลายเส้นลวดเรียงเป็นแนว กันไม่ให้หมึกเคลื่อนออกย้อนประตูทางเข้าก่อนลำเลียงลงเรือไปวางในแหล่งบามัด ชาวเลจะใช้ใบเต่าร้างคลุมตลอดหลังเต่าบูบูเพื่อให้พื้นที่ในบูบูเสมือนโพรงหลบภัยที่มีเหยื่อกลิ่นคาวปลาผูกติดไว้ในภายใน
  • บูบูเกอดับ (ไซปู) มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ กว้างประมาณครึ่งเมตร ยาวประมาณ 1 เมตร ทรงสูง 0.5 เมตร โครงสร้างบูบูเกอดับเป็นไม้จริงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว หุ้มด้วยเส้นลวดถักเป็นตาข่ายหรือหุ้มด้วยตาข่ายใยสังคราะห์ มีเหยื่อสดกลิ่นคาวไว้ล่อปูเข้าไปในบูบู (ไซปู)

การทำไซดักปลา (บูบูอีกัต) ในการประกอบอาชีพการประมงโดยทำไซดักจับสัตว์ทะเล แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือไซปลา ไซปู และไซดักหมึก

  • บูบูอีกัด (ไซปลา) มีโครงไม้ขนาด 4-6 ซม. วางบนฐานบูบูซึ่งเป็นไม้ขนาด 5-7 ชม. ประกอบเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนสอบเข้าเป็นทรงหลังเต่า หน้าแคบ 2 ด้าน ด้านประตูและส่วนท้าย กว้างประมาณ 2 เมตร สูงประมาณ 1.5 เมตร ด้านประตูเรียกว่านางา ถักด้วยเส้นลวดเป็นตาข่าย ลวดลายตาสอดเข้าหาเกือบติดกัน ห่างประมาณ 2-3 นิ้ว แต่มีปลายลวดยาวออกไปดั่งหนามแหลมกันไม่ให้ปลาย้อนออกไปทางประตูทางเข้า ทรงด้านยาว ยาวประมาณ 3-4 เมตร ไม้โครงสร้างเป็น "บูบูอีกัต โก๊ะ" ไม้โค้ง จึงทำให้ด้านบนนูนูเป็นทรงโค้งหลังเต่า ตรงด้านหน้าแคบตรงข้ามกับนางา มีโก๊ะไม้ไค้งเป็น โครงสร้าง จึงทำให้ด้านท้ายบูบูเป็นทรงโค้งมน หุ้มด้วยเส้นลวดถักเป็น "ตานกเปล้า" ตลอดทั้งหลัง แต่ช่างเห็นธรรมชาติของปลาปากคม เช่น ปลาปักเป้า จะไม่กัดกินตะไคร่ในส่วนด้านบนเสมือนหนึ่งหลังคาบูบู ช่างจึงใช้ตาข่ายสำเร็จรูปมาปิดแทนเส้นลวดตาข่าย

อาหาร 

  • อาหารของกลุ่มชาติพันธ์ุชาวเล อาหารคาว เช่น ยำหอยน้ำพริก ยำหอยลิ่น ยำปลิงขาวแกงเลียงหอยติบมะละกอ ต้มเห็ดหลุบ ต้มเพรียงทราย หอยติบ หอยทราย อาหารหวาน เช่นขนมหัวล้านส่วนประกอบที่นำมาปรุงอาหารจะเป็นของสดที่ได้จากทะเล เป็นจุดขายที่สามารถรองรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

การถนอมอาหาร

  • มีการรวมกลุ่มของสตรีในหมู่บ้านในการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเล คือการแปรรูปหอยติบ นำมาตากแห้งบรรจุถุงจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชน 

มุกแหลมตุ๊กแก 

  • เป็นเครื่องประดับ การร้อยสร้อยมุกเป็นการนำเอาทรัพยากรที่มีในธรรมชาติ มาต่อยอดเป็นสินค้าที่ระลึก โดยใช้อัตลักษณ์ของความเป็นชาติพันธุ์ชาวเลเป็นจุดขาย 

มยุรี ถาวรพัฒน์และคนอื่น ๆ (คู่มือระบบเขียนภาษาอูรักลาโวยจ อักษรไทย 2563, หน้า 13) การใช้ภาษาอูรักลาโวยจ กล่าวถึง ภาษาอูรักลาโวจ สรุปได้ว่า เป็นภาษาหนึ่งในสาขามาเลอิก (Malayic) อยู่ในตระกูลออสโตรนี เซียน (Austronesian Language Family)ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะของตนเอง

ตัวอย่างภาษา ได้แก่ 

หมวดอุปกรณ์ประกอบอาชีพ

  • ชาโวะฮ หมายถึง สมอเรือ 
  • ญาเวาะ หมายถึง สวิงตักปลา 
  • ตาลี หมายถึง เชือก
  • นากะ หมายถึง หน้ากากดำน้ำ 
  • ปูกัยจ หมายถึง อวน 

หมวดชื่อสถานที่

  • ลูวะ หมายถึง แหลมหลา
  • มือชอน หมายถึง ในทอน
  • ยูบัน หมายถึง แหลมตุ๊กแก 
  • บรือตะ หมายถึง กะตะ 

หมวดเครื่องใช้ 

  • ชัน หมายถึง ปิ่นโต 
  • ซือโนะ หมายถึง ทัพพี  
  • ซูดู หมายถึง ช้อน
  • ตาแวะ หมายถึง มีดอีโต้  
  • ตาลับ หมายถึง ถาด  

หมวดคำกริยา 

  • บารี หมายถึง วิ่ง 
  • เปอกุ้ก หมายถึง จับ 
  • มานี หมายถึง อาบน้ำ 
  • มากัด หมายถึง กิน 
  • เมอเลา หมายถึง พูด 

หมวดร่างกาย

  • ยาตก หมายถึง หัวใจ 
  • ปีปี หมายถึง แก้ม 
  • โปรยจ หมายถึง ท้อง 
  • มูโลยจ หมายถึง ปาก
  • ปูชัยจ หมายถึง สะดือ 

การเมืองการปกครองของกลุ่มอูรักลาโวจ ประชากรให้ความสำคัญเกือบทุกหลังคาเรือนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน โดยออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามสิทธิ


ในอดีตชุมชนแหลมตุ๊กแก มีสภาพชุมชนเป็นชุมชนชาติพันธุ์ อาศัยอยู่อย่างแออัด เป็นครอบครัวเดี่ยวคนในชุมชนมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและวางจำหน่ายสินค้าประมงในบริเวณศาลากลางบ้าน หรือหน้าบ้านที่อาศัยของตนเอง  

สภาพบ้านเรือนเป็นบ้านยกสูง หลังคาจั่วมุงสังกะสี ต่อมาหลังจากปี พ.ศ. 2547 บ้านในชุมชนได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิ หน่วยงานราชการ องค์กรภาครัฐ เอกชน ประชาชน ให้ความช่วยเหลือโดยการสร้างบ้านเรือนให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสภาพบ้านเรือนทั้งแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่ยังคงผสมผสานอยู่ในพื้นที่

เครือข่ายชุมชน (Blue fish) ชุมชนแหลมตุ๊กแกมีการรวมกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยการผลิตอาหารทะเลแปรรูป เพื่อส่งจำหน่ายแก่ชุมชนภายนอก โดยใช้วัตถุดิบที่ได้จากทะเล เช่น ปลา กุ้ง หอยกระพง หอยติบ ปลาหมึกแปรรูป เพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มชุมชนแหลมตุ๊กแกได้นำสินค้าอาหารทะเลของชาวบ้าน นำมาจำหน่ายสู่ตลาดภายนอกในรูปแบบเดลิเวอลี่ สินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง เช่น ปลาแช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน โดยกลุ่มเครือข่ายของชุมชน (Blue fish)  

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 

จารุวัฒน์ นวลใย. (2564). ข้อมูลภูมิปัญญาชุมชนชาติพันธุ์ชาวไทยใหม่จังหวัดภูเก็ต. https://rasada.go.th/

จารูวัฒน์ นวลใย. (2564). ข้อมูลภูมิปัญญาชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลจังหวัดภูเก็ต. https://www2.m-culture.go.th/krabi/

นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2557). ทักษะวัฒนธรรมชาวเล : ร้อยเรื่องราวชาวเล - มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ผู้กล้าแห่งอันดามัน. สืบค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 13, 2567. https://shop.sac.or.th/th/

ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2517). ชาวนาที่เกาะอาดัง. https://www2.m-culture.go.th/krabi/

เทศบาลตำบลรัษฎา. (2563). แผนพัฒนาหมู่บ้านประจำปี พ.ศ. 2563 หมู่ที่ 4 บ้านแหลมตุ๊กแก ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต. https://rasada.go.th/

พิมพิไล ตั้งเมธากุล. (2529). การผสมกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรม ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนชาวเล เกาะสิเหร่ ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต. https://sure.su.ac.th/

สาวิตร์ พงศ์วัชร์. (2533). รองเง็ง : ระบำพื้นเมืองภาคใต้. ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, ภาควิชานาฏศิลป์ไทย, บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สารานุกรมเสรี. (2564). หินชนวน. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2566. https://th.wikipedia.org/wiki/

สุวัฒน์ คงแป้น. (2558). ชาวเลแหลมตุ๊กแกวันนี้ยังหวาดผวา. สืบค้น 10 กรกฏาคม 2566. https://www.komchadluek.net/

สยามรัฐออนไลน์. (2562). อนุรักษ์รากเหง้าชาวอูรักลาโว้ย!! "รองแง็งชาวเล" สืบค้นจาก  https://siamrath.co.th/ 

อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร. (2565). ข้อมูลศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเกาะมะพร้าว จังหวัดภูเก็ต. หน้า 13