Advance search

ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อิ่วเมี่ยนกับประวัติศาตร์ชุมชน การย้ายถิ่นฐานจากปัญหาผลกระทบด้านพื้นที่พักอาศัย และวิถีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์

หมู่ที่ 4
อิ่วเมี่ยนผาลาด
พระบาท
เมืองลำปาง
ลำปาง
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
13 ก.พ. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
13 ก.พ. 2024
อิ่วเมี่ยนผาลาด

"ชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด" ชื่อชุมชนมาจากคำว่า "อิ่วเมี่ยน" ซึ่งเป็นชื่อของชนเผ่าเมี่ยนที่เป็นประชากรหลักของชุมชน ส่วนคำว่า "บ้านผาลาด" มาจากชื่อหมู่บ้านเดิมที่ชาวอิ่วเมี่ยนมาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยจึงได้นำชื่อมาต่อท้าย


ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อิ่วเมี่ยนกับประวัติศาตร์ชุมชน การย้ายถิ่นฐานจากปัญหาผลกระทบด้านพื้นที่พักอาศัย และวิถีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์

อิ่วเมี่ยนผาลาด
หมู่ที่ 4
พระบาท
เมืองลำปาง
ลำปาง
52220
18.24545488917328
99.58642527704652
เทศบาลเมืองเขลางค์นคร

แรกเริ่มมีชนกลุ่มเมี่ยนที่อาศัยอยู่ในเมืองปักกิ่งและกวางซี ได้อพยพลงมาอยู่ที่มณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน ช่วงที่อยู่ในยูนนานนั้นถูกรุกรานจากชนเผ่าอื่น จึงได้อพยพลงมายังประเทศลาวแล้วเข้าสู่ประเทศไทยก่อนสมัยสงครามครั้งที่ 2 โดยมาอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีครอบครัวชาวเมี่ยนอาศัยอยู่ประมาณ 50 ครัวเรือน ทุกคนนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ และประกอบอาชีพหลัก คือ ทำไร่ ต่อมามีประชากรจำนวนเพิ่มขึ้นและพื้นที่ในการทำไร่ลดน้อยลง จึงได้ย้ายที่ทำกินไปอยู่ที่อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากมีพื้นที่ป่าที่กว้างขวางและอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก

ต่อมากรมป่าไม้ได้ประกาศขยายเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จึงขอให้ประชาชนออกจากพื้นที่ กลุ่มชาวเมี่ยนจึงได้อพยพไปอยู่ที่บ้านห้วยสูง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 ได้ทราบข่าวจากพ่อค้าจังหวัดลำปางที่เดินทางมาค้าขาย ในหมู่บ้านว่ามีมิชชันนารีมาสอนศาสนาคริสต์อยู่ที่จังหวัดลำปาง จึงได้ส่งตัวแทนไปติดต่อกับศาสนาจารย์ที่บ้านแม่หวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง เมื่อได้พูดคุยปรากฏว่าเป็นศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ไม่ใช่นิกายโปรเตสแตนท์ที่ตนเองนับถือ แต่ศาสนาจารย์ได้ชักชวนให้มาดูที่โบสถ์ลำปาง และบอกว่าหากสนใจเข้าร่วมนิกายโรมันคาทอลิกให้กลับไปเริ่มสร้างโบสถ์ เพื่อแสดงความร่วมมือของชาวบ้านในปีต่อมา ศาสนาจารย์ได้ให้เงินทุนเพื่อสร้างโบสถ์หลังใหม่และได้มีนายสมบัติ แซ่ฟุ้ง เป็นตัวแทนมารับการอบรมหลักคำสอนทางศาสนาที่จังหวัดลำปางทุกเดือน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2530 จึงได้ปรึกษาและขอความช่วยเหลือ เกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดินเพื่อโยกย้ายถิ่นที่อยู่มาอาศัยในจังหวัดลำปาง จากคุณพ่ออเล็กซานโตร บอร์ดีญอง ซึ่งท่านยินดีให้ความช่วยเหลือโดยการซื้อที่ดินของนายอุไร ทองทิพย์ ชาวบ้านบ้านผาลาด จำนวน 45 ไร่ เป็นเงิน 220,000 บาท ซึ่งเป็นที่ดินเอกสาร น.ส. 3 ในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านผาลาด ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง จากนั้นชาวเมี่ยนจึงได้ย้ายเข้ามาอยู่โดยเริ่มเข้าไปถางป่าเพื่อสร้าง กระท่อมเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว (บริเวณสร้างวัดปัจจุบัน) พร้อมกับสร้างโบสถ์โดยหลังคามุงจากฝาไม้ไผ่

ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 จึงได้เริ่มก่อสร้างโบสถ์ถาวร โดยสร้างเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2534 และได้ทำพิธีเปิด ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2534 โดยมีพระคุณเจ้า ยอแซฟ สังวาลศุระศรางค์ เป็นประธานในการเสกและเปิดโบสถ์ โดยใช้ชื่อโบสถ์ว่า “พระชนนีพระเป็นเจ้า” แต่เนื่องจากชาวเมี่ยนมีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม กับชาวบ้านบ้านผาลาดเดิม จึงได้ขอแยกเป็นชุมชนใหม่ โดยใช้ชื่อ “ชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด” ซึ่งคำว่า “อิ่วเมี่ยน” มาจากชื่อของชนเผ่าเมี่ยน ส่วนคำว่า “บ้านผาลาด” มาจากชื่อหมู่บ้านเดิมแล้วนำมาต่อท้าย ซึ่งได้จัดตั้งเป็นชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2551

ชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด หมู่ที่ 4 ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มีพื้นที่ 2.71 ตารางกิโลเมตร ห่างจากอำเภอเมืองลำปางไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดลำปาง ไปทางทิศตะวันออก ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านไร่แผ่นดินทอง หมู่ที่ 7 เทศบาลตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ชุมชนบ้านผาลาด หมู่ที่ 3 ตำบลพระบาท
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ชุมชนบ้านผาลาด หมู่ที่ 3 ตำบลพระบาท
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ชุมชนบ้านผาลาด หมู่ที่ 3 ตำบลพระบาท

สำหรับการกำหนดแนวเขตติดต่อชุมชนประกอบด้วย

  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1348 ทางเข้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ฝั่งซ้ายตั้งแต่บ้านเลขที่ 300 - 236
  • ถนนภายในชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด ฝั่งซ้ายเริ่มตั้งแต่ 236 หมู่ที่ 4 ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ถึงบ้านเลขที่ 777 หมู่ที่ 4 ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ฝั่งขวาเริ่มตั้งแต่ปากทางเข้าชุมชนอิ่วเมี่ยน ถึงโบสถ์พระชนนีพระเป็นเจ้า หมู่ที่ 4 ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

ชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด หมู่ที่ 4 ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 87 ครัวเรือน มีประชากรในชุมชนแบ่งเป็นชาย 146 คน และหญิง 154 คน มีประชากรรวมทั้งสิ้นจำนวน 300 คน

อิ้วเมี่ยน

ชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด หมู่ที่ 4 ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีขนาดชุมชนไม่ใหญ่มากนัก และอาศัยอยู่ในพื้นที่ราบเชิงเขา ประชากรส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเกษตร คือ ทำไร่ และอาชีพอื่น ๆ ดังนี้

  • อาชีพ ทำไร่ จำนวน 49 ครัวเรือน
  • อาชีพ รับจ้างทั่วไป จำนวน 30 ครัวเรือน
  • อาชีพ พนักงานบริษัท จำนวน 8 ครัวเรือน
  • อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว จำนวน 8  ครัวเรือน

การรวมกลุ่มของสมาชิกในองค์กรชุมชนต่าง ๆ ได้แก่

  • กลุ่มผู้สูงอายุชุมชนบ้านผาลาดและชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด
  • กลุ่มสตรีชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด
  • กลุ่ม อสม. ชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้านฯ ชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด
  • กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด

ชนเผ่าอิ่วเมี่ยนผาลาดเป็นชุมชนขนาดเล็ก บรรพบุรุษอพยพมาจากประเทศจีน ผ่านลาว และพม่า เข้ามาลงหลักปักฐานในหวัดลำปางกว่า 100 ปี สภาพบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างเป็นแบบดั้งเดิม คือ เป็นชั้นเดียวติดดิน ไม่ยกพื้นสูง มีการนำเอาวัสดุก่อสร้างที่ทันสมัยมากขึ้นเพื่อใช้ก่อสร้าง โดยชุมชนแห่งนี้ไม่มีรั้วบ้าน เดินไปมาหาสู่กันได้ทุกหลังคาเรือน ไม่มีปัญหาความขัดแย้ง และปลอดจากยาเสพติดโดยสิ้นเชิง

ประเพณีดั้งเดิมของชาวอิ่มเมี่ยน คือ งานปีใหม่หรือตรุษจีนชนเผ่าอิ่วเมี่ยน จะเรียกว่า “เจี๋ยฮยั๋ง” ก่อนที่จะถึงวันเจี๋ยฮยั๋ง ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนต้องเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น ทั้งของใช้ส่วนตัวและของใช้ในครัวเรือนให้เรียบร้อย เนื่องจากเมื่อถึงวันปีใหม่จะมีกฎและข้อห้ามหลายอย่างที่จะต้องปฏิบัติ และเมื่อถึงวันปีใหม่แต่ละครอบครัวจะตื่นแต่เช้าเพื่อไปหลังบ้าน เก็บหินเข้าบ้าน เสมือนเรียกขวัญเงินขวัญทองเข้าบ้าน เพราะเชื่อว่าจะมีเงินทองไหลเข้าบ้าน และทำให้ครอบครัวมีความสุข

เมื่อเก็บก้อนหินเข้าบ้านแล้วผู้ใหญ่ก็จะไปต้มไข่เพื่อนำมาย้อมเป็นไข่แดง ส่วนเด็กก็จะจุดประทัดหรือยิงปืนเพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นก็จะมีการไหว้บรรพบุรุษหรือศาลเจ้า เป็นความหมายว่าปีเก่าผ่านไปขอให้สิ่งไม่ดีผ่านไปด้วย เมื่อปีใหม่ได้ก้าวเข้ามาก็ขอให้เจอแค่สิ่งดี ๆ

สำหรับการจัดงานปีใหม่ชนเผ่า มีกำหนดการ 3 วัน คือ วันแรกเป็นวันไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ วันที่สองและสามจะเป็นการสังสรรค์กับเหล่าญาติมิตร ซึ่งปัจจุบันชนเผ่ายังคงรักษาประเพณีและวัฒนธรรมของตนเองไว้ได้เป็นอย่างดี แม้จะมีการรับเอาวัฒนธรรมไทยเข้าไปผสมผสานบ้าง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนเศรษฐกิจ

  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้านฯ ชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด มีงบประมาณ 1,200,000 บาท
  • กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด มีงบประมาณ 50,000 บาท

ทุนวัฒนธรรม

  • วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์อิ่วเมี่ยน
  • โบสถ์พระชนนีพระเป็นเจ้า

ทุนกายภาพ

  • มีทรัพยากรพื้นดิน ป่าไม้ ที่อุดมสมบูรณ์
  • มีแหล่งน้ำธรรมชาติสำหรับใช้ประโยชน์

ชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด หมู่ที่ 4 ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาเฉพาะกลุ่มในการสื่อสารคือ "ภาษาอิ่วเมี่ยน"


จุดแข็ง

  • ประชาชนในชุมชนมีความขยัน ทำมาหากิน มีความอดทน ไม่ฟุ่มเฟือยอยู่แบบเรียบง่าย

จุดอ่อน

  • ประชาชนไม่มีอาชีพเสริมนอกจากการทำการเกษตร 
  • ผู้สูงอายุไม่มีรายได้

จุดแข็ง

  • ประชาชนในชุมชนมีความศรัทธาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า นับถือศาสนาคริสต์ นิกาย โรมันคาทอลิก
  • มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง อยู่กันแบบพี่น้อง
  • อาศัยหลักศาสนาประเพณีวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิต 
  • ประชาชนในชุมชนมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา

จุดอ่อน

  • ผู้สูงอายุไม่ได้รับการศึกษา จึงเป็นเหตุทำให้ผู้สูงอายุไม่กล้าแสดงออกและร่วมกิจกรรม กับผู้สูงอายุชุมชนอื่นๆ 

จุดแข็ง

  • มีถนน ไฟฟ้า และระบบน้ำการประปาในชุมชน
  • มีป้อมตำรวจอยู่บริเวณในชุมชนคอยดูแลประชาชนในชุมชน

จุดอ่อน

  • ถนนและระบบระบายน้ำบางพื้นที่ชำรุดเสียหาย
  • เป็นชุมชนที่มีพื้นที่กว้าง การประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆไม่ค่อยทั่วถึง

จุดแข็ง

  • มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์
  • มีแหล่งน้ำทางธรรมชาติ
  • ชุมชนสะอาด สวยงาม มีการจัดภูมิทัศน์

จุดอ่อน

  • เกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าชุมชนทุกปี
  • ไม่มีแหล่งน้ำที่สะอาดบริโภค 
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เทศบางเมืองเขลางค์นคร. (2566). ชุมชนอิ่วเมี่ยนบ้านผาลาด หมู่ที่ 4 ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง. เทศบางเมืองเขลางค์นคร จังหวัดลำปาง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธุ์ 2567. จาก https://www.kelangnakorn.go.th/kelang/

วิถีชุมชนวัดลำปาง. (ม.ป.ป.). วัดพระชนนีพระเป็นเจ้า. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธุ์ 2567. จาก http://www.beclampang.com/

MGR ONLINE. (2556). ชนเผ่าอิ่วเมี่ยน ชุมชนจีน 100 ปีลำปาง พร้อมใจจัดตรุษจีน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธุ์ 2567. จาก https://mgronline.com/