บ้านป่าแป๋ จังหวัดแม่ฮ่องสอน แผ่นดินแห่งความสุขที่เต็มไปด้วยวิถีชีวิตที่เรียบง่ายคู่ธรรมชาติ เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างอยากเดินทางมาสัมผัสเพื่อเรียนรู้และท่องเที่ยวในแบบวิถีชุมชนโฮมสเตย์ มนตร์เสน่ห์แห่งธรรมชาติ
บ้านป่าแป๋ จังหวัดแม่ฮ่องสอน แผ่นดินแห่งความสุขที่เต็มไปด้วยวิถีชีวิตที่เรียบง่ายคู่ธรรมชาติ เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างอยากเดินทางมาสัมผัสเพื่อเรียนรู้และท่องเที่ยวในแบบวิถีชุมชนโฮมสเตย์ มนตร์เสน่ห์แห่งธรรมชาติ
จากหลักฐานต่าง ๆ ที่พอจะเหลืออยู่ สันนิษฐานได้ว่าหมู่บ้านป่าแป๋นี้ก่อตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 500 ปี ประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่ คือ ชาวละเวือะ หรือชาวลัวะ โดยการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาของชาวลัวะนั้นไม่มีปรากฏแน่ชัดว่ามาจากที่ใด แต่จากคำบอกเล่าของชาวบ้านป่าแป๋ได้เล่าว่า ในอดีตเคยมีพื้นที่แห่งหนึ่งที่ชาวลัวะอาศัยอยู่ คือ ทูญวงแป ทูญวงฆะ และทูกรงมอยจ โดยทูญวงแปเป็นที่อยู่ของตระกูลญวงแปก่อนที่จะย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านป่าแป๋ในปัจจุบัน
แรกเริ่มเดิมที บ้านป่าแป๋เกิดจากการรวมตัวกันของชาวละว้าจาก 4 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลญวงเจา ตระกูลญวงโฆง ตระกูลญวงเพ็ญ และตระกูลญวงแป โดยตระกูลญวงเจาคือตระกูลที่เก่าแก่ที่สุด (เป็นเหตุให้ในอดีตบ้านป่าแป๋มีชื่อเดิมว่า บ้านญวงเจา กระทั่งปัจจุบันชาวลัวะจากหมู่บ้านอื่น ๆ ก็ยังคงเรียกบ้านป่าแป๋ด้วยชื่อ ญวงเจา) และเป็นตระกูลที่ใหญ่ที่สุดในหมู่บ้านในปัจจุบัน ส่วนทางด้านตระกูลญวงโฆงนั้นมาจากบ้านช่างหม้อ ตระกูลญวงเพ็ญมาจากบ้านละอุบล และตระกูลญวงแปอยู่ใกล้เคียงบริเวณเดียวกับตระกูลญวงเจา
สภาพแวดล้อมทั่วไป
บ้านป่าแป๋ ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาสองฟากฝั่งลำน้ำอมลาน รอบ ๆ เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของชุมชน เช่น ป่าช้า สำหรับประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีประจำปี และป่าแนวกันไฟ ลำน้ำที่สำคัญ คือ ลำน้ำอมลาน มีแหล่งต้นน้ำมาจากดอยบ่อเวียงไปทางช่างหม้อและไหลลงไปบรรจบกับน้ำแม่สะเรียง ทั้งสองฝั่งของลำน้ำอมลานมีที่นาเป็นช่วง ๆ ลักษณะที่นาเป็นขั้นบันได แม่อมลานนี้เป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนแห่งนี้ ชาวบ้านใช้สําหรับทําการเกษตรและเป็นแหล่งอาหาร ส่วนนาที่อยู่ตามหุบเขาก็จะใช้น้ำตามหุบเขา ซึ่งมีปริมาณเพียงพอต่อการทำนาในฤดูกาลนั้น ๆ
ลักษณะภูมิประเทศ
- เหนือชุมชนทางทิศตะวันออกเป็นเนินเขาสูงและสันเขายาว มีถนนตัดผ่าไปบ้านฮากไม้ใต้ตามสันเขาตามแนวชายป่าต้นน้ำห้วยมะกอก
- เหนือชุมชนขึ้นไปตามลำน้ำอมลานและดอยบ้านเก่าจะเป็นเนินเขาสูงจนจรดกับบ้านห้วยฮากไม้เหนือ
- ทางทิศตะวันตกเป็นเนินเขาไม่สูงมากนัก จรดกับนาขั้นบันไดของชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยผึ้งและแม่ปางในอำเภอแม่ลาน้อย
- ทิศใต้ลงไปตามลำน้ำอมลาน มีลักษณะเป็นเนินเขาไม่สูงมากนักจรดกับบ้านอมลองหลวง อุมลองน้อย
ทรัพยากรป่าไม้
ทรัพยากรป่าไม้ที่พบในเขตป่าชุมชนบ้านป่าแป๋ประกอบด้วยพรรณไม้หลากหลายชนิดทั้งประเภทผลัดใบและไม่ผัดใบ บางชนิดสามารถออกผลเป็นอาหารของนกหรือสัตว์ป่า เช่น ต้นไทร ต้นตอง ให้ดอกสีแดงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ น้ำหวานจากดอกเป็นอาหารของนกดื้ หวายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติสามารถนำมาประยุกต์เป้นเครื่องจักสานในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมงานฝรมือของคนในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีไม้ทำเชือกป่าน เครือเถาสำหรับมัดรั้ว กล้วยไม้ป่า ดอกตั้ง ดอกกุก ผักเสี้ยว ซึ่งสามารถนำมาประกอบอาหารได้
ข้อมูลประชากรตำบลป่าแป๋จากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านป่าแป๋ มีประชากรทั้งสิ้น 409 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 204 คน ประชากรหญิง 127 คน และจำนวนครัวเรือน 550 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ลัวะ (ละเวือะ)อาชีพหลักที่สําคัญ คือ การปลูกข้าวทั้งข้าวไร่และข้าวนาดํา บางรายมีการปลูกข้าวไร่ควบคู่กับการทํานาดําไปด้วย แต่บางรายไม่มีที่นาจึงปลูกข้าวไร่เพียงอย่างเดียว ด้านการทํานาดําที่ผ่านมาเป็นการทํานาตามลําน้ำ และที่นาตามหุบเขา พันธุ์ข้าวที่ใช้เป็นพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน เช่น ข้าวเหลือง ข้าวสะดือดํา แต่มักพบปัญหาโรคระบาดติดต่อกันหลายปีจนปัจจุบันยังไม่สามารถหาทางออกได้ พื้นที่ที่ระบาดรุนแรงที่สุด คือ ที่นาตามหุบเขา จะพบการระบาดของหนอนบั่วบ่อยมาก
นอกจากการทำนาแล้วยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย สุกร ไก่ และเป็ดเทศ อีกทั้งยังมีการเพาะเห็ดหอม ปลูกผักสวนครัวซึ่งสามารถสร้างเป็นรายได้เสริมในครัวเรือน ส่วนพืชอื่น ๆ ที่เริ่มปลูกเพื่อจำหน่าย เช่น ส้มเขียวหวาน เสาวรส ลิ้นจี่ มะม่วง
อาชีพเสริมของชุมชน คือ การจักสาน ตีเหล็ก และการทอผ้า กลุ่มแม่บ้านได้รวมกลุ่มกันตั้งกลุ่มสตรี โดยการส่งเสริมของพัฒนากรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทํากิจกรรมการทอผ้าและส่งเป็นงาน OTOP ของตําบลป่าแป๋ สร้างรายจากการรับซื้อผ้าทอจากชาวบ้านแล้วนำไปออกบูทจำหน่ายตามสถานที่ต่าง ๆ ฝากขายในตลาดเหล่าโจ๊ว เชียงใหม่ รวมถึงส่งขายให้แก่โครงการหลวง และส่งขายปลีกให้กับลูกค้าจากนอกชุมชนที่ต้องการซื้อด้วย ส่วนผู้ชายจะทำงานรับเหมาก่อสร้างทั้งในและนอกชุมชน หรืองานรับจ้างอื่น ๆ ที่มีในช่วงนอกฤดูการผลิต
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บ้านป่าแป๋ได้เปิดตัวเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแบบโฮมสเตย์ อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการหลวงแม่สะเรียง โดยเริ่มแรกสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงมองเห็นว่าบ้านป่าแป๋มีศักยภาพสามารถทำโฮมสเตย์ได้ จึงให้คำปรึกษาแนะนำ พาไปดูงานตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลกลับมาพัฒนาชุมชนของตนเอง หลังจากพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลให้ชาวบ้านป่าแป๋มีแนวทางในการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเปิดบ้านเป็นที่พักอาศัยแก่นักท่องเที่ยว นำเอาทรัพยากรในท้องถิ่นมาจัดการการท่องเที่ยวภายใต้เงื่อนไขการอนุรักษ์ เชิดชูภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชุมชนให้คนภายนอกได้เรียนรู้ศึกษา อีกทั้งยังมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าของชุมชนเพิ่มมากขึ้นด้วย
ศาสนาและความเชื่อ
ในชุมชนบ้านป่าแป๋ มีศาสนาที่มีผู้นับถืออยู่ 2 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ การปฏิบัติศาสนกิจของแต่ละศาสนาหลัก ๆ ที่เด่นชัด เช่น การทําบุญ วันสําคัญต่าง ๆ วันพระ จะเป็นวันที่ชาวพุทธปฏิบัติศาสนกิจสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังมีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่น การเลี้ยงผี ส่งเคราะห์ การมัดมือเรียกขวัญ การทําพิธีกรรมรักษาคนป่วยตามความเชื่อ ส่วนชาวคริสต์จะเน้นการเข้าโบสถ์วันอาทิตย์ การฉลองคริสต์มาส ฯลฯ
วัฒนธรรม ประเพณี
- การแต่งงาน ยังคงใช้รูปแบบประเพณีดั้งเดิมอยู่ในกลุ่มที่ยังนับถือพุทธและผี แต่มีบางส่วนที่ปรับให้เหมาะสมกับกาลสมัย เช่น ขั้นตอนการจีบสาวหรือหมายสาว หลังแต่งงานส่วนใหญ่ฝ่ายหญิงจะเข้ามาอยู่บ้านฝ่ายชาย มีน้อยครั้งที่ฝ่ายชายจะเข้าไปอยู่กินบ้านฝ่ายหญิง เมื่อแต่งงานนานพอควร หากน้องชายฝ่ายชายแต่งงานอีกคู่หนึ่ง ฝ่ายพี่จะต้องแยกเรือนใหม่ โดยให้น้องชายสุดท้องอยู่กับบิดามารดา
- การขึ้นบ้านใหม่ ชาวลัวะจะร่วมไม้ร่วมมือกันมากในการสร้างบ้านจนถึงการขึ้นบ้านใหม่ ในงานขึ้นบ้านใหม่จะมีการเลี้ยงแขกด้วยอาหารแบบที่ชาวลัวะนิยม เรียกว่า โตะเซอเบือก (เนื้อ พริก และเครื่องปรุง)
- ประเพณีงานศพ เป็นประเพณีที่ยึดถือกันเคร่งครัดในหมู่ชาวบ้านที่นับถือพุทธ-ผี
- ประเพณีเลี้ยงผีประจําปี จะทําร่วมกันหลังเก็บเกี่ยวข้าวและพืชผลจากไร่นา ประมาณเดือนธันวาคม ก่อนการเลี้ยงจะทําพิธีไล่ผีร้าย เสนียดจัญไรตอนกลางคืนก่อนวันเลี้ยง สิ่งที่ใช้ประกอบพิธีมีหมู ไก่ เป็นกองกลาง ส่วนแต่ละครัวเรือนจะแต่งดาเครื่องเซ่นของตนมาประกอบพิธีร่วมกัน ประกอบด้วยไก่ต้มสุกและไข่พร้อมข้าวเหนียว ข้าวเจ้า เมื่อเสร็จพิธีก็กลับมาประกอบอาหาเองที่บ้าน ส่วนหมูและไก่กองกลางก็จะใช้ทําพิธี และแบ่งเนื้อเป็นกองตามจํานวนสมาชิกที่นับถือพุทธและผี หลังจากนั้นจะนําตะแหลว (เครื่องหมายแสดงอณาเขต) ปิดถนนทางเข้าหมู่บ้าน ห้ามคนเข้าออก 1 วัน หากมีจะต้องขอขมา ณ ที่ทําพิธีเป็นเหล้า 2 ชุด ใส่ขันพร้อมกรวยดอกไม้ น้ำส้มป่อย ซึ่งผู้อาวุโสจะบอกกล่าวให้
ธนาคารข้าวบ้านป่าแป๋ ธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าลัวะ บ้านป่าแป๋ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งในการเสด็จฯ ครั้งนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 20,000 บาท สนับสนุนให้จัดตั้งธนาคารข้าวแห่งแรกขึ้นที่บ้านป่าแป๋ เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาการขาดแคลนข้าวในการบริโภค ธนาคารข้าวบ้านป่าแป๋ ธนาคารข้าวพระราชทานบ้านป่าแป๋ จึงถือว่าเป็น ธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก และได้มีการขยายผลธนาคารข้าวอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปสู่ราษฎรในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ
ธนาคารข้าว คือ ธนาคารที่ไม่ได้ให้กู้ยืมเงินเหมือนกับธนาคารทั่วไป แต่ให้กู้ยืมเป็นข้าวเปลือกเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาปลูกข้าวไม่พอกิน โดยเมื่อราษฎรสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้วก็ให้นำข้าวมาคืนธนาคาร พร้อมดอกเบี้ยเป็นข้าวจำนวนเล็กน้อย เช่น ยืมข้าวจากธนาคารไปบริโภค จำนวน 10 ถัง ให้นำข้าวมาคืนพร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นจำนวน 11 ถัง ทุกปีชาวบ้านป่าแป๋จะจัดพิธีนำข้าวที่ยืมไปมาคืนพร้อมดอกเบี้ยที่ยุ้งข้าว เรียกว่าพิธี “เอาข้าวขึ้นหลอง” (หลอง หมายถึง ยุ้งข้าว) เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ สำหรับกิจกรรมในงานจะมีการจัดนิทรรศการ การออกร้าน การให้บริการของหน่วยราชการ ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากกลุ่มแม่บ้านในตำบลป่าแป๋ ผ้าทอลัวะ ผ้าทอกะเหรี่ยง ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวดอย ประกอบด้วย ข้าวดอยป่าแป๋ปลอดสารพิษ ผักและผลไม้สดจากโครงการหลวงป่าแป๋ การประกวดพืชผลทางการเกษตรของราษฎรในพื้นที่ อาทิ ฟักทอง กะหล่ำปลี ฟักเขียว กล้วย ถั่วแดง การแสดงวิถีชีวิตชนเผ่า ฯลฯ
ชาวบ้านป่าแป๋ยังคงใช้ภาษาลัวะในการสื่อสารกันภายในชุมชน อีกทั้งยังมีปรากฏวรรณกรรมหรือบทกวีที่บ่งบอกถึงความเจริญทางภาษาของชาวลัวะที่มักเล่นกันในงานมงคลและอวมงคล แม้ว่าปัจจุบันจะลดน้อยลงไปมากแต่ก็ถือว่ายังคงมีอยู่ เช่น เพลงซอจารีตประเพณี เพลงซอเชิงเกี้ยวสาว เพลงซอเล่าถึงวิถีการดำเนินชีวิต เพลงซอสอนการครองเรือนสำหรับคนที่แต่งงานมีครอบครัว รวมถึงนิทานและเพลงกล่อมเด็ก ที่ยังคงมีการสืบทอดอยู่บ้างภายในชุมชน
การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านป่าแป่นั้นหาใช่การเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในรูปที่ความทันสมัยเริ่มแทรกซึมเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตผู้คนทีละน้อย แล้วเบียดบังวัฒนธรมดั้งเดิมให้ค่อย ๆ เลือนหายไป เช่น การใช้เครื่องแต่งกายแบบสมัยใหม่สะดวกต่อการทํางาน ทําให้โอกาสนํามาใช้ในชีวิตมากกว่าเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิม เช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงทางภาษา เนื่องจากปัจจุบันคนในชุมชนเริ่มออกไปทำงานต่างถิ่นมากขึ้น เมื่อไปอยู่ที่ใดก็มักจะใช้ภาษาถิ่นนั้น ๆ ในการสนทนา ส่งผลให้ภาษาลัวะค่อย ๆ ลดบทบาทลง ใช้กันเพียงในชุมชนเท่านั้น
นอกจากภาษาเพื่อการสื่อสารแล้ว ยังมีวรรณกรรม บทกวี นิทาน เพลงกล่อมเด็กที่เริ่มจะขาดการสืบทอด เนื่องจากวัฒนธรรมสมัยใหม่ได้เข้ามาทดแทน เช่น สื่อโทรทัศน์ ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมมากที่สุด ทําให้คนรุ่นใหม่ขาดโอกาสที่จะนํามาร้องและฟังเรื่องเล่าจากคนรุ่นเก่า ๆ ซึ่งเดิมทีนั้นเพลงซอจะร้องในงานศพ งานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ งานปลูกข้าวไร่ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ปรากฏหลงเหลืออยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมข้าว พิธีกรรมสำคัญของชุมชนที่เริ่มจะเลือนหายไปเช่นเดียวกัน พิธีกรรมข้าว เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยว เช่น พิธีแรกไถนา พิธีเชิญขวัญแม่โพสพลงนา ฯลฯ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เหตุผลเพียงว่าเป็นภาระยุ่งยากไม่คุ้มทุน เพราะว่าคนยุคนี้เร่งรีบทํากิน เนื่องจากผลกระทบจากภาวะทางเศรษฐกิจที่เน้นการบริโภคเป็นหลัก ทําให้มองการปลูกข้าวเพียงเพื่อให้ได้ผลผลิตตามมาเท่านั้น ส่วนคุณค่าทางสังคมวัฒนธรรมที่สอดแทรกอยู่ในกิจกรรมการปลูกข้าวนั้นล้วนถูกมองข้ามไปหมดสิ้น
กระทรวงมหาดไทย, กรมพัฒนาชุมชน, สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. (2564). วันรำลึกธนาคารข้าวแห่งแรกของประเทศไทย. สืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://district.cdd.go.th/
ชุมชนท่องเที่ยว Otop นวัตวิถี บ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน. (2564). สืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/
ทัพเรือภาคที่ ๒. (ม.ป.ป.). ธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก. สืบค้น 8 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.nac2.navy.mi.th/
บือ ขจรศักดิ์ศรี และคณะ. (2552). “รักษ์ละโพงละเวือะ” บ้านป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
ผุสดี ตะนอย และคณะ. (2559). การสร้างกลไกบริหารจัดการอาชีพเกษตรวัฒนธรรมและตลาดทางเลือกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงจิตวิญญาณให้กับกลุ่มชาติพันธุ์เลอเวือะบ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.